การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาเป็นการประชุมใหญ่ระหว่างประเทศของมหาอำนาจยุโรปทั้งสี่ ได้แก่อังกฤษ ออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซีย และประเทศต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบใหม่ให้แก่ยุโรปหลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* เป็นการประชุมที่จัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา นครหลวงของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* ระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๔ ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ วัตถุประสงค์หลักของการประชุมคือเพื่อแก้ไขและยุติปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ที่สืบเนื่องจากสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* สงครามนโปเลียนและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* รวมทั้งเพื่อจัดการแบ่งเขตดินแดน การสร้างสันติภาพและความมั่นคงในยุโรป ตลอดจนการสร้างดุลอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรป การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้ชื่อว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การทูตยุโรปเพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่า (Ancien Régime) ไปสู่ระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของนานาประเทศยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ผลสำคัญของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาคือยุโรปหลัง ค.ศ. ๑๘๑๕ ปลอดพ้นจากสงครามใหญ่ระหว่างประเทศเป็นเวลาร่วม ๔๐ ปี และทำให้ความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* ของประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นทวีปหรือที่เรียกว่าระบบการประชุมใหญ่ (Congress System)* เป็นแบบอย่างให้ผู้นำและนักการทูตของประเทศต่าง ๆ ในเวลาต่อมาเห็นประโยชน์และนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ทั้งยังนำไปสู่แนวความคิดของการร่วมมือกันเพื่อก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นด้วย
การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาเป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* ในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๖ (Sixth Coalition War) ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ โดยพระองค์ต้องยอมลงพระนามสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตรในสนธิสัญญาฟงแตนโบล (Treaty of Fontainebleau)* เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ ซึ่งเป็นการสิ้นสุดอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First French Empire)* ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาฉบับนี้ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และพระราชโอรสรวมทั้งผู้สืบสายในราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* ต้องสละสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและในดินแดนที่เคยครอบครองยกเว้นเกาะเอลบา (Elba) ในทะเลติร์เรเนียน (Tyrrhenian) ที่พระองค์ถูกเนรเทศไปประทับจนกว่าจะเสด็จสวรรคต ส่วนจักรพรรดินีมาเรีย หลุยส์ (Marie Louis)* แห่งราชวงศ์ฮับสบูร์ก (Habsburg)* พระมเหสีทรงได้สิทธิปกครองรัฐเล็ก ๆ ๓ รัฐในอิตาลีหลังการลงโทษจักรพรรดินโปเลียนแล้ว ประเทศพันธมิตรก็ร่วมกันทำสนธิสัญญาสันติภาพหรือสนธิสัญญาปารีสฉบับที่๑(First Treaty of Paris) กับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ โดยลดอาณาเขตของฝรั่งเศสให้เหลือเท่าที่เคยมีอยู่ใน ค.ศ. ๑๗๙๒ ฝรั่งเศสไม่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และประเทศมหาอำนาจพันธมิตรยังเห็นชอบกับแนวความคิดของชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord)* นักการเมืองคนสำคัญของฝรั่งเศสที่จะให้มีการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* และอัญเชิญพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII)* ขึ้นครองบัลลังก์ฝรั่งเศส นอกจากนี้สนธิสัญญาปารีสยังกำหนดว่าประเทศพันธมิตรจะต้องจัด “การประชุมใหญ่ทั่วไป” (general congress) ขึ้นที่กรุงเวียนนาเพื่อแบ่งสรรดินแดนที่ฝรั่งเศสได้ยึดครองในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และร่วมกันวางมาตรการป้องกันฝรั่งเศสก่อสงครามขึ้นอีก การประชุมได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๔
การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาที่จัดขึ้นในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๔ เป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งใหญ่ที่มีการชุมนุมผู้แทนของรัฐต่าง ๆ มากกว่า ๒๐๐ รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐมีผู้แทนจำนวน ๑ หรือ ๒ คน ทั้งเป็นการรวมตัวกันของบุคคลสำคัญ ๆ ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การทูตยุโรปนอกจากพระประมุข เช่นซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑–๑๘๒๕)* แห่งรัสเซีย พระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ (Frederick William III ค.ศ. ๑๗๙๗–๑๘๔๐)* แห่งปรัสเซีย และจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๓๕)* แห่งออสเตรียซึ่งทรงเป็นเจ้าภาพแล้ว ก็มีนักการทูตและรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงคนสำคัญของยุโรปอีกหลายคน เช่น เจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens Fürst von Metternich)* เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย (ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๒๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครเสนาบดี) ไวส์เคานต์คาสเซิลเร (Viscount Castlereagh)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ และในช่วงที่คาสเซิลเรกลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่อังกฤษในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๑๕ อาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington)* ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าชายคาร์ล ออกุสต์ ฟอน ฮาร์เดนแบร์ก (Karl August von Hardenberg) อัครมหาเสนาบดีปรัสเซีย วิลเฮล์ม ฟอนฮัมโบลดท์ (Wilhelm von Humboldt) นักการทูตและนักวิชาการแห่งปรัสเซีย เคานต์คาร์ล โรเบียร์ต เนสเซลโรเด (Karl Robert Nesselrode) เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และตาเลรองเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส
การประชุมใหญ่แห่งเวียนนามีลักษณะแตกต่างจากการประชุมเพื่อทำสนธิสัญญาสงบศึกและแบ่งเขตดินแดนครั้งอื่น ๆ เพราะผู้แทนที่เข้าประชุมมี ๒ ระดับคือระดับประมุขของประเทศและระดับผู้แทนของรัฐบาล ซึ่งไม่ได้ประชุมร่วมกันเต็มองค์ประชุม แต่แยกประชุมกันเป็นกลุ่ม ๆ โดยผู้แทนหลักจากอังกฤษฝรั่งเศส ออสเตรีย รัสเซีย และบางครั้งปรัสเซียได้ประชุมหารือกันโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีผู้เข้าร่วมประชุมในจำนวนจำกัดนอกนั้นเป็นการประชุมกลุ่มย่อยซึ่งประชุมกัน ๔ คนบ้าง ๕ คน บ้างบางครั้งก็เป็นการหารือตกลงกันแบบลับ ๆ เพียง ๒ หรือ ๓ คน นอกจากนี้ ยังมีการพบปะหารือกันในช่วงการพักผ่อน ล่าสัตว์ และสังสรรค์ในงานราตรีสโมสรซึ่งมีบรรยากาศรื่นเริงสนุกสนานและเป็นกันเองรวมทั้งมีงานเลี้ยงเต้นรำที่หรูหราตระการตาด้วย จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ ทรงต้อนรับผู้แทนจากประเทศต่างๆด้วยขบวนสวนสนามของกองทัพอันสง่างาม การจุดพลุไฟยามราตรีที่สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ รวมทั้งการจัดงานเลี้ยงรับรองและงานรื่นเริงอย่างหรูหราที่พระราชวังเชินบรุนน์ (Schönnbrunn) ตลอดระยะเวลาของการประชุม ซึ่งเป็นการจัดประชุมในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและไม่มีให้เห็นอีกตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙–๒๐
เมทเทอร์นิชทำหน้าที่ประธานของการประชุมซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลทางความคิดต่อที่ประชุมมากที่สุด เขาเป็นคนหัวเก่าที่สนับสนุนแนวความคิดของเอดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke)* นักคิดและนักการเมืองชาวอังกฤษในการต่อต้านการปฏิวัติและอุดมการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* เมทเทอร์นิชจึงเน้นการแสวงหาแนวทางสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศต่าง ๆ ของยุโรปและวิธีการที่จะสกัดกั้นและต่อต้านการปฏิวัติ รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสก่อความปั่นป่วนแก่ยุโรปอีก ที่ประชุมจึงเห็นชอบกับหลักการ ๔ ข้อที่เมทเทอร์นิชและผู้นำชาติมหาอำนาจเสนอเพื่อใช้เป็นกรอบกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสร้างเสถียรภาพและสันติภาพให้แก่ยุโรปได้แก่ หลักการแห่งสิทธิอันชอบธรรม (Principle of Legitimacy) หลักการการสร้างดุลแห่งอำนาจของยุโรป (Principle of Balance of Power) หลักการปิดล้อม (Principle of Encirclement) และหลักการชดเชยค่าเสียหาย (Principle of Compensation)
เมทเทอร์นิชเชื่อว่ารูปแบบของรัฐบาลที่ดีที่สุดคือการมีสถาบันกษัตริย์ทำหน้าที่บริหารปกครองประเทศโดยมีคณะที่ปรึกษาร่วมเสนอความคิดเห็นและให้คำปรึกษาชี้แนะที่ดี การฟื้นฟูราชวงศ์เดิมหรือกษัตริย์หรือประมุขที่มีสิทธิอันชอบธรรมให้กลับมาครองราชย์หรือปกครองดังเดิมจึงเป็นหัวใจของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ที่ประชุมมีมติห้ามราชวงศ์โบนาปาร์ตกลับมาครองราชย์ในฝรั่งเศสหรือดินแดนอื่น ๆ ในยุโรปอย่างเด็ดขาด ส่วนราชวงศ์เดิมหรือผู้ปกครองเดิมที่ต้องสูญเสียอำนาจไปอันเนื่องจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ หรือในสงครามนโปเลียนก็ให้กลับมาปกครองประเทศหรือนครรัฐดังเดิมหลักการดังกล่าวนำมาใช้กับประเทศฝรั่งเศส สเปน ปีดมอนต์ (Piedmont) ทัสกานี (Tuscany) โมเดนา (Modena) และรัฐสันตะปาปา (Papal States)
ที่ประชุมเห็นว่าสงครามและการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในยุโรปเป็นผลจากการที่ฝรั่งเศสมีอำนาจมากเกินไปจนคุกคามความมั่นคงของประเทศอื่น ๆ การทำให้ฝรั่งเศสอ่อนกำลังลงเพื่อจะได้ไม่เป็นภัยต่อประเทศอื่นอีกในอนาคตจึงเป็นหลักการที่ประเทศมหาอำนาจเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม การที่ฝรั่งเศสมีความสำคัญทางด้านการเมืองและด้านภูมิศาสตร์ การลิดรอนอำนาจของฝรั่งเศสมากเกินไปจะเป็นการทำลายดุลแห่งอำนาจของยุโรปที่ประชุมจึงให้คงดินแดนของฝรั่งเศสไว้ดังเดิมและให้สถาปนาสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)* ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยนครรัฐเยอรมัน ๓๔ รัฐ ออสเตรีย และเสรีนครอีก ๔ แห่งที่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง รวมเป็น ๓๙ รัฐ โดยมีสภาสหพันธ์ (Federal Diet) กำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งรัฐทั้งหมด นอกจากนี้ การจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันยังมีจุดมุ่งหมายจะสกัดกั้นความพยายามของพวกชาตินิยมเยอรมันในการจะรวมรัฐเยอรมันต่างๆเข้าเป็นประเทศและเพื่อให้สมาพันธรัฐเยอรมันที่ออสเตรียควบคุมมีบทบาทแทนที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่สลายตัวลงใน ค.ศ. ๑๘๐๖
ในระหว่างที่การประชุมดำเนินอยู่ ประเทศมหาอำนาจเกิดความขัดแย้งกันในปัญหาการสร้างดุลแห่งอำนาจอังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลต้องการ
ความขัดแย้งในกลุ่มประเทศมหาอำนาจดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้ตาเลรองเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสใช้ความสามารถทางการทูตทำให้ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามและถูกโดดเดี่ยวกลับมามีบทบาทในฐานะมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่งตาเลรองสามารถทำให้อังกฤษสนับสนุนฝรั่งเศสเข้าร่วมประชุมพิจารณาเรื่องต่าง ๆ กับประเทศมหาอำนาจทั้งสี่คืออังกฤษออสเตรียรัสเซียและปรัสเซียได้สำเร็จรวมทั้งยังหาเสียงกับประเทศอื่น ๆ เช่น สเปน โปรตุเกส สวีเดน ให้ฝรั่งเศสเข้าร่วมประชุมทั่วไปและอยู่ในคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้น ท้ายที่สุดฝรั่งเศสก็สามารถโน้มน้าวให้ที่ประชุมรับหลักการว่าด้วยสิทธิอันชอบธรรมซึ่งไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ เท่านั้น แต่ยังเป็นทางออกที่มีส่วนช่วยให้กษัตริย์แห่งแซกโซนีสามารถรักษาราชอาณาจักรของพระองค์ไว้ได้ ทำให้ราชวงศ์บูร์บงสายเนเปิลส์และปาร์มากลับไปครองราชย์ในราชอาณาจักรเนเปิลส์ตามความต้องการของอังกฤษด้วย ขณะเดียวกัน เมทเทอร์นิชซึ่งต้องการให้แซกโซนีเป็นเอกราชเพื่อขัดขวางไม่ให้ปรัสเซียขยายอำนาจมาใกล้ออสเตรียจึงสนับสนุนฝรั่งเศสในการประชุมตกลงเกี่ยวกับปัญหาแซกโซนีและโปแลนด์ในปลาย ค.ศ. ๑๘๑๔
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของอังกฤษในการขัดขวางการขยายดินแดนของรัสเซียและปรัสเซียประสบความล้มเหลว ตาเลรองจึงเสนอให้มีการผนึกกำลังกันระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษและออสเตรียเพื่อต่อต้านการขยายอำนาจของรัสเซียและปรัสเซียทั้ง ๓ ประเทศได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาลับเมื่อ วันที่ ๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยตกลงจะสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกรณีที่ประเทศคู่สัญญาประเทศใดประเทศหนึ่งถูกรัสเซียหรือปรัสเซียโจมตีบทบาทของตาเลรองในการผลักดันให้มีการทำสนธิสัญญาลับดังกล่าวไม่เพียงจะทำให้ฝรั่งเศสกลับมามีบทบาทในฐานะประเทศเป็นมหาอำนาจได้สำเร็จอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักประกันที่ฝรั่งเศสไม่ต้องวิตกเกี่ยวกับการจะถูกกลุ่มมหาอำนาจรวมตัวกันโจมตีฝรั่งเศสในอนาคต
ในระหว่างที่ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนากำลังเจรจาแบ่งปันดินแดนและเกิดความขัดแย้งกันในประเด็นผลประโยชน์ที่จะได้รับอยู่นั้น จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็เสด็จหนีออกจากเกาะเอลบาเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๑๕ ไปขึ้นบกที่เมืองคาน (Cannes) โดยมีทหารติดตามจำนวน ๑,๑๐๐ นาย และเสด็จถึงกรุงปารีสในวันที่ ๒๐ มีนาคมระหว่างเสด็จประชาชนชาวฝรั่งเศสต่างต้อนรับและแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ และมีผู้เข้าร่วมสมทบกองกำลังของพระองค์มากขึ้น ส่วนกองทหารม้าที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ทรงส่งไปสกัดกั้นจักรพรรดินโปเลียนที่๑ซึ่งมีนายพลมีเชล เน (Michel Nay)* เป็นแม่ทัพและประกาศว่าจะจับนโปเลียนใส่กรงเหล็กนำกลับกรุงปารีสก็เปลี่ยนใจเข้าร่วมสมทบกับประชาชนสนับสนุนพระองค์ด้วยเพราะตระหนักว่าชาวฝรั่งเศสเป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์บูร์บง การกลับสู่อำนาจอีกครั้งของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ไม่ทรงมีทางเลือกอื่นอีกนอกจากต้องเสด็จหนีออกจากกรุงปารีสไปลี้ภัยอยู่ที่เมืองก็อง [Gand ปัจจุบันคือ เมืองเกนต์ (Ghent)] ในดินแดนเบลเยียม ช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ ๒๐ มีนาคมถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายนค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงปกครองฝรั่งเศสในฐานะจักรพรรดิอีกครั้งมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่าสมัยร้อยวัน (Hundred Days)*
จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงพยายามให้ประเทศต่าง ๆ คลายความกังวลเกี่ยวการกลับมาสู่อำนาจครั้งนี้ด้วยการประกาศว่าพระองค์ทรงปรารถนาสันติภาพและความสงบสุขของยุโรปและไม่มีพระประสงค์ที่จะปกครองประเทศอย่างกดขี่ แต่ประเทศมหาอำนาจไม่ได้วางใจพระองค์และชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจว่าจะทรงเป็นประมุขที่มีความเป็นเสรีนิยมได้นานเพียงไร ขณะเดียวกันพวกนิยมราชวงศ์บูร์บงได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีส่วนทำให้ฐานะของพระองค์ไม่มั่นคงเท่าที่ควร ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาจึงประกาศยืนยันการจะร่วมกันทำสงครามเพื่อขับไล่จักรพรรดินโปเลียนที่๑ออกจากฝรั่งเศสและปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาโชมง (Treaty of Chaumont) เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ ที่อังกฤษ รัสเซีย ออสเตรีย และปรัสเซียได้ร่วมลงนามกัน สาระสำคัญของสนธิสัญญาโชมงคือมหาอำนาจทั้งสี่จะร่วมกันล้มล้างพระราชอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่๑และป้องกันไม่ให้พระองค์และราชวงศ์โบนาปาร์ตกลับมาครองฝรั่งเศสอีก โดยประเทศมหาอำนาจจะร่วมเป็นพันธมิตรกันเป็นเวลา ๒๐ ปี และเพื่อรักษาข้อตกลงและการประกันเขตแดนที่ทำไว้ก็ให้มีการดำเนินการให้เนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์เป็นเอกราชและมีอาณาเขตที่กว้างขวางมากขึ้น การรวมดินแดนเยอรมันในรูปสมาพันธรัฐและให้สวิตเซอร์แลนด์มีฐานะเป็นกลาง การสนับสนุนราชวงศ์บูร์บงสายสเปนกลับมาปกครองสเปนและให้นครรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลีกลับคืนสู่สภาพเดิม (status quo) ก่อนการเข้ามามีอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และราชวงศ์โบนาปาร์ต
การเสด็จกลับสู่อำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจทั้งสี่ซึ่งขัดแย้งกันเกี่ยวกับการสร้างดุลแห่งอำนาจหันมาประนีประนอมและยอมผ่อนปรนรอมชอมกันมากขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๑๕ ที่ประชุมกลุ่มมหาอำนาจก็สามารถตกลงเกี่ยวกับปัญหาแซกโซนีได้ โดยกษัตริย์แห่งแซกโซนีทรงสามารถรักษาราชบัลลังก์ตามหลักการสิทธิอันชอบธรรมและได้รับดินแดนบริเวณรอบ ๆแม่น้ำไรน์ตอนกลางเพิ่มเติมอีกด้วย ส่วนฝรั่งเศสได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะความสำเร็จของตาเลรองที่จะทำให้ฝรั่งเศสสามารถพ้นจากภาวะการอยู่โดดเดี่ยวและมีสถานภาพเป็นมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่งนั้นต้องสูญสลายลง ตาเลรองต้องถอนตัวออกจากการประชุมและประเทศมหาอำนาจรวมกำลังกันต่อต้านฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง
จักรพรรดินโปเลียนที่๑ทรงประสบความล้มเหลวในการเสนอขอเจรจาสันติภาพระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษและออสเตรีย กองทัพของพระองค์ทรงมีชัยชนะเพียงระยะเวลาสั้นๆแต่ในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* ในดินแดนเบลเยียมนั้นพระองค์ทรงพ่ายแพ้กองทัพฝ่ายพันธมิตรซึ่งมีดุ๊กแห่งเวลลิงตันเป็นผู้บังคับบัญชาเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ การปราชัยทำให้พระองค์จำเป็นต้องสละราชบัลลังก์อีกครั้งในวันที่ ๒๒ มิถุนายน โดยในครั้งนี้อังกฤษส่งพระองค์ไปคุมขังที่เกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena) ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกในฐานะนักโทษการเมือง จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนบันทึกความทรงจำและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๑ ขณะมีพระชนมายุ ๕๑ พรรษา ก่อนที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จะปราชัยที่วอเตอร์ลู ประเทศมหาอำนาจพันธมิตรได้ประชุมหารือและร่วมลงนามในสนธิสัญญาเวียนนา (Treaty of Vienna) เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษฝรั่งเศสซึ่งมีความรุนแรงกว่าใน ค.ศ. ๑๘๑๔ เพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจและอิทธิพลของฝรั่งเศสอีกในอนาคต ตลอดจนการจัดดุลอำนาจในยุโรป โดยมหาอำนาจต่าง ๆ ได้รับประโยชน์ตอบแทนในรูปดินแดนหรือในรูปแบบใด ๆ ก็ตามที่ต้องการ ให้อาณาเขตของฝรั่งเศสเหลือเท่ากับที่เคยดำรงอยู่ใน ค.ศ. ๑๗๙๐ ข้อตกลงในสนธิสัญญาเวียนนาประกอบด้วย ๑๒๑ มาตราและมีสนธิสัญญาผนวกเข้าไปอีก ๑๗ ฉบับ แผนที่ยุโรปจึงถูกเปลี่ยนแปลงใหม่เพื่อป้องกันฝรั่งเศสรุกรานประเทศอื่น ๆ ได้อีก และแต่ละมหาอำนาจต่างได้รับดินแดนเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพของตนให้แข็งแกร่งมากขึ้น
