Victor Emmanuel II (1820–1878)

พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖๒–๒๔๒๐)

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๙–๑๘๖๑ และเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลีระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๑–๑๘๗๘ ซึ่งเป็นราช-อาณาจักรที่เกิดจากขบวนการเคลื่อนไหวการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy) หรือรีซอร์จีเมนโต (Risorgimento)* ที่เป็นกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นในดินแดนอิตาลีตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ พระองค์ทรงมีความใฝ่ฝันที่จะรวมชาติอิตาลีตั้งแต่ทรงพระเยาว์โดยให้ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นผู้นำทรงเข้าร่วมรบในกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียขับไล่ออสเตรียออกจากดินแดนอิตาลีในสงครามการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ต่อมาหลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๔๙ ทรงร่วมมือกับเคานต์กามิลโล เบนโซ ดิ กาวัวร์ (Camillo Benso di Cavour)* และนักชาตินิยมอิตาลีอื่นๆ ขับไล่ออสเตรียออกจากคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งประสบความสำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๖๑ ก่อให้เกิดการรวมตัวของรัฐอิตาลีต่าง ๆ จนสามารถสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีได้ ต่อมาก็สามารถผนวกดินแดนที่เหลือในระหว่างสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War)* ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ และเข้ายึดกรุงโรมที่ศาสนจักรครอบครองได้ และจัดตั้งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรอิตาลีใน ค.ศ. ๑๘๗๑ การรวมชาติอิตาลีจึงสิ้นสุดและประสบความสำเร็จในรัชสมัยของพระองค์

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ เป็นพระราช-โอรสองค์โตในพระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต (Charles Albert)* แห่งราชวงศ์ซาวอย (Savoy)* กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียและสมเด็จพระราชินีมาเรีย เทเรซา (Maria Teresa) พระธิดาของแกรนด์ดุ๊กแห่งทัสกานี (Grand Duke of Tuscany) ประสูติเมื่อ วันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๒๐ ณ กรุงตูริน (Turin) ขณะที่พระราชบิดาทรงดำรงพระยศเจ้าชายแห่งการีญาโน (Prince of Carignano) ขณะมีพระชนมายุ ๑๑ พรรษา พระราชบิดาได้เสด็จขึ้นครองปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียต่อจากพระเจ้าชาลส์ เฟลิกซ์ (Charles Felix) พระญาติพระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตทรงมีอุดมการณ์ต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* ในคาบสมุทรอิตาลีและทรงสนับสนุนนโยบายชาตินิยมของสมาคมคาร์โบนารี (Carbonari)* ที่ต้องการรวมรัฐอิตาลีให้เป็นประเทศเดียวกันหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “รีซอร์จีเมนโต” ทรงถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้แก่เจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอลตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังนั้นเมื่อเจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอลทรงเจริญพระชันษาขึ้นก็ทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องการเมืองและกิจการด้านทหารเป็นพิเศษ

 ใน ค.ศ. ๑๘๔๒ เจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอลหรือดุ๊กแห่งซาวอย (Duke of Savoy) พระยศในขณะนั้นทรงเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าหญิงแอดิเลดแห่งออสเตรีย (Adelaide of Austria) แห่งราชวงศ์ฮับสบูร์ก (Habsburg)* พระญาติสนิท มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมกัน ๘ พระองค์ ซึ่ง ๓ พระองค์ประสูติหลังจากที่ดุ๊กแห่งซาวอยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๔๙ พระราชโอรสและพระราชธิดาที่สำคัญได้แก่ พระเจ้าอุมแบร์โต (Umberto)* แห่งอิตาลีพระเจ้าอาเมเดโอ (Amedeo) แห่งสเปน ซึ่งได้รับเลือกจากรัฐสภาสเปนและครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๓ และสมเด็จพระราชินีมาเรีย ปีอา (Maria Pia) พระมเหสีในพระเจ้าหลุยส์ (Louis) แห่งโปรตุเกสต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๖๙ หลังจากทรงเป็นม่ายมาเป็นเวลา ๑๔ ปี พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ก็ทรงเสกสมรสต้องห้าม (morganatic marriage) กับโรซา เวร์เซลลันส์ (Rosa Vercellans) สามัญชนซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เคาน์เตสแห่งฟอนตานาเฟรดดา (Countess of Fontanafredda) และมีพระโอรสธิดาร่วมกันอีก ๒ พระองค์

 เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ขบวนการชาตินิยมในรัฐต่าง ๆ เห็นเป็นโอกาสก่อการกบฏเพื่อทำลายระบบเก่าและกำจัดอำนาจของออสเตรียในดินแดนอิตาลี ซึ่งต่อมาเรียกว่า “สงครามอิสรภาพอิตาลีครั้งที่ ๑” (First Italian War of Independence ค.ศ. ๑๘๔๘–๑๘๔๙) การจลาจลได้เริ่มต้นในกรุงมิลานเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ และลุกลามไปที่อื่นๆจนในที่สุดกองทัพอิตาลีสามารถขับไล่กองทัพออสเตรียออกจากวินีเชีย (Venetia) ได้ ขณะเดียวกันพระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต พระราชบิดาก็ทรงยินยอมเป็นผู้นำรัฐอิตาลีในการต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของออสเตรียในคาบสมุทรอิตาลี และประกาศสงครามกับกองทัพออสเตรียที่เข้ามาปราบปรามฝ่ายกบฏชาวอิตาลีจำนวนมากจากดินแดนต่าง ๆ เข้าร่วมรบในกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย สงครามระหว่างปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียกับกองทัพออสเตรียได้สิ้นสุดลงในการรบที่เมืองโนวารา (Novara)ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ด้วยความปราชัยของกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียอย่างย่อยยับ มีผลให้พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตทรงอับอายและเสียพระทัยจนต้องสละราชสมบัติให้แก่ดุ๊กแห่งซาวอย พระราชโอรสซึ่งต่อมาได้เฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒

 อย่างไรก็ดี การต่อสู้ระหว่างชาวอิตาลีกับกองทัพออสเตรียและกลุ่มอำนาจเก่าก็ยังดำเนินต่อไปโดยเฉพาะในกรุงโรมที่ประกาศจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐโรม (Roman Republic) และยุบอำนาจปกครองของสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX)* โดยมีจูเซปเป มัซซีนี (Giuseppe Mazzini)* และจูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* เป็นผู้นำ แต่ท้ายสุดก็ถูกกองทัพของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ (Second French Republic)* ซึ่งมีเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน (Louis Napoleon)* แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* พระภาติยะในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* เป็นประธานาธิบดี สนธิกำลังกับจักรวรรดิออสเตรียและราชอาณาจักรเนเปิลส์เข้าปราบปรามจนกองทัพของมัซซีนีและการีบัลดีแตกพ่าย และสามารถเข้ายึดกรุงโรมและฟื้นฟูอำนาจของสันตะปาปา

 สงครามอิสรภาพอิตาลีครั้งที่ ๑ จึงสิ้นสุดลงพร้อมกับการปฏิวัติค.ศ. ๑๘๔๘ ขณะเดียวกันพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ก็มิได้ทรงยกเลิกรัฐธรรมนูญที่พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต พระราชบิดาพระราชทานไว้ จึงทำให้ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียได้รับการยกย่องจากชาวอิตาลีชาตินิยมว่าเป็นรัฐเสรีที่สุดอีกทั้งพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ทรงยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองให้เข้ามาอาศัยในปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียจึงทำให้กรุงตูรินเป็นศูนย์กลางของชาตินิยมอิตาลี ทั้งพระองค์ก็มีพระราชปณิธานที่จะเป็นผู้นำในการรวมอิตาลีอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ในเวลาต่อมาพระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์ของการรวมชาติอิตาลีหรือรีซอร์จีเมนโตด้วยทั้งใน ค.ศ. ๑๘๕๒ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ยังทรงแต่งตั้งกาวัวร์ซึ่งเป็นนักวางแผนและเป็นผู้มีบทบาทในการรวมชาติอิตาลีให้เป็นอัครเสนาบดีของปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ซึ่งทำให้บทบาทของพระองค์โดดเด่นมากยิ่งขึ้น

