โจเซฟ วิสซารีโอโนวิช สตาลิน เป็นนักปฏิวัติรัสเซียเชื้อสายจอร์เจียและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๕๓ เป็นผู้นำเผด็จการที่ปกครองสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๕๓ สตาลินมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบอบสังคมนิยมโซเวียตตามแนวความคิด “สังคมนิยมภายในประเทศเดียว” (Socialism in One Country) จนประสบความสำเร็จและทำให้สหภาพโซเวียตเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมที่ล้าหลังเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สตาลินร่วมมือกับประเทศพันธมิตรตะวันตกทำสงครามกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีจนมีชัยชนะ หลังสงครามสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตกลายเป็นประเทศอภิมหาอำนาจ และสามารถขยายอำนาจและอิทธิพลเข้าไปครอบครองประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามเย็น (Cold War)* ชื้นทั้งทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามยุโรปและโลกเป็นเวลาหลายทศวรรษ
สตาลินซึ่งมีชื่อจริงว่า อิออซิฟ วิสซารีโอโนวิช ดจูกัชวีลี (Iosif Vissarionovich Dzhugashvili) เกิดในครอบครัวยากจนที่หมู่บ้านในเมืองกอรี (Gori) ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงบริเวณเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) แคว้นจอร์เจีย (Georgia) เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๙ บิดาเป็นช่างรองเท้าที่มีบรรพบุรุษเป็นทาสติดที่ดิน เขาเป็นคนขี้เหล้าและมักทุบตีภรรยาและบุตรเพื่อระบายอารมณ์เยคาเตรีนา (Yekaterina) หรือเคเค (Keke) มารดามาจากครอบครัวชาวนา เธอเป็นคนเข้มแข็งและการที่บุตรชาย ๒ คนเสียชีวิตเมื่อแรกเกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันทำให้เธอรักและทะนุถนอมสตาลินซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ ๓ อย่างมาก เมื่อสามีเมาสุราและหาเรื่องเธอกับลูก เคเคจะปกป้องบุตรชายด้วยการนำไปช่อนไว้ที่บ้านญาติและต่อมาก็ตอบโต้และสู้กับสามีจนกลายเป็นเรื่องปรกติในที่สุด บางครั้งสตาลินจะปกป้องแม่และตนเองจากการทุบตีของบิดาด้วยการใช้มีดหรืออาวุธอื่น ๆ ขว้างใส่บิดา ความรุนแรงในครอบครัวและการอาศัยอยู่ในเมืองที่ผู้คนมีชีวิตอัตคัด มีอาชญากรรมและความรุนแรงตามท้องถนน มีส่วนทำให้สตาลินเป็นเด็กก้าวร้าวและหยาบคาย บิดาและมารดายังมีส่วนบ่มเพาะความรู้สึกเกลียดชังยิวให้แก่บุตรชายด้วยเพราะบิดามีปัญหาทางธุรกิจกับชาวยิวเนื่องจากช่างตัดรองเท้าชาวยิวที่มีฝีมือดีได้แย่งลูกค้าส่วนใหญ่ไป บิดาจึงเกลียดชังยิวมาก ส่วนมารดาก็ไปกู้หนี้ยืมสินจากชาวยิวซึ่งเรียกเก็บดอกเบี้ยแพง เมื่อผิดชำระดอกเบี้ยก็จะมายึดสิ่งของในบ้านใน ค.ศ. ๑๘๘๖ เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ สตาลินป่วยเป็นฝีดาษซึ่งทำให้เขามีแผลเป็นที่ใบหน้า ในเวลาต่อมาเมื่อตำรวจตามล่าเขาก็จะตั้งฉายาให้ว่า “ไอ้หน้าปรุ” เมื่อเป็นผู้นำประเทศสตาลินก็จะให้ช่างภาพลบรอยแผลเป็นก่อนเผยแพร่ภาพเขา
ในช่วงอายุประมาณ ๖-๗ ปี บิดาเมาสุราและทะเลาะวิวาทกับตำรวจซึ่งเห็นอกเห็นใจเคเค ตำรวจจึงบังคับให้เขาออกไปจากเมืองแทนการติดคุก มารดาจึงเป็นเสาหลักของครอบครัวและต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่รายได้ก็ไม่พอเพียงจนต้องขายบ้านและย้ายไปอยู่บ้านเช่า อย่างไรก็ตาม มารดาซึ่งต้องการเห็นบุตรชายมีอนาคตได้นำสตาลินไปฝากเรียนกับสามเณราลัยแห่งกอรีเพื่อให้เขาได้เป็นพระ สตาลินมีรูปร่างเล็กแต่กำยำ เป็นคนสมถะและชอบชีวิตเรียบง่ายเขาเรียนเก่งและชอบอ่านหนังสือโดยเฉพาะหนังสือประวัติบุคคลสำคัญของจอร์เจีย เขาสอบได้ที่ ๑ เสมอและสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนยอดเยี่ยมใน ค.ศ. ๑๘๙๔ เขาได้รับทุนเข้าเรียนต่อที่สามเณราลัยแห่งทิฟลิส (Tiflis Seminary) ณ ที่นี้สตาลินซึ่งชอบกวีนิพนธ์เริ่มเขียนบทกวีอย่างจริงจังและส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยใช้นามปากกาว่า “โคบา” (Koba) ซึ่งเป็นชื่อจอมโจรชาวจอร์เจียที่ปล้นคนรวยเพื่อช่วยคนจนและเป็นวีรบุรุษที่เขาชื่นชม เขายังมีโอกาสรู้จักกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่หนีภัยทางการเมืองมาซ่อนตัวที่เมืองทิฟลิส ปัญญาชนเหล่านี้โน้มน้าวเขาให้สนใจแนวความคิดลัทธิมากซ์ (Marxism)* และงานเขียนของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำกลุ่มลัทธิมากซ์คนสำคัญในขณะนั้น สตาลินจึงเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มลัทธิมากซ์ในทิฟลิสและได้รับหน้าที่ให้เคลื่อนไหวทางความคิดในสามเณราลัย เขาเริ่มขาดเรียนและหมกมุ่นกับกิจกรรมทางการเมืองจนในที่สุดก็ถูกไล่ออกใน ค.ศ. ๑๘๙๙
หลัง ค.ศ. ๑๘๙๙ สตาลินซึ่งใช้ชื่อจัดตั้งว่าโคบาเป็นนักปฏิวัติเต็มตัวและเดินทางไปเคลื่อนไหวทางความคิดในหมู่กรรมกรแถบทรานส์คอเคเซีย (Transcaucasia) ทั้งพยายามจัดตั้งกลุ่มลัทธิมากซ์ขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ สตาลินทราบข่าวจากสหายนักปฏิวัติที่เพิ่งถูกเนรเทศไปไซบีเรียว่ากลุ่มลัทธิมากซ์ของเลนินประสบความสำเร็จในการจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Worker’s Party-RSDLP)* แต่ก็มีปัญหาขัดแย้งเรื่องแนวนโยบายซึ่งทำให้พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียแตกแยกเป็นพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ที่มีเลนินเป็นผู้นำกับพรรคเมนเชวิค (Mensheviks)* ที่มียูลี มาร์ตอฟ (Yuly Martov)* เป็นผู้นำ ทั้งบอลเชวิคและเมนเชวิคต่างอ้างเป็นพรรคปฏิวัติในนามของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียสตาลินจึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มของเลนิน ในระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๐๔ สตาลินพบรักและแต่งงานกับเอคาเตรีนา สวันดีเซ (Ekaterina Svandize) สาวโรงงาน หลังให้กำเนิดบุตรชายใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ได้ไม่นานนัก ภรรยาก็เสียชีวิตด้วยวัณโรค สตาลินจึงยกบุตรให้ญาติภรรยาเลี้ยงดู
เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๐๔ และรัสเซียเป็นฝ่ายเพลี่ยงพลํ้าในการรบอย่างต่อเนื่อง ความพ่ายแพ้ในสงครามเปิดโอกาสให้ขบวนการปฏิวัติเคลื่อนไหวปลุกระดมต่อต้านรัฐบาลของซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* และเรียกร้องให้กรรมกรนัดหยุดงาน ในช่วงที่ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมขยายตัวไปทั่วประเทศ สตาลินได้หลบหนีจากไซบีเรียกลับมาเมืองทิฟลิส และเป็นแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องให้ปลดปล่อยจอร์เจียเป็นเอกราชจากจักรวรรดิรัสเซียรวมทั้งโจมตีเมนเชวิค ต่อมา เมื่อเขาทราบข่าวเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สตาลินก็จัดการชุมนุมของกรรมกรเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องทางการเมืองของบาทหลวงเกออร์กี อะปอลโลโนวิช กาปอน (Georgy Apollonovich Gapon)* จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับกองทหารคอสแซค (Cossack)* มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกว่า ๑๐๐ คน
บทบาทของสตาลินในการปลุกระดมและชี้นำกรรมกรให้เคลื่อนไหวนัดหยุดงานทำให้พรรคบอลเชวิคส่งเขาไปบุกเบิกการจัดตั้งทางความคิดในหมู่กรรมกรทางภาคตะวันตกของจอร์เจียซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของเมนเชวิค สตาลินสามารถเจาะฐานเสียงของเมนเชวิคได้หลายเมืองภายในเวลาอันรวดเร็วเขายังจัดตั้งหน่วยต่อสู้และกลุ่มปฏิบัติการพิเศษขึ้นตามเมืองต่าง ๆ เพื่อก่อกวนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทำหน้าที่เก็บค่าคุ้มครองจากพวกคนรวยเพื่อหาเงินเข้าพรรค ทั้งปล้นธนาคารและดักปล้นบนถนนหลวง แม้เลนินจะเห็นชอบกับการหาเงินเข้าพรรคด้วยวิธีการดังกล่าว แต่แกนนำพรรคหลายคนก็ต่อต้านเพราะเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมซึ่งทำลายชื่อเสียงของขบวนการปฏิวัติ ใน ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๐๖ สตาลินเป็นผู้แทนพรรคจากภูมิภาคทรานส์ คอเคเซียไปร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียที่กรุงลอนดอนและมีโอกาสได้พบกับเลนินเป็นครั้งแรก ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๕ ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียที่กรุงลอนดอน ในปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ สตาลินมีโอกาสได้พบกับเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ซึ่งเพิ่งแยกทางกับกลุ่มเมนเชวิคเป็นครั้งแรก เขาไม่ถูกชะตากับตรอตสกีเท่าใดนักและบอกกับสหายสนิทในเวลาต่อมาว่า ตรอตสกีดูเย่อหยิ่งและเชื่อมั่นในตนเองสูง ในการประชุมใหญ่ครั้งนี้มีการอภิปรายเรื่องการปล้นธนาคารในแถบคอเคซัสเพื่อนำเงินมาสนับสนุนพรรคซึ่งสตาลินมีส่วนเกี่ยวข้อง ในช่วงที่มีการอภิปรายโต้แย้งอย่างดุเดือดระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ต่อต้านวิธีการดังกล่าว สตาลินแทบจะไม่กล่าวแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ประชุมจึงมีมติในท้ายที่สุดให้ยุบหน่วยต่อสู้และกลุ่มปฏิบัติการพิเศษ หลังการประชุมใหญ่ครั้งนี้ เลนินสั่งสตาลินให้เน้นการเคลื่อนไหวปฏิวัติในระดับชาติมากกว่าในระดับท้องถิ่น และชี้แนะให้เขาเริ่มเขียนงานการเมืองเป็นภาษารัสเซียแทนภาษาจอร์เจียเพื่อสร้างความเข้าใจกับมวลชนในระดับกว้างมากขึ้น
เมื่อสตาลินกลับมาถึงเมืองทิฟลิส ในเดือนกรกฎาคมเขาก็เตรียมการปล้นธนาคารอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย เพราะทราบจากสายข่าววงในธนาคารว่าจะมีการขนเงินกว่า ๓๐๐,๐๐๐ รูเบิลมายังธนาคารชาติสาขาทิฟลิส สตาลินลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคชั่วคราวเพราะไม่ต้องการขัดมติพรรคที่ห้ามเรื่องการปล้นธนาคาร เขาประสบความสำเร็จในการปล้น และพลพรรคเขาสังหารคนไป ๕๐ คน สตาลินส่งเงินส่วนใหญ่ไปให้เลนินและส่วนที่เหลือแบ่งสันกับพลพรรคและเป็นค่าใช้จ่ายในการหลบหนี กลุ่มเมนเชวิคเสนอให้คณะกรรมการกลางพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียสอบสวนเรื่องดังกล่าวและให้ขับสตาลินออกจากพรรคแต่ก็ล้มเหลว เพราะสตาลินอ้างว่าเชาปฏิบัติการโดยส่วนตัวและไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค การปล้นธนาคารครั้งนี้ทำให้ตำรวจตามล่าเขาอย่างหนักและในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๘ สตาลินก็ถูกจับและถูกตัดสินลงโทษไปไซบีเรีย ๒ ปี อย่างไรก็ตาม ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๙ เขาหลบหนีได้และกลับไปเคลื่อนไหวที่เมืองบาคุ (Baku) แต่ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๐ ก็ถูกจับกุมอีกครั้งทั้งถูกตัดสินให้ส่งกลับไปรับโทษที่ไซบีเรียและห้ามเดินทางเข้ามาในภูมิภาคคอเคซัสเป็นเวลา ๕ ปี ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๑ สตาลินพยายามหลบหนีอีกครั้งแต่ล้มเหลวและต้องรับโทษจนครบกำหนดเวลา
