Peel, Sir Robert (1788-1850)

เซอร์รอเบิร์ต พีล (พ.ศ. ๒๓๓๐-๒๓๙๓)

 เซอรีรอเบิร์ต พีล เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๔-๑๘๓๕ และ ค.ศ. ๑๘๔๑-๑๘๔๖ เป็นบุคคลสำคัญในการประกาศก่อตั้งพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๑๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ค.ศ. ๑๘๒๒-๑๘๒๗ และ ค.ศ. ๑๘๒๘-๑๘๓๐ ช่วงเวลาของเขาเป็นช่วงเวลาที่การเมืองอังกฤษโดดเด่นด้านการปฏิรูปสังคม พีลมีผลงานการปฏิรูปที่สำคัญ คือ การออกกฎหมายลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของเด็กและสตรีการให้บริการทำงรถไฟที่รวดเร็วและราคาถูก การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาซึ่งยกเลิกโทษประหารสำหรับการก่ออาชญากรรมหลายประเภท และการออกกฎหมายให้ศาสนิกชนคาทอลิกได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญและเข้าประชุมที่รัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ได้ ผลงานชิ้นสำคัญของเขาอีกประการหนึ่ง คือ การจัดตั้งหน่วยตำรวจแห่งกรุงลอนดอนขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งทำให้มีการเรียกตำรวจอย่างไม่เป็นทางการตามชื่อ (เล่น) หรือชื่อสกุลของพีลว่า “บ็อบบี (bobby)” หรือ “พีลเลอร์ (peeler)” จนทุกวันนี่ การที่พีลสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีทำให้เขาตัดสินใจยกเลิกกฎหมายข้าว (Corn Laws)* ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ ทั้งๆ ที่รู้ว่าสมาชิกพรรคจำนวนมากซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ไม่เห็นด้วย การยกเลิกกฎหมายนี่ทำให้พรรคทอรี (Tory Party) ที่เขาสังกัดในขณะนั้นแตกแยก และพีลก็สูญเสียทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคและผู้นำรัฐบาลในที่สุด

 พีลเกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๘๘ ที่คฤหาสน์เชมเบอร์ฮอลล์ (Chamber Hall) ตำบลแรมส์บอตทอม (Ramsbottom) ใกล้เมืองบิวรี (Bury) มณฑลแลงคาเชียร์ (Lancashire) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตผ้าสายของครอบครัวเขาเป็นบุตรชายคนโตและเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้อง ๑๑ คนของเอลเลนเยตส์ (Ellen Yates) และรอเบิร์ต พีล (Robert Peel ค.ศ. ๑๗๕๐-๑๘๓๐) สมาชิกสภาสามัญและผู้ประกอบอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายและผ้าพิมพ์ดอกที่รํ่ารวยจนได้รับบรรดาศักดิ์บารอเนต (Baronet) จากการเสนอแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี วิลเลียม พิตต์ (บุตร) (William Pitt the Younger ค.ศ. ๑๗๘๓-๑๘๐๑, ๑๘๐๔-๑๘๐๖)* พื้นเพดั้งเดิมของครอบครัวนี่เป็นชาวนาและช่างทอผ้าจากมณฑลยอร์กเชียร์ (Yorkshire) ที่ย้ายมาอยู่มณฑลแลงคาเชียร์ จากนั้นได้ขยายกิจการมาทำธุรกิจผลิตผ้าพิมพ์ดอกและประสบความสำเร็จในปลายทศวรรษ ๑๗๙๐ บิดาของพีลได้ย้ายลงไปทางใต้ของมณฑลสแตฟฟอร์ดเชียร์ (Staffordshire) ณ ที่นี่เขาได้ครอบครองเดรย์ตันแมเนอร์ (Drayton Manor) และสามารถบรรลุความฝันในการสร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล โดยเริ่มจากเป็นผู้แทนสภาสามัญจากเขตแทมเวิร์ท (Tamworth) และได้รับบรรดาศักดิ์บารอนเนตใน ค.ศ. ๑๘๐๐ ส่วนพีลผู้บุตรเรียนหนังสือที่บ้านกับศาสนาจารย์เจมส์ ฮาร์กรีฟส์ (James Hargreaves) จนกระทั่งอายุ ๑๐ ปี เมื่อครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เดรย์ตันแมเนอร์ใน ค.ศ. ๑๗๙๘ เขาก็เข้าเรียนที่โรงเรียนเล็ก ๆ ในแทมเวิร์ท พีลได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ยังเด็ก ทุกเย็นวันอาทิตย์เขาจะต้องท่องออกเสียงคำเทศน์ ๒ เรื่องที่ได้รับฟังในช่วงเช้าให้สมาชิกในครอบครัวฟัง พีลได้รับการศึกษาในระบบเบื้องต้นที่ฮิปเปอร์โฮส์มแกรมมาร์สกูล (Hipperholme Grammar School) การที่ครอบครัวมีฐานะดีทำให้บิดาสามารถส่เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๐-๑๘๐๔ และต่อมาที่วิทยาลัยไครสต์เขิร์ช (Christ Church) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) ใน ค.ศ. ๑๘๐๘ พีลก็ได้แสดงความเฉลียวฉลาดให้เป็นที่ประจักษ์ โดยเป็นนักศึกษาคนแรกของมหาวิทยาลัยที่ได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ ทั้งในวิชาคลาสสิกและวิชาคณิตศาสตร์ ปีต่อมาเขาเข้าศึกษาต่อที่สำนักกฎหมายลิงคอนส์อินน์ (Lincoln’s Inn) เพื่อเตรียมตัวเป็นนักกฎหมาย แต่ความมั่งคั่งทำให้บิดาสามารถบันดาลให้เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญด้วยวัยเพียง ๒๑ ปี จากเขตแคเชล (Cashel) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งเน่า (rotten borough) ในเคาน์ตีทิปเพอรารี (Tipperary) ไอร์แลนด์ ในเขตนี่มีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเพียง ๒๔ คนและไม่มีผู้สมัครรายอื่นแต่อย่างใด อีกทั้งผู้สนับสนุนพีลในการเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากบิดาของเขาแล้ว ยังมีเซอร์อาร์เทอร์ เวลสลีย์ [ (Arthur Wellesley)* ต่อมาคือ ดุ๊กแห่งเวลลิงตันที่ ๑ (1ˢᵗ Duke of Wellington)*] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอร์แลนด์ซึ่งเป็นบุคคลที่ชะตาชีวิตของพีลเข้าไปผูกพันด้วยในช่วง ๒๕ ปีต่อมา

 ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ พีลได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงสงครามและอาณานิคม ในปีเดียวกันนั้นนายกรัฐมนตรีสเปนเซอร์ เพอร์ซีวัล (Spencer Perceval ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๑๒) เลือกให้เขาเป็นผู้แสดงสุนทรพจน์กล่าวตอบพระดำรัสเปิดประชุมรัฐสภาของเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๓๐)* ผู้แทนพระองค์ นับเป็นสุนทรพจน์ครั้งแรก ซึ่งกินเวลาถึง ๔๐ นาที ชาลส์ แอบบอต (Charles Abbot) ประธานสภากล่าวว่าเป็นสุนทรพจน์ยอดเยี่ยมที่สุดนับแต่ที่วิลเลียม พิตต์ได้เคยทำไว้ ต่อมาเมื่อรอเบิร์ต แบงส์ เจงกินสัน เอิร์ลแห่งลิเวอร์พูลที่ ๒ (Robert Banks Jenkinson, 2ᶰᵈ Earl of Liverpool ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๒๗)* ซึ่งเคยบังคับบัญชาเขาที่กระทรวงสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเพอร์ซีวัลที่ถูกยิงเสียชีวิตที่รัฐสภาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๒ พีลจึงได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอร์แลนด์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีภาระหน้าที่ค่อนข้างยุ่งยากเพราะเหตุการณ์วุ่นวายที่นั่นถึงแม้ว่าตำแหน่งนี้จะไม่ได้ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีก็ตาม พีลรับตำแหน่งที่กรุงดับลิน (Dublin) ในเดือนกันยายนในช่วง ๖ ปีจากนั้นเขาได้แสดงฝีมือการบริหารที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสให้เป็นที่ประจักษ์ในช่วงที่อังกฤษส่งอุปราชไปปกครอง ๓ คนคือ ดุ๊กแห่งริชมอนด์ (Duke of Richmond) ลอร์ดวิตเวิร์ท (Whitworth) และลอร์ดทัลบอต (Talbot) พีลต้องการยุติการฉ้อราษฎร์บังหลวงในรัฐบาลไอร์แลนด์ โดยพยายามหยุดการขายตำแหน่งราชการและการปลดข้าราชการออกด้วยข้อหา ข้องเกี่ยวกับการเมือง เขาปรับปรุงกลไกการบริหารงานประจำวันสนับสนุนการศึกษาของฆราวาสจัดตั้งกองตำรวจไอริช (constabulary) ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “พีลเลอร์” ทั้งแสดงตนให้เห็นว่าอยู่ในฝ่ายโปรเตสแตนต์ที่ขัดขวางผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกไม่ให้เข้านั่งในรัฐสภา ฝ่ายตรงข้ามจึงให้ฉายาเขาว่า “ออเรนจ์พีล” (Orange Peel) ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ พีลตัดสินใจสกัดกั้นการดำเนินงานของคณะกรรมการ คาทอลิก (Catholic Board) ซึ่งแดเนียล โอคอนเนลล์ (Daniel O’Connell)* ผู้นำฝ่ายชาตินิยมไอริชจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งที่ยาวนานของคนทั้งคู่ พีลเกือบจะต้องต่อสู้กับโอคอนเนลล์ด้วยวิธีการดวล โดยพีลเป็นฝ่ายท้าในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ แต่โอคอนเนลล์ ถูกจับกุมเสียก่อนขณะกำลังเดินทางไปที่ออสเตนด์ (Ostend) ซึ่งเป็นจุดนัดพบ

 การมีจุดยืนต่อต้านศาสนิกชนคาทอลิกทำให้พีลได้รับเกียรติให้เป็นผู้แทนจากเขตเลือกตั้งแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแทนที่ชาลส์ แอบบอตที่ลาออกไปใน ค.ศ. ๑๘๑๗ เขาจึงกลายเป็นบุคคลที่โดดเด่นของพรรคทอรีในปีต่อมาพีลรู้สึกเหนื่อยล้ากับภารกิจในไอร์แลนด์เพราะเขาต้องทำงานทั้งที่กรุงดับลินและต้องเดินทางมาประชุมสภาสามัญเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับไอร์แลนด์ซึ่งทำให้เขาต้องเสียเวลาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลบ่อยครั้ง เขาจึงตัดสินใจลาออกใน ค.ศ. ๑๘๑๙ และปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งบริหารใด ๆ เป็นเวลาถึง ๔ ปี อย่างไรก็ดี เขายอมตกลงเป็นประธานคณะกรรมาธิการการคลังที่นำ อังกฤษกลับคืนสู่ระบบมาตรฐานทองคำและเขาก็สามารถสร้างชื่อเสียงในฐานะนักการคลัง พีลเชื่อว่าระบบการใช้ ธนบัตรที่พิตต์นำมาใช้ใน ค.ศ. ๑๗๙๗ ทำให้ค่าของเงินตกลง ดังนั้นต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๓ เขาจึงเสนอร่างกฎหมายที่จะนำการคลังอังกฤษกลับสู่มาตรฐานทองคำ

 ใน ค.ศ. ๑๘๒๒ ลอร์ดลิเวอร์พูลได้ปรับคณะรัฐมนตรีคราวนี่พีลในวัย ๓๒ ปีตกลงรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย งานขึ้นแรกคือ การปรับปรุงกฎหมายอาญาซึ่งได้มีการเรียกร้องกันมานานในสภาโดยเฉพาะจาก พวกเบนทัมไมต์ (Benthamite) ที่สนับสนุนแนวคิดของ เจเรมี เบนทัม (Jeremy Bentham)* และพวกอีแวนเจลิคัล (Evangelical) พีลได้จัดการปรับปรุงขนานใหญ่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๓๐ โดยยกเลิกกฎหมายกว่า ๒๕๐ ฉบับ ความผิดที่ต้องรับโทษประหารลดลงกว่า ๑๐๐ กระทง จนถึงกับปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาซึ่งครอบคลุม ๓ ใน๔ ของความผิดทางอาญาทั้งหมด สถิติอาชญากรรมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พีลเห็นว่าควรปรับปรุงวิธีการป้องกันไม่ให้การก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นด้วย เขาปรับปรุงระบบกักขังในเรือนจำโดยให้มีการจ่ายเงินให้ผู้คุม (gaolers) และให้การศึกษาแก่นักโทษ ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ เขาสามารถทำให้สภาผ่านพระราชบัญญัติตำรวจนครบาล (Metropolitan Police Act) ซึ่งทำให้มีการจัดตั้งหน่วยตำรวจที่มีวินัยสำหรับเขตลอนดอนใหญ่ (Greater London) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีสำนักงานอยู่ที่สกอตแลนด์ยาร์ด (Scotland Yard) ตำรวจของกรุงลอนดอนจำนวน๑,๐๐๐ คนได้รับการเรียกอย่างฉันมิตรว่า “เด็กของบ็อบบี” (Bobby’s boys) ซึ่งต่อมาก็เรียกกันเพียงสั้นๆ ว่า “บีอบบี” แต่คนที่ไม่ชอบก็เรียกว่า “เด็กของพีล” (Peeler’s boys) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พีลเลอร์” แม้ว่าหน่วยตำรวจนี่ไม่ถูกใจผู้คนนักในระยะแรก แต่ต่อมาพวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นผลงานว่าสามารถลดจำนวนอาชญากรรมในกรุงลอนดอนได้ ดังนั้นเมืองใหญ่อื่นๆ ในสหราชอาณาจักรก็จัดตั้งหน่วยตำรวจนครบาลขึ้นบ้างโดยทั่วไปภายใน ค.ศ. ๑๘๓๕

 เมื่อจอร์จ แคนนิง (George Canning)* สืบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากลอร์ดลิเวอร์พูลใน ค.ศ. ๑๘๒๗ เพราะฝ่ายหลังป่วยเป็นอัมพาต พีลขอลาออกจากคณะรัฐมนตรีเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของแคนนิงที่จะให้ศาสนิกชนคาทอลิกเข้านั่งในรัฐสภา แต่เพียงไม่ถึง ๔ เดือนต่อมา แคนนิงก็ถึงแก่อสัญกรรม เมื่ออาเทอร์ เวลสลีย์ ดุ๊ก แห่งเวลลิงตันที่ ๑ เป็นนายกรัฐมนตรีในปีถัดมา พีลก็ตกลงรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งหนึ่งและเป็นผู้นำในสภาสามัญด้วย รัฐบาลของเวลลิงตันประสบปัญหาจากการที่รัฐมนตรีสายแคนนิงพากันลาออกหลังจาก ๔ เดือนผ่านไป กอปรกับเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของชาวไอริชคาทอลิกระลอกใหม่เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวคาทอลิกโดยมีการก่อตั้งสมาคมคาทอลิก (Catholic Association) ขึ้นสมาคมนี่สามารถแสดงพลังให้เห็นจากการที่แดเนียล โอคอนเนลล์มีชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมที่เคาน์ตีแคลร์ (Clare) ในไอร์แลนด์ ใน ค.ศ. ๑๘๒๘ พีลเห็นว่าการต่อต้านชาวไอริชต่อไปคงไร้ประโยชน์เขาจึงลาออกและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเวลลิงตันยุติปัญหาคาทอลิก

