สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาทรงเป็นพระประมุขแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๐–๑๙๔๘ ซึ่งเป็นช่วงที่เนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญกับสงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง วิกฤตการณ์อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* และการพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของอาณานิคมดัตช์อีสต์อินดีส (Dutch East Indies) หรือปัจจุบันคืออินโดนีเซีย ทรงมีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ในการสื่อสารจากนอกประเทศปลุกปลอบขวัญประชาชนชาวดัตช์ที่ไม่ยอมจำนนต่อพวกนาซี (Nazi) โดยมีพระราชดำรัสอย่างสม่ำเสมอผ่านสถานีวิทยุแห่งบรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (British Broadcasting Corporation–BBC)* จึงทรงเป็นสัญลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์ในการต่อต้านการยึดครองของเยอรมนีในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญภาวะวิกฤตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐–๑๙๔๕ นอกจากนี้ทรงมีทักษะเป็นเลิศในการลงทุนทางธุรกิจจึงทำให้ทรงเคยได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินามีพระนามเต็มว่า วิลเฮลมินา เฮเลนา พอไลน์ มารีอา (Wilhelmina Helena Pauline Maria) ประสูติที่กรุงเฮก เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๐ เป็นพระราชธิดาองค์เดียวในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William III ค.ศ. ๑๘๔๙–๑๘๙๐) แห่งราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา [(Orange-Nassau)* ซึ่งสถาปนาโดยพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๕๕๙–๑๕๘๔) หรือที่รู้จักกันดีในพระสมัญญา วิลเลียมผู้เงียบขรึม (William the Silent)] กับสมเด็จพระราชินีเอมมาแห่งวัลเดคและปีร์มอนต์ (Emma of Waldeck and Pyrmont) พระมเหสีองค์ที่ ๒ เมื่อประสูตินั้น พระราชบิดามีพระชนมายุสูงถึง ๖๓ พรรษา เจ้าหญิงวิลเฮลมินาทรงรับการศึกษาจากอาจารย์พิเศษที่เข้ามาสอนในพระราชวังตั้งแต่พระชันษาได้ ๗ ปี ทรงใกล้ชิดกับพระราชบิดามาก พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ กับสมเด็จพระราชินีโซฟีอดีตเจ้าหญิงแห่งเวืร์อทเทมแบร์ก (Sophie of Württemberg) พระมเหสีองค์แรก แต่พระราชโอรส ๒ พระองค์ สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้วเมื่อเจ้าหญิงวิลเฮลมินาประสูติ เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ (Alexander) ที่เหลืออยู่เพียงองค์เดียวซึ่งไม่เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดาก็ไม่ทรงมีทายาท หากแต่พระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ ยังทรงมีเจ้าชายเฟรเดอริก (Frederick) พระปิตุลาอีก ๑ พระองค์ ซึ่งตามระบบกฎหมายกึ่งซาลิก (Semi-Salic System) แห่งการสืบสันตติวงศ์ของเนเธอร์แลนด์เจ้าหญิงวิลเฮลมินาทรงอยู่ในลำดับที่ ๓ ครั้นใน ค.ศ. ๑๘๘๑ เจ้าชายเฟรเดอริกสิ้นพระชนม์ลงและอีก ๓ ปีต่อมา เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์พระเชษฐาต่างพระมารดาซึ่งเจ้าหญิงวิลเฮลมินาไม่ทรงเคยพบเห็นก็สิ้นพระชนม์เช่นกันเจ้าหญิงวิลเฮลมินาจึงทรงได้เป็นองค์รัชทายาทสมมติ (heiress presumptive)
