William III (1817–1890)

พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๓๙–๒๔๑๓)

 พระเจ้าวิลเลียมที่๓เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ แกรนด์ดุ๊กแห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duke of Luxembourg) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๙–๑๘๙๐ และดุ๊กแห่งลิมเบิร์ก (Duke of Limburg) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๙–๑๘๖๖ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ที่ได้ปกครองเนเธอร์แลนด์ หลังจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๕)* ทรงมีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมและทหารนิยม และไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

 พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๔๐–๑๘๔๙)* และสมเด็จพระราชินีอันนา ปัฟลอฟนา (Anna Pavlovna) พระกนิษฐาองค์เล็กในซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑–๑๘๒๕)* แห่งรัสเซียและเป็นพระพี่นางในซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕–๑๘๕๖)* ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๑๗ ณ พระราชวังในนครบรัสเซลส์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands)* ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยรวมเอาดินแดนเบลเยียมเข้าด้วย มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่าเจ้าชายวิลเลียม อะเล็กซานเดอร์ ปอล เฟรเดอริค หลุยส์ (William Alexander Paul Frederick Louis) ขณะประสูติ พระราชบิดาทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร มีพระอนุชา ๓ พระองค์และพระกนิษฐา ๑ พระองค์ ใน ค.ศ. ๑๘๒๗ ขณะมีพระชนมายุ ๑๐ พรรษา เจ้าชายวิลเลียมทรงได้รับแต่งตั้งเป็นพันเอกเกียรติยศแห่งกองทัพเนเธอร์แลนด์ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๐ เมื่อเบลเยียมประกาศแยกตัวจากเนเธอร์แลนด์ ทรงได้รับยศร้อยโทในหน่วยทหารเกรนาเดียร์ (Grenadiers Regiment) ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ ในฐานะพระภาคิไนยในซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการเกียรติยศในหน่วยทหารเกรนาเดียร์ของกองทัพรัสเซีย ณ เมืองเคียฟ

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ สายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา (Orange-Nassau) กับราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* กระชับยิ่งขึ้นเมื่อเจ้าชายวิลเลียมทรงเสกสมรสกับเจ้าหญิงโซฟี (Sophie) พระราชธิดาในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I) แห่งเวือร์ทเทมแบร์ก (Württemberg) และสมเด็จพระราชินีแคเทอรีน ปัฟลอฟนา (Catherine Pavlovna) อดีตแกรนด์ดัชเชสแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีร่วมพระอุทรกับพระมารดา สองพระองค์มีพระอุปนิสัยที่แตกต่างกันมาก เจ้าหญิงโซฟีทรงเป็นปัญญาชนแนวเสรีนิยมที่ชิงชังอำนาจเผด็จการและกองทัพ ขณะที่เจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นพวกอนุรักษนิยมและทหารนิยมที่ทรงต่อต้านแนวความคิดเสรีนิยมและกิจกรรมทางวิชาการ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของปัญญาชนในเวลาต่อมาจึงถูกสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑)* แห่งอังกฤษเรียกพระองค์ว่าชาวนาไร้การศึกษา นอกจากนี้เจ้าหญิงโซฟีในฐานะพระสุณิสาก็ไม่เป็นที่โปรดปรานของเจ้าหญิงอันนา ปัฟลอฟนา แม้จะทรงเป็นน้าหลานกันก็ตามเนื่องจากพระมาตุจฉาทรงเกลียดชังพระราชมารดาของเจ้าหญิงโซฟีและต่อต้านการเสกสมรสตั้งแต่เริ่มแรกส่วนเจ้าชายวิลเลียมก็มักจะเอาพระทัยพระมารดามากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าชายวิลเลียมยังมีพระอารมณ์แปรปรวน และไม่สามารถควบคุมพระอารมณ์ได้อีกทั้งยังชอบใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น กอปรกับพระวรกายที่สูงใหญ่กว่า ๑๙๒ เซนติเมตร จึงเป็นที่หวาดหวั่นและเกรงกลัวของข้าราชบริพาร เจ้าหน้าที่ และบุคคลทั่วไปทั้ง ๒ พระองค์มีชีวิตคู่และความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักทั้งเจ้าชายวิลเลียมยังทรงมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับสตรีอื่น ๆ อีกมากมายและมีโอรสและธิดาหลายคนจนในเวลาต่อมาทรงได้รับสมญาจากหนังสือพิมพ์ New York Times ว่า “บุรุษเสเพลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค” (greatest debauchee of the age) กระนั้นทั้ง ๒ พระองค์ก็มีพระราชโอรสร่วมกัน ๓ พระองค์ โดย ๒ พระองค์ประสูติก่อนที่เจ้าชายวิลเลียมจะเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ แต่ทั้ง ๓ พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดาทั้งสิ้น

 ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ หลังจากพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I)* พระอัยกาทรงสละราชย์และพระราชบิดาได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ แล้ว เจ้าชายวิลเลียม อะเล็กซานเดอร์ก็ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายแห่งออเรนจ์ มกุฎราชกุมาร แต่มักมีความเห็นไม่สอดคล้องกับแนวทางการเมืองของพระราชบิดาที่ทรงอะลุ้มอล่วยกับพวกเสรีนิยมเมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ในยุโรป พระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ ทรงตระหนักถึงภัยการปฏิวัติและภัยที่อาจเกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่เกิดกับพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* จนต้องเสด็จลี้ภัยจากฝรั่งเศสและทำให้ระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยต้องสิ้นสุดลง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์จึงทรงโปรดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นและประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๘ โดยโปรดให้โยฮัน รูดอล์ฟ ทอร์เบคเคอ (Johan Rudolph Thorbecke) แห่งพรรคเสรีนิยมเป็นผู้จัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่าง (Eerste Kamer; First Chamber) แทนระบบการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ส่วนสมาชิกสภาสูง (Tweede Kamer; Second Chamber) ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้จ่ายภาษีตามจำนวนที่กำหนด ให้สิทธิเสมอภาคแก่มณฑลที่ประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเท่ากับมณฑลอื่น ๆ ยกเลิกข้อห้ามทางศาสนาอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิของประชาชนและอื่น ๆ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเท่ากับเป็นการลดอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์และทำให้อำนาจการเมืองตกเป็นของรัฐสภา ซึ่งทำให้เจ้าชายวิลเลียมซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมไม่พอพระทัยเป็นอันมาก ผิดกับเจ้าหญิงโซฟีพระชายาที่สนับสนุนการปฏิรูประบบการเมืองในแนวทางนี้ ส่วนเจ้าชายวิลเลียมทรงมีแนวคิดทางการเมืองว่ากษัตริย์ควรปกครองแบบกษัตริย์ภูมิธรรม (Enlightened Despot) ที่ควรยึดแนวทางของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ พระอัยกาเป็นแนวปฏิบัติมากกว่า ความขัดแย้งในอุดมการณ์การเมืองทำให้พระองค์ทรงคิดจะสละสิทธิการสืบราชบัลลังก์และยกสิทธินี้ให้แก่เจ้าชายเฮนรี (Henry) พระอนุชาและเจ้าชายวิลเลียม (William) พระโอรสองค์โตเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะที่พระชันษา ๑๘ ปี แต่ถูกสมเด็จพระราชินีอันนา ปัฟลอฟนา พระราชมารดาคัดค้าน ทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่มีมาตราใดที่ให้สิทธิแก่ผู้ใดในการยกเลิกสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ได้

 เมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ เจ้าชายแห่งออเรนจ์ประทับ ณ ปราสาทรูบี (Ruby Castle) ในอังกฤษ โดยเป็นพระอาคันตุกะของดัชเชสแห่งคลีฟแลนด์ (Duchess of Cleveland)ผู้แทนของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เดินทางไปยังกรุงลอนดอนเพื่ออัญเชิญให้พระองค์เสด็จนิวัติเนเธอร์แลนด์เพื่อสืบราชบัลลังก์ ทรงลังเลพระทัย แต่ท้ายสุดก็ยินยอมเสด็จกลับ เมื่อเสด็จถึงเนเธอร์แลนด์เจ้าหญิงโซฟี พระชายาทรงต้อนรับพร้อมคำถาม “ทรงรับหรือไม่” เจ้าชายวิลเลียมเพียงแต่ทรงพยักพระพักตร์แต่ก็ยังมีพระอาการลังเลต่อไปอีกระยะหนึ่ง

