รีซอร์จีเมนโต (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Resurrection) เป็นศัพท์ที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในทางวรรณคดีอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งหมายถึง การฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่งของวรรณคดีคลาสสิกสมัยโรมัน เมื่อถูกนำมาใช้ในทางการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ รีซอร์จีเมนโตก็หมายถึงการรวมชาติอิตาลีหรือการฟื้นคืนชีวิตของความเป็นชาติอิตาลีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่จักรวรรดิโรมันล่มสลายลงในสมัยกลางอิตาลีต้องถูกแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ในรูปแบบการปกครองแตกต่างกัน และบางส่วนก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติ อิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมและชาตินิยมรีซอร์จีเมนโตเกิดขึ้นและกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมชาติอิตาลีขึ้น โดยเฉพาะนับจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* จนถึงสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* เมื่อราชอาณาจักรอิตาลีสามารถรวมประเทศได้เกือบทั้งหมดและประกาศให้กรุงโรมเป็นเมืองหลวงของประเทศ
จากการที่อิตาลีขาดเอกภาพทางการเมืองมาเป็นเวลานับพันปี ชาวอิตาลีจึงขาดความรู้สึกร่วมกันในฐานะเป็นรัฐชาติ ดินแดนส่วนต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลีไม่ว่าจะเป็นนครรัฐ ราชรัฐ หรืออาณาจักรมีเอกราชเป็นของตนเองหรือบางครั้งอาจตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของต่างชาติ รัฐต่าง ๆ เหล่านี้ต่างมีวิถีชีวิต ผลประโยชน์และแนวทางการดำเนินนโยบายแห่งรัฐเป็นของตนเองจนถึงสมัยสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* เมื่อดินแดนต่าง ๆ เกือบทั้งหมดต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลชองฝรั่งเศสอุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* จึงเริ่มแผ่ขยายเข้าไปในคาบสมุทรอิตาลี ในสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)* จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* ได้ทรงทำให้คาบสมุทรอิตาลีเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของพระองค์และเครือญาติแม้ชาวอิตาลีจะถูกลิดรอนอำนาจทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ถูกยกเลิก และอิตาลีต้องดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของจักรวรรดิฝรั่งเศสก็ตามแตกเป็นครั้งแรกที่รัฐอิตาลีถูกขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคมตามอุดมการณ์สมัยใหม่ และประการสำคัญก็คือลัทธิชาตินิยมได้แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งเท่ากับเป็นการจุดประกายความคิดเกี่ยวกับความเป็นรัฐชาติภายในคาบสมุทรอิตาลีเป็นครั้งแรกด้วย
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนามีมติให้ทุกรัฐในยุโรปรวมทั้งอิตาลีด้วยกลับคืนสู่สถานภาพเดิมก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ราชวงศ์ซาวอย (Savoy)* ได้รับคืนสิทธิในการปกครองปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Piedmont-Sardinia)* รวมทั้งซาวอยและนีซ (Nice) เพื่อทำให้กลายเป็นรัฐที่เข้มแข็งในการปิดกั้นฝรั่งเศสไม่ให้ขยายอำนาจเข้าไปในคาบสมุทรอิตาลีได้อีกต่อไป นอกจากนั้น ราชวงศ์และเจ้าผู้ครองดินแดนในอิตาลีส่วนใหญ่ก็ได้กลับมาปกครองดินแดนดั้งเดิมของตน เช่น ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ของออสเตรียได้ดินแดนชดเชยจากการสูญเสียออสเตรียเนเธอร์แลนด์ โดยได้ปกครองในลอมบาร์ดี (Lombardy) วินีเชีย (Venetia) โมเดนา (Modena) และทัสกานี (Tascany) ราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* สายสเปนก็ได้คืนราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง (Kingdom of The Two Sicilies) ขณะที่สันตะปาปาก็ได้คืนรัฐสันตะปาปา (Papal States) อันประกอบด้วยโรม (Rome) อุมเบรีย (Umbria) และมาร์เชส (Marches) ข้อตกลงของที่ประชุมใหญ่เวียนนาในลักษณะของการกลับคืนสู่สถานภาพเดิมทางการปกครองเป็นสิ่งที่ชาวอิตาลีพอรับได้ แต่ที่ไม่สามารถรับได้เลย คือความพยายามจะนำระบอบเก่ากลับคืนสู่คาบสมุทรและให้ออสเตรียมีอำนาจปกครองดินแดนอิตาลีด้วย ทั้งนี้ เพราะในสมัยที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงเป็นใหญ่ในคาบสมุทรได้ทรงทำให้ชาวอิตาลีจำนวนไม่น้อยเลื่อมใสในลัทธิเสรีนิยมและชาตินิยมตามอุดมการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสจึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดขบวนการรีซอร์จีเมนโตขึ้นนับแต่นั้นมา
รีซอร์จีเมนโตมีพัฒนาการแบ่งได้เป็น ๔ ระยะ คือ ระยะแรกระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๔๗ ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงของการเตรียมการทำงจริยธรรมและภูมิปัญญาที่ทำให้ชาวอิตาลีมีความเชื่อมั่นศรัทธาและแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน ในระยะแรกเป็นผลการดำเนินงานของสมาคมคาร์โบนารี (Carbonari)* ซึ่งเป็นสมาคมลับที่สนับสนุนระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐโดยเน้นความสำคัญของลัทธิชาตินิยมในการสร้างรัฐชาติ สมาคมนี่แม้จะมีเป้าหมายชัดเจนในการกำจัดอำนาจของต่างชาติคือออสเตรียและล้มล้างระบอบกษัตริย์และรัฐสันตะปาปา แต่ก็ขาดผู้นำที่เข้มแข็งและขาดการดำเนินงานที่เป็นระบบทั้งยังมีลักษณะเป็นระดับท้องถิ่นมากกว่าระดับชาติ ดังนั้นเมื่อสมาคมนี้เป็นแกนนำในการก่อจลาจลหลายครั้งเพื่อล้มล้างอำนาจการปกครองในราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสองและรัฐสันตะปาปา ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ ค.ศ. ๑๘๒๑ และ ค.ศ. ๑๘๓๐ ตามลำดับจึงประสบความล้มเหลว สมาชิกคนสำคัญคือจูเซปเป มัซซีนี (Giuseppe Mazzini)* ต้องถูกจำคุก ๓ เดือน ภายหลังได้ลี้ภัยไปอยู่เมืองมาร์เซย์ (Marseilles) ในฝรั่งเศสตอนใต้ และได้ตั้งขบวนการอิตาลีหนุ่ม (Young Italy)* ขึ้นมาแทนที่ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๑ ขบวนการนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ปรากฏมีสาขาทั่วไปทั้งคาบสมุทรอิตาลี รวมทั้งขบวนการคนหนุ่มในเยอรมนีสวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ซึ่งภายหลังรวมกันเรียกว่าขบวนการยุโรปหนุ่ม (Young Europe)
นอกจากสมาคมคาร์โบนารีและขบวนการอิตาลีหนุ่มที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อการรวมชาติอิตาลีในระยะแรกนี่แล้ว ยังมีนักคิดนักเขียนและผู้นำทางความคิดหลายคนที่ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกและความมุ่งมั่นที่มีต่อการรวมชาติ มัซซีนีมีความโดดเด่นเหนือใครในการปลุกกระแสการรวมชาติและเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างรัฐตามแนวทางลัทธิสาธารณรัฐนิยม นอกจากนั้น เขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเข้าถึงจิตใจประชาชน ทำให้ชาวอิตาลีหวนกลับไปรำลึกถึงอดีตของชนชาติตนที่เคยมีอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ มีรูปแบบการเมืองการปกครองและกฎหมายที่เป็นแบบฉบับของโลกตะวันตกนับเนื่องต่อมายาวนาน แต่ชาวอิตาลีในยุคหลังกลับไม่เคยเห็นคุณค่าและความสำคัญของชาติตน