ดังนั้นเมื่อพระราชบิดาสวรรคตในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๐ จึงทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อโดยมีพระมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนบรรลุพระชนมายุ ๑๘ พรรษา และทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติในวันที่ ๖ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๘ ณ มหาวิหารนิวเวอเกิร์ก (Nieuwe Kerk หรือ New Church) แห่งกรุงอัมสเตอร์ดัมแม้จะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ทรงสามารถใช้สิทธิยับยั้งกฎหมาย แต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (Council of the State) และประกาศยุบสภา (States-General) ได้ พระองค์มีพระปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศในการดำเนินการต่างๆในกรอบที่ชาวดัตช์จะรับได้ ขณะเดียวกันก็ยังคงพระบุคลิกที่ทรงคิดอ่านอย่างไรก็มักจะตรัสและดำเนินการต่าง ๆ ตามนั้น
ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๑ อภิเษกสมรสกับไฮน์ริชวลาดีมีร์อัลเบรชท์แอนสท์ดุ๊กแห่งเมคเลน-บูร์ก-ชเวริน (Heinrich Wladimir Albrecht Ernst, Duke of Mecklenburg-Schwerin) ซึ่งก่อนหน้านั้น ๑ วัน ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายเฮนดริกแห่งเนเธอร์แลนด์ (Prince Hendrik of the Nether lands) แม้ชีวิตสมรสไม่มีความสุขนักและร่ำลือกันว่าเจ้าชายเฮนดริกทรงเป็นบุรุษเจ้าสำราญและโปรดการเสวยน้ำจัณฑ์ ตลอดจนทรงคบหาสตรีมากหน้าหลายตาเป็นปรกติจนทำให้การอภิเษกของพระประมุขแห่งชาวดัตช์เป็นเพียงเพื่อการมีรัชทายาทสืบสานราชวงศ์เท่านั้นสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาทรงพระครรภ์หลายครั้งแต่ก็ทรงตก (แท้ง) ทุกครั้ง ทำให้มีพระญาติ ๒–๓ พระองค์ซึ่งรวมทั้งเจ้าชายไฮน์ริชที่ ๓๒ รอยส์แห่งเคิสทริทซ์ (Heinrich XXXII Reuss of Köstritz) ซึ่งสนิทสนมกับสมาชิกของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* และฝ่ายกองทัพของเยอรมนีอยู่ในข่ายการสืบราชสมบัติด้วย จึงทำให้หวั่นเกรงกันว่าหากสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ในที่สุดราชบัลลังก์ก็จะตกอยู่กับเจ้าชายไฮน์ริชซึ่งคงจะนำเนเธอร์แลนด์ไปอยู่ใต้จักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ดังนั้นเมื่อเจ้าหญิงจูเลียนา หลุยส์ เอมมา มารี วิลเฮลมินา (Juliana Louise Emma Marie Wilhelmina ต่อมาคือสมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนา ค.ศ. ๑๙๔๘–๑๙๘๐) ประสูติในวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๙ ซึ่งเป็นเวลาหลังการอภิเษกสมรสมาแล้ว๘ปีจึงทำให้บุคคลหลายฝ่ายโล่งใจและรู้สึกเหมือนปาฏิหาริย์ หลังจากนั้นยังมีการตั้งพระครรภ์อีกแต่ก็ไม่มีพระประสูติการ เจ้าหญิงจูเลียนาจึงทรงเป็นทายาทเพียงพระองค์เดียวซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาทรงสนิทสนมและอภิบาลด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด สายสัมพันธ์ระหว่างทั้ง ๒ พระองค์จึงแนบแน่นมาก
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาซึ่งมีพระอุปนิสัยที่เด็ดเดี่ยวทรงเป็นหลักสำคัญของประเทศซึ่งดำเนินนโยบายเป็นกลางและยึดมั่นกับการรักษาสันติภาพ ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ ทรงเคยเชื้อเชิญให้นานาชาติใช้พระราชวังแห่งหนึ่งในกรุงเฮกเป็นที่เจรจาหาทางออกให้แก่ข้อพิพาทขัดแย้งต่างๆเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม ความคิดริเริ่มของพระองค์ในเรื่องนี้ได้ปูทางให้มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก (International Court) ขึ้นที่กรุงเฮกในเวลาต่อมา ทรงหาโอกาสออกไปตรวจเยี่ยมกองกำลังเสมอและหลายครั้งเสด็จโดยไม่แจ้งล่วงหน้าเพื่อจะได้ทราบความจริง