Victorian Culture (-)

วัฒนธรรมวิกตอเรีย (-)

วัฒนธรรมวิกตอเรียเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนชั้นกลางชาวอังกฤษที่นำความเจริญรุ่งเรืองให้แก่อังกฤษในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑)* แห่งราชวงศ์แฮโนเวอร์ (Hanover)* หรืออังกฤษสมัยวิกตอเรีย (Victorian England) มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมเมือง (urban culture) โดยชนชั้นกลางระดับสูง (upper middle class) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจสังคมและศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม คุณธรรมและการประพฤติปฏิบัติของพวกเขาได้กลายเป็นมาตรฐานในการกำหนดวิถีชีวิตของชนชั้นกลางในด้านต่าง ๆ รวมทั้งบทบาทของสตรีและมีอิทธิพลต่อสังคมอังกฤษโดยรวมนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของแนวคิดแบบเหตุผลนิยม (rationalism) ของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗–๑๘ ที่กำหนดการอธิบายเหตุผลอย่างตายตัวไปสู่แนวคิดแบบจินตนิยม (romanticism) ที่ต่อต้านคตินิยมและทรรศนะดั้งเดิมซึ่งเป็นแบบแผนที่ยึดถือปฏิบัติกันมา วัฒนธรรมวิกตอเรียได้แพร่หลายไปยังนานาประเทศทั้งในยุโรปและส่วนต่างๆของโลกและกลายเป็นแนวคิดและหลักปฏิบัติของชนชั้นกลาง รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเมืองอย่างแยกกันไม่ออกอีกด้วย

 หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ที่เกิดขึ้นในอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และขยายตัวไปทั่วยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ชนชั้นกลางได้กลายเป็นพลังที่สำคัญพัฒนาการในด้านต่างๆทั้งในการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์รวมทั้งการสาธารณสุขและสุขอนามัย ทำให้ประชากรเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิด “การระเบิดทางประชากร” (population explosion) อังกฤษมีอัตราประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็วที่สุดเกือบ ๔ เท่าตัวในรอบศตวรรษ จากจำนวน ๙ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๘๐๐ เป็น ๓๒.๕ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ก่อให้เกิดจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างมากจนชนชั้นกลางมีบทบาทสำคัญในด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ หลังร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill ค.ศ. ๑๘๓๒)* ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ชนชั้นกลางระดับสูงก็มีบทบาทร่วมกับชนชั้นขุนนางในการผูกขาดอำนาจทางการเมือง ควบคุมการศึกษาและการเงิน นิทรรศการครั้งใหญ่ (Great Exhibition) ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๘๕๑ก็เป็นประจักษ์พยานของความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของพวกเขา

 โดยทั่วไปชนชั้นกลางระดับสูงซึ่งได้แก่พวกนักอุตสาหกรรม นายธนาคาร นักธุรกิจ และพ่อค้าที่มั่งคั่ง คือตัวแทนของชนชั้นกลางในการเป็นผู้นำและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และต่างก็มีวิถีชีวิตเช่นเดียวกับชนชั้นขุนนาง แต่แตกต่างกันในเรื่องชาติตระกูล กล่าวคือ ชนชั้นขุนนางสืบเชื้อสายกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานและตระกูลก็ถือครองที่ดินเกษตรจำนวนมาก ส่วนชนชั้นกลางระดับสูงเป็นเศรษฐีใหม่หรือพวกผู้ดีใหม่ เป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีจำนวนน้อยที่สุดส่วนชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากที่สุดคือชนชั้นกลางระดับล่าง (lower middle class) ได้แก่ บรรดาช่างฝีมือนายทุนรายย่อยเจ้าของร้านค้า และคนทำงานตามบ้าน (domestic servant) ซึ่งเป็น “ผู้ให้บริการ” แก่ชนชั้นขุนนางและชนชั้นกลางระดับสูงในเมืองใหญ่ ๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้มีการจัดกลุ่มชนชั้นกลางอีกระดับหนึ่งเรียกว่า ชนชั้นกลางระดับกลาง (middle middleclass)ได้แก่กลุ่มปัญญาชนอาจารย์นักศึกษา แพทย์ทนายความและศิลปินซึ่งชนชั้นกลางดังกล่าวนี้ต่างยึดมั่นในค่านิยม คุณธรรม กิริยามารยาท และรสนิยมที่มีแบบแผนร่วมกัน

 อย่างไรก็ดี มาตรฐานของวัฒนธรรมชนชั้นกลางมีจุดเริ่มต้นก่อนหน้านี้หลายศตวรรษแล้ว แต่เด่นชัดในอังกฤษสมัยวิกตอเรีย ชนชั้นกลางชาวอังกฤษได้ยึดถือการมีระเบียบวินัย ความประหยัด การมีวิริยะอุตสาหะ ความสง่างาม ความมีเมตตา การหลีกเลี่ยงกิเลสตัณหาต่าง ๆ รวมทั้ง “การไม่คบหากับคนไม่ดี” (bad company) เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน งานเขียนเรื่อง Robinson Crusoe ของดาเนียล เดโฟ (Daniel Defoe) ใน ค.ศ. ๑๗๑๙ ก็สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมของชนชั้นกลางในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ แม้ขณะที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดในเกาะร้างที่โดดเดี่ยว แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า “คนดี” ควรมีลักษณะใสสะอาดจากภายใน (inner purity) และควรมีพฤติกรรมอย่างไรในขณะที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากและการตัดสินใจ แนวคิดและคุณธรรมดังกล่าวนี้รวมทั้งการวางรูปแบบของการเข้าสังคม กิริยามารยาทและรสนิยม ตลอดจนค่านิยมที่ให้มีครอบครัวใหญ่ตามพระจริยวัตรของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมกัน๙พระองค์ความรักในอิสระเสรีภาพและการให้ความสำคัญแก่สิทธิของปัจเจกบุคคล จึงทำให้ชนชั้นกลางของอังกฤษกลายเป็นผู้ส่งผ่านความคิดและค่านิยมตลอดจนรูปแบบของพฤติกรรมที่เรียกว่าวัฒนธรรมวิกตอเรียให้แก่ชนชั้นกลางในนานาประเทศรวมทั้งในดินแดนที่ยังมีลักษณะชนบทด้วย

