ปี่ชวา

ปี่ชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นปี่ ๒ ท่อน ท่อนเลาปี่ยาวประมาณ ๒๗ เซนติเมตร ท่อนลำโพงยาวประมาณ ๑๔ เซนติเมตร เจาะรูนิ้ว รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉนเพียงแต่มีขนาดยาวกว่า (ดู ปี่; ปี่ไฉน ประกอบ) กล่าวคือ ปี่ชวาเมื่อสวมท่อนลำโพงและเลาปี่เข้าด้วยกันแล้วยาวประมาณ ๓๘-๓๙ เซนติเมตร ปากลำโพงก็กว้างขนาดเดียวกับปี่ไฉน ทำด้วยไม้จริงหรืองา ที่ทำต่างจากปี่ไฉนคือ ตอนบนที่ใส่ลิ้นปี่ทำให้บานออกเล็กน้อย ลักษณะของลิ้นปี่ก็เหมือนกับลิ้นปี่ไฉน แต่ยาวกว่าเล็กน้อย เหตุที่ปี่ชวามี ลักษณะรูปร่างเหมือนปี่ไฉน เข้าใจว่า คงได้แบบอย่างมาจากปี่ไฉนของอินเดีย แต่ดัด แปลงให้ยาวกว่า เสียงที่เป่าออกมาจึงแตกต่างไปจากปี่ไฉน สันนิษฐานว่าไทยนำเอา ปี่ชวาเข้ามาใช้คราวเดียวกับกลองแขก ในสมัยอยุธยาตอนต้นนั้นมีปี่ชวาใช้ในกระบวนพยุหยาตรา ดังปรากฏในลิลิตยวนพ่ายว่า

“สรวญศรัพทคฤโฆษฆ้อง กลองไชย
ทุ่มพ่างแตรสังขชวา ปี่ห้อ”

ซึ่งคงจะหมายถึงปี่ชวาและปี่ห้อหรือปี่อ้อ ปี่ชวาใช้คู่กับกลองแขกในการรำอาวุธ เช่น กระบี่กระบอง รำกริช ใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์ วงดนตรีที่เรียกว่า “วงปี่ชวากลองแขก” หรือ “วงกลองแขกปี่ชวา” และวงบัวลอย (ดู ปี่พาทย์; วงบัวลอย ประกอบ) ทั้งนำไปใช้เป่าในกระบวนแห่ซึ่งจ่าปี่เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตราด้วย