 ความล้มเหลวของการรวมชาติอิตาลีใน ค.ศ. ๑๘๔๘–๑๘๔๙ ทำให้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ และกาวัวร์ตระหนักว่าแม้ชาวอิตาลีจะมีความรักชาติและพร้อมที่จะต่อสู้ แต่หากปราศจากกำลังสนับสนุนจากภายนอกแล้ว ความหวังที่จะล้มล้างอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิออสเตรียให้หมดไปจากคาบสมุทรก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเกิดสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓–๑๘๕๖)* ระหว่างจักรวรรดิรัสเซียกับจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ จึงได้พระราชทานคำปรึกษาให้กาวัวร์ถือโอกาสผูกมิตรกับอังกฤษและโดยเฉพาะฝรั่งเศสในการทำสงครามกับรัสเซียแม้ในขั้นแรกกาวัวร์จะไม่เห็นด้วยเพราะยังเกรงในอำนาจของรัสเซีย แต่ท้ายที่สุดพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ก็สามารถจูงใจให้กาวัวร์เห็นด้วยกับพระองค์และลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษและฝรั่งเศส โดยส่งทหารจำนวน ๑๗,๐๐๐ นายเข้าร่วมในสงครามไครเมีย แม้ทหารจำนวนมากจะเสียชีวิตในสนามรบแต่เกียรติภูมิที่ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียได้รับก็คือการมีผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับมหาอำนาจยุโรป และทำให้ปัญหาการรวมชาติอิตาลีเป็นที่ยอมรับของมหาอำนาจ ทั้งที่ประชุมได้แสดงความเห็นใจปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นอันมาก

 ต่อมา พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ได้ทรงให้ความเห็นชอบกับกาวัวร์ที่จะใช้สงครามเป็นพื้นฐานของนโยบายการรวมชาติ และประสบความสำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๕๘ เมื่อกาวัวร์สามารถชักจูงให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III)* อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second French Empire)* ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ซึ่งมีนโยบายเผยแพร่พระเกียรติยศของราชวงศ์โบนาปาร์ตและฝรั่งเศส ให้สัญญาจะช่วยเหลือปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียในการรวมชาติ อย่างไรก็ตามการที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงมุ่งสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ฝรั่งเศสและดำเนินนโยบายร่วมมือกับอังกฤษและออสเตรียเพื่อต่อต้านรัสเซีย พระองค์จึงทรงเพิกเฉยต่อปัญหาของอิตาลี เฟลีเช ออร์ซีนี (Felice Orsini) นักชาตินิยมหัวรุนแรงจึงวางแผนปลงพระชนม์ และนำไปสู่เหตุการณ์เรื่องแผนออร์ซีนี (Orsini’s Plot)* แต่ล้มเหลว แผนออร์ซีนีทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงหันมาสนพระทัยกับปัญหาการเมืองอิตาลีอีกครั้งหนึ่งและนำไปสู่ความตกลงปลงบีแยร์ (Plombières Agreement (1858)* ระหว่างฝรั่งเศสกับปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ฝรั่งเศสจะร่วมทำสงครามกับออสเตรียโดยมีเงื่อนไขว่าออสเตรียต้องเป็นฝ่ายก่อสงครามก่อนเพื่อเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซง และในการช่วยเหลือดังกล่าว ฝรั่งเศสจะได้ซาวอย (Savoy) และนีซ (Nice) ตอบแทน

 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๘ กาวัวร์ได้ทำกติกาสัญญาพันธมิตรเพื่อป้องกันตัวเอง (Defensive Alliance) กับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ จากนั้นฝ่ายพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ก็ทรงเริ่มท้าทายออสเตรีย เช่น ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากดินแดนใต้ปกครองออสเตรีย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรียกับปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียตึงเครียด นอกจากนี้ ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียยังประกาศระดมพลซึ่งทำให้ออสเตรียยื่นคำขาดให้ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียยุติการกระทำดังกล่าว แต่กาวัวร์ปฏิเสธที่จะเลิกระดมพลฝ่ายเดียว ออสเตรียจึงวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิเสธคำขาดของตนและส่งกองทัพเข้าโจมตี และนำไปสู่การเกิดสงครามอิสรภาพอิตาลีครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกกันว่าสงครามฝรั่งเศส-ออสเตรีย (Franco-Austrian War) และสงครามออสเตรีย-ซาร์ดิเนีย (Austro-Sardinian War) ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ โดยมีกองทัพฝรั่งเศสเข้าร่วมกับฝ่ายปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย

 อย่างไรก็ดี ขณะที่สงครามดำเนินอยู่ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เกิดกังวลพระทัยเกี่ยวกับปัญหาภายในและภายนอกของฝรั่งเศสและสลดพระทัยที่เห็นทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก พระองค์ไม่แน่พระทัยว่าทหารฝรั่งเศสจะได้รับชัยชนะในการรบครั้งต่อไปเนื่องจากรัฐเยอรมันตอนใต้ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจออสเตรียและอาจช่วยออสเตรียโจมตีขนาบฝรั่งเศสทางลุ่มแม่น้ำไรน์ พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะเลิกสงครามและทรงเจรจากับจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph)* แห่งจักรวรรดิออสเตรียทรงทำสนธิสัญญาสงบศึกโดยลงนามที่เมืองวิลลาฟรังกาแคว้นเวโรนา ทางตอนเหนือของอิตาลีในความตกลงเบื้องต้นแห่งวิลลาฟรังกา (Preliminaries of Villafranca) เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๕๙ โดยมิได้แจ้งให้กาวัวร์ทราบก่อน ความตกลงฉบับนี้ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียได้รับแต่เพียงรัฐลอมบาร์ดี ส่วนรัฐวินีเชียยังคงอยู่ใต้ปกครองของออสเตรียต่อไป และเจ้าผู้ปกครองที่ถูกขับไล่ก็ได้กลับมาครองตามเดิม

 การที่ฝรั่งเศสถอนตัวออกจากสงครามกลางคันดังกล่าวทำให้กาวัวร์ไม่ยอมถวายรัฐซาวอยให้แก่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ แต่พระองค์ก็มีพระประสงค์จะได้ดินแดนทั้ง ๒ แห่ง จึงทรงกลับมาสัญญาว่าจะช่วยพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ รวมดินแดนในภาคเหนือตั้งเป็นราชอาณาจักรอิตาลี กาวัวร์จึงลาออกจากตำแหน่งอัครเสนาบดีเนื่องจากไม่พอใจจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ที่ทรงถอนพระองค์ออกจากสงครามทั้งเขายังผิดหวังที่ได้รัฐลอมบาร์ดีแต่ไม่ได้รัฐวินีเชียอย่างไรก็ดี หลังจากที่พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ มีพระประสงค์ให้เขากลับมาปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม กาวัวร์ก็ยินยอมกลับมารับตำแหน่งอัครเสนาบดีอีกครั้งเมื่อ วันที่ ๒๖ มกราคม ค.ศ. ๑๘๖๐ หลังจากนั้นเขาจัดให้มีการออกเสียงแบบประชามติในรัฐซาวอยและนีซว่าประชาชนประสงค์อยู่ใต้ปกครองหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่สมัครใจรวมอยู่กับฝรั่งเศส พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ จึงทรงโอนรัฐซาวอยและนีซให้แก่ฝรั่งเศส ขณะเดียวกันระหว่างนั้นรัฐต่างๆ ในภาคกลางของอิตาลีประสบความสำเร็จในการปฏิวัติและขับไล่เจ้าผู้ปกครองของตน เพื่อน ๆ ของกาวัวร์ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมแห่งชาติ (National Society) ที่กาวัวร์จัดตั้งขึ้นในรัฐต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๕๘ ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในรัฐดังกล่าว และกาวัวร์ก็ได้ส่งข้าหลวงพิเศษไปปกครองแคว้นต่าง ๆ ในนามพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๐ ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียได้ทำความตกลงกับฝรั่งเศสในการรวมรัฐต่าง ๆ ในภาคกลางและภาคเหนือของอิตาลีเข้ากับราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นราชอาณาจักรอิตาลี ยังคงเหลือบางรัฐในภาคใต้ซึ่งได้แก่ ราชอาณาจักรเนเปิลส์และราชอาณาจักรซิซิลีที่ยังไม่ได้เข้ารวมอยู่ด้วย

