คาร์ล เบียร์นฮาร์โดวิช ราเดคเป็นนักปฏิวัติรัสเซียเชื้อสายยิว และเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ เขามีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะนักทฤษฎีการเมืองแนวความคิดลัทธิสากลนิยม (Internationalism) ในการสร้างความสามัคคีและการผนึกกำลังกันระหว่างชนชั้นแรงงานประเทศต่าง ๆ เพื่อก่อการปฏิวัติโลก ราเดคเข้าร่วมในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* และสนับสนุนการลุกฮือของชาวโปลที่กรุงวอร์ซอ (Warsaw) ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ แต่การปฏิวัติล้มเหลวและเขาถูกจับขังคุกที่โปแลนด์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ราเดคสนับสนุนข้อเรียกร้องของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในการจะเปลี่ยนวิกฤติสงครามให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิวัติด้วยการก่อสงครามกลางเมืองและหาโอกาสที่เหมาะสมเพื่อยึดอำนาจทางการเมืองรวมทั้งผลักดันการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* ชื้น ราเดคมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (German Communist Party) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เขาสนับสนุนคาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* และโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันก่อการลุกฮือด้วยอาวุธเพื่อยึดอำนาจที่กรุงเบอร์ลินในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ แต่ประสบความล้มเหลวราเดคถูกจับขังเป็นเวลาเกือบ ๑ ปี ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาเดินทางกลับกรุงมอสโกและได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการองค์การโคมินเทิร์นจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๓
ราเดคเกิดในครอบครัวยิวเชื้อสายโปลที่เมืองลวอฟ (Lvov) ในกาลิเซีย (Galicia) ตะวันออก เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๘๕ บิดาประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเสียชีวิตเมื่อเขาอายุได้ ๔ ขวบ มารดาเป็นครูสอนหนังสือระดับมัธยมที่เมืองทาร์นอฟ (Tarnov) ในกาลิเชียตะวันตก เธอเป็นคนเคร่งศาสนาและสนใจวรรณคดี มารดาจึงมีส่วนทำให้เขารักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะวรรณคดีและประวัติศาสตร์ เขาและน้องสาวศึกษาในระดับต้นและระดับปลายที่โรงเรียนมัธยมทาร์นอฟ ราเดคสนใจประวัติศาสตร์โปแลนด์ และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเกี่ยวกับปัญหาการแบ่งแยกโปแลนด์ เขาบันทึกว่าไม่สนใจวรรณคดีเยอรมันซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนในครอบครัวชื่นชอบ แต่นิยมวรรณคดีโปลมากกว่าเพราะมีเนื้อหาว่าด้วยความรักชาติที่มีกลิ่นอายของการเคลื่อนไหวปฏิวัติ เขาจึงนำชื่อ “ราเดค” ตัวละครเอกจากนวนิยายการเมืองของสเตฟาน เซรอมสกี (Stefan Zeromski) มาเป็นชื่อเรียกแทน “โซเบลโซน” (Sobelsohn) ซึ่งเป็นชื่อจริงของเขา ในช่วงเรียนระดับมัธยมปลายราเดคเข้าร่วมกลุ่มนักศึกษาที่สนใจแนวความคิดสังคมนิยม และร่วมกันจัดตั้งชมรมสังคมนิยมขึ้นในโรงเรียน จนทำให้เขาถูกพักการเรียนถึง ๒ ครั้งเพราะไม่เรียนหนังสือและทำกิจกรรมเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยม
ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ราเดคขณะอายุ ๑๗ ปี เข้าศึกษาด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโยไกล์เลียน (Jogaillian) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในเมืองคราคูฟ (Krakow) เขามีโอกาสพบและสนิทสนมกับเฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช ดเซียร์จีนสกี (Felix Edmundovich Dzerzhinsky)* ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์และลิทัวเนีย (Social Democratic Party of the Kingdom of Paland and Lithuania-SDKPIL) ดเชียร์จีนสกีสนับสนุนพรรคบอลเชวิคเพื่อก่อการปฏิวัติโค่นล้มระบบซาร์และเคลื่อนไหวปลุกระดมกรรมกรเพื่อก่อการปฏิวัติในโปแลนด์ ดเชียร์จีนสกีชักชวนราเดคเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์และลีทัวเนีย และมอบหมายให้เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองในหมู่กรรมกรและสหภาพแรงงานราเดคยังร่วมในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Naprzód