Rajk, Lászlo (1909-1949)

นายลาซโล รอย์ค (พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๙๖)

 ลาซโล รอย์คเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๘) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙) ของสาธารณรัฐประชาชนฮังการี ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ และหลังเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีแห่งบูดาเปสต์ (Hungarian Communist Party of Budapest Committee) รอย์คเป็นผู้จัดตั้งหน่วยตำรวจลับ (state Protection Authority-ÁVH) ฮังการีขึ้นโดยยึดแนวการดำเนินงานของเคจีบี (KGB)* หรือคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ (State Security Committee) ของสหภาพโซเวียต และหน่วยเอสเอส (SS)* ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (National Socialist German Workers’ Party)* เป็นแม่แบบหน่วยตำรวจลับจึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างอำนาจทางการเมืองแก่พรรคคอมมิวนิสต์ และการกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งควบคุมบังคับประชาชนให้ยอมรับแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ รอย์คเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากสมาชิกส่วนใหญ่ของโปลิตบูโร (Politburo) และสมาชิกพรรคทั่วไปจนเป็นที่คาดกันว่าเขาจะได้เป็นเลขาธิการพรรค มาตยาช ราโคชี (Mátyás Rákosi)* เลขาธิการและเป็นรองนายกรัฐมนตรีจึงหาทางกำจัดเขาโดยกล่าวหาว่ารอย์คเป็นพวกนิยมลัทธิตีโต (Titoism) และมีสายสัมพันธ์กับพลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด นอจบานยา (Nikólaus Miklóś Horthy de Nagybánya)* อดีตผู้นำฮังการีหัวอนุรักษ์ที่ประเทศพันธมิตรตะวันตกสนับสนุน รอย์คถูกจับขังและมีการพิจารณาคดีเขาโดยเปิดเผยใน ค.ศ. ๑๙๔๙ การพิจารณาคดีรอย์คนับเป็นการเริ่มต้นนโยบายกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามราโคซีอย่างถอนรากถอนโคน

 รอย์คเกิดในครอบครัวนักธุรกิจทำรองเท้าเชื้อสายยิวที่เมืองเซเคยูดวอร์เฮย์ [ (Székelyudvarhely) แคว้นทรานชิลเวเนีย (Transylvania) ปัจจุบันคือเมืองโอโดร์เฮลูลเซควีช (Odorheiul Secuiesc) ในโรมาเนีย] เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ครอบครัวอพยพเข้ามาตั้งรกรากในฮังการี เขามีพี่ชาย ๑ คนแม้ครอบครัวจะมีฐานะดีแต่บิดาก็ให้ช่วยครอบครัวทำงานตั้งแต่เล็กซึ่งทำให้เมื่อโตขึ้นก็เป็นคนเอาการเอางาน มุมานะ รอย์คสำเร็จการศึกษาระดับต้นที่โรงเรียนในบ้านเกิด และไปเรียนต่อระดับปลายที่กรุงบูดาเปสต์ เขาชอบอ่านหนังสือและสนใจเรื่องการเมืองทั้งมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ขณะอายุ ๑๘ ปี เขาเข้าศึกษาต่อด้านกฎหมายและภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยบูดาเปสต์ และมีโอกาสคบหาและสนิทสนมกับเพื่อนนักศึกษาที่สนใจการเมืองแนวทางลัทธิมากซ์ (Marxism) รอย์คได้อ่านแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* งานเขียนเล่มสำคัญของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* นักสังคมนิยมชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียง และงานนิพนธ์อีกหลายเรื่องของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต เขาดื่มดํ่ากับหนังสือเหล่านี้และตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์จนไม่ใส่ใจการเรียน ขณะเดียวกันเพื่อนนักศึกษาที่ไม่ชอบเขาก็รายงานเรื่องกิจกรรมทางการเมืองของรอย์คให้ตำรวจซึ่งทำให้เขาถูกไล่ออกในปีต่อมาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๐ รอย์คเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อหาประสบการณ์ และกลับฮังการีในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๐

