พรรคเมนเชวิคเป็นพรรคปฏิวัติลัทธิมากซ์ เช่นเดียวกับพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* เป็นพรรค ซึ่งเคยเป็นกลุ่มสังกัดในพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Workers’ Party -RSDLP)* ที่เป็นพรรคแกนนำของขบวนการปฏิวัติรัสเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๑๗ ทั้งพรรคเมนเชวิคและบอลเชวิคต่างอ้างเป็นพรรคผู้แทนชนชั้นกรรมาชีพในนามของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๑๗ กลุ่มเมนเชวิคกับกลุ่มบอลเชวิคพยายามประสานความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้รวมเข้าเป็นพรรคเดียวกันอีกครั้งหนึ่งแต่ประสบกับความล้มเหลว ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ กลุ่มบอลเชวิคผลักดันให้มีการจัดประชุมผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงปราก เมืองหลวงของเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* เพื่อหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน และผลการประชุมที่สำคัญประการหนึ่งคือที่ประชุมมีมติให้ขับกลุ่มเมนเชวิคออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียเพื่อยุติปัญหาการรวมอยู่ในพรรคเดียวกัน การขับกลุ่มเมนเชวิคดังกล่าวจึงเป็นการประกาศความเป็นเอกเทศของกลุ่มบอลเชวิคอย่างเป็นทางการซึ่งเรียกชื่อใหม่ว่า "พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค)" อย่างไรก็ตาม ยูลี มาร์ตอฟ (Yuly Martov)* ผู้นำกลุ่มเมนเชวิคก็ยังคงเรียกชื่อกลุ่มของตนเองว่า "พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย รัสเซีย (เมนเชวิค)" ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อวลาดีมีร์เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิคซึ่งได้อำนาจทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ถูกลอบสังหารแต่ไม่สำเร็จ บอลเชวิคจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะกวาดล้างพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนสังหารสมาชิกพรรคเมนเชวิคจึงถูกกวาดล้างและพรรคต้องถูกยุบเลิกลง
กลุ่มเมนเชวิคเกิดขึ้นจากการที่ผู้แทนองค์การปฏิวัติแนวทางลัทธิมากซ์ต่าง ๆ พยายามก่อตั้งพรรค แรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้น ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ผู้แทนองค์การลัทธิมากซ์รวม ๙ แห่งจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งแรกขึ้นที่เมืองมินสก์ (Minsk) ในเบลารุส (Belarus) ระหว่างวันที่ ๑-๓ มีนาคม และมี มติให้ก่อตั้งพรรคปฏิวัติรัสเซียขึ้นโดยใช้ชื่อว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย รวมทั้งให้จัดทำ หนังสือพิมพ์การเมืองเพื่อเผยแพร่ในหมู่กรรมกร แต่ระหว่างที่กำลังประชุมตั้งคณะกรรมการกลางพรรค ตำรวจซึ่งสืบเบาะแสได้ก็บุกเข้าปราบปรามและจับกุมแกนนำได้ทั้งหมด การประชุมครั้งนี้จึงยังก่อตั้งพรรคไม่สำเร็จเพราะมีเพียงแถลงการณ์เรื่องการตั้งพรรค แต่ยังไม่ได้กำหนดหลักนโยบายและระเบียบการพรรคทั้งยังไม่มีการสร้างองค์การนำขึ้น ต่อมาในต้นทศวรรษ ๑๙๐๐ เลนินผู้นำคนสำคัญของกลุ่มลัทธิมากซ์นอกประเทศจึงผลักดันเรื่องการจัดตั้งพรรคขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๐๓ เลนินได้วางเครือข่ายงานขององค์การปฏิวัติเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพทางความคิดและผนึกเข้าเป็นพรรคโดยใช้ Iskra หนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศ เป็นเครื่องมือสร้างระบบงาน ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ มีการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ ขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แต่ตำรวจคอย เฝ้าดูการเคลื่อนไหวจนทำให้ต้องย้ายไปประชุมกันต่อที่ กรุงลอนดอน การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ๔๘ คน ซึ่งรวมทั้งเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ผู้แทนของสหภาพแรงงานประชาธิปไตยสังคมไซบีเรีย (Siberian Social Democratic Workers’ Union) ด้วย
