สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (United Kingdom of Great Britain and Ireland ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑) และจักรพรรดินีแห่งอินเดีย (Empress of India ค.ศ. ๑๘๗๖–๑๙๐๑) ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์แฮโนเวอร์ (Hanover)* ซึ่งปกครองอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๑๔ แต่การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ทำให้การมีประมุขร่วมระหว่างอังกฤษกับราชอาณาจักรฮันโนเวอร์ (Kingdom of Hanover) สิ้นสุดลงตามกฎหมายซาลิก (SalicLaw) ที่ไม่อนุญาตให้ราชนารีเป็นประมุขรัชสมัยที่ยาวนานถึง ๖๓ ปีทำให้ทรงเป็นประมุขของอังกฤษที่ครองราชย์นานที่สุดและนำความเป็นปึกแผ่นมั่นคงคืนสู่สถาบันกษัตริย์ซึ่งสูญเสียความนิยมจากประชาชนไปมากโดยเฉพาะใน๓รัชกาลก่อนหน้าซึ่งมีเรื่องอื้อฉาวด้านอิสตรีและการเงิน สมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกลายเป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าทางจริยธรรมศีลธรรม และความสำคัญของสถาบันครอบครัวอันเนื่องมาจากพระจริยวัตรขององค์ประมุข ซึ่งเรียกว่า วัฒนธรรมวิกตอเรีย (Victorian Culture)* พระนามของพระองค์ได้เป็นชื่อเรียกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ของอังกฤษซึ่งนิยมนับกันว่าเริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๑๘๓๐ จนถึง ค.ศ. ๑๙๐๑ เมื่อเสด็จสวรรคตว่า สมัยวิกตอเรีย (Victorian Age) นับเป็นช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดของอังกฤษในการเป็นมหาอำนาจเหนือดินแดนโพ้นทะเลที่สำคัญ ซึ่งครอบคลุมแคนาดา ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ อินเดีย และส่วนใหญ่ของแอฟริกา และเป็นช่วงที่อังกฤษมีความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ดังเช่น รถไฟและโทรเลข การขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างไม่เคยมีผู้ใดคาดคิดมาก่อนในสมัยนี้วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะก็กลับมามีความหมายอีกครั้ง และมีการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การครองราชย์ที่ยาวนานทำให้องค์ประมุขทรงยืนหยัดเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศขณะที่รัฐบาลที่เข้ามาบริหารพ้นตำแหน่งไปหลายชุด
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๙ ณ พระราชวังเคนซิงตัน (Kensington Palace) กรุงลอนดอน เป็นพระธิดาองค์เดียวของเจ้าชายเอดเวิร์ด ออกัสตัส ดุ๊กแห่งเคนต์และสแตรทเอิร์น (Edward Augustus, Duke of Kent and Strathearn ค.ศ. ๑๗๖๗–๑๘๒๐) พระราชโอรสองค์ที่ ๔ ในพระเจ้าจอร์จที่ ๓ (George III ค.ศ. ๑๗๖๐–๑๘๒๐) ส่วนพระมารดาคือ เจ้าหญิงมาเรีย ลุยซา วิกตอเรียแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Maria Louisa Victoria of Saxe-Coburg-Gotha ค.ศ. ๑๗๘๖–๑๘๖๑) พระธิดาของดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ (Duke of Saxe-Coburg-Saalfeld) พระบิดาและพระมารดาทรงละทิ้งถิ่นพำนักที่ฟรังโกเนีย (Franconia) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐบาวาเรีย (Bavaria) ในปัจจุบัน ด้วยความปรารถนาที่จะให้รัชทายาทซึ่งจะมีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์อังกฤษถือกำเนิดในดินแดนอังกฤษเจ้าหญิงวิกตอเรียมีพระนามเต็มว่า อะเล็กซานดรีนา วิกตอเรีย (Alexandrina Victoria) คนในราชสำนักและผู้ใกล้ชิดเรียกพระนามเล่นว่า ดรีนา (Drina)
ดุ๊กแห่งเคนต์ พระบิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่เจ้าหญิงวิกตอเรียมีพระชันษาเพียง ๘ เดือน เจ้าหญิงองค์น้อยจึงทรงได้รับการเลี้ยงดูอย่างค่อนข้างโดดเดี่ยว ระมัดระวัง และปราศจากความหรูหราแม้จะทรงได้รับการดูแลอย่างดี ทรงจำได้ว่าไม่ทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จลงบันไดโดยไม่มีใครจูงจนกระทั่งขึ้นครองราชย์ ทรงผ่านวัยเยาว์อย่างค่อนข้างว้าเหว่และไร้ความสุข นอกจากพระมารดาแล้วยังมีพระขนิษฐาต่างพระบิดาคือเจ้าหญิงเฟโอโดราแห่งไลนิงเงิน [(Feodora of Leiningen)พระบิดาคือเจ้าชายแห่งไลนิงเงิน-ดัคสบูร์ก-ฮาร์เดนบูร์ก (Prince of Leiningen-Dachsburg-Hardenburg)] พระปิตุลาที่ทรงสนิทสนมเป็นพิเศษคือเจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระมารดาที่ประทับอยู่ที่แคลร์มอนต์ (Claremont) ในมณฑลเซอร์รีย์ (Surrey) จนกระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งชาวเบลเยียมใน ค.ศ. ๑๘๓๑ การทะเลาะกระทบกระทั่งกันระหว่างพระมารดากับพระญาติข้างพระบิดา โดยเฉพาะกับพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ (William IV ค.ศ. ๑๘๓๐–๑๘๓๗) ทำให้เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงโทมนัสอยู่เนือง ๆ และผลักดันให้ทรงผูกพันกับหลุยส์เลห์เซิน (Louise Lehzen) พระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงจากเมืองโคบูร์ก (Coburg) ฮันโนเวอร์ขณะที่ดัชเชสแห่งเคนต์พระมารดาทรงเชื่อฟังเซอร์จอห์น คอนรอย (John Conroy) ที่ปรึกษาด้านการเงินของครอบครัวซึ่งประสงค์จะมีอิทธิพลชี้นำพระราชินีในอนาคตของอังกฤษ เมื่อได้รับการยุยงจากคอนรอยว่าบรรดาเจ้านายที่ทรงพระยศดุ๊กทั้งหลายซึ่งเป็นพระปิตุลาข้างพระบิดานั้นล้วนชั่วร้ายและอาจขวางทางการขึ้นครองราชบัลลังก์ของเจ้าหญิงวิกตอเรียดัชเชสแห่งเคนต์จึงทรงเลี้ยงดูพระธิดาอย่างเข้มงวดกีดกันพระธิดาจากการคบหาคนรุ่นราวคราวเดียวกันรวมทั้งสมาชิกในราชวงศ์แฮโนเวอร์ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ต่อมาเรียกว่า ระบบเคนซิงตัน (Kensington System) สำหรับเจ้าหญิงวิกตอเรียแม้จะมีพระปรีชาไวและเฉลียวฉลาด แต่ก็ทรงไม่ได้รับการศึกษากว้างขวางนักทรงพระอักษรวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และพระคัมภีร์ไบเบิล ทรงเรียนเปียโนและวาดภาพซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ทรงโปรดปราน ส่วนภาษานั้นทรงเรียนภาษาเยอรมันในขั้นแรกจนกระทั่งพระชันษา ๓ ปี จึงได้ทรงเรียนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เมื่อพระชันษาได้๑๓ปีก็ทรงเริ่มการเขียนบันทึกประจำวันซึ่งทรงกระทำไปจนตลอดพระชนม์ชีพ ภายหลังที่มีการพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวที่ทรงบันทึกไว้ พสกนิกรจึงมีความเข้าใจและเคารพยกย่องพระองค์มากขึ้น แต่พระราชธิดาองค์สุดท้องซึ่งทำหน้าที่บรรณาธิการบทบันทึกต่าง ๆ ได้เผาบันทึกที่มีเนื้อความสำคัญจำนวนมากทิ้ง ยกเว้นบางส่วนที่ทรงเห็นว่าจะไม่ก่อผลเสียใด ๆ