 เมื่อกลับเข้าประเทศใน ค.ศ. ๑๙๓๐ รอย์คในวัย ๒๑ ปี ในระยะแรกตั้งใจจะกลับเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบูดาเปสต์แต่เขาถูกชักชวนให้เข้าร่วมในขบวนการคอมมิวนิสต์และเข้าเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ เขาจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะศึกษาต่อและหางานทำ รอย์คหน้าตาคมสัน สูงปานกลาง มีบุคลิกภาพ และโดยเฉพาะมีมนุษยสัมพันธ์ดีซึ่งทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนที่ได้รู้จัก เขาจึงได้รับการสนับสนุนให้เป็นสมาซีกพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๓ เขาเป็นผู้ปฏิบัติงานที่เอาการเอางานของพรรคจนได้เลื่อนสถานภาพเป็นแกนนำ ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ รอย์คทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างและเคลื่อนไหวจัดตั้งความคิดทางการเมืองในหมู่กรรมกรซึ่งประสบความสำเร็จมากเพราะสามารถโน้มน้าวกรรมกรจำนวนไม่น้อยให้ยอมรับอุดมการณ์ลัทธิมากซ์และเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ รอย์คถูกจับหลายครั้งด้วยข้อหาปลุกปั่นและก่อความไม่สงบแต่ก็ต้องโทษจำขังเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะหลักฐานเอาผิดเขาไม่เพียงพอ ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เขาเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคในการชี้นำกรรมกรก่อสร้างและสหภาพแรงงานให้ชุมนุมนัดหยุดงานทั่วไปครั้งใหญ่เพื่อกดดันรัฐบาลให้ปฏิรูปสังคม เขาถูกจับและใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ถูกตัดสินให้เนรเทศออกนอกประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จึงส่งเขาไปที่กรุงปราก (Prague) เชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)*

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เกิดสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* ขึ้นซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐบาลกลุ่มแนวร่วมประชาชน (Popular Front)* ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสเปนได้ กองทัพซึ่งมีพลเอก ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* เป็นผู้นำจึงร่วมมือกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อยึดอำนาจและสถาปนาระบอบเผด็จการทหารปกครองประเทศ สหภาพโซเวียตซึ่งสนับสนุนรัฐบาลกลุ่มแนวร่วมประชาชนที่มีนโยบายสังคมนิยมได้ส่งกองกำลังอาสาสมัครคอมมิวนิสต์ไปช่วย พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีจึงส่งรอย์คไปสเปนใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เพื่อบังคับบัญชากองกำลังราโคชีที่ ๑๓ ของกองพลน้อยนานาชาติ (Rakosi Battalion of XIII International Brigade) ซึ่งเป็นกองกำลังอาสาสมัครชาวฮังการี เขาเข้าร่วมต่อสู้อย่างกล้าหาญและได้รับบาดเจ็บหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ รัฐบาลสาธารณรัฐพ่ายแพ้และฟรังโกได้อำนาจเด็ดขาดในการปกครองสเปนรอย์คถูกจับและถูกกักบริเวณที่ค่ายของฝรั่งเศสซึ่งใช้เป็นสถานที่คุมขังพวกลอยัลลิสต์ (loyalist) ที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๑ หลังพ้นโทษเขาเดินทางไปอยู่ที่ฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และเมื่อจอมพล ฟิลิปเปแตง (Philippe Pétain)* ผู้นำฝรั่งเศสที่ยอมร่วมมือกับเยอรมนีดำเนินนโยบายปราบปรามฝ่ายต่อต้านนาซีและกวาดล้างพวกยิวและคอมมิวนิสต์ รอย์คเดินทางกลับฮังการีและเขาร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ใต้ดินที่ต่อต้านเยอรมนี

 ความสามารถในการเป็นผู้นำและในการประสานงานกับขบวนการกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ ทำให้องค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* สนันสนุนรอย์คให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีเพื่อให้เขาประสานงานการเคลื่อนไหวต่อต้านเยอรมนีกับมาตยาช ราโคชีผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีในองค์การโคมินเทิร์น ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เขาพยายามติดต่อและเจรจากับรัฐบาลฮังการีซึ่งมีฮอร์ที เด นอจบานยาเป็นผู้นำ ฮอร์ทีในขณะนั้นกำลังหาทางจะถอนตัวออกจากสงครามและเริ่มแสดงท่าทีแข็งข้อต่อเยอรมนีด้วยการปฏิเสธที่จะเนรเทศพวกยิวและการส่งกองทหารไปสนับสนุนเยอรมนีเพิ่มเติม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๓ รัฐบาลฮังการีเพิกเฉยต่อการดำเนินงานของพวกคอมมิวนิสต์และกลุ่มต่อต้านซึ่งส่งผลให้เยอรมนีส่งกองทัพเข้ายึดครองฮังการีในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นของนาซีขึ้นในฮังการี รัฐบาลหุ่นของนาซี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคแอร์โรว์ครอสส์ (Arrow Cross Party) ที่นิยมลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* จึงจับฮอร์ทีคุมขัง และดำเนินนโยบายกวาดล้างปราบปรามขบวนการต่อต้านเยอรมนีอย่างเด็ดขาดรวมทั้งการเข่นฆ่าพวกยิว ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ รอย์คถูกจับและถูกตัดสินประหารด้วยการยิงเป้า แต่การที่เขาปกปิดความลับของตนเองได้ดีจนทุกคนเชื่อว่าเขาเป็นเพียงประชาชนทั่วไปที่เกลียดชังเยอรมนีก็ช่วยให้เขารอดชีวิตและส่วนหนึ่งเพราะเอนเดรรอย์ค (Endre Rajk) พี่ชายซึ่งเป็นเลขาธิการคณะมนตรีอ้างว่าเขาเป็นเพียงบุคคลทั่วไปที่ไม่มีความสำคัญ ช่วยเขารอดพ้นจากการถูกตัดสินประหารได้ รอย์คจึงถูกส่งไปจำคุกที่โชโพรนเคอฮีดา (Sopronköhida) ระยะหนึ่งและจากนั้นถูกส่งตัวให้เกสตาโป (Gestapo)* หน่วยตำรวจลับของนาซีเพื่อนำไปคุมขังที่เยอรมนี ต่อมาเขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และในวันเดียวกันนั้นก็เดินทางกลับฮังการีทันที

 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* จะสิ้นสุดลงไม่นานนัก แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีที่ลี้ภัยอยู่ในสหภาพโซเวียตได้ติดตามกองทัพแดง (Red Army)* ที่เข้ามาปลดปล่อยฮังการีจากการยึดครองของเยอรมนีกลับเข้าประเทศ เหล่าแกนนำดังกล่าวได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นและเตรียมการทางการเมืองเพื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงคราม รอย์คได้ร่วมจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นด้วยและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีแห่งบูดาเปสต์ (พฤษภาคม-พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕) เขามีบทบาทสำคัญในการส่งสมาชิกพรรคเข้าแทรกซึมในหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ของรัฐ และสนับสนุนราโคชีเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีในการจัดตั้ง “ศาลประชาชน” (people’s court) ขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อพิจารณาคดีการเมืองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ กองทัพแดงสนับสนุนการดำเนินงานของศาลประชาชนอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้มีประชาชนจำนวนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คนถูกจับกุมและคุมขังทั้งถูกเนรเทศ ในการกลับเข้าประเทศหลังสงครามครั้งนี้รอย์คได้สานสายสัมพันธ์กับจูเลีย รอย์ค (Julia Rajk) ภรรยาซึ่งพลัดพรากในช่วงสงคราม จูเลียเกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานระดับล่างใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ครอบครัวของเธอฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ เธอพบรักกับรอย์คในทศวรรษ ๑๙๓๐ ในช่วงที่เขากำลังปลุกระดมจัดตั้งความคิดทางการเมืองให้แก่กรรมกรก่อสร้าง เธอลี้ภัยตามเขาไปอยู่ต่างประเทศด้วยแต่ต่อมาแยกกันปฏิบัติงานทางการเมืองในช่วงระหว่างสงคราม หลังสงครามจูเลียดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำองค์การคอมมิวนิสต์สตรี

 ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงครามเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ แม้พรรคคอมมิวนิสต์จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพแดงและสหภาพโซเวียตทั้งมีสมาชิกแฝงตัวในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ แต่ปรากฏว่าได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ ๑๗ เท่านั้น ในขณะที่พรรคสมอลล์โฮลเดอร์ (Smallholder Party) ซึ่งเป็นพรรคที่มีนโยบายสายกลาง และเป็นที่นิยมของประชาชนมาตั้งแต่ก่อนสงครามได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ ๖๐ พรรคสมอลล์โฮลเดอร์จึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมและกองทัพแดงก็กดดันรัฐบาลให้ยกตำแหน่งกระทรวงสำคัญ ๆ แก่พรรคคอมมิวนิสต์รอย์คได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเขาจัดตั้งหน่วยตำรวจลับขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของพรรคคอมมิวนิสต์ในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม รอย์คสนับสนุนกลยุทธ์ของราโคชีเลขาธิการพรรคที่เรียกว่า “กลยุทธ์ซาลามี” (salami tactics) ด้วยการสร้างความแตกร้าวภายในพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และระหว่างพรรคการเมืองคู่แข่งกับพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมทั้งทำลายอิทธิพลของพรรคการเมืองนั้น ๆ วิธีการดังกล่าวเป็นเสมือนการตัดซาลามืออกเป็นชิ้น ๆ กลยุทธ์ซาลามีประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกกวาดล้างและผู้นำพรรคสมอลล์โฮลเดอร์ก็ถูกสังหาร ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ พรรคคอมมิวนิสต์มีคะแนนนำพรรคสมอลส์โฮลเดอร์ซึ่งกำลังหมดบทบาทลง

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๘ รอย์คบีบบังคับให้พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) รวมเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีและใช้ชื่อว่าพรรคแรงงานสังคมนิยมฮังการี (Hungarian Socialist Workers Party-HSWP) หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่าพรรคสหแรงงาน (United Workers Party) ซึ่งกลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีอำนาจมากที่สุด รอย์คได้เสริมสร้างอำนาจแก่พรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยการสั่งจับกุมและกวาดล้างกลุ่มการเมืองและปัญญาชนฝ่ายตรงข้ามทั้งจับคาร์ดินัลโยเซฟ มีนด์เชนตี (József Mindszenty)* ซึ่งต่อต้านนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์คุมขังตลอดชีวิต เขายังยุบองค์การศาสนจักรและสถาบันทางการเมืองและสังคมอีกหลายแห่งด้วยข้ออ้างเพื่อวางมาตรฐานทางสังคมให้เป็นเอกภาพ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙ มีการกวาดล้างและเข่นฆ่าประชาชนเป็นจำนวนมากและรอย์คให้มีการพิจารณาคดีนักโทษที่เป็นแกนนำโดยเปิดเผยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมและเพื่อข่มขวัญประชาชนทั่วไป

 ในช่วงที่การกวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามพรรคคอมมิวนิสต์กำลังดำเนินอยู่ อิมเร นอจ (Imre Nagy)* นายกรัฐมนตรีซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายกวาดล้างของพรรคและการยึดแผนเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ของสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบนโยบายเศรษฐกิจของประเทศได้เคลื่อนไหวภายในพรรคต่อต้านราโคชีเลขาธิการพรรคเขาพยายามโน้มน้าวรอย์คและแกนนำพรรคคนอื่น ๆ ให้สนับสนุนเขา ราโคชีตอบโต้ด้วยการใช้อิทธิพลในโปลิตบูโรปลดนอจออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและขับออกจากการเป็นสมาชิกโปลิตบูโร ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ รอย์คถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งจากรัฐมนตรีมหาดไทยไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ราโคชีเช้าดำรงตำแหน่งประธานหน่วยตำรวจลับแทนรอย์คซึ่งทำให้เขามีอำนาจอย่างมากในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม เขาเริ่มหวาดระแวงรอย์คและยิ่งรอย์คได้รับความนิยมชมชอบจากสมาชิกพรรคมากขึ้นเท่าใด ความไม่ไว้วางใจรอย์คก็ยิ่งมีมากขึ้นตามลำดับ ราโคชีชี่งเกรงว่ารอย์คจะเป็นคู่แข่งทางการเมืองของเขาในวันข้างหน้าจึงตัดสินใจกำจัดเขา

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๙ รอย์คถูกจับด้วยข้อหาเป็นพวกนิยมลัทธิตีโต และเป็นจารชนของประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มุ่งทำลายความมั่นคงของฮังการีเพื่อฟื้นระบอบทุนนิยมขึ้น ในระยะแรก พรรคคอมมิวนิสต์ปิดข่าวเรื่องการจับกุมโดยอ้างว่าเขาไปปฏิบัติหน้าที่พิเศษ ซึ่งทำให้ต้องปลีกตัวจากสังคมไประยะหนึ่งแต่จูเลียภรรยาในวัย ๓๖ ปี ซึ่งเพิ่งให้กำเนิดบุตรชายในต้น ค.ศ. ๑๙๔๙ และกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดรอย์คพยายามเปิดโปงเรื่องการจับกุมและการใช้อำนาจทมิฬของพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสาธารณชนจนทำให้ทางการในท้ายที่สุดต้องเปิดเผยเรื่องการจับกุม จูเลียก็ถูกจับกุมด้วยและพรรคคอมมิวนิสต์ได้แสดงหลักฐานใหม่เพิ่มเติมว่ารอย์คมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองที่นิยมเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* และพลเรือเอก ฮอร์ที เด นอจบานยารวมทั้งพลเอก ฟรันซิสโก ฟรังโก ในช่วงที่เขาถูกคุมขัง โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเคจีบีจำนวน ๓๐ คน ที่รับผิดชอบเรื่องยุโรปตะวันออกมาช่วยหน่วยตำรวจลับฮังการีไต่สวนและทรมานรอย์คและสหายร่วมอุดมการณ์อีก ๑๓ คนเพื่อให้พวกเขายอมรับสารภาพความผิด นักโทษทั้งหมดซึ่งไม่อาจทนต่อการถูกทรมานจึงยอมรับสารภาพเพราะพรรคคอมมิวนิสต์สัญญาว่าพวกเขาจะไม่ถูกประหารแต่จะได้รับโทษจำคุกตามความหนักเบาของข้อกล่าวหาแต่ทุกคนต้องยอมให้ศาลประชาชน (People’s Court) พิจารณาคดีโดยเปิดเผย

 การพิจารณาคดีรอย์คและสหายโดยเปิดเผยครั้งแรกมีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖-๒๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๙ ณ ห้องประชุมของสหภาพแรงงานของกรรมกรโลหะและเครื่องจักรกลซึ่งเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ที่บรรจุคนได้เป็นจำนวนมากกว่าห้องประชุมของศาล รอย์คซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่ศรัทธาเชื่อมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างลึกซึ้งทั้งวิญญาณและจิตใจถูกกล่าวหาว่าคบคิดวางแผนสังหารมาตยาช ราโคชี และเอร์เนอ เกเรอ (Ernö Gerö) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รวมทั้งถูกข้อหาร้ายแรงอื่น ๆ ที่ดูไร้สาระอีกมากพรรคคอมมิวนิสต์ได้ส่งสหายสนิทหลายคนของรอย์คและ โดยเฉพาะยานอช คาดาร์ (János Kádar)* มาเกลี้ยกล่อมเขาให้ยอมรับผิดเพื่อปกป้องชื่อเสียงของพรรคและเพื่อผลประโยชน์ของรัฐชนชั้นกรรมาชีพ รอย์คซึ่งต้องการปกป้องพรรคและรัฐจึงยอมรับสารภาพความผิดทุกข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ถูกตัดสินจำคุกตามข้อตกลงที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้เคยให้ไว้ เขาถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกับสหายคนอื่น ๆ อีก ๖ คนที่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีรุ่นแรกส่วนจูเลีย รอย์คถูกจำคุก ๖ ปี และลาชโล (Lászlo) บุตรชายของคนทั้ง ๒ ซึ่งอายุยังไม่ถึงขวบก็ถูกส่งไปให้สถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้าของรัฐและให้เปลี่ยนชื่อและสกุลใหม่ รอย์คถูกประหารเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ รวมอายุได้ ๔๐ ปี

 การพิจารณาคดีรอย์คและการประหารชีวิตเขานับเป็นการเริ่มต้นของขบวนการกวาดล้างสมาชิกพรรค และประชาชนที่เอนเอียงสนับสนุนยอซีป บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวีย การกวาดล้างใหญ่ (Great Purge) ในฮังการีซึ่งดำเนินไปกว่า ๓ ปีส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศประชาชนจำนวนกว่า ๑-๓ ล้านคน ซึ่งครึ่งหนึ่งถูกจำคุกและที่เหลือถูกตัดสินประหารทั้งนี๋ไม่รวมอีกกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ที่ถูกจับและประหารโดยปราศจากการพิจารณาคดี นอกจากนี้ ปัญญาชนจำนวนมากยังถูกกวาดต้อนไปใช้แรงงาน การกวาดล้างได้ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหยุดนิ่งและมีส่วนทำให้ขบวนการต่อต้านราโคชีเริ่มก่อตัวขึ้นในเวลาต่อมา

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตเริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ทั้งในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นรัฐบริวารของโซเวียตกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่นิยมสตาลินถูกกดดันให้ลาออกและคอมมิวนิสต์แนวเสรีนิยมได้รับการสนับสนุนให้ก้าวสู่อำนาจซึ่งนำไปสู่การปรับนโยบายการปกครองที่เข้มงวดให้ผ่อนคลายและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวทำให้จูเลีย รอย์คซึ่งพันโทษในต้น ค.ศ. ๑๙๕๖ เห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลฮังการีหาตัวผู้รับผิดชอบในการกวาดล้างประชาชนใน ค.ศ. ๑๙๔๙ มาลงโทษและให้กู้เกียรติทางสังคมคืนแก่ลาซโล รอย์ค และแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์คนสำคัญ เช่น ดเยอร์ดี ปาล์ฟฟี (Gyorgy Palffy) ทีบอร์ เซินยี (Tibor Szönyi) อันดราช ซาลอย (Andras Szalai) ซึ่งล้วนถูกราโคชีสั่งจับกุมและประหารด้วยข้อหาทรยศ ในเวลาขณะเดียวกัน เธอก็พยายามติดตามหาลูกชายจนพบและให้กลับมาใช้ชื่อ “ลาซโล” (Lászlo, Jr.) อีกครั้ง แม้รัฐบาลจะปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวแต่ก็ยอมให้จัดงานการไว้อาลัยลาซโลรอย์คและสหายร่วมอุดมการณ์อีก ๓ คนที่เสียชีวิตร่วมกับเขาสามวันก่อนหน้าการจัดงานซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์มีมติให้กู้เกียรติทางสังคมคืนแก่ลาซโล รอย์คและสหาย ข่าวดังกล่าวทำให้ประชาชนรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมมากขึ้นและเริ่มวิพากษ์โจมตีรัฐบาลอย่างเปิดเผย ในวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ มีประชาชนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนเข้าร่วมงานไว้อาลัย ศพของรอย์คได้ถูกนำมา ฝังใหม่ที่สุสานเคเรเปซี (Kerepesi) หลังงานบรรจุศพรอย์คการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลฮังการีและสหภาพโซเวียตก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* รวม ๑๓ วัน ระหว่างวันที่ ๒๓ ตุลาคมถึง ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖

 เมื่อสหภาพโซเวียตสั่งให้กองกำลังขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization-WTO)* บุกปราบปรามการลุกฮือของชาวฮังการีในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ จูเลีย รอย์คหนีไปขอลี้ภัยทางการเมืองที่สถานเอกอัครราชทูตยูโกสลาเวียพร้อมกับคณะรัฐบาลของอิมเร นอจ แต่ต่อมาเธอถูกกองทหารโซเวียตจับกุมพร้อมกับนอจขณะโดยสารรถของสถานทูตเดินทางไปสนามบินและถูกส่งไปขังคุกที่โรมาเนียเป็นเวลา ๒ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ จูเลีย ได้รับอิสรภาพและเดินทางกลับฮังการี นับแต่นั้นมาเธออุทิศตนทำงานต่อสู้เพื่อประชาชนที่ถูกกดขี่จากอำนาจรัฐและทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างขบวนการประชาชนกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เธอยังผลักดันการจัดตั้งองค์การนอกภาครัฐ (Nongovernment Organiza-tion-NGO) ขึ้นได้สำเร็จรวมทั้งเป็นแกนนำคนสำคัญในการเรียกร้องให้ปัญญาชนและประชาชนร่วมลงนามสนับสนุนกลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77)* ซึ่งเป็นขบวนการเพื่อสิทธิมนุษยชนในเชโกสโลวะเกีย ที่มีวาซลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel)* เป็นผู้นำ นอกจากนี้จูเลียยังบริจาคเงินที่ได้รับชดเชยจากรัฐบาลในการเสียชีวิตของรอย์คเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนดีและขาดแคลนทุนทรัพย์จูเลีย รอย์คได้ทำให้ชื่อของลาซโล รอย์คยังคงอยู่ในความทรงจำของประชาชนและเธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๑ รวมอายุ ๖๗ ปี

 ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๒๐ ปี ของการพิจารณาคดีรอย์คโดยเปิดเผย รัฐบาลฮังการีได้เปิดเผยข้อมูลการพิจารณาคดีรอย์คแก่สาธารณชนเพื่อใช้เป็นบทเรียนเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางการเมืองและศีลธรรมข้อมูลที่เปิดเผยดังกล่าวได้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางของปัญญาชนทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งเปิดประเด็นใหม่ ๆ เกี่ยวกับ “ประชาธิปไตยสังคมนิยม” (socialist democracy) และบทเรียนจากอดีตที่เกี่ยวโยงกับแนวความคิดลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality)* ในสมัยราโคชีและอื่น ๆ ในทศวรรษ ๑๙๗๐ มีการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์คาร์ล มากซ์ (Karl Marx University of Economic Sciences) ซึ่งเป็นเครือของมหาวิทยาลัยคอร์วินัสแห่งบูดาเปสต์ (Corvinus University of Budapest) เป็นวิทยาลัยลาชโล รอย์ค สำหรับการศึกษาชั้นสูง (Rajk László College for Advance Studies) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ปัจจุบันเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับชาติของฮังการี.



คำตั้ง
Rajk, Lászlo
คำเทียบ
นายลาซโล รอย์ค
คำสำคัญ
- กลยุทธ์ซาลามี
- กลุ่มกฎบัตร ๗๗
- กองทัพแดง
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- เกเรอ, เอร์เนอ
- เกสตาโป
- คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- คาดาร์, ยานอช
- เคจีบี
- โคมินเทิร์น
- เชโกสโลวะเกีย
- ซาลอย, อันดราช
- เซินยี, ทีบอร์
- ตรอตสกี, เลออน
- ตีโต
- แถลงการณ์คอมมิวนิสต์
- นอจ, อิมเร
- นอจบานยา, พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด
- แนวร่วมประชาชน
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคแรงงานสังคมนิยมฮังการี
- พรรคสมอลล์โฮลเดอร์
- พรรคสหแรงงาน
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พวกลอยัลลิสต์
- ฟรังโก, พลเอก ฟรันซิสโก
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- มากซ์, คาร์ล
- มีนด์เชนตี, คาร์ดินัลโยเซฟ
- ยูโกสลาเวีย
- รอย์ค, จูเลีย
- รอย์ค, ลาซโล
- ราโคชี, มาตยาช
- โรมาเนีย
- ลัทธิการบูชาบุคคล
- ลัทธิตีโต
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิมากซ์
- ศาลประชาชน
- สงครามกลางเมืองสเปน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การโคมินเทิร์น
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- องค์การสันนิบาตเยาวชน
- องค์การสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮอร์ที เด นอจบานยา, พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1909-1949
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๙๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-