มัซซีนีปลุกเร้าความรู้สึกของคนทั้งชาติให้รู้จักตัวตนที่แท้จริงโดยมองย้อนไปสู่อดีตขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้คนมองไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนด มัซซีนีใฝ่ฝันที่จะเห็นอนาคตที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยที่มีชาวอิตาลีทั้งมวลมีส่วนร่วม โดยก่อนอื่นจะต้องปลดแอกอำนาจการปกครองของออสเตรียเพื่อทำให้รัฐอิตาลีใหม่เป็นรัฐของชาวอิตาลีอย่างแท้จริง มัซซีนีจึงเป็นมากกว่านักคิดเพราะงานเขียนของเขาทรงพลังและมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ไม่เฉพาะในอิตาลีแต่ทั่วทั้งทวีปยุโรป แต่เขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่ไม่ประสบความสำเร็จ และต้องหนีไปลี้ภัยอยู่ในหลายประเทศจนลงท้ายที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๓๗ และอยู่ที่นั่นเกือบตลอดชีวิต แนวคิดและงานเขียนที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์และต่อต้านออสเตรียจึงทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิตหลายครั้ง เขาลอบเข้าประเทศบ้านเกิดเป็นครั้งคราวเพื่อร่วมในขบวนการรวมชาติ และสิ่งที่เขาทำตลอดเวลาที่อยู่นอกประเทศคือการเขียนจดหมายและบทความการเมืองลงหนังสือพิมพ์ เขาจึงเปรียบเสมือนนักบุญของพวกชาตินิยมอิตาลี
วินเซนโซ โจแบร์ตี (Vincenzo Gioberti) เป็นนักคิดนักเขียนอีกคนหนึ่งที่วางพื้นฐานทางความคิดให้กับขบวนการรวมชาติอิตาลีในระยะแรกนี้ งานเขียนชื่อ Primato ของเขาแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักชาตินิยมและนักคิดที่ไม่ซ้ำแบบใคร เขาเห็นว่าในการรวมชาติให้ประสบผลได้จำต้องมีผู้นำที่มีบารมีมากพอ ซึ่งโจแบร์ตีก็กล้าหาญพอที่จะเสนอผู้นำที่คนส่วนใหญ่มักจะเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง นั่นคือสันตะปาปาซึ่งมีบารมีสะสมมายาวนานหลายศตวรรษทั้งในทางโลกและทางธรรม หากได้มีการปฏิรูปสถาบันสันตะปาปาให้ทันสมัยและเข้มแข็งยิ่งขึ้นสถาบันนี้ก็ย่อมจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนในวงกว้างและทำให้สถาบันพร้อมจะเป็นผู้นำในการต่อต้านอำนาจของต่างชาติ พร้อมทั้งขับเคลื่อนขบวนการรวมชาติไปในทิศทางที่ปรารถนาได้ งานเขียนของโจแบร์ตีได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เมื่อสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๗๘)* ขึ้นเป็นประมุขของคริสตจักรได้แสดงความสนพระทัยในข้อเสนอของโจแบร์ตีถึงขนาดเตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับการเข้าไปมีบทบาทของสันตะปาปาในขบวนการรีซอร์จีเมนโต
เคานต์กามิลโล เบนโซ ดิ กาวัวร์ (Camillo Benso di Cavour)* ก่อนที่จะมีบทบาทสำคัญในการรวมรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ออกหนังสือพิมพ์ Il Risorgimento ใน ค.ศ. ๑๘๔๗ ซึ่งได้กลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของการเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมและเสรีนิยม โดยเฉพาะที่เป็นจุดเด่นที่สุดคือการเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับระบอบราชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่พระราชอำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ สำหรับคาวัวร์แล้ว ขบวนการรวมชาติต้องอาศัยกษัตริย์ที่เข้มแข็งเป็นผู้นำ และในขณะนั้นก็ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดที่จะเข้มแข็งเท่ากับกษัตริย์ในราชวงศ์ซาวอยของปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย แนวคิดเกี่ยวกับผู้นำขบวนการรวมชาติที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ของคาวัวร์จึงได้รับความสนใจจากชาวอิตาลีเป็นจำนวนมากในขณะนั้น
