SD (-)

เอสดี (-)

 เอสดีมีชื่อเต็มในภาษาเยอรมันว่า ซิเชอร์ไฮท์สดีนสท์ (Sicherheitsdienst) หมายถึงหน่วยข่าวกรองและความมั่นคง (Intelligence and Security Body) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหน่วยงานความมั่นคงเอสเอส (SS Security Service) เป็นองค์การข่าวกรององค์การแรกของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* และถือเป็นองค์การเครือข่ายของหน่วยตำรวจลับหรือเกสตาโป (Gestapo)* ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* ห้วหน้าหน่วยเอสเอสหรือชุทซ์ชตัฟเฟิล (SS-Shutzstaffel)* จัดตั้งเอสดีขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๓๑ และแต่งตั้งไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน ไฮดริช (Reinhard Tristan Eugen Heydrich)* สมาชิกนาซีที่เขาไว้วางใจเป็นหัวหน้า เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซีได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เอสดีมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นเพราะขยายขอบเขตการปฏิบัติงานครอบคลุมความมั่นคงทุกด้านของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* และดำเนินการต่อต้านศัตรูของรัฐทุกรูปแบบ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ เอสดีมีบทบาทสำคัญในการวางแผนกำจัดแอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* ศัตรูของฮิมเลอร์และนำไปสู่การกวาดล้างอันนองเลือด (Blood Purge) หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่าคืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ไรน์ฮาร์ด ไฮดริชได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าตำรวจเพื่อความมั่นคง (Chief of the Security Police) เขาจึงรวมงานด้านอาชญากรรมของเอสดีเข้ากับเกสตาโปและในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ก็ได้จัดตั้งสำนักงานกลางความมั่นคงจักรวรรดิไรค์ (Reich Security Main Office-RSHA) ขึ้นที่กรุงเบอร์ลินเพื่อควบคุมเอสดีและหน่วยตำรวจเพื่อความมั่นคง

 การจัดตั้งหน่วยเอสดีเป็นผลสืบเนื่องจากการที่พรรคนาซีมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ ซึ่งได้เสียง ๑๐๗ ที่นั่งและเป็นพรรคใหญ่อันดับ ๒ ที่มีที่นั่งมากในสภาไรค์ชตาก (Reichstag) รองจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* แต่ไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Bruning)* ผู้นำพรรคเซนเตอร์ (Center Party)* ที่ประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งปฏิเสธที่จะให้พรรคนาซีเข้าร่วมจัดตั้งคณะรัฐบาล พรรคนาซีจึงร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทั้งในและนอกสภา ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ หัวหน้าหน่วยเอสเอสจึงคิดจัดตั้งหน่วยข่าวกรองของพรรคนาซีขึ้นเพื่อสืบค้นและรวบรวมข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามโดยเลียนแบบการดำเนินงานของอับแวร์ (Abwehr) ซึ่งเป็นหน่วยต่อต้านข่าวกรอง (Counter Intelligence) ของกองทัพ ฮิตเลอร์และแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Göring)* แกนนำคนสำคัญของพรรคนาซีในสภาไรค์ชตากสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวอย่างมาก ฮิมเลอร์จึงแต่งตั้งไรน์ฮาร์ด อดีตนายทหารเรือที่เป็นสมาชิกหน่วยเอสเอสซึ่งเขาไว้วางใจให้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยต่อต้านข่าวกรองเล็ก ๆ ขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ โดยให้ชื่อว่าหน่วย Ic-Dienst หน่วยดังกล่าวซึ่งรับคำสั่งโดยตรงจากฮิมเลอร์ และเป็นเพียงหน่วยเล็ก ๆ ที่มีห้องทำงาน ๑ ห้องโต๊ะทำงาน ๑ ตัวและเครื่องพิมพ์ดีด ๑ เครื่อง รวมทั้งตู้เก็บเอกสาร ๑ ตู้ ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นสำนักงานใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยรวมทั้งมีผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก หน้าที่หลักคือการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกด้านของศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซีและฟือเรอร์ (Führer)* รวมทั้งข้อมูลของสมาชิกพรรคนาซีและกลุ่มผู้นำหน่วยเอสเอ (SA-Sturmabteilung)* ตลอดจนการทำรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมและการเมือง ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ หน่วย Ic-Dienst ซึ่งขยายขอบเขตการดำเนินงานกว้างขวางมากขึ้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นหน่วยงานความมั่นคงเอสเอสหรือเรียกกันทั่วไปว่าเอสดี

 เมื่อฮิตเลอร์ร่วมมือกับฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* จัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ โดยฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หน่วยงานความมั่นคงเอสเอสหรือเอสดีก็มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเสริมสร้างอำนาจของพรรคนาซีด้วยการใช้หลักฐานข้อมูลลับต่าง ๆ กำจัดฝ่ายตรงข้าม ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เอสดีสร้างข่าวลือว่าแอนสท์ เริม ผู้นำหน่วยเอสเอหรือกองกำลังพายุ (Storm Troopers) วางแผนยึดอำนาจฮิตเลอร์จึงสั่งกำจัดเริมและปราบปรามหน่วยเอสเอซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่าดืนแห่งมีดยาวหรือการกวาดล้างเริม (Röhm Purge) เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ หลังการกวาดล้างอันนองเลือดครั้งนี้ หน่วยเอสเอหมดบทบาทและอิทธิพลลงและหน่วยเอสเอสถูกแยกออกจากหน่วยเอสเอหน่วยเอสดีถูกยกสถานะเป็นหน่วยข่าวกรองหลักของพรรคและของรัฐและมีการจัดตั้งเครือข่ายย่อยขึ้นทั่วเยอรมนี

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ฮิมเลอร์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมตำรวจได้ปรับปรุงการบริหารงานตำรวจโดยแบ่งเป็น ๒ สายงาน คือ หน่วยตำรวจเพื่อความสงบเรียบร้อย (Ordnungspolizei - Order Police) ซึ่งประกอบด้วยตำรวจเทศบาล (Schutzpolizei - Municipal Police) ตำรวจภูมิภาค (Gendarmerie - Rural Police) และตำรวจท้องถิ่น (Gemeindepolizei - Local Police) กับหน่วยตำรวจเพื่อความมั่นคง (Sicherheitspolizei - Security Police) ซึ่งประกอบด้วยตำรวจสายอาชญากรรม (Kriminalpolizei - Criminal Police) และตำรวจลับหรือเกสตาโป ฮิมเลอร์จึงแต่งตั้งไรน์ฮาร์ดเป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจเพื่อความมั่นคงและหน่วยเอสดี ไรน์ฮารีดเห็นว่างานของเกสตาโปและเอสดีก้าวก่ายกันและมักแข่งขันกันซึ่งบ่อยครั้งสร้างปัญหาความขัดแย้งในการปฏิบัติงาน เขาจึงแยกหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานทั้งสองโดยกำหนดให้เอสดีรับผิดชอบงานด้านสืบสวนฝ่ายตรงข้ามของพรรคนาซีและเน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ พรรค รัฐ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และศิลปะ ส่วนเกสตาโปมุ่งปฏิบัติการทำลายศัตรู กลุ่มที่คบคิดก่อกบฏ และสอดส่องการเคลื่อนไหวของพวกใต้ดินฝ่ายซ้าย พวกผู้อพยพ และในบางพื้นที่ให้รวมถึงพวกยึว นักบวช และกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคด้วย

 ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยเอสดีไม่มีเครื่องแบบและมีอิสระเต็มที่ในการเคลื่อนไหวและปฏิบัติงาน เอสดีจึงดึงดูดปัญญาชนจำนวนมากให้เข้าเป็นสมาชิกซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบคุณสมบัติและการทดสอบงานอย่างเข้มงวด ผู้ที่ผ่านการทดสอบจะได้รับชื่อรหัสประจำตัวและถูกส่งไปปฏิบัติงานตามสายงานที่ถนัด และจะไม่มีโอกาสได้รับทราบว่าในสายงานดังกล่าวมีใครอีกบ้างที่ทำงานแบบเดียวกันสมาชิกหรือผู้ปฏิบัติงานเอสดีแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ ๑) Vertrauensleute หรือ V-men หมายถึงคนที่ไว้วางใจได้และเป็นระดับปิดลับ ๒) Aqenten หรือ A-men หมายถึงตัวแทนที่วางใจได้ในระดับหนึ่ง ๓) Zubringer หรือ Z-men หมายถึงสายสืบชั้นดี ๔) Helfer-shelfer หรือ H-men สายสืบระดับสองซึ่งไม่อาจวางใจได้สนิท และ ๕) Unzuverlässige หรือ U-men ผู้ปฏิบัติงานที่ยังไม่อาจวางใจได้และต้องคอยจับตาไว้

 เครือข่ายงานของเอสดีที่ครอบคลุมทั่วจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ทำให้การกวาดล้างและกำจัดบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูของจักรวรรดิมีประสิทธิภาพ ในแต่ละวันผู้ปฏิบัติงานของเอสดีแต่ละคนต้องเขียนรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานหาข่าวที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป และสมาชิกในคณะรัฐบาลหรือสมาชิกพรรคนาซีที่ตนรับผิดชอบส่งให้ผู้บังคับบัญชา สำเนารายงานจะเก็บไว้ในแฟ้มลับของหน่วยงานท้องถิ่นหรือสาขาและต้นฉบับจะถูกส่งไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงเบอร์ลิน นอกจากรายงานเกี่ยวกับบุคคลแล้ว ยังมีรายงานว่าด้วยสถานการณ์ทั่วไปทางสังคมและการเมืองซึ่งเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข่าว รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ประจำวันโดยเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นภูมิภาค และระดับชาติต้องกลั่นกรองข้อมูลและเรียบเรียงเสนอเป็นภาพรวมสังเชปที่ชัดเจน ทั้งให้ความคิดเห็นประกอบเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม รายงานนี่ซึ่งเรียกกันว่า “รายงานสถานการณ์ทั่วไปหรือรายงานจากจักรวรรดิไรค์” (Meldungen aus dem Reich - Reports from the Reich) จะทำให้รัฐบาลนาซีนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำข่าวสารหรือการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นของประชาชนทางด้านต่าง ๆ

 นอกจากงานข่าวกรองและงานจารกรรมแล้ว ไรน์ฮาร์ด หัวหน้าเอสดียังจัดตั้งคณะทนายความขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยทนายที่หลักแหลมและมีไหวพริบเพื่อทำหน้าที่ปกป้องการปฏิบัติงานตามอำเภอใจของเอสดีให้ชอบธรรมตามกฎหมาย ประชาชนทั่วไปจึงไร้อำนาจที่จะต่อสู้กับกลไกเครื่องมือของเอสดี ไรน์ฮาร์ดสามารถสั่งจับและจำคุกทุกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นภัยต่อรัฐได้ทันทีและส่งไปค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ไต้ทุกเวลา เขาจึงอยู่เหนือกฎหมายและเป็นเจ้านายที่มีอำนาจเหนือชีวิตและเสรีภาพของประชาชน บุคคลใดก็ตามที่ถูกศาลประชาชน (Volk-sqericht - People’s Court) ตัดสินโทษ เจ้าหน้าที่เอสดีซึ่งเฝ้าคอยอยู่นอกห้องศาลก็จะนำตัวไปทันทีและจะไม่มีใครรับทราบชะตากรรม

 หลังเยอรมนีบุกโจมตีโปแลนด์ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ด๙๓๙ ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ไรน์ฮาร์ดได้ปรับปรุงโครงสร้างของเอสดีอีกครั้งโดยแบ่งการดำเนินงานของเอสดีเป็น ๒ สำนักงาน คือ เอสดีในประเทศ (Inland-SD) และเอสดีนอกประเทศ (Ausland-SD) เอสดีในประเทศซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับงานข่าวกรองและงานความมั่นคงภายในเยอรมนีประกอบด้วยกรมเอ (department A) มีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านกฎหมายและโครงสร้างตามกฎหมาย กรมบี (department B) รับผิดชอบด้านเรื่องเชื้อชาติและชาติพันธุ์ กรมซี (department C) ว่าด้วยศาสนาและวัฒนธรรม กรมดี (department D) ว่าด้วยการค้าและอุตสาหกรรม และกรมอี (department E) ว่าด้วยสังคมระดับสูง ส่วนเอสดีนอกประเทศมีหน้าที่เกี่ยวกับงานข่าวกรองในดินแดนนอกเยอรมนีประกอบด้วย ๖ กรม คือ กรมเอ ว่าด้วยองค์การและการบริหาร กรมบี ว่าด้วยการจารกรรมในประเทศตะวันตก กรมซี ว่าด้วยการจารกรรมในสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่น กรมดี ว่าด้วยการจารกรรมในเขตอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา กรมอี ว่าด้วยการจารกรรมในยุโรปตะวันออก และกรมเอฟ ว่าด้วยเรื่องทางเทคนิคต่าง ๆ ต่อมา ในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ มีการจัดตั้งสำนักงานกลางความมั่นคงจักรวรรดิไรค์ขึ้นที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน โดยไรน์ฮาร์ดเป็นผู้บังคับบัญชา เอสดีและเกสตาโปจึงถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานกลางความมั่นคงจักรวรรดิไรค์

 หลังการรวมเข้าเป็นหน่วยงานในสำนักงานกลางความมั่นคงจักรวรรดิไรค์ มีการรวมฝ่ายปฏิบัติการทั้งหมดของเอสดียกเว้นงานข่าวกรองต่างประเทศที่เรียกชื่อว่า Amt III เข้ากับสำนักงานเอสดีในประเทศโดยมีออทโท โอเลนดอร์ฟ (Otto Ohlendorf) เป็นหัวหน้าส่วนงานข่าวกรองต่างประเทศที่เรียกชื่อว่า Amt IV ก็รวมเข้ากับสำนักงานเอสดีนอกประเทศโดยมีวัลเทอร์ เชลเลนแบร์ก (Walter Schellenberg) เป็นหัวหน้าต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๔

 ในระหว่างสงครามโลก เอสดีมีหน้าที่สืบความเคลื่อนไหวของพลเมืองในประเทศที่เยอรมนียึดครองได้และต้องทำรายงานเสนอเป็นรายวันต่อไรน์ฮาร์ด ทั้งประสานการดำเนินงานกับหน่วยเอสเอสเพื่อกวาดล้างกลุ่มที่ต่อต้านนาซีในดินแดนที่ยึดครองโดยเฉพาะในโปแลนด์ เมื่อไรน์ฮาร์ด ถูกสมาชิกขบวนการใต้ดินเซ็กลอบสังหารในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๒ ฮิมเลอร์จึงรับช่วงตำแหน่งผู้นำเอสดีจากไรน์ฮาร์ดและใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เขาแต่งตั้งแอนสท์ คัลเทนบรีนเนอร์ (Ernst Kaltenbrünner) เป็นหัวหน้าเอสดี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๓-๑๙๔๔ เอสดีมีบทบาทสำคัญในการสืบเบาะแสการเคลื่อนไหวต่อกองทัพ และในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๔ สามารถจับกุมนายทหาร ๒ คนที่เป็นนายทหารสมาชิกกลุ่มไครเซา (Kreisau Circle) ซึ่งคบคิดแผนสังหารฮิตเลอร์ได้ การจับกุมดังกล่าวมีส่วนทำให้กลุ่มไครเซาตัดสินใจที่จะลงมือสังหารฮิตเลอร์ทันที ซึ่งนำไปสู่การคบคิดเดือนกรกฎาคม (July Conspiracy)* หรือแผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม (July Bomb Plot)* ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ แต่ก็ประสบความล้มเหลว

 เหตุการณ์การลอบสังหารฮิตเลอร์ในแผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านฮิตเลอร์ในกองทัพ โดยมีพันเอก เคลาส์ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus von stauffenberg)* เป็นผู้นำทำให้ฮิตเลอร์ไม่วางใจกองทัพ เขาจึงปรับบทบาทและสถานภาพของกองทัพเอสเอส (Waffen SS) ให้เป็นกองกำลังหลักของชาติแทนกองทัพบกและให้โอนงานข่าวกรองของกองทัพซึ่งซํ้าซ้อนและแข่งขันกับเอสดีเข้าร่วมกับเอสดี

 เมื่อสงครามโลกในยุโรปสิ้นสุดลงในวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ฝ่ายพันธมิตรได้จับกุมผู้นำนาชีคนสำคัญรวม ๒๒ คน เพื่อดำเนินคดีและนำไปสู่การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* ระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ในการพิจารณาคดีครั้งนี้ หน่วยเอสดีถูกพิจารณาคดีด้วยข้อหาเป็นองค์กรอาชญากรรมด้วยการก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพ ในการวางแผนและก่อสงคราม รวมทั้งรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างสงคราม ศาลทหารระหว่างประเทศ (International Military Tribunal) แห่งนูเรมเบิร์กตัดสินว่าหน่วยเอสดีมีความผิดตามข้อหาและสมาชิกขององค์การตั้งแต่ระดับผู้นำหน่วย (Kreisleiter - circleleader) ต้องถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาโทษด้วย.



คำตั้ง
SD
คำเทียบ
เอสดี
คำสำคัญ
- กลุ่มไครเซา
- กองกำลังพายุ
- การกวาดล้างเริม
- การกวาดล้างอันนองเลือด
- การคบคิดเดือนกรกฎาคม
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- เกสตาโป
- เกอริง, แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม
- ค่ายกักกัน
- คืนแห่งมีดยาว
- ชุทซ์ชตัฟเฟิล
- ซิเชอร์ไฮท์สดีนสท์
- บรือนิง, ไฮน์ริช
- แผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- ฟือเรอร์
- เริม, แอนสท์
- ศาลทหารระหว่างประเทศ
- ศาลประชาชน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภาไรค์ชตาก
- เอสดี
- เอสเอ
- เอสเอส
- โอเลนดอร์ฟ, ออทโท
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-