มิใช่การจัดเตรียม ทรงโปรดปรานเหล่าทหารในขณะที่ไม่โปรดรัฐบาลชุดต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่นัก เพราะมักจะตัดงบประมาณด้านการทหาร ทรงต้องการกองทัพขนาดเล็กที่ฝึกปรืออย่างดีและมียุทโธปกรณ์ครบครัน ในช่วงสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรถือว่าเนเธอร์แลนด์ตั้งอยู่ในเขตที่ต้องปิดล้อมเช่นเดียวกับเยอรมนี เนื่องจากเยอรมนีลงทุนจำนวนมากในเนเธอร์แลนด์และทั้ง ๒ ประเทศเป็นหุ้นส่วนกันในการผลิตสินค้าหลายประเภท อังกฤษจึงคอยสกัดกั้นการเดินเรือของเนเธอร์แลนด์และจำกัดการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการส่งสินค้าต่อไปยังเยอรมนี
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาก็ต้องทรงเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยพระทัยที่เข้มแข็งและหนักแน่น ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘–๑๙๑๘)* ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองมาประทับที่เนเธอร์แลนด์หลังทรงสละราชสมบัติ แต่เมื่อประเทศสัมพันธมิตรต้องการจับกุมพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาทรงเชิญทูตของประเทศเหล่านั้นมาพบเพื่อบอกกล่าวถึงการได้รับสิทธิลี้ภัยอย่างถูกต้องของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒นอกจากนั้นยังเกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศอันเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติบอลเชวิค (Bolshevik Revolution)* ในรัสเซียในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ทำให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองบ้างอย่างเช่น ปีเตอร์ เยลเลส ทรูลสตรา (Pieter Jelles Troelstra) ผู้นำพรรคสังคมนิยมได้แสดงท่าทีต้องการล้มรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่บริหารอยู่และยกเลิกระบอบกษัตริย์โดยอาศัยวิถีทางรัฐสภา แต่การที่สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาทรงเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจึงทำให้รัฐบาลได้รับความไว้วางใจให้บริหารต่อไป
ภายหลังสงครามเป็นช่วงฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างขนานใหญ่ มีการสร้างโรงพยาบาลและที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและมีการกำหนดค่าแรงและกฎเกณฑ์ในการทำงานที่ลดการเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน การพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้ากับต่างประเทศได้นำความรุ่งเรืองมาสู่เนเธอร์แลนด์ที่กำลังมีจำนวนประชากรมากขึ้น วิศวกรดัตช์สามารถกอบกู้ผืนดินเพิ่มขึ้นจากโครงการเซยเดอร์เซ (Zuidersee Scheme) ซึ่งมีการสร้างเขื่อนปิดอ่าวทางตอนใต้ของทะเลเหนือ เนเธอร์แลนด์เริ่มแสดงศักยภาพการเป็นชาติอุตสาหกรรมสำคัญในรัชสมัยของพระองค์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่เนเธอร์แลนด์ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกโดยเฉพาะระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓–๑๙๓๖ การฟื้นตัวไม่ง่ายนักเพราะเนเธอร์แลนด์ยังคงอิงอยู่กับมาตรฐานทองคำ เศรษฐกิจที่ตกต่ำกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเกิดการจลาจลประท้วงหลายครั้งและนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มฟาสซิสต์ดัตช์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ของอิตาลีขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ในเวลานั้นก็เป็นช่วงที่พระบารมีของสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาขึ้นถึงขีดสุด โดยมีรัฐบาลชุดต่าง ๆ นำโดยเฮนดริคุส โคไลน์ (Hendrikus Colijn) ซึ่งนิยมระบอบกษัตริย์ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน พระองค์จึงได้ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของประเทศในขณะนั้นอย่างลึกซึ้งใน ค.ศ. ๑๙๓๙ มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดที่ ๕ ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายของโคไลน์และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าทรงมีส่วนในการจัดตั้งมากจนถือกันว่าเป็น “คณะรัฐมนตรีในพระองค์” (‘royal’cabinet) อย่างไรก็ตามหลังจัดตั้งได้เพียง ๒ วันรัฐบาลชุดนี้ต้องลาออกจากการถูกลงมติไม่ไว้วางใจ
นอกจากบทบาทในกิจการบ้านเมืองแล้วสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาก็สนพระทัยในการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจและการลงทุนซึ่งสะท้อนถึงสายพระเนตรอันยาวไกลและความสามารถในการลงทุน จนทำให้ทรงได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ทรงมีสินทรัพย์นับพัน ๆ ล้านดอลลาร์สหรัฐทรงลงทุนทั้งในประเทศ ในสหรัฐอเมริกา ดัตช์อีสต์อินดีส และดัตช์เวสต์อินดีส (หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน) ครั้งหนึ่งทรงเข้าข้างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในการยึดกิจการน้ำมันของเม็กซิโกและทรงยืนยันในท่าทีอย่างแน่วแน่จนทำให้ต่อมาเนเธอร์แลนด์ต้องขัดแย้งกับเวเนซุเอลาเกี่ยวกับเวสต์อินดีส แม้น้ำมันเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง แต่ก็เป็นทั้งแหล่งของรายได้และอำนาจด้วย จึงทรงลงทุนในน้ำมันจนทุกวันนี้ราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์ (Royal Dutch Shell)
เมื่อเยอรมนีบุกเนเธอร์แลนด์ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาได้ทรงออกแถลงการณ์ต่อประชาชนชาวดัตช์ประณามการรุกรานของเยอรมนีอย่างเผ็ดร้อนทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะประทับในประเทศต่อไปโดยการแปรพระราชฐานพร้อมกับหน่วยทหารลงไปยังเขตเซลันด์ (Zeeland) ทางตอนใต้ของประเทศที่ฝ่ายพันธมิตรยังรักษาไว้ได้เพื่อประสานงานในการต่อต้านมหาอำนาจฝ่ายอักษะ (Axis Powers) จากเมืองเบรสเกินส์ (Breskens) ต่อไป และเพื่อรอจนกว่าจะมีการส่งกำลังช่วยเหลือมาเพิ่มเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ (Albert I ค.ศ. ๑๙๐๙–๑๙๓๔) แห่งเบลเยียมทรงอพยพพร้อมทหารลงไปทางใต้ของประเทศและสู้รบร่วมกับกองทัพสัมพันธมิตรใกล้ ๆ แม่น้ำอีเซอร์ (Yser) เป็นเวลาถึง ๔ ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่เมื่อเสด็จประทับบนเรือหลวงเฮียร์เวิร์ด (HMS Hereward) ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งที่ทางอังกฤษส่งมาอัญเชิญให้เสด็จลี้ภัย เขตเซลันด์ทางตอนใต้ถูกฝูงบินลุฟท์วัฟเฟอ (Luftwaffe) ของเยอรมนีโจมตีอย่างหนัก การจะเสด็จไปประทับทางภาคใต้จึงเป็นเรื่องอันตรายมาก สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาจึงทรงตอบรับข้อเสนอของพระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VI ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๕๒)* ที่ให้เสด็จลี้ภัยไปประทับที่อังกฤษแทนพร้อมกับพระราชวงศ์และคณะรัฐมนตรีทั้ง ๆ ที่ไม่โปรดประเทศอังกฤษนักเพราะเมื่อ ๔๐ ปี ก่อนไม่สบพระทัยที่อังกฤษผนวกสาธารณรัฐทรานสวาล (Transvaal) และเสรีรัฐออเรนจ์ (Orange