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๒ มีการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๖ ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียที่กรุงปราก เชโกสโลวะเกีย เพื่อหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน มติสำคัญของการประชุมคือให้ขับพรรคเมนเชวิคออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย และให้บอลเชวิคเป็นผู้แทนที่ชอบธรรมของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียโดยเรียกชื่อใหม่ว่า พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค) มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางบอลเชวิคขึ้น ๖ คนเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเคลื่อนไหว และการจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันสำหรับกรรมกรเพื่อลักลอบนำไป เผยแพร่ในประเทศโดยใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ว่า Pravda ในเวลาต่อมาเลนินได้เสนอให้มีการเพิ่มจำนวนของคณะกรรมการกลางพรรคจาก ๖ คนเป็น ๑๒ คนและเขาเสนอชื่อสตาลินให้เป็นกรรมการกลางด้วย เลนินยังสั่งให้สตาลินมาทำงานเคลื่อนไหวในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและให้รับผิดชอบการจัดทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของบอลเชวิค อย่างไรก็ตาม ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๒ สตาลินถูกจับอีกครั้งและถูกเนรเทศไปไซบีเรียเป็นเวลา ๓ ปี เขาอยู่ที่ไซบีเรียได้เดือนเศษก็หลบหนีกลับมากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้อีก สตาลินเสนอให้มีการประนีประนอมกับเมนเชวิคเพื่อผนึกกำลังคานอำนาจกับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา แต่เลนินไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าวและเรียกสตาลินไปพบที่เมืองคราคูฟ (Kraków) ในโปแลนด์ตอนใต้ซึ่งเขาพักอาศัยอยู่เขาอบรมสตาลินเรื่องแนวนโยบายพรรคและให้สตาลินศึกษาค้นคว้าเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อยเพื่อเขียนเป็นหนังสือเผยแพร่
หลังการพบและหารือกับเลนิน สตาลินเดินทางไปกรุงเวียนนาเพื่อคันคว้าเรื่องชนกลุ่มน้อยและได้พบกับนีโคไล บูฮาริน (Nikolai Bukharin)* แกนนำด้านทฤษฏีการเมืองคนสำคัญของพรรคบอลเชวิค คนทั้งสองมักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเรื่องชนกลุ่มน้อยจนทำให้สตาลินสามารถเขียนงานได้สำเร็จโดยให้ชื่อว่า Marxism and the National Question งานเขียนชิ้นนี้พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ โดยใช้นามปากกาว่า “โคบา สตาลิน” และเป็นครั้งแรกที่เขาใช้ชื่อสตาลิน งานเรื่องนี้ทำให้สตาลินได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชนกลุ่มน้อยและทำให้เขามีบทบาทโดดเด่นในวงในพรรค เขาจึงเลิกใช้ชื่อ “โคบา” และใช้ชื่อ “สตาลิน” ซึ่งมีความหมายว่า “บุรุษเหล็ก” (man of steel) นับแต่นั้นมา ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ สตาลินกลับมาเคลื่อนไหวที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะเขาถูกตำรวจลับที่แฝงตัวในองค์การพรรควางแผนจับกุมได้ด้วยชื่อเสียงเรื่องการหลบหนีทำให้สตาลินถูกเนรเทศไปเขตทุรกันดารที่หมู่บ้านตูรูฮันสค์ (Turukhansk) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียเหนือเส้นอาร์กติกเป็นเวลา ๔ ปี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สตาลินพยายามติดต่อกับเลนินหลายครั้งเพื่อให้หาทางช่วยเขาหลบหนี แต่ก็ไม่ได้คำตอบใด ๆ จากเลนินซึ่งทำให้เขาท้อแท้และสิ้นหวัง เขาพยายามหลบหนี ๒-๓ ครั้ง แต่ล้มเหลว ในช่วงที่ต้องโทษที่ไซบีเรีย สตาลินได้พบและรู้จักกับแกนนำพรรคบอลเชวิคหลายคนซึ่งรวมทั้งเลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev)* และยาคอฟ สเวียร์ดลอฟ (Yakov Sverdlov)* เขายังมีรักใหม่อีกครั้งกับสาวชาวนาและมีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน
ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องของรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออกและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศได้นำไปสู่การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ที่ปกครองประเทศกว่า ๓๐๐ ปีล่มสลายลงรัสเซียมีการปกครองแบบทวิอำนาจระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregori Lvov)* เป็นผู้นำกับสภาโซเวียต การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซียเปิดโอกาสให้สตาลินและนักปฏิวัติคนอื่น ๆ ที่ถูกเนรเทศไปไซบีเรียได้กลับมาเคลื่อนไหวที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) อีกครั้ง สตาลินทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือ Pravda ของพรรคบอลเชวิคและเขาสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาลในการดำเนินนโยบายสงครามต่อไปจนกว่าจะมีชัยชนะ อย่างไรก็ตาม เมื่อเลนินซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนีให้กลับมากรุงเปโตรกราดในเดือนเมษายน เรียกร้องให้โค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลและเตรียมก่อการปฏิวัติ สตาลินหันมาสนับสนุนแนวทางของเลนินและช่วยโน้มน้าวองค์การพรรคท้องถิ่นให้เห็นด้วยกับแนวทางปฏิวัติของเลนิน เลนินจึงสนับสนุนสตาลินให้เป็นคณะกรรมการกลางพรรคซึ่งเขาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคบอลเชวิคโดยมีคะแนนเป็นอันดับ ๓ รองจากเลนินและกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* สหายสนิทของเลนิน
การเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามของพรรคบอลเชวิคและการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลที่มีขึ้นไม่ขาดระยะทำให้รัฐบาลตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในกลางเดือนกรกฎาคมและสั่งจับกุมแกนนำพรรคบอลเชวิคเกือบทั้งหมด แต่สตาลินไม่ถูกจับกุม เพราะเขาไม่มีบทบาทโดดเด่นในการเคลื่อนไหวปฏิวัติขณะนั้น ในช่วงที่บอลเชวิคต้องกลับไปเคลื่อนไหวใต้ดินและเลนินหนีออกนอกประเทศทั้งแกนนำคนอื่น ๆ ถูกจับขัง สตาลินมีบทบาทสำคัญในการประสานงานติดต่อกับองค์การพรรคระดับต่าง ๆ ต่อมา เมื่อเกิดเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลขอความร่วมมือจากสภาโซเวียตแห่งเปโตรกราดเพื่อต่อต้านการก่อกบฏของนายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* จนฝ่ายกบฏยอมแพ้ หลังเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอพ่ ฝ่ายปฏิวัติกลับมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งและผู้แทนของฝ่ายบอลเชวิคได้รับเลือกเป็นประธานสภาโซเวียตเปโตรกราดและสภาโซเวียตมอสโกแทนพรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* เลนินซึ่งลี้ภัยที่ฟินแลนด์จึงเรียกร้องให้บอลเชวิคยึดอำนาจ สตาลินจึงเรียกประชุมคณะกรรมการกลางพรรคเพื่อตัดสินและมีมติรับข้อเรียกร้องของเลนินไปปฏิบัติ ในกลางเดือนตุลาคมศูนย์กลางพรรคบอลเชวิคเปิดประชุมเพื่อกำหนดวันลุกฮือ ยึดอำนาจ แม้เสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบเรื่องการยึดอำนาจแต่คาเมเนฟและซีโนเวียฟคัดค้านเพราะเห็นว่าบอลเชวิคยังไม่เข้มแข็งพอ คนทั้งสองนำเรื่องการยึดอำนาจไปเปิดเผยในหน้าหนังสือพิมพ์ ในเวลาต่อมาสตาลินได้ใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้างกำจัดคนทั้งสองโดยกล่าวหาคาเมเนฟและซีโนเวียฟว่าเป็นฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ
หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสังคมนิยมโดยเรียกชื่อประเทศว่า สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative Socialist Republic-RSFSR)* สตาลินได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกิจการประชาชาติ (Commissar of Nationalities Affair) เพื่อรับผิดชอบให้ชนชาติต่าง ๆ ในจักรวรรดิรัสเซียเดิมเข้าร่วมกับรัฐโซเวียตตามหลักการเลือกกำหนดด้วยตนเอง (self-determination) แต่สตาลินกลับเพิกเฉยต่อหลักการดังกล่าวและใช้กำลังบังคับชนกลุ่มน้อยให้เช้าร่วมกับรัฐโซเวียต เขาใช้กลไกรัฐจากส่วนกลางเข้าควบคุมกิจกรรมทางการเมืองและสังคมในดินแดนของชนชาติต่าง ๆ รวมทั้งแต่งตั้งสมาชิกพรรคที่จงรักภักดีต่อเขาไปเป็นหัวหน้าคอมมิวนิสต์ในดินแดนเหล่านั้น ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* สตาลินยังสนับสนุนเลนินให้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศและให้เชกา (Cheka)* หรือหน่วยตำรวจลับเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจการบริหารที่สร้างความหวาดกลัว เขายังใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อข่มขวัญและปราบปรามประชาชนและฝ่ายตรงข้ามให้ยอมรับอำนาจเด็ดขาดของพรรคคอมมิวนิสต์ สตาลินจึงสนิทสนมกับเฟลิกซ์ ดเซียร์จินสกี (Felix Dzerzhinsky)* หัวหน้าเชกาและในเวลาต่อมาดเซียร์จินสกีก็สนับสนุนสตาลินในการรวบอำนาจภายในพรรคและกำจัดฝ่ายตรงข้ามกับสตาลิน
ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้สำเร็จด้วยการยอมลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litovsk)* กับเยอรมนี หลังการลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ รัฐบาลโซเวียตหันมาปรับปรุงกองทัพแดง (Red Army)* ให้เข้มแข็งโดยให้นายทหารจากกองทัพชาร์เข้าร่วมในกองทัพแดง และช่วยฝึกอบรมทหารเกณฑ์ที่เป็นชาวนาและกรรมกร สตาลินต่อต้านแนวการดำเนินงานดังกล่าวเพราะเห็นว่านายทหารจากกองทัพซาร์เป็น“ชนชั้นแปลกแยก” (class alien) ที่ไม่อาจไว้วางใจได้และไม่มีอุดมการณ์ปฏิวัติ เขายังเสนอให้จัดตั้งกองทัพแดงในลักษณะกองโจรเพื่อง่ายต่อการจัดองค์การและการควบคุม แต่เลนินไม่เห็นด้วยกับสตาลินและสนับสนุนแนวนโยบายการปรับปรุงกองทัพแดงที่ตรอตสกีนำเสนอการสนับสนุนของเลนินทำให้สตาลินเป็นปฏิปักษ์กับตรอตสกีมากขึ้น ในระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซียและสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War)* สตาลินดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการนายทหารคอมมิสซาร์ประจำแนวรบด้านตะวันตกเฉียงใต้และรัฐมนตรีว่าการตรวจสอบชาวนาและกรรมกร (People’s Commissar of Workers and Peasants Inspection ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๒) เพื่อควบคุมระบบเศรษฐกิจตามนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* ให้บรรลุผลตลอดจนเป็นสมาชิกสภาปฏิวัติทหารแห่งสาธารณรัฐ (Revolutionary Military Council of the Republic ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๓)
ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ สตาลินแต่งงานกับนาเดจดา อัลลีดเยวา (Nadezhda Alliluyeva) ซึ่งมีอายุน้อยกว่าเชา ๒๒ ปี เธอเป็นบุตรสาวของสหายที่สตาลินเคยมาพักอาศัยด้วยในกรุงเปโตรกราด ในวัยเยาว์สตาลินเคยช่วยชีวิตเธอจากการจมน้ำ นาเดจดาเคารพรักสตาลินในฐานะลุง ในช่วงที่พักอยู่กับครอบครัวนาเดจดา เป็นที่เข้าใจกันว่าเขาข่มขืนเธอและท้ายที่สุดเธอต้องยอมใช้ชีวิตร่วมกับเขา เมื่อก้าวสู่อำนาจทางการเมืองสตาลินซึ่งต้องการสร้างภาพลักษณ์ของชีวิตครอบครัวจึงแต่งงานกับเธอ ทั้งคู่มีบุตรชายและบุตรสาวรวม ๒ คน สตาลินให้ภรรยาทำงานด้านเอกสารและช่วยงานธุรการของนาเดจดา ครุปสกายา (Nadezhda Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนิน ชีวิตคู่ของคนทั้งสองไม่ราบรื่นเพราะสตาลินมักบังคับภรรยาให้ทำตามอารมณ์และความต้องการของเขานาเดจดาต้องการหย่าแต่สตาลินไม่ยินยอมและเธอพยายามหนีจากเขาหลายครั้งแต่ล้มเหลว ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เธอเสียชีวิตด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมอย่างมีเงื่อนงำ นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับเธอที่สถาบันอุตสาหกรรมสตาลิน (Stalin Industrial Academy) ให้ความเห็นในเวลาต่อมาว่าสตาลินอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของเธอ วัสซีลี (Vassili) บุตรชายเป็นนายทหารในกองทัพโซเวียตและเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังใน ค.ศ. ๑๙๖๒ ส่วนสเวตลานา (Svetlana) บุตรสาวซึ่งสตาลินรักหนีออกจากสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๖๗ ไปอยู่สหรัฐอเมริกา