 แม้ในระยะต้น ๆ ชนชั้นกลางจะพึงพอใจต่อแนวทางในการประพฤติปฏิบัติและฐานะความเป็นอยู่ของพวกเขา และจำนวนไม่น้อยก็ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า เพราะเห็นว่าความยากจนเป็นผลจากการถูกลงโทษในความเกียจคร้านหรือความเสื่อมถอยในศีลธรรมจรรยาตามแนวคิดของพวกโปรเตสแตนต์ แต่ในเวลาไม่นานนัก พวกเขาเริ่มสำนึกที่จะปฏิรูปสังคมและให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าได้มีโอกาสแบ่งปันผลประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงนับเป็นเรื่องแปลกในประวัติศาสตร์ที่จะเห็นชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่ง (รวมทั้งในอีกหลายประเทศที่มีชนชั้นกลางก้าวขึ้นมามีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง) จนถึงกึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่มีความมั่นคงในอำนาจ แต่ไม่คิดที่จะใช้อำนาจเพื่อให้พวกพ้องของตนมีอำนาจมากยิ่งขึ้น เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ที่พวกชนชั้นกลางซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในสภาสามัญ (House of Commons) ได้ผลักดันให้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาครั้งใหญ่ (ค.ศ. ๑๘๓๒) ได้สำเร็จ ทำให้มีการลดข้อจำกัดของจำนวนทรัพย์สินของผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง ปรับปรุงเขตเลือกตั้งและจำนวนผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้งต่าง ๆ ให้เหมาะกับภาวการณ์ในขณะนั้น ทำให้ชนชั้นกลางโดยทั่วไปมีบทบาทในรัฐสภามากขึ้น นอกจากนี้ ในทศวรรษเดียวกันนี้ ก็มีการออกพระราชบัญญัติโรงงาน (Factory Acts)* อีกหลายฉบับเพื่อช่วยให้แรงงานโดยเฉพาะเด็กและสตรีไม่ให้ถูกเอาเปรียบ และให้มีสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนงานตลอดจนการออกพระราชบัญญัติโรงงานก็ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องจนสิ้นศตวรรษ นอกจากนี้ ชนชั้นกลางและวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่นี้ยังเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้อังกฤษยกเลิกการค้าทาสที่มีการต่อต้านกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับแต่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔–๑๘๑๕)* และประสบความสำเร็จเมื่อรัฐสภาอังกฤษได้ประกาศกฎหมายห้ามค้าทาสในจักรวรรดิอังกฤษอย่างสิ้นเชิงใน ค.ศ. ๑๘๓๘ นับว่าชนชั้นกลางในอังกฤษเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความเสมอภาค ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของอังกฤษก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในทวีปยุโรปในระยะเวลาเดียวกัน ทั้งนักการเมืองคนสำคัญของอังกฤษที่ได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษต่างก็มีชาติกำเนิดมาจากชนชั้นกลาง เช่น วิลเลียม อีวาร์ตแกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* เบนจามิน ดิสเรลี เอิร์ลที่ ๑ แห่งบีคอนส์ฟิลด์ (Benjamin Disraeli 1ˢᵗ Earl of Beaconsfield)*

 ขณะเดียวกัน ค่านิยมในสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ครอบครัวซึ่งแต่เดิมเคยมีบทบาทในฐานะเป็นหน่วยเศรษฐกิจ (economic unit) ที่สมาชิกร่วมกันประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจร่วมกัน เช่น ธุรกิจธนาคาร การค้าและการประกอบอาชีพช่างฝีมือ ก็ต้องเริ่มปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันในระบบทุนนิยมด้วย การแบ่งงาน (division of labor) การแยกกรรมสิทธิ์ (separation of ownership) การจัดการ (management) และลักษณะการทำงานที่ใช้มือ (manual work) แทนแรงกายที่เกิดขึ้นในสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ความผูกพันระหว่างครอบครัวในฐานะหน่วยเศรษฐกิจเริ่มสั่นคลอน ท้ายที่สุดก็แปรสภาพความสำคัญเป็นหน่วยวัฒนธรรม (cultural unit) ที่สมาชิกผูกพันกันในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและโลกของวรรณกรรมและหนังสือ

 การเปลี่ยนแปลงที่สร้างวัฒนธรรมใหม่ในครอบครัวชนชั้นกลางและชนชั้นอื่น ๆ ในอังกฤษ ได้แก่ การเฉลิมฉลองวันคริสตสมภพหรือคริสต์มาส (Christmas – ๒๕ ธันวาคม) ซึ่งแต่เดิมเป็นกิจกรรมทางศาสนาและวันหยุดทางศาสนาแต่เพียงอย่างเดียวในช่วงหลังการปฏิรูปศาสนา (Reformation ค.ศ. ๑๕๑๗) ในดินแดนเยอรมันที่พวกโปรเตสแตนต์ปฏิเสธบทบาทของศาสนจักร การเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสจึงกระทำกันที่บ้าน มีการประดับต้นคริสต์มาส การรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับญาติและการแลกเปลี่ยนของขวัญกัน ประเพณีดังกล่าวนี้ได้เริ่มเป็นที่รู้จักกันในอังกฤษเมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ต (Albert) พระราชสวามีชาวเยอรมันในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงนำกิจกรรมฉลองวันคริสต์มาสที่กระทำกันในหมู่สมาชิกครอบครัวเยอรมันมาเผยแพร่ในราชสำนักอังกฤษ จากนั้นก็เริ่มแพร่หลายไปทั่วอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น A Christmas Carol ผลงานประพันธ์ของชาลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) นักประพันธ์คนโปรดที่สุดของชนชั้นกลางที่เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๘๔๓ ก็มีส่วนช่วยทำให้การฉลองวันคริสต์มาสกับครอบครัวที่บ้านเป็นกิจกรรมที่ทุกคนนิยม สร้างจิตวิญญาณของเทศกาลคริสต์มาสให้แก่คริสต์ศาสนิกชนโดยเฉพาะในประเทศที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งต่อมาก็แพร่หลายเข้าไปในหมู่ชาวคาทอลิกด้วย

 นอกจากนี้ วัฒนธรรมวิกตอเรียยังก่อให้เกิดกิจกรรมในด้านการอ่านหนังสืออีกด้วย โดยสตรีชาวอังกฤษในครอบครัวชนชั้นกลางจะถูกฝึกให้อ่านออกเสียง และถือว่าการอ่านออกเสียงงานวรรณกรรมและโคลงกลอนเป็นสิ่งให้ความบันเทิงที่สำคัญในครอบครัวซึ่งในขณะนั้นวิทยุและโทรทัศน์ยังไม่มี ห้องหนังสือหรือหิ้งหนังสือในห้องรับแขกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่แต่ละบ้านจะแข่งขันกันจัดวางหนังสือเพื่อแสดงให้เห็นถึงความใฝ่รู้ของเจ้าของบ้าน ซึ่งถือเป็นค่านิยมของชนชั้นกลางและวัฒนธรรมใหม่ วรรณกรรมและโคลงกลอนที่นำมาอ่านออกเสียงกันในครอบครัวก็ต้องเลือกสรรและต้องไม่มีเนื้อหาที่หย่อนศีลธรรมและจะ “บาดหู” เด็กไม่ได้ แม้แต่ผลงานต้นฉบับของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) นักเขียนบทละครและกวีที่เรืองนามของอังกฤษสมัยเอลิซาเบท (Elizabethan England) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ยังถูกดัดแปลงเพื่อไม่ให้ขัดกับศีลธรรม คุณธรรม และวัฒนธรรม ทั้งยังต้องขัดเกลาสำนวนเพื่อไม่ให้มีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม โดยมี ทอมัส โบวด์เลอร์ (Thomas Bowdler) เป็นผู้บุกเบิกใน ค.ศ. ๑๘๑๘ เกิดผลงานแก้ไขของเชกสเปียร์ที่เรียกว่าเชกสเปียร์ฉบับครอบครัว (Family Shakespeare) ขึ้นและต่อมาก็ได้เกิดการบรรณาธิกรเนื้อหาหนังสือเก่าและในระยะหลังเรียกวิธีนี้ว่า “bowdlerize”

 อย่างไรก็ดี งานเขียนนวนิยายก็มีส่วนเสริมสร้างวัฒนธรรมวิกตอเรียให้แข็งแกร่ง ชนชั้นกลางเป็นนักอ่านที่ใช้เวลาเพลิดเพลินกับนวนิยายมากที่สุด แม้งานเขียนนวนิยายจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่การเสนอภาพของความเป็นจริงตามแนวสัจนิยม (Realism) ที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันและกับสังคม ตลอดจนการชี้ให้เห็นสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนจากชนบทมาอยู่ในเมืองใหญ่ ระบบอุตสาหกรรมและการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นกลางและอื่น ๆ ก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้อ่านได้มาก กอปรกับขนาดความหนาของหนังสือซึ่งนิยมเขียนกันในขณะนั้นที่ต้องการผู้อ่านและผู้ฟังที่มีเวลาว่างที่จะดื่มด่ำกับอรรถรสได้ กลุ่มสตรีชนชั้นกลางระดับสูงจึงเป็นนักอ่านนวนิยายที่สำคัญและมีจำนวนมากด้วยซึ่งทำให้วัฒนธรรมวิกตอเรียในการเขียนและการอ่านนวนิยายแพร่หลาย การรับรู้เนื้อหาในนวนิยายแนวสัจนิยมและการถ่ายทอดก็ช่วยขยายการรับรู้และสร้างจิตสำนึกให้แก่ทั้งผู้อ่านและผู้ฟังได้รู้ถึงชีวิตของผู้คนที่อยู่นอกวงสังคมของตนและมีฐานะต่ำกว่า ซึ่งสมาชิกของครอบครัวแทบไม่มีโอกาสที่จะสัมผัสและรู้จักเป็นส่วนตัวได้ การรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านงานนวนิยายเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะนวนิยายของชาลส์ ดิกเกนส์ เช่น Oliver Twist เกี่ยวกับชีวิตของเด็กกำพร้าที่มีชีวิตยากลำบาก หรือ Hard Times ว่าด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร และการละเลยของรัฐที่จะดูแลสวัสดิภาพการทำงานของกรรมกร นวนิยายเหล่านี้จึงมีส่วนกระตุ้นให้ชนชั้นกลางที่ยึดมั่นในคุณธรรมและความยุติธรรมเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคม จนในที่สุดรัฐบาลอังกฤษก็ดำเนินการแก้ไขและออกกฎหมายต่าง ๆ ที่ให้ความเสมอภาคและช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้

 ลักษณะเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของวัฒนธรรมวิกตอเรียได้แก่เรื่องเพศ เรื่องเพศเป็น “สิ่งต้องห้าม” (taboo) ที่แม้แต่สามีกับภรรยาก็ไม่สามารถพูดจากันได้ ความรักระหว่างสามีกับภรรยาต้องเป็นเพียงความใสสะอาดจากภายในเท่านั้น โดยไม่มุ่งความรักที่แทรกอารมณ์ทางเพศซึ่งถือว่ามีสิ่งสกปรกเจือปน การสำส่อนทางเพศเป็นสิ่งน่าอับอายที่จะนำความวิบัติมาสู่ครอบครัวได้การคบชู้การหย่าร้างและการมีบุตรนอกสมรส ล้วนแต่เป็นโศกนาฏกรรมทางสังคมที่จะไม่เพียงสร้างความมัวหมองและความหายนะมาสู่บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น แต่มีผลต่อชื่อเสียงของสมาชิกทุกคนของตระกูล และเป็นเรื่องน่าอับอายต่อสังคมโดยรวม ดังนั้น ชนชั้นกลางจึงตั้งกฎเกณฑ์และมาตรฐานสูงมากในเรื่องเพศและมากกว่าชนชั้นขุนนางและชนชั้นล่าง การประพฤติผิดในเรื่องเพศจึงมีบทลงโทษทั้งในส่วนของครอบครัวและของสังคมอย่างรุนแรงได้แก่การขับไล่ออกจากบ้านตัดญาติขาดมิตร ตัดสิทธิการเป็นทายาท และการคว่ำบาตรทางสังคม (social ostracism) (ในประเทศฝรั่งเศสกฎหมายไม่เอาผิดสามีที่สังหารภรรยาที่ถูกจับได้ว่าคบชู้) ชนชั้นกลางเห็นว่าแนวประพฤติปฏิบัติในเรื่องเพศของพวกเขาดังกล่าวเป็นข้อพิสูจน์ถึงศักดิ์ศรีคุณธรรม และความน่านับถือที่เหนือกว่าชนชั้นขุนนางและชนชั้นล่างของสังคมพวกเขายอมออมชอมเกี่ยวกับเรื่องเพศว่าเป็นเพียงวิธีการเดียวที่จะสร้างทายาทให้แก่ครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวหรือข้อแม้ที่พวกเขายอมให้เกิดขึ้นได้เท่านั้น ส่วนสตรีเองก็ไม่มีความรู้ในเรื่องเพศเลย และแทบไม่รู้จักระบบสรีระร่างกายของตนเอง การรับรู้เรื่องเพศจึงมีข้อจำกัดอย่างมากในครอบครัวเท่าที่ศีลธรรมของชนชั้นกลางจะอนุญาตให้เปิดเผยได้เท่านั้น แม้แต่การใช้คำศัพท์บางคำที่เป็นคำพูดสามัญทั่วไปที่เกี่ยวกับสรีระหรือพฤติกรรมบางอย่างก็ถูกพิจารณาว่าไม่สุภาพและต้องหาคำสุภาพมาใช้แทน เช่น ใช้คำว่า limbs แทน leg (ขา) white meat แทน breast (เนื้ออกไก่) dark meat แทน leg (น่องไก่) และ serviette ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสแทน napkin (ผ้าเช็ดปาก) ซึ่ง nap หมายถึงนอนเล่นหรืองีบหลับ เป็นต้น แม้แต่ The British Medical Journal ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ยังให้ความสำคัญในการตอบคำถามเกี่ยวกับการมีประจำเดือนในวารสาร ค.ศ. ๑๘๗๘ ติดต่อกันเป็นระยะเวลาถึง ๖ เดือนว่าการสัมผัสเนื้อหมูแฮมของสตรีที่มีประจำเดือนจะทำให้หมูแฮมเสียได้หรือไม่

 อย่างไรก็ดี ในอีกแง่มุมหนึ่งของทัศนคติเรื่องเพศสำหรับผู้ชายกลับกลายเป็นเรื่องแสแสร้ง (hypocrisy) ผู้ชายชนชั้นกลางซึ่งมิอาจอดกลั้นความต้องการในเรื่องเพศหรือขาดความสุขทางเพศกับภรรยาที่ไม่ประสีประสาจึงมักดำเนินชีวิตที่ซ่อนเร้นอีกแบบหนึ่งโดยการแสวงหาความสุขจากผู้หญิงชนชั้นล่างที่เป็นสาวใช้หรือกับโสเภณีสังคมก็ยอมรับพฤติกรรมดังกล่าวด้วย เพราะเห็นว่าเป็นวิธีการที่จะปกป้องรักษาชีวิตครอบครัวไม่ให้ประสบความหายนะได้ ดังนั้น ขณะที่วัฒนธรรมวิกตอเรียเน้นในเรื่องความรักที่มาจากความใสสะอาดจากภายในโดยไม่มีเรื่องเพศมาเจือปนจำนวนโสเภณีตามเมืองใหญ่ ๆ กลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจตามสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ และโดยเฉพาะจำนวนทารกนอกสมรสที่เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว ประมาณว่าใน ค.ศ. ๑๘๕๑ อังกฤษมีทารกนอกสมรสจำนวน ๔๒,๐๐๐ คน เกิดจากสตรีโสดจำนวน ๑ ใน ๑๒ คน


