ความตกลงไตรภาคีเป็นข้อตกลงหรือการสร้างพันธไมตรีที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ระหว่างจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic)* และสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (United Kingdom of Great Britain and Ireland) ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้อังกฤษได้ลงนามในความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส (AngloFrench Entente)* หรือความตกลงฉันมิตร ค.ศ. ๑๙๐๔ (Entente Cordiale 1904)* ส่วนฝรั่งเศสก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี (Dual Alliance)* ค.ศ. ๑๘๙๔ หรือสนธิสัญญาพันธไมตรี ฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russo Alliance)* เพื่อตอบโต้กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจประกอบด้วยจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และราชอาณาจักรอิตาลีซึ่งได้ร่วมกันทำสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* ใน ค.ศ. ๑๘๘๒ การจัดตั้งความตกลงไตรภาคีเป็นการสร้างพันธมิตรทางทหารเพื่อการป้องกัน (defensive alliance) ซึ่งเกิดจากความไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี โดยเฉพาะเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีได้ดำเนินนโยบายขยายอำนาจ โดยเยอรมนีได้มีการขยายกองทัพเรือและกำลังทหาร ต่อมาญี่ปุ่นและโปรตุเกสร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคีด้วย ในชั้นแรกกลุ่มความตกลงไตรภาคีมีเป้าหมายที่จะรักษาดุลแห่งอำนาจและสันติภาพแต่ไม่อาจทัดทานการดำเนินนโยบายที่ก้าวร้าวของฝ่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีได้ จนนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๔
ความตกลงไตรภาคีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ เป็นการรวมตัวเป็นพันธมิตรกันระหว่างฝรั่งเศสรัสเซียและอังกฤษเป็นกระบวนการของการทำสนธิสัญญา ๓ ฉบับ ได้แก่ ๑. สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ หรือสนธิสัญญาพันธไมตรีฝรั่งเศส-รัสเซียลงนามเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๑๘๙๔ ๒. ความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศสหรือความตกลงฉันมิตร ค.ศ. ๑๙๐๔ ลงนามเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๓. ความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย (Anglo-Russian Entente)* ลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๗
ความตกลงทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการผูกพันธไมตรีของมหาอำนาจฝรั่งเศส รัสเซียและอังกฤษ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน การคานอำนาจกับมหาอำนาจเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการีและอิตาลี รวมทั้งการวางมาตรการหรือความตกลงในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ระหว่างกัน สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ เกิดขึ้นหลังจากไกเซอร์วิลเลียม ที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘–๑๘๑๘)* ทรงปฏิเสธที่จะต่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treaty)* กับเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๘๙๐ อันเป็นการยุติ ระบบบิสมาร์ค (Bismarckian System)* ที่เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งเยอรมนีใช้ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่จะโดดเดี่ยวฝรั่งเศสไม่ให้มีพันธมิตรที่จะทำสงครามล้างแค้นกับเยอรมนีซึ่งสร้างความอับอายให้แก่ฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๑)* การปฏิเสธของเยอรมนีในการต่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีจึงทำให้รัสเซียต้องแสวงหาพันธมิตรใหม่เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับประเทศสมาชิกสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีค.ศ. ๑๘๘๒ที่ประกอบด้วยเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี ทั้งมองเห็นเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีเป็นคนละค่ายกับตน กอปรกับรัสเซียได้รับรู้เงื่อนไขลับในสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๗๙ (Dual Alliance 1879)* ระหว่างเยอรมนีกับออสเตรีย-ฮังการีที่เยอรมนีจะไม่รักษาความเป็นกลางในกรณีที่รัสเซียก่อสงครามกับออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียจึงเห็นว่ามหาอำนาจทั้งสองเป็นคนละค่ายกับตนกอปรกับรัสเซียกำลังบาดหมางกับออสเตรีย-ฮังการีในปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* จึงคิดหาพันธมิตรใหม่ ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสซึ่งดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับรัสเซียยังให้รัสเซียกู้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุนในกิจการรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway) จึงทำให้ทั้ง ๒ ประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก จนในที่สุดรัสเซียก็ได้ผูกไมตรีกับฝรั่งเศสแทนและร่วมทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ เพื่อคานอำนาจกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศสดังกล่าวนอกจากจะเป็นการยุติการอยู่อย่างโดดเดี่ยวของฝรั่งเศสที่ดำเนินมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ยังทำให้รัสเซียเป็นพันธมิตรประเทศแรกของฝรั่งเศสที่มีสนธิสัญญาผูกมัดกันนอกจากนี้ยังทำให้เห็นการแบ่งมหาอำนาจยุโรปออกเป็น ๒ ฝ่ายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ความตกลงไตรภาคี ค.