ปี่

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ตามปรกติ “เลาปี่” ทำด้วยไม้แก่นหรือไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง ต่อมามีผู้นำวัตถุอย่างอื่นมาทำเลาปี่ เช่น งา ศิลา โดยกลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ช่วงกลางป่อง เจาะภายในกลวงตลอด ทางหัวใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็กทางท้ายปากรูใหญ่ ใช้งา ชัน หรือวัตถุอย่างอื่นมาหล่อเสริมตอนหัวและตอนท้ายขึ้นอีกประมาณข้างละ ๐.๕ เซนติเมตร เรียกว่า “ทวน” ทางหัวเรียกว่า “ทวนบน” และทางท้ายเรียกว่า “ทวนล่าง” ช่วงป่องกลางนั้นเจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงเรียงลงมาตามข้างเลาปี่ ๖ รู คือ รูตอนบนเจาะเรียงลงมา ๔ รู แล้วเว้นระยะเล็กน้อยเจาะรูล่างอีก ๒ รู ตอนกลางเลามักกลึงควั่นเป็นเกลียวคู่ ๑๔ คู่ไว้ระยะพองาม และตอนหัวท้ายตรงคอดเล็กควั่นอีกข้างละ ๔ เกลียว เกลียวควั่นเหล่านี้กันลื่น และทำให้รูปของปี่สวยงามขึ้น ที่รูเป่าตอนทวนบนใส่ลิ้นปี่สำหรับเป่า ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า “กำพวด” กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน นาก หรือโลหะอื่น ๆ มีลักษณะเรียว ยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร วิธีผูกเชือกให้ลิ้นใบตาลติดกับกำพวดนั้นเรียกกันว่า “ผูกตะกรุดเบ็ด” หัวกำพวดที่จะสอดเข้าไปในช่องทวนบนโตกว่าทางปลายที่ผูกลิ้นใบตาลเล็กน้อย และมักใช้ถักหรือเคียนด้วยเส้นด้ายสอดเข้าไปในเลาปี่พอมิดที่พันด้าย

 ปี่ชนิดนี้แต่เดิมคงจะใช้เป่านำวงดนตรี และใช้กับวงเครื่องตีเป็นพื้น จึงเรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า “วงปี่พาทย์” แต่ก่อนวงดนตรีวงหนึ่ง ๆ ใช้ปี่เพียงเลาเดียวสำหรับบรรเลงประกอบการเล่นหนังใหญ่ การแสดงโขน ละครนอก ซึ่งผู้ชายเป็นผู้แสดง ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงละครในโดยใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดง และปรับปรุงโขนเป็นอย่างโขนโรงในขึ้น จึงแก้ไขเครื่องดนตรีให้เหมาะสม โดยเฉพาะปี่ที่ใช้เป่ากันมาแต่ก่อนนั้นได้แก้ไขขนาดและปรับเสียงใหม่ให้มีเสียงใหญ่และนุ่มนวลขึ้น เรียกปี่ที่แก้ไขใหม่นี้ว่า “ปี่ใน” และเรียกปี่ที่ใช้อยู่เดิมว่า “ปี่นอก” ส่วนปี่ที่ใช้เป่าประกอบการเล่นหนังใหญ่ ซึ่งมีขนาดและสำเนียงอยู่กลางระหว่างปี่นอกกับปี่ในนั้น เรียกว่า “ปี่กลาง” ปี่ของไทยจึงมีขึ้นเป็น ๓ ขนาด คือ

 ๑. ปี่นอก ขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๓๑ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร

 ๒. ปี่กลาง ขนาดกลาง ยาวประมาณ ๓๗ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๔ เซนติเมตร

 ๓. ปี่ใน ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๔๑-๔๒ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๔.๕ เซนติเมตร

 ภายหลังได้มีผู้คิดสร้างปี่ขึ้นอีกขนาดหนึ่งเรียกกันว่า “ปี่นอกต่ำ” ขนาดและเสียงอยู่ระหว่างปี่นอกกับปี่กลาง ปี่ที่กล่าวถึงในหนังสือโบราณ เช่น ไตรภูมิพระร่วงกฎมนเทียรบาล หรือที่พูดกันติดปากว่า “ปี่พาทย์ราดตะโพน” คงหมายถึงปี่นอก ซึ่งมีมาแต่โบราณก่อนที่จะมีปี่ชนิดอื่นขึ้น แต่ปัจจุบัน การบรรเลงในวงปี่พาทย์ไม่ค่อยจะได้ใช้ปี่นอกกับปี่กลาง คงใช้แต่ปี่ในเป็นพื้น