การแสแสร้งทางเพศมักเกิดขึ้นกับชายชนชั้นกลางระดับสูงเท่านั้น ส่วนสตรีสามารถประคองตัวตามครรลองและกฎเกณฑ์ของชนชั้นและสังคมไว้ได้อย่างไรก็ดี มาตรฐานเชิงซ้อน (double standard) ดังกล่าวก็ได้สร้างความกดดันแก่สตรีชนชั้นกลางระดับสูงอย่างมาก ในช่วงทศวรรษ ๑๘๘๐ จิตแพทย์ได้พบสาเหตุของความกดดันทางอารมณ์ที่มีต่อสตรี เช่น โรคประสาทหลอนและการแสดงอารมณ์อย่างรุนแรง (hysteria) ของพวกเธอจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการยอมรับในเรื่องพฤติกรรมทางเพศ และการสร้างทัศนคติทางเพศในชีวิตสมรสขึ้นใหม่ที่ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องของธรรมชาติมากขึ้น

 ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ บทบาทของสตรีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและอาจถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ในต้นสมัยวิกตอเรียในครอบครัวของสตรีชนชั้นกลางระดับสูงเด็กผู้หญิงจะถูกเลี้ยงดูให้รู้จักหน้าที่ของกุลสตรี การเย็บปักถักร้อยการเข้าสังคม การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ วิธีการสนทนา ตลอดจนกิริยามารยาทและการวางตัวอย่างสง่างามทุกย่างก้าวทั้งในการใช้ชีวิตปรกติและในวงสังคม รวมถึงการสร้างความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ นับแต่การอ่านออกเสียง การเต้นรำ ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี โดยเฉพาะเปียโน พวกเธอมีพี่เลี้ยง (chaperone) ดูแลอย่างใกล้ชิด และไม่สามารถอยู่ตามลำพังกับชายหนุ่มหรือเดินทางคนเดียวโดยปราศจากพี่เลี้ยง จุดมุ่งหมายในชีวิตของพวกเธอคือการแต่งงานกับชายหนุ่มที่มีชาติตระกูลทัดเทียมกัน หลังจากมีครอบครัว สตรีจะเข้าสู่ชีวิตของคุณผู้หญิงของบ้านที่มีหน้าที่ดูแลสามีและบุตรที่จะเกิดตามมาให้ได้รับความสุขสบาย และปกครองคนรับใช้ในบ้าน ทำให้บ้านเป็นเสมือนสถานที่หลบภัยที่สมาชิกสามารถใช้ชีวิตส่วนตัวและหาความสงบสุขได้ ขณะเดียวกันเธอก็การเดินทางด้วยรถโดยสารสมัยวิกตอเรีย กลายเป็นช้างเท้าหลังของสามี กฎหมายอังกฤษในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่๑๙ยังห้ามหญิงที่แต่งงานแล้วครอบครองทรัพย์สมบัติใด ๆ แม้แต่ทรัพย์สินของตนเองที่หามาได้เองอีกด้วย หลังจากแต่งงานภรรยาต้องสูญเสียอำนาจในการดูแลทรัพย์สินของตนเองให้แก่สามี นอกจากนี้ กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ภรรยาดำเนินการฟ้องหย่าหรือขอสิทธิในการดูแลบุตร ทั้งยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งอีกด้วย ซึ่งในปลายทศวรรษ ๑๘๖๐ สิทธินี้ได้ให้แก่ผู้ชายทุกคน ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านหรือร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างแข็งขันโดยเฉพาะผู้ที่สมรสแล้ว เพราะวิชาแขนงต่าง ๆ และการศึกษาเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ดังนั้นสตรีจึงถูกมองข้ามในเรื่องความสามารถและการมีสติปัญญาสูง (intelligence) และถูกจำกัดบทบาทแต่ในบ้านซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของ “การมีชีวิตอย่างมีอารยะ” (civilized life) เท่านั้น

 ในวัฒนธรรมวิกตอเรีย บ้านของชนชั้นกลางระดับสูงมักจะเป็นบ้านขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย ห้องประเภทต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด ห้องนอน ห้องเด็ก ห้องคนรับใช้ และอื่น ๆ ภรรยาจะเป็นคุณผู้หญิงของบ้านที่มีหน้าที่ดูแลให้คนรับใช้ทำงานต่าง ๆภายในบ้าน เช่น การทำความสะอาด ซักรีดเสื้อผ้า ขัดถูภาชนะ จัดโต๊ะอาหารหรือเตรียมงานเลี้ยงโดยมีการแบ่งหน้าที่กันบ้านของชนชั้นกลางระดับสูงมักมีคนรับใช้ชายหญิงจำนวนกว่า ๑๐ คนขึ้นไป ได้แก่ แม่บ้าน แม่ครัว หญิงต้นห้อง คนขับรถม้า คนสวน หญิงรับใช้ทั่วไป พยาบาลและแม่นมสำหรับทารก ทั้งหมดอพยพมาจากชนบทที่กำลังคนล้นงาน ค่าจ้างสำหรับคนรับใช้ก็มีราคาถูกหญิงต้นห้องทำงานเต็มเวลาได้รับค่าจ้างเพียง ๓๐ เพนนีต่อเดือนพร้อมกับอาหารและที่พักจำนวนเงินดังกล่าวนี้ก็พอที่จะซื้อนวนิยาย ๓ เล่มชุด (triple-decker) ได้เพียงชุดเดียวเท่านั้น ในอังกฤษสมัยวิกตอเรียแม้จะอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ชาวชนบทจำนวนมากก็ยินดีที่จะทำงานบ้านที่อยู่ในเมืองมากกว่าอาชีพอื่น ๆ เพราะนอกจากจะมีรายได้สม่ำเสมอ ยังเท่ากับได้ยกฐานะของพวกตนให้สูงขึ้น คนรับใช้จะได้รับการขัดเกลากิริยามารยาท ได้รู้จักแบบแผนชีวิตของผู้ดีตลอดจนกลิ่นอายของวัฒนธรรมเมืองที่ (กล่าวกันว่า) สูงส่งกว่าวัฒนธรรมชนบท ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ อังกฤษมีคนทำงานตามบ้านมากกว่าโรงงานทอผ้า และเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ปรากฏว่าจำนวนแรงงานทั่วประเทศประมาณ ๑ ใน ๗ ทำงานบ้านหรือคิดเป็นจำนวน ๒,๖๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งมากกว่าด้านการเกษตรและการประมงรวมกันที่มีเพียง ๑,๖๐๐,๐๐๐ คน เท่านั้น