รีซอร์จีเมนโตก้าวเข้าสู่ระยะที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๔๙ ในท่ามกลางหมอกควันของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในฝรั่งเศสแล้วขยายตัวออกไปยังส่วนต่าง ๆ ของยุโรปรวมทั้งอิตาลีด้วย นักชาตินิยมชาวอิตาลีเห็นเป็นโอกาสก่อกบฏเพื่อทำลายระบบเก่าและกำจัดอำนาจของออสเตรียในดินแดนอิตาลี เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นการทดสอบพลังความเข้มแข็งของขบวนการรวมชาติอิตาลี โดยดูได้จากความพร้อมของผู้นำและการวางแผนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ชาวอิตาลีทั่วทั้งคาบสมุทรแสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะร่วมมือกันขับไล่ออสเตรียออกจากอิตาลีตอนเหนือโดยก่อการจลาจลขึ้นในมิลานรวมทั้งเวนิสซึ่งเป็นฐานที่ตั้งการปกครองของออสเตรีย กองทัพประชาชนสามารถขับไล่กองทัพออสเตรียออกจากมิลานได้ภายใน ๕ วัน ซึ่งถือ เป็น ๕ วันแห่งความรุ่งโรจน์ (Five Glorious Days) ต่อมาก็ประสบความสำเร็จในเวนิสและสามารถจัดตั้งสาธารณรัฐวินีเชีย (Venetian Republic) ได้
อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะขับไล่ออสเตรียออกไปจากดินแดนอิตาลีได้ทั้งหมดและเพื่อที่จะรักษารัฐอิสระต่าง ๆ ไว้ให้ได้ก่อนการรวมตัวกันเป็นชาติที่มีเอกภาพ ประชาชนร่วมกันสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต (Charles Albert ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๔๙)* แห่งปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียและสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ ให้เป็นผู้นำในภารกิจดังกล่าวซึ่งเท่ากับต้องทำสงครามกับประเทศคาทอลิกที่ยิ่งใหญ่อย่างออสเตรีย สันตะปาปาไพอัสที่ ๙ ทรงเลือกที่จะวางตนเป็นกลาง ขณะที่พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตทรงตอบรับการเป็นผู้นำอย่างไม่เต็มพระทัยนัก สงครามระหว่างปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียกับออสเตรียดำเนินไปจนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ด้วยชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองทัพออสเตรียในการรบที่เมืองโนวารา (Novara) ทำให้พระเจ้าชาร์ลอัลเบิร์ตต้องสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรสซึ่งเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (Victor Emmanuel II)* กษัตริย์แห่งปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ค.ศ. ๑๘๔๙-๑๘๖๑ ความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ทำลายความหวังของชาวอิตาลีที่จะเห็นปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย เป็นผู้นำการรวมชาติอิตาลีครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ชาวอิตาลีก็ได้ผู้นำที่เขาเคยชื่นชอบและอยู่ในตำนานของนักชาตินิยมผู้เสียสละเพื่อชาติ คือ มัซชีนีซึ่งลอบเข้าประเทศเพื่อร่วมต่อสู้กับพวกเขา โดยมีนักชาตินิยมที่สำคัญอีกคนหนึ่งร่วมด้วย คือ จูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* ในวัยหนุ่มการีบัลดีเคยพบกับมัซซีนีที่เมืองมาร์เซย์และเคยถูกมัซซีนีส่งไปปฏิบัติการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย แต่ประสบความล้มเหลวจนถูกตัดสินประหารชีวิตและหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ในครั้งนี้ การีบัลดีลอบเข้าประเทศเพื่อร่วมต่อสู้กับกองทัพออสเตรียและกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นใหญ่อยู่ในอิตาลี เช่น สันตะปาปาและกษัตริย์ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก สายสเปน นักชาตินิยมอิตาลีประสบความสำเร็จในการขับไล่สันตะปาปาออกจากรัฐที่ปกครองอยู่และจัดตั้งสาธารณรัฐโรม (Roman Republic) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๙ โดยมีคณะผู้บริหารสูงสุด จำนวน ๓ คน (triumvirate) ปกครองสาธารณรัฐ มัซซีนีได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งในคณะผู้บริหาร สันตะปาปาซึ่งเสด็จลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศได้ขอให้ออสเตรีย ฝรั่งเศส และสเปนช่วยเหลือปลดปล่อยรัฐสันตะปาปาจากการยึดครองของพวกที่ถือว่าเป็นกบฏจึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าปราบปรามและทำลายล้างขบวนการชาตินิยม และสามารถทำได้สำเร็จ ภายใน ๕ เดือนโดยนำอิตาลีกลับคืนสู่สถานภาพเดิมมัซชีนีและการีบัลดีต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศอีกครั้งหนึ่งพลังของรีซอร์จีเมนโตแม้จะยังคงมีอยู่ แต่ปฏิบัติการรวมชาติครั้งสำคัญก็ไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้
ในระยะที่ ๓ ของรีชอร์จีเมนโตระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๖๑ ขบวนการชาตินิยมในอิตาลีโชคดีที่ได้ผู้นำใหม่ที่มีความคิดกว้างไกลและมีประสบการณ์อย่างคาวัวร์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีของรัฐปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ แม้ก่อนหน้านี้ คาวัวร์จะมีบทบาทในการแพร่ขยายอุดมการณ์ชาตินิยมและเสรีนิยมด้วยงานเขียนของเขา และบางครั้งก็มีบทบาทในการเสนอแนะความเห็นต่อกษัตริย์เกี่ยวกับการปรับปรุงและปฏิรูปรัฐปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย แต่การเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของรัฐทำให้เขาอยู่ในฐานะที่จะกำหนดการดำเนินแนวนโยบายของรัฐได้โดยตรง และโดยอาศัยความร่วมมือของประชาชนและของรัฐอื่น ๆ ได้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งความล้มเหลวของขบวนการรวมชาติระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๔๙ ก็เป็นบทเรียนที่คาวัวร์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์และปรับกลยุทธ์โนการปฏิบัติการให้เกิดผลสูงสุดต่อการรวมชาติ
คาวัวร์ยังคงมีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าความสำเร็จของการรวมชาติอิตาลีจะต้องอาศัยผู้นำที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะรัฐที่จะนำการขับไล่ออสเตรียออกจากคาบสมุทรควรเป็นรัฐปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียที่จะต้องปรับภาพลักษณ์ให้เป็นรัฐสมัยใหม่ที่พร้อมจะได้รับการยอมรับจากรัฐอิตาลีทั้งมวลรวมทั้งนานาประเทศในยุโรปด้วย เขาเห็นว่าการทำสงครามขับไล่ออสเตรียออกจากคาบสมุทรแล้วโดดเดี่ยวออสเตรียในเวทีการเมืองของยุโรปเป็นสิ่งจำเป็นในการรวมชาติและทำให้ชาติอยู่รอดปลอดภัยในระยะแรกได้ แต่การที่ให้ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเข้มแข็ง มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิก็เป็นสิ่งสำคัญและต้องมาก่อนการทำสงคราม คาวัวร์จึงดำเนินนโยบายการทูตเพื่อยกระดับฐานะของรัฐให้เท่าเทียมรัฐที่มีเอกราชและอำนาจอธิปไตยอื่น ๆ ของยุโรป ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ เขาแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยในการต่อต้านการปกครองที่กดขี่ของออสเตรียในลอมบาร์ดีและวินีเชียด้วยความพยายามที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ขอลี้ภัยขาวอิตาลีที่ถูกทางการออสเตรียยึดทรัพย์สิน แม้จะไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่เขากระทำลงไปในนามของปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๕๕ เขาตัดสินใจนำรัฐของเขาเข้าร่วมกับฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสในสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* แม้จะต้องเสียชีวิตทหารไปจำนวนหนึ่งแต่เกียรติภูมิที่ได้รับคือการยอมรับของมหาอำนาจยุโรปในระหว่างการเจรจาทำสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris ค.ศ. ๑๘๕๖)* ที่เปิดโอกาสให้คาวัวร์เสนอปัญหาอิตาลีและการปกครองอันกดขี่ของออสเตรียซึ่งก็ได้รับความเห็นใจจากผู้เข้าร่วมประชุม