 เวลลิงตันเห็นว่าหากเขาต้องต่อสู้แต่เพียงลำพังกับความรู้สึกเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงของทั้งพระประมุขและศาสนจักรแองกลิคัน (Anglican Church) ที่มีต่อพวกคาทอลิกก็คงจะไม่สำเร็จ เขาจึงขอร้องให้พีลคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปและช่วยเขาดำเนินการให้สิทธิแก่ชาวคาทอลิกมากขึ้นในประเด็นที่ทั้งคู่เห็นพ้องกันพีลเห็นว่าถ้ารัฐบาลพรรคทอรียังคง กีดกันศาสนิกชนคาทอลิกก็คงต้องลาออกไปเพราะไม่เช่นนั้นพรรคทอรีก็อาจต้องเผชิญกับการลุกฮือของชาวไอริช เขามีหนังสือถึงดุ๊กแห่งเวลลิงตันว่าการให้สิทธิแก่ชาวคาทอลิกเป็นเรื่องอันตราย แต่การปล่อยให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ในหมู่ประชาชนเป็นอันตรายยิ่งกว่า ดังนั้นการผ่านกฎหมายที่ให้สิทธิพลเมืองเพิ่มมากขึ้นแก่ชาวคาทอลิกจึงเป็นทางออกที่จำเป็นต้องทำซึ่งเท่ากับเป็นการกลับลำจุดยืนของพรรคทอรีที่ยึดมั่นมายาวนานพระเจ้าจอร์จที่ ๔ ทรงคัดค้านอย่างรุนแรงแต่เมื่อรัฐบาลขู่ว่าจะลาออกก็ทรงจำยอม ในวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๒๙ พีลเสนอร่างกฎหมายซึ่งต่อมาได้ออกเป็นพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก (Catholic Emancipation Act)* โดยกล่าวในสภากว่า ๔ ชั่วโมง ทั้งระบุว่ากฎหมายนี่เป็นผลงานของคู่แข่งทางการเมืองที่ยาวนานของเขา คือ ชาลส์ เจมส์ ฟอกซ์ (Charles James Fox)* และจอร์จ แคนนิง การเปลี่ยนแปลงท่าทีของพีลโดยตกลงเข้าช่วยดุ๊กแห่งเวลลิงตันในการเสนอกฎหมายใหม่และเพิกถอนกฎหมายทดสอบการเป็นโปรเตสแตนต์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางราชการ (Test and Corporation Acts) ซึ่งใช้มากว่าศตวรรษครึ่งทำให้เขาถูกโจมตีอย่างรุนแรงและเป็นเหตุให้พีลสูญเสียที่นั่งในการเป็นผู้แทนจากเขตมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สิ่งพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง Birmingham Argos มีการลงบทกลอนสั้นๆ ของฝ่ายตรงข้ามเขาที่กลายเป็นคำพูดติดปากว่า เขาได้เปลี่ยนชื่อจากรอเบิร์ต พีลเป็นรีพีล (repeal หมายถึง เพิกถอน) แต่พีลก็ยังคงเป็นสมาชิกสภาได้อยู่โดยได้รับเลือกตั้งจากเขตเวสต์บิวรี (Westbury) อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๐ เมื่อดุ๊กแห่งเวลลิงตันแถลงนโยบายต่อต้านการปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญ รัฐบาลที่อ่อนแอและไม่ได้รับความนิยมจากชาวอังกฤษนักก็สิ้นสุดลง พีลกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านเมื่อพรรควิก (Whig Party) ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลแทนนับเป็นครั้งแรกที่เขากลายเป็นฝ่ายค้านนับตั้งแต่เข้าสภามา ๒๐ กว่าปี และตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๓๐ ซึ่งเป็นปีที่บิดาถึงแก่อนิจกรรม เขาได้รับบรรดาศักดิ์บารอนเนตสืบแทนและทรัพย์สินมหาศาล รวมทั้งเป็นผู้แทนราษฎรจากเขตแทมเวิร์ทซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของครอบครัวจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม

 แม้ว่าพีลจะไม่ต่อต้านการปฏิรูประบบการเลือกตั้งสายกลางของพรรควิก แต่เขาก็อดวิตกกังวลักบแนวทางก้าวหน้าที่รัฐบาลชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ ๒ (Charles Grey, 2ᶰᵈ Earl Grey)* เสนอในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๓๑ ไม่ได้พีลจึงไม่ช่วยประสานหรือไกล่เกลี่ยกับพวกทอรีจัด (ultraTory) และปฏิเสธที่สภาสามัญจะผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปของฝ่ายวิก ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๑ พีลปราศรัยในสภาสามัญถึง ๔๘ ครั้งเพื่อต่อต้านการปฏิรูประบบเลือกตั้ง เหตุผลข้อหนึ่งของเขาก็คือการคงเขตเลือกตั้งเน่าไว้จะทำให้ได้บุคคลที่มีฝีมือเข้าสู่สภา อันที่จริง พีลกำลังประเมินการเติบโตของแนวคิดอนุรักษนิยมในประเทศเพราะในช่วงนี้พรรคทอรีได้แตกออกเป็น ๒ พวก คือ พวกอัลตรา และพวกสายกลาง ซึ่งพวกหลังนี่ต่อมาได้เรียกตัวเองว่า อนุรักษนิยม เพราะเห็นด้วยกับเหตุผลของการปฏิรูป แต่ก็ต้องการคงส่วนตั้งเดิมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไว้ต่อไป

 การพ้นตำแหน่งอย่างรวดเร็วเกินคาดของรัฐบาลวิลเลียม แลมบ์ ไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒ (William Lamb, 2ᶰᵈ Viscount Melbourne)* ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๔ ทำให้พีลได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีจากการที่เป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านแต่เนื่องจากขณะนั้นพีลอยู่ที่อิตาลี ดุ๊กแห่งเวลลิงตันจึงทำหน้าที่รักษาการไปพลาง ๆ ประมาณ ๓ สัปดาห์ เมื่อกลับมา พีลก็ต้องเผชิญกับภาระงานผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งท้าทายมากเพราะเขาขาดเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ในสภา อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาดังกล่าวพีลได้ออกประกาศแทมเวิร์ท (Tamworth Manifesto) ซึ่งเป็นการแสดงปรัชญาทางการเมืองของเขาและแสดงหลักการปฏิรูปสายกลางซึ่งกลายเป็นนโยบายใหม่ของกลุ่มอนุรักษนิยม เขาประกาศว่าพรรคของเขารับรองหลักการของร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill)* ของรัฐบาลพรรควิกที่ผ่านสภาใน ค.ศ. ๑๘๓๒ และจะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อไปโดยจะไม่ละเมิดหรือก้าวล่วงสิทธิที่เคยมีมาก่อนแล้วประโยคนี่ถือกันว่าเป็นการประกาศหลักการปฏิรูปสายกลางของพรรคอนุรักษนิยมที่กำลังก่อตัวขึ้นจากพรรคทอรีเดิมโดยมีรอเบิร์ต พีลเป็นผู้นำ ความมีชื่อเสียงของเขาผนวกกับความพยายามที่จะปรับแนวคิดทอรีเก่าให้ทันสมัยกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปได้ช่วยดึงดูดนักการเมืองรุ่นหนุ่มที่โดดเด่นเข้าสู่พรรคอนุรักษนิยม คนสำคัญ ได้แก่ วิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* และเบนจามิน ดิสเรล (Benjamin Disraeli)* ซึ่งต่อมาได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาสามัญใน ค.ศ. ๑๘๓๗ และทั้งคู่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๕ รัฐบาลของพีลต้องสิ้นสุดลงจากการร่วมมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างพวกวิก (Whig) พวกหัวรุนแรง และพวกชาตินิยมไอริชที่เรียกว่าข้อตกลงร่วมกันณ บ้านลิชฟีลด์ (Lichfield House Compact) ที่ยับยั้งร่างกฎหมายของรัฐบาลพีลอย่างต่อเนื่อง เขาทำได้แต่เพียงผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการแต่งงานของพวกต่างนิกาย ที่ต่อต้านนิกายแองกลิคัน (Dissenters’ Marriage Bill) และร่างกฎหมายว่าด้วยภาษีศาสนา (English Tithe Bill) พีลจึงต้องลาออกซึ่งเป็นการเปิดทางให้ลอร์ดเมลเบิร์นแห่งพรรควิกกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง ถึงแม้เขาจะพ่ายแพ้แต่พีลก็สามารถดึงคนเก่ง ๆ เข้าสู่พรรคอนุรักษนิยมได้อีก ได้แก่ เซอร์เจมส์ แกรม (James Graham) และเอดเวิร์ด สแตนลีย์ (Edward Stanley) จากพรรควิก ในช่วง ๖ ปี หลังจากนั้นพรรคอนุรักษนิยมได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๓๗ พรรคฝ่ายค้านของพีลมีสมาชิกกว่า ๓๐๐ คนร่างกฎหมายหลายฉบับของพรรควิกในช่วง ค.ศ. ๑๘๓๓-๑๘๔๑ ผ่านได้เรียบร้อยก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของพีล เช่นพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายสงเคราะห์คนจน (Poor Law Amendment Act ค.ศ. ๑๘๓๔) พระราชบัญญัติเทศบาล (Municipal Corporations Act ค.ศ. ๑๘๓๕) และพระราชบัญญัติจาเมกา (Jamaica Act ค.ศ. ๑๘๓๙) ในปีนี่เอง พีลได้รับข้อเสนอจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* ให้จัดตั้งรัฐบาลแต่ก็ยังคงเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยอยู่ ดังนั้นพีลจึงต้องการทดสอบการได้รับการสนับสนุนจากพระประมุข เพราะพีลเห็นแล้วว่าลอร์ดเมลเบิร์นเป็นที่ปรึกษาที่พระองค์ไว้วางใจมาหลายปีและตำแหน่งฝ่ายในที่ดูแลราชสำนักก็มีภรรยาหรือไม่ก็ญาติของสมาชิกพรรควิกถือครองอยู่ ดังนั้นพีลจึงทูลขอเปลี่ยนตัวโดยให้สตรีฝ่ายทอรีเข้าไปบ้าง เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถไม่ทรงเห็นชอบแม้ดุ๊กแห่งเวลลิงตันจะขอร้อง วิกฤตการณ์ห้องพระบรรทม (Bedchamber Crisis)* จึงเกิดขึ้นพีลจึงปฏิเสธที่จะจัดตั้งรัฐบาล และเปิดทางให้ฝ่ายวิกอีกครั้งหนึ่ง

 หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๑ พรรคทอรีได้เสียงข้างมากในสภาสามัญกว่า ๗๐ ที่นั่ง พีลจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลซึ่งกลายเป็นชุดที่สร้างผลงานสำคัญแห่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีปัญหาเศรษฐกิจชาวอังกฤษหลายคนตกงานการค้ากับต่างประเทศก็มีปัญหาซึ่งทำให้เขาคิดว่าต้องดำเนินการค้าเสรีเพื่อจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้นแม้เขาจะไม่เคยเป็นพวกยึดติดกับอุดมการณ์สนับสนุนการค้าเสรีมาก่อนนอกจากนี้ พีลก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกด้วย รัฐบาลชุดนี่ประกอบด้วยบุคคลที่เคยเป็นหรือจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ได้แก่ พีล เวลลิงตันอาเบอร์ดีน (Aberdeen) แกลดสโตนและดิสเรลี

