Yudenich, Nikolai Nikolaevich (1862–1933)

นายพลนีโคไล นีโคลาเยวิช ยูเดนิช (พ.ศ. ๒๔๐๕–๒๔๗๕)

 นายพลนีโคไล นีโคลาเยวิช ยูเดนิชเป็นผู้บัญชาการกองทัพคอเคซัสแห่งรัสเซีย (Russian Caucasus Army) ที่มีบทบาทสำคัญในแนวรบด้านตะวันออกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาลาออกจากกองทัพเพราะไม่ต้องการร่วมมือกับรัฐบาลเฉพาะกาลที่เขาเห็นว่าบีบบังคับให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* สละราชบัลลังก์จนทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ล่มสลายเขาคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกรุงเปโตรกราด (Petrograd) และติดต่อกับกลุ่มกษัตริย์นิยมอย่างลับ ๆ อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสังคมนิยมและรัฐบาลบอลเชวิคพยายามรักษาอำนาจทางการเมืองให้มั่นคงซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* ยูเดนิชหนีภัยการกวาดล้างของฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือรัสเซียแดงไปฟินแลนด์ และเข้าร่วมกับกองกำลังต่อต้านบอลเชวิคในภูมิภาคบอลติกโดยเป็นผู้บัญชาการกองทัพตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwestern Army) ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๙ ยูเดนิชวางแผนบุกโจมตีนครเปโตรกราดแต่ล้มเหลว เขาพยายามรวมกำลังจัดตั้งกองทัพขึ้นใหม่และประสานกับกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวอื่น ๆ แต่กองทัพแดง (Red Army)* ซึ่งมีเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เป็นผู้นำมีกำลังคนมากกว่าสามารถต้านการรุกของกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวได้ ยูเดนิชถอยหนีไปเอสโตเนีย (Estonia) ซึ่งประกาศนโยบายเป็นกลาง กองทัพตะวันตกเฉียงเหนือจึงถูกยุบและยูเดนิชถูกจับ แต่ต่อมาเขาลี้ภัยไปฝรั่งเศส

 ยูเดนิชเกิดในครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อยที่นครมอสโก เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๖๒ บิดาเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ต้องการให้ยูเดนิช บุตรชายคนเดียวรับใช้ราชสำนักโดยเป็นทหาร เพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีโอกาสก้าวหน้าในชีวิต ยูเดนิชจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นทหารและสามารถเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยอะเล็กซานดรอฟสกี (Alexandrovsky Military Academy) ในกรุงเซนปีเตอร์สเบิร์กได้ หลังสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๘๑ เขาไปศึกษาต่อที่สถาบันทหารเสนาธิการแห่งกองทัพรัสเซีย (Military Academy of The General Staff of the Armed Forces of Russia) ที่นครมอสโก และสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ด้วยคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ ๑ จากนั้นเข้าสังกัดประจำกองพันทหารช่วยชีวิต (Life Guards Regiment) ในลิทัวเนียระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๙–๑๘๙๑ ในต้น ค.ศ. ๑๘๙๒ เขาย้ายไปประจำการที่เขตทหารเตอร์กิสถาน (Turkestan Military District) และในเดือนเมษายนได้รับยศพันโท ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ เขาร่วมเดินทางไปสำรวจเทือกเขาปามีร์ (Pamir) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหลังคาของโลกในทิเบต และหลังกลับมาได้เลื่อนยศเป็นพันเอก อีก ๔ ปีต่อมาเขาย้ายไปสังกัดกองพลน้อยปืนเล็กยาวเตอร์กิสถานที่ ๑ (1ˢᵗ Turkestan Rifle Brigade) ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับกองพันปืนเล็กยาวที่ ๑๘ ของกองพลไซบีเรียตะวันออกที่ ๖ (18ᵗʰ Rifle Regiment of the 6ᵗʰ East Siberian Division)

 เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕ ยูเดนิชนำกองพันปืนเล็กยาวที่ ๑๘ ไปร่วมสมทบกับกองกำลังรัสเซียที่ถูกญี่ปุ่นปิดล้อมที่หมู่บ้านซันเดปู (Sandepu) ทางตอนใต้ของเมืองมุกเดน (Mukden) ในแมนจูเรีย ในยุทธการที่ซันเดปู (Battle of Sandepu ๒๕–๒๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕) ทั้ง ๒ ฝ่ายสูญเสียพอ ๆ กันและไม่มีฝ่ายใดมีชัยชนะเด็ดขาด ยูเดนิชถูกยิงบาดเจ็บที่แขน จากนั้นกองกำลังรัสเซียเคลื่อนทัพไปสมทบกับกองกำลังที่เมืองมุกเดนและนำไปสู่ยุทธการที่มุกเดน (Battle of Mukden ๒๐ กุมภาพันธ์–๑๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๕) ยุทธการครั้งนี้เป็นการต่อสู้ภาคพื้นดินครั้งใหญ่ที่สุดและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสงคราม ชัยชนะของญี่ปุ่นที่มุกเดนสร้างความตื่นตระหนกให้แก่มหาอำนาจยุโรปซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงหวาดวิตกและมีพระราชบัญชาให้เอาชนะสงครามให้ได้ ซึ่งในเวลาต่อมานำไปสู่ยุทธนาวีครั้งใหญ่คือยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ (Battle of Tsushima)* ในการรบครั้งนี้ยูเดนิชได้รับบาดเจ็บที่คอจากกระสุนที่ยิงถากไป หลังสงครามสิ้นสุดลงเขาได้เลื่อนยศเป็นพลตรี ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นทหารฝ่ายพลาธิการของกองทัพในคอเคซัสและอีก ๕ ปีต่อมาได้ยศเป็นพลโทและดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารแห่งคาซาน (Kazan)

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ยูเดนิชได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารของกองทัพคอเคซัสรัสเซียและมีบทบาทสำคัญในการวางแผนรบต่อสู้กับตุรกีในยุทธการที่เมืองซาริคามิช (Battle of Sarikamish) ระหว่างวันที่ ๒๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๔–๑๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ซึ่งรัสเซียเป็นฝ่ายมีชัยชนะยูเดนิชได้เลื่อนยศเป็นพลเอกกองทหารราบและบัญชาการแนวรบด้านคอเคซัส เขาเห็นเป็นโอกาสที่ตุรกีเพลี่ยงพล้ำเคลื่อนกำลังเข้าสมทบกับกองทัพรัสเซียบุกเข้าไปในดินแดนตุรกีและนำไปสู่ยุทธการที่เมืองวาน (Battle of Van) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ซึ่งรัสเซียสามารถยึดเมืองวานได้ อย่างไรก็ตาม อีก ๒ เดือนต่อมาตุรกีซึ่งมีนายพลเอนเวอร์ ปาชา (Enver Pasha)* เป็นผู้นำก็สามารถยึดเมืองวานคืนได้ ในช่วงเวลาเดียวกันเยอรมนีก็รุกหนักในแนวรบด้านตะวันออกส่วนรัสเซียพ่ายแพ้ทุกแนวรบและเริ่มล่าถอย ซาร์นิโคลัสที่ ๒ จึงทรงปลดแกรนด์ดุ๊กนิโคลัส นีโคลาเยวิช (Nikolas Nikolaevich)* พระปิตุลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพรัสเซีย โดยไม่ปรึกษาทั้งสภาดูมา (Duma)* และเสนาบดีคนใดและทรงรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพด้วยพระองค์เอง แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสถูกโอนย้ายไปบัญชาการกองทัพรัสเซียในแนวรบคอเคซัส แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสทรงมอบหมายให้ยูเดนิชเป็นคนกำหนดแผนการรบโดยพระองค์ทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องทั่วไปในกองทัพ ตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๑๕ ทั้งรัสเซียและตุรกีผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะบริเวณพื้นที่รอบ ๆ เมืองวานและด้านตุรกีตะวันออก

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ยูเดนิชเคลื่อนกำลังทัพรุกเข้าไปในดินแดนของตุรกีและนำไปสู่ยุทธการที่เมืองเอร์ซูรุม (Battle of Erzurum) ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญโดยมีเป้าหมายจะเข้ายึดเมืองแทรบซอน (Trabzon) บนชายฝั่งทะเลดำทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตุรกีซึ่งมีชัยชนะในการรบที่กัลลิโพลี (Gallipoli Campaign)* ยังไม่หายบอบช้ำจากการรบและรวบรวมกำลังได้ไม่มากพอจึงเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ รัสเซียรุกคืบหน้าเข้าไปจนถึงเมืองเทรบิซอนด์ (Trebizond) และนำไปสู่การรบที่เมืองเทรบิซอนด์ (Trebizond Campaign) หรือยุทธการที่เมืองเทรบิซอนด์ (Battle of Trebizond) ระหว่างวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ทั้งทางบกและทางทะเล ในยุทธการครั้งนี้แม้นายพลมุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal)* จะเข้าร่วมรบด้วย แต่รัสเซียก็เป็นฝ่ายชนะ ยูเดนิชได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์จอร์จชั้น ๒ (Order of St. George 2ᶰᵈ degree) เป็นรางวัล

 ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๖ การรุกของรัสเซียในแนวรบคอเคซัสและแนวรบด้านตะวันออกเริ่มชะงักลงและกลายเป็นฝ่ายตั้งรับอีกครั้ง ทั้งยังพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง กระแสการต่อต้านสงครามในประเทศจึงเริ่มขยายตัวในวงกว้าง กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายเห็นเป็นโอกาสปลุกระดมต่อต้านสงครามทั้งในแนวหน้าและแนวหลัง และชี้นำให้ก่อการปฏิวัติซึ่งเป็นแนวทางเดียวที่จะทำให้รัสเซียหลุดพ้นจากกับดักของสงคราม การชุมนุมเดินขบวนและการจลาจลก่อตัวขึ้นทั่วประเทศและนำไปสู่การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟล่มสลาย รัฐบาลเฉพาะกาลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีเจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* เป็นนายกรัฐมนตรีประกาศยืนยันพันธกรณีของรัสเซียในการดำเนินสงครามต่อไปจนกว่าจะมีชัยชนะ ยูเดนิชได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียในแนวรบคอเคซัส แม้เขาจะพยายามทำสงครามเพื่อชัยชนะ แต่การเป็นพวกกษัตริย์นิยมก็ทำให้ยูเดนิชไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างเต็มที่อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและการทหารเรือ (Ministry of War and Navy) จึงสั่งปลดเขาออกจากการเป็นผู้บัญชาการกองทัพในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ยูเดนิชตอบโต้ด้วยการลาออกจากกองทัพ

 เมื่อเกิดกรณีเรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* ในเดือนกรกฎาคม ยูเดนิชสนับสนุนพลเอกลาฟร์ เกออร์เกียวิช คอร์นีลอฟ (Lavr Georgyevich Kornilov)* ซึ่งพยายามก่อกบฏล้มอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลของเคเรนสกีแต่การกบฏล้มเหลวยูเดนิชจึงเก็บตัวเงียบและติดตามสถานการณ์การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียตอย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ที่มีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* เป็นผู้นำยึดอำนาจทางการเมืองได้ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ และเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมยูเดนิชหลบหนีไปฟินแลนด์ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ และพบกับคาร์ล กุสทาฟ เอมีล มันเนอร์ไฮม์ (Carl Gustaf Emil Mannerheim)* อดีตเพื่อนทหารในกองทัพซาร์ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพฟินแลนด์ มันเนอร์เฮมสนับสนุนเขาให้เข้าร่วมกับกลุ่มคณะกรรมาธิการรัสเซีย (Russian Committee) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) เพื่อต่อต้านบอลเชวิค ยูเดนิชได้เป็นผู้นำกลุ่มในเวลาอันรวดเร็ว เขาประกาศตัวเป็นหัวหน้าของขบวนการรัสเซียขาวในภูมิภาคบอลติกและจัดตั้งกองทัพรัสเซียขาวขึ้นที่เรียกว่ากองทัพตะวันตกเฉียงเหนือ เขาพยายามติดต่อกับนักการทูตอังกฤษฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เพื่อขอความสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธ ทั้งประสานงานกับขบวนการต่อต้านบอลเชวิคกลุ่มต่าง ๆ เพื่อผนึกกำลังต่อต้านรัฐบาลโซเวียต

 เมื่อรัฐบาลโซเวียตใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศและจัดตั้งหน่วยตำรวจลับหรือเชกา (CHEKA)* ขึ้นเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้ามการต่อต้านรัฐบาลโซเวียตได้ขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีในวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ฝ่ายต่อต้านได้รวบรวมกำลังจัดตั้งเป็นกองทัพที่เข้มแข็งขึ้นที่ภูมิภาคดอน (Don) ทางตอนใต้ของรัสเซียซึ่งเป็นพื้นที่ที่อำนาจรัฐโซเวียตยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ รัฐบาลโซเวียตส่งกองทัพแดงมาปราบปรามและนำไปสู่สงครามกลางเมืองรัสเซีย ในช่วงเวลาเดียวกันประเทศสัมพันธมิตรก็เข้าแทรกแซงภายในรัสเซียโดยสนับสนุนฝ่ายรัสเซียขาวกลุ่มต่าง ๆทั้งด้านกำลังคน อาวุธยุทโธปกรณ์ และเงิน รวมทั้งสนับสนุนกองทัพเชโก-สโลวัก(Czecho-Slovak Army Corps) ในไซบีเรียให้ก่อกบฏต่อรัฐบาลโซเวียต ฝ่ายรัสเซียขาวจึงเข้มแข็งมากขึ้นและชูคำขวัญการทำสงครามว่าเพื่อ “รัสเซียหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้” (Russia one and indivisible) ผู้นำกองทัพรัสเซียขาวที่โดดเด่นคือนายพลอันตอน เดนีกิน (Anton Denikin)* พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* และนายพลปิออตร์ รันเกล (Pyotr Wrangel)* ยูเดนิชสามารถติดต่อกับคอลชาคได้ในเดือนมิถุนายนค.ศ. ๑๙๑๘คอลชาคซึ่งมีฐานกำลังอยู่ที่เมืองออมสค์ (Omsk) ในไซบีเรียและเป็นผู้ปกครองสูงสุดและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของรัสเซียทั้งมวล (Supreme Ruler and Commander in Chief of All Russia) ประกาศแต่งตั้งให้ยูเดนิชเป็นผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียในการต่อต้านบอลเชวิคในแถบทะเลบอลติกและในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย

 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐบาลอังกฤษกดดันให้ยูเดนิชจัดตั้ง “รัฐบาลภาคตะวันตกเฉียงเหนือ” (Northwestern Government) ขึ้น ซึ่งคณะรัฐบาลประกอบด้วยฝ่ายกษัตริย์นิยมสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* และพรรคเมนเชวิค (Mensheviks)* ยูเดนิชได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสงครามของรัฐบาลชุดใหม่ หน้าที่สำคัญของเขาคือการฝึกอบรมทหารและสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง ในเวลาเพียง๓เดือนเขาสามารถจัดตั้งกองทัพที่มีกำลังคน ๑๗,๐๐๐ นาย ปืนใหญ่ ๕๓ กระบอกและรถถัง ๕ คัน ต่อมาเมื่อคอลชาคกำหนดยุทธศาสตร์สงครามด้วยการเตรียมบุกครั้งใหญ่ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยกองกำลังของฝ่ายรัสเซียขาวทุกฝ่ายจะร่วมกันประสานการบุกอย่างเป็นเอกภาพโดยเปิดแนวรบแนวเดียวมุ่งบุกรัสเซียตอนกลางเพื่อเข้ายึดกรุงมอสโก กองทัพของคอลชาคจะเดินทัพจากไซบีเรียตรงสู่กรุงมอสโก กองทัพรัสเซียใต้ที่มีเดนีกินเป็นผู้บัญชาการจะรุกจากทางตอนใต้ขึ้นมาสมทบ ในช่วงเวลาเดียวกัน กองทัพตะวันตกเฉียงเหนือของยูเดนิชก็จะเคลื่อนกำลังจากเอสโตเนียบุกโจมตีนครเปโตรกราดเพื่อเบี่ยงเบนกองกำลังของฝ่ายโซเวียตจากการป้องกันกรุงมอสโกให้หันมาป้องกันเปโตรกราด แผนการยุทธ์ดังกล่าวทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายรัสเซียขาวเชื่อมั่นว่าในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐบาลโซเวียตจะถูกโค่นอำนาจลง