นอกจากการเสริมสร้างเกียรติภูมิดังกล่าว คาวัวร์ยังเห็นว่าการรวมชาติอิตาลีที่มีมหาอำนาจอย่างออสเตรียเข้ามาเกี่ยวข้องคงทำได้ยากถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอื่น ใน ค.ศ. ๑๘๕๘ เขาจึงดำเนินการทางการทูตโน้มน้าวให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๑)* แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ให้สัญญาอย่างลับ ๆ กับเขาในอันที่จะช่วยเหลือปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียในกรณีที่เกิดสงครามกับออสเตรีย โดยฝรั่งเศสจะได้ซาวอยและนีซเป็นการตอบแทนต่อมาในต้น ค.ศ. ๑๘๕๙ เขาก็ได้ทำกติกาสัญญาพันธมิตรเพื่อป้องกันตนเอง (Defensive Alliances) กับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ สงครามระหว่างปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียกับออสเตรียก็เริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน โดยคาวัวร์รั้งตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ก่อนเกิดสงครามคาวัวร์ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศตามแนวทางเสรีนิยมและหันมาให้ความสนใจในนโยบายการดึงประชาชนมาเป็นพันธมิตรและมีส่วนร่วมในการรวมชาติ ใน ค.ศ. ๑๘๕๖ เขาได้จัดตั้ง “สมาคมแห่งชาติ” (National Society) ซึ่งมีสาขาอยู่ในเมืองต่าง ๆ เพื่อชักจูงให้ชาวอิตาลีร่วมมือกันในการรวมชาติและการทำสงครามกับออสเตรียในการนี้คาวัวร์ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากประชาชนชาวอิตาลีรวมทั้งจากการีบัลดีซึ่งเดินทางกลับเข้าประเทศ ใน ค.ศ. ๑๘๕๔ หลังจากลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกาและเปรูเป็นเวลาหลายปี เขากลับเข้ามาตั้งรกรากและตั้งใจจะใช้ชีวิตอย่างสงบที่เกาะกาเปรรา (Caprera) ริมส่งทะเลตอนเหนือของซาร์ดิเนีย แต่ต่อมาก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ขณะเดียวกันก็จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครเสื้อแดงจำนวน ๑,๐๐๐ คนที่รู้จักกันในนาม "Thousand” ซึ่งเชี่ยวชาญในการทำสงครามกองโจรแบบเคลื่อนที่เร็วและได้ผลดีเยี่ยมในปฏิบัติการเฉพาะกิจ
ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ เมื่อสงครามระหว่างปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียกับออสเตรียเริ่มต้นขึ้น ชาวอิตาลีพร้อมใจกันต่อสู้ในนามของราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียจนสามารถขับไล่กองทัพออสเตรียออกจากอิตาลีตอนเหนือและตอนกลางได้ทั้งหมดยกเว้นวินีเชีย ต่อมา ก็สามารถรวมรัฐอิสระในอิตาลีตอนเหนือและตอนกลางยกเว้นรัฐสันตะปาปา สำหรับอิตาลีตอนใต้อันประกอบด้วยเนเปิลส์และราชอาณาจักรซิซีลีทั้งสองสามารถรวมได้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังอาสาสมัครของการีบัลดีร่วมกับชาวอิตาลีใต้ “ราชอาณาจักรอิตาลี” จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ โดยมีพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ เป็นกษัตริย์องค์แรกของประเทศมีคาวัวร์เป็นอัครมหาเสนาบดี และมีตูริน (Turin) เมืองหลวงของปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นเมืองหลวงของประเทศ สำหรับนีชกับซาวอยก็ได้มีการขอประชามติจากประชาชนซึ่งเสียงส่วนใหญ่ขออยู่กับฝรั่งเศสตามกติกาสัญญาที่ได้ทำกันไว้ระหว่างประเทศทั้งสอง ความใฝ่ฝันของนักชาตินิยมอิตาลี ได้กลายเป็นความจริงในระดับที่น่าพอใจ หลังจากที่ได้ลงรากฐานและต่อสู้มายาวนานประมาณครึ่งศตวรรษ