 ในรัฐบาลชุดที่ ๒ นี่ พีลต้องเผชิญปัญหาการสงครามกับจีนและอัฟกานิสถานและความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ปัญหาการค้าตกตํ่าในประเทศการเคลื่อนไหวของขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism)* ซึ่งเป็นกระแสเรียกร้องการปฏิรูปของผู้ใช้แรงงานกลุ่มสันนิบาต ต่อต้านกฎหมายข้าว (Anti-Corn Law League) การรณรงค์ของแดเนียล โอคอนเนลล์ที่จะเพิกถอนการผนวกไอร์แลนด์เข้ากับบริเตนใหญ่ และปัญหางบประมาณที่ขาดดุลสะสมมานับ ๕ ปี ในด้านการต่างประเทศนั้นพีลต้องการดำเนินนโยบายสร้างสันติภาพและความมั่นคง ส่วนในประเทศ พีลต้องการลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของผู้ใช้แรงงานกระตุ้นการค้าและอุตสาหกรรม และต้องการจัดระบบการคลังใหม่ ใน ค.ศ.๑๘๔๒ เขาลดพิกัดอัตราภาษีสินค้าเช้าหลายรายการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเสนอร่างกฎหมายเก็บภาษีเงินได้ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๒ [เป็นภาษีที่เก็บครั้งแรกในช่วงที่อังกฤษเข้าร่วมรบในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)*] ในอัตรา ๗ เพนนีต่อ ๑ ปอนด์โดยเป็นมาตรการชั่วคราวมีอายุ ๕ ปี เพื่อทดแทนการลดภาษีสินค้าประเภทอาหารและวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ภายในไม่กี่ปี การคลังที่มีปัญหาขาดดุลเรื้อรังก็กลับมีภาวะเกินดุล การออกพระราชบัญญัติกฎบัตรธนาคาร ค.ศ. ๑๘๔๔ (Bank Charter Act of 1844) ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการออกธนบัตรกับปริมาณทองคำสำรองผูกพันกันใกล้ชิด ซึ่งช่วยวางพื้นฐานสำคัญให้แก่ระบบธนาคารและการเงินของสมัยวิกตอเรีย ความสำเร็จของมาตรการต่าง ๆ ที่พีลนำมาใช้กระดุ้นให้พีลเสนองบประมาณ ที่ใช้ระบบการค้าเสรีเป็นครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๘๔๕ มาตรการเก็บภาษีเงินได้ก็ขยายเวลาต่อไปอีก และมีการลดพิกัดอัตราภาษีมากขึ้นกว่าเดิม

 ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานนั้นกฎหมายสำคัญที่พีลผลักดันในช่วงรัฐบาลสมัยที่ ๒ ของเขา คือ พระราชบัญญัติเหมืองแร่ ค.ศ. ๑๘๔๒ (Mines Act of 1842) ซึ่งห้ามการจ้างเด็กและสตรีทำงานในเขตใต้ดินพระราชบัญญัติโรงงาน ค.ศ. ๑๘๔๔ (Factory Act 1844) ซึ่งมีผลกระทบต่อนักการอุตสาหกรรมมากกว่าชนชั้นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเสียงสนับสนุนหลักของพรรคอนุรักษนิยม เพราะกฎหมายนี่จำกัดจำนวนชั่วโมงที่เด็กและสตรีจะได้รับอนุญาตให้ทำงานในโรงงานและกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในการใช้เครื่องจักรผลิตงานอนึ่ง ใน ค.ศ. ๑๘๔๓ พีลตกเป็นเป้าหมายในแผนลอบสังหารของแดเนียล แมกนอตัน (Daniel M’Naghten) อาชญากรสติไม่สมประกอบซึ่งเป็นช่างไม้ชาวสกอตที่เฝ้าจับตาพีลเป็นเวลาหลายวันและคิดไปเองว่าตนตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกพวกทอรีกำจัด เรื่องจบลงด้วยการที่เอดเวิร์ด ดรัมมอนด์ (Edward Drummond) เลขานุการส่วนตัวของพีลถูกยิงแทนขณะที่เขากำลังเดินออกจากทำเนียบนายกรัฐมนตรี ที่ไวต์ฮอลล์การ์เดนส์ (Whitehall Gardens) กลับที่พักของเขาที่ถนนดาวนิง (Downing) โดยดรัมมอนด์ถูกยิงข้างหลัง ๑ นัด ๕ วันต่อมาดรัมมอนด์ก็เสียชีวิต คดีของแมกนอตันกลายเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมอันเนื่องมาจากความวิกลจริต (criminal insanity) สำหรับนักศึกษากฎหมายทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกาและประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law)

 บ้านเมืองกลับคืนสู่ความรุ่งโรจน์ ขบวนการชาร์ทิสต์ค่อย ๆ หมดพลังลง สันนิบาตต่อต้านกฎหมายข้าวหันไปใช้วิธีการเคลื่อนไหวในกรอบของกฎหมาย ในด้านต่างประเทศนโยบายที่มั่นคงแน่วแน่แต่ประนีประนอมก็ทำให้ความสัมพันธ์ กับฝรั่งเศสดีขึ้นการพิพาทเรื่องพรมแดนกับสหรัฐอเมริกาก็ได้ข้อยุติจากการทำงานของอะเล็กซานเดอร์ แบริง บารอนแอชเบอร์ตันที่ ๑ (Alexander Baring, 1ˢᵗ Baron Ashburton) ใน ค.ศ. ๑๘๔๒ และการทำสนธิสัญญาออริกอน ค.ศ. ๑๘๔๖ (Oregon Treaty of 1846) นโยบายแน่วแน่แต่ประนีประนอมก็นำมาใช้กับปัญหาไอร์แลนด์เช่นกันการรณรงค์เพิกถอนการผนวกไอร์แลนด์เข้ากับอังกฤษจึงได้ยุติลงใน ค.ศ. ๑๘๔๓ เมื่อโอคอนเนลล์ถูกไต่สวนข้อหา สมรู้ร่วมคิดในการจัดชุมนุมใหญ่ที่คลอนทาร์ฟ (Clontarf) เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการผนวกไอร์แลนด์เข้ากับอังกฤษ อังกฤษระบุว่าการจัดชุมนุมเป็นเรื่องผิดกฎหมายแต่โอคอนเนลล์ก็คงยืนกรานนอกจากนั้นพีลก็ได้คิดอ่านหามาตรการที่สร้างสรรค์มากขึ้นมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้เช่า และโครงการจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในไอร์แลนด์ก็ได้ออกเป็นกฎหมายใน ค.ศ. ๑๘๔๔