ศ. ๑๙๐๗ อีกด้วย
สาระสำคัญของสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ คือ ในกรณีที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีหรืออิตาลีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีโจมตี รัสเซียจะใช้กำลังทั้งหมดโจมตีเยอรมนี ในกรณีเดียวกันหากรัสเซียถูกเยอรมนีหรือออสเตรีย-ฮังการีซึ่งได้รับการสนับสนุนโจมตี ฝรั่งเศสจะใช้กำลังทั้งหมดโจมตีเยอรมนีด้วย ในกรณีที่กองทัพของภาคีสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีทุกประเทศหรือแม้แต่ภาคีสมาชิกเพียงประเทศเดียวเรียกระดมพล ฝรั่งเศสและรัสเซียจะต้องระดมพลทั้งหมดเต็มกำลังและส่งทหารเข้าประจำการพรมแดนเร็วที่สุดที่จะกระทำได้ ในการทำสงครามกับเยอรมนี ฝรั่งเศสต้องมีทหารจำนวน ๑,๓๐๐,๐๐๐ นาย ส่วนรัสเซีย ๗๐๐,๐๐๐–๘๐๐,๐๐๐ นาย โดยประเทศภาคีสมาชิกทั้งคู่จะใช้กำลังทั้งหมดต่อสู้กับเยอรมนีพร้อม ๆ กันทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก กรมเสนาธิการทหารบกของฝรั่งเศสและรัสเซียจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกำลังกองทัพของฝ่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีและเตรียมแผนการรบไว้ ทั้ง ๒ ประเทศจะไม่แยกกันทำสัญญาสงบศึกกับฝ่ายภาคีสมาชิกสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้ต้องเก็บเป็นความลับและมีอายุเท่ากับสนธิสัญญาไตรภาคีของฝ่ายตรงข้าม
ในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อังกฤษและฝรั่งเศสต่างดำเนินนโยบายลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* ในการแสวงหาอาณานิคมนอกทวีปยุโรป และมักมีกรณีขัดแย้งและกรณีพิพาทกันอยู่เนืองๆทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศตึงเครียดโดยเฉพาะในเหตุการณ์ฟาโชดา (Fashoda Incident ค.ศ. ๑๘๙๘–๑๘๙๙)* กอปรกับในต้นทศวรรษ ๑๘๙๐ เป็นต้นมา ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งทรงไม่เข้าใจกลไกของการวางนโยบายทางการทูตที่ซับซ้อนของบิสมาร์คที่จะรักษาดุลแห่งอำนาจที่มีเยอรมนีเป็นศูนย์กลางทรงมีนโยบายที่จะขยายอำนาจและอิทธิพลของเยอรมนีไปทั่วโลก และทรงสนับสนุนการขยายอำนาจของออสเตรีย-ฮังการีในยุโรปตะวันออก ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้อังกฤษไม่สามารถดำเนินนโยบายอยู่โดดเดี่ยวอย่างงามสง่า (Splendid Isolation)* อีกต่อไป และต้องการสร้างความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสในการปกป้องผลประโยชน์ที่ได้รับจากอาณานิคมของตน ทั้งจะเป็นการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทอย่างรุนแรงระหว่างกันด้วย ดังนั้นจึงหันมาปรับความเข้าใจกันในเรื่องนี้ และได้ทำการตกลงฉันมิตรต่อกัน โดยอาศัยอนุสัญญาและปฏิญญาอันเป็นที่มาของความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ๒ ประเทศ ได้แก่ ร่วมกันรับประกันบูรณภาพแห่งอาณาเขตและเอกราชของสยามให้เป็นรัฐกันชนระหว่างอาณานิคมของมหาอำนาจทั้งสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แก้ไขปัญหาอียิปต์และโมร็อกโก ปัญหาหมู่เกาะนิวเฮบริดิส สิทธิการประมงที่หมู่เกาะนิวฟันด์แลนด์ ปัญหาดินแดนแอฟริกาตะวันตก และปัญหามาดากัสการ์และแซนซีบาร์
ความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองให้แน่นแฟ้นและเป็นการเปลี่ยนนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑)* เป็นมิตรไมตรีกับเยอรมนีซึ่งไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ เป็นพระราชนัดดามาเป็นฝรั่งเศสแทนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑–๑๙๑๐)* ได้เสด็จเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ซึ่งพระองค์ทรงให้คำมั่นว่าอังกฤษจะให้ความร่วมมือกับฝรั่งเศสในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มีต่อกันเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การเสด็จเยือนฝรั่งเศสในครั้งนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศทั้งสองเป็นอันมาก อีก ๓ เดือนต่อมา ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เดินทางไปเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นการปูทางสำหรับการเจรจาทำความเข้าใจอันดีต่อกันและการลงนามในความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๙๐๔
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสดังกล่าวยังเป็นหนทางให้รัสเซียซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ ต้องหันมาปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศที่มีต่ออังกฤษอีกด้วย กล่าวคือ อังกฤษและรัสเซียต่างมีเรื่องขัดแย้งในด้านผลประโยชน์ในตะวันออกกลางพรมแดนอินเดีย และตะวันออกไกลอยู่เนือง ๆ การผูกไมตรีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสทำให้รัสเซียเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องสมานไมตรีกับอังกฤษด้วย เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคีในการรวมตัวเพื่อป้องกันและต่อสู้กับอำนาจที่สามคือเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีสัมฤทธิ์ผล ประกอบกับใน ค.ศ. ๑๙๐๕ รัสเซียยังพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War)* อีกด้วยดังนั้น รัสเซียเห็นความจำเป็นที่ต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับอังกฤษและดำเนินนโยบายเป็นมิตรด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ รัสเซียจึงเปิดการเจรจากับอังกฤษและได้ลงนามในความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย อันก่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างมหาอำนาจทั้งสาม คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาว่าฝ่ายความตกลงไตรภาคี เพื่อคานอำนาจของกลุ่มสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี อีก ๑ ปีต่อมา พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ ได้เสด็จเยือนจักรวรรดิรัสเซียอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔–๑๙๑๗)* และทรงได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง ซึ่งทำให้สัมพันธไมตรี ระหว่าง ๒ มหาอำนาจแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและส่งผลดีต่อความตกลงไตรภาคีด้วย
ดังนั้น หลังการแบ่งค่ายของมหาอำนาจทั้ง ๒ กลุ่มเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนใน ค.ศ. ๑๙๐๗ เมื่อ เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศขึ้นนับตั้งแต่การผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina) ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ประเทศที่สังกัดในแต่ละค่ายจะเข้าช่วยเหลือพันธมิตรของตน มีการแข่งขันกันแสวงหาอำนาจและดินแดนโดยเฉพาะในดินแดนตะวันออกใกล้ การสะสมอาวุธ รวมถึงการเสริมสร้างแสนยานุภาพทั้งทางบกและทางทะเล มหาอำนาจแต่ละประเทศจึงหวาดระแวงกันและต่างอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้าในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ และไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่กัน ซึ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างกันบานปลายมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นข้อพิพาทที่รุนแรง การลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและพระชายา จึงกลายเป็นเหตุให้ออสเตรีย-ฮังการีที่มีเยอรมนีเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งกล่าวหาว่ารัฐบาลเซอร์เบียอยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์และประกาศสงครามต่อเซอร์เบียทำให้กลุ่มความร่วมมือไตรภาคีเคลื่อนไหวมีการเรียกระดมพลที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ โดยฝ่ายความตกลงไตรภาคีได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มมหาอำนาจสัมพันธมิตร (Allied Powers)* ส่วนกลุ่มสนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคีเป็นกลุ่มมหาอำนาจกลาง (Central Powers)*
ความตกลงไตรภาคี ค.ศ. ๑๙๐๗ สิ้นสุดลงโดยปริยายเมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ในรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๑๗ หลังรัสเซียเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์และเรียกชื่อประเทศว่าสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย (Russian Socialist Federative Soviet Republic)* วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำรัฐบาลโซเวียตเห็นความจำเป็นที่รัสเซียต้องถอนตัวออกจากสงครามเพื่อรัฐบาลโซเวียตสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่และเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองให้มั่นคง รัฐบาลโซเวียตจึงขอเปิดการเจรจาทำสนธิสัญญาสงบศึกกับประเทศมหาอำนาจกลางและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of BrestLitovsk)* เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งทำให้รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้สำเร็จการแยกตัวจากฝ่ายมหาอำนาจสัมพันธมิตรในการทำสนธิสัญญาสันติภาพดังกล่าวนับเป็นการละเมิดความตกลงที่ทำไว้ในสนธิสัญญากับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ.