พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา (Orange-Nassau) สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) และทรงเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งประมุขรัฐ (Stadtholder) ของสหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ (United Provinces of the Netherlands) แต่ไม่ได้ขึ้นปกครองเนื่องจากเป็นการสืบทอดตำแหน่งจากพระบิดาที่สิ้นพระชนม์ลงขณะที่ทั้ง ๒ พระองค์ทรงลี้ภัยในต่างแดนในช่วงที่เนเธอร์แลนด์ถูกฝรั่งเศสเข้ายึดครองระหว่างสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* พ่ายแพ้แก่กองทัพสัมพันธมิตรแล้ว ที่ประชุมในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔–๑๘๑๕)* ได้ฟื้นฟูประเทศเนเธอร์แลนด์ขึ้นมาใหม่ และให้เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย (Austrian Netherlands) หรือเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก(Luxemburg)รวมเข้ากับเนเธอร์แลนด์และสถาปนาเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ต่อมา เบลเยียมได้ก่อการปฏิวัติใน ค.ศ. ๑๘๓๐ และแยกตัวเป็นเอกราช พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงได้รับยกย่องในด้านการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการเกษตร
พระเจ้าวิลเลียมที่๑เป็นพระราชโอรสในวิลเลียมที่ ๕ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ (William V, Prince of Orange) ประมุขรัฐองค์สุดท้ายของสหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ ส่วนพระราชมารดาคือเจ้าหญิงวิลเฮลมินา (Wilhelmina) แห่งปรัสเซีย ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๗๒ ณ พระตำหนักเฮยส์เตนโบช (Huis ten Bosch) ณ กรุงเฮก (The Hague) เนื่องจากมีพระนามเดียวกับพระราชบิดา ประชาชนโดยทั่วไปจึงนิยมเรียกขานพระนามว่า “เจ้าชายรัชทายาท” (Erfprins; Hereditary Prince) เพื่อให้แตกต่างจากพระราชบิดา ขณะทรงพระเยาว์เจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าชายเฟรเดอริก (Frederick) พระอนุชา ทรงได้รับการศึกษาจากเลออนฮาร์ด ออยเลอร์ (Leonhard Euler) นักคณิตศาสตร์ชาวสวิสและแฮร์มันทอลลีอุส (Herman Tollius) นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียงทั้งยังทรงศึกษาวิชาทหารจากนายพลเจ้าชายเฟรเดอริกสแตมฟอร์ด (Frederick Stamford) อีกด้วยระหว่างเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* นั้นเจ้าชายวิลเลียมทรงกำลังศึกษาในโรงเรียนนายร้อยแห่งบรันสวิค (Brunswick) ซึ่งเป็นสถาบันด้านการทหารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของยุโรปต่อมา ใน ค.ศ. ๑๗๙๐ทรงเข้าศึกษาในระยะเวลาสั้น ๆ ที่มหาวิทยาลัยไลเดิน (Leiden) ทั้งยังทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพลประจำหน่วยทหารซึ่งพระราชบิดาทรงมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Captain General) ทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐเนเธอร์แลนด์ (Council of State of the Netherlands) อีกด้วย ในปีเดียวกันนั้นเจ้าชายวิลเลียมทรงมีโอกาสเสด็จประพาสราชสำนักต่าง ๆ เพื่อเจริญพระราชไมตรีรวมทั้งราชสำนักที่นัสเซาที่บรรพบุรุษทรงสืบเชื้อสายและกรุงเบอร์ลินเมืองหลวงของราชอาณาจักรปรัสเซีย ซึ่งพระองค์ทรงได้พบกับเจ้าหญิงวิลเฮลมินา พระราชธิดาในพระเจ้าเฟรเดอริกวิลเลียมที่ ๒ (Frederick William II ค.ศ. ๑๗๘๖–๑๗๙๗)* พระปิตุลา ในปีต่อมาทั้ง๒พระองค์ได้เสกสมรสกัน มีพระราชโอรส ๒ พระองค์และพระราชธิดา ๒พระองค์
