Zinoviev, Grigori Yevseyevich (1883–1936)

นายกรีกอรี เยฟเซเยวิช ซีโนเวียฟ (พ.ศ. ๒๔๒๖–๒๔๗๙)

 กรีกอรี เยฟเซเยวิช ซีโนเวียฟเป็นนักปฏิวัติรัสเซียชาวยูเครนเชื้อสายยิวและเป็นผู้อำนวยการคนแรกขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ที่จัดตั้งขึ้นหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ เป็นสหายสนิทคนหนึ่งของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* และมีบทบาทสำคัญในงานโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มบอลเชวิคระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๘–๑๙๑๒ โดยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และวารสารของพรรคบอลเชวิคหลายฉบับ หลังอสัญกรรมของเลนินในต้น ค.ศ. ๑๙๒๔ ซีโนเวียฟร่วมมือกับเลฟ โบรีโซวิช คาเมเนฟ (Lev Borisovich Kamenev)* และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* กำจัดเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ออกจากวงอำนาจภายในพรรค เมื่อสตาลินรวบอำนาจเด็ดขาดภายในพรรคได้ ซีโนเวียฟเข้าร่วมกับกลุ่มฝ่ายค้านปีกซ้ายที่ตรอตสกีจัดตั้งขึ้นซึ่งเรียกชื่อว่าสหภาพฝ่ายค้าน (United Opposition) เพื่อต่อต้านความเป็นเผด็จการของสตาลินและเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรครวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ล้มเหลว ซีโนเวียฟถูกขับออกจากคณะกรรมาธิการกลางพรรคและถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการโคมินเทิร์น และในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๗ ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เขากลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคใหม่เพราะยอมรับความผิดพลาดโดยประกาศประณามกลุ่มตรอตสกีและสนับสนุนสตาลิน อย่างไรก็ตาม ในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ ซีโนเวียฟถูกจับกุมด้วยข้อหาคบคิดร่วมมือกับตรอตสกีจัดตั้งกลุ่มก่อการร้ายตรอตสกี-ซีโนเวียฟ (Trotskyite-Zinovievist Terrorist Group) เพื่อลอบสังหารสตาลินและเหล่าแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

 ซีโนเวียฟซึ่งมีชื่อเดิมว่า ออฟเซล เกียร์ชอน อะโรนอฟ ราโดมืยเซลสกี (Ovsel Gershon Aronov Radomyslsky) เกิดในครอบครัวยิวชั้นกลางระดับล่างที่เมืองเยลีซาเวตกราด [(Yelizavetgrad) ปัจจุบันคือเมืองคีโรโวฮราด (Kirovohrad) ในยูเครน] ในจักรวรรดิรัสเซียเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๘๓ บิดามารดาเป็นเกษตรกรและเป็นเจ้าของไร่ปศุสัตว์ขนาดเล็ก เขาเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัวและเรียนหนังสือที่บ้าน ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ ซีโนเวียฟในวัย ๑๔ ปีทำงานเป็นเสมียนและขณะเดียวกันก็หาความรู้เพิ่มเติมด้วยการเรียนด้วยตนเองและไปฟังการบรรยายสาธารณะของพวกปัญญาชน เขาชอบวิชาปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม เขาเริ่มสนใจการเมืองเมื่อถูกโน้มน้าวจูงใจจากผู้ปฏิบัติงานองค์การปฏิวัติลัทธิมากซ์ (Marxism)* ที่พยายามเผยแพร่ความคิดลัทธิสังคมนิยมและแนวทางปฏิวัติของสันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน (League of the Struggle for the Liberation of the Working Class) ที่เลนินจัดตั้งขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ ซีโนเวียฟเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party–RSDLP)* ที่จัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในปลายทศวรรษ ๑๘๙๐ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๑ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๐๒ เขาเคลื่อนไหวจัดตั้งความคิดทางการเมืองในหมู่กรรมกรและได้ชื่อว่าเป็นนักปลุกระดมที่มีความสามารถเพราะสามารถโน้มน้าวกรรมกรจำนวนไม่น้อยให้ยอมรับแนวความคิดสังคมนิยมและเข้าร่วมในขบวนการปฏิวัติ ตำรวจพยายามจับกุมเขา ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ซีโนเวียฟจึงหลบหนีไปอยู่ที่กรุงเบอร์ลินและกรุงปารีสตามลำดับ

 ช่วงลี้ภัยในต่างประเทศ ซีโนเวียฟศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการไปเข้าเรียนหลักสูตรสั้น ๆ ของมหาวิทยาลัย ต่อมาเขาได้พบกับเลนินและเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* นักปฏิวัติอาวุโสที่สวิตเซอร์แลนด์และรู้สึกชื่นชมคนทั้งสองอย่างมากเมื่อมีการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคแนวทางลัทธิมากซ์ครั้งที่ ๒ ที่กรุงลอนดอนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๓ ซีโนเวียฟได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ครั้งนี้ด้วยผลสำคัญของการประชุมคือมีการจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นอย่างเป็นทางการ และมีการกำหนดหลักนโยบายพรรคซึ่งมีจุดหมายที่จะโค่นล้มระบอบซาร์และสถาปนาอำนาจเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น แต่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการรับสมาชิกและคุณสมบัติของสมาชิกพรรคก็มีส่วนทำให้พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียแตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายเสียงข้างมากที่มีเลนินเป็นผู้นำได้ชื่อว่ากลุ่มบอลเชวิค ฝ่ายเสียงข้างน้อยที่มียูลี โอซิโปวิช มาร์ตอฟ (Yuli Osipovich Martov)* เป็นผู้นำได้ชื่อว่ากลุ่มเมนเชวิค (Mensheviks)* ส่วนซีโนเวียฟสนับสนุนเลนินและสังกัดกลุ่มบอลเชวิค

 หลังการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคซีโนเวียฟถูกส่งกลับมาเคลื่อนไหวในรัสเซียในฐานะผู้ปฏิบัติงานพรรคบอลเชวิค เขาทำงานเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานอยู่ระยะหนึ่งก็เดินทางกลับไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เขาเข้าศึกษาเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยเบิร์น (Berne) และทำหน้าที่ติดต่อกับชุมชนชาวรัสเซียนอกประเทศ อะนาโตลี วาซีเลียวิช ลูนาชาร์สกี (Anatoly Vasilyevich Lunacharsky)* บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของบอลเชวิคซึ่งเดินทางไปนครเจนีวาเพื่อบรรยายปัญหาความขัดแย้งระหว่างบอลเชวิคกับเมนเชวิคให้ชุมชนชาวรัสเซียลี้ภัยได้ฟังใน ค.ศ. ๑๙๐๔ กล่าวถึงซีโนเวียฟว่าเขาเป็นหนุ่มร่างท้วมแต่ซีดเซียว ขี้โรค และดูไม่ได้เรื่องได้ราว แต่หลังจากได้คุ้นเคยและรู้จักกันดีพอ จะเห็นว่าเขาเอาการเอางาน ฉลาด และพูดจาน่าเชื่อถือ

 เมื่อเกิดการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕ (Russian Revolution of 1905)* ขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซีโนเวียฟเดินทางกลับรัสเซียและเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขามีส่วนผลักดันการชุมนุมประท้วงของกรรมกรและการจัดตั้งสภาโซเวียตผู้แทนกรรมกร (Soviet of Worker’s Deputies) ขึ้นบทบาทดังกล่าวทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนพรรคบอลเชวิคไปร่วมประชุมใหญ่พรรคที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) สวีเดนในต้น ค.ศ. ๑๙๐๖ เพื่อพิจารณาปัญหาความขัดแย้งระหว่างบอลเชวิคกับเมนเชวิคและเรื่องการจะส่งผู้แทนพรรคเข้าร่วมในสภาดูมา (Duma)* เมื่อเดินทางกลับรัสเซีย เขาทำงานเคลื่อนไหวในหมู่กรรมกรโรงงานเหล็กเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนเขตเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปร่วมประชุมพรรคครั้งที่ ๕ ที่กรุงลอนดอน ในการประชุมครั้งนี้ซีโนเวียฟได้รับเลือกเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการกลางพรรคบอลเชวิค ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๘ เขาถูกจับด้วยข้อหาปลุกปั่นประชาชนและบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย แต่ก็ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมาเพราะขาดหลักฐานที่จะเอาผิด ด้วยปัญหาสุขภาพซีโนเวียฟจึงไปรักษาตัวที่นครเจนีวา และทำงานเคลื่อนไหวในต่างแดนทั้งเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Proletary ของบอลเชวิค ในช่วงเวลาดังกล่าวซีโนเวียฟทำงานใกล้ชิดกับเลนินจนได้ชื่อว่าเป็นมือขวาของเลนินเขายังช่วยเลนินจัดอบรมทางการเมืองที่เมืองลงชูโม (Longjumeau) ใกล้กรุงปารีสทั้งเป็นผู้ประสานงานกับองค์การพรรคในรัสเซียเพื่อช่วยจัดทำนิตยสารและหนังสือพิมพ์รวม ๒ ฉบับ คือ Zvezda และ Pravda ซีโนเวียฟยังสนับสนุนอีเนสซา อาร์มันด์ (Inessa Armand)* ผู้ประสานงานระหว่างพรรคบอลเชวิคกับกลุ่มสังคมนิยมชาวยุโรป และนาเดจดา ครุปสกายา (Nadezhda Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนินจัดทำหนังสือสำหรับผู้หญิงชื่อ Rabotnitsa (Women Workers) เพื่อเสนอแนวความคิดสังคมนิยมและเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของสตรี

 ในการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ ที่กรุงปรากเชโกสโลวะเกีย ค.ศ. ๑๙๑๒ ซีโนเวียฟสนับสนุนเลนินและที่ประชุมส่วนใหญ่ในการลงมติขับเมนเชวิคออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียเพื่อยุติปัญหาการรวมอยู่ในพรรคเดียวกันในรูปแบบของบอลเชวิคและเมนเชวิค เลนินจึงประกาศว่าพรรคบอลเชวิคซึ่งมีชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า “พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค)” [Russian Social Democratic Worker’s Party (Bolsheviks)] เป็นพรรคลัทธิมากซ์ของขบวนการปฏิวัติรัสเซียเพียงพรรคเดียวเท่านั้น มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการกลางชุดใหม่ขึ้น และซีโนเวียฟได้รับเลือกเข้าร่วมด้วย หลังการประชุมครั้งนี้ซีโนเวียฟและเลนินเดินทางไปพักอยู่ที่เมืองคราคูฟ (Krakow) ในกาลิเซีย (Galicia)* ทางชายแดนรัสเซียตอนใต้เพื่อชี้นำนโยบายและและติดตามการเคลื่อนไหวปฏิวัติในรัสเซีย อย่างไรก็ตาม สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่เกิดขึ้นทำให้ซีโนเวียฟและเลนินซึ่งพักอยู่ในดินแดนศัตรูคู่สงครามของรัสเซียต้องย้ายกลับไปกรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง ซีโนเวียฟต่อต้านสงครามและสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลนินให้จัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ขึ้นแทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ที่ถูกยุบลง ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เพื่อให้เป็นองค์การกลางของขบวนการสังคมนิยมในการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและคัดค้านสงคราม

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ มีการจัดประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมขึ้นเป็นครั้งแรกที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) หมู่บ้านเล็ก ๆ ในบริเวณเทือกเขาใกล้กรุงเบิร์น มีผู้แทนนักสังคมนิยม ๓๘ คนจาก ๑๑ ประเทศเข้าร่วมประชุม ซีโนเวียฟและเลนินเป็นผู้แทนบอลเชวิค ซีโนเวียฟพยายามโน้มน้าวที่ประชุมให้สนับสนุนแนวความคิดของเลนินที่จะเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมของประเทศทุนนิยมให้เป็นสงครามกลางเมือง และการลุกฮือยึดอำนาจรวมทั้งการจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ กลุ่มที่สนับสนุนเขาซึ่งมี ๘ คนจึงเรียกชื่อว่า กลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Left) หลังการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Conference)* ซีโนเวียฟร่วมกับเลนินจัดทำจุลสารเรื่อง Socialism and War เพื่อวิพากษ์และโจมตีพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงคราม และเรียกร้องให้กรรมกรเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม รวมทั้งให้ยึดแนวทางการกำหนดการปกครองตนเองของประชาชาติ (self-determination of nations) ในการยุติสงครามและไม่มีการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงครามต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๖ มีการจัดประชุมระหว่างประเทศครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกกันว่าการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๒ (Second Zimmerwald Conference)* ที่เมืองคีนทาล (Kienthal) สวิตเซอร์แลนด์ มีผู้แทนกลุ่มและพรรคสังคมนิยมจาก ๑๐ ประเทศรวม ๔๓ คน ซึ่งรวมทั้งซีโนเวียฟอาร์มันด์ และเลนิน เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมยังคงมีมติให้ยึดหลักการของการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งแรกเป็นแนวทางปฏิบัติ และเห็นชอบเรื่องการจะก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่๓ขึ้นรวมทั้งผลักดันให้กรรมกรยึดอำนาจทางการเมือง ซีโนเวียฟและเลนินได้นำประเด็นของการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ รวมทั้งความคิดเห็นเกี่ยวกับสงครามมารวมพิมพ์เผยแพร่ในชื่อ Against the Current (ค.ศ. ๑๙๑๖)

 เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซีย ที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กใน ค.ศ. ๑๙๑๔) กลุ่มสังคมนิยมเคลื่อนไหวให้จัดตั้งสภาโซเวียตเปโตรกราดแห่งผู้แทนกรรมกรและทหารขึ้น และอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* ซึ่งเป็นสมาชิกสภาดูมาในกลุ่มก้าวหน้าได้เรียกร้องให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ทรงสละราชย์ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งไม่ทรงสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้จึงสละราชบัลลังก์ให้แก่ซาเรวิช อะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช (Alexei Nikolayevich)* พระราชโอรส แต่ต่อมาเปลี่ยนพระทัยมอบให้แก่พระอนุชาแกรนด์ดุ๊กไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช (Michael Alexandrovich)* อย่างไรก็ตามแกรนด์ดุ๊กไมเคิลทรงปฏิเสธและทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ซึ่งปกครองรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปีถึงกาลอวสาน ข่าวการสละราชย์และชัยชนะของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ทำให้เลนินและเหล่าสหายรวม ๑๙ คนซึ่งรวมซีโนเวียฟด้วย เดินทางกลับรัสเซียโดยรัฐบาลเยอรมันช่วยเหลือด้วยการจัดขบวนตู้รถไฟปิดและใช้เส้นทางผ่านเยอรมนี สวีเดน และฟินแลนด์