อังกฤษได้รับสิทธิทางการค้าในอเมริกากลางและดินแดนส่วนที่เคยเป็นอาณานิคมหรือพันธมิตรของฝรั่งเศสโดยเฉพาะดินแดนติดทะเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น เฮลิโกแลนด์ (Heligoland) ในทะเลเหนือ มอลตา (Malta) และหมู่เกาะไอโอเนียน (Ionian) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เคปโคโลนี (Cape Colony)* ในแอฟริกาใต้ ซีลอน (Ceylon) ในมหาสมุทรอินเดีย แม้ดินแดนที่อังกฤษได้รับมีไม่มากนักแต่อังกฤษซึ่งสามารถพิชิตฝรั่งเศสก็กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ดังนั้น หลัง ค.ศ. ๑๘๑๕ เป็นต้นมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔–๑๙๑๘)* ความเป็นเจ้าทะเลได้ทำให้อังกฤษสามารถขยายอำนาจและอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวางในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑)* ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อังกฤษมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและอาณานิคมยากที่จะมีมหาอำนาจอื่นใดมาเท่าเทียมได้
รัสเซียได้ดินแดนเพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆกล่าวคือ ได้รับดินแดนโปแลนด์ ๒ ใน ๓ ส่วน รวมทั้งเบสซาราเบีย (Bessarabia)* และฟินแลนด์ซึ่งช่วงชิงมาจากตุรกีและสวีเดน ปรัสเซียสูญเสียพื้นที่ส่วนใหญ่ของแกรนด์ดัชชีแห่งวอร์ซอ (Grand Duchy of Warsaw) ให้แก่รัสเซียซึ่งต่อมาได้ให้รัฐธรรมนูญและยกสถานภาพขึ้นเป็นราชอาณาจักรและซาร์แห่งรัสเซียทรงเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ด้วย อย่างไรก็ดี ปรัสเซียยังคงมีดินแดนเหลืออยู่ในโปแลนด์ ได้แก่ ดานซิก (Danzig)* และโปเซน (Posen) ขณะเดียวกันปรัสเซียก็ได้ดินแดน ๒ ใน ๕ ของแซกโซนีเป็นการชดเชยรวมทั้งพอเมอราเนีย (Pomerania)ส่วนที่เป็นของสวีเดนและยังได้รับดัชชีเวสต์ฟาเลีย (Duchy of Westphalia) และแคว้นไรน์ (Rhine Province) ที่อุดมสมบูรณ์ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์อีกด้วย ดินแดนทางฝั่งแม่น้ำไรน์ทำให้ปรัสเซียเป็นเสมือนสะพานเชื่อมภาคกลางของยุโรปและเป็นปราการขวางกั้นการคุกคามของฝรั่งเศสทางทิศตะวันตกและรัสเซียทางทิศตะวันตก
ส่วนออสเตรียซึ่งสูญเสียเนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย (Austrian Netherlands) หรือต่อมาคือเบลเยียมให้แก่ฮอลแลนด์ก็ได้รับทิโรล (Tyrol) อิลลิเรีย (Illyria) ดัลเมเชีย (Dalmatia) ลอมบาร์ดี (Lombardy) วินีเชีย (Venetia) และซัลซ์บูร์ก (Salzburg) เป็นการตอบแทน ออสเตรียยังครองความเป็นใหญ่ในอิตาลีเพราะได้รับแกรนด์ดัชชีทัสกานี (Grand Duchy of Tuscany) รวมทั้งมีอิทธิพลในดัชชีปาร์มา (DuchyofParma)และโมเดนา (Modena) ที่อยู่ในปกครองโดยตรงของอดีตจักรพรรดินีมาเรียหลุยส์ซึ่งเป็นสมาชิกของราชวงศ์ฮับสบูร์ก ส่วนรัฐสันตะปาปาและราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia)* ก็ได้รับการค้ำประกันบูรณภาพ นอกจากนี้ ดินแดนเยอรมันซึ่งยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นประเทศแต่ถูกรวมเข้ากันอย่างหลวม ๆ ทางการเมืองในรูปแบบสมาพันธรัฐเยอรมันนั้นเมทเทอร์นิชได้ใช้ชั้นเชิงทางการทูตทำให้ออสเตรียมีฐานะเป็นผู้นำของสมาพันธรัฐเยอรมันด้วย
สวีเดนซึ่งสูญเสียฟินแลนด์และพอเมอราเนียให้แก่รัสเซียและปรัสเซียตามลำดับได้รับนอร์เวย์เป็นการตอบแทนอย่างไรก็ตามในการจัดแบ่งดินแดนต่างๆประเทศมหาอำนาจไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของลัทธิชาตินิยมและลัทธิเสรีนิยมที่กำลังแพร่หลายในขณะนั้น ตลอดจนความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนการรวมเบลเยียมเข้ากับฮอลแลนด์โดยยึดหลักการปิดล้อมฝรั่งเศสด้วยดินแดนที่เข้มแข็งเป็นการรวมดินแดนทั้ง ๒ แห่งที่มีลัทธิศาสนา วัฒนธรรม และระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกันเข้าด้วยกันซึ่งต่อมานำไปสู่ปัญหาทางการเมือง หรือการแบ่งโปแลนด์แก่รัสเซียและปรัสเซียโดยยึดหลักการดุลแห่งอำนาจ รวมทั้งยกนอร์เวย์ให้สวีเดน ก็ล้วนขัดกับหลักการชาตินิยมและนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเวลาต่อมา
การจัดสรรดินแดนซึ่งทำให้แผนที่และอาณาเขตของยุโรปเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ทำให้ฝรั่งเศสถูกปิดล้อมเกือบทั่วทุกทิศ รัฐใหม่ ๆ ที่จัดตั้งขึ้นหรือรัฐที่ได้รับการขยายตัวให้ใหญ่ขึ้นจึงเป็นเสมือนปราการกีดขวางไม่ให้ฝรั่งเศสมีโอกาสขยายอำนาจได้โดยง่าย ทางทิศเหนือสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) ที่อังกฤษจัดตั้งขึ้นก็ขวางกั้นการขยายตัวของฝรั่งเศส ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีปรัสเซียซึ่งขยายดินแดนมาถึงบริเวณแม่น้ำไรน์ ทางทิศตะวันออกสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งกลับมาเป็นสมาพันธรัฐดังเดิมได้รับการค้ำประกันให้เป็นรัฐเอกราชที่เป็นกลาง ฝรั่งเศสจึงไม่สามารถเสริมกำลังทางชายแดนบริเวณพื้นที่ตรงข้ามกับบาเซิล (Basel) ได้ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราชอาณาจักรปีดมอนด์-ซาร์ดิเนียที่มีพื้นที่ครอบคลุมซาวอยและเจนัวก็ทำหน้าที่ปิดล้อมฝรั่งเศสทางตอนใต้ของยุโรปเช่นกัน
นอกไปจากหลักการใหญ่ ๔ ประการซึ่งที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาร่วมกันให้ความเห็นชอบแล้ว ยังมีการลงนามในสนธิสัญญาและบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและการทูตอีกหลายฉบับ เช่น สนธิสัญญาห้ามการค้าทาส สนธิสัญญาการค้า การส่งผู้ร้ายข้ามแดน การก่อตั้งกงสุลและการวางระเบียบปฏิบัติ รวมทั้งพิธีการว่าด้วยการลำดับอาวุโสทางการทูต กฎเกณฑ์ว่าด้วยสิทธิในการใช้แม่น้ำที่ไหลผ่านหลายประเทศและอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การแบ่งดินแดนและการจัดแผนที่ยุโรปตามความตกลงในสนธิสัญญาเวียนนาเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ก่อนหน้าการปราชัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ในยุทธการที่วอเตอร์ลูนั้นก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพของฝรั่งเศสมากนักแต่เมื่อประเทศมหาอำนาจมาประชุมกันที่กรุงเวียนนาอีกครั้งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษฝรั่งเศสด้วยการทำสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ (Second Treaty of Paris) เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๕ นั้น เงื่อนไขสันติภาพที่ประเทศมหาอำนาจกำหนดเป็นเงื่อนไขที่ฝรั่งเศสในฐานะผู้แพ้ไม่อาจต่อรองหรือเจรจาโต้แย้งได้ฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน ๗๐๐ ล้านฟรังก์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูกองทหารของมหาอำนาจพันธมิตรประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ นาย เป็นเวลา ๕ ปี กองทหารดังกล่าวจะเข้ายึดครองจุดยุทธศาสตร์สำคัญตามพรมแดนฝรั่งเศสและประจำการในภาคเหนือของฝรั่งเศสจนกว่าฝรั่งเศสจะชำระค่าปฏิกรรมสงครามตามเงื่อนไข อาณาเขตของประเทศถูกลดลงเหลือเท่ากับที่เคยมีอยู่ใน ค.ศ. ๑๗๙๐ ฝรั่งเศสต้องคืนดินแดนทั้งหมดที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงช่วงชิงมา และต้องส่งศิลปวัตถุที่กองทัพฝรั่งเศสยึดมาจากประเทศต่าง ๆ กลับคืนแก่เจ้าของเดิม สนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ ที่มีเงื่อนไขรุนแรงมากกว่าสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๑ ได้สร้างความอับอายและขมขื่นอย่างมากให้แก่ชาวฝรั่งเศสเพราะเป็นการหยามเกียรติและศักดิ์ศรีของประเทศและทำให้ฝรั่งเศสอยู่ในฐานะเสมือนหนึ่งผู้กระทำผิดที่ต้องถูกลงโทษ ชาวฝรั่งเศสจึงเจ็บแค้นและตั้งใจไว้ว่าจะต้องพยายามหาทางล้มล้างความอับอายดังกล่าวในวันใดวันหนึ่งให้จงได้ในอนาคต