หลังสงครามกลางเมืองยุติลง รัฐบาลโซเวียตประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy-NEP)* เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและปรับกลไกการบริหารงานของพรรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สตาลินได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ (General Secretary) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ และเวียเชสลัฟ โมโลดอฟ (Vyacheslav Molotov)* กับวลาดีมีร์ กุยบืยส์เชฟ (Vladimir Kuibyschev) เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ หน้าที่หลักของเลขาธิการคือรับผิดชอบการจัดเก็บข้อมูลเรื่องต่าง ๆ และจัดระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการกลางพรรครวมทั้งติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการกลางพรรคส่วนท้องถิ่นระดับต่าง ๆ สตาลินได้ใช้ตำแหน่งดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ในการวางรากฐานอำนาจทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกพรรคระดับสูงในเรื่องต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีไว้ ตลอดจนส่งเสริมให้กลุ่มคนที่สนับสนุนเขาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ทางการเมือง ในช่วงที่เลบินล้มป่วยด้วยอาการสมองขาดเลือดจนพูดไม่ได้และแขนกับขาข้างซ้ายเป็นอัมพาต สตาลินจึงเห็นเป็นโอกาสรวบอำนาจการบริหารมาไว้ที่เลขาธิการและลดบทบาทและหน้าที่ของกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับเขาลงโดยโยกย้ายไปประจำที่เขตหัวเมืองที่ห่างไกลจากวงในอำนาจพรรค เลนินเริ่มตระหนักถึงแผนการสร้างอำนาจของสตาลินและพยายามคานอำนาจสตาลินด้วยการเสนอให้แต่งตั้งตรอตสกีเป็นรองนายกรัฐมนตรีซึ่งมีนัยทางการเมืองว่าตรอตสกีคือคนที่เลบินเลือกให้สืบทอดอำนาจ แต่ตรอตสกีปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว
ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ เลนินมีบันทึกถึงคณะกรรมการกลางพรรคเรียกร้องให้ปลดสตาลินออกจากตำแหน่งเลขาธิการและเสนอให้เพิ่มจำนวนสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคจาก ๒๗ คนเป็น ๕๐ คนหรือ ๑๐๐ คน เพื่อป้องกันปัญหาการแตกแยกเป็นกลุ่มเป็นฝ่ายในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง บันทึกของเลนินซึ่งเรียกว่า “พินัยกรรมเลนิน” หรือ “พันธสัญญาเลนิน” (Lenin Testament) ในเวลาต่อมาเป็นหลักฐานสำคัญที่ครุชชอฟนำมาโจมตีสตาลินเพื่อดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของเลนินก็ล้มเหลวเพราะสตาลินสามารถโน้มน้าวสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ให้เพิกเฉยต่อบันทึกของเลนิน และเขายังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการจนถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. ๑๙๕๓ หลังอสัญกรรมของเลนินใน ค.ศ. ๑๙๒๔ สตาลินก็เริ่มดำเนินการกำจัดตรอตสกีคู่แข่งคนสำคัญในพรรคและกลุ่มลัทธิตรอดสกี (Trotskyism)* รวมทั้งกลุ่มบอลเชวิคปีกขวาอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเขามีอำนาจเด็ดขาด ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ สตาลินยังประกาศยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจใหม่และกำหนดใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ฉบับแรก (ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๒) แทนโดยเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมหนักเพื่อเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของโซเวียตเป็นแบบสังคมนิยมและบังคับชาวนาให้เข้าร่วมระบบการผลิตแบบนารวม (collectivization) ความสำเร็จของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปีฉบับแรกที่บรรลุผลก่อนกำหนดภายในเวลา ๔ ปี ๓ เดือนทำให้สหภาพโซเวียตในเวลาต่อมากำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปีฉบับต่อ ๆ มาอีกหลายฉบับ สหภาพโซเวียตได้เปลี่ยนสภาพจากประเทศเกษตรกรรมที่ล้าหลังเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งในเวลาอันรวดเร็วและนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสตาลิน
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๘ ซึ่งเป็นช่วงการแย่งชิงอำนาจภายในพรรค สตาลินพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าเขา เป็นสหายสนิทและสาวกที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเลนินมากที่สุดเพื่อให้เขาเป็นที่ยอมรับมากขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๙ สตาลินมีอายุ ๕๐ ปี สื่อทุกประเภทต่างโหมสดุดีความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของสตาลินและเปรียบเขาเป็นพระเป็นเจ้าของชาวโซเวียต การบูชาสตาลินกลายเป็นศาสนาใหม่ของโซเวียตและภาพเขาปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งและทุก ๆ ที่ สตาลินและพรรคยังหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งทำให้เขาคือศูนย์รวมแห่งอำนาจ แนวความคิดลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality)* ที่สตาลินสร้างขึ้นจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองในระบอบลัทธิสตาลิน (Stalinism) ในช่วงเวลาเดียวกัน สตาลินยังรณรงค์เรื่องการสร้างสังคมนิยมในประเทศเดียวเพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวความคิด “การปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ของตรอตสกีเป็นสิ่งผิดพลาด
ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergey Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดถูกลอบสังหารอย่างมีเงื่อนงำ สตาลินจึงเห็นเป็นโอกาสใช้เหตุการณ์ลอบสังหารคีรอฟเป็นข้ออ้างจับกุมและกำจัดศัตรูทางการเมืองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารซึ่งนำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ ประมาณว่าสมาชิกพรรคและประชาชนที่ถูกสังหารมีจำนวนกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนการกวาดล้างครั้งใหญ่ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในประเทศตะวันตกว่าความน่าสะพรึงกลัวครั้งใหญ่ (Great Terror) ในช่วงที่มีการกวาดล้างครั้งใหญ่ สตาลินพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่าสหภาพโซเวียตยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับสตาลินรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองและคํ้าประกันสิทธิของพลเมืองทุกคนในด้านต่าง ๆ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ สตาลินสนับสนุนลัฟเรนตี เบเรีย (Lavrenty Beria)* คนสนิทให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสืบแทนนีโคไล เยจอฟ (Nikolai Yezhov)* ซึ่งถูกปลด เบเรียได้ปรับโครงสร้างและระบบการบริหารของเคจีบี (KGB)* หรือตำรวจลับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยยุบรวมหน่วยความมั่นคงฝ่ายต่าง ๆ เข้าเป็นหน่วยงานเดียวกันในกระทรวงมหาดไทย เขายังสร้างค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* เพิ่มขึ้น ทั้งขยายการดำเนินงานของตำรวจลับเข้าไปในกองทัพแดงเพื่อสอดส่องและควบคุมกองทัพ การดำเนินงานของตำรวจลับมีส่วนทำให้สตาลินมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้น ชื่อของสตาลินเริ่มฉายแสงบดบังรัศมีของเลนิน ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ หนังสือ History of the Communist Party of the Soviet Union (Bolsheviks) Short Course ซึ่งเป็นหนังสือการเมืองเล่มสำคัญที่สมาชิกพรรคและชาวโซเวียตทุกคนต้องอ่านศึกษาได้ปรับเนื้อหาการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ โดยชี้ให้เห็นว่าสตาลินมีบทบาทโดดเด่นในฐานะนักปฏิวัติมาร์กซิสต์ที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเลนินมาโดยตลอด ในภารกิจปฏิวัติเรื่องใดก็ตามที่เลนินไม่สามารถดำเนินการได้สตาลินจะเข้าแบกรับภาระและยืนหยัดต่อสู้จนได้ชัยชนะ ในเวลาอันรวดเร็วสตาลินก็หลุดพ้นจากเงาของเลนินและเปลี่ยนบทบาทจากสาวกผู้ชื่อสัตย์และสหายรบที่เคียงข้างเลนินมาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สืบทอดอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) และพัฒนาลัทธิมากซ์-เลนินให้เป็นหลักทฤษฎีและนโยบายการปฏิบัติของพรรคและรัฐ
การก้าวสู่อำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ในเยอรมนี ค.ศ. ๑๙๓๓ ทำให้สตาลินตระหนักถึงภัยคุกคามจากเยอรมนีและเห็นความจำเป็นที่จะต้องหามาตรการตอบโต้การขยายตัวของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ในยุโรป สตาลินจึงเริ่มปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๓๓ และในปีต่อมาก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เขาให้โคมินเทิร์น (Comintern)* หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ดำเนินนโยบายแนวร่วมประชาชน (Popular Front) โดยให้พรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกร่วมมือกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ในประเทศของตนเพื่อต่อต้านฟาสซิสต์ นอกจากนี้ ในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* ซึ่งเป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐกับกลุ่มลอยัลลิตส์ที่นายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* เป็นผู้นำ สตาลินสนับสนุนทางทหารแก่รัฐบาลสาธารณรัฐต่อต้านฝ่ายฟรังโกซึ่งเยอรมนีและอิตาลีสนับสนุนอยู่โดยคาดว่าสงครามกลางเมืองสเปนจะหันเหความสนใจของเยอรมนีจากการขยายอำนาจในยุโรป อย่างไรก็ตาม เมื่อฝ่ายสาธารณรัฐเพลี่ยงพลํ้าและเป็นที่แน่ชัดว่าฟรังโกจะมีชัยชนะ สตาลินก็ยุติการสนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐทั้งปราบปรามกลุ่มสาธารณรัฐปีกซ้ายที่นิยมคอมมิวนิสต์เพราะไม่ต้องการให้มีพรรคคอมมิวนิสต์อิสระที่อยู่นอกการควบคุมของโคมินเทิร์น
เมื่อเยอรมนีผนวกซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ของเชโกสโลวะเกีย และทำความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* กับประเทศพันธมิตรตะวันตกใน ค.ศ. ๑๙๓๘ สตาลินไม่พอใจกับความตกลงมิวนิกอย่างมากเพราะสหภาพโซเวียตไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และเห็นว่าอังกฤษและฝรั่งเศสไม่ยอมรับสถานภาพความเป็นมหาอำนาจของโซเวียตสตาลินยังขุ่นเคืองที่ประเทศพันธมิตรตะวันตกไม่กล้าท้าทายต่อการคุกคามของเยอรมนีทั้งยอมสละเชโกสโลวะเกียที่เป็นพันธมิตรให้แก่เยอรมนี สตาลินจึงหวาดระแวงว่าประเทศตะวันตกจะปฏิบัติกับสหภาพโซเวียตในลักษณะเดียวกันโดยปล่อยให้คอมมิวนิสต์กับฟาสซิสต์เข่นฆ่ากันเองและประเทศตะวันตกจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทั้ง ๒ ฝ่ายในภายหลังสตาลินจึงเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากมัคซิม ลิวีนอฟ (Maksim Litvinov)* ซึ่งสนับสนุนหลักการการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ในการป้องกันสงครามและการรักษาระเบียบระหว่างประเทศเป็นเวียเชสลัฟ โมโลตอฟซึ่งต่อต้านแนวความคิดการประกันความมั่นคงร่วมกัน โมโลตอฟเริ่มปรับความสัมพันธ์กับเยอรมนีและเจรจาสร้างไมตรีกับโยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของเยอรมนีที่สืบตำแหน่งจากคอนสแตนติน ฟอน นอยรัท (Constantin von Neurath)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๘ ความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ ประเทศที่ขาดตอนไปตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ ได้เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าร่วมกันเป็นเวลา ๗ ปีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ และในวันที่ ๒๓ สิงหาคม สหภาพโซเวียตก็ลงนามกับเยอรมนีในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* หรือกติกาสัญญาฮิตเลอร์-สตาลิน (Hitler-Stalin Pact)*
หลังการลงนามในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต สตาลินให้ส่งชาวเยอรมันที่ลี้ภัยในสหภาพโซเวียตกว่า ๔,๐๐๐ คน ให้หน่วยเกสตาโป (Gestapo)* และให้พรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกโคมินเทิร์นยุติการเคลื่อนไหวต่อต้านพวกฟาสซิสต์และนาซี นโยบายดังกล่าวทำให้ตรอตสกีซึ่งลี้ภัยที่เม็กซิโกและกลุ่มที่สนับสนุนเขาพยายามผลักดันการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔ (Fourth International)* ขึ้นเพื่อคานอำนาจโคมินเทิร์นและขัดขวางฝ่ายมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers) แต่ประสบความล้มเหลว หนึ่งสัปดาห์ หลังการลงนามกติกาสัญญานาซี-โซเวียต เยอรมนีก็บุกโปแลนด์ด้วยยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)* และนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหภาพโซเวียตก็เข้ารุกรานโปแลนด์ทางตะวันออก และเรียกร้องให้ฟินแลนด์และรัฐบอลติก (Baltic States)* ๓ ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียยอมให้สหภาพโซเวียตจัดตั้งฐานทัพขึ้น แต่ฟินแลนด์ปฏิเสธและนำไปสู่การเกิดสงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ (Russo-Finnish War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๐)* ชัยชนะต่อฟินแลนด์เปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตบุกเข้ายึดครองสามรัฐบอลติกได้อย่างสะดวก สหภาพโซเวียตจึงได้ดินแดนและเส้นพรมแดนที่เคยเป็นของอดีตจักรวรรดิรัสเซียเดิมกลับคืนทั้งหมด ในช่วงที่สหภาพโซเวียตยึดครองโปแลนด์ตะวันออกนั้น สตาลินได้สั่งการให้หน่วยตำรวจลับโซเวียตสังหารเชลยชาวโปลในเหตุการณ์ที่เรียกว่าการสังหารหมู่ที่คะทิน (Katyn Massacre)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ด้วย
เมื่อเยอรมนีล้มเหลวในการยึดครองอังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ฮิตเลอร์จึงเปิดแนวรบด้านตะวันออกด้วยการบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อหวังกอบกู้ชื่อเสียงของเยอรมนีจากความพ่ายแพ้ การบุกโจมตีสหภาพโซเวียตของเยอรมนีโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ จึงทำให้กติกาสัญญานาซี-โซเวียต ค.ศ. ๑๙๓๙ สิ้นสุดลง ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ดินแดนที่สหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๐ ก็ถูกเยอรมนียึดได้ทั้งหมด สตาลินได้ปลุกระดมความรักชาติด้วยการล้มเลิกการต่อต้านศาสนาและขอให้ศาสนจักรช่วยสนับสนุนการทำสงครามด้วยการจัดพิธีทางศาสนาอวยพรให้ทหารในกองทัพแดงและการเรี่ยไรเงินส่งไปช่วยกองทัพ เขาใช้วิทยุเป็นสื่อปราศรัยกับประชาชนสมั่าเสมอและจัดตั้งหน่วยงานโฆษณาและปลุกระดมเพื่อกำหนดนโยบายในการใช้ภาพยนตร์ โปสเตอร์ วรรณกรรม และอื่น ๆ เป็นสื่อทางศิลปะเพื่อปลุกระดมความรักชาติในการสู้รบเพื่อชัยชนะในสงครามที่เรียกว่า “มหายุทธการกอบกู้ปิตุภูมิ” (Great Patriotic War) ขณะเดียวกันสตาลินก็ผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมทางสังคมและยกเลิกนโยบายการจับกุมกวาดล้าง รวมทั้งให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกอย่างอิสระ ช่วงเวลาระหว่างสงครามจึงเป็นช่วงการปลดปล่อยของพลเมืองโซเวียตซึ่งทำให้ทุกคนมีขวัญและกำลังใจทั้งคาดหวังว่าเมื่อสงครามสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตจะเริ่มต้นใหม่และการปกครองเผด็จการอันชั่วร้ายจะไม่หวนกลับคืนมาอีก
การเข้าสู่สงครามของสหภาพโซเวียตทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศตะวันตกพัฒนาดีขึ้นและนำไปสู่ช่วงสมัยการเป็นพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ (Grand Alliance) ระหว่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเพื่อผนึกกำลังกันเอาชนะเยอรมนี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๓ สตาลินมีบทบาทสำคัญในฐานะจอมทัพในการชี้แนะยุทธศาสตร์การรบและการประสานงานกับแม่ทัพในแนวรบด้านต่าง ๆ เขาเรียกร้องให้ทหารแดงและประชาชนโซเวียตผนึกกำลังและยืนหยัดเพื่อปกป้องการโจมตีของเยอรมนีในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* และการปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ สตาลินสนับสนุนให้มีการจัดการประชุมที่กรุงมอสโก (Moscow Conference)* เพื่อหารือเกี่ยวกับการเอาชนะเยอรมนีและเพื่อตกลงกันว่าด้วยความมั่นคงทั่วไปของยุโรปหลังสงครามสิ้นสุดลง ความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้ได้นำไปสู่การประชุมครั้งสำคัญอีกหลายครั้งระหว่างสตาลินกับผู้นำประเทศตะวันตกในเวลาต่อมา คือ การประชุมที่กรุงเตหะราน (Tehran Conference ๒๒-๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓)* การประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference ๔-๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕)* และการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference ๑๗ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* ในปลายสงครามสหภาพโซเวียตได้ปลดปล่อยประเทศยุโรปตะวันออกจากการยึดครองของเยอรมนีและสนับสนุนให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกได้อำนาจทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงคราม ยุโรปตะวันออกจึงกลายเป็นรัฐบริวารโซเวียต ยกเว้นยูโกสลาเวียซึ่งมียอซีป บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* เป็นผู้นำ
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นประเทศอภิมหาอำนาจพยายามเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในประเทศยุโรปตะวันตก แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนักเพราะสหรัฐอเมริกาได้ประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine) เพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ทั้งสนับสนุนรัฐบาลกรีซที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองกรีซ (Greek Civil War ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๔๙)* ให้มีชัยชนะ สหรัฐอเมริกายังประกาศแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปด้วยสตาลินตอบโต้ด้วยการจัดตั้งสำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์หรือโคมินฟอร์ม (Cominform)* ซึ่งเป็นองค์การที่สตาลินใช้ควบคุมประเทศยุโรปตะวันออก และห้ามประเทศยุโรปตะวันออกเข้าร่วมในแผนมาร์แชลล์ ต่อมา ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๙ เขายังให้จัดตั้งองค์การโคเมคอน (Comecon)* ขึ้นเพื่อตอบโต้แผนมาร์แชลล์และเพื่อให้เป็นองค์การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระหว่างกันการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำกับกลุ่มโลกเสรีประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำจึงสร้างบรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองที่เรียกกันว่าสงครามเย็นขึ้นในยุโรปและในเวลาอันรวดเร็วก็ขยายขอบเขตออกไปทั่วโลก
ก่อนสงครามโลกยุติลงเพียงเล็กน้อย สตาลินได้ยกเลิกนโยบายการผ่อนคลายทางสังคมและหันมาควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง และเน้นการเสริมสร้างอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนินให้เข้มแข็งเพื่อต่อต้านแนวความคิดเสรีประชาธิปไตยจากประเทศตะวันตก อันเดรย์ จาดานอฟ (Andrei Zhadanov)* นักทฤษฎีการเมืองพรรคและเป็นสหายสนิทของสตาลินมีบทบาทสำคัญระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๘ ในการวางนโยบายเสริมสร้างอุดมการณ์พรรคด้วยการเน้นแนวความคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism)* และยกย่องเชิดชูสตาลินในด้านต่าง ๆ เขายังผลักดันให้สถาบันมากซ์-เองเงิลส์และเลนิน (Marx-Engels and Lenin Inistitute) ซึ่งเป็นสถาบันผลิตตำราและหนังสือทฤษฎีการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงมอสโกตีพิมพ์งานนิพนธ์ทางการเมืองของสตาลินด้านต่าง ๆ รวม ๑๓ เล่ม เป็นจำนวนมหาศาลเผยแพร่ พลเมืองโซเวียตต่างยกย่องเชิดชูสตาลินในฐานะนักคิดและนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ เป็นบิดาของประชาชนและเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี่
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๓ รัฐบาลโซเวียตประกาศว่ามีการสืบพบแผนฆาตกรรมผู้นำพรรคและบุคคลสำคัญของประเทศโดยเฉพาะคณะแพทย์ประจำเครมลิน ๙ คนซึ่ง ๗ คนเป็นแพทย์ชาวยิวรับเงินจากจารชนชาวอเมริกันและอังกฤษเพื่อโค่นล้มรัฐบาลโซเวียต แผนฆาตกรรมของคณะแพทย์ (Doctor’s Plot)* ได้นำไปสู่การกวาดล้างชาวยิวครั้งใหญ่และทำให้ขบวนการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)* มีความรุนแรงมากขึ้น สตาลินสั่งให้ประหารชีวิตแพทย์ทั้งหมดและให้กวาดล้างบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูประชาชน ทั้งให้ปรับนโยบายต่างประเทศจากการสนับสนุนอิสราเอลมาสนับสนุนประเทศกลุ่มอาหรับแทน หลังจากการกวาดล้างได้ไม่นานนัก ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ สตาลินก็ล้มป่วยด้วยโรคหัวใจและเป็นอัมพาต แม้แพทย์จะพยายามรักษาอย่างเต็มกำลังแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ในวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ พรรคคอมมิวนิสต์แถลงข่าวอาการป่วยของสตาลินแก่สาธารณชน ในเช้ามืดของวันที่ ๖ มีนาคม ก็ประกาศข่าวด่วนเรื่องอสัญกรรมของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของพรรคและประเทศโดยระบุว่าสตาลินเสียชีวิตเวลา ๒๑.๕๐ นาฬิกา ของคืนวันที่ ๕ มีนาคม รวมอายุได้ ๗๓ ปี ศพของเขาถูกบรรจุไว้ในโลงแก้วและนำไปแสดงไว้ชั่วคราวที่ห้องโถงใหญ่ของเครมลินเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศได้เข้ามาเคารพไว้อาลัยเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นก็นำไปบรรจุไว้ใกล้สุสานเลนิน (Lenin Mausoleum) ที่จัตุรัสแดง
อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากสตาลินดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน และให้ยุบโคมินฟอร์มลง กระแสการต่อต้านสตาลินก็ขยายตัวในวงกว้างทั้งในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารโซเวียต ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ ครุชชอฟสั่งเคลื่อนย้ายศพของสตาลินออกจากบริเวณสุสานเลนินไปไว้ที่กำแพงเครมลินด้านหลังสุสานเลนิน และให้ลบชื่อสตาลินออกจากป้ายชื่ออาคาร สถานที่ สถาบัน ถนน เมือง และอนุสรณ์สถานต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งให้เปลี่ยนชื่อเมืองสตาลินกราด (Stalingrad) เป็นวอลโกกราด (Volgograd) ตามเดิม ตลอดจนยกเลิกรางวัลสตาลิน (Stalin Prize) สาขาวรรณคดีที่ตั้งขึ้นเพื่อแข่งขันกับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) ของประเทศตะวันตกด้วย หลังครุชชอฟหมดอำนาจ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* และกลุ่มนิยมสตาลินได้กู้เกียรติและชื่อเสียงของสตาลินกลับคืนสตาลินจึงได้รับการยกย่องเชิดชูอีกครั้งหนึ่งในฐานะผู้นำโซเวียตที่ยิ่งใหญ่ ต่อมา ใน ค.ศ. ๒๐๐๘ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตก็เขียนยกย่องสตาลินในตำรา ประวัติศาสตร์ว่า เขาเป็นผู้นำรัสเซียที่ประสบความสำเร็จ มากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐.