เจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิชเป็นรัฐบุรุษและนักการเมืองคนสำคัญของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เขาดำรงตำแหน่งที่สำคัญ คือ อัครมหาเสนาบดีระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๑-๑๘๔๘ และเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๔๘ เมื่อสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ใกล้สิ้นสุดลง และนานามหาอำนาจยุโรปได้จัดให้มีการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ขึ้นนั้น เขามีบทบาทสำคัญในฐานะ ประธานของที่ประชุมใหญ่และเป็นผู้วางกรอบความคิดในการฟื้นฟูยุโรปและนำระบอบการปกครองแบบเก่ากลับมาสู่ยุโรปอีก เมทเทอร์นิชเป็นพวกปฏิกิริยา (reactionary) ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านลัทธิเสรีนิยม (liberalism) ลัทธิชาตินิยม (nationalism) และการปฏิวัติหรือการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมในรูปแบบต่าง ๆ บทบาทในฐานะเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศทำให้เขามีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมในนานาประเทศในยุโรป โดยเฉพาะดินแดนที่อยู่ในการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* เมทเทอร์นิชเป็นนักการทูตที่อยู่ในตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยาวนานที่สุดและมากกว่านักการทูตใด ๆ ในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ช่วงระยะเวลาในประวัติศาสตร์ยุโรปที่เขามีบทบาทและอิทธิพลในเวทีการทูตระหว่างการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาจนถึงการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ที่เขาหมดอำนาจจึงเรียกกันว่า "สมัยเมทเทอร์นิช" (The Age of Metternich)
เมทเทอร์นิชมีนามเต็มว่า เคลเมนส์ เวนเซิล เนโพมุค โลทาร์, เจ้าชายแห่งเมทเทอร์นิช (Klemens Wenzel Nepomuk Lothar, Fürst von Mettenich) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๗๓ ณ เมืองโคเบลนซ์ (Coblenz) ในรัฐเทรียร์ (Trier) จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* หรือดินแดนเยอรมัน ซึ่งเป็นเขตปกครองของอาร์ชบิชอปแห่งเทรียร์ (Archbishop of Trier) หนึ่งในคณะผู้เลือกตั้ง (Elector) องค์จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เขาเป็นบุตรของฟรันซ์ เกออร์ก คาร์ล กราฟ ฟอน เมทเทอร์นิช-วินเนบูร์ก (Franz, Georg Karl, Graf von Metternich-Winneburg) และเบอาทริกซ์ แกรฟิน คาเกเนกก์ (Beatrix, Gräfin Kagenegg) บิดามาจากตระกูลขุนนางชั้นผู้น้อยในแคว้นเวสต์ฟาเลีย (Westphalia) ขณะที่เมทเทอร์นิชถือกำเนิดนั้นบิดามีฐานะเป็นทูตออสเตรียประจำใน "เขตของคณะผู้เลือกตั้งแถบแม่น้ำไรน์" (Electoral Rhinish Circle) ในเยาว์วัย เมทเทอร์นิชจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเขตไรน์-โมเซลล์ (Rhine-Moselle) ซึ่งทำให้เขามีความผูกพันกับท้องถิ่นนี้มาก เมทเทอร์นิชได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากครูพิเศษที่ครอบครัวจัดหาให้มาสอนที่บ้าน ใน ค.ศ. ๑๗๘๘ ขณะมีอายุ ๑๕ ปี เมทเทอร์นิชและโจเซฟ (Joseph) น้องชายก็เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชตรัสบูร์ก (Strasbourg) โดยเขาเลือกศึกษาวิชาการทูต ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ เมทเทอร์นิชได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่สำคัญในฐานะชนชั้นขุนนางเป็นครั้งแรก โดยร่วมเดินทางไปกับบิดาในขบวนรถม้า ๙๘ คันเป็นผู้แทนของชนชั้นสูงของแคว้นเวสต์ฟาเลียในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๒ (Leopold II ค.ศ. ๑๗๙๐-๑๗๙๒)* ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ณ เมืองฟรังค์ฟูร์ทอัมไมน์ (Frankfurt am Main)
เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* แพร่อิทธิพลไปยังดินแดนอื่น ๆ และเกิดความรุนแรงในเมืองชตรัสบูร์ก บิดาจึงพาครอบครัวหลบออกจากเมือง ส่วนเมทเทอร์นิชก็เดินทางไปศึกษาต่อที่เมืองไมนซ์ (Mainz) และเป็นศิษย์ของนีโคเลาส์ฟอกท์ (Nikolaus Vogt) นักประวัติศาสตร์กฎหมายที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น ระหว่างที่อาศัยอยู่ ณ เมืองไมนซ์นั้น เมทเทอร์นิชมีโอกาสเดินทางติดตามบิดาไปยังกรุงบรัสเซลส์ (Brussels) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในปกครองของเนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย (Austrian Netherlands) โดยบิดาได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารที่นั่น ในต้น ค.ศ. ๑๗๙๔ เขายังได้ร่วมเดินทางไปกับคณะทูตไปยังอังกฤษ ซึ่งเขาได้จัดพิมพ์เอกสารขนาดเล็กเพื่อเรียกร้องให้ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ใน อังกฤษจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกองทัพฝรั่งเศส รวมทั้งเขียนจุลสารบรรยายอย่างเจ็บปวดกับการปลงพระชนม์สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie-Antoinette)* แห่งฝรั่งเศสซึ่งทรงเป็นพระปิตุจฉา (อา) ของจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ (Francis II ค.ศ. ๑๗๙๐-๑๘๐๖)* แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ [ต่อมาเฉลิมพระนามจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๓๕)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย] ต่อมาในปลายปีเดียวกันนั้นเมื่อฝรั่งเศสยกพลบุกเมืองไมนซ์และยึดทรัพย์สมบัติและที่ดินจำนวน ๑๙๔ ตารางกิโลเมตร ที่ทำรายได้ให้แก่ครอบครัวปีละ ๒๕,๐๐๐ ปอนด์ เมทเทอร์นิชก็หนีไปสมทบกับบิดาและครอบครัวที่กรุงเวียนนา นครหลวงของออสเตรีย ความหายนะที่ต้องเผชิญจากผลการปฏิวัติจึงฝากรอยแผลไว้ในความทรงจำ และทำให้เขาต่อต้านการปฏิวัติทุกรูปแบบ
ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ เมทเทอร์นิชได้สมรสกับเอลินอร์ แกรฟิน เคานิทซ์ (Eleanore, Grafin Kaunitz) สตรีสูงศักดิ์ผู้อยู่ในวงสังคมชั้นสูงของกรุงเวียนนา เธอเป็นหลานสาวและทายาทของเวนเซิล อันทอน ฟอน เคานิทซ์ (Wenzel Anton von Kaunitz) อดีตอัครเสนาบดีแห่งออสเตรียซึ่งเพิ่งถึงแก่อสัญกรรมไม่นานการสมรสนี้นอกจากจะทำให้เมทเทอร์นิชมีฐานะมั่งคั่งขึ้นจากมรดกที่ภริยาได้รับแล้ว ยังทำให้เขาเป็นที่ยอมรับในหมู่ขุนนางระดับสูงและราชสำนักออสเตรียและเปิดโอกาสให้เขาได้รับตำแหน่งระดับสูงในราชการที่เป็นที่ใฝ่ฝันของเขาด้วย ใน ค.ศ. ๑๗๙๗ เมทเทอร์นิชได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนของกลุ่มขุนนางในการประชุมใหญ่แห่งราชตัทท์ (Congress of Rastatt) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๑ และ ๑๘๐๓ ราชสำนักเวียนนาแต่งตั้งเขาเป็นเอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักรแซกโซนี (Saxony) และราชอาณาจักรปรัสเซีย (Prussia) ตามลำดับ ขณะที่พำนักในกรุงเบอร์ลิน เมทเทอร์นิชได้รับคำสั่งจากรัฐบาลออสเตรียให้พยายามผูกไมตรีกับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสให้มากที่สุด ซึ่งเขาก็ใช้ทักษะทางการทูตจนสามารถทำให้เอกอัครราชทูตชื่นชมและไว้วางใจในตัวเขา ในเวลาไม่ช้าความเป็นมิตรกับฝรั่งเศสดังกล่าวก็ทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ทรงเสนอแนะให้ราชสำนักออสเตรียส่งเมทเทอร์นิชไปเป็นเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำฝรั่งเศส
