SA (-)

เอสเอ (-)

เอสเอ มีชื่อเรียกเต็มในภาษาเยอรมันว่า ชตูร์มอับไทลุง (sturmabteilung) หมายถึง กองกำลังพายุ (Storm Troopers) เป็นองค์กรกึ่งทหารของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซีให้ก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์จัดตั้งหน่วยเอสเอขึ้นที่เมืองมิวนิกในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๑ สมาชิกส่วนใหญ่ในระยะแรกเป็นทหารปลดประจำการที่ตกงานและสมาชิกของกองกำลังอิสระ (Free Corps)* เอสเอทำหน้าที่คุ้มกันนักพูดของพรรคนาซีในการปราศรัยในที่สาธารณะและในการประชุมของพรรคตลอดจนพิทักษ์ฮิตเลอร์จากการทำร้ายโจมตีของฝ่ายตรงข้าม ทั้งคอยก่อกวนทำร้ายพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (German Social Democratic Party)* และโดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์ตามท้องถนนและในการชุมนุม แอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* อดีตผู้บังคับบัญชากองทัพบาวาเรียเป็นผู้นำคนสำคัญของหน่วยเอสเอ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๔ เขาทำให้เอสเอเป็นฐานกำลังทางการเมืองที่เข้มแข็งของพรรคนาซีและขยายจำนวนสมาชิกจาก ๑๐๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เป็น ๔๐๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เริมเรียกร้องให้กองทัพประจำการเข้าร่วมกับหน่วยเอสเอเพื่อจัดตั้งเป็นกองทัพประชาชนโดยมีเขาเป็นผู้บังคับบัญชาแต่ฮิตเลอร์ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์และแกนนำพรรคนาซีคนอื่น ๆ จึงวางแผนกำจัดเริมและทอนอำนาจของเอสเอซึ่งนำไปสู่การกวาดล้างใน “กรณีเริม” (Röhm Affair) หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่าคืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ในปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ หลังการกวาดล้างอันนองเลือดครั้งนี้เอสเอหมดบทบาทและความสำคัญทางการเมืองลงและหน่วยเอสเอสหรือชุทซ์ชตัฟเฟิล (SS-Shutzstaffel)* ซึ่งมีไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* เป็นหัวหน้ามีอำนาจและอิทธิพลมากขึ้น

 แนวความคิดการจัดตั้งเอสเอมีจุดเริ่มต้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* โดยเยอรมนีซึ่งต้องการทำลายการตั้งรับของฝ่ายสัมพันธมิตรในแนวรบสนามเพลาะได้จัดตั้งหน่วยจู่โจมพิเศษซึ่งเรียกว่ากองกำลังพายุขึ้นในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ หน่วยดังกล่าวประกอบด้วยกองกำลังย่อยหลายกอง เพื่อแยกกันปฏิบัติการโจมตีและกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่เหมาะสมตลอดจนทดลองอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ในแนวรบด้านตะวันตกซึ่งอยู่ในภาวะที่หาทางออกไม่ได้ ปฏิบัติการของหน่วยประสบความสำเร็จพอควรและทำให้พลเอก เอริช ฟอน ลูเดนดอร์ฟ (Erich von Ludendorf)* นายทหารฝ่ายพลาธิการ (Quartermaster) คนสนิทของจอมพลเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* สั่งให้กองทัพเยอรมันทั้งหมดในแนวรบด้านตะวันตกจัดตั้งกองพันของกองกำลังพายุ (Battalion of Stormtroops) ขึ้นในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ กองพันดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกองทัพเยอรมันที่ ๘ ในการยึดครองเมืองรีกา (Riga) จากรัสเซียและในยุทธการที่คาปอเรตโต (Battle of Caporetto)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ก็ทำให้กองกำลังฝ่ายอิตาลีถอยร่นจากแนวรบแม่นํ้าไอซอนโซ (Isonzo) ไปยังแม่นํ้าเปียฟ (Piave) ใกล้เมืองเวนิส อิตาลีจึงพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ฮิตเลอร์ซึ่งทำงานให้กับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกองทัพในเขตการควบคุมเมืองมิวนิกได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานเยอรมัน (German Workers’ Party)* ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวาที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงหลังสงคราม ความสามารถด้านวาทคิลป์และความเป็นนักพูดที่เก่งกาจทำให้ในเวลาอันสั้นฮิตเลอร์ได้เป็น ๑ ใน ๗ ของคณะกรรมาธิการบริหารของพรรคและรับผิดชอบงานด้านประชาสัมพันธ์และการหาสมาชิก เขาจึงลาออกจากกองทัพและทุ่มเททำงานให้พรรคแรงงานเยอรมันเต็มกำลังทั้งสามารถโน้มน้าวผู้คนให้เข้าเป็นสมาชิกได้หลายร้อยคน ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ พรรคแรงงานเยอรมันเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพรรคนาซี ฮิตเลอร์ ได้ปรับรูปแบบการประชุมของพรรคที่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้เป็นการชุมนุมมวลชนขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเบียร์ฮอฟบรอยเฮาส์ (Hofbräuhaus) เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๐ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเกือบ ๒,๐๐๐ คน ในการประชุมครั้งนี้มีอาสาสมัครซึ่งติดอาวุธทำหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบฮิตเลอร์จึงได้คิดจัดตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยขึ้นโดยเรียกชื่อว่า “การ์ดห้องประชุม” (Saalschutz- Hall Guard) เพื่อคอยคุ้มกันนักพูดของพรรคในการชุมนุมปราศรัย และทำหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบในช่วงการประชุม แต่กองกำลังดังกล่าวซึ่งมีเอมิล เมาริซ (Emil Maurice) คนสนิทของฮิตเลอร์เป็นผู้บังคับบัญชาก็ยังมีบทบาทไม่มากนัก