ใน ค.ศ. ๑๗๙๓เมื่อเนเธอร์แลนด์ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส เจ้าชายวิลเลียมทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยเคลื่อนที่เร็วและได้เข้าร่วมในการยุทธ์ต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๗๙๔ ทรงเป็นผู้บัญชาการกองกำลังร่วมออสเตรีย-ดัตช์ และทรงได้รับคำชมจากจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๓๕)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย ในวีรกรรมและความสามารถในการวางแผนรบ ใน ค.ศ. ๑๗๙๔ เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ยกกองทัพเข้ารุกรานเนเธอร์แลนด์พวกรักชาติชาวดัตช์ซึ่งสนับสนุนอุดมการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสต่างวางมือในการต่อสู้ ทั้งยังได้เกิดการลุกฮือของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิวัติระบอบการปกครองในเนเธอร์แลนด์
เมื่อเกิดการปฏิวัติปาตาเวีย (Batavian Revolution) ในกรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๕ เจ้าชายวิลเลียมที่ ๕ ประมุขรัฐจึงตัดสินใจเสด็จลี้ภัยไปประทับที่อังกฤษ โดยมีพระราชวงศ์และเจ้าชายวิลเลียมพระโอรสองค์โตตามเสด็จด้วย พวกรักชาติจึงประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐปาตาเวีย” (Batavian Republic) ขึ้นโดยมีสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นแม่แบบ อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐปาตาเวียมีอายุสั้น อีกทั้งยังตกอยู่ใต้อิทธิพลและมีสภาพเป็นรัฐบริวารของฝรั่งเศส ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๖ หลังจากก่อตั้งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* นายพลโบนาปาร์ตได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้ใช้พระราชอำนาจยุบสาธารณรัฐปาตาเวีย แล้วจัดตั้งเป็นราชอาณาจักรฮอลแลนด์ (Kingdom of Holland) ต่อมาทรงรวบรวมราชอาณาจักรฮอลแลนด์เข้ากับจักรวรรดิฝรั่งเศสที่๑
ในช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าชายวิลเลียมหรือเจ้าชายรัชทายาททรงพยายามที่จะกอบกู้สถานะของพระราชวงศ์ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ ทรงเข้าร่วมกับกองทัพสนธิกำลังอังกฤษ-รัสเซียในฮอลแลนด์ แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ชาวดัตช์ลุกฮือขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสและหันมาสนับสนุนพระองค์และราชวงศ์ ในที่สุดเจ้าชายวิลเลียมก็ทรงถูกบีบให้ต้องเสด็จลี้ภัยออกนอกเนเธอร์แลนด์อีกครั้ง ส่วนอังกฤษได้ถอนกองทัพเรือออกจากยุทธการและทำสนธิสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศสซึ่งทำให้เจ้าชายวิลเลียมที่๕พระราชบิดาทรงหดหู่พระทัยและทรงรู้สึกถูกทรยศและหันไปผูกไมตรีกับดินแดนต่าง ๆ ในเยอรมนีมากขึ้น
ส่วนเจ้าชายวิลเลียมเจ้าชายรัชทายาททรงหันไปเจรจากับนายพลโบนาปาร์ตซึ่งดำรงตำแหน่งกงสุลที่ ๑ (First Consul) หรือหัวหน้าคณะรัฐบาล ณ พระราชวังแซงต์กลู (St. Cloud) ในต้น ค.ศ. ๑๘๐๒ นายพลโบนาปาร์ตประทับใจในพระบุคลิกภาพของเจ้าชายวิลเลียมมาก และคาดว่าพระองค์จะช่วยในการจัดตั้งสาธารณรัฐปาตาเวียขึ้นมาใหม่ เมื่อมีการทำสนธิสัญญาอาเมียง (Treaty of Amiens)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๒ เพื่อฟื้นฟูสันติภาพระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ สเปน และเนเธอร์แลนด์ ราชวงศ์ออเรนจ์ได้รับดินแดนที่เป็นเขตสังฆมณฑล (abbatial domains) ต่าง ๆ ในดินแดนเยอรมัน โดยให้ผนวกเป็นราชรัฐนัสเซา-ออเรนจ์-ฟุลดา (Principality of Nassau-OrangeFulda) และให้ราชวงศ์ออเรนจ์ปกครองเพื่อชดเชยกับดินแดนที่สูญเสียไปให้แก่สาธารณรัฐปาตาเวียหลังจากที่เจ้าชายวิลเลียมที่ ๕ ประมุขรัฐทรงได้รับอำนาจปกครองราชรัฐแล้วก็ทรงถ่ายโอนอำนาจให้แก่เจ้าชายวิลเลียมเจ้าชายรัชทายาทโดยทันที
ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* และจัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ขึ้น ซึ่งเท่ากับราชวงศ์ออเรนจ์ต้องตกอยู่ในเครือข่ายอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ไปโดยปริยาย ขณะเดียวกันเจ้าชายวิลเลียมที่ ๕ อดีตประมุขรัฐของสหมณฑล ฯ สิ้นพระชนม์ เจ้าชายวิลเลียมจึงไม่เพียงสืบทอดตำแหน่งประมุขรัฐต่อจากพระราชบิดา และมีพระนามเรียกขานว่า เจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ( William VI) เท่านั้นแต่ยังดำเนินการเรียกร้องดินแดนของราชวงศ์นัสเซาในเยอรมันต่อไปด้วย เมื่อกองทัพฝรั่งเศสเข้ารุกรานดินแดนเยอรมันในปีเดียวกัน ก่อให้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซีย เจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ทรงเข้าข้างปรัสเซียซึ่งเป็นดินแดนของพระญาติสนิท และทรงร่วมรบในยุทธการที่เมืองเยนา (Battle of Jena)* แต่การพ่ายแพ้ของกองทัพปรัสเซียทำให้พระองค์ทรงถูกจับเป็นเชลยศึกและยังถูกกล่าวหาว่าทรงเป็นผู้ทรยศ แต่ต่อมาเจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ทรงได้รับการอภัยโทษจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ แต่ต้องทรงสูญเสียอำนาจการปกครองราชรัฐ
ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ เมื่อออสเตรียเข้าสู่สงครามกับฝรั่งเศสในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ (The Fifth Coalition War) เจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ทรงเข้าร่วมกับฝ่ายออสเตรียและดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพในตำแหน่งพลตรี และเป็นคณะเสนาธิการทหารที่มีอาร์ชดุ๊กชาลส์ (Archduke Charles) เป็นหัวหน้า ทรงเข้าร่วมรบในยุทธการที่วากราม (Battle of Wagram)* และทรงได้รับบาดเจ็บที่พระชงฆ์
ในปลายสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* เมื่อซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑–๑๘๒๕)* แห่งจักรวรรดิรัสเซียทรงก่อสงครามกับฝรั่งเศสและทรงมีแผนการที่จะปลดแอกเนเธอร์แลนด์ออกจากอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสเจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ขณะที่ทรงลี้ภัยในปรัสเซียได้เสด็จเข้าเฝ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ และทรงได้รับคำมั่นสัญญาจากซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ที่จะช่วยนำอิสรภาพมาสู่เนเธอร์แลนด์ พร้อมกับสถาปนาเจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ หลังจากที่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรที่สนธิกำลังกันสามารถปลดแอกเนเธอร์แลนด์ได้ ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๓ รัฐบาลพลัดถิ่นของเนเธอร์แลนด์ได้ถูกจัดตั้งขึ้น ต่อมา ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน เจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ได้เสด็จนิวัตเนเธอร์แลนด์ และเป็นครั้งแรกในกว่า ๑๐ ปีที่พระองค์ย่างพระบาทเข้าสู่เนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์
หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงพ่ายแพ้ให้แก่ประเทศสหพันธมิตรแล้ว ที่ประชุมในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้ฟื้นฟูประเทศเนเธอร์แลนด์ขึ้นมาใหม่หลังจากถูกลบออกจากแผนที่เป็นระยะเวลาเกือบ ๕ ปีโดยให้รวมประเทศแผ่นดินต่ำ (Low Countries) ทั้งหมดคือ เนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ของออสเตรียหรือเบลเยียม และลักเซมเบิร์กเข้าด้วยกันและสถาปนาเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นปราการสกัดกั้นอำนาจของฝรั่งเศสในอนาคตตามหลักการปิดล้อม (Principle of Containment) โดยเจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ นับว่าทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของเนเธอร์แลนด์และมีอิสริยยศสูงกว่าพระบรมอัครราชบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันก็ทรงเป็นประมุขราชรัฐลักเซมเบิร์กและมีพระอิสริยยศเป็นแกรนด์ดุ๊กแห่งลักเซมเบิร์กด้วย
อย่างไรก็ดี การรวมตัวของกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำดังกล่าวก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น มณฑลทางตอนใต้หรือเบลเยียม บริเวณที่ประชาชนพูดฝรั่งเศสและนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แม้ว่าจะเคยรวมตัวกับดินแดนเนเธอร์แลนด์ในอดีต แต่ขณะนั้นก็มีความแตกต่างจากชาวดัตช์ในด้านภาษา วัฒนธรรมนโยบายทางเศรษฐกิจ และอื่น ๆ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ทรงพยายามสร้างความปรองดองโดยการส่งเสริมการค้ากับเบลเยียม จนได้รับสมัญญานามว่า “กษัตริย์-พ่อค้า” (King-Merchant) ใน ค.ศ. ๑๘๒๒ ทรงจัดตั้ง Algemeene Nederlandsche Maatschappij ten Begunstiging van de Valksvlijt ซึ่งต่อมากลายเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเบลเยียม
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเลิฟวร์ (Leuver) มหาวิทยาลัยเกนต์ (Ghent) และมหาวิทยาลัยลีแอช (Liège) อีกด้วยส่วนในเนเธอร์แลนด์เดิมหรือในดินแดนตอนเหนือก็ทรงส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการค้า มีการขุดคลองและสร้างถนนสายใหม่ ๆ เพื่อลำเลียงสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมทางตอนใต้มายังตอนเหนือเพื่อส่งออกสินค้าไปยังที่ต่าง ๆ โดยใช้เรือพาณิชย์ของเนเธอร์แลนด์นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบการเกษตร (Culture System) บังคับคนพื้นเมืองในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกให้ทำงานรับใช้เจ้าหน้าที่ดัตช์ในการทำเกษตรกรรมเป็นช่วงเวลาหนึ่งในแต่ละปี กอปรกับความรุ่งเรืองของเมืองการค้าของเนเธอร์แลนด์ในบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (East Indies of the Netherlands; Vereenigde Oostindische Compagnie–VOC) ซูรินาเม (Suriname) กูราเซา (Curaçao) และโกลโคสต์ของเนเธอร์แลนด์ (Gold Coast of the Netherlands) ทำให้ดินแดนทางตอนเหนือมั่งคั่งและเจริญอย่างมากทั้งยังสร้างความร่ำรวยให้แก่ผู้คนแถบนั้น ขณะเดียวกันดินแดนทางตอนใต้กลับได้รับผลประโยชน์ไม่มากความแตกต่างในเชิงเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ชาวเบลเยียมต่อต้านการรวมดินแดนของพวกตนกับเนเธอร์แลนด์ และถือโอกาสเมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution)* ค.ศ. ๑๘๓๐ ในฝรั่งเศส ก่อกบฏเพื่อแยกตัวเป็นอิสระ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ได้สถาปนาราชอาณาจักรเบลเยียมขึ้น โดยอัญเชิญเจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Saxe-Coburg-Gotha)* สายซาลเฟลด์ (Saalfeld) อดีตพระสวามีของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (Charlotte) มกุฎราชกุมารีแห่งอังกฤษที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เฉลิมพระอิสริยยศพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I)* พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงส่งกองทัพเข้าปราบปรามแต่ถูกกองทัพฝรั่งเศสสกัดกั้นจนต้องล่าถอย แต่เนเธอร์แลนด์ก็ไม่ยอมรับการแยกตัวของเบลเยียม พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงสนับสนุนการทำสงครามกับเบลเยียมต่อไปอีก ๘ ปี สิ้นงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล และก่อให้เกิดการต่อต้านพระองค์ในหมู่ชาวดัตช์ จนในที่สุดก็ทรงถูกบีบให้ยุติสงครามและทำสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London) ค.ศ. ๑๘๓๙ ยอมรับการสลายตัวของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และรับรองเอกราชของเบลเยียม ส่วนเนเธอร์แลนด์ก็ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการใหม่ว่า ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Kingdom of the Netherlands)
ส่วนราชรัฐลักเซมเบิร์กยังคงอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ต่อไปจนสิ้นรัชกาลใน ค.ศ. ๑๘๔๐ และลักเซมเบิร์กก็ยังคงมีพระประมุขซึ่งเป็นสมาชิกของราชวงศ์นัสเซา-ออเรนจ์ต่อไปจนถึง ค.ศ. ๑๘๙๐ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินา (Wilhelmina ค.ศ. ๑๘๙๐–๑๙๔๘)* เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเพราะกฎหมายของลักเซมเบิร์กในขณะนั้นไม่ให้สิทธิราชนารีในการสืบสันตติวงศ์
ใน ค.ศ. ๑๘๓๗ เมื่อสมเด็จพระราชินีวิลเฮลมินา พระมเหสีเสด็จสวรรคต พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ อภิเษกสมรสกับเคาน์เตสอ็องรีแยตอาเดรียนา ลูโดวีกา ฟลอรา ดูลตร์มง เดอ เวชีม็อง (Henriëtte Adriana Ludovica Flora d’ Oultremont de Wégiment) สตรีชาวเบลเยียมที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่ราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาเป็นโปรเตสแตนต์ ซึ่งเป็นการอภิเษกสมรสที่ผิดประเพณีและถือว่าเป็นการอภิเษกสมรสที่ผิดกฎมนเทียรบาล (morganatic marriage) ไม่มีพระราชโอรสพระราชธิดาร่วมกัน พระชายาองค์ใหม่ไม่ได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินี แต่ได้รับสถาปนาเป็นเคาน์เตสแห่งนัสเซา (Countess of Nassau) เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๑ ณ กรุงเบอร์ลิน พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงสละราชสมบัติวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๐ และเจ้าชายวิลเลียม เฟรเดอริก จอร์จ ลุดวิก (William Frederick George Ludwig) ทรงได้สืบราชสมบัติต่อมาในพระนามพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๔๐–๑๘๔๙)*
อดีตพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ เสด็จไปประทับ ณเมืองไซลิเซีย (Silesia) ในปรัสเซีย แต่ยังคงมีความผูกพันกับเนเธอร์แลนด์เป็นอย่างมาก ใน ค.ศ. ๑๘๔๓ ขณะที่เนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจพระองค์ทรงส่งพระราชทรัพย์ไปช่วยเหลือการคลังของประเทศ เป็นจำนวน ๑๐ ล้านกิลเดอร์ (guilder) พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ ณ กรุงเบอร์ลิน สิริพระชนมายุ ๗๑ พรรษา.