ของพรรคและเขียนบทความรายงานการเคลื่อนไหวของเหล่ายุวชนสังคมนิยม และการต่อสู้ของคนทำขนมปังที่เมืองทาร์นอฟ ข้อเขียนที่แหลมคมและปลุกเร้าอารมณ์ของราเดคทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นนักสังคมนิยมคลื่นรุ่นใหม่ที่ต้องจับตามอง อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยและการขาดประสบการณ์ทางการเมืองทำให้ราเดคชัดแย้งทางความคิดกับสหายรุ่นพี่เกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติ ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๐๓ ราเดคซึ่งได้รับการชี้แนะจากดเชียร์จีนสกีจึงเดินทางไปเมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นแหล่งลี้ภัยของนักปฏิวัติชาติต่าง ๆ
ในช่วงที่พักอยู่ที่เมืองซูริก ราเดคทุ่มเทเวลาศึกษาปัญหาขบวนการแรงงานและมีโอกาสติดต่อประสานงานการเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงานรัสเซีย เขาได้ฟังการบรรยายของวลาดีมีร์ เลนินเป็นครั้งแรก แม้เขาไม่เข้าใจประเด็นเนื้อหาที่บรรยายมากนักแตกประทับใจในบุคลิกความเป็นผู้นำของเลนิน ส่วนเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาของลัทธิมากซ์รัสเซียนั้นราเดคเห็นว่ามีบุคลิกที่ดูยโส ไม่เป็นกันเอง ทั้งการบรรยายก็ขาดชีวิตชีวาเพราะเป็นทฤษฎีมากเกินไปในแวดวงของเหล่านักปฏิวัติรัสเซียที่เมืองซูริก ราเดคคุ้นเคยกับกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มลัทธิมากซ์รัสเซียนอกประเทศ ซีโนเวียฟจึงมีส่วนโน้มน้าวความคิดของราเดคให้สนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติของเลนิน นอกจากนี้ ราเดคยังติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดทางจดหมายกับโรซา ลักเซมบูร์ก ผู้นำปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* ลักเซมบูร์กเสนอแนวทางการเคลื่อนไหวปลดปล่อยโปแลนด์ด้วยการเป็นพันธมิตรกับกรรมกรรัสเซีย และต่อต้านความคิดของเอดูอาร์ด แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)* ว่าด้วยแนวทางปฏิรูปสังคมตามวิถีทางระบอบรัฐสภา ความคิดของลักเซมบูร์กมีอิทธิพลต่อราเดคไม่น้อยและในเวลาต่อมาเขาสนับสนุนเธอในการเคลื่อนไหวขับกลุ่มแบร์นชไตน์ออกจากองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* อย่างไรก็ตาม เมื่อราเดคมีโอกาสร่วมงานกับลักเซมบูร์กระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๑๐ ทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในระยะแรกแต่ต่อมาก็มาขัดแย้งกันทางความคิดจนห่างเหินกัน ลักเซมบูร์กเห็นว่าราเดคมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง และชอบประเมินสถานการณ์ทางการเมืองสูงกว่าความเป็นจริง ตลอดจนชอบก่อปัญหาจนนำไปสู่การแตกแยกเป็นฝ่าย (faction) ภายในองค์การ
เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ ขึ้นในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เหล่านักปฏิวัติที่ลี้ภัยในต่างแดนต่างเดินทางกลับเข้ารัสเซียเพื่อมีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ราเดคเดินทางถึงรัสเซียในกลางเดือนตุลาคม และเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสภาโซเวียตแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งมีเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เป็นผู้นำ เขาชื่นชมความเป็นผู้นำของตรอตสกีและเห็นด้วยกับตรอตสกีที่ว่าซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* กำลังใช้สภาดูมา (Duma)* ที่ทรงประกาศจัดตั้งเป็นเครื่องมือแยกสลายการชุมนุมของมวลชน และเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ ข่าวการปฏิวัติรัสเซียยังทำให้กรรมกรชาวโปลก่อการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่กรุงวอร์ซอในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ รัฐบาลรัสเซียสั่งปราบปรามอย่างเด็ดขาดและให้ประกาศกฎอัยการศึกในโปแลนด์สภาโซเวียตแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวในโปแลนด์ และเรียกร้องต่อรัฐบาลชาร์ให้กรรมกรโปแลนด์มีสิทธิตัดสินชะตาชีวิตของตนเอง ราเดคจึงรีบเดินทางกลับโปแลนด์และเข้าร่วมการชุมนุมเคลื่อนไหวที่กรุงวอร์ซอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อราเดคถึงกรุงวอร์ซอ ฝ่ายปฏิวัติและกรรมกรกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้จะเพลี่ยงพลํ้าอยู่แล้ว