ใน ค.ศ. ๑๘๑๗ เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (Charlotte) พระธิดาในเจ้าชายจอร์จ ผู้สำเร็จราชการ [Prince Regent ต่อมาคือ พระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV ค.ศ. ๑๘๒๐–๑๘๓๐)] และเป็นพระชายาในเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา [Leopold of Saxe-Coburg-Gotha ต่อมาคือพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๘๓๑–๑๘๖๕) แห่งเบลเยียม] สิ้นพระชนม์จากการมีพระประสูติการ ขณะนั้นบรรดาพระราชโอรสในพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ก็ไม่ทรงมีทายาทตามกฎหมายแม้เพียงพระองค์เดียว ด้วยเหตุนี้ ในปีต่อมาพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ ดุ๊กแห่งแคลเรนซ์ (Duke of Clarence ต่อมาคือ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๔) ดุ๊กแห่งเคนต์ และดุ๊กแห่งเคมบริดจ์ (Duke of Cambridge)จึงทรงอภิเษกสมรสเพื่อมีทายาทรุ่นต่อไปในการสืบราชบัลลังก์ผู้ชนะที่สามารถให้กำเนิดรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ได้สำเร็จ คือ ดุ๊กแห่งเคนต์ หลังจากพระเจ้าจอร์จที่ ๔ ขึ้นครองราชย์และดุ๊กแห่งเคนต์สิ้นพระชนม์แล้วเจ้าหญิงวิกตอเรียทรงอยู่อันดับ๓ของการสืบราชสันตติวงศ์โดยทรงมีลำดับต่อจากเจ้าชายเฟรเดอริก ออกัสตัส ดุ๊กแห่งยอร์ก (Frederick Augustus, Duke of York สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๒๗) ดุ๊กแห่งแคลเรนซ์มีพระธิดา ๒ องค์ แต่สิ้นพระชนม์ขณะเป็นทารกอยู่ทั้งคู่ ในที่สุด เมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ซึ่งประชวรด้วยพระโรคทางเดินหายใจก็สวรรคตเพราะนิวมอเนียเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๗ เจ้าหญิงวิกตอเรียซึ่งขณะนั้นเป็นรัชทายาทอันดับ ๑ จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษาที่เพิ่งครบ ๑๘ ปีเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๓๗๑ โดยทรงได้รับการแจ้งข่าวในเวลาเช้าตรู่จากอาร์ชบิชอปแห่งแคน-เทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) และกรมวัง (Lord Chamberlain) หากพระชันษายังไม่ครบ ๑๘ ปี พระมารดาจะได้ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการตามพระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการค.ศ. ๑๘๓๐ (RegencyAct 1830) ซึ่งพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ไม่ทรงปรารถนาจะให้เหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ทรงภาวนาขอให้มีพระชนม์ชีพยืนยาวจนเจ้าหญิงวิกตอเรียทรงบรรลุนิติภาวะ เพื่อที่ดัชเชสแห่งเคนต์ซึ่งพระองค์ทรงเกลียดชังจะได้ไม่ต้องทำหน้าที่สำคัญนั้น เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๘ ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ใช้พระราชวังบักกิงแฮม (Buckingham Palace) เป็นที่ประทับ อนึ่ง การที่กฎหมายซาลิกซึ่งห้ามสตรีเป็นประมุขใช้บังคับในราชอาณาจักรฮันโนเวอร์ ดังนั้น มงกุฎกษัตริย์อังกฤษและฮันโนเวอร์จึงแยกกันนับแต่นี้เจ้าชายเออร์เนสต์ดุ๊กแห่งคัมเบอร์แลนด์และเทวีออตเดล (Ernest, Duke of Cumberland and Teviotdale) พระราชโอรสองค์ที่ ๕ ในพระเจ้าจอร์จที่๓ซึ่งเป็นพระอนุชาในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ รัชทายาทชายสายตรงที่อาวุโสที่สุดในขณะนั้นจึงเสด็จไปครองราชบัลลังก์ฮันโนเวอร์เป็นพระเจ้าเออร์เนสต์ออกุสตุสที่ ๑ (Ernest Augustus I) และทรงเป็นรัชทายาทสมมติ (heir presumptive) ของอังกฤษด้วยจนกระทั่งพระราชธิดาองค์แรกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียประสูติใน ค.ศ. ๑๘๔๐
การที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเพิ่งบรรลุนิติภาวะและอ่อนประสบการณ์แทบทุกด้านทำให้เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ทรงอยู่ใต้อิทธิพลของการชี้แนะในเรื่องต่าง ๆ จากนายกรัฐมนตรีวิลเลียมแลมบ์ ไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒ (William Lamb, 2ᶰᵈ Viscount Melbourne) ตลอดช่วง ๓ ปีแรก แต่กับพระราชมารดา ทรงมีพระทัยแน่วแน่ยืนกรานไม่ให้พระราชมารดามีอิทธิพลอีกต่อไปและทรงจัดให้พระราชมารดาแยกประทับเป็นส่วนสัดเมื่อเสด็จย้ายเข้าไปประทับที่พระราชวังบักกิงแฮม ลอร์ดคอนรอยถูกปลดให้รับบำนาญและได้ยศบารอนแต่ก็ทำให้เขาไม่พอใจเพราะสำคัญตนว่าสมควรเป็นเอิร์ล (ส่วนเคาน์เตสเลห์เซินซึ่งเคยเป็นแรงหนุนสำคัญในการต่อต้านพระราชมารดายังอยู่ต่อไปจนถึง ค.ศ. ๑๘๔๒) ลอร์ดเมลเบิร์นทำหน้าที่ดุจบิดาให้แก่สมเด็จพระราชินีที่กำพร้าพระราชบิดา อีกทั้งเป็นเลขานุการ พระสหายสนิท และที่ปรึกษาซึ่งถวายความรู้ให้แก่พระองค์ทั้งในเรื่องการเมืองและกิจการต่าง ๆ ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมีพระทัยผูกพันและเลื่อมใสในนายกรัฐมนตรีผู้นี้มากและทำให้ทรงสนับสนุนพรรควิก [Whig Party ต่อมาคือ พรรคเสรีนิยม (Liberal Party)] ของเขาไปด้วย บางคนถึงกับใช้คำล้อเลียนว่า มิสซิส เมลเบิร์น (Mrs. Melbourne) เมื่อกล่าวถึงพระองค์บทสนทนาของพระองค์กับเมลเบิร์นที่ทรงบันทึกไว้และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ได้มีการตีพิมพ์มีชื่อว่า The Girlhood of Queen Victoria, 1832–1840