 เมื่อพรรคนาซีจัดการชุมนุมและปราศรัยใหญ่ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ในระหว่างการปราศรัย ฝ่ายตรงข้ามพยายาม ก่อกวนจนนำไปสู่การปะทะกันอย่างชุลมุน ฝ่ายการ์ดห้องประชุมที่เพิ่งจัดตั้งและยังมีกำลังไม่เข้มแข็งพอได้ใช้แก้วเบียร์ กระบอง และเก้าอี้ทุบดีทำร้ายฝ่ายตรงข้ามเหตุการณ์ครั้งนี้พรรคนาซีเรียกว่า “การรบในห้องประชุม” (Saalschlacht - meeting hall battle) หลังการประชุมครั้งนี้ ร้อยเอก แอนสท์ เริม อดีตผู้บังคับบัญชากองกำลังอิสระและแกนนำคนสำคัญของพรรคได้ปรับปรุงกองกำลังรักษาความปลอดภัยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยประยุกต์แนวทางของหน่วยจู่โจมพิเศษของกองทัพมาใช้และเรียกชื่อใหม่ว่า ชตูร์มอับไทลุง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเอสเอ เริมได้เกณฑ์เหล่าอันธพาล คนหนุ่มที่ตกงานทหารปลดประจำการ และสมาชิกกองกำลังอิสระเข้าเป็นสมาชิกได้เป็นจำนวนมาก จนเอสเอมีขนาดใหญ่และเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีเขาเป็นผู้นำในตำแหน่งที่เรียกว่าผู้บังคับบัญชาเอสเอสูงสุด (Oberster SA-Führer -Supreme SA Leader) ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ พรรคนาซียังจัดตั้งหน่วยยุวชนขึ้นซึ่งรับสมาชิกอายุระหว่าง ๑๔-๑๘ ปี ในเวลาต่อมาหน่วยดังกล่าวพัฒนาเป็นหน่วยยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth)* อยู่ใต้การกำกับดูแลของเอสเอจนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๒

 สมาชิกเอสเอสวมแร็กเกตสีเทาและเสื้อสีนํ้าตาลรัดรูป ติดปลอกแขนสวัสติกะ สวมกางเกงขาสั้นแค่เข่าถุงเท้าขนสัตว์สีเทาและรองเท้าบูตทหารเหมือนกับหน่วยฟาสซิสต์แบล็กเชิร์ต (Blackshirt) ของอิตาลี การใช้เครื่องแบบสีนํ้าตาลซึ่งแตกต่างจากชุดเครื่องแบบสีดำและนํ้าตาลของหน่วยเอสเอส ทั้งเครื่องแบบสีนํ้าตาลก็หาได้ง่ายและมีราคาถูกในช่วงหลังสงครามเพราะเป็นชุดเครื่องแบบที่กองทัพเยอรมันได้สั่งซื้อสำหรับกองทหารที่ประจำการในแอฟริกา สมาชิกเอสเอได้รับการฝึกอบรมเบื้องต้นด้วยการออกก่อกวนและปะทะกับพวกคอมมิวนิสต์ตามท้องถนนเพราะเริมเชื่อว่าการเป็นเจ้าถนนคือหัวใจของการมีอำนาจในสังคมและยังทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะตื่นตัวเสมอ เอสเอยังฝึกปฏิบัติการความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมด้วยการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่ต่อต้านนาซีและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามในระหว่างการชุมนุมและปราศรัยในที่สาธารณะ ฮิตเลอร์เห็นชอบกับแนวทางปฏิบัติของเอสเอเพราะเชื่อว่าวิธีการข่มขู่คุกคามจะเสริมภาพลักษณ์ของพรรคด้านความเข้มแข็ง มีพลัง ทั้งแสดงถึงความเชื่อมั่นจงรักภักดีของสมาชิก คติพจน์ของเอสเอ คือ “พิชิตความโหดด้วยความโหด” (Terror must be broken by terror) และ “ฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดต้องถูกเหยียบจมดิน” (All opposition must be stamped into the ground) ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๑ เริมและฮิตเลอร์เริ่มมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับบทบาทของเอสเอ เริมต้องการปีกปฏิบัติให้เอสเอเป็นกองกำลังของพรรค แต่ฮิตเลอร์ต้องการให้เอสเอเป็นเพียงกองการ์ดที่ใช้ข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามและเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น เริมไม่เห็นด้วยและยังคงเน้นฝึกอบรมเอสเอตามแนวความคิดของเขาโดยไม่รายงานให้ฮันส์ อุลริช คลินทซช์ (Hans Ulrich Klintzsch) ผู้บังคับบัญชาของเขารับทราบ เมื่อฮิตเลอร์รู้เรื่องการฝึกอบรมดังกล่าวในเวลาต่อมาเขาสั่งห้ามการฝึกอบรมทันที

 ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๘ วัลเทอร์ ราเทเนา (Walter Rathenau)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งถูกกล่าวหาเป็นยิวที่ฉกฉวยประโยชน์จากการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๘ ในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองถูกลอบสังหาร โดยกลุ่มชาตินิยมขวาจัดซึ่งเคยลอบสังหารมัททีอัส แอร์ซแบร์เกอร์ (Mattias Erzberger)* ผู้นำปีกซ้ายของพรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* รัฐบาลจึงตอบโต้ด้วยการออกกฎหมายเพื่อปกป้องสาธารณรัฐ (Law to Defend the Republic) กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาเคลื่อนไหวต่อด้านกฎหมายฉบับนี้ ด้วยการจัดชุมนุมเดินขบวนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่เมืองมิวนิกซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า ๕๐,๐๐๐ คน สมาชิกหน่วยเอสเอประมาณ ๖๐๐ คน ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วยและหลังการชุมนุมก็ยังสามารถโน้มน้าวสมาชิกฝ่ายขวากลุ่มเล็ก ๆ ให้เข้าเป็นสมาชิกได้จำนวนหนึ่ง เริมยังสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มของ ดร.ออทโท พิททิงงาร์ (Otto Pittingar) ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่ใหญ่ที่สุดและตกลงกันว่าจะร่วมมือกันในการวางแผนยึดอำนาจรัฐในบาวาเรีย แต่แผนของเริมก็ล้มเหลวเพราะยังมีกำลังไม่เพียงพอ

 ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ มีการจัดงาน “วันเยอรมัน” (German Day) ขึ้นที่เมืองโคบูร์ก (Coburg) ในบาวาเรียซึ่งเป็นเมืองในเขตอิทธิพลของพวกคอมมิวนิสต์ ฮิตเลอร์ได้นำสมาชิกเอสเอ ๘๐๐ คนเข้าร่วมการชุมนุมเดินพาเหรดด้วยโดยเพิกเฉยต่อการเตือนของทางการที่เกรงว่าจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างนาซีกับคอมมิวนิสต์ เอสเอได้ปฏิบัติการสำแดงพลังเป็นครั้งแรกด้วยการบุกฝ่าแนวป้องกันของฝ่ายคอมมิวนิสต์จนทำลายเขตที่มั่นของคอมมิวนิสต์ลงได้ รัฐบาลบาวาเรียต้องสั่งยกเลิกงานวันเยอรมันและการปะทะอันดุเดือดดังกล่าวกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับซึ่งมีส่วนทำให้ฮิตเลอร์และเอสเอเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น Völkischer Beobachter หนังสือรายสัปดาห์ของพรรคนาซีรายงานว่าเอสเอได้แสดงพลังอันเข้มแข็งของพรรคและเป็นกองทัพนักรบของประชาชน

 ในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ พรรคนาซีจัดประชุมใหญ่ระดับชาติครั้งแรกที่เมืองมิวนิกซึ่งมีสมาชิกพรรคและมวลชนเข้าร่วมเกือบ ๒,๐๐๐ คน วัตถุประสงค์ของการประชุมคือการระดมพลังเพื่อต่อต้านรัฐบาลของ กุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* และเรียกร้องให้ทำลายข้อกำหนดต่าง ๆ ในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* รวมทั้งปลุกระดมความรักชาติเพื่อโน้มน้าวจูงใจประชาชนให้สนับสนุนพรรคนาซี พรรคนาซีได้โหมประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อชี้นำมวลชนให้เชื่อมั่นว่าฮิตเลอร์คือผู้ปลดปล่อยประเทศ มีการจัดขบวนพาเหรดที่ยิ่งใหญ่และเป็นครั้งแรกที่สมาชิกใหม่ของเอสเอกว่า ๖๐๐ คนซึ่งถือธงสวัสติกะแบ่งเป็น ๔ กรมเข้าร่วมในขบวนพาเหรดแสดงความเคารพต่อฮิตเลอร์ หน่วยเอสเอยังเข้าร่วมในพิธีสถาปนาธงพรรคให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และรับธงพรรครวมทั้งกล่าวคำปฏิญาณจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์เพียงผู้เดียว หลังการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ เอสเอก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเดินขบวนสวนสนามในงานชุมนุมประจำปีของพรรคซึ่งในเวลาต่อมาจัดการชุมนุมขึ้นที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) เป็นประจำ ฮิตเลอร์แต่งตั้งแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Göring)* เป็นผู้บังคับบัญชาเอสเอสูงสุด

 ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เป็นผลสืบเนื่องจากกองทหารฝรั่งเศสและเบลเยียมเข้ายึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr) และการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายในเชตไรน์ลันด์ เพื่อยึดอำนาจทางการเมืองซึ่งทำให้ประธานาธิบดีฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert)* ต้องประกาศกฤษฎีกาแห่งรัฐ (Emergency Decree)* ปกครองประเทศ ฮิตเลอร์ จึงเห็นเป็นโอกาสใช้สภาวการณ์ทางการเมืองและสังคมที่ดำรงอยู่ยึดอำนาจและนำไปสู่เหตุการณ์กบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* ที่เมืองมิวนิก ระหว่างวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ หน่วยเอสเอมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนกำลังเข้ายึดศูนย์บัญชาการทั้งของฝ่ายทหารและตำรวจในรัฐบาวาเรียและเอสเอที่ติดอาวุธกว่า ๖๐๐ คนก็เข้าร่วมปิดล้อมโรงเบียร์เบือร์เกอร์เบราเคลเลอร์ (Bürgerbrau Keller) ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมของกลุ่มชนชั้นนำของบาวาเรีย อย่างไรก็ตาม กบฏโรงเบียร์ก็ล้มเหลวเพราะวางแผนงานไม่รัดกุมและกองทัพ นักธุรกิจ และมวลชนทั่วไปไม่สนับสนุน ศาลตัดสินจำคุกฮิตเลอร์ ๕ ปี และปรับ ๒๐๐ มาร์คทองคำ ส่วนหน่วยเอสเอถูกยุบอย่างไรก็ตาม เริมซึ่งถูกข้อหาก่อกบฏไม่ได้ถูกตัดสินจำคุกเขาเพียงถูกรอลงอาญาและได้รับการปล่อยตัว เขาจึงรวบรวมสมาชิกเอสเอจัดตั้งเป็นกองกำลังที่เรียกชื่อว่า “ฟรอนท์บันน์” (Frontbann) ขึ้นระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ แม้ฟรอนท์บันน์จะมีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็ยังคงสานต่อแนวทางปฏิบัติของเอสเอด้วยการก่อกวนทำร้ายพวกสังคมนิยมและกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคนาซีตามโอกาสและเงื่อนไขที่เหมาะสม ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เริมซึ่งเบื่อหน่วยชีวิตที่ขาดสีสันได้ตัดสินใจเดินทางไปทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการทหารในโบลิเวีย

 เมื่อฮิตเลอร์พันโทษก่อนกำหนดในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาคิดจัดตั้งพรรคนาซีขึ้นใหม่อีกครั้งโดยรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้นำ ระหว่างที่เตรียมการจัดตั้งพรรคนาซี ฮิตเลอร์กลับไปใช้ชีวิตที่เมืองโอแบร์ซอลซ์บูร์ก (Obersalzburg) และใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนหนังสือไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf)* เล่ม ๒ ต่อจากเล่มแรกที่เขียนในคุกที่ลันด์สแบร์กอัมเลช (Landsberg am Lech) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ พรรคนาซีก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ฮิตเลอร์ปรับโครงสร้างการบริหารพรรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งปรับการดำเนินงานของกองกำลังฟรอนท์บันน์ใหม่โดยห้ามปฏิบัติการก่อกวนและก่อความวุ่นวายในที่สาธารณะ และกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ด้วยการให้ปลุกระดมโฆษณาลัทธินาซีและเป็นกำลังต่อต้านพวกคอมมิวนิสต์และยิว ฟรอนท์บันน์ ซึ่งกลับมาใช้ชื่อเดิมว่าเอสเอในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๕ มีฟรันซ์ เฟลิกซ์ ฟอน พเฟฟเฟอร์ ฟอน ซาโลมอน (Franz Felix von Pfeffer von Salomon) อดีตข้าหลวงเขตเกาไลเทอร์ (Gauleiter) แห่งเวสท์ฟาเลิน (Westfalen) เป็นผู้บังคับบัญชาเอสเอสูงสุด

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๒๙ พรรคนาซีมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของพรรคและการขยายจำนวนสมาชิกตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์พรรคให้เป็นที่รู้จักและยอมรับกันในหมู่ประชาชน ซาโลมอนสามารถโน้มน้าวชาวเยอรมันที่ตกงานให้เข้าเป็นสมาชิกเอสเอได้จำนวนมากเกือบ ๖๐,๐๐๐ คน ทั้งหน่วยเอสเอสที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๖ เป็นหน่วยองครักษ์ฮิตเลอร์และหน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ใต้การกำกับของเอสเอก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วยอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression)* ในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่สืบเนื่องจากการพังทลายของตลาดหุ้นที่ถนนวอลล์สตรีต (Wall Street) ซึ่งเป็นตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดของโลกในสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงเรียกคืนเงินกู้ยืมจากเยอรมนี แต่เยอรมนีไม่สามารถชำระเงินกู้ยืมได้ และรัฐบาลของแฮร์มันน์ มึลเลอร์ (Hermann Müller) นายกรัฐมนตรีไม่สามารถแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาการว่างงานได้ต้องลาออก ไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Brüning)* หัวหน้าพรรคเชนเตอร์ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านการคลังได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่เขาก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ และหาทางออกด้วยการยุบสภาโดยกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซาโลมอนเรียกร้องให้ส่งผู้แทนของหน่วยเอสเอลงสมัครในนามของพรรคนาซีแต่ฮิตเลอร์ไม่เห็นด้วย ซาโลมอนจึงต่อต้านด้วยการลาออกจากการเป็นผู้บังคับบัญชาเอสเอสูงสุดเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ในช่วงเวลาเดียวกัน หน่วยเอสเอในเขตเบอร์ลินซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนและไม่พอใจการบริหารของขัาหลวงเขตเบอร์ลินก็ก่อการจลาจลขึ้นด้วยการบุกทำลายสำนักงานของโยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels)* ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ของพรรคทั้งทำร้ายฝ่ายเอสเอสที่ทำหน้าที่คุ้มกันสำนักงาน ฮิตเลอร์ต้องเดินทางจากเมืองมิวนิกมาเบอร์ลินอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยสัญญาจะเพิ่มอำนาจและเงินตอบแทนให้เอสเอมากขึ้นซึ่งทำให้เขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด

 การเคลื่อนไหวของเอสเอครั้งนี้ทำให้ฮิตเลอร์เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าควบคุมหน่วยเอสเอให้อยู่ใต้การกำกับดูแลของพรรคนาซี เขาจึงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเอสเอสูงสุดด้วยตนเองเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ และแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้าหน่วยเอสเอ (Stabschef SA - SA Chief of staff) ที่รับคำสั่งจากเขาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเอสเอในนามของฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ยังกำหนดให้สมาชิกเอสเอทุกคนให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อเขา พร้อมทั้งปรับโครงสร้างของเอสเอใหม่ตามแนวทางของกองทัพโดยมีส่วนบัญชาการอาวุโส (Obergruppen - Senior Groups) บังคับบัญชากรม (Gruppen - Groups) ขนาดใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นทั่วเยอรมนีแต่ละกรมจะควบคุมดูแลกอง (Standarten - Regiments) และหน่วย (Untergruppen - Lower Groups) ที่อยู่ใต้การบัญชาการ กองจะปฏิน้ดิการตามเมืองหลัก ๆ ทั่วประเทศและควบคุมหน่วยที่อยู่ใต้การควบคุมอีก ๒ หน่วย คือ กองพัน (Sturmbanne - Battalions) และหน่วยพายุ (Stürme - storm Troops) หลังการปรับโครงสร้างเอสเอแล้วฮิตเลอร์ติดต่อเริมให้กลับมาเยอรมนีเพื่อเป็นหัวหน้าหน่วยเอสเอ เริมตอบรับด้วยความกระตือรือร้นและเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ ๑๙๓๑

 เริมใช้หน่วยเอสเอทำร้ายและโจมตีพวกคอมมิวนิสต์และกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามทั้งสร้างภาพให้การก่อกวนโจมตีของเอสเอเป็นการปฏิบัติการเพื่อป้องกันการเกิดสงครามกลางเมืองหรือการก่อการปฏิวัติของพวกคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในสหภาพโซเวียต การพยายามหลีกเลี่ยงปะทะกับตำรวจยังมีส่วนทำให้สาธารณชนเชื่ออย่างสนิทใจและยอมรับว่าความรุนแรงที่นองเลือดตามท้องถนนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๘ เป็นฝีมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์โดยเอสเอพยายามขัดขวาง พรรคนาซียังโหมประชาสัมพันธ์โน้มน้าวประชาชนให้ยอมรับว่าหน่วยเอสเอเป็นเสมือนทหารกองหน้าในการต่อสู้กับภัยแดงและมีเพียงพรรคนาซีเท่านั้นที่จะสามารถยุติความรุนแรงและความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสังคมได้ จำนวนสมาชิกเอสเอจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก ๖๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เปน ๑๗๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๑ และเกือบ ๔๐๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๒ นอกจากนี้ เริมยังปรับกลไกการทำงานของเอสเอให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เขาเพิ่มจำนวนกรมของเอสเอให้เท่ากับโครงสร้างการปกครองของพรรคนาซีที่แบ่งเยอรมนีออกเป็น ๓๕ เขต (Gaul - districts) และจัดตั้งหน่วยยานยนต์นาซี (Nazi Motor Corps) ขึ้นเพื่อคอยติดตามคนร้าย ทั้งปรับส่วนบัญชาการอาวุโสขึ้นใหม่โดยแบ่งเป็น ๒ กรม (Department) หลัก กรมไอ (Department I) ซึ่งมีนายพลฟรันซ์ ริทเทอร์ ฟอน เฮอเราฟ์ (Franz Ritter von Hörauf) เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบด้านการวางแผนและการบริหารจัดการ กรมคิว (Departmant Q) เป็นศูนย์ปฏิบัติการของเอสเออยู่ใต้การควบคุมของออสวัลต์ ฟุคส์ (Oswald Fuchs) คนสนิทของเริม ส่วนเริมควบคุมแผนก (division) ที่เป็นหัวใจของเอสเอคือ แผนกจารกรรมแผนกบุคคล แผนกองค์การและการเงินตลอดจนแผนก สื่อสิ่งพิมพ์