 เมื่อกลับเข้าถึงกรุงเปโตรกราดเลนินประกาศนโยบายที่จะยึดอำนาจทางการเมืองด้วยทุกวิธีการเท่าที่จะทำได้และจะโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* เป็นผู้นำโดยใช้สภาโซเวียตเป็นองค์การหลักของการยึดอำนาจแม้ซีโนเวียฟจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเลนิน แต่เขาก็ไม่ต่อต้านอย่างรุนแรงเช่นสมาชิกพรรคคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมใหญ่พรรคบอลเชวิคครั้งที่ ๗ กลางเดือนเมษายน ยาคอฟ สเวียร์ดลอฟ (Yakov Sverdlov)* เลขานุการการประชุมสามารถควบคุมเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมให้สนับสนุนแนวนโยบายของเลนินได้สำเร็จ หลังการประชุมครั้งนี้สเวียร์ดลอฟได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการบอลเชวิคแห่งเปโตรกราดและซีโนเวียฟเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Pravda ของพรรค เมื่อเกิดการลุกฮือในเดือนกรกฎาคมที่เป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ในสงครามและความล่าช้าของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลเฉพาะกาลประกาศกฎอัยการศึกและดำเนินการกวาดล้างพรรคบอลเชวิคซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อความวุ่นวายเลนินและซีโนเวียฟซึ่งปลอมตัวเป็นชาวนาสามารถหลบหนีข้ามพรมแดนไปฟินแลนด์ได้ในขณะที่แกนนำพรรคบอลเชวิคหลายคนถูกจับ

 ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ นายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* ซึ่งถูกเคเรนสกีวางแผนกำจัดก่อกบฏขึ้นในเหตุการณ์ที่รู้จักกันดีว่า กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* เคเรนสกีขอความร่วมมือจากสภาโซเวียตเปโตรกราดเพื่อต่อต้านคอร์นีลอฟและเขายอมปล่อยตัวแกนนำและสมาชิกบอลเชวิคที่ถูกจับ หลังกบฏคอร์นีลอฟบอลเชวิคและสภาโซเวียตกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซีโนเวียฟจึงกลับเข้ารัสเซียในต้นเดือนตุลาคมและรับผิดชอบการจัดทำหนังสือพิมพ์Rabochy Put และ Proletary เมื่อเลนินแอบกลับจากฟินแลนด์มาถึงกรุงเปโตรกราดหลังซีโนเวียฟไม่นานนัก เขาได้เรียกร้องให้บอลเชวิคยึดอำนาจแต่ซีโนเวียฟและคาเมเนฟคัดค้านอย่างมากเพราะเห็นว่าช่วงเวลายังไม่เหมาะสมและบอลเชวิคยังไม่เข้มแข็งและมีความพร้อมพอ ในกลางเดือนตุลาคมคณะกรรมการกลางพรรคบอลเชวิคจัดประชุมร่วมกับผู้แทนฝ่ายต่าง ๆ และมีมติยืนยันให้ยึดอำนาจซีโนเวียฟและคาเมเนฟก็คัดค้านอีกครั้งหนึ่งและต่อต้านแผนการยึดอำนาจด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรค นอกจากนี้ซีโนเวียฟยังเขียนจดหมายเปิดผนึกเปิดเผยแผนการยึดอำนาจลงในหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้เลนินไม่พอใจอย่างมากและเรียกร้องให้ขับทั้งซีโนเวียฟและคาเมเนฟออกจากพรรค แต่คณะกรรมการกลางพรรคไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ซีโนเวียฟและคาเมเนฟเปลี่ยนใจในเวลาต่อมาและเข้าร่วมเคลื่อนไหวในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งพรรคบอลเชวิคยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จ

 ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐบาลโซเวียตได้ผลักดันให้จัดการประชุมใหญ่ครั้งแรกขององค์การคอมมิวนิสต์สากล (First Congress of the Communist International) ขึ้นที่กรุงมอสโกที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนชื่อองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ เป็นโคมินเทิร์นโดยถือว่าเป็นองค์การที่สืบทอดเจตนารมณ์และอำนาจจากองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ (First International ค.ศ. ๑๘๖๔–๑๘๗๖)* ซีโนเวียฟได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการโคมินเทิร์น และคาร์ล ราเดค (Karl Radek)* นักปฏิวัติบอลเชวิคที่สนับสนุนตรอตสกีเป็นเลขาธิการ ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* เขาพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิวัติขึ้นในยุโรปโดยใช้โคมินเทิร์นเป็นสื่อกลางในการโฆษณาชวนเชื่อและประสานการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในยุโรป ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ กลุ่มคอมมิวนิสต์ในฮังการีซึ่งมีเบลา คุน (Bela Kun)* เป็นผู้นำก็ยึดอำนาจได้สำเร็จและจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic)* ขึ้น แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ครองอำนาจได้เพียง ๑๓๓ วัน เท่านั้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ซีโนเวียฟมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวให้กลุ่มสังคมประชาธิปไตยเยอรมันอิสระ (Independent German Social Democratic) ซึ่งแยกตัวจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (German Social Democratic Party)* เข้ารวมกับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน เขายังสนับสนุน แอนสท์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางโคมินเทิร์นด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันพยายามลุกฮือยึดอำนาจแต่ล้มเหลวรัฐบาลไวมาร์ที่มีกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* เป็นผู้นำใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างเด็ดขาดโดยเฉพาะที่เมืองฮัมบูร์ก ความล้มเหลวของการก่อการปฏิวัติในเยอรมนีทำให้ซีโนเวียฟถูกตรอตสกีและฝ่ายตรงข้ามโจมตี แต่เขาปฏิเสธที่จะรับผิดโดยอ้างว่าราเดคซึ่งเป็นผู้แทนของโคมินเทิร์นไปเคลื่อนไหวในเยอรมนีเป็นผู้กำหนดแผนการปฏิวัติและดำเนินการไม่รัดกุมพอ