รีซอร์จีเมนโตระยะที่ ๔ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๗๐ แสดงถึงพลังความร่วมมือร่วมใจของชาวอิตาลีในฐานะเป็นพลเมืองของราชอาณาจักรที่มีความเป็นเอกภาพเป็นครั้งแรกเป็นพลังของการสร้างชาติ การฟื้นฟูอารยธรรมที่เคยเป็นรากฐานของชนชาติที่ยิ่งใหญ่มาแต่โบราณ และการทำให้ชาติเป็นปึกแผ่นมั่นคง นอกจากนี้ รีซอร์จีเมนโตในระยะที่ ๔ นี้ ยังหมายถึงการสืบสานภารกิจการรวมชาติในส่วนที่เหลืออยู่มั่นคือการรวมวินีเชียและรัฐสันตะปาปาในยุคหลังสมัยคาวัวร์ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑ ปัญหาการรวมรัฐทั้งสองก็เป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่อาจบานปลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้ง่าย เนื่องจากวินีเชียยังคงถูกออสเตรียปกครอง ขณะที่โรมเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคาทอลิกทั่วโลกและมีกองกำลังของฝรั่งเศสดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่ อิตาลีจึงต้องใช้นโยบายการทูตช่วยให้สถานการณ์ต่าง ๆ เข้าข้างอิตาลีให้มากที่สุด ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ เกิดสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War)* ระหว่างปรัสเซียกับออสเตรีย อิตาลีตัดสินใจเข้าร่วมโดยเป็นฝ่ายปรัสเซียและใช้การทูตตกลงไว้ล่วงหน้ากับปรัสเซียขอแคว้นวินีเชียในกรณีออสเตรียแพ้สงครามซึ่งก็เป็นไปตามนั้น อิตาลีจึงสามารถรวมวินีเชียได้สำเร็จในปีเดียวกันสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียทำให้ฝรั่งเศสต้องถอนกำลังทหารออกจากโรมตั้งแต่เริ่มสงคราม อิตาลีจึงถือโอกาสเข้ายึดครองกรุงโรมและประกาศให้โรมเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศใน ค.ศ. ๑๘๗๐ ขณะที่รัฐอุมเบรียและมาร์เชสแสดงประชามติขอเข้าร่วมกับราชอาณาจักรอิตาลี อย่างไรก็ดี “ปัญหากรุงโรม” (Roman Question) ยังไม่ยุติ เนื่องจากสันตะปาปายังไม่ยอมรับการสูญเสียอำนาจอธิปไตยในทางโลกของพระองค์ จึงทำให้เกิดความร้าวฉานระหว่างรัฐบาลอิตาลีกับสันตะปาปาอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยที่เบนีโต อามิลกาเร อันเดรอา มุสโสลีนี (Benito Amilcare Andrea Mussolini)* เป็นผู้นำประเทศ และยอมอ่อนข้อให้แก่คริสตจักรโรมันคาทอลิก โดยทำความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๒๙ (Concordat 1929)* หรือสนธิสัญญาลาเทอรัน (Treaty of Lateran)* ยอมรับเอกราชของรัฐวาติกันที่สันตะปาปาเป็นประมุข
รีซอร์จีเมนโตได้แสดงพลังของความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันเป็นชาติที่มีเอกภาพ อธิปไตย และความเจริญงอกงามของอารยธรรมแห่งชนชาติอิตาลีได้เกือบจะสมบูรณ์ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ เพียงแต่ยังมีดินแดนอีกบางส่วนที่ชาวอิตาลีเรียกว่า “อิตาลีที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย” (Italia Irredenta - Unredeemed Italy) ประกอบด้วยเตรนตีโน (Trentino) อิสเตรีย (Istria) และทิโรลใต้ (South Tyrol) ซึ่งมีชนชาติอิตาลีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และยังคงอยู่ในความยึดครองของออสเตรีย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ประเทศมหาอำนาจหันมาใช้หลักการกำหนดด้วยตนเอง (Self-determination) โดยอาศัยเชื้อชาติ ทำให้สนธิสัญญาสันติภาพหลังสงครามอย่างสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of st. Germain ค.ศ. ๑๙๑๘)* ที่ประเทศชนะสงครามทำกับออสเตรียในฐานะผู้แพ้สงครามได้กำหนดให้ออสเตรียถูกแบ่งแยกและมีผลให้ดินแดนทั้งสามตกเป็นของอิตาลี สนธิสัญญาดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นการทำให้ขบวนการรีซอร์จีเมนโตจบลงได้อย่างสมบูรณ์.