ในช่วงต้นรัชกาล สมเด็จพระราชินีนาถองค์ใหม่ทรงเผชิญกับวิกฤตการณ์ ๒ เรื่องใน ค.ศ. ๑๘๓๙ ซึ่งมีผลให้ความนิยมตื่นเต้นยินดีในพระองค์ของมหาชนคลายลงอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์แรกที่เรียกว่า กรณีเฮสติงส์ (Hastings Affair) นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากทรงบังคับให้เลดีฟลอรา เฮสติงส์ (Flora Hastings) นางพระกำนัลซึ่งมีสายสัมพันธ์กับพรรคทอรี [Tory Party ต่อมาคือพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)] ไปตรวจร่างกายว่าตั้งครรภ์หรือไม่ เสียงโจษจันเกิดขึ้นเมื่อเป็นที่ล่วงรู้กันว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงเข้าพระทัยผิด และเหตุการณ์เลวร้ายลงเมื่อเลดีเฮสติงส์เสียชีวิตในปีเดียวกันนั้นโดยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยจากนายแพทย์ถึงสาเหตุของการเสียชีวิต ส่วนเหตุการณ์ที่ ๒ นั้น ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ เกิดวิกฤตการณ์ห้องพระบรรทม (Bedchamber Crisis) ความที่ทรงพึ่งพิงลอร์ดเมลเบิร์นจนทรงรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนสำคัญมากทั้งในการดำรงพระชนม์ชีพและการบริหารประเทศ ทำให้ทรงไม่ต้องการให้เขาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อพรรควิกไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ จึงต้องหลีกทางให้พรรคทอรี ดังนั้น เมื่อเซอร์รอเบิร์ต พีล (Robert Peel) ผู้นำพรรคทอรีจะได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลแทนใน ค.ศ. ๑๘๓๙ สมเด็จพระราชินีนาถจึงไม่ทรงยินยอมให้ปลดนางพระกำนัลที่ได้รับการแต่งตั้งในช่วงรัฐบาลของพรรควิกซึ่งจะเป็นการแสดงออกถึงการไม่เชื่อมั่นไว้วางใจในรัฐบาลที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งพีลจึงปฏิเสธที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศและเมลเบิร์นก็ได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก ๒ ปี อย่างไรก็ดีกรณีที่เกิดขึ้นนี้กับข้อโจษจันที่แม้จะเลื่อนลอยเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพระองค์กับเลดีฟลอรา เฮสติงส์ ก็ทำให้ทรงสูญเสียความนิยมจากประชาชนและทำให้ทรงถูกโน้มน้าวจากพระราชมารดาและพระญาติว่าควรอภิเษกสมรส
ดัชเชสแห่งเคนต์ พระราชมารดา และพระเจ้าเลโอโปลด์แห่งเบลเยียม พระปิตุลาทรงหมายพระเนตรไปยังเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา [Albert of Saxe-Coburg-Gotha พระนามเต็ม คือ ฟรานซิส อัลเบิร์ต ออกัสตัส ชาลส์ เอมมานูเอล (Francis Albert Augustus Charles Emmanuel)]๒ ซึ่งเป็นพระญาติใกล้ชิด (first cousin) เนื่องจากทรงเป็นโอรสของเจ้าชายเออร์เนสต์ (Ernest) พระเชษฐาของดัชเชสแห่งเคนต์ ว่าจะเป็นคู่อภิเษกที่เหมาะสม เมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้นทรงเห็นว่าเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ (Alexander) พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๔๐–๑๘๔๙) แห่งเนเธอร์แลนด์เหมาะสมกว่า เพราะไม่ทรงประสงค์ที่จะให้ราชวงศ์อังกฤษมีสายสัมพันธ์กับสมาชิกราชสกุลโคบูร์กมากขึ้นไปอีก แต่เจ้าชายอัลเบิร์ตซึ่งเป็นพระญาติที่ทรงรู้จักตั้งแต่ทรงพระเยาว์ก็สามารถครองพระทัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเมื่อทรงพบเจ้าชายในการเสด็จเยือนราชสำนักอังกฤษครั้งแรก ณ พระราชวังวินด์เซอร์ (Windsor) ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๙ ห้าวันหลังจากนั้น ในฐานะกษัตริย์ทรงเป็นฝ่ายขอเจ้าชายอภิเษกสมรสด้วย ทั้ง ๒ พระองค์ทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสที่วิหารหลวง (Chapel Royal) ของพระราชวังเซนต์เจมส์ (St. James’s Palace) กรุงลอนดอน ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๐ ในปีเดียวกันขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถอยู่ในช่วงทรงครรภ์แรก เอดเวิร์ด ออกซฟอร์ด (Edward Oxford) อายุ ๑๘ ปี ได้พยายามลอบปลงพระชนม์ขณะประทับในรถม้าพระที่นั่งกับเจ้าชายอัลเบิร์ตในกรุงลอนดอน เขายิงกระสุน ๒ นัดใส่รถพระที่นั่ง แต่พลาดและถูกตั้งข้อหากบฏ ภายหลังเขาได้รับการปล่อยตัวด้วยเหตุผลของการมีสติไม่สมประกอบ ๓
ความสุขที่ทรงได้รับจากชีวิตคู่ทำให้พระบุคลิกและพระอุปนิสัยดื้อรั้นของสมเด็จพระราชินีนาถเปลี่ยนไป ทรงชื่นชมและเชื่อฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของเจ้าชายอัลเบิร์ตอย่างเต็มที่การเอนเอียงสนับสนุนพรรควิกก็ลดน้อยลงอันเนื่องมาจากแนวทางไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งของเจ้าชายอัลเบิร์ต มีผู้เรียกขานสมเด็จพระราชินีนาถอย่างเสียดสีว่า ราชินีอัลเบอร์ทีน (Queen Albertine) มีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยกัน ๙ พระองค์ ดังนี้
๑. เจ้าหญิงวิกตอเรีย แอเดอเลด แมรี ราชกุมารี [Victoria Adelaide Mary, Princess Royal ค.ศ. ๑๘๔๐–๑๙๐๑ หรือวิกกี (Vicky) ที่ปรากฏในพระราช-หัตถเลขาที่รวบรวมตีพิมพ์ในชื่อ Letters ใน ค.ศ. ๑๘๕๘ ทรงอภิเษกสมรสกับไกเซอร์เฟรเดอริกที่ ๓ (Frederick III ค.ศ. ๑๘๘๘) เป็นพระราชชนนีของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘–๑๙๑๘)* จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเยอรมนี]
๒. เจ้าชายอัลเบิร์ต เอดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ (Albert Edward, Prince of Wales ค.ศ. ๑๘๔๑–๑๙๑๐) ต่อมาคือ พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑–๑๙๑๐) อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอะเล็กซานดรา (Alexandra) พระราชธิดาองค์โตในพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ (Cristian IX) แห่งเดนมาร์ก
๓. เจ้าหญิงแอลิซ มอด แมรี (Alice Maud Mary ค.ศ. ๑๘๔๓–๑๘๗๘) ทรงสมรสกับดุ๊กหลุยส์แห่งเฮสเซอ-ดาร์มชตัดท์ (Louis of Hesse-Darmstadt) เป็นแกรนด์ดัชเชสแห่งเฮสเซอ-ดาร์มชตัดท์ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ มีพระธิดา ๕ องค์ เจ้าหญิงวิกตอเรียองค์โตเป็นพระมารดาของเจ้าชายหลุยส์ เมาต์แบตเทนเอิร์ลเมาต์แบตเทนที่๑แห่งพม่า (Louis Mountbatten, 1ˢᵗ Earl Mountbatten of Burma) องค์ที่ ๔ คือเจ้าหญิงอะลิกซ์(Alix)ซึ่งได้รับพระนามอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna) เมื่อทรงเข้านับถือนิกายรัสเซียนออร์ทอดอกซ์ (Russian Orthodox Church) อภิเษกสมรสกับซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๒–๑๙๑๗) แห่งรัสเซีย
๔. เจ้าชายอัลเฟรด เออร์เนสต์ อัลเบิร์ต ดุ๊กแห่งเอดินบะระ (Alfred Ernest Albert, Duke of Edinburgh ค.ศ. ๑๘๔๔–๑๙๐๐) ใน ค.ศ. ๑๘๖๒ ได้รับการคัดเลือกเป็นกษัตริย์แห่งกรีซ แต่ทรงปฏิเสธใน ค.ศ. ๑๘๗๔ อภิเษกสมรสกับแกรนด์ดัชเชสมารีอะเล็กซานดรอฟนา (Marie Alexandrovna) แห่งรัสเซีย และใน ค.ศ. ๑๘๙๓ เป็นดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทาสืบต่อจากพระปิตุลา
๕. เจ้าหญิงเฮเลนา ออกุสตา วิกตอเรีย (Helena Augusta Victoria ค.ศ. ๑๘๔๖–๑๙๒๓) อภิเษกสมรสกับเจ้าชายคริสตีอันแห่งชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Kristian of Schleswig-Holstein)
๖. เจ้าหญิงหลุยส์ แคโรลีน อัลเบอร์ตา (Louise Caroline Alberta ค.ศ. ๑๘๔๘–๑๙๓๙) อภิเษกสมรสกับเจ้าชายจอห์น ดักลาส ซูเทอร์แลนด์ ดุ๊กที่ ๙ แห่งอาร์กิลล์ [(John Douglas Sutherland, 9ᵗʰ Duke of Argyll) ต่อมาเป็นมาร์ควิสแห่งลอร์น (Marquis of Lorne) ข้าหลวงใหญ่แห่งแคนาดา (GovernorGeneral of Canada ค.ศ. ๑๘๗๘–๑๘๘๓)]
๗. เจ้าชายอาร์เทอร์ วิลเลียม แพทริก ดุ๊กแห่งคอนนอทและสแตรทเอิร์น (Arthur William Patrick, Duke of Connaught and Strathearn ค.ศ. ๑๘๕๐–๑๙๔๒) ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งแคนาดา ค.ศ. ๑๙๑๑–๑๙๑๖ อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงหลุยส์ มาร์กาเรต (Louise Margaret) แห่งปรัสเซีย มีพระธิดาคือเจ้าหญิงมาร์กาเรต (Margaret) ซึ่งอภิเษกสมรสกับพระเจ้ากุสตาฟที่ ๖ อดอล์ฟแห่งสวีเดน (Gustav VI Adolf of Sweden)
๘. เจ้าชายเลโอโปลด์ จอร์จ ดันแคน ดุ๊กแห่งอัลบานี (Leopold George Duncan, Duke of Albany ค.ศ. ๑๘๕๓–๑๘๘๔) ผู้ทรงทุกข์ทรมานกับพระโรคโลหิตไม่แข็งตัวหรือฮีโมฟีเลีย (haemophilia) มีโอรสคือ เจ้าชายเลโอโปลด์ ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก (Leopold, Duke of Saxe-Coburg) ซึ่งต่อมาใช้พระยศของพระบิดาใน ค.ศ. ๑๙๑๗
๙. เจ้าหญิงเบียทริซ แมรี วิกตอเรีย (Beatrice Mary Victoria ค.ศ. ๑๘๕๗–๑๙๔๔) อภิเษกสมรสกับเจ้าชายเฮนรีแห่งบัตเทนแบร์ก (Prince Henry of Battenberg) เยอรมนี มีพระธิดาคือ เจ้าหญิงวิกตอเรีย เออเชนี จูเลีย เอนา (Victoria Eugenie Julia Ena) ซึ่งได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๓ (Alfonso XIII ค.ศ. ๑๘๘๖–๑๙๓๑) แห่งสเปนสมเด็จพระอัยยิกาในพระเจ้าฆวน การ์โลส (Juan Carlos) ประมุขสเปนก่อนองค์ปัจจุบัน
การมีพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงมีเวลาให้แก่สังคมน้อยลง เจ้าชายอัลเบิร์ตก็โน้มน้าวพระทัยให้ทรงโปรดชีวิตชนบทมากกว่าความหรูหราตามสมัย ใน ค.ศ. ๑๘๔๕ ทรงได้สิทธิในพระตำหนักออสบอร์น (Osborne) ซึ่งอยู่ริมทะเลบน (เกาะ) ไอล์-ออฟไวต์ (Isle of Wight) และใน ค.ศ. ๑๘๔๘ ทรงเช่าปราสาทบัลมอรัล (Balmoral) ในเขตที่ราบสูงของสกอตแลนด์ก่อนที่จะทรงซื้อใน ๔ ปีต่อมา ด้วยเหตุนี้ จึงทรงใช้เวลาประทับน้อยลงทั้งที่พระราชวังบักกิงแฮมและปราสาทวินด์เซอร์ (Windsor Castle) ซึ่งเป็นที่ประทับทางการแต่ไม่ทรงโปรดนัก เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว รัฐสภาได้ถวายเงินจำนวน ๓๘๕,๐๐๐ ปอนด์ต่อปี และทรงมีรายได้จากดัชชีแลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster) และดัชคอร์นวอลล์ (Duchy of Cornwall) ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน ๑๒๖,๐๐๐ ปอนด์ต่อปีทำให้หลังขึ้นครองราชย์ได้ ๒ ปี ทรงปลดเปลื้องหนี้สินของดุ๊กแห่งเคนต์พระบิดาได้จนหมดสิ้น ส่วนเจ้าชายอัลเบิร์ตทรงได้รับการถวายเงินปีจากรัฐสภาเป็นจำนวน ๓๐,๐๐๐ ปอนด์ การอภิเษกสมรสของพระองค์และต่อมาของพระราช-โอรสและพระราชธิดาตลอดจนพระราชนัดดาอีก ๔๒ องค์ทำให้ราชวงศ์อังกฤษมีสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ของรัสเซีย ปรัสเซีย กรีซ เดนมาร์ก โรมาเนีย และรัฐเยอรมันอีกหลายรัฐ ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถได้ฉายาว่า สมเด็จพระอัยยิกาธิราชแห่งยุโรป (the Great Grandmother of Europe)
หลังการลาออกของลอร์ดเมลเบิร์นใน ค.ศ. ๑๘๔๑ และการพ้นหน้าที่ของหลุยส์ เลห์เซิน โดยได้รับยศบารอนเนสใน ค.ศ. ๑๘๔๒ ซึ่งมีบทบาทไม่งดงามนักในราชสำนัก จนเจ้าชายอัลเบิร์ตทรงให้ฉายาว่า ยายมังกรประจำบ้าน (house dragon) เจ้าชายอัลเบิร์ตก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการมีพระราชดำริต่าง ๆ แต่ผู้เดียว พระองค์ทรงสามารถโน้มน้าวให้สมเด็จพระราชินีนาถมีพระทัยเป็นกลางทางการเมืองมากขึ้นจากเดิมที่เคยโปรดแต่พรรควิกก็ทำให้ทรงหันมาสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมบ้าง และโปรดปรานเซอร์รอเบิร์ต พีล ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๑–๑๘๔๖ เจ้าชายอัลเบิร์ต
ในสมัยจอห์น รัสเซลล์ เอิร์ลรัสเซลล์ที่ ๑ (John Russell, 1ˢᵗ Earl Russell) เป็นนายกรัฐมนตรี (ค.ศ. ๑๘๔๖–๑๘๕๒) สมเด็จพระราชินีนาถและเจ้าชายอัลเบิร์ตต่างไม่ทรงเชื่อถือในเฮนรี จอห์น เทมเปิลไวส์เคานต์พัลเมอร์สตันที่ ๓ (Henry John Temple, 3ʳᵈ Viscount Palmerston) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น และไม่ทรงพอพระทัยการดำเนินนโยบายของเขา สาเหตุของการไม่พอพระทัยเกิดจากการที่ราชสำนักอังกฤษมีสัมพันธ์อันดีกับประมุขแห่งเบลเยียม ปรัสเซีย โปรตุเกส และฝรั่งเศสและทรงมีข้อมูลด้านต่างประเทศที่บางอย่างดีกว่าหรือทันสมัยกว่ารัฐบาลอันเป็นผลมาจากสายสัมพันธ์ของเครือญาติ เมื่อพัลเมอร์สตันพยายามสนับสนุนช่วยเหลือขบวนการชาตินิยมต่าง ๆ ในภาคพื้นทวีปยุโรป ซึ่งอาจจะทำให้การดำรงอยู่ของจักรวรรดิออสเตรียสิ้นสุดลงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงไม่สบพระทัยอย่างมากและทรงทักท้วงลอร์ดรัสเซลล์ด้วย เมื่อพัลเมอร์สตันให้ความเห็นชอบกับการยึดอำนาจของเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนใน ค.ศ. ๑๘๕๑ [ต่อมาสถาปนาพระองค์เองเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒–๑๘๗๐)] โดยไม่ปรึกษาพระองค์แต่อย่างใดก็เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้าย จึงทรงมีพระประสงค์ที่จะปลดพัลเมอร์สตัน อย่างไรก็ดี เขาลาออกก่อนในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๑ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ลอร์ดจอห์น รัสเซลล์ นายกรัฐมนตรีต้องการสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชินีนาถ การจัดตั้งรัฐบาลผสมของจอร์จ แฮมิลตันกอร์ดอนเอิร์ลที่ ๔ แห่งอาเบอร์ดีน (George Hamilton Gordon, 4ᵗʰ Earl of Aberdeen) ในปีถัดมาก็เป็นผลงานของราชสำนักเป็นสำคัญ ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถก็รับสั่งว่าเป็นการทำให้ความปรารถนาอันแรงกล้าของพระองค์เป็นความจริง คำแนะนำต่าง ๆ ที่ทรงได้รับจากพระสวามีคงมีอิทธิพลอยู่ยาวนานแม้เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ไปแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถทรงงานอย่างทุ่มเท ทรงคาดหวังที่จะมีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดนโยบายทั้งในและนอกประเทศ จี. เอ็ม. ยัง (G. M. Young) นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่มีการใช้พระราชอำนาจ (prerogative) แบบโจ่งแจ้งและดึงดันได้เปลี่ยนมาเป็นการใช้อิทธิพลที่แฝงเร้นแต่ทรงพลัง