เมื่อมีการอภิปรายร่างระเบียบการพรรคมาตราที่ ๑ ของบทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติของสมาชิกพรรคที่ ประชุมเริ่มมีความคิดเห็นแตกแยก เลนินเสนอว่าสมาชิกพรรคไม่เพียงต้องยอมรับหลักนโยบายพรรค และให้การสนับสนุนพรรคด้านวัตถุปัจจัยเท่านั้น แต่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเองในฐานะสมาชิก (personal participation) ขององค์การใดองค์การหนึ่งของพรรคด้วย ส่วนมาร์ตอฟเห็นว่าเพียงยอมรับหลักนโยบายพรรคและให้การสนับสนุนเข้าร่วมกิจกรรม (personal co-operation) อย่างสม่ำเสมอภายใต้การชี้นำขององค์การใดองค์การหนึ่งของพรรคก็เพียงพอแล้วและไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกในองค์การพรรคก็ได้มาร์ตอฟอ้างเหตุผลการเข้าเป็นสมาชิกของพรรคกรรมกรของอังกฤษมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนแต่เลนินก็โต้แย้งว่าเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมของอังกฤษแตกต่างกับรัสเซีย เกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* แกนนำอาวุโสซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาของลัทธิมากซ์รัสเซียสนับสนุนความเห็นของเลนิน ในขณะที่ตรอตสกีสนับสนุนมาร์ตอฟ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความคิดเห็นแตกแยกเรื่องจำนวนคณะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Iskra ซึ่งเดิมมี ๖ คน แต่เลนินเสนอให้ลดลงเหลือ ๓ คน มาร์ตอฟต้องการให้คงจำนวนคณะบรรณาธิการชุดเดิมไว้ ในการลงคะแนนตัดสินผู้ที่สนับสนุนเลนินซึ่งเป็นเสียงข้างมากจึงได้ชื่อเรียกว่า "บอลเชวิค"ส่วนผู้ที่สนับสนุนมาร์ตอฟซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยก็ถูกเรียก "เมนเชวิค" การประชุมใหญ่เพื่อก่อตั้งพรรคเพียงพรรคเดียวจึงนำไปสู่การเกิดพรรคขึ้น ๒ พรรคอย่างไม่เป็นทางการในที่สุด
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๗ เมนเชวิคเน้นนโยบายการร่วมมือทางการเมืองกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ รวมทั้งพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมของชนชั้นนายทุน เนื่องจากเห็นว่ากรรมกรและพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียยังไม่เข้มแข็งพอที่จะยึดอำนาจ เมนเชวิคไม่เห็นด้วยกับบอลเชวิคในการสร้างพันธมิตรใกล้ชิดกับชาวนาเพราะชาวนาไม่ใช่พลังหลักของการปฏิวัติและรณรงค์ให้ความร่วมมือกับชนชั้นนายทุนเพื่อปรับปรุงและปฏิรูประบอบซาร์รวมทั้งให้เปิดประชุมสภาดูมา (Duma)* ขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ เมนเชวิคสนับสนุนการก่อตั้งสภาโซเวียตของกรรมกร (Soviet of Workers) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสภาโซเวียต (Soviet) ซึ่งเป็นองค์การปกครองตนเองของกรรมกรขึ้นเพื่อคานอำนาจกับรัฐบาลซาร์ แต่เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ทรงประกาศ "คำแถลงนโยบายเดือน ตุลาคม" (October Manifesto) เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม เพื่อแยกและสลายขบวนการปฏิวัติและเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม สภาโซเวียตผู้แทนกรรมกรแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและตามเมืองต่าง ๆ ก็ถูกกวาดล้าง เมนเชวิคจึงปรับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวใหม่ด้วยการส่งผู้แทนเข้าร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ในการเลือกตั้งเข้าสู่สภาดูมาโดยมีนโยบายร่วมมือกับพรรคการเมืองเสรีนิยมอื่น ๆ ด้วย