Free State) ของพวกบัวร์ (Boer) ซึ่งเป็นพวกที่สืบเชื้อสายชาวดัตช์ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของแอฟริกาให้รวมเข้ากับอาณานิคมเคปโคโลนี (Cape Colony)* ของอังกฤษจนก่อให้เกิดสงครามบัวร์ (Boer War)* ขึ้นครั้งนั้นสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาซึ่งเพิ่งเป็นระมุขได้ ๒ ปี ถึงกับมีพระบัญชาให้ส่งเรือรบไปยังแอฟริกาใต้โดยฝ่าการปิดล้อมของกองเรืออังกฤษเพื่อช่วยประธานาธิบดีพอล ครูเกอร์ (Paul Kruger) แห่งทรานสวาล เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักของชาวโลกแม้ว่าผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เป็นบุรุษเพศจะไม่พึงใจในพระบัญชานี้ ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กองทัพดัตช์ก็ต้องยอมจำนนต่อกองทัพนาซี
เมื่อแรกเสด็จไปประทับที่อังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาก็ทรงแทบจะเป็นผู้นำรัฐบาลดัตช์พลัดถิ่น ทรงจัดตั้งสายงานการบังคับบัญชาและทรงหาวิธีสื่อสารกับชาวดัตช์ในประเทศด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับบุคคลในรัฐบาลที่ลี้ภัยมาจึงตึงเครียดขึ้นและยิ่งตึงเครียดมากเมื่อเดิร์ก ยันเดอเกร์ (Dirk Jan de Geer) นายกรัฐมนตรีที่เป็นนักกฎหมายจากครอบครัวชาวดัตช์ชั้นสูงและยึดมั่นในแนวอนุรักษนิยมไม่เชื่อว่าฝ่ายพันธมิตรจะมีชัยชนะในสงครามและต้องการแยกเปิดการเจรจาสันติภาพกับจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ต่างหาก ด้วยเหตุนี้จึงทรงหาวิธีการปลดเดอ เกร์ออกจากตำแหน่งจนเป็นผลสำเร็จในวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และให้ปีเตอร์ชูรดส์แกร์บร็องดี (Pieter Sjoerds Gerbrandy) จากพรรคต่อต้านการปฏิวัติ (Anti-Revolutionary Party–ARP) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นแทนจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกแกร์บร็องดีเป็นผู้คิดริเริ่มที่จะติดต่อกับชาวดัตช์ในประเทศเพื่อส่งข่าวคราวจากดินแดนนอกเขตยึดครองของนาซีให้ได้รับทราบ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลดัตช์พลัดถิ่นจึงได้จัดรายการวิทยุที่ชื่อว่า ราดีโยออรันเยอ (radijio oranja) ซึ่งกระจายเสียงทุกวันทางสถานีวิทยุบีบีซีของอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๑ บอกเล่าสถานการณ์ของเนเธอร์แลนด์และดินแดนอาณานิคมอันได้แก่ดัตช์อีสต์อินดีส และดัตช์เวสต์อินดีส สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินามีพระราชดำรัสทางวิทยุในรายการนี้ในช่วงดึกซึ่งชาวดัตช์ทั่วไปจะคอยอยู่ฟังแม้จะต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ก็ตาม ทรงเรียกอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีว่าเป็นศัตรูหมายเลข ๑ ของมนุษยชาติ (arch-enemy of mankind)
ระหว่างที่สงครามดำเนินไปนั้น พระองค์ได้เสด็จเยือนสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ ๒๔ มิถุนายน – ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ในฐานะแขกของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทรงเยือนนครนิวยอร์ก นครบอสตัน และเมืองอัลบานี (Albany) และทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์แรกที่มีพระราชดำรัสต่อรัฐสภาอเมริกัน ณ กรุงวอชิงตันดี.ซี.