เขาได้พบและร่วมงานกับลักเซมบูร์กเป็นครั้งแรก ทั้งคู่ปลุกระดมและชี้นำการเคลื่อนไหวอย่างเต็มความสามารถแต่ก็พ่ายแพ้เพราะรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ราเดคถูกจับขังเป็นเวลาปีเศษและได้รับการปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ระหว่างถูกคุมขังเขาเรียนภาษารัสเซียกับเหล่าสหายชาวรัสเซียในคุกอย่างจริงจัง และอ่านงานทฤษฎีของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* เลนิน และเปลฮานอฟ ตลอดจนเขียนบทความว่าด้วยปัญหาของสหภาพแรงงงานในโปแลนด์ส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ New Zeit ของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน บทความดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้แก่เขาอย่างมากและคาร์ล เคาท์สกี (Karl Kautsky)* บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เชิญชวนเขาให้เป็นบรรณาธิการหนังสือชุดเกี่ยวกับการชุมนุมเคลื่อนไหวของขบวนการสหภาพแรงงาน
ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ราเดคเดินทางไปกรุงเบอร์ลินและเข้าร่วมกับกลุ่มปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน เขาเริ่มสนใจปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและติดตามสถานการณ์ในคาบสมุทรบอลข่านที่สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์โมร็อกโก (Moroccan Crisis)* เขาศึกษาลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* อย่างจริงจัง และเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์สังคมนิยมทั้งของเยอรมนีและโปแลนด์เมื่อเกิดสงครามบอลข่าน (Balkan Wars)* ขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๑๓ ราเดคเรียกร้องให้กรรมกรเยอรมันต่อต้านการเกณฑ์ทหารและการเรียกระดมพลของกองทัพ เขายังสนับสนุนนโยบายของกลุ่มปีกซ้ายหัวรุนแรงในพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันในการใช้ความรุนแรงก่อการปฏิวัติทั้งสนับสนุนการแบ่งแยกเป็นฝ่ายภายในพรรคเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระทางความคิด แนวทางการแสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่างของราเดคสร้างปัญหาความไม่เป็นเอกภาพขึ้นภายในพรรค ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ เขาจึงถูกขับออกจากพรรคสังคมประชาธิปไตยโปแลนด์และอีก ๑ ปีต่อมาก็ถูกขับออกจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ ณ กรุงซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของแคว้นบอสเนีย (Bosnia) ซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ซึ่งเป็นพันธมิตรกับออสเตรีย-ฮังการีได้ประกาศสงครามกับรัสเซียซึ่งสนับสนุนเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ราเดคเคลื่อนไหวต่อต้านการเข้าร่วมสงครามกับเยอรมนี และสนับสนุนนโยบายของกลุ่มสันนิบาต สปาร์ตาคัส (Spartacus League) ซึ่งเป็นองค์การปฏิวัติใต้ดินคัดค้านสงครามและพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาเดินทางไปอยู่ที่กรุงเบิร์น (Bern) สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นที่ชุมมุมของนักสังคมนิยมยุโรปสายกลาง และมีโอกาสสนิทสนมกับเลนิน และเลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev)* ในที่สุดราเดคก็ยอมรับว่าพรรคบอลเชวิคเป็นพรรคปฏิวัติเพียงพรรคเดียวในรัสเซียที่มีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการโค่นล้มระบบทุนนิยม เขาสนับสนุนเลนินเคลื่อนไหวต่อต้านหลักการของคลารา เซทคิน (Clara Zetkin)* นักปฏิวัติหญิงอาวุโสที่มีชื่อเสียงที่เรียกร้องให้ฝ่ายสังคมนิยมวางตนเป็นกลางในสงครามที่กำลังขยายตัวทั่วยุโรป
ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ นักสังคมนิยมสวิสและอิตาลีที่ต่อต้านสงครามเป็นแกนนำผลักดันการจัดประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของนักสังคมนิยม (First Socialist International Conference) ขึ้นที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmer-wald) หมู่บ้านบริเวณเทือกเขาแอลป์ซึ่งไม่ห่างจากกรุงเบิร์นมีผู้แทนพรรคสังคมนิยมรวม ๓๘ คนจาก ๑๑ ประเทศ เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ราเดคสนับสนุนแนวความคิดของเลนินผู้นำพรรคบอลเชวิคที่เรียกร้องให้นักปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมให้เป็นสงครามกลางเมือง และจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ขึ้น แต่แนวทางของเลนินก็ไม่เป็นที่ยอมรับของที่ประชุมส่วนใหญ่และมีผู้สนับสนุนเขาเพียง ๘ คนเท่านั้น ซึ่งเรียกกันว่ากลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Left) หลังการประชุมครั้งนี้กลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์มีมติให้รณรงค์แนวความคิดของกลุ่มให้แพร่หลายในขบวนการสังคมนิยมและราเดคได้รับเลือกเป็นเลขาธิการของกลุ่มมีหน้าที่รับผิดชอบด้านสิ่งพิมพ์เขาจึงใกล้ชิดกับเลนินมากขึ้น