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๒ เลนินผู้นำกลุ่มบอลเชวิคผลักดันให้มีการจัดประชุมผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงปราก เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่เพราะระหว่างปลาย ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๑ การเคลื่อนไหวนัดหยุดงานของกรรมกรเริ่มปรากฏขึ้นประปรายซึ่งส่งผลให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติเริ่มฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ เลนินต้องการหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียระหว่างกลุ่มบอลเชวิคกับเมนเชวิคซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานานผลสำคัญประการหนึ่งของการประชุมครั้งนี้คือ ที่ ประชุมมีมติให้ขับกลุ่มเมนเชวิคออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย การขับกลุ่มเมนเชวิคดังกล่าวจึงเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการของกลุ่มบอลเชวิคถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพรรค ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า "พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค)" อย่างไรก็ตาม มาร์ตอฟผู้นำกลุ่มเมนเชวิคก็ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค) เป็นพรรคของผู้แทนรัสเซียทั้งหมด มาร์ตอฟก็เรียกชื่อกลุ่มของตนว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (เมนเชวิค) ขณะเดียวกันเขาก็สนับสนุนข้อเรียกร้องของตรอตสกีให้จัดการประชุมขึ้นใหม่ เพื่อพิจารณาปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย แต่ในการประชุมที่มีขึ้น ณ กรุงเวียนนา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักเพราะมีผู้เข้าประชุมจำนวนน้อยและมีความคิดเห็นขัดแย้งกันด้านแนว นโยบาย กลุ่มที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีชื่อเรียกกันในเวลาต่อมาว่า "กลุ่มพันธมิตรสิงหาคม" (August Bloc)
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ เมนเชวิคเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามด้วยการจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ Golos (Voice) เผยแพร่และสนับสนุนแถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Manifesto) ค.ศ. ๑๙๑๕ ของกลุ่มพรรคสังคมนิยมยุโรปและนักสังคมนิยมที่มีแนวความคิดเป็นกลาง สาระสำคัญของแถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์คือการวิพากษ์โจมตีประเทศทุนนิยมที่ เป็นต้นเหตุของสงครามและโจมตีพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงคราม ตลอดจนเรียกร้องให้ยึดหลักการการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของประชาชน (self-determination of people) ในการยุติสงครามที่จะไม่มีทั้งการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงคราม อย่างไรก็ตาม เมนเชวิคก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของการประชุมซิมเมอร์วัลด์ในการจะก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ขึ้น
ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องของรัสเซียในสงครามโลกและปัญหาการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงในระหว่างฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๗ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาวการณ์ภายในประเทศ เพราะประชาชนและกรรมกรเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามด้วยการจัดชุมนุมเดินขบวนตามเมืองต่าง ๆ กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายจึงเห็นเป็นโอกาสปลุกระดมทางการเมืองจนนำไปสู่การเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ พรรคเมนเชวิคมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดตั้งสภาโซเวียตเปโตรกราดขึ้น