 อย่างไรก็ดี การที่พีลมีนโยบายอะลุ้มอล่วยต่อชาวไอริชมากขึ้นโดยเฉพาะการเพิ่มเงินช่วยให้แก่สามเณราลัยคาทอลิกที่เมืองเมย์นูท (Maynooth) จากปีละ ๙,๐๐๐ ปอนด์ เป็น ๒๖,๐๐๐ ปอนด์ ก็ก่อความขุ่นเคืองใจให้แก่ฝ่ายโปรเตสแตนต์อย่างมาก และทำให้เขามีปัญหากับสมาชิกในพรรค เมื่อเกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (Great Famine; Irish Famine)* ในไอร์แลนด์อันเนื่องมาจากโรคระบาดในมันฝรั่งก็ทำให้ความสัมพันธ์ของพีลักบสมาชิกพรรคเหล่านั้นถึงจุดแตกหักเพราะพีลเชื่อว่าการยกเลิกกฎหมายข้าวเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในไม่ช้าเพื่อบรรเทาปัญหาความอดอยากของชาวไอริช เขาได้รับรายงานว่าชาวไอริช ๓ ล้านคนที่ดำรงชีพด้วยมันฝรั่งเป็นหลักจะรอดจากการอดตายได้ก็ด้วยการนำเข้าข้าวราคาถูก จากนอกประเทศ พีลมีความเห็นคล้อยตามริชาร์ด คอบเดน (Richard Cobden) ที่กล่าวโจมตีกลุ่มผลประโยชน์เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรคอนุรักษนิยม และเชื่อว่าทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์จะก่อความหายนะตามมาอย่างแน่นอนการตัดสินใจของพีลใน ค.ศ. ๑๘๔๔ ที่บรรเทาทุกข์ชาวไอริชควบคู่ไปกับการดำเนินการยกเลิกกฎหมายข้าวที่ใช้มา ๓๐ ปี ก่อความแตกแยกในคณะรัฐมนตรีและในที่สุดพีลก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นพีลก็กลับคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้งเมื่อจอห์น รัสเซลล์ เอิร์ลรัสเซลล์ที่ ๑ (John Russell, 1ˢᵗ Earl Russell)* ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้นโยบายการค้าเสรีได้สำเร็จหลังจากการอภิปรายในสภาอย่างเผ็ดร้อนและกินเวลานานถึง ๕ เดือนในที่สุดร่างกฎหมายยกเลิกกฎหมายข้าวก็ผ่านสภาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๖ โดยที่สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมส่วนใหญ่คัดค้านแต่พีลอาศัยเสียงของพวกวิกและพวกหัวรุนแรงด้วยจึงสามารถผ่านกฎหมายได้คนทั่วไปที่เคยมองว่าพีลเป็นบุคคลเย่อหยิ่ง ถือตัวและไม่เห็นใจคนยากจนก็เปลี่ยนมาชมเชยพีลว่าเป็นผู้มอบขนมปังราคาถูกให้อย่างไรก็ดี มีนักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่าพีลเพียงแต่ยกเรื่องการเกิดทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์มาเป็นข้ออ้างในการยกเลิกกฎหมายข้าวเพราะพีลสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีมาตั้งแต่ทศวรรษ ๑๘๒๐ แล้ว

 ช่วงเวลาที่เหลือทางการเมือง พีลอุทิศตนสนับสนุนหลักการการค้าเสรีและการธำรงรัฐบาลพรรควิกของลอร์ดรัสเซลล์ไว้เพื่อป้องกันการมีรัฐบาลที่ใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีอีก แม้พีลจะเป็นผู้วางรากฐานของพรรคทอรีใหม่ที่เรียกว่าพรรคอนุรักษนิยม และผู้สนับสนุนเขาก็เรียกกันว่า พวกพีลไลต์ (Peelite) แต่ทัศนะทางการเมืองของเขาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก พีลถือว่ารัฐมนตรีเป็นช้ารับใช้แผ่นดินหาใช่กระบอกเสียงของกลุ่มหรือของพรรคไม่ เขาจึงกลายเป็นผู้ช่วยต่ออายุให้กับการมีรัฐบาลที่บริหารโดยชนชั้นสูงแบบมีรัฐสภาในยุคที่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วสภาพสังคมยังทุกข์ยากและมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นพีลเป็นผู้วางรากฐานคนสำคัญให้แก่ช่วงกลางของอังกฤษสมัยวิกตอเรียให้รุ่งโรจน์และมั่นคงโดยที่เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่รับรู้ พีลปราศรัยในสภาเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๐ โดยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของเฮนรี จอห์น เทมเพิล ไวส์เคานต์พัลเมอร์สตันที่ ๓ (Henry John Temple, 3ʳᵈ Viscount Palmerston)* และในวันรุ่งขึ้นเซอร์รอเบิร์ต พีลประสบอุบัติเหตุตกม้าที่เขาเพิ่งซื้อมาได้ไม่กี่เดือนซึ่งเป็นม้าที่ชอบโก่งหลังขณะที่เขากำลังขี่ขึ้นเนินคอนสติติวชัน (Constitution Hill) เพื่อตัดผ่านสวนสาธารณะไฮด์พาร์ก (Hyde Park) ม้าล้มทับตัวเขา อาการบาดเจ็บสาหัสทำให้เขาถึงแก่อสัญกรรมที่ไวต์ฮอลล์การ์เดนส์ กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๕๐ ขณะอายุ ๖๒ ปี นับเป็นการเสียชีวิตอย่างกะทันหันผู้คนจึงอาลัยกับการจากไปของเขามาก ศพของพีลฝังอยู่ที่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ที่เมืองเดรย์ตันบาสเซตต์ (Drayton Bassett) หลังจากนั้นจอร์จ แฮมิลตัน-กอร์ดอน เอิร์ล แห่งอาเบอร์ดีนที่ ๔ (George Hamilton-Gordon, 4ᵗʰ Earl of Aberdeen)* และวิลเลียม แกลดสโตนนำกลุ่มพีลไลต์ไปร่วมมือกับสมาชิกพรรควิกจัดตั้งพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ขึ้น