 พระราชกรณียกิจแรกของพระเจ้าวิลเลียมที่๓คือให้นายกรัฐมนตรีทอร์เบคเคอ ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ทอนพระราชอำนาจของกษัตริย์ และคณะรัฐมนตรีที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่เข้าเฝ้า ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองพระทัยเป็นอันมาก ต่อมาทรงประสบความสำเร็จในการกำจัดทอร์เบคเคอออกจากตำแหน่งเมื่อเกิดกรณีให้มีการฟื้นฟูระบบอำนาจการปกครองสังฆมณฑลของบิชอปขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ทำให้พระองค์ได้รับเสียงสนับสนุนจากพวกอนุรักษนิยมมากยิ่งขึ้น จึงทรงหาเหตุปลดทอร์เบคเคอออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษที่พระองค์ใช้พระราชอำนาจในการปลดคณะรัฐมนตรีและยุบสภาหลายครั้ง และทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีพระราชทาน (royal cabinet) และครองอำนาจได้นานตราบที่สภาสูงให้การสนับสนุน ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๕๖ก็ทรงใช้พระราชอำนาจประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของราชรัฐลักเซมเบิร์ก ที่ต่อมาเรียกว่า “การรัฐประหารลักเซมเบิร์ก ค.ศ. ๑๘๕๖” (Luxembourg Coup of 1856) แยกอำนาจการปกครองลักเซมเบิร์กออกจากอำนาจการปกครองของสถาบันกษัตริย์เนเธอร์แลนด์และให้มาอยู่ใต้อำนาจปกครองของประมุขแห่งลักเซมเบิร์กเป็นการส่วนพระองค์

 ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ หลังจากออสเตรียพ่ายแพ้สงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War)* แก่ปรัสเซีย ซึ่งมีผลให้สมาพันธรัฐเยอรมัน (German Conferation)* สิ้นสุดลงขณะเดียวกันราชรัฐลิมเบิร์กก็แยกตัวออกจากอำนาจปกครองของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ อย่างไรก็ดี กองทหารปรัสเซียก็มิได้ถอนกำลังออกจากลักเซมเบิร์กซึ่งมีฐานะเป็นรัฐอธิปไตย และไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาพันธรัฐเยอรมันที่ถูกยุบลงแล้วพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ จึงทรงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวกอปรกับทรงประสบปัญหาทางด้านการเงินจึงมีพระราชดำริขายลักเซมเบิร์กซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญระหว่างดินแดนเยอรมันกับฝรั่งเศสให้แก่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ในราคา ๕ ล้านฟลอริน (florin) ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งปรัสเซียเข้าขัดขวางและนำไปสู่วิกฤตการณ์ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Crisis)* ที่อาจลุกลามเป็นสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับดินแดนเยอรมันได้ ดังนั้นประเทศมหาอำนาจจึงจัดให้มีการประชุมขึ้นที่กรุงลอนดอนในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๗ ที่ประชุมได้จัดทำสนธิสัญญาลอนดอนฉบับที่ ๒ (Second Treaty of London) ขึ้นเพื่อรับรองให้ลักเซมเบิร์กเป็นรัฐเอกราชสมบูรณ์ โดยมีพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ เป็นประมุขดังเดิม

 ส่วนในด้านความสัมพันธ์ของพระองค์กับสมเด็จพระราชินีโซฟีนับวันก็เลวร้ายลง จนในที่สุดนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๕๕ เป็นต้นมาต่างทรงแยกที่ประทับ สมเด็จพระราชินีโซฟีมักเสด็จไปประทับที่เมืองชตุทท์การ์ท (Stuttgart) กับครอบครัวของพระองค์ ท้ายที่สุดประทับที่พระราชวังเฮยส์เตนโบส (Huis ten Bosch) ณ กรุงเฮกและเสด็จสวรรคตที่นั่นเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๗๗ ขณะพระชนมายุ ๕๘ พรรษา ก่อนสวรรคตได้มีพระราชประสงค์ให้แต่งพระองค์ด้วยชุดวิวาห์ในงานพระศพ ด้วยเหตุผลว่าชีวิตของพระองค์ได้สิ้นสุดลงไปแล้วนับตั้งแต่วันที่เสกสมรส หลังจากที่สมเด็จพระราชินีโซฟีเสด็จสวรรคตได้๒ปีพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ ก็ทรงหาคู่ครองใหม่จากบรรดาพระราชวงศ์ต่าง ๆ ของยุโรปจนได้และเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอมมา (Emma) แห่งวัลเดคและปีร์มอนต์ (Waldeck and Pyrmont) ในวันที่ ๗ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๙ เจ้าหญิงเอมมามีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา และอ่อนวัยกว่าพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ ถึง ๔๑ ปี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๘๐สองพระองค์มีพระราชธิดาด้วยกัน ๑ พระองค์ ซึ่งต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเนเธอร์แลนด์ต่อจากพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ ในพระนามสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินา (Wilhelmina)* ใน ค.ศ. ๑๘๙๐

 หลังจากการอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีเอมมาแล้ว มีพระอุปนิสัยที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทรงลดความโกรธเกรี้ยว อารมณ์ฉุนเฉียว หรือแม้แต่การทำร้ายข้าราชสำนักลง และทรงเลิกแทรกแซงทั้งเรื่องการเมืองและการทหาร จึงนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในรัชสมัยของพระองค์ แต่ก็มีเรื่องที่สลดพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเจ้าชายวิลเลียม (William) พระราชโอรสองค์โตและเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ (Alexander) พระราชโอรสองค์เล็กสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๗๙ และ ค.ศ. ๑๘๘๔ ตามลำดับ ส่วนเจ้าชายโมริซ (Maurice) พระราชโอรสองค์กลางสิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านี้ใน ค.ศ. ๑๘๔๙

 ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ ทรงพระประชวรด้วยพระวักกะพิการใน ค.ศ. ๑๘๘๗ และต่อมามีพระอาการพระสัญญาณวิปลาส พระอาการหนักขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๘–๑๘๘๙ จนสภาที่ปรึกษา (Council of State) และต่อมาสมเด็จพระราชินีเอมมาต้องทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๐ ณ พระราชวังเฮตโล (Het Loo Palace) ณ เมืองอาเปิลโดร์น (Apeldoorn) สิริพระชนมายุ ๗๓ พรรษาและครองราชสมบัติ ๔๒ ปี แต่เนื่องจากเจ้าหญิงวิลเฮลมินาพระราชธิดาและมกุฎราชกุมารีมีพระชนมายุเพียง ๑๐ พรรษา สมเด็จพระราชินีเอมมาจึงทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการต่อไปจนถึง ค.ศ. ๑๘๙๘ เมื่อสมเด็จพระราชินีวิลเฮลมินามีพระชนมายุครบ ๑๘ พรรษา

 การสวรรคตของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ โดยปราศจากรัชทายาทชาย จึงทำให้พระประมุขของเนเธอร์แลนด์ต้องสูญเสียตำแหน่งประมุขลักเซมเบิร์กและพระอิสริยยศแกรนด์ดุ๊กแห่งลักเซมเบิร์กไปด้วย ตามข้อตกลงการสืบราชสมบัติของราชวงศ์นัสเซา (Nassau Succession) ค.ศ. ๑๗๘๓ที่ไม่ให้สิทธิแก่ราชนารีในการสืบสันตติวงศ์ ตำแหน่งประมุขของราชรัฐลักเซมเบิร์กจึงตกเป็นของอะดอล์ฟดุ๊กแห่งนัสเซา-ไวบูร์ก (Adolf, Duke of NassauWeibourg) ซึ่งเป็นมหาสาขาของราชวงศ์นัสเซา ซึ่งนับเป็นเรื่องบังเอิญด้วยที่เจ้าชายอะดอล์ฟเป็นพระมาตุลาของสมเด็จพระราชินีเอมมา การขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายอะดอล์ฟจึงเป็นการยุติบทบาทของราชวงศ์ออเรนจ์ในลักเซมเบิร์กที่มีมานานหลายศตวรรษ และเปิดโอกาสให้ลักเซมเบิร์กมีราชวงศ์ของตัวเอง ซึ่งพระราชวงศ์ยังคงครองตำแหน่งประมุขของลักเซมเบิร์กจนถึงปัจจุบัน.



คำตั้ง
William III
คำเทียบ
พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การรัฐประหารลักเซมเบิร์ก ค.ศ. ๑๘๕๖
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- พรรคเสรีนิยม
- วิกฤตการณ์ลักเซมเบิร์ก
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สนธิสัญญาลอนดอน
- สนธิสัญญาลอนดอนฉบับที่ ๒
- สมาพันธรัฐเยอรมัน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1817–1890
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๓๙–๒๔๑๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-