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ซีโนเวียฟได้รับเลือกเป็นสมาชิกโปลิตบูโรและต่อมาเป็นประธานสภาโซเวียตเปโตรกราดซึ่งทำให้เขามีบทบาทสำคัญในการบริหารควบคุมสหภาพแรงงานเปโตรกราด ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เขาเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเปโตรกราดในการสนับสนุนสตาลินให้ได้เป็นเลขาธิการใหญ่พรรค เมื่อเลนินล้มป่วยด้วยอาการภาวะสมองขาดเลือดจนเป็นอัมพาตและทำงานไม่ได้การบริหารงานต่าง ๆ จึงอยู่ในความรับผิดชอบของคณะผู้นำร่วม (troika) ๓ คน คือ ซีโนเวียฟ คาเมเนฟและสตาลิน บุคคลทั้งสามซึ่งเกลียดชังตรอตสกีและหวาดวิตกว่าเขาจะแย่งชิงอำนาจได้ร่วมมือกันโค่นอำนาจตรอตสกี ซีโนเวียฟยังห้ามเปิดเผยและเผยแพร่ “พันธสัญญาเลนิน” (Lenin’s Testament) ที่ต้องการให้ปลดสตาลินออกจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคแก่คณะกรรมการกลางพรรคและที่ประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต เขายังสนับสนุนสตาลินในการโจมตีแนวความคิดการปฏิวัติถาวร (Permanent Revolution) ของตรอตสกี และรณรงค์ความคิดเรื่องการสร้างสังคมนิยมภายในประเทศเดียว (Socialism in One Country) ของสตาลินให้เป็นที่ยอมรับกันแทนแนวความคิดปฏิวัติของตรอตสกี แม้ตรอตสกีจะตอบโต้ด้วยการจัดตั้งกลุ่มคัดค้าน (Opposition Group) ขึ้นในพรรคเพื่อคานอำนาจแต่ก็ล้มเหลวหลังอสัญกรรมของเลนินใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ซีโนเวียฟผนึกกำลังกับคาเมเนฟและสตาลินทำลายชื่อเสียงและอิทธิพลของตรอตสกีและกลุ่มที่สนับสนุนเขาโดยกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านพรรคและบิดเบือนอุดมการณ์ปฏิวัติของเลนิน ตรอตสกีและกลุ่มลัทธิตรอตสกี (Trotskyism)* จึงถูกกำจัดออกจากพรรคในเวลาต่อมา ตรอตสกีก็ถูกขับออกจากพรรคและถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองอัลมา-อาตา (Alma-Ata) ในรัสเซียตอนกลาง และใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ก็ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ

 ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๔ รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald)* เป็นนายกรัฐมนตรีได้ให้การรับรองสถานภาพของสหภาพโซเวียต ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันมีการทำสนธิสัญญาทางการค้าต่อกัน ทั้งรัฐบาลอังกฤษยังจะให้สหภาพโซเวียตกู้ยืมเงินด้วย ขณะเดียวกันนักการเมืองของพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* และพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลพรรคเสรีนิยมซึ่งร่วมในการเป็นรัฐบาลจึงถอนตัวออกแม็กดอนัลด์ผู้นำพรรคแรงงาน (Labour Party)* ซึ่งไม่มีทางเลือกจึงประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ก่อนหน้าการเลือกตั้งเพียง ๔ วัน หนังสือพิมพ์แนวอนุรักษ์ Daily Mail ได้ตีพิมพ์เนื้อหาจดหมายของซีโนเวียฟที่เขียนถึงคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๔ เนื้อหาจดหมายกล่าวถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ ประเทศที่นำไปสู่การเริ่มต้นของความร่วมมือในการสนับสนุนขบวนการปฏิวัติระหว่างประเทศและการจะเสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่างกรรมกรอังกฤษกับกรรมกรโซเวียตในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการเผยแพร่แนวความคิดลัทธิเลนิน (Leninism) ให้แพร่หลายทั้งในอังกฤษและเครือจักรภพ จดหมายฉบับนี้ซึ่งเรียกกันแพร่หลายว่า “จดหมายซีโนเวียฟ” (Zinoviev Letter) มีส่วนทำให้สาธารณชนอังกฤษเชื่อว่าสหภาพโซเวียตมุ่งหมายจะปลุกปั่นพวกคอมมิวนิสต์ให้ก่อการรุนแรงขึ้น แม้แม็กดอนัลด์และสมาชิกพรรคแรงงานจะพยายามแก้ข่าวในความเกี่ยวข้องกับจดหมาย และกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการประท้วงสหภาพโซเวียตแต่ประชาชนทั่วไปก็เชื่อข้อความในจดหมายและเห็นว่ารัฐบาลแม็กดอนัลด์ฝักใฝ่กับสหภาพโซเวียตผลกระทบสำคัญคือพรรคแรงงานพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งและพรรคอนุรักษนิยมได้เสียงข้างมากในสภา