 ในด้านชีวิตส่วนตัวนั้นพีลสมรสกับจูเลีย ฟลอยด์ (Julia Floyd) บุตรสาวคนสุดท้องของนายพลเซอร์จอห์นฟลอยด์ บารอนเนตที่ ๑ (John Floyd, 1ˢᵗ Baronet) ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ เธอเกิดที่อินเดียเนื่องจากบิดาเคยไปประจำการที่นั่นทั้งสองพบกันที่ไอร์แลนด์ขณะที่พีลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการไอร์แลนด์ ส่วนบิดาของฟลอยด์เป็นรองผู้บัญชาการทหารในไอร์แลนด์ ทั้งคู่มีบุตรชาย ๕ คนและ บุตรสาว ๒ คนเลดีพีลเป็นผู้คอยสนับสนุนสามีแต่ไม่สนใจการเมืองหรือชื่นชอบกับการเป็นเจ้าภาพเลี้ยงดูแขกเหรื่อในวงสังคม เมื่ออายุมากขึ้นเธอก็ยิ่งเป็นคนที่หวาดวิตกง่ายและอารมณ์ไม่คงที่นัก ชีวิตของเธอมุ่งอยู่แต่กับสามีและบุตรทั้ง ๗ คนดังนั้นเมื่อพีลถึงแก่อสัญกรรม เธอจึงเศร้าโศกมากและดำรงชีวิตอย่างเงียบ ๆ จนเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๕๙ บุตรชายที่มีความโดดเด่นจำนวน ๔ คนได้แก่ เซอร์รอเบิร์ต พีล บารอนเนตที่ ๓ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอร์แลนด์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๕ เซอร์เฟรเดอริก พีล (Frederick Peel) บุตรชายคนรองเป็นนักการเมืองและกรรมาธิการการรถไฟ เซอร์วิลเลียม พีล (William Peel) บุตรชายคนที่ ๓ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนวิกตอเรีย (Victoria Cross) เซอร์อาเทอร์ เวลสลีย์ พีล (Arthur Wellesley Peel) บุตรชายคนที่ ๕ เป็นประธานสภาสามัญและได้รับการสถาปนาเป็นไวส์เคานต์พีลใน ค.ศ. ๑๘๙๕ นอกจากนี้ จูเลีย บุตรสาวสมรสกับเอิร์ลแห่งเจอร์ชีที่ ๖ (6ᵗʰ Earl of Jersey) ผู้ถือบรรดาศักดิ์บารอนเนตพีลสายตรงมีทั้งสิ้น ๖ คนทั้งหมดใช้ชื่อว่า เซอร์รอเบิร์ต พีล จนกระทั้งผู้สืบสายตรงสิ้นสายลงใน ค.ศ. ๑๙๔๒ จากนั้นบรรดาศักดิ์ ได้มอบสู่สมาชิกสายรอง.



คำตั้ง
Peel, Sir Robert
คำเทียบ
เซอร์รอเบิร์ต พีล
คำสำคัญ
- กฎหมายข้าว
- กฎหมายจารีตประเพณี
- กฎหมายทดสอบการเป็นโปรเตสแตนต์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางราชการ
- กฎหมายสงเคราะห์คนจน
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- เขตเลือกตั้งเน่า
- แคนนิง, จอร์จ
- ดรัมมอนด์, เอดเวิร์ด
- ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่
- นิกายแองกลิคัน
- เบนทัม, เจเรมี
- พรรคทอรี
- พรรควิก
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติกฎบัตรธนาคาร ค.ศ. ๑๘๔๔
- พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายสงเคราะห์คนจน
- พระราชบัญญัติจาเมกา
- พระราชบัญญัติเทศบาล
- พระราชบัญญัติโรงงาน ค.ศ. ๑๘๔๔
- พระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก
- พระราชบัญญัติเหมืองแร่ ค.ศ. ๑๘๔๒
- พวกเบนทัมไมต์
- พวกพีลไลต์
- พวกอีแวนเจลิคัล
- พิตต์, วิลเลียม
- พีล, เซอร์เฟรเดอริก
- พีล, เซอร์รอเบิร์ต
- พีล, รอเบิร์ต
- เพอร์ซีวัล, สเปนเซอร์
- ฟอกซ์, ชาลส์ เจมส์
- ร่างกฎหมายว่าด้วยภาษีศาสนา
- ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- เวลสลีย์, เซอร์อาร์เทอร์
- สกอตแลนด์
- สงครามนโปเลียน
- สแตนลีย์, เอดเวิร์ด
- สนธิสัญญาออริกอน ค.ศ. ๑๘๔๖
- สภาสามัญ
- สมัยวิกตอเรีย
- โอคอนเนลล์, แดเนียล
- ฮาร์กรีฟส์, เจมส์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1788-1850
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๓๐-๒๓๙๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-