เพื่อประสานงานกับคณะกรรมาธิการเฉพาะกาลแห่งสภาดูมาซึ่งต่อมาได้กลายเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล ผลสำคัญของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์คือ ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ซึ่งปกครองจักรวรรดิรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปีสิ้นสุดอำนาจลง รัสเซียเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ และในระหว่างที่เตรียมการเลือกตั้งสภาร่าง รัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลรัสเซียก็ปกครองแบบทวิอำนาจ (dual power) ระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียต พรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาโซเวียตต่างสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเจ้าชายเกออร์กี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ (Georgy Yevgenyevich Lvov)* เป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินนโยบายทำสงครามต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affairs)* ขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ โดยนายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* พยายามก่อกบฏขึ้นเพื่อล้มอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* นายกรัฐมนตรีที่สืบทอดอำนาจจากเจ้าชายลวอฟได้ขอความร่วมมือจากสภาโซเวียตต่อต้านกองกำลังของคอร์นีลอฟจนมีชัยชนะ กลุ่มบอลเชวิคซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมมวลชนและทหารให้จับอาวุธขึ้นต่อต้านกองกำลังของคอร์นีลอฟ รวมทั้งการพยายามเกลี้ยกล่อมกองกำลังต่าง ๆ ของคอร์นีลอฟให้วางอาวุธจึงมีอิทธิพลในสภาโซเวียตมากขึ้นในขณะที่เมนเชวิคและสังคมนิยมปฏิวัติมีบทบาทน้อยลง
เมื่อเลนินตัดสินใจที่จะยึดอำนาจทางการเมืองเลฟ โบรีโซวิช คาเมเนฟ (Lev Borisovich Kamenev)* และกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* แกนนำคนสำคัญของบอลเชวิคคัดค้านอย่างมากเพราะเห็นว่าช่วงเวลาการยึดอำนาจยังไม่เหมาะสมและบอลเชวิคยังไม่เข้มแข็งและมีความพร้อมพอ คนทั้งสองได้เปิดเผยเรื่องการยึดอำนาจด้วยการทำจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ เมนเชวิคซึ่งทราบเรื่องก็เคลื่อนไหวคัดค้านและรณรงค์ให้ยึดอำนาจด้วยแนวทางสันติวิธีตามวิถีของระบบรัฐสภา ข่าวการเตรียมยึดอำนาจของบอลเชวิคทำให้รัฐบาลเฉพาะกาลเริ่มวางมาตรการป้องกันแต่ก็ประสบความล้มเหลวเพราะบอลเชวิคสามารถยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จ และมีชัยชนะในการปฏิวัติเดือนตุลาคม
เมนเชวิคและพรรคการเมืองสังคมนิยมอื่น ๆ ต่างประณามการยึดอำนาจของบอลเชวิคที่ดำเนินการอยู่เบื้องหลังพรรคต่าง ๆ ในนามของสภาโซเวียตมาร์ตอฟและสมาชิกเมนเชวิคส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐบาลโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นและต่อต้านด้วยการเดินออกจากที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ (Second All-Russian Congress of Soviets) ซึ่งจัดประชุมขึ้นที่สมอลนืย (Smolny) ซึ่งเดิมเป็นวิทยาลัยเอกชนสตรีขั้นสูงแต่ถูกเปลี่ยนเป็นที่ทำการสภาโซเวียต แต่กลุ่มเมนเชวิคปีกซ้ายจำนวนหนึ่งประกาศสนับสนุนบอลเชวิคและส่งผู้แทน ๓ คนเข้าร่วมในคณะกรรมการบริหารสภาโซเวียตชุดใหม่ที่ จัดตั้งขึ้น