 ในช่วงที่กองทัพรัสเซียขาวซึ่งมีคอลชาคเป็นผู้นำรวมทั้งกองทัพของเดนีกินเปิดฉากการรุกในแนวรบด้านไซบีเรียและรัสเซียตอนใต้ กองทัพของยูเดนิชก็เปิดแนวรบด้านที่ ๒ ด้วยการเคลื่อนกำลังมุ่งบุกนครเปโตรกราดอย่างรวดเร็ว โดยฝ่ายปฏิวัติไม่เคยคาดการณ์ไว้ การบุกครั้งนี้เป็นการเสี่ยงภัยอย่างมากเพราะแม้กำลังคนของยูเดนิชจะมีเกือบ ๒๐,๐๐๐ นาย ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นนายทหารเอสโตเนีย แต่กองทัพแดงในเปโตรกราดแม้จะแบ่งกำลังไปหนุนช่วยแนวรบด้านอื่นแต่ก็ยังมีกำลังคนมากกว่าและมวลชนท้องถิ่นก็ยังคงสนับสนุนรัฐบาลโซเวียตยูเดนิชจึงไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะได้รับการหนุนช่วยจากชาวเมืองเปโตรกราดหรือการสนับสนุนจากกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวอื่น ๆ ซึ่งติดพันในแนวรบด้านอื่นนอกจากนี้เส้นทางเดินทัพของยูเดนิชก็เปิดกว้างไม่มีสิ่งกีดขวางจึงอาจตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากกองทัพแดงที่ประจำการทางตอนใต้ของเปโตรกราดได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบของยูเดนิชอยู่ที่กองทัพแดงซึ่งแม้จะมีจำนวนคนมากกว่าแต่ทหารจำนวนไม่น้อยที่เป็นชาวนา ขาดขวัญและกำลังใจที่จะต่อสู้ มีอาวุธที่ด้อยคุณภาพ และกำลังคนก็กระจัดกระจายทั่วไป นายทหารจากกองทัพรัสเซียเดิมซึ่งบัญชาการกองทัพแดงก็โน้มเอียงสนับสนุนฝ่ายรัสเซียขาวและมักสนับสนุนให้ทหารหนีทัพ ทั้งส่งข่าวให้ยูเดนิชทราบถึงสถานะกองทัพแดงและจุดอ่อนของแนวรบ ยูเดนิชยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรืออังกฤษในการคุ้มกันการรบทางทะเลและยังได้รับรถถังจากอังกฤษจำนวนหนึ่งด้วย

 ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ กองทัพยูเดนิชสามารถยึดเมืองกาชีนา (Gachina) ซึ่งห่างจากนครเปโตรกราด ๔๔ กิโลเมตรไว้ได้ ในเย็นวันเดียวกันก็เคลื่อนกำลังรุกถึงซาร์สโกเอเซโล (Tsarskoe Selo) ซึ่งห่างจากเปโตรกราด ๒๔ กิโลเมตร กองทัพยูเดนิชมักบุกโจมตีกองทัพแดงในเวลากลางคืนเพื่อข่มขวัญและอำพรางกำลังไม่ให้ศัตรูทราบจำนวนทหารที่แท้จริงยูเดนิชกำหนดแผนการที่จะโดดเดี่ยวนครเปโตรกราดด้วยการเข้าควบคุมเส้นทางรถไฟที่เชื่อมนครเปโตรกราดกับเมืองภายนอก อย่างไรก็ตาม เขาสามารถยึดและควบคุมเส้นทางรถไฟสายสำคัญได้เพียง ๒ สาย และไม่อาจยึดสถานีรถไฟตอสโน (Tosno) ที่เชื่อมนครเปโตรกราดกับกรุงมอสโกไว้ได้ ความล้มเหลวดังกล่าวเปิดโอกาสให้เส้นทางลำเลียงทัพและเสบียงระหว่างนครเปโตรกราดกับกรุงมอสโกยังคงติดต่อกันได้ และทำให้ในเวลาต่อมารัฐบาลโซเวียตถอนกำลังที่ป้องกันกรุงมอสโกจำนวนหนึ่งมาหนุนช่วยการป้องกันนครเปโตรกราด

