Schleicher, Kurt von (1882-1934)

นายพลคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๗๗)

นายพลคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ เป็นนายทหารอาชีพแห่งกองทัพบกเยอรมัน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๔ ของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๓)* ระหว่างวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ - ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาเป็นนักการเมืองคนสำคัญที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๓๓)*


ในการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลสำคัญในกองทัพและคณะรัฐบาลหลายครั้งเพื่อไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูง รวมทั้งเป็นผู้วางแผนกีดกันการขึ้นสู่อำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSADP; Nazi Party)* แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังทำให้เขาตกจากอำนาจด้วย บทบาทดันซับซ้อนของซไลเชอร์มีส่วนทำให้สาธารณรัฐไวมาร์ในช่วงหลังอ่อนแอลงจนล่มสลายในที่สุด

 ชไลเชอร์เกิดในครอบครัวนายทหารที่มีเชื้อสายขุนนางระดับล่าง เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๘๘๒ ที่เมืองบรันเดนบูร์กอันเดฮาเวล (Brandenburg an der Havel) แคว้นปรัสเซีย เขาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก และสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ขณะอายุ ๑๘ ปี โดยได้รับยศร้อยตรี หลังจากนั้นเข้ารับราชการในกองพลทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ (Third Foot Guards Regiment) แห่งกองทัพบกจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ชไลเชอร์เป็นคนเฉลียวฉลาด มีไหวพริบดี มีความทะเยอทะยานสูง และมีความสามารถในการเจรจารวมทั้งการวางแผนต่าง ๆ ขณะศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกและในช่วงแรก ๆ ของการรับราชการทหารเขามีโอกาสรู้จักและเป็นมิตรสนิทกับนายทหารหลายคนซึ่งต่อมามีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตทางการเมืองของเขา เช่น ฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* และออสคาร์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Oskar von Hindenburg) บุตรชายของจอมพล ฮินเดนบูร์ก

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ชไลเชอร์ถูกส่งไปรบในสมรภูมิเขาปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญจนได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ หลังพ้นหน้าที่ในสมรภูมิแล้วเขาได้รับแต่งตั้งให้ไปรับราชการในกรมกองต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ ชไลเชอร์ย้ายไปเป็นนายทหารในหน่วยเสนาริการทหารที่กองบัญชาการทหารสูงสุดภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลวิลเฮล์ม เกรอเนอร์ (Wilhelm Groener) ซึ่งต่อมาได้ให้ความอุปถัมภ์สนับสนุนเขาในเรื่องต่าง ๆ อย่างมากเขารับราชการในหน่วยเสนาธิการทหารจนสงครามยุติลงในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ในช่วงที่มีการทำสัญญาสงบศึก (Armistice)* ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนีซึ่งแพ้สงคราม ชไลเชอร์ยังได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารติดต่อในสภาผู้แทนประชาชน (Council of People’s Representatives) ที่จัดตั้งขึ้นชั่วคราว หลังจากนั้น เมื่อมีการจัดตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ขึ้นแล้ว เขาได้ช่วยนายพลฮันส์ ฟอน เซคท์ (Hans von Seeckt)* จัดตั้งกองกำลังอิสระ (Free Corps)* ซึ่งเป็นกองกำลังพลเรือนเพื่อช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงหลังสงคราม ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยนายพลเซคท์จัดตั้งกองทัพเยอรมันขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขอันเข้มงวดของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ชไลเชอร์ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายติดต่อทางด้านการเมืองของกองทัพที่นายพลเซคท์จัดตั้งขึ้นใหม่ เช่นเดียวกัน นับเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองของสาธารณรัฐไวมาร์ตั้งแต่บัดนั้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ หลังการปราบปรามการกบฏคัพพ์ (Kapp Putsch)* ซึ่งเป็นการจลาจลเพื่อต่อต้านสาธารณรัฐไวมาร์ของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพในบางส่วนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชไลเชอร์ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพันโท ซึ่งเป็นการปูนบำเหน็จจากการที่เขาอยู่ในฝ่ายที่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่พวกกบฏ นอกจากนี้ เขายังได้รับมอบหมายจากนายพลเซคท์ผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งไม่ชอบเรื่องการเมืองให้มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจทางด้านการเมืองเกือบทั้งหมดที่ฝ่ายกองทัพต้องทำงานร่วมกันหรือติดต่อประสานงานกับฝ่ายพลเรือน ชไลเชอร์ จึงเข้าไปมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเมืองในระดับสูงของประเทศหลายเรื่อง เช่น ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เขามีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายการป้องกันประเทศของสาธารณรัฐและใน ค.ศ. ๑๙๒๒ หลังการลงนามในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty of Rapallo)* ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตแล้ว ชไลเชอร์ยังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาในรายละเอียดกับสหภาพโซเวียต เพื่อให้เยอรมนีทำการฝึกซ้อมทหารรถถังและทหารอากาศรวมทั้งจัดตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ในดินแดนโซเวียต เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายที่ห้ามเยอรมนีเสริมสร้างกำลังกองทัพและติดอาวุธเพิ่ม โดยสัญญาว่าจะให้ความรู้ทางเทคโนโลยีแก่สหภาพโซเวียตเป็นการแลกเปลี่ยน ความสำเร็จในการเจรจาดังกล่าวทำให้ชไลเชอร์ มีอิทธิพลและอำนาจมากขึ้นทุกที

 ในการทำงานทางด้านการเมือง ชไลเชอร์ชอบใช้วิธีการทำงานหลังฉากเข้ามาช่วยเสมอ โดยเฉพาะในการติดต่อประสานงานระหว่างกองทัพกับรัฐบาลและหน่วยงานฝ่ายพลเรือน เขามักใช้วิธีสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ รวมทั้งมีสายข่าวส่วนตัวอย่างไม่เป็นทางการเพื่อใช้เป็นเครือข่ายในการป้อนข้อมูลข่าวสารให้แก่เขา ชไลเชอร์จึงรู้เรื่องราวและความลับตลอดจนความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของฝ่ายพลเรือนอย่างรวดเร็วก่อนผู้อื่นเสมอ ตลอดทศวรรษ ๑๙๒๐ การทำงานของชไลเชอร์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วใน ค.ศ. ๑๙๒๖ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมกำลังพล (Armed Forces Department) ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นกรมที่จัดตั้งขึ้นใหม่และเป็นอิสระจากกองทัพ กรมดังกล่าวต่อมาค่อย ๆ กลายเป็นสำนักงานทางการเมืองของชไลเชอร์อย่างเต็มที่ และในปีเดียวกันเขาก็เริ่มเข้าไปมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๕ หลังประธานาธิบดีฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert)* ถึงแก่อสัญกรรม

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ชไลเชอร์มีบทบาทสำคัญทำให้นายพลเซคท์ซึ่งเคยช่วยเหลือสนับสนุนเขามาแต่ต้นตกจากอำนาจ สืบเนื่องมาจากกรณีที่นายพลเซคท์ได้เชิญเจ้าชายวิลเฮล์มหรือวิลเลียม (Wilhelm; William) พระนัดดาของอดีตไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ให้เข้าร่วมซ้อมรบทางทหารและยอมให้พระองค์ทรงสวมเครื่องแบบทหารของอดีตจักรวรรดิเยอรมันโดยพลการ โดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ทั้งยังแสดงท่าทีว่าจะแต่งตั้งเจ้าชายให้กลับมาดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลไม่พอใจมากทั้งยังทำให้สื่อฉบับต่าง ๆ โจมตีรัฐบาลและกองทัพอย่างหนัก นอกจากนี้ การที่หนังสือพิมพ์ Manchester Guardian ของอังกฤษได้เสนอบทความเกี่ยวกับความร่วมมืออย่างลับ ๆ ระหว่างกองทัพบกเยอรมันกับกองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตในช่วงเดียวกันก็ทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลและกองทัพอย่างหนักเช่นเดียวกัน ชไลเชอร์จึงฉวยโอกาสที่รัฐบาลและกองทัพกำลังเผชิญปัญหาทั้ง ๒ เรื่องนี้ร่วมมือกับออทโท เกสเลอร์ (Otto Gessler) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอให้ฮินเดนบูร์กแก้ปัญหาโดยปลดนายพลเซคท์ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะเสนาธิการทหาร แม้ว่านายพลเซคท์จะพยายามปกป้องตนเองอย่างสุดความสามารถก็ตามแต่ในที่สุดเขาก็ต้องลาออกในวันที่ ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ หลังจากนั้นชไลเชอร์จึงกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือนายพลคนอื่น ๆ ในการกำหนดนโยบายของกระทรวงกลาโหม

 ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ชไลเชอร์ประสบความสำเร็จในการผลักดันฮินเดนบูร์กให้แต่งตั้งนายพลเกรอเนอร์ อดีตผู้บังคับบัญชาของเขาขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนเกสเลอร์ซึ่งขัดแย้งกับเขาขณะเดียวกัน เกรอเนอร์ก็ได้แต่งตั้งชไลเชอร์ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นการตอบแทน ในทางการเมืองนั้น แม้ว่าชไลเชอร์จะเกิดและเติบโตในสังคมทหารในสมัยที่เยอรมนียังมีสถานภาพเป็นจักรวรรดิและมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งมีความนิยมทหารและมีวิสัยทัศน์ไนเรื่องอำนาจและการรักษาระเบียบวินัยแบบทหารดังเช่นชาวปรัสเซียโดยทั่วไปก็ตามแต่เขากลับมีแนวคิดทางการเมืองที่โน้มเอียงไปในทางสาธารณรัฐมากกว่าบรรดาเพื่อนนายทหารรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งยังไม่ต้องการให้ไกเซอร์กลับคืนสู่อำนาจ เขาจึงมักถูกต่อต้านจากพวกชาตินิยมและพวกฝ่ายขวาหัวรุนแรงอยู่เสมอ นอกจากนี้ ชไลเชอร์ยังเชื่อว่ากองทัพควรมีบทบาททางสังคมด้วย โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นสถาบันที่เชื่อมโยงองค์ประกอบที่แตกต่างของสังคมเข้าด้วยกันส่วนในทางเศรษฐกิจ ชไลเชอร์มีนโยบายที่ค่อนข้างเป็นกลางและไม่สนับสนุนพวกขุนนางที่เป็นนายทุนเจ้าของที่ดินมากนัก เขาจึงมักถูกต่อต้านจากคนกลุ่มนี้ด้วย

 อย่างไรก็ดี ชไลเชอร์ก็ยังคงรักษาอำนาจของเขาไว้ได้ และเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของสาธารณรัฐมาโดยตลอด ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๐ เขาใช้เวลากว่า ๑ เดือนในการโน้มน้าวประธานาธิบดีรินเดนบูร์กในนามของกองทัพให้แต่งตั้งไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Brüning)* ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการคลังมาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนแฮร์มันน์ มึลเลอร์ (Hermann Müller) ซึ่งฮินเดนบูร์กเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและปัญหาการว่างงานซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression)* ที่เริ่มเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนในที่สุดบรือนิงก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ ฉะนั้นในช่วงที่บรือนิงมีอำนาจระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๒ ชไลเชอร์จึงได้เข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองในคณะรัฐบาลด้วย และได้ใช้อิทธิพลนี้หาเหตุผลักดันประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กให้ปลดบรือนิงและนายพลเกรอเนอร์ซึ่งในเวลาต่อมาขัดแย้งกับเขาออกจากตำแหน่ง ดังเช่นในกรณีของเกรอเนอร์เกิดขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ เมื่อเกรอเนอร์ซึ่งรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่งตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๑ ถูกสมาชิกพรรคนาซีโจมตีอย่างหนักในสภาไรค์ชตาก (Reichstag) จากการที่เขาออกคำสั่งห้ามหน่วยเอสเอ (SA)* และเอสเอส (SS)* ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในที่สาธารณะ แทนที่จะช่วยเหลือ ชไลเชอร์กลับเสนอว่าเกรอเนอร์จะต้องลาออกเท่านั้น และเมื่อเกรอเนอร์ร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมต่อประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก ฮินเดนบูร์กซึ่งแม้จะไม่ชอบฮิตเลอร์เป็นอย่างมากกลับตอบว่าเขาไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้ เกรอเนอร์จึงต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยความอัปยศในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๒

 ส่วนกรณีของบรือนิง มีเหตุจากบรือนิงไม่สามารถแก้ไขวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในจุดตํ่าสุดให้ดีขึ้นได้ จนประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กเริ่มไม่เชื่อถือ ทั้งบรือนิงยังไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาไรค์ชตาก และถูกต่อต้านจากกลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปการคลัง กอปรกับเป็นผู้รับผิดชอบในการออกคำสั่งของเกรอเนอร์ที่ห้ามหน่วยเอสเอและเอสเอสดำเนินกิจกรรมในที่สาธารณะด้วย ชไลเชอร์จึงร่วมมือกับฟรันซ์ ฟอน พาเพิน คนสนิทอีกคนหนึ่งของฮินเดนบูร์กโน้มน้าวฮินเดนบูร์กให้ปลดบรือนิงออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในที่สุด บรือนิงที่เคยมีส่วนช่วยให้ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ ๒ ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็จำต้องลาออกในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ และ ในวันที่ ๑ มิถุนายน พาเพินก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนชไลเชอร์ซึ่งในขณะนั้นอายุ ๕๐ ปี และมียศเป็นพลเอกได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ ชไลเชอร์ยังมีบทบาทสำคัญในการเลือกสรรบุคคลเขัาเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนของฮินเดนบูร์กหรือเป็นผู้ที่มีนโยบายสอดคล้องกับฮินเดนบูร์กแทบทั้งสิ้น ทำให้รัฐบาลพาเพินขาดความน่าเชื่อถือตั้งแต่เริ่มแรก

 อย่างไรก็ดี หลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน พาเพินเริ่มขัดแย้งกับชไลเชอร์ เนื่องจากชไลเชอร์มีแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากเขา ทั้งยังแสดงท่าทีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนไม่อาจคาดเดาได้ ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ชไลเชอร์ ได้ประกาศอย่างชัดเจนทางวิทยุกระจายเสียงว่าเขาต่อต้านเผด็จการทหาร รวมทั้งรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยการคํ้าจุนของกองทัพ การประกาศดังกล่าวทำให้พาเพินไม่พอใจอย่างรุนแรง ประกอบกับในช่วงนั้นเขาประสบปัญหาทางการเมืองในหลาย ๆ เรื่องที่ไม่อาจจัดการได้โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากผลของการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๒ ซึ่งทำให้รัฐบาลขาดเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตาก นอกจากนี้ พาเพินยังได้รับการปฏิเสธจากฮิตเลอร์ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือให้การสนับสนุนเขาเพื่อทำให้รัฐบาลอยู่รอดทั้ง ๆ ที่เขาได้ดำเนินการเอาใจพรรคนาซีทุกอย่าง ชไลเชอร์เห็นว่าเขาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจึงได้ฉวยโอกาสนี้เป่าหูประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กให้ปลดพาเพินออกจากตำแหน่งในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายนปีเดียวกันอย่างไรก็ดี พาเพินก็ยังหวังว่าเขาจะได้รับการแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหากเขาได้รับความร่วมมือจากพรรคนาซีและพรรคคอมมิวนิสต์ อีกทั้งในวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ชไลเชอร์ยังให้ความหวังแก่เขาว่าอาจช่วยให้พาเพินได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคนาซี ฮินเดนบูร์กไม่เห็นด้วยแต่ก็ยังขอให้พาเพินพยายามจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น พาเพินก็ได้รับทราบจากชไลเชอร์ว่าไม่มีหนทางใดที่จะเข้าไปควบคุมอำนาจของพรรคนาซีและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ พาเพินจึงตระหนักว่าเขาถูกชไลเชอร์หักหลัง เขาจึงขอให้ประธานาธิบดีปลดชไลเชอร์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่ฮินเดนบูร์กกลับปฏิเสธพร้อมทั้งแจ้งว่าเขากำลังจะแต่งตั้งชไลเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ชไลเชอร์ก็ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้ดำรงตำแหน่งมุขมนตรี (Minister President) ของแคว้นปรัสเซียด้วย

 ชไลเชอร์ต้องการเสียงสนับสนุนทั้งจากในสภาและนอกสภาเพื่อทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เขาจึงนำกลยุทธ์การสร้าง “แนวร่วมข้ามพรรค” (Querfront) มาใช้ โดยดึงพรรคการเมือง สหภาพแรงงาน และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เป็นเครือข่ายชองพรรคการเมืองที่มีนโยบายแตกต่างกันเข้ามาร่วมรัฐบาล กลุ่มสำคัญที่ให้ความร่วมมือกับเขา ได้แก่ กลุ่มสหภาพแรงงานสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Labour Unions) กลุ่มสหภาพแรงงานคริสเตียน (Christian Labour Unions) และกลุ่มปีกซ้ายของพรรคนาซีที่นำโดยเกรกอร์ ชตราสเซอร์ (Gregor Strasser)* ซึ่งกำลังมีปัญหาขัดแย้งกับอิตเลอร์ โดยแต่งตั้งชตราสเซอร์เป็นรองนายกรัฐมนตรี แม้ว่าในตอนแรกดูเหมือนว่าชไลเชอร์จะประสบความสำเร็จ แต่ต่อมาไม่นานเขาก็ประสบปัญหาการแก่งแย่งตำแหน่งในรัฐบาลของบรรดาผู้นำสหภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะเขาต้องเผชิญอุปสรรคอันใหญ่หลวงทั้งจากทางด้านพาเพินซึ่งกลายเป็นศัตรูคนสำคัญของเขา และจากทางด้านฮิตเลอร์กับแอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* หัวหน้าหน่วยเอสเอซึ่งต่างก็เกลียดชังชไลเชอร์มานานแล้วและเห็นว่าการดึงกลุ่มปีกซ้ายของพรรคนาซีไปร่วมรัฐบาลเป็นความพยายามที่จะลดอำนาจของฮิตเลอร์และสร้างความแตกแยกภายในพรรคนาซี เขาจึงกลายเป็นศัตรูร่วมของทั้ง ๒ ฝ่ายโดยทันที

 ในการวางแผนโค่นล้มชไลเชอร์ พาเพินได้จัดการประชุมลับระหว่างเขากับฮินเดนบูร์กและฮิตเลอร์หลายครั้งพร้อมทั้งพยายามโน้มน้าวฮินเดนบูร์กซึ่งเป็นคนหูเบาและมักระแวงสงสัยคนรอบข้างอยู่เสมอให้เชื่อว่าชไลเชอร์กำลังทรยศต่อเขา โดยวางแผนที่จะนำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดีที่ฮินเดนบูร์กเกลียดชังเข้ามาร่วมรัฐบาลด้วย พาเพินเร่งเร้าฮินเดนบูร์กให้แต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีแทนชไลเชอร์ด้วย โดยเสนอให้รัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคนาซีกับพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (German National People’s Party-DNVP) ที่เขาเป็นหัวหน้าและเขาจะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน เริมก็ต่อต้านชไลเชอร์ อย่างเต็มที่ทั้งยังโน้มน้าวชตราสเซอร์ให้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ ชไลเชอร์ยังประสบปัญหาความปั่นป่วนทางการเมืองภายในอย่างรุนแรงและขาดเสียงสนับสนุนจากสภาไรค์ชตาก ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคนาซี เขาจึงพยายามต่อสู้ครั้งสุดท้ายโดยการต่อรองกับฮิตเลอร์ว่าจะยอมให้ฮิตเลอร์จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะยังคงมีอำนาจในกองทัพต่อไป แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธ ในที่สุด ในวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง ๒ เดือน ชไลเชอร์ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ๓ คนก่อนหน้าเขา เมื่อประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กปฏิเสธไม่ยอมให้เขาใช้อำนาจประกาศภาวะฉุกเฉินและยุบสภาไรค์ชตากเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่พร้อมกับบีบบังคับให้เขาลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นในวันที่ ๓๐ มกราคมปีเดียวกัน ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กก็แต่งตั้งฮิตเลอร์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพาเพินเป็นรองนายกรัฐมนตรี และในเวลาอีกไม่กี่เดือนต่อมาหลังฮินเดนบูร์กถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ฮิตเลอร์ก็ได้รวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีเข้าด้วยกันในตำแหน่ง “ผู้นำเยอรมนี” (Reichkanzler of Germany) ของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* สาธารณรัฐไวมาร์จึงสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ด้วยเหตุนั้น ชไลเชอร์จึงมักถูกพิจารณาว่าเป็นผู้มีส่วนทำให้สาธารณรัฐไวมาร์สิ้นสุดลงด้วย ขณะเดียวกันก็กล่าวกันว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของสาธารณรัฐไวมาร์ด้วย

 หลังหมดอำนาจแล้ว ชไลเชอร์ยังพยายามกลับเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของประเทศหลายครั้งใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาเป็นกำลังสำคัญในการเจรจาที่จะให้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง ทั้งยังดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างลับ ๆ เพื่อต่อต้านอำนาจของฮิตเลอร์และพรรคนาซีมาโดยตลอด เขายังร่วมมือกับเริมซึ่งกำลังขัดแย้งกับฮิตเลอร์ โดยสนับสนุนเริมในการก่อกบฏปฏิวัติครั้งที่ ๒ ฮิตเลอร์จึงวิตกว่าชไลเชอร์จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เขาหมดอำนาจในอนาคตชไลเชอร์จึงกลายเป็นเป้าหมายระดับต้น ๆ ของแผนสังหารศัตรูของฮิตเลอร์ และในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ เมื่อเกิดเหตุการณ์คืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* นายพลคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ ขณะอายุ ๕๒ ปี ก็ถูกกระหนํ่ายิงจนเสียชีวิต ณ บ้านพักในกรุงเบอร์ลินภรรยาก็ถูกยิงเช่นกันขณะวิ่งมาดูเขาเมื่อได้ยินเสียงปืนในสุนทรพจน์ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์แสดงในสภาไรค์ชตาก เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการสังหารบุคคลต่าง ๆ ในเหตุการณ์ ดังกล่าว เขาได้กล่าวยํ้าว่า ชไลเชอร์เป็นผู้มีความผิดจริงในฐานะผู้ทรยศต่อชาติเพราะได้ร่วมมือกับแอนสท์ เริมในการล้มล้างรัฐบาลนาซี.



คำตั้ง
Schleicher, Kurt von
คำเทียบ
นายพลคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์
คำสำคัญ
- กบฏคัพพ์
- กองกำลังอิสระ
- กองทัพแดง
- เกรอเนอร์, วิลเฮล์ม
- เกสเลอร์, ออทโท
- คืนแห่งมีดยาว
- ชตราสเซอร์, เกรกอร์
- ชไลเชอร์, คูร์ท ฟอน
- เซคท์, ฮันส์ ฟอน
- บรือนิง, ไฮน์ริช
- พรรคนาซี
- พรรคประชาชน
- พรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- ภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่
- มึลเลอร์, แฮร์มันน์
- เริม, แอนสท์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาราปัลโล
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- สัญญาสงบศึก
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1882-1934
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๗๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-