ในวันเดียวกันกับที่มีการลงนามในสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ อังกฤษ รัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรียก็ได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคี (Quadruple Alliance)* ความตกลงดังกล่าวมาจากความคิดริเริ่มของอังกฤษซึ่งต้องการจะรักษาสันติภาพที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามนโปเลียนให้ยืนยาวถาวรสาระสำคัญของความตกลงคือมหาอำนาจพันธมิตรทั้งสี่สัญญาจะช่วยกันรักษาข้อตกลงต่าง ๆ ของสนธิสัญญาโชมง ค.ศ. ๑๘๑๔ สนธิสัญญาเวียนนา ค.ศ. ๑๘๑๕ และสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. ๑๘๑๕ เกี่ยวกับการแบ่งดินแดนและการป้องกันภัยคุกคามของฝรั่งเศสตลอดจนการบังคับให้ฝรั่งเศสปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาที่ได้กระทำร่วมกับนานาประเทศมหาอำนาจทั้งสี่สัญญาว่าจะร่วมกันปฏิบัติตามความตกลงที่กรุงเวียนนาเป็นระยะเวลา ๒๐ ปี แต่ความตกลงที่สำคัญที่สุดระบุไว้ในมาตรา ๖ ของความตกลงพันธไมตรีจตุรภาคีกล่าวคือ ประเทศภาคีสนธิสัญญาตกลงที่จะมาประชุมร่วมกันเป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่สนใจร่วมกันของประเทศภาคีสนธิสัญญาและกำหนดมาตรการที่จำเป็นในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อรักษาสันติภาพของยุโรป มาตรา ๖ ของความตกลงพันธไมตรีจตุรภาคีได้นำไปสู่ความร่วมมือแห่งยุโรป ระบบการประชุมใหญ่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๕–๑๘๒๕
ก่อนการลงนามในความตกลงพันธไมตรีจตุรภาคีซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ได้เสนอหลักการทางศาสนาและแนวความคิดเสรีนิยมเป็นกรอบในการดำเนินกิจกรรมระหว่างประเทศ โดยออกเป็นคำประกาศที่เรียกว่า พันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Alliance)* เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๘๑๕ พระองค์ทรงประสงค์ให้กษัตริย์และประมุขทุกพระองค์ในยุโรปใช้สายสัมพันธ์ทางคริสต์ศาสนาสร้างความรักความสามัคคีกันดุจพี่น้องชาวคริสต์ ยึดหลักความยุติธรรม ความโอบอ้อมอารี และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตลอดจนหลักสันติภาพเป็นหลักปฏิบัติต่อกัน แม้สาระสำคัญของพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์กำหนดบัญญัติว่าด้วยความยุติธรรม การกุศลทางคริสต์ศาสนาและสันติภาพแต่คำประกาศดังกล่าวมีความสับสนและคลุมเครือกษัตริย์และประมุขในภาคพื้นยุโรปเกือบทุกพระองค์ต่างลงนามรับรองพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์เพราะทรงเห็นว่าไม่มีข้อเสียหายและเกรงพระทัยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ส่วนพระเจ้าจอร์จที่ ๓ (George III ค.ศ. ๑๗๖๐–๑๘๒๐)* แห่งอังกฤษไม่ได้ลงพระนามด้วย เพราะทรงประชวรด้วยพระอาการสัญญาวิปลาสคาสเซิลเรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศวิจารณ์พันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระนอกจากนี้ สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันก็ไม่ได้ลงพระนามเพราะพระองค์ไม่ใช่ผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนา ส่วนสันตะปาปาทรงปฏิเสธด้วยข้ออ้างว่าพระองค์ทรงเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ดีอยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องได้รับการสั่งสอนในหลักคริสต์ศาสนาอีก
แม้จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ แห่งออสเตรียจะร่วมลงนามในประกาศพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ แต่เมทเทอร์นิชก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในประกาศดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นเอกสารที่ไร้สาระและเป็นเพียงโวหารที่ฟุ้งซ่าน เมทเทอร์นิชเห็นพ้องกับคาสเซิลเรว่าความตกลงพันธไมตรีจตุรภาคีเท่านั้นที่เป็นการผูกพันให้ประเทศมหาอำนาจให้ความร่วมมือกันรักษาสันติภาพของยุโรป อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร่วมลงนามในพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ล้วนเป็นกษัตริย์และประมุขของรัฐต่าง ๆ ที่พวกเสรีนิยมในเวลาต่อมาต่างพากันต่อต้านเพราะเห็นว่าเป็นการคบคิดกันที่ต้องการจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ข้ออ้างทางศาสนา พวกเสรีนิยมจึงล้อเลียนประกาศดังกล่าวโดยเรียกว่าเป็นพันธไมตรีที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ (Unholy Alliance) แต่โดยทั่วไปแล้วพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมีผลในทางปฏิบัติ
หลักการและความตกลงต่าง ๆ ของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจพันธมิตรดำเนินไปด้วยดีตลอดครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และทำให้ยุโรปปลอดพ้นจากสงครามใหญ่เป็นเวลาร่วม ๔๐ ปีทั้งทำให้ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๕–๑๘๔๘ ได้ชื่อว่าเป็น “ยุคของเมทเทอร์นิช” (Age of Metternich) เพราะเมทเทอร์นิชเป็นผู้กำหนดหลักการและแนวทางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความตกลงแห่งเวียนนาจึงเป็นข้อตกลงระหว่างชาติที่มีความสำคัญทัดเทียมกับข้อตกลงในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ค.ศ. ๑๖๔๘ ที่ยุติสงคราม ๓๐ ปี (Thirty Years’ War ค.ศ. ๑๖๑๘–๑๖๔๘) และข้อตกลงในสนธิสัญญายูเทรกต์ (Treaty of Utrecht) ค.ศ. ๑๗๑๔ ซึ่งยุติสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน (War of Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑–๑๗๑๓) ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการรักษาดุลอำนาจทางการเมืองทำให้ประเทศมหาอำนาจสามารถรักษาสันติภาพไว้ได้ ทั้งยังมีส่วนทำให้ประมุขของประเทศและรัฐบุรุษชั้นนำของยุโรปมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรู้จักกันเป็นการส่วนตัวด้วยระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๘–๑๘๒๕ ประเทศมหาอำนาจได้จัดการประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาแก้ไข “ปัญหาร่วม” ของยุโรปที่เป็นผลกระทบของความตกลงแห่งเวียนนาในดินแดนต่าง ๆ ของยุโรปรวม ๕ ครั้งด้วยกัน
การประชุมใหญ่แห่งแอกซ์-ลา-ชาแปล(Congress of Aix-la-Chapelle) ที่เมืองแอกซ์-ลา-ชาแปลหรืออาเคิน (Aachen) ในปรัสเซียในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๘ เป็นผลสืบเนื่องจากความตกลงของประเทศมหาอำนาจตามสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคี และเป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรกของประเทศมหาอำนาจเพื่อพิจารณาความตกลงเรื่องสถานภาพของฝรั่งเศส ผู้แทนประเทศมหาอำนาจทุกคนต้องการให้ฝรั่งเศสมีการปกครองที่ราบรื่นเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ในระหว่างการประชุมตาเลรองผู้แทนฝรั่งเศสได้แสดงความสามารถทางการทูต เพื่อชี้ให้เห็นว่าฝรั่งเศสได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ อย่างเคร่งครัดและจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามข้อผูกพัน คำชี้แจงของตาเลรองทำให้มหาอำนาจพันธมิตรเห็นใจและมีมติให้ถอนกองทัพพันธมิตรซึ่งได้ประจำการมาแล้ว ๓ ปี ออกจากภาคเหนือของฝรั่งเศสก่อนกำหนดซึ่งเดิมกำหนดเวลาการยึดครองไว้ ๕ ปี ที่ประชุมยังเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของยุโรปด้วยการให้ควบคุมดูแลจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ อย่างเข้มงวดที่เกาะเซนต์เฮเลนาต่อไป และคงมติยืนยันความตกลงของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาในการค้ำประกันสิทธิพลเมืองชาวเยอรมันเชื้อสายยิว นอกจากนี้ทั้ง ๔ ประเทศมหาอำนาจยังยอมรับให้ฝรั่งเศสมีฐานะเป็นประเทศมหาอำนาจเท่าเทียมตน และเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสร่วมลงนามเป็นพันธมิตรด้วย ก่อให้เกิดสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี (Quintuple Alliance)* ฝรั่งเศสจึงมีบทบาทและมีส่วนร่วมในความร่วมมือแห่งยุโรปด้วย
ระหว่างการประชุมครั้งนี้ ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงเรียกร้องให้ประมุขทุกพระองค์ร่วมมือกันตามคำประกาศพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยการส่งกองทัพไปช่วยสเปนปราบปรามอาณานิคมในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวเพื่อเป็นเอกราชจากสเปน พระองค์ยังเสนอให้มีการจัดตั้งกองทัพนานาชาติขึ้นด้วย แต่ก็ทรงประสบความล้มเหลวเพราะคาสเซิลเรซึ่งกังวลถึงผลประโยชน์ของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือต่อต้าน ส่วนเมทเทอร์นิชก็เห็นว่าการปฏิวัติของอาณานิคมสเปนไม่ได้กระทบกระเทือนต่อออสเตรีย เขาจึงสนับสนุนคาสเซิลเรยับยั้งซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ มิให้ทรงเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นและโน้มน้าวให้พระองค์มั่นพระทัยว่ามหาอำนาจยังคงเคารพต่อความตกลงระหว่างกันและมีความสามัคคีกลมเกลียวกันอยู่
ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ เกิดการปฏิวัติขึ้นในสเปนโดยกองทัพบกก่อการปฏิวัติบังคับพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๗ (Ferdinand VII ค.ศ. ๑๘๐๘, ๑๘๑๔–๑๘๓๓) ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๑๒ มาใช้ปกครองประเทศ พระองค์ทรงปฏิบัติตามและยอมลดฐานะของพระองค์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงทราบข่าวการปฏิวัติที่เกิดขึ้นพระองค์ทรงเกรงว่าหากการเคลื่อนไหวดังกล่าวแพร่หลายมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ซึ่งปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์จึงมีพระราชสารไปยังพระประมุขประเทศต่าง ๆ ให้มาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว และทรงเรียกร้องให้พระประมุขทั้งหลายไม่รับรองรัฐธรรมนูญของสเปน ถ้าหากจำเป็นก็ให้ส่งกองทัพไปปราบปรามฝ่ายปฏิวัติในสเปนซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงอ้างความผูกพันของมหาอำนาจพันธมิตรตามประกาศพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์และความตกลงในที่ประชุมใหญ่แห่งแอกซ์-ลา-ชาแปลซึ่งทุกประเทศสัญญาจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าว
อังกฤษไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เพราะถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น คาสเซิลเรจึงออกแถลงการณ์ (state paper) เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๐ ความว่าอังกฤษมีข้อผูกพันกับการประชุมเพื่อรักษาความตกลงการป้องกันเขตแดนในยุโรปให้เป็นไปตามสนธิสัญญาเวียนนาเป็นเวลา ๒๐ ปี และจะร่วมป้องกันจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ หรือราชวงศ์โบนาปาร์ตกลับไปปกครองฝรั่งเศสอีกการปฏิวัติสเปนเป็นเรื่องภายในประเทศที่ไม่เป็นภัยต่อประเทศอื่นอังกฤษไม่มีเหตุผลที่จะอนุมัติการส่งกองทัพไปปราบปรามพวกก่อการปฏิวัติ ทั้งเกรงว่าการเข้าแทรกแซงจะมีส่วนทำให้ดุลแห่งอำนาจถูกกระทบกระเทือน แต่แถลงการณ์ของอังกฤษก็ไม่สามารถยับยั้งมหาอำนาจอื่น ๆ ไม่ให้เข้าไปแทรกแซงและปราบปรามการปฏิวัติในประเทศต่างๆได้ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ นอกจากการปฏิวัติในสเปนแล้ว ยังเกิดการปฏิวัติเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญในโปรตุเกส ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย และเนเปิลส์ด้วย การปฏิวัติที่แผ่ขยายไปยังดินแดนส่วนอื่น ๆ ของยุโรปดังกล่าวทำให้ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงเรียกประชุมมหาอำนาจพันธมิตรด่วนเป็นครั้งที่๒ที่เมืองทรอพเพา (Troppau) ในแคว้นกาลิเซีย (Galicia)* ของออสเตรียในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๐ คาสเซิลเรประท้วงด้วยการไม่เข้าประชุมแต่อังกฤษก็ส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์
การประชุมใหญ่แห่งทรอพเพา (Congress of Troppau) ครั้งนี้ เมทเทอร์นิชสนับสนุนซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่๑ในการส่งกองทัพไปปราบปรามการปฏิวัติเนื่องจากเกรงว่าการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในปีดมอนต์และเนเปิลส์จะขยายตัวไปถึงแคว้นลอมบาร์ดีและวินีเชียที่ออสเตรียปกครองอยู่ เมทเทอร์นิชอ้างเหตุผลว่าสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีผูกมัดสมาชิกให้ใช้กำลังอาวุธเข้าแทรกแซงเพื่อทำการปฏิวัติภายในประเทศใดก็ได้หากที่ประชุมเห็นว่าการปฏิวัติดังกล่าวเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศภาคีคู่สัญญาประเทศใดประเทศหนึ่ง ระหว่างการประชุมเมทเทอร์นิชได้เสนอพิธีสารทรอพเพา (Protocol of Troppau) โดยอ้างว่าเมื่อประเทศใดก็ตามตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายปฏิวัติประเทศดังกล่าวจะหมดสภาพการเป็นภาคีสมาชิกของพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ มหาอำนาจพันธมิตรจึงมีพันธะหน้าที่บีบบังคับให้ประเทศเหล่านั้นกลับมาสู่ “อ้อมอกของพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์” อีกครั้งหนึ่งรัสเซียและปรัสเซียสนับสนุนหลักการของพิธีสารทรอพเพาและต่างยืนยันว่าทั้ง ๓ ประเทศมหาอำนาจไม่ยอมรับสิทธิของประชาชนที่จะกำจัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และจะร่วมกันทำสงครามต่อต้านการปฏิวัติในทุกแห่ง
ลอร์ดชาลส์ สจวร์ต [Charles Stewart ต่อมาคือ ชาลส์ วิลเลียม เวน มาร์ควิสที่ ๓ แห่งลอนดอนเดอร์รี (Charles William Vane, 3ʳᵈ Marquis of Londonderry)] ผู้แทนอังกฤษที่ร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์คัดค้านมติที่ประชุม รัฐบาลอังกฤษประกาศไม่ยอมรับพิธีสารทรอพเพา การประชุมที่ทรอพเพาจึงไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลื่อนไปประชุมที่เมืองไลบัค (Laibach) ในออสเตรีย ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๒๑ คาสเซิลเรได้มีบันทึกโดยย้ำนโยบายของอังกฤษในแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๐ ทั้งประกาศในรัฐสภาอังกฤษประณามหนังสือเวียนทรอพเพา (Troppau Circular) ซึ่งที่ประชุมแห่งทรอพเพาได้ส่งถวายแก่กษัตริย์ประเทศต่าง ๆ เพื่อทราบนั้นว่าเป็นการกระทำที่ขาดสามัญสำนึก
การประชุมใหญ่แห่งไลบัค (Congress of Laibach) เริ่มขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๒๑ รัสเซียยังคงยืนยันนโยบายที่จะปราบปรามการปฏิวัติและเมื่อกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง (Kingdom of the Two Sicilies) ทรงขอความช่วยเหลือในการปราบปรามการปฏิวัติ ที่ประชุมยกเว้นอังกฤษมีมติให้ออสเตรียส่งกองทัพปราบปรามการปฏิวัติในปีดมอนต์และเนเปิลส์เมทเทอร์นิชจึงส่งกองทัพ ๘๐,๐๐๐ คน ไปดำเนินการปราบปรามฝ่ายกบฏจนช่วยให้สถาบันกษัตริย์กลับมีอำนาจได้ดังเดิม อังกฤษพยายามคัดค้านอย่างมากต่อการแทรกแซงแต่ไร้ผล การประชุมครั้งนี้ได้นำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้นระหว่างอังกฤษกับประเทศพันธมิตรคือ ออสเตรีย รัสเซีย และปรัสเซีย ส่วนฝรั่งเศสยังคงสงวนท่าทีอยู่ ต่อมาเมื่อเกิดการกบฏในกรีซ ค.ศ. ๑๘๒๒ และข่าวสถานการณ์ในสเปนที่เลวร้ายลงตามลำดับ ประเทศมหาอำนาจจึงตกลงจะจัดการประชุมครั้งต่อไปในกลาง ค.ศ. ๑๘๒๒ ที่เมืองเวโรนา (Verona) ทางเหนือของคาบสมุทรอิตาลี
การประชุมใหญ่แห่งเวโรนา (Congress of Verona) ในเดือนตุลาคมค.ศ. ๑๘๒๒มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาปัญหาการก่อกบฏของกรีซต่อจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* และปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสเปน ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงประสงค์จะช่วยเหลือกรีซเพราะเป็นดินแดนที่ประชาชนนับถือศาสนาคริสต์ อีกทั้งตุรกีก็เป็นศัตรูของรัสเซียและเป็นดินแดนที่รัสเซียต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครองนอกจากนี้ยังทรงเห็นว่าการต่อสู้ของชาวกรีซเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราชและการหลุดพ้นจากอำนาจปกครองของพวกมุสลิม แต่ที่ประชุมกลับให้ความสนใจต่อสเปนเป็นเรื่องหลัก ก่อนการประชุมใหญ่ครั้งนี้จะเริ่มขึ้นคาสเซิลเรตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเดินทางไปร่วมประชุมที่เมืองเวโรนาด้วย แต่การที่เขาถูกโจมตีอย่างหนักจากรัฐสภาอังกฤษและประชาชนในความล้มเหลวที่ไม่อาจสกัดกั้นที่ประชุมใหญ่แห่งไลบัคเรื่องการส่งกองทัพออสเตรียไปปราบกบฏที่เนเปิลส์ รวมทั้งปัญหาส่วนตัวและการที่รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนพระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV ค.ศ. ๑๘๒๐–๑๘๓๐)* กษัตริย์พระองค์ใหม่ให้ทรงหย่าขาดจากพระนางแคโรลีน (Caroline)* ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ ทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นใจและเข้าข้างพระนาง ก่อให้เกิดเหตุการณ์เรื่องแคโรลีน (Caroline Affair)* ก็มีผลให้คาสเซิลเรเป็นโรคเครียดจนก่ออัตวินิบาตกรรมในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๗ จอร์จ แคนนิง (George Canning)* ได้สืบทอดตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ของอังกฤษและเขาได้ส่งดุ๊กแห่งเวลลิงตันวีรบุรุษแห่งยุทธการวอเตอร์ลูไปร่วมประชุม
รัสเซียและออสเตรียสนับสนุนให้ฝรั่งเศสส่งกองทัพไปปราบปรามพวกปฏิวัติในสเปนรัฐบาลฝรั่งเศสตอบรับหน้าที่ดังกล่าวทันทีเพราะเห็นเป็นโอกาสที่จะกอบกู้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ ดุ๊กแห่งเวลลิงตันคัดค้านการส่งกำลังทหารของฝรั่งเศสจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คน เข้าไปในสเปนและแจ้งนโยบายของอังกฤษที่จะไม่แทรกแซงการเมืองภายในประเทศอื่นตลอดจนการต่อต้านประเทศมหาอำนาจที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขบวนการเสรีนิยมและชาตินิยมในประเทศอื่น ๆ ด้วย ต่อมาในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ดุ๊กแห่งเวลลิงตันแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงความเห็นที่แคนนิงส่งมาจากอังกฤษว่าแม้อังกฤษไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติแต่อังกฤษก็ยืนยันอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับสิทธิของแต่ละประเทศในการจัดตั้งการปกครองระบอบใดก็ตามที่เห็นว่าดีที่สุด และควรปล่อยให้ประเทศเหล่านั้นมีเสรีภาพที่จะจัดการกับกิจการของตนเองตราบเท่าที่ประเทศเหล่านั้นปล่อยให้ประเทศอื่น ๆ จัดการเรื่องของตนเอง จากนั้นดุ๊กแห่งเวลลิงตันก็ถอนตัวออกจากการประชุม ต่อมาอังกฤษก็ปฏิเสธที่จะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุมอีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพฝรั่งเศสสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติในสเปนได้สำเร็จและถวายอำนาจคืนแก่จักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่๗อังกฤษเกิดความกังวลว่ามหาอำนาจพันธมิตรจะไม่หยุดยั้งการเข้าแทรกแซงในสเปนเท่านั้นอาจมอบหมายให้ประเทศใดประเทศหนึ่งไปช่วยสเปนปราบอาณานิคมในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชได้ หากเกิดกรณีดังกล่าว ผลประโยชน์ทางการค้าของอังกฤษในทวีปอเมริกาจะได้รับการกระทบกระเทือน แคนนิงจึงติดต่อกับสหรัฐอเมริกาและสนับสนุนสหรัฐอเมริกาให้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สอดคล้องกับวิเทโศบายของอังกฤษ ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (James Monroe)แห่งสหรัฐอเมริกาจึงประกาศหลักการมอนโร (Monroe Doctrine) เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๒๓ ซึ่งมีสาระสำคัญต่อต้านการขยายอำนาจของมหาอำนาจยุโรปในดินแดนอเมริกาและค้ำประกันความเป็นเอกราชของรัฐเอกราชใหม่ต่าง ๆ ในลาตินอเมริกา หลักการมอนโรมีส่วนสกัดกั้นการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจยุโรปในการช่วยสเปนปราบกบฏในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจึงสอดคล้องกับอังกฤษในการจะสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระ
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๒๓ กษัตริย์สเปนซึ่งเสด็จกลับมาครองราชย์ได้ทรงขอให้ประเทศมหาอำนาจพันธมิตรจัดการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการปราบปรามอาณานิคมที่แยกตัวเป็นอิสระในทวีปอเมริกา แคนนิงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการประชุมและในการประชุมที่มีขึ้นทั้ง ๔ ประเทศมหาอำนาจมีมติไม่ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับอาณานิคมเก่าของสเปนเนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อหลักการมอนโรของสหรัฐอเมริกา
การประชุมใหญ่แห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Congress of St. Petersburg) ในรัสเซียเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๒๔ เป็นการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายของประเทศมหาอำนาจพันธมิตร วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการพิจารณาเรื่องสงครามอิสรภาพกรีก (Greek War of Independence)* ซึ่งต้องการแยกตัวออกจากการปกครองของตุรกีและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่๑ทรงสนับสนุนให้ส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลือกรีซ แต่เมทเทอร์นิชไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้รัสเซียขยายอำนาจเข้าไปในคาบสมุทรบอลข่านอังกฤษแม้จะไม่เข้าร่วมประชุมด้วยก็แสดงความเห็นคัดค้านเนื่องจากหากรัสเซียมีชัยชนะต่อตุรกี ผลประโยชน์ของอังกฤษในอินเดียจะถูกกระทบกระเทือน การประชุมครั้งนี้ไม่มีข้อสรุปใด ๆ เพราะประเทศมหาอำนาจต่างมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันและไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใด ๆ ได้ หลังการประชุมใหญ่ครั้งนี้ประเทศมหาอำนาจก็ไม่ได้จัดการประชุมใหญ่อีกซึ่งส่งผลให้ความร่วมมือแห่งยุโรปต้องสิ้นสุดลงโดยปริยาย
ใน ค.ศ. ๑๘๒๔ พระเจ้าจอห์นที่ ๖ (John VI ค.ศ. ๑๘๑๖–๑๘๒๖) แห่งโปรตุเกสซึ่งสูญเสียราชบัลลังก์ให้แก่พระมเหสีกับพระอนุชาที่ทรงร่วมมือกันก่อการปฏิวัติรัฐประหารจนต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับที่บราซิลแต่เมื่อกองทัพก่อการปฏิวัติซ้อนและทูลเชิญพระองค์กลับมาปกครองประเทศ ทรงขอความช่วยเหลือจากอังกฤษเพื่อฟื้นฟูพระราชอำนาจ พระเจ้าจอห์นทรงเป็นกษัตริย์เสรีนิยมและสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตย พระองค์พระราชทานรัฐธรรมนูญและปัญญาชนเสรีนิยมต่างสนับสนุนพระองค์ อังกฤษซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตอันยาวนานกับโปรตุเกสตระหนักว่าหากไม่สนับสนุนพระองค์ฝรั่งเศสอาจเข้าแทรกแซงเพื่อสนับสนุนพระอนุชาซึ่งนิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อังกฤษจึงส่งกองทัพเรือไปช่วยพระเจ้าจอห์นให้กลับสู่พระราชอำนาจดังเดิมการแทรกแซงของอังกฤษครั้งนี้ แคนนิงให้เหตุผลว่าเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่ถูกคุกคามซึ่งแตกต่างจากการก่อการปฏิวัติภายในเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง การสนับสนุนของอังกฤษจึงมีส่วนทำให้ระบอบประชาธิปไตยของโปรตุเกสค่อยพัฒนาเติบโตจนมีความมั่นคงขึ้นและหลัง ค.ศ. ๑๘๕๑ เป็นต้นมา ระบอบรัฐสภาก็มีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง
ความร่วมมือแห่งยุโรปหรือระบบการประชุมใหญ่ที่ยุติลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศมหาอำนาจพันธมิตร ทั้ง ๔ ประเทศโดยเฉพาะรัสเซียออสเตรียและปรัสเซียต่างดำเนินนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นมากเกินขอบเขตและมีจุดมุ่งหมายที่จะขัดขวางการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปทางการเมืองตามแนวความคิดเสรีนิยม ในการประชุมที่มีขึ้นอังกฤษคาดการณ์ว่าประเทศพันธมิตรที่ปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มักร่วมลงมติสนับสนุนซึ่งกันและกัน อังกฤษจึงอาจแพ้คะแนนเสียงในการลงมติเรื่องสำคัญๆอังกฤษยังเห็นว่าประเทศพันธมิตรตีความข้อตกลงในสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีแตกต่างจากตนซึ่งทำให้การกำหนดนโยบายต่างประเทศแตกต่างกันด้วย นอกจากนี้หลัง ค.ศ. ๑๘๒๐ เป็นต้นมา ระบบการประชุมใหญ่เป็นเสมือนการประชุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจ ทั้งประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีสิทธิส่งผู้แทนของตนเข้าไปประชุมด้วย การที่อังกฤษแยกตนออกจากการเมืองในภาคพื้นทวีปยุโรปโดยหันไปดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือนโยบายอยู่โดดเดี่ยวอย่างงามสง่า (Splendid Isolation)* ยังมีส่วนทำให้แต่ละประเทศต่างดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ตนเห็นสมควรและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนความร่วมมือของยุโรปหรือระบบการประชุมใหญ่จึงหมดความหมายและความสำคัญลงในที่สุดและสิ้นสุดลงเมื่อมหาอำนาจยุโรปก่อสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓–๑๘๕๖)* ที่ดึงเอามหาอำนาจเกือบทั้งหมดยกเว้นออสเตรียเข้าสู่สงครามกัน
อย่างไรก็ตาม นักการทูตของประเทศต่าง ๆ ในเวลาต่อมาต่างเห็นประโยชน์จากการประชุมระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยสันติวิธี และเพื่อความร่วมมือกันรักษาและเสริมสร้างสันติภาพตามหลักการของความร่วมมือแห่งยุโรปหรือระบบการประชุมใหญ่ในการจัดประชุมปรึกษาหารือเพื่อชี้แจงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาร่วมกัน การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทุกประเทศต่างนำมาใช้กันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา เช่น ในการประชุมที่กรุงเฮก (The Hague Conference)* ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ เพื่อหารือกำหนดแนวทางระงับความขัดแย้งระหว่างประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกไม่ให้บานปลายเป็นสงครามใหญ่ ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตการณ์สงครามบอลข่าน (Balkan War)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ อังกฤษซึ่งเคยเห็นประโยชน์ของระบบการประชุมใหญ่อยู่แล้วจึงเรียกประชุมเอกอัครราชทูตของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมปรึกษาหารือกันแก้ไขวิกฤตการณ์จนคู่กรณียอมเจรจาทำสัญญาสงบศึกนอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ และระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๕)* นานาประเทศยังร่วมจัดการประชุมหารือกันหลายครั้งเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและการจะสร้างสันติภาพที่ถาวรซึ่งการประชุมดังกล่าวได้ไปนำสู่การจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศในเวลาต่อมาคือ องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* และองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ตามลำดับ.