หลังการยึดอำนาจทางการเมืองได้ไม่ถึง ๓ สัปดาห์ รัฐบาลโซเวียตดำเนินการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทั่วประเทศระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ผลปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับระบอบสังคมนิยมแต่ไม่สนับสนุนกลุ่มบอลเชวิค ในจำนวนผู้แทนสภาทั้งหมด ๗๐๗ คน ผู้แทนพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกขวากุมเสียงข้างมากได้ถึง ๓๗๐ คน บอลเชวิค ๑๗๕ คน สังคมนิยมปฏิวัติ ปีกซ้าย ๔๐ คน เมนเชวิค ๑๖ คน คาเดตส์ (Kadets)๑ ๑๗ คนและที่เหลือเป็นกลุ่มและพรรคการเมืองอื่น ๆ บอลเชวิคพยายามประวิงเวลาไม่ให้มีการเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญและต่อมาก็ใช้กองทหารเรดการ์ด (Red Guard) บีบบังคับให้ยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยข้ออ้างว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญถูกควบคุมโดยพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติและผลการเลือกตั้งไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน การยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงเป็นการสิ้นสุดของแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและทำให้บอลเชวิคกลายเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ มีอำนาจเด็ดขาดในเวลาต่อมา เมนเชวิคจึงเริ่มหมดบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองลง
ในช่วงสงครามกลางเมือง( ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑) และการดำเนินนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม(War Communism)* เมนเชวิคดำเนินนโยบายเป็นกลาง และปฏิเสธที่จะร่วมมือกับฝ่ายรัสเซียขาวและกลุ่มต่อต้านบอลเชวิคอื่น ๆ ทั้งเรียกร้องให้กลุ่มสังคมนิยมอื่น ๆ วางตนเป็นกลางในปัญหาการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างรัฐบาลบอลเชวิคกับพรรคสังคมนิยมปฏิวัติซึ่งจัดตั้งรัฐบาลซ้อนขึ้นที่ภูมิภาควอลกา (Volga) นอกจากนี้ เมนเชวิคยังสนับสนุนกองทัพแดง (Red Army)* ของฝ่ายโซเวียตในการต่อสู้กับกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวและกองทัพของฝ่ายประเทศสัมพันธมิตรที่เข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมือง อย่างไรก็ตาม เมนเชวิคก็เคลื่อนไหวต่อต้านแนวนโยบายของบอลเชวิคที่ใช้วิธีการรุนแรงปราบปรามประชาชนและฝ่ายตรงข้าม
ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ สมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกขวาพยายามลอบสังหารเลนินในขณะที่เขาไปร่วมงานเลี้ยงของกรรมกรโรงงานมีเคลซัน (Mikelson) ในกรุงมอสโก แม้เลนินจะรอดชีวิตแต่ก็บาดเจ็บสาหัส อาการบาดเจ็บของเลนินที่ยังไม่พ้นขีดอันตรายดังกล่าวทำให้รัฐบาลโซเวียตเห็นเป็นโอกาสใช้สถานการณ์ดังกล่าวกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยการประกาศว่าการลอบยิงเลนินเป็นปฏิบัติการของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ ทั้งกล่าวหาพรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนลอบสังหารครั้งนี้ ในกลางเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ผู้แทนของเมนเชวิคและสังคมนิยมปฏิวัติก็ถูกขับออกจากสภาโซเวียต ขณะเดียวกันองค์การพรรคและสื่อสิ่งพิมพ์ของเมนเชวิคก็ถูกคุกคามกลั่นแกล้งจนถูกยุบเลิกลงในเวลาต่อมา สมาชิกเมนเชวิคส่วนหนึ่งซึ่งรวมทั้งมาร์ตอฟผู้นำพรรคจึงลี้ภัยออกไปเคลื่อนไหวนอกประเทศส่วนที่ยังคงอยู่ในประเทศก็หันมาเข้าร่วมกับบอลเชวิค ต่อมาเมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงของกรรมกรและมวลชนในนครเปโตรกราดเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกบฏครอนสตัดต์ (Krondstadt Revolt)* ในปลายเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๑ สมาชิกเมนเชวิคที่ยังคงอยู่ในประเทศต่างสนับสนุนการต่อสู้ของทหารและกะลาสีเรือครอนสตัดต์ การสนับสนุนดังกล่าวทำให้รัฐบาลโซเวียตใช้เป็นข้ออ้างปราบปรามและกวาดล้างสมาชิกเมนเชวิคอย่างเด็ดขาดจนสลายตัวลง นอกจากนี้ การเสียชีวิตของมาร์ตอฟผู้นำเมนเชวิคที่ กรุงเบอร์ลินในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๓ ก็มีส่วนทำให้พรรคเมนเชวิคต้องยุบเลิกไปโดยปริยา