สงครามที่ยืดเยื้อมีส่วนทำให้นักสังคมนิยมอื่น ๆ เริ่มหันมาสนับสนุนแนวความคิดของกลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์ ในการประชุมซิมเมอร์วัลต์ครั้งที่ ๒ ที่เมืองคีนทาล (Kienthal) ระหว่างวันที่ ๒๔-๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๖ มีผู้แทนกลุ่มและพรรคสังคมนิยมทั้งหมด ๔๓ คนจาก ๑๐ ประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน อีเนสซา เฟโอโดรอฟนา อาร์มันด์ (Inessa Feodorovna Armand)* ผู้ปฏิบัติงานต่างประเทศของบอลเชวิคเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เธอมีส่วนโน้มน้าวให้ที่ประชุมสนับสนุนเลนินที่จะใช้วิกฤตการณ์สงครามดำเนินการเคลื่อนไหวปฏิวัติและช่วงชิงอำนาจการเป็นผู้นำจากรัฐบาล หลังการประชุม เลนินมอบหมายให้ราเดคประสานงานกับพรรคสังคมนิยมสวิสและเครือข่ายองค์การปฏิวัติในเยอรมนี ทั้งให้ติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคเมนเชวิค (Mensheviks)* ที่มียูลี มาร์ตอฟ (Yuly Martov)* เป็นผู้นำ ราเดคยังติดต่อกับผู้นำกองทัพเยอรมันที่สนับสนุนการก่อการปฏิวัติในรัสเซียเพื่อให้ช่วยเหลือพรรคบอลเชวิคด้านการเงินด้วย
ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ในกรุงเปโตรกราด (Petrograd) ซึ่งทำให้อำนาจการปกครองของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* สิ้นสุดลง รัสเซียปกครองแบบทวิอำนาจระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกรกอรี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ (Gregory Yevgenyevich Lvov)* เป็นผู้นำกับสภาโซเวียตข่าวการปฏิวัติทำให้นักปฏิวัติรัสเซียนอกประเทศพยายามหาทางกลับเข้ารัสเซียและรัฐบาลเยอรมันได้ให้ความช่วยเหลือเหล่านักปฏิวัติลี้ภัยโดยจัดขบวนตู้รถไฟปิดที่ใช้เส้นทางผ่านเยอรมนี สวีเดน และฟินแลนด์ เลนินได้ชวนราเดคเดินทางกลับรัสเซียร่วมกับเขาและสหายคนอื่นๆ อีก ๑๗ คนแต่ราเดคไม่มีโอกาสกลับเข้ารัสเซียเพราะมีปัญหาเรื่องหนังสือเดินทาง เขาจึงแยกทางกับเลนินที่สวีเดนและพักอยู่ที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) เพื่อจัดทำจุลสารรายสัปดาห์ของพรรคบอลเชวิคเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัสเซียและการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังการยึดอำนาจของพรรคบอลเชวิคในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ราเดคกลับเข้ารัสเซียในเดือนพฤศจิกายน และได้รับแต่งตั้งจากเลนินให้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกระทรวงการต่างประเทศ เขาสนับสนุนเลนินในการทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีเพื่อให้รัสเซียสามารถถอนตัวออกจากสงครามได้ ราเดคจึงมีบทบาทสำคัญร่วมกับตรอตสกีในการเจรจาสงบศึกกับเยอรมนีและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* ระหว่างรัสเซียกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘
ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๘ เยอรมนีเริ่มเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงคราม จอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* และนายพลเอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff)* จึงสนับสนุนให้รัฐบาลเยอรมันเปิดการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งเงื่อนไขให้เยอรมนีถอนกำลังออกจากพื้นที่ยึดครองทั้งหมดและกดดันไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ให้สละราชย์ ปัญหาการเจรจาสันติภาพได้นำไปสู่การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ขึ้นในเยอรมนีซึ่งทำให้มีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันในที่สุด ฝ่ายสังคมนิยมจึงเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันขึ้น ในช่วงที่เยอรมนีกำลังเกิดความผันผวนทางการเมืองรัฐบาลโซเวียตได้ส่งราเดคเป็นผู้แทนของคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียเข้ามาจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน ราเดคจึงเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันเขาสนับสนุนให้ยึดอำนาจด้วยการลุกฮือติดอาวุธในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ แต่รัฐบาลใช้กองทัพและกองกำลังอิสระ (Free Corps)* ปราบปรามและกวาดล้างอย่างเด็ดขาด พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันต้องกลับไปเคลื่อนไหวใต้ดิน ราเดคถูกจับในเดือนกุมภาพันธ์และติดคุกถึงปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ ในช่วงที่ราเดคถูกคุมขังในเยอรมนี เขาได้รับเลือกให้เป็นกรรมาธิการคนหนึ่งขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ หรือโคมินเทิร์นหลังได้รับการปล่อยตัวในเดือนธันวาคม ราเดคเดินทางกลับกรุงมอสโกโดยใช้เส้นทางผ่านโปแลนด์ตามข้อตกลงระหว่างยูเซฟ ปีลซุดสกี (Józef Pilsudski)* ผู้นำโปแลนด์กับรัฐบาลโซเวียต
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ราเดคได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการโคมินเทิร์นและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ขององค์การโคมินเทิร์นขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาเสนอรายงานสถานการณ์ทั่วไปของขบวนการสังคมนิยมยุโรปและเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ประเทศยุโรปอื่น ๆ เข้าเป็นสมาชิกองค์การโคมินเทิร์น ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาลักลอบกลับเข้าเยอรมนีอีกครั้งหนึ่งเพื่อชี้นำการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันในแคว้นรูร์ (Rhur) แต่การลุกฮือของฝ่ายซ้ายในแคว้นรูร์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อกลับมามอสโกอีกครั้งเขาร่วมมือกับนีโคไล บูฮาริน (Nikolai Bukharin)* คัดค้านนโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy-NEP)* ของเลนินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* สิ้นสุดลง ขณะเดียวกันราเดคก็สนับสนุนเลออนตรอตสกีเกี่ยวกับแนวความคิด “การปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ในการจะผลักดันการปฏิวัติโลกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบอบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต
ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์แคว้นรูร์ในเยอรมนีที่สืบเนื่องจากกองทหารฝรั่งเศสและเบลเยียมเคลื่อนกำลังเข้ายึดครองแคว้นรูร์ด้วยข้ออ้างว่าเยอรมนีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ราเดคซึ่งเป็นผู้แทนของโคมินเทิร์นเดินทางกลับเข้าเยอรมนีอีกครั้งเพื่อร่วมเคลื่อนไหวชี้นำกรรมกรและพรรคคอมมิวนิสต์ให้ต่อต้านการยึดครองแคว้นรูร์และหาโอกาสโค่นอำนาจรัฐบาลของกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stressemann)* แต่รัฐบาลเยอรมนีสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และการพยายามยึดอำนาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในรัฐแซกโซนี (Saxony) และทูรินเจีย (Thuringia) ก็ถูกปราบปรามลง ฝ่ายต่อต้านราเดคในองค์การโคมินเทิร์นซึ่งรวมทั้งโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* จึงเห็นเป็นโอกาสใช้ความล้มเหลวของการก่อการปฏิวัติในเยอรมนีขับเขาออกจากตำแหน่งเลขาธิการ
ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ สตาลินซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตยังร่วมมือกับซีโนเวิยฟและคาเมเนฟขับราเดคออกจากคณะกรรมการกลางพรรคด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ราเดคไดัรับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยซุนยัตเชน (Sun Yatsen) ในกรุงมอสโกและดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๗ เขาสนใจในปัญหาตะวันออกไกลและศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวปฏิวัติในจีน ราเดคเห็นว่าจีนยังไม่พร้อมที่จะก่อการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพและในสภาวการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ การเป็นพันธมิตรระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคกว๋อหมินตั่งยังคงความจำเป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๖ เขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนท่าทีของพรรคกว๋อหมินตั่งต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเรียกร้องให้ทั้งโปลิตบูโรและโคมินเทิร์นปรับนโยบายเกี่ยวกับจีน แต่ประสบความล้มเหลว
ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ราเดคเข้าร่วมกลุ่มฝ่ายค้านในพรรคคอมมิวนิสต์ที่เรียกว่ายูไนเต็ดออปโพซิซัน (United Opposition) ตรอตสกีจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวขึ้นเพื่อต่อต้านความเป็นเผด็จการของสตาลิน และเพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคตลอดจนการปฏิรูปเศรษฐกิจแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายค้านประสบความล้มเหลวในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๗ ราเดคและสมาชิกกลุ่มฝ่ายค้านอีก ๗๔ คนถูกขับออกจากพรรคด้วยข้อหาสังกัดกลุ่มลัทธิตรอตสกี (Trotskyism) ที่มีเป้าหมายล้มล้างพรรคและต่อต้านรัฐบาลโซเวียต เขาถูกเนรเทศไปไซบีเรีย อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ราเดคยอมรับว่าเขาหลงผิดที่เชื่อตรอตสกีและหันมาประณามตรอตสกีว่าเป็นผู้ทรยศต่อพรรค ทั้งตรอตสกียังเตรียมการลุกฮือเพื่อยึดอำนาจ ราเดคจึงได้กลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้งหนึ่งและหันมาสนับสนุนสตาลินเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวสารของพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Party’s Information Bureau) และเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านการต่างประเทศของสตาลินรวมทั้งเป็นกระบอกเสียงคนสำคัญในการให้ข่าวและประชาสัมพันธ์เรื่องงานด้านการต่างประเทศตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๖ เขายังร่วมเป็นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Pravda และ Izvestia ของพรรคคอมมิวนิสต์โดยเขียนบทความและข่าวด้านการต่างประเทศ รวมทั้งข้อเขียนที่ยกย่องเทิดทูนสตาลิน
ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๔ เซียร์เกย์ คีรอฟ (Sergey Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเลนินกราดถูกลอบสังหาร มือสังหารเป็นกรรมกรขาพิการที่สามารถบุกไปถึงที่ทำงานของคีรอฟได้โดยไม่มีใครเห็น การสังหารที่มีเงื่อนงำครั้งนี๋ได้นำไปสู่การจับกุมกวาดล้างอันนองเลือดที่เรียกว่าการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ ในช่วงเวลาที่การกวาดล้างดำเนินอยู่สตาลินพยายามสร้างภาพลักษณ์การเป็นประชาธิปไตยในทางการเมืองและสังคม ราเดคและบูฮารินจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๖ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญราเดคเป็นพยานคนสำคัญในการปรักปรำซีโนเวียฟและคาเมเนฟว่ามีส่วนรู้เห็นกับการลอบสังหารคีรอฟและมุ่งร้ายต่อสตาลินโดยได้รับการสนับสนุนจากตรอตสกีซึ่งลี้ภัยนอกประเทศ ความเห็นของเขามีส่วนทำให้ซีโนเวียฟและคาเมเนฟถูกตัดสินประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๖ ราเดคก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาพยายามแย่งชิงอำนาจจากซีโนเวียฟและคาเมเนฟ และยังคงมีการติดต่ออย่างลับ ๆ กับตรอตสกี เขาถูกพิจารณาคดีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี ต่อมา มีรายงานของทางการระบุว่าราเดคขณะอายุ ๕๔ ปีเสียชีวิตในคุกใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ด้วยเหตุทะเลาะวิวาทกับนักโทษ
อย่างไรก็ตาม เมื่อนีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev)* เป็นผู้นำของสหภาพโซเวียต เขาให้มีการสืบสวนมรณกรรมของราเดคและพิสูจน์ได้ว่าเขาถูกเคจีบี (KGB)* หรือหน่วยตำรวจลับสังหารในค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ซึ่งเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์แนวปฏิรูป กอร์บาชอฟปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย และให้กู้เกียรตินักปฏิวัติที่ตกเป็นเหยื่อของการกวาดล้างในสมัยสตาลินให้กลับสู่สถานภาพเดิมทางสังคม ศาลโซเวียตสูงสุดจึงทบทวนข้อหาทั้งปวงในอดีตของราเดคใหม่และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๘ ก็พิพากษาตัดสินว่าราเดคเป็นผู้บริสุทธิ์.