 หน้าที่หลักอีกประการของคุณผู้หญิงคือการหาสิ่งต่าง ๆ มาประดับประดาบ้านและทำให้บ้านเป็นเสมือนสถานที่สะสมของสินค้านานาภัณฑ์ทั่วโลกและเป็น “วิมาน” ของทุกคน ยิ่งมีสิ่งประดับ (ornament) มากเท่าไรก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงและความทันสมัยของเจ้าของบ้านมากยิ่งขึ้นว่าสามารถหาสิ่งของสะสมได้หลากหลายชนิด สิ่งประดับภายในบ้านมักเป็นสินค้าที่ผลิตด้วยเครื่องจักรและมีรูปทรงแปลกตาหรือเป็นสินค้าจากแดนไกล รวมทั้งเป็นของกระจุกกระจิก (bric-a-brac) ที่ผลิตและนิยมสะสมกันในสมัยวิกตอเรีย พื้นที่ห้องก็จะปูพรมอย่างดีและมีหนังสัตว์ผืนใหญ่ปูทับได้แก่ หนังเสือโคร่งจากอินเดียและหนังหมีจากขั้วโลก และยังวางของตกแต่งจนหาที่ว่างแทบไม่ได้ด้วยแจกันกระถางต้นไม้ รวมทั้งสิ่งของแปลกๆผนังก็จะแขวนภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่และภาพสีน้ำมันขนาดเล็กที่จัดแขวนเป็นหมู่ใหญ่ในกรอบทองหรูหรา พื้นที่กำแพงที่เหลือของห้องก็อาจมีโล่และมีดดาบจากตะวันออก กระจกแกะลาย ผ้าทอผืนใหญ่และหัวสัตว์สตัฟฟ์แขวนประดับอยู่ด้วยส่วนเครื่องเรือนก็มีขนาดใหญ่ ผ้าม่านที่ใช้มักหนาทึบและมีราคาแพงที่จะสร้างความประทับใจในรสนิยมและความร่ำรวยของเจ้าของบ้าน บ้านพักอาศัยมีลักษณะเป็นอาคารแถวตั้งอยู่ริมถนนซึ่งหน้าต่างมักปิดตลอดเวลา เพื่อกันสายตาของบุคคลภายนอกและสร้างบรรยากาศของความเป็นส่วนตัวให้แก่เจ้าของบ้าน แม้ในสายตาของนักตกแต่งในปัจจุบันจะเห็นว่าการตกแต่งบ้านในอังกฤษตามวัฒนธรรมวิกตอเรียขาดความเป็นเอกภาพหรือความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องเรือนกับสิ่งประดับและกับพื้นที่ ตลอดจนมีสิ่งประดับมากเกินงามจนรุงรังแต่การตกแต่งบ้านของชนชั้นกลางระดับสูงดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมและความต้องการของพวกเขาที่จะสร้างเอกลักษณ์ให้แก่ชนชั้นของตนเองว่าแตกต่างไปจากชนชั้นขุนนางที่ตกแต่งบ้านเรือนในรูปแบบของจารีตเดิมที่อยู่ในโลกของอดีต ทั้งยังจะเป็นการชี้ให้เห็นถึงฐานะที่มั่นคงและความทันสมัยของเจ้าของบ้านในการสะสมสินค้าต่าง ๆ ที่แข่งกันออกจำหน่ายในขณะนั้นอีกด้วย

 อย่างไรก็ดี บทบาทของผู้หญิงที่ได้รับการปลูกฝังให้เป็น “คุณผู้หญิง” หรือ “แม่ศรีเรือน” ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงในทศวรรษ ๑๘๖๐ เป็นต้นไป การอาสาสมัครไปทำหน้าที่พยาบาลของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale)* และเพื่อนสตรีชนชั้นกลางในสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓–๑๘๕๖)* ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของผู้หญิงและทำให้พวกเธอที่อยู่ในชนชั้นกลางสามารถประกอบอาชีพเป็นพยาบาลได้ ซึ่งเป็น “การทำงานนอกบ้าน” อาชีพพยาบาลกลายเป็นอาชีพที่ได้รับการนับหน้าถือตาด้วย นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๖๙ จอห์น สจวร์ต มิลล์ (John Stuart Mill) นักปรัชญาแนวเสรีนิยมและเป็นพวกประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Subjection of Woman เรียกร้องให้ปลดแอกสตรีจากค่านิยมที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของพวกเธอ เพื่อได้เห็นคุณค่าของ “ธรรมชาติของผู้หญิง” ว่าที่แท้จริงมิได้ต่ำต้อยไปกว่าผู้ชาย ทั้งยังสนับสนุนให้สตรีได้รับสิทธิทางด้านการเมืองอีกด้วยโดยตั้งคำถามที่เป็นที่โด่งดังในเวลาต่อมาว่า “ทำไมอิสตรีถึงปกครองอังกฤษได้ แต่พวกเธอกลับนั่งในสภาไม่ได้” ข้อเขียนและข้อเรียกร้องของมิลล์จึงได้รับการขานรับจากขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี (Feminism)* ที่กำลังดำเนินการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งและถูกผู้ชายต่อต้านโดยจัดตั้งสันนิบาตชายเพื่อขัดขวางสิทธิเลือกตั้งของสตรี (Man’s League for Opposing Woman’s Suffrage) แต่ในปลายศตวรรษพวกเธอก็สามารถรวมตัวกันและมีชื่อเรียกกลุ่มว่า “ซัฟเฟรเจตต์” (suffragette) ที่ทำการประท้วงในรูปแบบต่าง ๆ นับแต่การเดินขบวน มัดตัวเองไว้กับเสาไฟ ปฏิเสธที่จะจ่ายภาษี และอื่น ๆ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๔ พวกซัฟเฟรเจตต์ก็ได้จัดตั้งสมาคมนานาชาติเพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรี (International Association for Woman’s Suffrage) ขึ้น และจัดการประชุมใหญ่อย่างสม่ำเสมออย่างไรก็ดีสิทธิเลือกตั้งของสตรีอังกฤษก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่บทบาทของพวกเธอก็สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคในสังคมซึ่งเป็นอุดมการณ์ของชนชั้นกลาง และทำให้ปัญหาสถานภาพของสตรี (Woman Question) เป็นที่รับรู้และยอมรับกันมากขึ้นในสังคม

 อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้หญิงชาวอังกฤษจะไม่ได้รับสิทธิเลือกตั้งตลอดรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและพระประมุขเองก็ไม่ทรงสนับสนุนอีกด้วยแต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สถานภาพทางสังคมของพวกเธอก็ดีขึ้นโดยสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือทำงานอื่น ๆ นอกเหนือจากอาชีพพยาบาล เช่น อาชีพครูและงานเลขานุการที่แต่เดิมผูกขาดโดยเพศชาย นอกจากนี้ ในทศวรรษ ๑๘๗๐ เมื่อมีการยอมรับมากขึ้นให้วันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนและกีฬากลายเป็นนันทนาการที่เป็นที่นิยมเล่นกันของชาวอังกฤษและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมวิกตอเรีย ชายหญิงชนชั้นกลางจึงมีโอกาสพบกันอย่างเสรีมากขึ้นในสนามแข่งขันกีฬาต่าง ๆ และทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงกีฬาเทนนิสและโรลเลอร์สเกตในช่วงระยะเวลาเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้หญิงลงเล่นได้ ซึ่งแต่ก่อนสามารถเล่นได้แต่เฉพาะกีฬาคริกเก็ตและการยิงธนูที่แต่งกายรัดกุมเท่านั้น ต่อมาในทศวรรษ ๑๘๘๐ ผู้หญิงสามารถเล่นกีฬายิมนาสติกได้ ในทศวรรษ ๑๘๙๐ จักรยานสองล้อก็เป็นที่นิยมของสตรีชาวอังกฤษ จักรยานสองล้อทำให้พวกเธอมีอิสระมากยิ่งขึ้นที่จะไปไหนมาไหนโดยลำพังได้ ทั้งนี้เพราะพี่เลี้ยงที่สูงอายุไม่สามารถที่จะติดตามเธออย่างไม่คลาดสายตาได้อีกต่อไป ซึ่งต่อมาในทศวรรษ ๑๙๐๐ อาชีพพี่เลี้ยงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอังกฤษและผู้ดีชาวตะวันตกมาช้านานก็เลือนหายไปจากสังคมอังกฤษ

 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แบบแผนชีวิตของสตรีเปลี่ยนแปลงไปมาก “สุภาพสตรีอังกฤษ” สามารถเดินทางไกล ดูละคร และรับประทานอาหารในร้านอาหารตามลำพังได้ โดยไม่เป็นเรื่องแปลกตาอีกต่อไปยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมชั้นสูงของอังกฤษยังเป็นที่นิยมกันในหมู่สุภาพสตรีหรือ “คุณผู้หญิง” ที่จะปรากฏกายในที่สาธารณะโดยปราศจากสามีเคียงข้าง โรงแรมหรูและภัตตาคารมีระดับต่างมีสถานที่เปิดให้บริการเฉพาะเหล่าสตรีหัวก้าวหน้าที่พยายามปลดเปลื้อง


พันธนาการจากกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดของสังคมให้มาสังสรรค์กันได้อย่างอิสระ ใน ค.ศ. ๑๘๙๖ ณ ภัตตาคารซาวอย (Savoy) ในกรุงลอนดอน ดัชเชส แห่งเคลมงต์-ตอนแนร์ (Duchess of Clermont-Tonnerre) ชาวฝรั่งเศสก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่สังคมชั้นสูงในอังกฤษ โดยมีรายงานว่าเธอเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่จุดบุหรี่ขึ้นสูบในที่สาธารณะขณะเดียวกันสตรีชนชั้นกลางระดับสูงก็ยังเริ่มใช้เครื่องสำอางกันอีกด้วยซึ่งในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ยังเป็นข้อห้ามสำหรับสุภาพสตรีและใช้เฉพาะผู้หญิงบางประเภท (fast women) เท่านั้น

 นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเครื่องแต่งกายของสตรีชั้นสูง จากการใส่กระโปรงที่มีโครงเหล็ก (บางทีใช้กระดูกวาฬ) เป็นรูปทรงระฆังที่เรียกว่า “crinoline”ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของนักออกแบบเสื้อชาวปารีสตามพระราชนิยมของจักรพรรดินีเออเชนี (Eugenie) พระมเหสีของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* และตกแต่งด้วยกระโปรงชั้นใน (petticoat) หลายชั้นและกระโปรงชั้นนอกประดับระบาย ผ้าลูกไม้ และอื่น ๆ จนทำให้พวกเธอไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกหรือทำงานได้ มาเป็นชุดแต่งกาย


ที่กระชับตัวที่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อมาในทศวรรษ ๑๘๙๐ สตรีก็เริ่มใส่เสื้อผ้า ๒ ท่อนที่เรียกว่า skirt-and-blouse costume โดยเป็นเสื้อมีปกและผูกไท (tie) ทำให้พวกเธอดูทะมัดทะแมงเช่นเดียวกับผู้ชาย นับเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่เคยต้องดูเชื่องช้า สุภาพ และสง่างามให้ดูคล่องแคล่ว ว่องไวและสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับทุกสภาพการณ์ การเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายของสตรีชั้นสูงดังกล่าวนี้จึงนับเป็นการสร้างนวัตกรรมและวัฒนธรรมใหม่ในอังกฤษสมัยวิกตอเรียในการแต่งกายที่สำคัญหรือกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติแบบแผนชีวิตของสตรีที่ต่อมาได้เป็นแบบอย่างของเครื่องแต่งกายของผู้หญิงโดยทั่วไปทำให้พวกเธอหลุดพ้นจากพันธนาการของเครื่องแต่งกายที่ไม่สะดวกสบายและสามารถลุกเดินได้คล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติมากขึ้น

 ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าตลอดช่วงระยะกว่า ๖ ทศวรรษในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑) สังคมอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ชนชั้นกลางระดับสูงได้เข้ามามีบทบาทในด้านต่างๆและวิถีชีวิตของพวกเขาได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับการเป็น“ผู้ดี”ของเศรษฐีใหม่ชนชั้นกลางระดับสูงได้สร้างค่านิยมซึ่งกลายเป็นแม่แบบของวัฒนธรรมวิกตอเรียหรือวัฒนธรรมเมือง ขณะเดียวกันก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของสตรีชั้นสูงชาวอังกฤษจากการถูกกำหนดให้มีบทบาทเป็นภรรยา มารดา และผู้ดูแลบ้านเท่านั้น จนสามารถทำลายปราการและข้อจำกัดในบทบาทดังกล่าวของพวกเธอได้ วัฒนธรรมของชนชั้นกลางกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมเมือง (urban society) คำว่า “urbane” ในภาษาอังกฤษที่มีรากศัพท์ร่วมกับคำว่า urban (เมือง) หมายถึง “ความสุภาพอ่อนโยน” ซึ่งใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า “polite” (สุภาพ) “courteous” (อ่อนโยน) “civil” (อัธยาศัยไมตรี) และ “mannerly” (มีมารยาท) อันเป็นหลักปฏิบัติของชนชั้นกลางที่อาศัยในเมืองขณะเดียวกันในอีกความหมายหนึ่งคือ “urbane” หมายถึง “การวางท่าผู้ดีอย่างแสแสร้ง” ก็ให้ภาพลบในพฤติกรรมของชนชั้นกลางระดับสูงในเมืองที่พยายามสร้างคุณธรรมและสถานภาพของตนเองในสังคมให้สูงส่งกว่าชนชั้นขุนนางเดิม การมีระเบียบวินัยและความสุภาพจึงเกินเลยกว่าที่ควรจะเป็นหรือขาดความจริงใจ ส่วนความคิดในเรื่องเพศระหว่างสามีภรรยาก็ผิดธรรมชาติ และบุรุษที่แสแสร้งว่ายกย่องสตรีที่แท้จริงก็เป็นผู้กดขี่ทางเพศจนทำให้โสเภณีและการมีบุตรนอกสมรสกลายเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในอังกฤษสมัยวิกตอเรีย ส่วนเมืองเองก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนทำให้ผู้คนในสังคมกลายเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดี เมืองก็เป็นสถานที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเปิดโลกทัศน์ของผู้อยู่อาศัยให้กว้างไกลขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้คำศัพท์ “rural” (ชนบท) ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับเมือง ถูกนำไปใช้กับความหมายในเชิงลบ ได้แก่ “intolerant” (ไร้ขันติธรรม) “illiberal” (ไม่เป็นเสรี) “insular” (ใจแคบ) “conservative” (หัวเก่า) และ “ignorant” (โง่เขลา) และทำให้ช่องว่างทางวัฒนธรรมและความคิดระหว่าง “คนเมือง” กับ “คนชนบท” หนีห่างกันมากขึ้นด้วย.



คำตั้ง
Victorian Culture
คำเทียบ
วัฒนธรรมวิกตอเรีย
คำสำคัญ
- การปฏิรูปศาสนา
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- ไนติงเกล, ฟลอเรนซ์
- พระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- พระราชบัญญัติโรงงาน
- ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- วัฒนธรรมวิกตอเรีย
- สงครามไครเมีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-