ส่วนเจ้าชายอัลเบิร์ตนั้นทรงไม่ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนและนักการเมืองชาวอังกฤษมากนักแม้จะทรงทำงานหนักเพื่อประโยชน์ของประเทศ ผู้คนส่วนใหญ่ถือว่าพระองค์เป็นเจ้านายต่างชาติ ทรงตรัสภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงเยอรมัน และทรงมาจากดินแดนเล็ก ๆ ที่ไม่สลักสำคัญอย่างใดเมื่อเทียบกับอังกฤษ การที่รัฐสภาอังกฤษถวายเงินปีให้พระองค์ ๓๐,๐๐๐ ปอนด์ จึงน้อยกว่าพระราชฐานะคู่สมรสที่ควรจะได้รับการถวายตามปรกติ ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ อย่างไรก็ดี ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงพระครรภ์ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงมีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้นทุกทีจนกล่าวกันว่าทรงเป็นประมุขที่แท้จริงเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้สวมมงกุฎกษัตริย์เท่านั้น เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเคยปรารภกับอาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington) ใน ค.ศ. ๑๘๕๐ ว่า ทรงเป็นสามี ครูของลูก เลขานุการส่วนพระองค์ของประมุขและรัฐมนตรีถาวร ผลงานชิ้นสำคัญของพระองค์ คือการจัดงานนิทรรศการครั้งใหญ่ (Great Exhibition) ใน ค.ศ. ๑๘๕๑ ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดงานและประสบความสำเร็จมากแม้ในระยะแรกจะทรงถูกบรรดาสมาชิกสภาคัดค้านโดยอ้างว่าการจัดงานนานาชาติจะเปิดโอกาสให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแฝงตัวมาก่อความวุ่นวายได้ เพราะขณะนั้นบนภาคพื้นทวีปยุโรปกำลังเกิดเหตุการณ์การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* แต่เจ้าชายอัลเบิร์ตไม่ทรงเปลี่ยนพระทัย ทรงเห็นว่าควรจัดแสดงเพื่อให้เห็นความมั่งคั่งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ศักยภาพในการผลิตสินค้าและอุตสาหกรรมของอังกฤษให้เป็นที่ประจักษ์แก่โลกอาคารจัดแสดงชิ้นเอกเป็นอาคารแบบเรือนกระจกที่เรียกว่า พระราชวังแก้ว (Crystal Palace) ซึ่งสร้างขึ้นด้วยโครงเหล็กและกระจกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งอยู่ ณ สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ค (Hyde Park) ความสำเร็จของงานทำให้สมเด็จพระราชินีนาถยิ่งทรงภาคภูมิใจในพระอัจฉริยภาพของพระสวามีเป็นอย่างยิ่ง กำไรที่ได้จากงานนี้ได้กลายเป็นทุนในการก่อสร้างวิทยาลัยอิมพิเรียล (Imperial College) และพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเขตเซาท์เคนซิงตัน (South Kensington) รวมทั้งพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum)
ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ความนิยมในสมเด็จพระราชินีนาถและเจ้าชายอัลเบิร์ตลดลงในหมู่ประชาชนจากการที่ทรงพยายามยับยั้งไม่ให้เกิดสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓–๑๘๕๖)* ซึ่งทำให้ทรงถูกเพ่งเล็งว่าทรงมีนโยบายขัดกับผลประโยชน์ของอังกฤษเพราะทรงสนับสนุนรัสเซีย แต่ระหว่างสงคราม สมเด็จพระราชินีนาถก็ทรงจัดการเรื่องการบรรเทาทุกข์ทหารที่บาดเจ็บอย่างแข็งขันนอกจากนี้ยังทรงหันมาสนับสนุนการดำเนินงานของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale)อีกทั้งเสด็จเยี่ยมทหารณสถานพยาบาลแจกเหรียญ และทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งความกล้าหาญโดยใช้พระนามของพระองค์เองที่เรียกว่า กางเขนวิกตอเรีย (Victoria Cross) นอกจากนี้ยังทรงหันมาสนับสนุนพัลเมอร์สตันซึ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๘๕๕ มากขึ้น และเขาก็พิสูจน์การเป็นผู้นำยามสงครามได้อย่างเข้มแข็ง
เจ้าชายอัลเบิร์ตได้รับตำแหน่งเจ้าชายพระราชสวามี (Prince Consort) ใน ค.ศ. ๑๘๕๗ อีก ๔ ปี ต่อมา พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ ด้วยพระโรคไทฟอยด์ (แต่มีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นมะเร็งในช่องท้อง) ขณะมีพระชันษาเพียง ๔๒ ปี สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง นับแต่นั้นทรงฉลองพระองค์สีดำจนตลอดพระชนม์ชีพ ไม่ทรงปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนตลอดช่วง ๓ ปีแรก ไม่เสด็จออกจากที่ประทับและงดพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ทำให้ผู้คนเรียกขานพระองค์อย่างเสียดสีว่า แม่ม่ายแห่งวินด์เซอร์ (Widow of Windsor) สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงปรากฏพระองค์ก็เพียงเพื่อเสด็จไปเปิดอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระสวามีในที่ต่าง ๆ แห่งที่สำคัญที่สุดคือที่สวนเคนซิงตัน (Kensington Gardens) ซึ่งสูง ๕๓.๖ เมตร และเป็นผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมแบบกอทิก (Gothic) และวิกตอเรียน อนุสาวรีย์อัลเบิร์ต (Albert Memorial) แห่งนี้ใช้เวลาสร้าง ๑๕ ปี และมีคำจารึกที่แสดงความอาลัยว่า “Queen Victoria and Her People to the memory of Prince Albert Consort as a tribute of their gratitude for a life devoted to the public good” และในส่วนหนึ่งมีคติพจน์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต คือ ซื่อสัตย์และภักดี (Treu und Fest; True and Faithful) ด้วย