เมื่อวันที่๕สิงหาคมอีกทั้งเสด็จเยือนแคนาดาช่วงหนึ่งซึ่งทำให้ทรงได้เข้าร่วมในพิธีรับศีลของเจ้าหญิงมาร์กรีต (Margriet) พระราชนัดดา ที่กรุงออตตาวา (Ottawa) ซึ่งเป็นที่ประทับยามสงครามของเจ้าหญิงจูเลียนาพระราชธิดา เมื่อเจ้าหญิงมาร์กรีตประสูตินั้น อะเล็กซานเดอร์ เคมบริดจ์ เอิร์ลแห่งแอทโลน (Alexander Cambridge, Earl of Athlone) ข้าหลวงใหญ่แห่งแคนาดาได้ประกาศให้ห้องประทับที่โรงพยาบาลในกรุงออตตาวาของเจ้าหญิงจูเลียนาได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพื่อให้พระธิดาที่ประสูติเป็นชาวดัตช์โดยสมบูรณ์ ไม่ทรงได้ ๒ สัญชาติ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหญิงมาร์กรีตทรงอยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาได้ นอกจากนั้นในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๓ ได้ทรงมีโอกาสพบปะกับประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ผู้นำสหรัฐอเมริกาที่ไฮด์พาร์ก (Hyde Park) ในกรุงลอนดอนด้วย อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ประทับที่อังกฤษนั้นครั้งหนึ่งทรงเกือบถูกปลงพระชนม์จากระเบิดที่คร่าชีวิตองครักษ์หลายนายและทำความเสียหายอย่างมากแก่พระตำหนักใกล้เซาท์มิมส์ (South Mimms) หมู่บ้านเล็ก ๆ ในมณฑลฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) ทางภาคตะวันออกของอังกฤษ ความเข้มแข็งและพระบุคลิกแห่งความเป็นผู้นำของพระองค์ทำให้เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษถึงกับปรารภว่าทรงเป็นบุรุษเพียงหนึ่งเดียวในบรรดารัฐบาลพลัดถิ่นทั้งหลายในกรุงลอนดอน ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาทรงได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Order of the Garter) อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของอังกฤษ
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ในกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาได้เสด็จเยี่ยมชาวดัตช์ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นเขตที่ฝ่ายพันธมิตรยังรักษาไว้ได้ ทรงได้รับการต้อนรับอย่างปลื้มปีติจากประชาชนในวัลเคเริน (Walcheren) และเมืองไอด์โฮเวิน (Eindhoven) เมื่อสงครามสิ้นสุดทรงตัดสินพระทัยไม่กลับไปประทับที่พระราชวังดังเดิมและเสด็จไปประทับที่พระตำหนักหลังหนึ่งในกรุงเฮกแทน พระองค์เสด็จออกเยี่ยมเยียนประชาชนในชนบทที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามบางครั้งทรงจักรยานแทนการใช้รถยนต์พระที่นั่ง และบ่อยครั้งที่ทรงลุยโคลนเข้าไปพูดคุยกับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือการเสด็จไปในชนบททำให้ทรงมีโอกาสประเมินความคืบหน้าโครงการฟื้นฟูประเทศของรัฐบาลอันเนื่องมาจากการที่สาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศถูกทำลายไปมากด้วย และในยามที่ประชาชนยังคงลำบากอยู่ แม้จะมีพระราชทรัพย์จำนวนมาก แต่ทรงประหยัดการใช้เครื่องทำความร้อนและไฟฟ้าในพระราชวังอย่างมาก
ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๗ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาโปรดให้เจ้าหญิงจูเลียนาพระราชธิดาทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากมีพระชนมายุสูงและพระพลานามัยที่อ่อนแอลงมาก กอปรกับทรงรู้สึกเหนื่อยพระทัยกับการแก่งแย่งแข่งขันของพรรคการเมืองเหมือนครั้งก่อนสงครามโลก และมีรับสั่งเกี่ยวกับการสละราชสมบัติให้แก่พระราชธิดาซึ่งอภิเษกสมรสกับเจ้าชายแบร์นฮาร์ดแห่งลิพเพอ-บีสเทอร์เฟลด์ (Prince Bernhard of Lippe-Biesterfeld) เชื้อสายชนชั้นสูงเยอรมันผู้เคยถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับพวกนาซีแต่เจ้าหญิงจูเลียนาทรงขอร้องให้เลื่อนเวลาออกไปก่อนจนกว่าจะครองราชสมบัติครบ ๖๐ ปี แต่เพราะความเหนื่อยล้าพระทัยที่ทวีขึ้น สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาจึงทรงต้องให้พระราชธิดาสำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศต้องจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดอันเนื่องมาจากการที่อาณานิคมดัตช์อีสต์อินดีสต์แยกตัวออก ในที่สุดก็ทรงสละราชบัลลังก์เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๘ รวมเวลาที่ครองราชย์ทั้งสิ้น ๕๗ ปี ๒๘๖ วัน ซึ่งยาวนานกว่าประมุขดัตช์พระองค์ก่อน ๆ ทั้งสิ้น และทรงเป็นพระองค์เดียวในบรรดากษัตริย์ ๑๖ พระองค์ และสมเด็จพระราชินีนาถ ๑ พระองค์ที่อยู่ในราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๙๘ (ปีที่ทรงขึ้นครองราชย์)ที่ยังคงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ หลังจากนั้นทรงใช้พระอิสริยยศว่า “Her Royal Highness Princess Wilhelmina of the Netherlands” และเสด็จไปประทับที่พระราชวังแฮ็ตลู (Het Loo Palace) ในเมืองอาเปิลโดร์น (Apeldoorn) ที่สร้างเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อเป็นที่ประทับของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William III) และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ ๒ (Mary II) แห่งอังกฤษ (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติซึ่งจัดแสดงการตกแต่งภายในเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ และภาพวาดของราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา)ครั้งหนึ่งเคยมีพระราชประสงค์จะเผาพระราชวังนี้ทิ้งเพราะทรงรังเกียจการที่พระราชวังเคยถูกใช้เป็นกองบัญชาการของเยอรมนีในช่วงสงครามแต่แล้วก็เปลี่ยนพระทัย
หลังการสละราชย์ ทรงปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนน้อยครั้งจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๓ จากการเกิดวาตภัยในทะเลเหนือจนเกิดคลื่นซัดเข้าท่วมดินแดนชายฝั่งต่างๆในเนเธอร์แลนด์มีผู้เสียชีวิตถึง๑,๘๓๖คนในอังกฤษ ๓๐๗ คน ในสกอตแลนด์ ๑๙ คน และในเบลเยียม ๒๘ คน นอกจากนั้นยังมีอีกหลายร้อยคนที่สูญหายหรือเสียชีวิตขณะอยู่บนเรือนอกฝั่งทะเลเหตุการณ์นี้ทำให้ทรงออกเดินทางไปให้กำลังใจประชาชนทั่วประเทศอีกครั้ง แต่ด้วยพระชนมายุ ๗๓พรรษาจึงเสด็จโดยรถยนต์แทนการทรงจักรยานเหมือนครั้งก่อน ๆ แม้พระชนมายุมากขึ้นแต่ก็ยังทรงเอาพระทัยใส่เกี่ยวกับการลงทุนทางธุรกิจอยู่ซึ่งทรงประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ทรงมักพบปะกับกลุ่มธุรกิจข้ามชาติอย่างตระกูลเมลลอน (Mellon) แห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) และตระกูลรอทไชลด์ (Rothschild) ของยุโรป ในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพทรงพระราชนิพนธ์พระอัตชีวประวัติเรื่อง Eenzaam, maar niet alleen (Lonely but Not Alone) ซึ่งทรงเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพระองค์และเนื้อหาที่แสดงถึงพระราชศรัทธาอันแรงกล้าในศาสนา
สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๒ ที่พระราชวังแฮ็ตลูสิริพระชนมายุ ๘๒ พรรษา และในวันที่ ๘ ธันวาคมปีเดียวกัน ได้มีพระราชพิธีฝังพระบรมศพ ณ สุสานของพระราชวงศ์ที่นิวเวอเกิร์ก เมืองเดลฟต์ (Delft) ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่บรรจุพระบรมศพของพระเจ้าวิลเลียมผู้เงียบขรึมผู้สถาปนาราชวงศ์ ในงานบรรจุพระบรมศพผู้ร่วมพิธีแต่งกายชุดขาวตามที่ทรงเคยปรารภไว้ และทรงเชื่อว่าการตายเป็นการเริ่มต้นของชีวิตใหม่ที่ถาวร.