 ในต้นเดือนพฤษภาคมค.ศ. ๑๘๖๐กลุ่มสาธารณรัฐนิยมและฟรันเซสโก กริสปี (Francesco Crispi)* นักการเมืองอิตาลีร่วมกันวางแผนก่อกบฏต่อต้านพระเจ้าฟรานซิสที่ ๒ (Francis II) แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* พระประมุขในราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสองกาวัวร์จึงสนับสนุนให้การีบัลดีเข้าโจมตีราชอาณาจักรซิซิลีเพื่อช่วยเหลือชาวซิซิลีที่ก่อการลุกฮือขึ้น การีบัลดีและกองอาสาสมัครเชิ้ตแดงจำนวน ๑,๑๐๐ คน ได้เดินทางออกจากเมืองเจนัวเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๐ และสามารถเข้ายึดเมืองสำคัญต่าง ๆ ของซิซิลีได้ภายในเวลาอันสั้น ในนามของพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒

 หลังจากยึดซิซิลีได้ การีบัลดีเดินทางต่อไปโจมตีราชอาณาจักรเนเปิลส์ กาวัวร์จึงส่งอากอสติโน เดเปรติส (Agostino Depretis)* นักการเมืองซึ่งเป็นผู้นำขบวนการฝ่ายซ้ายมาที่ซิซิลีเพื่อทำหน้าที่บริหารแทนการีบัลดี ในยุทธการที่โวลตูร์โน (Battle of Volturno) ทางตอนเหนือของเนเปิลส์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๐ นั้น การีบัลดีคุมกำลังทัพถึง ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทัพปีดมอนต์ที่กาวัวร์ส่งมาสมทบเข้าร่วมสงครามและนับเป็นยุทธการครั้งใหญ่ที่สุดของเขา กองทัพเนเปิลส์ถูกตีแตกยับเยินและพระเจ้าฟรานซิสที่ ๒ ทรงหลบหนีไปตั้งมั่นที่เมืองกาเอตา (Gaeta) หลังจากยึดเนเปิลส์ได้ มีการลงประชามติทั้งในซิซิลีและเนเปิลส์เพื่อรวมดินแดนทั้งสองเข้าด้วยกัน และรวมกับราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียและเพื่อถวายดินแดนที่ได้ทั้งหมดแก่พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ พระองค์ทรงยอมรับข้อเสนอดังกล่าวและเสด็จถึงราชอาณาจักรเนเปิลส์เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน การีบัลดีนั่งเคียงคู่กับพระองค์ในราชรถและเป็นคนแรกที่กล่าวถวายพระพรพระองค์ในฐานะกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิตาลี ต่อมาในวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ รัฐสภาแห่งปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียในกรุงตูรินมีมติเห็นชอบประกาศจัดตั้ง “ราชอาณาจักรอิตาลี” ขึ้น โดยพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ แห่ง ราชวงศ์ซาวอยทรงได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลี การสถาปนาดังกล่าวทำให้สันตะปาปาไพอัสที่ ๙ ไม่สามารถทัดทานได้และต้องปล่อยให้รัฐสันตะปาปาที่มีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี ต้องสลายตัวลงเหลือแต่กรุงโรมซึ่งมีทหารฝรั่งเศสช่วยคุ้มครองยังคงรักษาอำนาจอธิปไตยของกรุงโรมได้ต่อไปอีก ๓ เดือนต่อมา กาวัวร์ซึ่งมีสุขภาพเสื่อมโทรมก็ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑

 ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ เมื่อเกิดสงครามเจ็ดสัปดาห์ระหว่างออสเตรียกับปรัสเซีย อิตาลีได้ส่งกองทัพสนับสนุนปรัสเซียเมื่อปรัสเซียมีชัยชนะเหนือออสเตรียก็ทำให้อิตาลีได้รับวินีเชียเป็นเครื่องตอบแทนที่เป็นพันธมิตรด้วยส่วนออสเตรียก็หมดบทบาทในอิตาลีและดินแดนเยอรมัน การรวมชาติอิตาลีสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๑)* ซึ่งฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามและต้องถอนกำลังออกจากกรุงโรมอิตาลีจึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนทัพเข้ายึดกรุงโรม ในการยึดครองกรุงโรมสันตะปาปาไพอัสที่๙ทรงพยายามรวมกำลังทหารต่อต้านแต่ไม่สำเร็จ กองทหารอิตาลีสามารถเข้ายึดกรุงโรมได้ในเดือนกันยายนค.ศ. ๑๘๗๐ และประกาศจัดตั้งโรมเป็นเมืองหลวงของประเทศการรวมชาติทางกายภาพจึงสำเร็จสมบูรณ์แม้ไม่เป็นที่ยอมรับของสันตะปาปาประมุขศาสนจักร อย่างไรก็ตาม ยังคงมีดินแดนอีกบางส่วนในการปกครองของออสเตรีย-ฮังการีที่มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่มากคือเตรนตีโน (Trentino) ทิโรลใต้ (South Tyrol) และอิสเตรีย (Istria) ซึ่งชาวอิตาลีถือว่าเป็นดินแดนที่ยังไม่ได้รับการไถ่ถอน ต่อมาอิตาลีได้ดินแดนเหล่านี้คืน ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ หลังออสเตรียปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (World War I)*

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ขณะมีพระชนมายุ ๕๗ พรรษา พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญาจากชาวอิตาลีว่า “บิดาแห่งปิตุภูมิ” (Father the Fatherland) ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ซึ่งครบรอบวาระ ๕๐ ปี ของการจัดตั้งราชอาณาจักรอิตาลี รัฐบาลอิตาลีได้เปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (Victor Emanuel II Monument) ซึ่งเป็นอาคารหินอ่อนขนาดใหญ่บนเนินเขากาปีโตลีเน (Capitoline) ใจกลางกรุงโรม ซึ่งภายในอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับขบวนการรวมชาติอิตาลี และพระราชประวัติของพระองค์ เพื่อเป็นการเชิดชูพระเกียรติยศของพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ ในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการรวมชาติอิตาลีและนับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรนี้ ส่วนศาสนจักรซึ่งประกาศขับพระองค์ออกจากศาสนาก็ยังคงไม่ยอมรับพระองค์ทั้งสันตะปาปานับแต่ ค.ศ. ๑๘๗๑ ยังคงประท้วงรัฐบาลอิตาลีด้วยการจำกัดที่ประทับในวังวาติกันเท่านั้น และเรียกตนเองว่า “นักโทษแห่งวาติกัน” กว่าที่รัฐบาลอิตาลีและสันตะปาปาจะร่วมกันแก้ไขปัญหากรุงโรม (The Roman Question)* ได้สำเร็จก็ในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ เมื่อทั้ง ๒ ฝ่ายยินยอมทำสนธิสัญญาลาเทอรัน ค.ศ. ๑๙๒๙ (Treaty of Lateran 1929)* หรือความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๒๙ (Concordat 1929)* เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๙ โดยรัฐบาลอิตาลีซึ่งมีเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* เป็นผู้นำยอมรับเอกราชของนครวาติกันและจัดตั้งเป็นนครรัฐวาติกันส่วนศาสนจักรก็ยอมรับการสูญเสียกรุงโรมในการรวมชาติอิตาลีและยินดีรับค่าชดเชยต่าง ๆ.



คำตั้ง
Victor Emmanuel II
คำเทียบ
พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาพันธมิตรเพื่อป้องกันตัวเอง
- กริสปี, ฟรันเซสโก
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การรวมชาติอิตาลี
- การีบัลดี, จูเซปเป
- ความตกลงเบื้องต้นแห่งวิลลาฟรังกา
- ความตกลงปลงบีแยร์
- ความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๒๙
- นโปเลียนที่ ๑
- บิดาแห่งปิตุภูมิ
- ปัญหากรุงโรม
- แผนออร์ซีนี
- มัซซีนี, จูเซปเป
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- รีซอร์จีเมนโต
- สงครามไครเมีย
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามฝรั่งเศส-ออสเตรีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามออสเตรีย-ซาร์ดิเนีย
- สงครามอิสรภาพอิตาลีครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาลาเทอรัน
- สนธิสัญญาลาเทอรัน ค.ศ. ๑๙๒๙
- สมาคมคาร์โบนารี
- สัญญาสงบศึก
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1820–1878
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๖๒–๒๔๒๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-