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๒ เอสเอและกองกำลังของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้เพิ่มกำลังติดอาวุธแก่หน่วยของตนด้วยข้ออ้างว่าสถานการณ์ทางสังคมที่สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจส่อเค้าจะเกิดการจลาจลและความวุ่นวายโดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในกลางเดือนมีนาคม เอสเอเคลื่อนไหวสนับสนุนฮิตเลอร์ซึ่งลงสมัครแข่งขันกับอดีตประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก และแอนสท์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เอสเอได้ก่อกวนและทำร้ายฝ่ายตรงข้ามฮิตเลอร์จนทำให้นายกรัฐมนตรีบรือนิงในเวลาต่อมามีคำสั่งห้ามเอสเอและเอสเอสเคลื่อนไหวในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี คูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* ผู้นำกองทัพซึ่งร่วมมือกับฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* แกนนำพรรคเซนเตอร์สามารถโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ ๒ ปลดบรือนิงออกและแต่งตั้ง ฟอน พาเพินเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ฟอน พาเพินซึ่งต้องการให้พรรคนาซีเข้าร่วมในคณะรัฐบาลจึงรับเงื่อนไขของฮิตเลอร์ด้วยการยกเลิกคำสั่งห้ามการเคลื่อนไหวของเอสเอและเอสเอสในที่สาธารณะและประกาศยุบสภาหลังจากเข้าบริหารได้เพียง ๓ วัน เขากำหนดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒

 ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เอสเอและเอสเอสได้ก่อความวุ่นวายตามท้องถนนและทำร้ายกลุ่มการเมืองตรงข้ามโดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์ ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม เอสเอกว่า ๑,๐๐๐ คนเดินขบวนไปย่านคนงานที่เขตอัลโทนา (Altona) ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) และนำไปสู่การปะทะกันอย่างนองเลือด พาเพินจึงใช้สถานการณ์ของเหตุการณ์ วันอาทิตย์นองเลือดที่อัลโทนา (Bloody Sunday in Altona) รวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางด้วยการเช้าควบคุมรัฐปรัสเซีย แม้เอสเอจะใช้กำลังและความรุนแรงตามท้องถนนซึ่งสร้างความเอือมระอาแก่ประชาชน แต่การรณรงค์หาเสียงอย่างเข้มแข็งของพรรคนาซีในการจะแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศก็มีส่วนทำให้พรรคนาซีมีชัยชนะในการเลือกตั้งโดยได้ ๒๓๐ ที่นั่งจากจำนวน ๖๐๘ ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม พรรคนาซีไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเพราะประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กขัดขวาง ระหว่างเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ มีการยุบสภาและการเลือกตั้งอีก ๒ ครั้ง และในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓

 หลังจากที่ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจได้ไม่ถึงเดือนในคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๓ เกิดเหตุการณ์การเผาสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire)* ขึ้น ตำรวจสามารถจับกุมมารีนุส ฟาน เดอร์ ลูบบ์ (Marinus van der Lubbe) คอมมิวนิสต์หนุ่มชาวดัตช์วัย ๒๔ ปี ซึ่งลอบวางเพลิงได้ พรรคนาซีจึงใช้เหตุการณ์การเผาสภาไรค์ชตากกล่าวหาพวกคอมมิวนิสต์ว่ากำลังวางแผนก่อการลุกฮือขึ้นสู้และจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อป้องกันการก่อการร้ายครั้งใหญ่ ฮิตเลอร์จึงโน้มน้าวประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กให้ออกกฤษฎีกาเพื่อพิทักษ์ประชาชนและรัฐ (Decree for the Protection of the People and the State) กฤษฎีกาฉบับนี้ล้มเลิกสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และให้อำนาจเอสเอและเอสเอสในการดำเนินการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบวางเพลิง ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคนาซีจิงถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก ต่อมาในเดือนมีนาคม ฮิมม์เลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีตำรวจแห่งเมืองมิวนิก และได้สร้างค่ายกักกัน (Concentration Camp)* แห่งแรกขึ้นที่ดาเคา (Dachau) ใกล้เมืองมิวนิกเพื่อใช้กักขังนักโทษและฝ่ายตรงข้ามกับพรรคนาซี

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๓ เอสเอเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องการก่อการปฏิวัติครั้งที่ ๒ ขึ้นเพื่อให้พรรคนาซีได้อำนาจอย่างสมบูรณ์ แกนนำเอสเอเห็นว่าการก้าวสู่อำนาจของฮิตเลอร์ในเดือนมกราคมเป็นชัยชนะของการปฏิวัติครั้งแรกที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะยังไม่สามารถควบคุมระบบราชการและกองทัพให้อยู่ใต้อำนาจของพรรคนาซีจึงจำเป็นต้องก่อการปฏิวัติอีกครั้ง เริมหัวหน้าเอสเอยังเรียกร้องให้กองทัพเยอรมันเข้าร่วมกับเอสเอเพื่อจัดตั้งเป็นกองทัพประชาชนขึ้น เอสเอเริ่มเคลื่อนไหวกดดันฮิตเลอร์ด้วยการจัดชุมนุมและเดินขบวนเพื่อชี้นำมวลชนให้เห็นคล้อยตามเรื่องการก่อการปฏิวัติครั้งที่ ๒ ในเวลาเดียวกันเริมก็วิพากษ์โจมตีนโยบายต่างประเทศของฮิตเลอร์ในการติดอาวุธให้กองทัพเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและการหาโอกาสแย่งชิงดินแดนที่เคยสูญเสียไปจากข้อกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซาย เขายังโจมตีแกนนำที่ใกล้ชิดกับฮิตเลอร์ไม่ว่าจะเป็นเกิบเบิลส์ เกอริง ฮิมม์เลอร์ และรูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* ว่าเป็นพวกประจบสอพลอที่มีส่วนชี้นำการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของฮิตเลอร์ การโจมตีของเริมทำให้เกิบเบิลส์ ฮิมม์เลอร์ เกอริง และไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)* หัวหน้าหน่วยต่อต้านข่าวกรองร่วมมือกันวางแผนกำจัดเริมและทอนอำนาจของเอสเอ

 เหล่าแกนนำนาซีที่เป็นศัตรูของเริมได้สร้างหลักฐานเท็จว่าเริมรับสินบนจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อโค่นอำนาจฮิตเลอร์และปล่อยข่าวว่าการที่ฮิตเลอร์พยายามปกป้องเริมและหน่วยเอสเอเป็นเพราะฮิตเลอร์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศเช่นเดียวกับเริมและกลุ่มแกนนำเอสเอข่าวลือดังกล่าวมีส่วนทำให้ฮิตเลอร์เห็นชอบกับการกวาดล้างเริมและเอสเอ ในคืนวันที่ ๒๙ มิถุนายน สมาชิกเอสเอ กว่า ๓,๐๐๐ คน ซึ่งระแคะระคายเรื่องการกวาดล้างได้เคลื่อนไหวข่มขวัญด้วยการชุมนุมก่อกวนตามถนนสายหลักต่าง ๆ ในเมืองมิวนิกทั้งตะโกนโจมตีฮิตเลอร์และกองทัพอย่างรุนแรง เกอริงและฮิมเลอร์จึงเห็นเป็นโอกาสใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ด้วยการแจ้งแก่ฮิตเลอร์ว่าเอสเอจะก่อการปฏิวัติขึ้นในวันที่ ๓๐ มิถุนายนที่กรุงเบอร์ลินและเมืองมิวนิก ฮิตเลอร์จึงสั่งกวาดล้างเริมและเหล่าแกนนำเอสเอที่พักอยู่ที่โรงแรมบัดวิสเซ (Bad Wiessee) ทันทีและนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “คืนแห่งมีดยาว” ระหว่างวันที่ ๓๐ มิถุนายน ถึง ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ในช่วงที่มีการกวาดล้าง ไรน์ฮาร์ด ไฮดริชก็ เข้าควบคุมหน่วยเกสตาโป (Gestapo)* กวาดล้างเอสเอตามเมืองต่าง ๆ ทั้งยังกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามกับนาซีและศัตรูเก่าของฮิตเลอร์ซึ่งรวมทั้งเกรกอร์ ชตราสเซอร์ (Gregor Strasser)* ด้วย

 แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ที่ถูกสังหารในเหตุการณ์คืนแห่งมีดยาวหรือบางครั้งเรียกว่า “กรณีเริม” หรือ “การกวาดล้างอันนองเลือด” (Blood Purge) มีจำนวนเท่าใดแต่ประมาณกันว่าเป็นแกนนำนาซีในเอสเอ ๗๔-๗๗ คน และฝ่ายนาซีปีกซ้ายอีกกว่า ๑๐๐ คน ทั้งยังมีชาวยิวจำนวนมากที่ถูกสังหารด้วย หลังการกวาดล้างครั้งนี้เอสเอหมดบทบาทและอิทธิพลลง จำนวนสมาชิกเอสเอลดลงอย่างรวดเร็วจากสมาชิกทั้งหมด ๒๙ ล้านคนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เหลือ ๑๖ ล้านคนในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ และ ๑.๒ ล้านคนในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ หน่วยเอสเอสถูกแยกออกจากเอสเอและมีบทบาทมากขึ้นในฐานะเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจบริหารของพรรคนาซี วิคทอร์ ลุทซ์ (Victor Lutz) ผู้ช่วยข้าหลวงเขตภูมิภาครูร์และสมาชิกสภาไรค์ชตากได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเอสเอคนใหม่เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ แต่เขาเป็นคนอ่อนแอและขาดวิสัยทัศน์ เอสเอจึงกลายเป็นเสมือนสมาคมที่พบปะชุมนุมกันของสมาชิกเท่านั้นและมีพันธะหน้าที่เพียงเข้าร่วมสมทบในการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rally)* และรับคำสั่งจัดขบวนแถวร่วมเดินพาเหรดตามท้องถนนเท่านั้น

 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ มีการออกพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กองทัพ การเกณฑ์ทหารดังกล่าวมีส่วนทำให้เอสเอซึ่งเคยมีหน้าที่ฝึกอบรมยุวชนฮิตเลอร์เพื่อเตรียมเป็นทหารในกองทัพหมดบทบาทความสำคัญลง และมีผลให้จำนวนสมาชิกเอสเอลดลงด้วย ลุทซ์จึงปรับโครงสร้างของเอสเอเพื่อให้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วยการจำแนกประเภทสมาชิกโดยสมาชิกที่มีอายุระหว่าง ๑๘-๓๕ ปี เป็นหน่วยปฏิบัติการสมาชิกที่อายุระหว่าง ๓๕-๔๕ ปี เป็นหน่วยสำรองและที่มีอายุตั้งแต่ ๔๕ ปีขึ้นไปให้สังกัดกองกำลังท้องถิ่นองค์การเอสเอแบ่งเป็น ๒๑ กรมซึ่งควบคุม ๙๗ กองพล และ ๖๒๗ หมู่ แต่ละหมู่ประกอบด้วยสมาชิกระหว่าง ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ คนหน้าที่หลักของเอสเอคือการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใน ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เอสเอ ร่วมกับเอสเอสและยุวชนฮิตเลอร์ปฏิบัติการข่มเหงชาวยิวและพลเมืองเยอรมันเชื้อสายยิวทั่วเยอรมนีและออสเตรียในเหตุการณ์คืนกระจกแตก (Kristallnacht)* ระหว่างคืนวันที่ ๙-๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เอสเอได้ทำร้ายชาวยิวและพังทำลายบ้านและอาคารร้านค้าของชาวยิวรวมทั้งวางเพลิงโบสถ์ยิวด้วย

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* วิคทอร์ ลุทซ์หัวหน้าเอสเอประสบอุบัติเหตุรถชนเสียขีวิต วิลเฮล์ม เชฟเพนมันน์ (Wilheim Scheppenmann) แกนนำเอสเอได้ดำรงตำแหน่งสืบแทน เขาพยายามประสานการปฏิบัติงานของเอสเอให้สอดคล้องกับกองกำลังติดอาวุธเอสเอส (Waffen SS) อย่างไรก็ตาม ในตอนปลายสงครามซึ่งเป็นช่วงที่เยอรมนีกำลังจะพ่ายแพ้สงคราม สมาชิกเอสเอจำนวนไม่น้อยก็ถูกเกณฑ์เข้าร่วมเป็นกำลังเสริมของกองทัพเยอรมัน หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงฝ่ายประเทศพันธมิตรได้จัดตั้งศาลทหารระหว่างประเทศ (International Military Tribunal) ขึ้นเพื่อดำเนินคดีผู้นำนาซีคนสำคัญรวม ๒๒ คน และนำไปสู่การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* ระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ในการพิจารณาคดีดังกล่าวมีการพิจารณาองค์การสำคัญของพรรคนาซีซึ่งประกอบด้วย หน่วยเอสเอ เอสเอส เกสตาโป และหน่วยเอสดี (SD-Sicherheitsdienst - Body)* ว่าเป็นองค์กรอาชญากรรมด้วยการก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพในการวางแผนและก่อสงคราม ตลอดจนมีหน้าที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามศาลตัดสินว่าหน่วยเอสเอส เกสตาโป และหน่วยเอสดีเป็นองค์กรอาชญากรรมซึ่งสมาชิกของทั้ง ๓ องค์กร ตั้งแต่ระดับผู้นำหน่วย (Kreisleiter - circle leader) ต้องถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาโทษ ส่วนเอสเอไม่มีความผิดตามข้อหาเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการก่อสงครามเพื่อรุกราน ทั้งสถานภาพของเอสเอหลังการกวาดล้าง ค.ศ. ๑๙๓๔ ก็หมดความสำคัญลงในพรรคนาซีจึงไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสมาชิกเอสเอมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในการปฏิบัติการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติระหว่างสงคราม.



คำตั้ง
SA
คำเทียบ
เอสเอ
คำสำคัญ
- กฎหมายเพื่อปกป้องสาธารณรัฐ
- กบฏโรงเบียร์
- กรณีเริม
- กฤษฎีกาเพื่อพิทักษ์ประชาชนและรัฐ
- กฤษฎีกาแห่งรัฐ
- กองกำลังพายุ
- กองกำลังอิสระ
- การกวาดล้างเริม
- การกวาดล้างอันนองเลือด
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- การเผาสภาไรค์ชตาก
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- เกสตาโป
- เกอริง, แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม
- คลินทซช์, ฮันส์ อุลริช
- ค่ายกักกัน
- คืนกระจกแตก
- คืนแห่งมีดยาว
- ชตราสเซอร์, เกรกอร์
- ชตูร์มอับไทลุง
- ชไลเชอร์, คูร์ท ฟอน
- ชุทซ์ชตัฟเฟิล
- เชฟเพนมันน์, วิลเฮล์ม
- เทลมันน์, แอนสท์
- บรือนิง, ไฮน์ริช
- บอลเชวิค
- พรรคเชนเตอร์
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- ฟรอนท์บันน์
- ฟาน เดอร์ ลูบบ์, มารีนุส
- ภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่
- มึลเลอร์, แฮร์มันน์
- เมาริซ, เอมิล
- ยุทธการที่คาปอเรตโต
- ยุวชนฮิตเลอร์
- ราเทเนา, วัลเทอร์
- ริทเทอร์ ฟอน เฮอเราฟ์, ฟรันซ์
- เริม, แอนสท์
- ลัทธินาซี
- ลูเดนดอร์ฟ, พลเอก เอริช ฟอน
- ลูบบ์, มารีนุส ฟาน เดอร์
- วันอาทิตย์นองเลือด
- วันอาทิตย์นองเลือดที่อัลโทนา
- ศาลทหารระหว่างประเทศ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- หน่วยฟาสซิสต์แบล็กเชิร์ต
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- เอสดี
- เอสเอ
- เอสเอส
- แอร์ซแบร์เกอร์, มัททีอัส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-