SS (-)

เอสเอส (-)

 เอสเอส มีชื่อเต็มในภาษาเยอรมันว่า ชุทซ์ชตัฟเฟิล (Schutzstaffel) หมายถึงหน่วยพิทักษ์ (Protective Squad) เป็นกองกำลังกึ่งทหารของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* จัดตั้งเอสเอสขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เป็นกองกำลังพิเศษขนาดเล็กเพื่อรักษาความปลอดภัยส่วนตัวเมื่อฮิตเลอร์แต่งตั้งไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* แกนนำคนสำคัญของพรรคนาซีซึ่งเป็นเลขานุการของเกรกอร์ ชตราสเซอร์ (Gregor Strasser)* ผู้นำกลุ่มปีกซ้ายในพรรคนาซีให้เป็นหัวหน้าเอสเอสในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ฮิมม์เลอร์ได้แสดงความสามารถด้านการบริหารและการจัดการด้วยการขยายองค์การสาขาเอสเอสขึ้นตามเมืองต่าง ๆ และเพิ่มจำนวนสมาชิกจาก ๒๘๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เป็นกว่า ๕๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๔ เอสเอสอยู่ใต้การกำกับดูแลของแอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* หัวหน้าเอสเอ (SA-Sturmabteilung)* และมีความสำคัญเป็นรองหน่วยเอสเอ ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิมม์เลอร์ร่วมมือกับแกนนำนาซีคนอื่น ๆ วางแผนกำจัดเริมและทอนอำนาจของเอสเอซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์คืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* หลังเหตุการณ์ กวาดล้างอันนองเลือดครั้งนี้ หน่วยเอสเอหมดบทบาทและอิทธิพลลง เอสเอสถูกแยกออกจากเอสเอและเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นจนเป็นเสมือนกองทัพแห่งชาติ (Reichwehr) และเป็นเครื่องมือของพรรคนาซีในการใช้อำนาจบริหาร

 แนวความคิดการจัดตั้งเอสเอสมีขึ้นเมื่อพรรคนาซีจัดประชุมใหญ่ระดับชาติครั้งแรกขึ้นที่เมืองมิวนิกในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ เพื่อต่อต้านรัฐบาลของกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* และเพื่อเรียกร้องให้ทำลายข้อกำหนดต่าง ๆ ในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ในการประชุมครั้งนี้ หน่วยเอสเอมีบทบาทสำคัญในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หลังการประชุมครั้งนี้ ฮิตเลอร์ซึ่งตระหนักถึงอำนาจของเอสเอให้จัดตั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (Stabswache - staff Guard) ขึ้นเพื่อพิทักษ์อารักขาแกนนำพรรคนาซีและแยกหน้าที่จากเอสเอแต่ให้อยู่ใต้การควบคุมของเอสเอ หลังความล้มเหลวของการยึดอำนาจในรัฐบาวาเรีย (Bavaria) ของพรรคนาซีในเหตุการณ์กบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* หรือ กบฏเมืองมิวนิก (Munich Putsch)* ระหว่างวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ หน่วยเอสเอและกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถูกยุบ ส่วนฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุก ๕ ปีแต่เขาก็พันโทษก่อนกำหนดในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ ฮิตเลอร์ขอจัดตั้งพรรคนาซีขึ้นใหม่โดยสัญญากับผู้ปกครองของรัฐบาวาเรียว่าเขาจะไม่ใช้กำลังยึดอำนาจทางการเมืองและจะยึดมั่นในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฮิตเลอร์ได้รื้อฟื้นการตั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขึ้นด้วยเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองเขาและแกนนำคนสำคัญของพรรคนาซีโดยเรียกชื่อว่า “ชุทซ์ชตัฟเฟิล” หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่าเอสเอสหัวหน้าเอสเอสคือ ยูลีอุส ชเรค (Julius Schreck) คนสนิทของฮิตเลอร์

 แม้เอสเอสจะอยู่ใต้การกำกับดูแลของหน่วยเอสเอซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในช่วงเวลาเดียวกันแต่ฮิตเลอร์ก็ไม่ประสงค์ให้เอสเอสมีลักษณะเป็นองค์การมวลชนเหมือนเอสเอ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๕ ชเรคจึงมีคำสั่งให้ผู้นำองค์กรพรรคนาซีในภูมิภาคต่าง ๆ จัดตั้งกลุ่มรักษาความปลอดภัยประจำตัวขึ้นโดยให้มีหัวหน้า ๑ คน และผู้ใต้บังคับบัญชา ๑๐ คน กลุ่มดังกล่าวเรียกชื่อว่ากลุ่ม ๑๐ (Zehnerstaffen - Group of Ten) สมาชิกกลุ่ม ๑๐ ต้องมีภูมิสำเนาในเขตพื้นที่อย่างน้อย ๕ ปีและมีอายุระหว่าง ๒๕-๓๕ ปี ทั้งยังต้องมีสมาชิกนาซี ๒ คนเป็นผู้รับรอง นอกจากนี้ สมาชิกต้องมีร่างกายแข็งแรงและสุขภาพสมบูรณ์ทั้งมีสติ สุขุม และมีระเบียบวินัย การกำหนดคุณสมบ้ติดังกล่าวเป็นเพราะฮิตเลอร์และผู้สนับสนุนเขาเริ่มเดินทางไปยังพื้นที่ซึ่งไม่คุ้นเคยทำให้ฮิตเลอร์เห็นความจำเป็นที่ต้องมีกลุ่มรักษาความปลอดภัยกลุ่มเล็ก ๆ ที่เขาสามารถวางใจได้ จึงมีการจัดตั้งกลุ่ม ๑๐ ดังกล่าวขึ้นทั่วเยอรมนีและในเวลาอันสั้นก็มีสมาชิกรวม ๑,๐๐๐ คน ซึ่งสังกัดกับเอสเอสเขต (SS-Gaus) ๖ แห่ง ประกอบด้วยเอสเอสเขตเบอร์ลิน บรันเดนบูร์ก (Brandenburg) ฟรังเกิน (Franken) ไรน์ลันด์ใต้ (Rheinland-Süd) ซัคเซิน (Sachsen) และมิวนิก เอสเอสเขตทั้ง ๖ แห่งอยู่ใต้การควบคุมของกองบัญชาการเอสเอส (SS-Oberleitung - SS Headquarters) ที่เมืองมิวนิก ขึ้นตรงต่อแอนสท์ เริมหัวหน้าหน่วยเอสเอ (Stabschef SA - SA Chief of staff)

 เอสเอสมีเครื่องแบบเหมือนเอสเอคือ เสื้อสีนํ้าตาลรัดรูป กางเกงขาสั้นแค่เข่า ถุงเท้าขนสัตว์สีเทา และรองเท้าบูตทหาร แต่จะใช้เนคไทสีดำและติดปลอกแขนเป็นเครื่องหมายอักษรโบราณที่มีลักษณะเป็นสายฟ้าคู่ เพื่อให้แตกต่างจากเอสเอที่ใช้เนคไทสีนํ้าตาลและปลอกแขนเป็นเครื่องหมายสวัสติกะ หมวกของเอสเอสก็เป็นหมวกสกีสีดำไม่ใช่หมวกแก็บสีนํ้าตาลเหมือนของสมาชิกพรรคนาซีและเอสเอสมาชิกเอสเอสที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกจะได้รับเครื่องแบบจากพรรคและเข้าร่วมในงานพิธีกรรมวันสำคัญของพรรค เช่น วันรำถึกถึงนักสู้ที่วายชนม์ในกบฏโรงเบียร์ ค.ศ. ๑๙๒๓ การชุมนุมที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rally)* และงานวันเกิดของฟือเรอร์ (Fuhrer)* ในวันสำคัญดังกล่าวสมาชิกเอสเอสจะเข้ารับธงพรรคและกล่าวคำปฏิญาณจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์เพียงผู้เดียวรวมทั้งเข้าร่วมการเดินพาเหรดสวนสนามในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนที่จัดการชุมนุมประจำปีของเอสเอส เอสเอสใหม่ทุกคนจะได้รับมอบดาบสั้นสองคม (dagger) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นสมาชิกเอสเอสที่สมบูรณ์ หลักการที่เอสเอสยึดถือและเชื่อมั่นคือ “เกียรติยศ เชื่อฟัง จงรักภักดี และกล้าหาญ” (honor, obedience, loyalty and courage) ส่วนคติพจน์คือ “เกียรติยศของข้าพเจ้าคือความจงรักภักดี” (My honor is loyalty)

 เอสเอสในระยะแรก ๆ มีหน้าที่คอยสนับสนุนเอสเอในการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่ต่อต้านพรรคนาซีและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* แต่จำนวนสมาชิกเอสเอสที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ฝ่ายแกนนำเอสเอเริ่มไม่พอใจและพยายามลดบทบาทของเอสเอสลงด้วยการให้ปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การเดินแจกใบปลิวโฆษณาประชาสัมพันธ์พรรค การหาสมาชิกให้รับหนังสือพิมพ์พรรค หน้าที่ดังกล่าวมีส่วนทำให้สมาชิกเอสเอสลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง ๒๘๐ คนในต้น ค.ศ. ๑๙๒๙ ในช่วงเวลาที่สถานภาพของเอสเอสตกตํ่าลง ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์สมาชิกเอสเอสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๖ และเป็นคนสนิทของเกรกอร์ ชตาสเซอร์ ผู้นำปีกซ้ายในพรรคนาซีก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเอสเอส (Reichsführer SS) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ฮิมม์เลอร์เป็นคนเจ้าระเบียบ มีวิสัยทัศน์ และเก่งด้านการบริหารจัดการทั้งไร้ซึ่งความเมตตา เชายังเชื่อมั่นในเรื่องความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติและความเหนือกว่าของชาติอารยันที่เป็นพันธุยอดมนุษย์ (race of a superman) ฮิมม์เลอร์มีความคิดตั้งแต่แรกว่าเอสเอสควรเป็นองค์กรของกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมภายในพรรคที่อุทิศตนและจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์เพียงผู้เดียวฮิมเลอร์จีงพยายามโน้มน้าวฮิตเลอร์ให้เห็นด้วยกับแนวความคิดของเขาซึ่งฮิตเลอร์ก็ให้ความเห็นชอบ

 หลังเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๙ เป็นต้นมา มีการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกเอสเอสใหม่โดยตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกซึ่งกำหนดอายุอย่างตํ่า ๑๘ ปีขึ้นไป ย้อนหลังสายตระกูลไปจนถึง ค.ศ. ๑๗๕๐ และต้องมีหลักฐานพิสูจน์ว่าไม่มีบรรพบุรุษที่มีเชื้อสายยิว ผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ไม่มีประวัติอาชญากรรม มีความสูงไม่ตํ่ากว่า ๑๘๐ เซนติเมตร ซึ่งต่อมาลดลงเป็น ๑๗๐ เซนติเมตร มีคุณสมบัติพื้นฐานคือผมสีทอง ตาสีฟ้า ผิวสีอ่อน สรีระที่สมบูรณ์ และสุขภาพแข็งแรง ทั้งต้องสอบผ่านความพร้อมด้านกีฬาและสอบปากเปล่าว่าด้วยกฎข้อบังคับต่าง ๆ ของพรรคทั้งต้องให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพรรคนาซีโดยปราศจากเงื่อนไข โดยทั่วไปพรรคนาซีจะคัดเลือกผู้สมัครที่เป็นปัญญาชน นักศึกษา และลูกหลานของชนชั้นขุนนางเก่า หน้าที่ของเอสเอสคือเป็นตำรวจของพรรคนาซีและการพิทักษ์ความปลอดภัยแก่ฟือเรอร์ แกนนำระดับสูงของพรรครวมทั้งการป้องกันและขัดขวางเหล่าเอสเอที่เป็นอันธพาลและสมาชิกพรรคที่ก่อกวนความไม่สงบในสังคมหน้าที่หลักของเอสเอสคือการต่อสู้และทำลายศัตรูที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยทั้งหมดของฟือเรอร์และพรรคนาซี ตลอดจนผลักดันการฟื้นฟูเชื้อชาติอารยัน

 การกำหนดคุณสมบัติของเอสเอสใหม่และการทำให้เอสเอสมีหน้าที่แตกต่างจากเอสเอโดยเป็นเสมือนผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ทำให้จำนวนสมาชิกเอสเอสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก ๒๘๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เป็น ๑,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๐ และใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เป็น ๒๕,๐๐๐ คน ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ จำนวนสมาชิกก็มีถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน อย่างไรก็ตาม ฮิมม์เลอร์ก็กำหนดเป้าหมายไว้ว่าสมาชิกเอสเอสทั้งหมดจะมีได้ไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๐ ฮิมม์เลอร์ให้เปลี่ยนชุดเครื่องแบบของเอสเอสใหม่เป็นสีดำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหมวก และเข็มขัด รวมทั้งให้ใช้ปลอกแขนสีแดงที่มีเครื่องหมายสวัสติกะสีดำในวงกลมสีขาวซึ่งแตกต่างจากของเอสเอตลอดจนมีสัญลักษณ์เป็นหัวกะโหลกทับกระดูกไขว้สีขาวติดที่หมวก เอสเอสจึงเรียกกันทั่วไปว่า “หน่วยทมิฬ” (Black Order) นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแหวนที่หัวแหวนเป็นกะโหลกทับกระดูกไขว้สีขาวเพื่อเป็นรางวัลให้แก่สมาชิกเอสเอสดีเด่นประจำหน่วยต่าง ๆ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ มีการเปลี่ยนชุดเครื่องแบบทหารเอสเอสเป็นสีเทาเขียว (feldgrau) ซึ่งเป็นสีเครื่องแบบทหารบกมาใช้แทนชุดเครื่องแบบสีดำ และไม่สวมปลอกแขนที่แขนเสื้อบนด้านซ้ายแต่จะติดรูปนกอินทรีเหยียบตราสวัสติกะสีขาวแทน ส่วนเครื่องแบบสีดำเดิมจะใช้ในการปฏิบัติงานทั่วไป งานพิธีการและการสวนสนามเท่านั้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ฮิมม์เลอร์ซึ่งต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเอสเอสได้จัดตั้งหน่วยความมั่นคง เอสเอส (SS Security Service) หรือหน่วยเอสดี (SD-Sicherheitsdienst)* ขึ้นเพื่อสอดแนมและเก็บรวบรวมข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามฮิตเลอร์ สมาชิกพรรคนาซีและผู้นำพรรค ข้อมูลที่เก็บเป็นเรื่องชีวิตส่วนบุคคล รสนิยมและกิจกรรมทางเพศ ตลอดจนแวดวงคนที่ใกล้ชิดและที่ติดต่อสัมพันธ์ด้วย ฮิมม์เลอร์แต่งตั้งไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน ไฮดริช (Reinhard Tristan Eugen Heydrich)* แกนนำคนสำคัญของเอสเอสเป็นหัวหน้าหน่วยเอสดี ไฮดริชซึ่งเป็นคนทะเยอทะยานและกระหายอำนาจได้ทำให้เอสดีที่มีเพียงห้องทำงานเล็ก ๆ ห้องเดียวโต๊ะทำงาน ๑ ตัว เครื่องพิมพ์ดีด ๑ เครื่อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำไม่กี่คนภายในเวลาอันสั้นเป็นสำนักงานใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและมีจารชนจำนวนมากรวมทั้งมีเครือข่ายการปฏิบัติงานที่กว้างขวางทั่วประเทศ

 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ไฮดริชได้ดัดแปลงโรงงานผลิตอาวุธที่เมืองดาเคา (Dachau) ใกล้เมืองมิวนิกเป็นค่ายกักกัน (Concentration Camp)* เพื่อกักขังชาวยิวและศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซี ค่ายกักกันดาเคาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างค่ายกักกันอีกหลายแห่งในเวลาต่อมาและทำให้มีการจัดตั้งสำนักงานเอสเอสด้านเชื้อชาติและการตั้งถิ่นฐานใหม่ [SS-Rasse und Siedlungshauptamt (RuSHA) - SS Race and Resettlement Office] ขึ้นด้วย สำนักงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อวางมาตรฐานของพลเมืองเยอรมันใหม่ตามแบบอารยันหรือนอร์ดิกทั้งต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของสตรีเยอรมันที่สมาชิกเอสเอสประสงค์จะร่วมชีวิตด้วย หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดก็จะอนุญาตให้แต่งงานได้ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติของสำนักงานมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และอบรมความรู้เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติให้แพร่หลาย ในเวลาต่อมา ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติยังจัดทำโครงการระยะยาวในการจัดตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวเยอรมันที่มีสายเลือดบริสุทธิ์ในดินแดนที่เยอรมนียึดครอง (หลัง ค.ศ. ๑๙๓๙) โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะส่งผู้ตั้งถิ่นฐานรุ่นแรกเป็นจำนวน ๘๔๐,๐๐๐ คน และรุ่นที่ ๒ จำนวน ๑,๑๐๐,๐๐๐ คน จากนั้นในช่วงเวลา ๑๐ ปีจะจัดส่งชาวเยอรมันไปยังถิ่นฐานใหม่ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ คน

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิมม์เลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับบัญชาหน่วยตำรวจลับหรือเกสตาโป (Gestapo)* ซึ่งทำให้เอสเอสมีอำนาจมากขึ้น เขาจึงร่วมมือกับไรน์ฮาร์ดไฮดริชและแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Göring)* วางแผนกำจัดแอนสท์ เริมคู่แข่งทางการเมืองโดยกุข่าวเรื่องการวางแผนก่อการปฏิวัติของเริมและเอสเอซึ่งนำไปสู่การกวาดล้างอันนองเลือดที่เรียกว่า คืนแห่งมืดยาวหรือกรณีเริม (Röhm Affair) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ แผนกำจัดเริมและเอสเอได้รับการสนับสนุนจากกองทัพด้วย หลังการกวาดล้างอันนองเลือดครั้งนี้หน่วยเอสเอหมดบทบาทและอิทธิพลในพรรค เอสเอสถูกแยกออกจากหน่วยเอสเอและเริ่มมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ ฮิมม์เลอร์จึงปรับโครงสร้างการบริหารของเอสเอสใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยขยายองค์กรเป็นระดับกองทัพและยกฐานะเป็นองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบด้านการทหาร ความมั่นคง ทางการเมือง และการรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งควบคุมดูแลกิจการตำรวจด้วย ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุด (Oberster Führer - Supreme Leader) ของเอสเอสและฮิมม์เลอร์เป็นผู้บัญชาการรองจากฮิตเลอร์ในตำแหน่งผู้นำไรค์แห่งเอสเอส (Reichs führer der SS - Reich Leader of the SS)

 ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อกำลังพลของเอสเอสมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น ๒๕๐,๐๐๐ คน และกลายเป็นกองทัพหลักของพรรคนาซีที่เรียกว่ากองกำลังทั่วไปเอสเอส (Allgemeine SS - The General SS) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของตำรวจและเกสตาโป ฮิมม์เลอร์จึงเพิ่มกองบัญชาการเอสเอสเป็น ๘ กองและต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๔ เป็น ๑๒ กอง นอกจากนี้ กองกำลังรักษาความปลอดภัยของฮิตเลอร์ก็ถูกแยกออกจากกองกำลังทั่วไปเอสเอส จัดตั้งเป็นกองกำลังพิทักษ์ฮิตเลอร์โดยเฉพาะซึ่งเรียกชื่อว่ากองกำลังรักษาความปลอดภัยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เอสเอส [Leibstandarte-SS Adolf Hitler (LSSAH) - SS Bodyguard Regiment Adolf Hitler] ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* กองรักษาความปลอดภัยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เอสเอส เป็น ๑ ใน ๓ ของกองกำลังหลักของกองทัพเอสเอส (Waffen-SS) ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เพื่อทำสงครามในแนวหน้า ส่วนกองกำลังหลักอีก ๒ กอง คือ กองพันหัวกะโหลก [SS-Totenkopfverbände (SS-TV) - Death’s Head Battalion] ซึ่งดูแลควบคุมค่ายกักกันและกองกำลังสำรองเอสเอส (SS-Verfügungstruppe - SS Reserve)

 ในระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙ เอสเอสมีอำนาจและอิทธิพลอย่างมากในสังคมเพราะควบคุมทั้งหน่วยตำรวจทั่วไปและเกสตาโปทั่วทั้งประเทศ ทั้งมีอิสระในการดำเนินงานเหนือพรรคและรัฐ ฮิมม์เลอร์อ้างว่าปฏิบัติการต่าง ๆ ของเอสเอสเป็นไปตามเจตจำนงของฟือเรอร์และเพื่อตอบสนองแนวนโยบายของพรรคนาซี ในตำแหน่งอธิบดีตำรวจเขาสั่งปฏิบัติการต่าง ๆ ของเอสเอสภายในกรอบของกฎหมายและในตำแหน่งผู้นำไรค์แห่งเอสเอสก็ปฏิบัติการเหนือกฎหมายได้อย่างชอบธรรม ในเวลาอันสั้นฮิมม์เลอร์จึงสถาปนารัฐตำรวจเบ็ดเสร็จขึ้นได้สำเร็จ ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๘ เมื่ออาร์ทูร์ ไซส์ซิงควาร์ท (Arthur Seyss-lnquart)* นายกรัฐมนตรีออสเตรียที่นิยมเยอรมนีเคลื่อนไหวให้มีการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ได้สำเร็จในเดือนมีนาคม มีการรวมหน่วยเอสเอสออสเตรียเข้ากับเอสเอสเยอรมันและปรับการปฏิบัติงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในปีเดียวกันนี้ฮิมม์เลอร์ได้ตั้งตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์เอสเอสขึ้น ซึ่งสมาชิกจะไม่มีหน้าที่หรืออำนาจใด ๆ ในเอสเอสแต่มีสิทธิสวมเครื่องแบบเอสเอส อาร์ทูร์ ไซซิงควาร์ท คอนราด เฮนไลน์ (Konrad Henlein) ผู้นำพรรคซูเดเทนเยอรมัน (Sudeten-German Party-SPD) และ มาร์ติน บอร์มันน์ (Martin Bormann)* เลขานุการส่วนตัวของรูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* รองหัวหน้าพรรคนาซีและรัฐมนตรีว่าการกิจการพรรค (Reich Minister for Party Affairs) เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์รุ่นแรกของเอสเอสส่วนสมาชิกกิตติมศักดิ์อื่น ๆ มักเป็นชนชั้นขุนนางหรือชนชั้นสูงซึ่งต้องการชื่อเสียงเกียรติยศที่ให้การสนับสนุนพรรคนาซี

 ในการดำเนินการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีฮิมม์เลอร์ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเอสเอสที่เรียกว่าหน่วยสังหารพิเศษเอสเอส (Einsatzgruppen SS - Special Killing Squads of the SS) ขึ้นเพื่อร่วมไปกับกองทัพบกหรือกองทัพเอสเอสในการปฏิบัติหน้าที่ในดินแดนที่ยึดครองโดยการตรวจค้นและยึดเอกสารข้อมูลที่สำคัญรวมทั้งป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น หน้าที่หลักของหน่วยสังหารพิเศษเอสเอสในระยะแรก ๆ คือการควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นให้ปฏิบัติตามแนวนโยบายของพรรคนาซีและการให้ความช่วยเหลือร่วมมือสร้างค่ายกักกันขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อเยอรมนีละเมิดความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ค.ศ. ๑๙๓๘ ด้วยการเข้ายึดครองโบฮีเมีย (Bohemia) และ โมเรเวีย (Moravia) ของเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* หน่วยสังหารพิเศษเอสเอสกีปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเดียวกับเมื่อครั้งเยอรมนีผนวกออสเตรีย ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ หลังโปแลนด์ถูกเยอรมนียึดครอง หน่วยสังหารพิเศษเอสเอสได้รับมอบหมายหน้าที่ใหม่เพื่อสังหารชาวยิว พวกคอมมิวนิสต์และกวาดล้างพวกปัญญาชนและชนชั้นอภิสิทธิ์โปลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการจัดตั้งขบวนการต่อต้านนาซีในโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียต ฮิมม์เลอร์สั่งการให้หน่วยสังหารพิเศษเอสเอสฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกที่ไม่พิงปรารถนาให้สิ้นซากซึ่งได้แก่ ชาวยิปซี พวกคอมมิวนิสต์ พวกรักชาติ พวกรักร่วมเพศนักโทษรัสเซีย และโดยเฉพาะชาวยิว ปฏิบัติการขุดรากถอนโคนชาวยิวของหน่วยสังหารพิเศษเอสเอสดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)* ที่กลุ่มแกนนำพรรคนาซีระดับสูงได้กำหนดขึ้นในการประชุมที่วันน์เซ (Wannsee Conference)* ค.ศ. ๑๙๔๒

 เมื่อเยอรมนีเริ่มนโยบายกำจัดชาวยิวด้วยการบีบบังคับให้อพยพออกนอกประเทศและนำไปสู่เหตุการณ์คืนกระจกแตก (Kristallnacht; Night of Broken Glass)* ระหว่างวันที่ ๙-๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๘ โยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณะและการโฆษณาชวนเชื่อ (Public Enlightenment and Propaganda) และไรน์ฮาร์ด ไฮดริชได้สั่งการให้หน่วยเอสเอสและเอสเอใช้ความรุนแรงกับชาวยิวทั้งในเยอรมนีและออสเตรียทั้งให้กวาดต้อนจับกุมชาวยิวส่งไปค่ายกักกัน เอสเอสมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการกวาดล้างชาวยิวและควบคุมค่ายกักกัน ต่อมา เมื่อเยอรมนีเตรียมเข้าสู่สงครามได้มีการปรับหน่วยเอสเอสการ์ดที่ควบคุมค่ายกักกันเข้าเป็นกองกำลังของกองทัพเอสเอส

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ฮิมม์เลอร์ให้บูรณะปราสาทเวเวลส์ บูร์ก (Wewelsburg) ซึ่งเป็นปราสาทเก่าในสมัยกลางที่ตั้งอยู่ในป่าใกล้เมืองพาเดอร์บอร์น (Paderborn) ในรัฐเวสต์ ฟาเลีย (Westphalia) เพื่อใช้เป็นสถานที่แสดงอารยธรรมและความยิ่งใหญ่ของชาติพันธุ์เยอรมันและเป็นที่ประชุมและสถานที่จัดพิธีกรรมลึกลับตามแบบพวกอัศวินทิวทอนิก เยอรมัน (German Teutonic Knights) ของกลุ่มผู้นำเอสเอสและแกนนำเอสเอสระดับสูง ขณะเดียวกัน ฮิมม์เลอร์ก็คิดโครงการสร้างกลุ่ม “ชนชาติปกครอง” (master race) ขึ้นด้วยการเกณฑ์ชายเชื้อชาติ “อารยัน” เข้าเป็นสมาชิกกองทัพเอสเอสโดยสมาชิกต้องปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีคำถามและอุทิศตนเพื่อต่อสู้ทำสงครามทั้งต้องเกลียดชังพวกที่มีเชื้อชาติตํ่ากว่าหรือเป็นพวกพันธุ์ด้อย แนวทางการสร้างจักรวรรดิไรค์ของชาติเยอรมัน (German Reich of German Nation) และการสร้างความเข้มแข็งของหน่วยเอสเอสทำให้ฮิตเลอร์ชื่นชมฮิมเลอร์มาก ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งฮิมม์เลอร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและใน ค.ศ. ๑๙๔๔ เป็นผู้บัญชาการทหารของกองทัพสำรอง (Ersatzarme - Commander in chief of the Army Reserve) อย่างไรก็ตาม ในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อฮิมม์เลอร์ตระหนักว่าเยอรมนีกำลังจะปราชัยในสงคราม เขาสั่งให้ทำลายปราสาทเวเวลส์บูร์ก และหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเอสเอสทั้งหมด

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เอสเอสซึ่งปรับโครงสร้างเป็นกองทัพเอสเอสมีส่วนทำให้เยอรมนีขยายอำนาจไปทั่วยุโรปและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายกำจัดยิวทั่วยุโรปของพรรคนาซีให้บรรลุผลในทางปฏิบัติเอสเอสมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลค่ายกักกันและเชลยสงครามทั้งหมด ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๓ เอสเอสมีบทบาทโดดเด่นในการควบคุมการปราบปรามการลุกฮือที่กรุงวอร์ซอ (Warsaw Uprising)* หรือที่เรียกกันว่าการลุกฮือที่เกตโตวอร์ซอ (Warsaw Ghetto Uprising)* ของชาวยิวในโปแลนด์ กองทัพเยอรมันซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้เวลากวาดล้างไม่เกิน ๓ วันต้องต่อสู้กับชาวยิวนานถึง ๒๘ วันทหารเยอรมันเสียชีวิตประมาณ ๓๐๐ คน และบาดเจ็บเกือบ ๑,๐๐๐ คน ชาวยิวเกือบ ๖๐,๐๐๐ คนถูกสังหาร และมีเพียงไม่ถึง ๑๐๐ คนสามารถหนีรอดไปได้ หลังการปราบปรามสิ้นสุดลง ฮิตเลอร์ให้ฮิมม์เลอร์ขยายขอบเขตหน้าที่ของเอสเอสเข้าดำเนินงานทางเศรษฐกิจด้วยการจัดตั้งองค์การวิสาหกิจธุรกิจ (Wirtschaftsver-waltunghauptant - WVHA - Business Enterprises) ควบคุมดูแลธุรกิจการผลิตของโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์โรงเก็บเครื่องบิน การผลิตจรวด V-1 และ V-2 และอื่น ๆ

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ พันเอก เคลาส์ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus von stauffenberg)* ได้คบคิดกับกลุ่มนายทหารวางแผนยึดอำนาจและสังหารฮิตเลอร์ โดยปรับแผนปฏิบัติการวัลคีริก (Operation Valkyrie) ที่จะใช้ในสภาวการณ์ ฉุกเฉินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มก่อการปฏิบัติการวัลคีริกหรือที่เรียกกันต่อมาว่าแผนชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Stauffenberg Plot) ได้นำไปสู่เหตุการณ์การคบคิดเดือนกรกฎาคม (July Conspiracy)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ แต่แผนสังหารฮิตเลอร์ล้มเหลว ฝ่ายก่อการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดถูกจับกุมและกวาดล้าง ฮิตเลอร์แต่งตั้งฮิมเลอร์เป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อไต่สวนกลุ่มผู้ก่อการซึ่งต่อมาถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งหมด หลังการลอบสังหารครั้งนี้ ฮิตเลอร์หวาดระแวงกองทัพอย่างมากและได้ปรับสถานภาพของกองทัพเอสเอสเป็นกองกำลังหลักของชาติแทนที่กองทัพบกและฮิมม์เลอร์ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้นำอันดับ ๒ ของจักรวรรดิไรค์แทนเกอริง กองทัพเอสเอสจึงมีบทบาทมากขึ้นในการปกป้องฟือเรอร์และปิตุภูมิทั้งควบคุมทหารและพลเรือนทุกหมู่เหล่าให้ทำการรบ

 ในช่วงปลายสงครามเมื่อเยอรมนีกำลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เอสเอสเป็นกองกำลังหลักที่ยืนหยัดต่อต้านการบุกของฝ่ายพันธมิตรและกองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตอย่างเหนียวแน่นและเป็นกองกำลังสุดท้ายที่ยอมวางอาวุธ ก่อนการบุกเข้ายึดครองเบอร์ลินนายทหารเอสเอสกลุ่มหนึ่งได้เดินทางออกนอกประเทศไปอาร์เจนตินา (Argentina) และจัดตั้งองค์การช่วยเหลือแกนนำนาซีขึ้นโดยเรียกชื่อว่าองค์การของอดีตสมาชิกเอสเอส (Organisation der Ehemaligen SS-Angehörigen - Organization of the former SS members) ซึ่งมีชื่อรหัสว่า “โอเดสซา” (ODESSA) องค์การดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะช่วยเหลือสมาชิกเอสเอสให้หนีออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตใหม่และได้วางเครือข่ายการปฏิบัติงานในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และนครรัฐวาติกัน โดยมีศูนย์บัญชาการที่กรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) โอเดสซาได้ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้นำนาซีคนสำคัญหลายคนที่ถูกตามล่าซึ่งรวมทั้งคาร์ล อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Karl Adolf Eichmann)* และโยเซฟ เมงเงิล (Josef Mengele) ที่มีสมญาว่า “นายแพทย์ปีศาจ” หลบหนีไปลาตินอเมริกาได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ โอเดสซายังเคลื่อนไหวโฆษณาทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชาวเยอรมันเชื่อว่าเอสเอสคือทหารผู้รักชาติที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ปิตุภูมิ ไม่ใช่ฆาตกรตามที่ฝ่ายพันธมิตรกล่าวหา ขณะเดียวกันก็มีการฝึกอดีตสมาชิกเอสเอสที่ปลอมแปลงตนให้กลับเข้าสู่อาชีพต่าง ๆ ของสังคมรวมทั้งให้เข้าแทรกซึมในกิจกรรมทางการเมืองระดับต่าง ๆ

 หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ผู้นำประเทศฝ่ายพันธมิตรซึ่งร่วมหารือกันในการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference ๑๗ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศาลทหารระหว่างประเทศ (International Military Tribunal) ขึ้นเพื่อดำเนินคดีผู้นำนาซีระดับสูงโดยให้เป็นการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง การพิจารณาคดีที่เรียกกันทั่วไปว่าการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๙ ครั้งที่สำคัญมากที่สุดคือการพิจารณาผู้นำนาซีคนสำคัญรวม ๒๒ คนระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ในการพิจารณาคดีครั้งนี้มีการพิจารณาองค์การสำคัญของพรรคนาซีที่เกี่ยวข้องกับผู้นำนาซีซึ่งประกอบด้วยหน่วยเอสเอ เอสเอส เกสตาโป และหน่วยเอสดีด้วยข้อหาเป็นองค์กรอาชญากรรมศาลตัดสินว่าหน่วยเอสเอสมีความผิดตามข้อหาเพราะปฏิบัติการกวาดล้างและกำจัดชาวยิวในค่ายกักกันและในดินแดนที่เยอรมนียึดครองด้วยวิธีการทำรุณโหดเหี้ยม ประมาณว่าเอสเอสได้สังหารชาวยิวราว ๖ ล้านคน พลเรือนโซเวียตอีกราว ๗ ล้านคน และพลเรือนของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกรวมทั้งพลเรือนชาวฝรั่งเศสในขบวนการต่อต้านนาซีอีกนับล้านคน นอกจากนี้ เอสเอสยังบริหารปกครองแรงงานนักโทษอย่างกดขี่ข่มเหง รวมทั้งสังหารและทารุณกรรมต่อเชลยสงคราม สมาชิกเอสเอสทั้งหมดจึงถูกตัดสินเป็นอาชญากรสงครามเพราะมีส่วนร่วมในแผนก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและปกปิดการเข่นฆ่าทางเชื้อชาติในระหว่างสงคราม.



คำตั้ง
SS
คำเทียบ
เอสเอส
คำสำคัญ
- กบฏเมืองมิวนิก
- กบฏโรงเบียร์
- กรณีเริม
- กลุ่ม ๑๐
- กองทัพแดง
- กองพันหัวกะโหลก
- การกวาดล้างอันนองเลือด
- การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย
- การคบคิดเดือนกรกฎาคม
- การประชุมที่พอทสดัม
- การประชุมที่วันน์เซ
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- การลุกฮือที่กรุงวอร์ซอ
- เกสตาโป
- เกอริง, แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม
- ขบวนการต่อต้านนาซี
- ความตกลงมิวนิก
- ค่ายกักกัน
- คืนกระจกแตก
- คืนแห่งมีดยาว
- ชตราสเซอร์, เกรกอร์
- ชเรค, ยูลีอุส
- ชุทซ์ชตัฟเฟิล
- เชโกสโลวะเกีย
- ไซส์ซิงควาร์ท, อาร์ทูร์
- บอร์มันน์, มาร์ติน
- โบฮีเมีย
- ปฏิบัติการวัลคีริก
- แผนชเตาฟ์เฟนแบร์ก
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- ฟือเรอร์
- เมงเงิล, โยเซฟ
- เริม, แอนสท์
- ศาลทหารระหว่างประเทศ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สวิตเซอร์แลนด์
- เอสดี
- เอสเอ
- เอสเอส
- ไอช์มันน์, คาร์ล อดอล์ฟ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-