สมเด็จพระราชินีทรงหลีกเลี่ยงที่จะประทับที่กรุงลอนดอนและมักจะประทับที่ปราสาทบัลมอรัลและพระตำหนักออสบอร์นบนไอล์ออฟไวต์เป็นเวลา ๔ เดือนต่อปี โดยไม่ทรงสนพระทัยว่าได้ก่อความลำบากให้แก่คณะรัฐมนตรีเพียงใด กระดาษที่ใช้สำหรับทรงพระอักษรนับแต่นั้นก็คาดแถบไว้ทุกข์ สมเด็จพระราชินีนาถทรงโทษว่าเป็นเพราะเจ้าชายแห่งเวลส์ที่ทำให้พระสวามีทรงล้มป่วยจนสิ้นพระชนม์หลังจากการเสด็จไปพบเจ้าชายแห่งเวลส์ที่เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) ขณะทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยทรินีตี (Trinity College) เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์อื้อฉาวระหว่างเจ้าชายแห่งเวลส์กับเนลลี คลิฟเดน (Nelly Clifden) นักแสดงละครชาวไอริชเมื่อครั้งที่ทรงตั้งค่ายทหารที่ทุ่งเคอร์ระ (Curragh) ในไอร์แลนด์ สมเด็จพระราชินีนาถและเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีซึ่งกำลังเตรียมการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายแห่งเวลส์กับเจ้าหญิงอะเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก (Princess Alexandra of Denmark) จึงกังวลพระทัยมากเจ้าชายอัลเบิร์ตซึ่งกำลังประชวรอยู่ได้เดินทางฝ่าอากาศเยียบเย็นไปหาพระราชโอรสที่เมืองเคมบริดจ์ เมื่อเสด็จกลับก็ทรงประชวรอย่างหนักจนสิ้นพระชนม์นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกคืนที่ปราสาทวินด์เซอร์ฉลองพระองค์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตจะจัดวางไว้บนพระแท่นบรรทม และทุกเช้าน้ำใหม่สะอาดจะวางเตรียมไว้ที่อ่างสรงพระพักตร์ ข้าวของต่าง ๆ ในห้องของเจ้าชายวางไว้คงเดิม สมเด็จพระราชินีนาถทรงเข้าบรรทมโดยมีพระฉายาลักษณ์ของพระสวามีเหนือพระเศียรแม้บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาซึ่งไม่ทรงใกล้ชิดก็ไม่สามารถปลอบพระทัยได้ ผู้ที่ติดตามถวายการดูแลพระองค์อย่างใกล้ชิดและยืนหยัดเป็นหลักให้พระองค์หลังการสูญเสียครั้งใหญ่คือ จอห์น บราวน์ (John Brown) มหาดเล็กรับใช้ชาวสก็อตซึ่งเคยรับใช้เจ้าชายอัลเบิร์ตด้วย แต่เขามีอากัปกิริยาไม่เป็นมิตรกับผู้อื่นนักความสนิทสนมระหว่างพระองค์กับข้ารับใช้ผู้นี้ทำให้เป็นที่โจษจันและกระทบต่อพระเกียรติยศมากพอควร ๔ เมื่อบราวน์เสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๘๓ ทรงสร้างรูปปั้นของเขาไว้ที่ปราสาทบัลมอรัลด้วยซึ่งยังคงตั้งอยู่และยังมีสิ่งที่ระลึกอื่น ๆ อีก แต่พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ โปรดให้ทำลายเกือบหมดหลังจากพระราชชนนีสวรรคต
เป็นเวลาหลายปีที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสันโดษ มักทรงงดพระราชกรณียกิจที่เป็นพิธีการต่างๆกว่าจะทรงหวนเสด็จไปเปิดประชุมรัฐสภาก็ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ซึ่งมีรับสั่งกับนายกรัฐมนตรีว่าเหมือนกับไปลานประหารชีวิตในช่วงแรกประชาชนเข้าใจในความทุกข์โศกอันเนื่องมาจากการสูญเสียของพระองค์ แต่นาน ๆ ไปการที่ทรงจมปลักกับความเศร้าจนเมินเฉยต่อความเป็นไปต่าง ๆ ก็ทำให้ทรงสูญเสียความนิยมไปมาก จนปลายทศวรรษ ๑๘๖๐ ถึงกับมีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบสาธารณรัฐนอกจากนี้แนวคิดทางการเมืองที่พระสวามีทรงสอนไว้ก็ดูเหมือนว่าจะทรงนำไปใช้เพื่อมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้แล้วประจวบกับการออกพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญ ค.ศ. ๑๘๖๗ (Reform Act of 1867)ซึ่งเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเท่าตัวการจัดตั้งองค์กรของพรรคการเมืองจึงเข้มแข็งขึ้นและความต้องการคนกลางไกล่เกลี่ยกลุ่มต่าง ๆ ในสภาสามัญซึ่งเป็นบทบาทของกษัตริย์แต่เดิมก็หมดสิ้นลง ความพยายามของพระองค์ที่จะให้รัฐบาลฟังพระราชกระแสประกอบการบริหารประเทศไม่เป็นผลมากขึ้น แต่การเริ่มปรากฏพระองค์และการหวนกลับไปมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองในทศวรรษ ๑๘๗๐ เป็นผลงานของเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli)* ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเมืองอังกฤษครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
แม้สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงจัดพระองค์เองเป็นเสรีนิยมทางการเมือง แต่ก็ทรงเกลียดชังวิลเลียม เฮอร์เบิร์ต แกลดสโตน (William Herbert Gladstone) ผู้นำพรรคเสรีนิยมซึ่งเป็นคู่ปรับทางการเมืองของดิสเรลีอย่างมาก ทรงขัดพระทัยกับบุคลิกและอุปนิสัยของแกลดสโตนและไม่ทรงเห็นด้วยกับนโยบายหลาย ๆ อย่างของเขาโดยเฉพาะการให้สิทธิปกครองตนเองแก่ไอร์แลนด์ (Irish Home Rule) ซึ่งเท่ากับเป็นการลดทอนความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษ ทรงไม่เข้าพระทัยในความเดือดร้อนทุกข์ยากของชาวไอริชนักและเห็นว่าการเสนอนโยบายดังกล่าวเท่ากับไม่จงรักภักดีอย่างแท้จริง ตลอดรัชสมัย สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จเยือนไอร์แลนด์เพียง ๔ ครั้ง โดยทรงอ้างว่าไม่ทรงถนัดการเดินทางทางเรือ ทรงเกือบกระทำเกินพระราชอำนาจในการขัดขวางไม่ให้แกลดสโตนเป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๘๘๐ ทรงตำหนิเขาต่อสาธารณชนเรื่องการเสียชีวิตของนายพลชาลส์ กอร์ดอน (Charles Gordon) ที่ซูดานใน ค.ศ. ๑๘๘๕ ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถไม่โปรดแกลดสโตน ในส่วนความสัมพันธ์กับดิสเรลี พระองค์ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทรงเลื่อมใสเขามากเกินไป ทั้งในเวลาต่อมายังทรงสถาปนาเขาเป็นเอิร์ลที่ ๑ แห่งบีคอนสฟีลด์ (1ˢᵗ Earl of Beaconsfield) หลังจากที่ดิสเรลีผลักดันให้รัฐสภาออกกฎหมายถวายพระเกียรติยศพระองค์เป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดีย (Empress of India) ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ พระองค์ซึ่งมีนโยบายจักรวรรดินิยมเช่นกันพอพระทัยมาก ดิสเรลีเยินยอและคอยเอาพระทัยพระองค์ทุกอย่างซึ่งแตกต่างจากแกลดสโตนที่ทรงรับสั่งว่าพูดกับพระองค์เหมือนกับพูดต่อที่ประชุมใหญ่ทั้งสมเด็จพระราชินีนาถและดิสเรลีซึ่งต้องการสร้างจักรวรรดิต่างก็มีทัศนะร่วมกันเกี่ยวกับนโยบายต่อจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีแม้มีการเปิดโปงความโหดร้ายของพวกเติร์กต่อชาวบัลแกเรีย ทั้งคู่ก็ยังเห็นควรสนับสนุนเติร์กเพื่อรักษาผลประโยชน์ของอังกฤษ เมื่อดิสเรลีพ้นจากตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๘๘๐ จึงเท่ากับพระองค์ทรงสูญเสียที่ปรึกษาคนสำคัญอีกครั้ง เมื่อดิสเรลีถึงแก่อสัญกรรมแล้วที่ปรึกษาคนสำคัญของพระองค์ ได้แก่ โจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* ผู้ยึดถือนโยบายจักรวรรดินิยม และรอเบิร์ต ซอลส์เบอรี (Robert Salisbury) ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมที่ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนดิสเรลี
สงครามแอฟริกาใต้ (South African War) หรือสงครามบัวร์ (Boer Wars)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๙–๑๙๐๒ เป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงสิ้นสุดรัชสมัย การบาดเจ็บและเสียชีวิตของทหารอังกฤษในแอฟริกาใต้กระตุ้นให้ทรงกลับสู่การประกอบพระราชภารกิจและปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนมากกว่าในหลายทศวรรษก่อนทรงตรวจพลในพิธีสวนสนามพระราชทานเหรียญตรา เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลทหารในที่ต่าง ๆ รวมทั้งเสด็จไอร์แลนด์ซึ่งช่วยส่งทหารไปร่วมรบในสงครามบัวร์ จึงทรงกลายเป็นแบบอย่างในการดำเนินพระราชภารกิจของกษัตริย์สมัยใหม่
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นผู้ที่มีพระบุคลิกภาพสง่างามจวบจนทรงพระชราแม้จะทรงเคยปรารภว่าทรงค่อนข้างเตี้ยเกินไปสำหรับผู้เป็นพระประมุข มีพระสุรเสียงไพเราะแจ่มใสดั่งระฆังเงินนอกจากภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันแล้วยังรับสั่งภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว และในช่วงหลัง ๆ รับสั่งภาษาฮินดูสตานี (Hindustani) ได้บ้าง สำหรับภาษาอังกฤษนั้นสามารถรับสั่งได้โดยไม่มีสำเนียงต่างชาติแม้แต่น้อยแม้จะทรงได้รับการเลี้ยงดูจากพระราชมารดาและพระพี่เลี้ยงที่เป็นชาวเยอรมันมีพระอุปนิสัยขี้อายยามอยู่ต่อหน้าผู้คนและทรงประหม่าเมื่อต้องพบปะกับผู้ที่ทรงคิดว่าเฉลียวฉลาดกว่า โปรดดนตรี วรรณกรรม และศิลปะตามพระสวามีทรงชื่นชอบการเสด็จไปโรงละคร แต่หลังจากเจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ ก็ไม่เสด็จไปอีกเลยจนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงติดตามผลงานของผู้ผลิตงานวรรณกรรม ดังเช่น อัลเฟรด ลอร์ด เทนนิสัน (Alfred Lord Tennyson) ซึ่งรจนาบทร้อยกรอง In Memoriam ปลอบพระทัยในยามที่ทรงตกพุ่มม่ายก็เป็นกวีที่ทรงโปรดปรานมาก แต่การที่ทรงนิพนธ์บันทึกประจำวันสม่ำเสมอตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมทั้งการมีลายพระหัตถ์ต่าง ๆ ทำให้ไม่ทรงมีเวลาทรงพระอักษรมากนักแม้จะโปรดนักประพันธ์นวนิยายโรแมนติกอย่างเซอร์วอลเตอร์ สกอตต์ (Walter Scott) นักประวัติศาสตร์อย่างทอมัส เบบิงตัน แมกคอเลย์ (Thomas Babington Macaulay) และนักประพันธ์ชาวเยอรมันบางคนยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทรงเปียโน ร้องเพลง เต้นรำ โปรดการสะสมรูปถ่ายเก่า ๆ และตุ๊กตา เอาพระทัยใส่ในหน้าที่ประมุขอย่างขันแข็งและซื่อสัตย์ซึ่งเป็นอิทธิพลจากพระสวามี การมีความคิดแบบอนุรักษ์แต่ก็เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และการยึดมั่นในศีลธรรมจริยธรรม (ซึ่งความเจ้าระเบียบส่วนใหญ่มาจากพระสวามีซึ่งเป็นผู้กำหนดจรรยามารยาทที่เข้มงวดของราชสำนัก) ทำให้พระองค์ช่วยนำอำนาจและบารมีกลับคืนสู่สถาบันกษัตริย์ทั้งทำให้กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของการทำหน้าที่เพื่อสาธารณชนและของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจักรวรรดิอังกฤษ ทรงพยายามต่อต้านกระแสของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะทรงมุ่งมั่นที่จะคงอำนาจและบทบาททางการเมือง แต่ในที่สุดก็ไม่ทรงสามารถต้านทานกระแสได้ อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงมีส่วนช่วยค้ำจุนสถาบันกษัตริย์อังกฤษให้คงอยู่อย่างได้รับการเคารพยกย่อง ยามที่สวรรคตนั้น สถาบันกษัตริย์อังกฤษได้รับการประกันการดำรงอยู่ต่อซึ่งแตกต่างกับเมื่อยามที่ทรงขึ้นครองราชย์ในปลายทศวรรษ ๑๘๓๐ แต่ไม่ใช่ในสถานะศูนย์อำนาจหากเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ วอลเตอร์ แบจเจิต (Walter Bagehot) นักทฤษฎีการเมืองร่วมสมัยชาวอังกฤษกล่าวถึงสิทธิของกษัตริย์สมัยใหม่ว่า “สิทธิที่จะได้รับการปรึกษา สิทธิที่จะให้คำแนะนำและสิทธิที่จะให้คำเตือน” (the right to be consulted, the right to advise, and the right to warn)
การที่ทรงได้รับความนิยมจากมหาชนชาวอังกฤษใหม่เมื่อทรงพระชรา จึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ๕๐ปีโดยรัฐบาลจัดพระราชพิธีกาญจนาภิเษก (Golden Jubilee) ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ซึ่งกษัตริย์และเจ้าชายยุโรป ๕๐ องค์ ได้รับเชิญมางานเลี้ยง (ในโอกาสเฉลิมฉลองนี้ มีการพบแผนการที่จะลอบปลงพระชนม์อีกครั้งหนึ่งด้วยการระเบิดวิหารเวสต์มินสเตอร์ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงกำลังประกอบพิธีขอบคุณพระเจ้า แผนนี้จึงเรียกกันต่อมาว่า Jubilee Plot) พระราชพิธีกาญจนาภิเษกช่วยนำพระองค์ออกมาสู่สาธารณชนอีกเช่นกันและเสด็จเยือนดินแดนต่าง ๆ ในจักรวรรดิตลอดจนเยือนฝรั่งเศสซึ่งนับเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่เสด็จฝรั่งเศสนับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ ๖ (Henry VI) ใน ค.ศ. ๑๔๓๑ ในวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๖ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงครองราชสมบัติได้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ มากกว่าพระเจ้าจอร์จที่ ๓ สมเด็จพระอัยกา ซึ่งรัชสมัยยาวนาน ๕๙ ปี ๓ เดือน ๔ วัน แต่ทรงขอให้การเฉลิมฉลองเลื่อนเป็นปีถัดไปเพราะจะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองโอกาสที่ทรงครองราชสมบัติครบ ๖๐ ปี (Diamond Jubilee) มีการเชิญนายกรัฐมนตรีของดินแดนต่างๆในจักรวรรดิอังกฤษมาร่วมงานตลอดจนทหารอินเดียที่เจ้าผู้ครองรัฐของอินเดียส่งมาร่วมเดินขบวนพาเหรดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระองค์ในฐานะจักรพรรดินีแห่งอินเดีย สมเด็จพระราชินีนาถประทับบนรถม้าพระที่นั่งตลอดเวลาที่ทรงทำพิธีขอบคุณพระเจ้าภายนอกมหาวิหารเซนต์พอล (St. Paul’s Cathedral) ทรงฉลองพระองค์สีดำเหมือนเช่นเคยแต่ตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้สีขาว มีการปลูกต้นไม้จำนวนมากเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสนี้ ซึ่งรวมทั้งต้นโอ๊ก ๖๐ ต้น ที่ Henley-on-Thames เป็นแนวรูปกางเขนวิกตอเรีย