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๔ หนังสือพิมพ์ The Communist Review ของพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษได้ตีพิมพ์แถลงการณ์ทั้งของโคมินเทิร์นและรัฐบาลโซเวียต รวมทั้งคำแถลงของซีโนเวียฟที่กล่าวว่าจดหมายซีโนเวียฟเป็นการปลอมเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับสหภาพโซเวียต ต่อมาในกลางทศวรรษ ๑๙๖๐ นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ ๓ คนที่สังกัดหนังสือพิมพ์ The Sunday Times ได้ศึกษาเบื้องหลังจดหมายซีโนเวียฟอย่างละเอียดและตีพิมพ์เผยแพร่ผลศึกษาซึ่งสรุปได้ว่า เป็นเอกสารที่สมาชิกองค์การกษัตริย์นิยมรัสเซียชื่อภราดรภาพแห่งเซนต์จอร์จ (Brotherhood of St. George) ปลอมแปลงขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ในเวลาต่อมากระทรวงการต่างประเทศอังกฤษยังได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวและยอมรับว่าจดหมายซีโนเวียฟไม่ได้ส่งมาจากสหภาพโซเวียต แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงให้สาธารณชนทราบ อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๒๐๐๖ จิลล์ เบนเนตต์ (Gill Bennett) หัวหน้าหน่วยประวัติศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ (Chief Historian of the Foreign and Commonwealth Office) ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจดหมายซีโนเวียฟในทศวรรษ ๑๙๙๐ ได้เปิดเผยรายละเอียดข้อเท็จจริงของจดหมายซีโนเวียฟในหนังสือชีวประวัติเดสมอน มอร์ตัน (Desmon Morton) จารชนอังกฤษ ที่เธอเขียนขึ้นและเผยแพร่ใน ค.ศ. ๒๐๐๖ โดยกล่าวว่าเป็นเอกสารปลอม ในปีเดียวกันนั้นวลาดีมีร์ ออร์ลอฟ (Vladimir Orlov) อดีตนายทหารคนสนิทของนายพลปิออตร์ นีโคลาเยวิช รันเกล (Pyotr Nikolayevich Wrangel)* ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซียก็ได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับงานจารกรรม เขากล่าวยืนยันว่าจดหมายซีโนเวียฟเป็นเอกสารปลอมและเอ็มไอ ๕ (MI 5) หน่วยงานจารกรรมของอังกฤษทราบเรื่องดีแต่ปกปิดไว้เกือบ ๘๐ ปี

 ความล้มเหลวของการจะผลักดันการปฏิวัติให้เกิดขึ้นในเยอรมนีและกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับจดหมายซีโนเวียฟมีส่วนทำให้ซีโนเวียฟสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะผู้บริหารโคมินเทิร์น ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นซีโนเวียฟไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของสตาลินและนีโคไล อีวาโนวิช บูฮาริน (Nikolai Ivanovich Bukharin)* นักทฤษฎีลัทธิมากซ์เกี่ยวกับเรื่องการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) และการบังคับชาวนาให้เข้าร่วมโครงการนารวมและนารัฐ ซีโนเวียฟจึงร่วมมือกับคาเมเนฟต่อต้านสตาลินทั้งหันไปสนับสนุนตรอตสกีให้คานอำนาจสตาลินแต่ประสบความล้มเหลว สตาลินจึงเห็นเป็นโอกาสปลดเขาออกจากโคมินเทิร์นและแต่งตั้งบูฮารินให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโคมินเทิร์นแทน ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๗ เขาถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรค ในช่วงการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๑ ทศวรรษของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ซีโนเวียฟและตรอตสกีและกลุ่มต่อต้านพยายามจัดการชุมนุมต่อต้านสตาลินแต่ล้มเหลว ซีโนเวียฟจึงถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตาม หลังตรอตสกีถูกเนรเทศออกนอกประเทศในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๘ ซีโนเวียฟยอมรับความผิดพลาดในเรื่องต่าง ๆ ทั้งประกาศประณามกลุ่มตรอตสกีในหน้าหนังสือพิมพ์พรรค เขาจึงได้กลับเข้าเป็นสมาชิกใหม่อีกครั้งและไม่มีตำแหน่งสำคัญใด ๆ ในพรรค ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘–๑๙๓๒ ซีโนเวียฟแทบจะไม่มีบทบาททางการเมืองและถูกกีดกันจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของพรรค

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๒ เกิดเหตุการณ์เรื่องรูย์ติน (Ryutin Affair) ที่สืบเนื่องจากมาร์เตเมียนนิคิติชรูย์ติน (Martemyan Nikitich Ryutin) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตมอสโกและผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร Red Star ของกองทัพแดงถูกจับและพิจารณาคดีด้วยข้อหาต่อต้านพรรคและโฆษณาชวนเชื่อความคิดเห็นของกลุ่มฉวยโอกาสฝ่ายขวาเพื่อคัดค้านนโยบายพรรค รูย์ตินเป็นนักปฏิวัติบอลเชวิครุ่นบุกเบิก (Old Bolsheviks) ที่มีชื่อเสียงในการเป็นผู้นำกลุ่มสายกลางภายในพรรคเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวมของสตาลิน เขาถูกขับออกจากพรรคในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๓๐ และต่อมาถูกตำรวจลับจับกุมด้วยข้อหาปลุกระดมความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคและการปฏิวัติ แต่การปราศจากหลักฐานเพียงพอทำให้รูย์ตินได้รับการปล่อยตัวในกลางเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๑ เขาไปทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำโรงงานผลิตไฟฟ้า ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙–๑๙๓๐ เกิดภาวะฝนแล้งและการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผลทั้งนโยบายนารวมนารัฐล้มเหลวในการบริหารจัดการซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะความอดอยากอย่างรุนแรงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑–๑๙๓๒ ในยูเครน คาซัคสถาน (Kazakhstan) และพื้นที่บางส่วนของรัสเซียตอนใต้ เศรษฐกิจของโซเวียตจึงอยู่ในภาวะวิกฤต

 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ รูย์ตินได้จัดทำเอกสารชื่อ “สตาลินและวิกฤตของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ”(Stalin and the Crisis of the Proletarian Dictatorship) หรือที่เรียกกันว่า “แนวนโยบายรูย์ติน” (Ryutin Platform) เนื้อหาของเอกสารโจมตีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* การเก็บภาษีสูงและอัตราเงินเฟ้อรวมทั้งความอดอยากในชนบทซึ่งส่งผลให้เกิดการละทิ้งไร่นาและอพยพเข้าสู่เมืองและอื่น ๆเอกสารฉบับนี้แจกจ่ายและเผยแพร่อย่างลับ ๆ ในหมู่สมาชิกพรรค นอกจากนี้รูย์ตินยังจัดทำเอกสารฉบับที่ ๒ ชื่อ “การร้องเรียนต่อสมาชิกทุกคนของคณะกรรมาธิการกลางพรรค (บอลเชวิค)” [Appeal to All Members of the VKP (b)] ในนามของกลุ่มที่เรียกชื่อว่าสหภาพแห่งนักลัทธิมากซ์-เลนิน (Union of Marxist-Leninists) ซึ่งโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของสตาลิน และเรียกร้องการโค่นอำนาจสตาลินด้วยการก่อการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ หน่วยตำรวจลับสืบเบาะแสที่มาของเอกสารทั้ง ๒ เรื่องได้และจับกุมรูย์ตินเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๒ ในการพิจารณาคดีครั้งแรก รูย์ตินสารภาพความผิดว่าเขาเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของสตาลินตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๘ มีการตัดสินให้ขับสมาชิกพรรค ๑๔ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรูย์ติน และให้เลื่อนการพิจารณาตัดสินโทษรูย์ตินออกไป ในการพิจารณาคดีครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน รูย์ตินยอมรับสารภาพว่าเขาเป็นคนจัดทำเอกสารทั้ง ๒ เรื่องด้วยตนเองเพื่อช่วยให้สหายคนอื่น ๆ พ้นผิด คณะกรรมาธิการกลางควบคุมแห่งพรรค (Central Control Commission) และโปลิตบูโรตัดสินให้ขับสมาชิกพรรคอีก ๒๔ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรูย์ติน สตาลินต้องการให้ประหารรูย์ตินแต่เสียงส่วนใหญ่ของโปลิตบูโรไม่เห็นด้วย รูย์ตินจึงถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี และถูกเนรเทศไปภูมิภาคอูรัล อย่างไรก็ตาม ในช่วงการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘ รูย์ติน และบุตรชาย ๒ คนถูกสังหารในต้น ค.ศ. ๑๙๓๗ ส่วนภรรยาและบุตรสาวถูกส่งไปค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* และมีเพียงบุตรสาวที่รอดชีวิต

 ในสมัยของนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ซึ่งดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (Destalinization)* บุตรสาวของรูย์ตินซึ่งได้รับอิสรภาพจากค่ายกักกันแรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลโซเวียตกู้เกียรติทางสังคมคืนแก่บิดาแต่ประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ ในช่วงที่สภาพโซเวียตขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยตามนโยบาย “กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา” (Glasnost-Perestroika) หรือนโยบาย “เปิด-ปรับ” ของประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ศาลสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียตได้ตัดสินคืนสถานภาพเดิมทางสังคมแก่รูย์ตินเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๘ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๐ “แนวนโยบายรูย์ติน” ซึ่งถูกเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุของเคจีบีถูกนำมาพิมพ์เผยแพร่เป็นตอน ๆ รวม ๕ ตอน ในวารสารของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต เอกสารชุดนี้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๒๐๑๐

 เหตุการณ์เรื่องรูย์ตินเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ต่อต้านซีโนเวียฟกล่าวหาว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสาร “แนวนโยบายรูย์ติน” คณะกรรมาธิการกลางควบคุมแห่งพรรคจึงเรียกสมาชิกพรรคบอลเชวิครุ่นบุกเบิกซึ่งรวมทั้งซีโนเวียฟและราเดคมาไต่สวนว่ามีส่วนร่วมในการจัดตั้งฝ่ายคัดค้านในพรรค และได้อ่านเอกสารดังกล่าวหรือไม่ ซีโนเวียฟปฏิเสธเรื่องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหภาพแห่งนักลัทธิมากซ์-เลนิน และยอมรับว่าได้อ่านเอกสาร เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดเพราะการรับรู้เรื่องเอกสารและเพิกเฉยที่จะรายงานให้พรรครับทราบถือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อพรรค เขาจึงถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ และถูกเนรเทศไปแถบภูมิภาคอูรัล ต่อมาซีโนเวียฟยอมรับว่าเขาเข้าร่วมในกลุ่มคัดค้านด้วย ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาได้กลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้งหนึ่งและได้รับอนุญาตให้กลับมาที่มอสโก

 ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergey Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดถูกลอบสังหารเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ สตาลินจึงฉวยโอกาสออกกฤษฎีกาฉุกเฉินหลายฉบับเพื่อให้อำนาจกระทรวงมหาดไทย (NKVD–The People’s Commissariat of Internal Affairs) จับกุม ไต่สวนพิจารณาคดี และประหารชีวิตบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทันที หลังการลอบสังหารคีรอฟได้ ๓ สัปดาห์รัฐบาลโซเวียตได้แถลงผลการสืบสวนว่ากลุ่มต่อต้านแห่งเลนินกราดเป็นผู้ดำเนินการโดยมีซีโนเวียฟและคาเมเนฟเป็นหัวหน้า ซีโนเวียฟถูกขับออกจากพรรคอีกครั้งหนึ่งและถูกจับในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๕ เขาถูกพิจารณาคดีและถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๖หน่วยตำรวจลับหรือเคจีบี (KGB)* ได้นำซีโนเวียฟและพลพรรคอีก ๑๕ คนขึ้นพิจารณาคดีอีกครั้งในข้อหาจัดตั้งกลุ่มก่อการร้ายเพื่อสังหารคีรอฟและพยายามลอบสังหารสตาลินและผู้นำคนสำคัญในรัฐบาลโซเวียต การพิจารณาคดีกลุ่ม ๑๖ (Trial of the Sixteen) หรือคดีกลุ่มก่อการร้ายตรอตสกี-ซีโนเวียฟเป็นการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนซึ่งเรียกกันต่อมาว่าการพิจารณาคดีแห่งมอสโก (Moscow Trial) ก่อนการตัดสินคดี ซีโนเวียฟยอมตกลงว่าเขาจะสารภาพความผิดในทุกข้อกล่าวหาที่ทางการกุขึ้น ทั้งจะซัดทอดความผิดให้สมาชิกพรรคคนอื่น ๆ โดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องไม่ถูกประหารชีวิตและครอบครัวไม่ถูกคุกคาม แต่ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ซีโนเวียฟถูกตัดสินว่ามีความผิดทุกข้อหาและถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า หลังเที่ยงคืนของวันนั้น (๒๕ สิงหาคม) รวมอายุได้ ๕๓ ปี

 การประหารชีวิตซีโนเวียฟเป็นข่าวใหญ่ทั้งในสหภาพโซเวียตและนอกประเทศ และนำไปสู่สมัยแห่งความเหี้ยมโหดทางการเมืองระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘ ต่อมาในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ ในสมัยประธานาธิบดีกอร์บาชอฟซึ่งดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยในทุก ๆ ด้าน ซีโนเวียฟจึงได้รับการกู้เกียรติคืนโดยมีการพิจารณาคดีใหม่ในกลาง ค.ศ. ๑๙๘๘ ซึ่งในที่สุดเขาก็พ้นข้อกล่าวหาทั้งหมด.



คำตั้ง
Zinoviev, Grigori Yevseyevich
คำเทียบ
นายกรีกอรี เยฟเซเยวิช ซีโนเวียฟ
คำสำคัญ
- กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ
- กฤษฎีกาฉุกเฉิน
- กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- กลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์
- กองทัพแดง
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติถาวร
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕
- การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์
- การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ครั้งที่ ๒
- การพิจารณาคดีกลุ่ม ๑๖
- การพิจารณาคดีแห่งมอสโก
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- กาลิเซีย
- คดีกลุ่มก่อการร้ายตรอตสกี-ซีโนเวียฟ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์
- คาเมเนฟ, เลฟ โบรีโซวิช
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- คีรอฟ, เซียร์เกย์ มีโรโนวิช
- คุน, เบลา
- เคจีบี
- เครือจักรภพ
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- โคมินเทิร์น
- จดหมายซีโนเวียฟ
- ชเตรเซมันน์, กุสทาฟ
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี เยฟเซเยวิช
- ตรอตสกี, เลออน
- เทลมันน์, แอนสท์
- นาเดจดา ครุปสกายา
- นีโคลาเยวิช, อะเล็กเซย์
- แนวนโยบายรูย์ติน
- บอลเชวิค
- บูฮาริน, นีโคไล อีวาโนวิช
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พันธสัญญาเลนิน
- มาร์ตอฟ, ยูลี โอซิโปวิช
- เมนเชวิค
- แมกดอนัลด์, เจมส์ แรมเซย์
- แมกดอนัลด์, แรมเซย์
- ยูเครน
- รันเกล, ปิออตร์ นีโคลาเยวิช
- ราเดค, คาร์ล
- ลัทธิตรอตสกี
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิมากซ์-เลนิน
- ลัทธิเลนิน
- ลูนาชาร์สกี, อะนาโตลี วาซีเลียวิช
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สตาลิน, โจเซฟ
- สภาดูมา
- สเวียร์ดลอฟ, ยาคอฟ
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- สังคมนิยมภายในประเทศเดียว
- สันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน
- สากลที่ ๓
- เหตุการณ์เรื่องรูย์ติน
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- อาร์มันด์, อีเนสซา
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1883–1936
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๒๖–๒๔๗๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-