 ชัยชนะของยูเดนิชสร้างความวิตกให้เลนินผู้นำบอลเชวิคอย่างมากและเขาตัดสินใจให้เตรียมสละนครเปโตรกราด ทั้งมีคำสั่งลับให้อพยพเพื่อไปรวมกำลังกันที่กรุงมอสโกซึ่งกลายเป็นเมืองหลวงใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ แต่ตรอตสกีและโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* แกนนำพรรคคนสำคัญโน้มน้าวให้เลนินเปลี่ยนความคิดและให้ยืนหยัดป้องกันนครเปโตรกราดซึ่งเป็น “อู่เกิดของการปฏิวัติ” ไว้ ตรอตสกีปลุกขวัญและกำลังใจให้ทหารแดงและชาวเมือง และกำหนดแผนการต่อสู้ตามชุมชนและท้องถนนในกรณีที่ฝ่ายศัตรูบุกเข้าถึงตัวเมือง เขาสั่งให้ตั้งเครื่องกีดขวางตามย่านชุมชนและใจกลางเมือง ทั้งเรียกร้องให้ชาวเมืองผนึกกำลังกับกรรมกรโรงงานพูลินอฟ (Pulinov) ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่และกรรมกรมีกำลังฮึกเหิม เพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังขึ้น และอื่น ๆ บทบาทของตรอตสกีในการปกป้องนครเปโตรกราดทำให้ในเวลาต่อมาเขาได้รับอิสริยาภรณ์ธงแดง (Order of the Red Banner) ในฐานะวีรชนปฏิวัติ

 ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม กองทัพยูเดนิชเดินทัพมาถึงปุลโคโวไฮต์ (Pulkovo Heights) บริเวณชานนครเปโตรกราด ตรอตสกีนำกองทัพแดงออกโจมตีสกัดกั้นและสามารถตีรุกจนทหารรัสเซียขาวเริ่มล่าถอย ชัยชนะที่ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม่ทัพคนหนึ่งของยูเดนิชกระตือรือร้นที่จะบุกเข้ายึดนครเปโตรกราดเป็นคนแรกด้วยการบุกโจมตีก่อนทัพอื่นๆโดยหวังจะเข้ายึดเส้นทางรถไฟสายมอสโก-เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่กองทัพแดงสามารถต้านการบุกไว้ได้ และระดมกำลังบุกตอบโต้จนมีชัยชนะ นอกจากนี้เมื่อยูเดนิชเคลื่อนกำลังใกล้จะถึงนครเปโตรกราด เขาประกาศว่าการสู้รบครั้งนี้ดำเนินการในนามของกองทัพรัสเซียและเพื่อแผ่นดินรัสเซียเท่านั้น ซึ่งเป็นการลดบทบาทและความสำคัญของทหารเอสโตเนียในกองทัพและการไม่ยอมรับรัฐบาลเอสโตเนียในฐานะพันธมิตร การประกาศดังกล่าวส่งผลให้ทหารเอสโตเนียไม่พอใจจึงยุติการสู้รบและเดินทางกลับประเทศ กองทัพของยูเดนิชจึงมีกำลังไม่มากพอที่จะรุกคืบหน้าต่อไป

 ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม เมื่อกองทัพแดงหน่วยที่ ๑๕ เคลื่อนพลจากทางตอนใต้มาสมทบกับกองทัพแดงหน่วยที่ ๗ และผนึกกำลังบุกโจมตีอย่างหนัก กองทัพของยูเดนิชจึงถูกตีแตกยับเยินจนต้องถอยหนีอย่างไม่เป็นขบวนภายในเวลาเพียง ๒ วัน และล่าถอยกลับไปเอสโตเนีย ทหารจำนวนมากถูกจับเป็นเชลย นครเปโตรกราดจึงรอดพ้นจากการถูกยึดครองและมีผลให้พื้นที่การสู้รบเปลี่ยนไปรวมศูนย์ที่แนวรบระหว่างเมืองเคียฟ (Kiev) กับเมืองซาริตซิน (Tsaritsyn) แทนส่วนยูเดนิชและกองทัพเมื่อกลับถึงเอสโตเนียในเดือนพฤศจิกายน ฝ่ายเสนาธิการทหารเอสโตเนียมีคำสั่งให้ปลดอาวุธกองทัพยูเดนิชและกักบริเวณทหารรัสเซียขาวทั้งหมด ต่อมาในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ รัฐบาลบอลเชวิคเปิดการเจรจาลงนามการสงบศึกกับเอสโตเนียและยอมรับความเป็นเอกราชของเอสโตเนียยูเดนิชซึ่งทราบข่าวหวาดระแวงว่าเขาอาจถูกจับส่งตัวให้ฝ่ายบอลเชวิค เขาจึงรวบรวมเงินสกุลต่าง ๆ ของกองทัพตะวันตกเฉียงเหนือหลบหนีไปยุโรปตะวันตกแต่ล้มเหลวและถูกจับเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม เงินที่เขารวบรวมติดตัวไปได้เป็นจำนวนประมาณ ๒๒๗,๐๐๐ ปอนด์ ๒๕๐,๐๐๐ มาร์คเอสโตเนียและ ๑๑๐,๐๐๐,๐๐๐ มาร์คฟินด์ กองทัพเอสโตเนียได้ยึดเงินและนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนเดือนสุดท้ายแก่ทหารรัสเซียขาวที่ถูกปลดประจำการ

 ยูเดนิชถูกคุมขังอยู่ไม่นานก็ได้รับอิสรภาพเพราะอังกฤษและฝรั่งเศสกดดันทางการทูตให้รัฐบาลเอสโตเนียปล่อยตัวเขา เขาเดินทางไปพำนักที่อังกฤษช่วงเวลาหนึ่งและย้ายไปอยู่ที่เมืองนีซ (Nice) ประเทศฝรั่งเศสเป็นการถาวร ยูเดนิชใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานการกุศลด้านการศึกษารัสเซียของชุมชนรัสเซียนอกประเทศ และเป็นประธานชมรมคนรักประวัติศาสตร์รัสเซีย (Society of Lovers of Russian History) เขาใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานการเมืองและขบวนการต่อต้านรัฐบาลบอลเชวิคนอกประเทศ ยูเดนิชถึงแก่กรรมที่เมืองแซ็งโลร็องดูวาร์ (Saint-Laurentdu-Var) ใกล้เมืองนีซ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ รวมอายุได้ ๗๑ ปี.



คำตั้ง
Yudenich, Nikolai Nikolaevich
คำเทียบ
นายพลนีโคไล นีโคลาเยวิช ยูเดนิช
คำสำคัญ
- กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การรบที่กัลลิโพลี
- การรบที่เมืองเทรบิซอนด์
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์ เกออร์เกียวิช
- คอลชาค, พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์
- คอลชาค, อะเล็กซานเดอร์
- เคมาล, มุสตาฟา
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- เชกา
- เดนีกิน, อันตอน
- ตรอตสกี, เลออน
- แนวรบด้านที่ ๒
- บอลเชวิค
- ปาชา, เอนเวอร์
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคเมนเชวิค
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- มันเนอร์ไฮม์, คาร์ล กุสทาฟ เอมีล
- เมนเชวิค
- ยุทธการที่ซันเดปู
- ยุทธการที่มุกเดน
- ยุทธการที่เมืองซาริคามิช
- ยุทธการที่เมืองเทรบิซอนด์
- ยุทธการที่เมืองเอร์ซูรุม
- ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ
- ยูเดนิช, นีโคไล นีโคลาเยวิช
- รันเกล, ปิออตร์
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สภาดูมา
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1862–1933
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๕–๒๔๗๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-