รัชสมัยที่ยาวนานนี้เป็นช่วงที่สังคมและการเมืองอังกฤษมีพัฒนาการมาก มีการเลิกทาสในอาณานิคมอังกฤษ การผ่านกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญ กฎหมายสงเคราะห์คนยากจน กฎหมายโรงงาน (Factory Acts) การปฏิรูปกองทัพ การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ การยกเลิกกฎหมายข้าว (Corn laws) การที่รัฐรับผิดชอบการศึกษาขั้นต้นของราษฎร การเรียกร้องสิทธิสตรี และอื่น ๆ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงเห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลงนักเพราะทรงยึดติดกับความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม แม้จะทรงงานอย่างหนักและละเอียดถี่ถ้วน แต่ไม่ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ และไม่ค่อยทรงรับรู้การดำรงชีวิตของพสกนิกร สำหรับต่างประเทศนั้น จักรวรรดิอังกฤษก็ขยายตัวโดยครอบคลุมดินแดน ๑๐,๓๖๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๑ ใน ๔ ของโลกซึ่งประมาณ ๑๒๔ ล้านคน ประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติและหลากหลายความเชื่ออังกฤษชนะสงครามในคาบสมุทรไครเมีย อียิปต์ ซูดาน และแอฟริกาใต้ ทั้งยังได้สิทธิเหนือคลองสุเอซ (Suez)
สี่ปีหลังจากพระราชพิธีเฉลิมฉลองนั้นมีพระพลานามัยอ่อนแอ ทั้งพระเนตรข้างหนึ่งเกือบบอดสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตที่พระตำหนักออสบอร์น ใกล้คาวส์ (Cowes) บนไอล์-ออฟไวต์เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคมค.ศ. ๑๙๐๑ ด้วยอาการพระโลหิตตกในสมอง ๕ สิริพระชนมายุ ๘๑ ชันษา โดยมีเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชโอรส และไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ แห่งเยอรมนี พระราชนัดดาองค์โตประทับอยู่ข้างพระแท่น คำสุดท้ายที่ทรงรับสั่งคือ “เบอร์ตี” (Bertie) อันเป็นคำที่พระราชวงศ์เรียกเจ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อเสด็จสวรรคต ในบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา ๙ พระองค์ มี ๓ พระองค์เท่านั้นที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ทรงอยู่ในราชสมบัติรวม ๖๓ ปี ๗ เดือน ๒ วัน พระราชโอรสองค์โตเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ มีพระนามว่า พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ เฮนรี เจมส์ (Henry James) นักประพันธ์ชื่อดังเขียนถึงการสวรรคตว่า เราทุกคนรู้สึกเหมือนสูญเสียแม่ไปเหมือนกัน สมเด็จพระราชินีองค์เล็ก ๆ ที่ลึกลับได้สวรรคตแล้ว เจ้าชายเอดเวิร์ดร่างอ้วนและนิสัยหยาบคายขึ้นเป็นกษัตริย์ รัฐบาลอังกฤษฝังพระบรมศพที่อยู่ในฉลองพระองค์สีขาวและผ้าคลุมพระพักตร์ที่ทรงใช้ในวันอภิเษกสมรสให้เคียงข้างพระสวามี ณ สุสานฟรอกมอร์ (Frogmore) ที่วินด์เซอร์เกรตพาร์ก (Windsor Great Park) มณฑลเบิร์กเชียร์ (Berkshire) เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียไม่โปรดงานศพที่หมองหม่นด้วยสีดำ ลอนดอนในช่วงนั้นจึงประดับประดาด้วยสีม่วงและสีขาวและเมื่อมีการฝังพระบรมศพหิมะก็เริ่มโปรยปราย
นักประวัติศาสตร์อาจจะมีความเห็นต่างกัน หากประเมินพระปรีชาสามารถและบทบาททางการเมืองของพระองค์ แต่ไม่มีใครสงสัยความมีสำนึกในหน้าที่อย่างสูงและความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินของพระองค์ตลอดจนความเรียบง่ายในพระบุคลิกลักษณะ สถานที่และดินแดนหลายแห่งในโลกได้รับการตั้งชื่อตามพระนาม เช่น รัฐวิกตอเรีย และรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland) ของเครือรัฐออสเตรเลียเมืองหลวงของรัฐบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) ในแคนาดา และทะเลสาบใหญ่สุดในทวีปแอฟริกา อนุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐานในดินแดนหลายแห่งที่เคยอยู่ในจักรวรรดิอังกฤษ แต่แห่งที่สำคัญที่สุด คือ ที่หน้าพระราชวังบักกิงแฮม แม้สมเด็จพระอัยยิกาธิราชแห่งยุโรปจะสวรรคตแล้ว แต่บรรดาประมุขและอดีตประมุขแห่งยุโรปในปัจจุบันก็ยังคงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวดองในฐานะเครือญาติที่สืบเนื่องมาจากพระองค์กันอยู่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II ค.ศ. ๑๙๕๓– ) ซึ่งเป็นพระราชปนัดดาในพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียนั้นทรงเกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับกษัตริย์ร่วมสมัยกับพระองค์ คือพระเจ้าฮาราลด์ที่ ๕ (Harald V) แห่งนอร์เวย์ พระเจ้าคาร์ลที่ ๖ กุสตาฟแห่งสวีเดน (Carl VI Gustav) สมเด็จพระราชินีนาถมาเกรเทอที่ ๒ (Margrethe II) แห่งเดนมาร์ก พระเจ้าฆวนการ์โลสที่ ๑ (Juan Carlos I)แห่งสเปนอดีตกษัตริย์คอนสแตนตินที่ ๒ (Constantine II) แห่งกรีซ และอดีตกษัตริย์ไมเคิล (Michael) แห่งโรมาเนีย นอกจากนี้ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ (pretender) ของเซอร์เบีย รัสเซีย ปรัสเซีย ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา แฮโนเวอร์ เฮสเซอ บาเดิน (Baden) และฝรั่งเศสก็ล้วนสืบสานความเกี่ยวดองทั้งสิ้น
บันทึกประจำวันของพระองค์บางส่วนได้มีการตีพิมพ์ในช่วงที่ยังคงมีพระชนม์ชีพ คือ Leaves from the Journal of Our life in the Highlands (ค.ศ. ๑๘๖๘) และ More Leaves (ค.ศ. ๑๘๘๓) แม้ว่างานพระราชนิพนธ์ดังกล่าวจะคลาดเคลื่อนด้านไวยากรณ์และเขียนขึ้นอย่างเร่งรีบแต่เป็นเอกสารที่ให้ภาพแจ่มชัดแก่ผู้ศึกษาเรื่องราวของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ พระราชหัตถเลขาของพระองค์ก็ได้รับการจัดพิมพ์ออกมาเป็น ๓ ระยะจำนวน ๙ เล่ม (ค.ศ. ๑๙๐๗, ค.ศ. ๑๙๒๖–๑๙๒๘ และ ค.ศ. ๑๙๓๐–๑๙๓๒).