ณ ราชสำนักตุยเลอรี (Tuileries) เมทเทอร์นิชได้เข้าไปตีสนิทกับเจ้าหญิงคาโรลีน มูรา (Caroline Murat) พระขนิษฐาองค์เล็กในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และบรรดาสตรีชั้นสูงของกรุงปารีส รวมทั้งชาร์ล โมรีซ เดอ ตาเลอรอง (Charles Maurice de Talleyrand)* เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส และปีเตอร์ อะเล็กซานโดรวิช ตอลสตอย (Peter Alexandrovich Tolstoi) เอกอัครราชทูตรัสเซีย เพื่อสืบความลับและรายงานความเคลื่อนไหวภายในของฝรั่งเศสแก่ออสเตรีย เมื่อเกิดการลุกฮือในสเปนเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๐๘ รายงานของเมทเทอร์นิชมีส่วนสำคัญที่ทำให้ออสเตรียตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ ทางการทูตและประกาศสงครามกับฝรั่งเศสในต้น ค.ศ. ๑๘๐๙ ส่วนเมทเทอร์นิชก็ถูกฝรั่งเศสควบคุมตัวไว้ระยะหนึ่งก่อนที่จะปล่อยตัวเขาเพื่อแลกเปลี่ยนกับนักการทูตฝรั่งเศสที่ถูกออสเตรียจับตัวไว้
หลังออสเตรียประสบความพ่ายแพ้ในสงครามกับฝรั่งเศสอย่างยับเยินในยุทธการที่เมืองวากราม (Battle of Wagram) ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ และต้องทำสนธิสัญญาเชินบรุนน์ (Treaty of Schönbrunn) ออสเตรียถูกบังคับให้เป็นประเทศพันธมิตรกับฝรั่งเศส จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ ทรงต้องพยายามปรับท่าทีและการดำเนินนโยบายทางการทูตใหม่กับฝรั่งเศส ทรงสั่งปลดโยฮันน์ ฟิลิปป์, กราฟ ฟอน ชตาดีโอน (Johann Philipp, Graf von Stadion) ผู้เกลียดชังฝรั่งเศสออกจากตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและทรงแต่งตั้งให้เมทเทอร์นิชขึ้นรับตำแหน่งแทน เมทเทอร์นิชจึงดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันเขาก็รอโอกาสที่จะแก้แค้นต่อไป ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ เมทเทอร์นิชเห็นเป็นโอกาสที่จะให้ออสเตรียสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับฝรั่งเศส โดยเขาสามารถโน้มน้าวใหจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ ยินยอมพระราชทานอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ (Marie Louis)* พระราชธิดาองค์โตให้อภิเษกสมรสกับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งในขณะนั้นทรงต้องการจะสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับราชวงศ์ออสเตรีย (House of Austria) หรือราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่เก่าแก่ของยุโรปเพื่อให้องค์รัชทายาทของ ราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* ที่จะประสูติต่อไปในอนาคตเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เมทเทอร์นิชเองก็ได้เข้าร่วมขบวนเสด็จของอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ไปยังฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๐ ด้วย การอภิเษกสมรสดังกล่าวนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึง "ความประนีประนอมระหว่างออสเตรียกับฝรั่งเศส" แล้ว ยังนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความมั่นคงของออสเตรียเพราะทำให้ออสเตรียรอดพ้นจากการถูกรวมเข้าเป็นสมาชิกของสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๐๖ และอยู่ใต้อารักขาของพระองค์ รวมทั้งไม่ต้องตกเป็นรัฐบริวาร (client state) ในระบบนโปเลียน (Napoleonic System) อีกด้วย จึงนับว่าเป็นความสามารถของเมทเทอร์นิชที่ทำให้ออสเตรียสามารถดำรงอำนาจอธิปไตยได้ต่อไปอีก
อย่างไรก็ดี แม้ว่าใน ค.ศ. ๑๘๑๑ อาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์หรือพระอิสริยยศใหม่ "จักรพรรดินีมารีหลุยส์" จะประสูติเจ้าชายฟรองซัว ชาร์ล โชแซฟ โบนาปาร์ต (Francois Charles Joseph Bonaparte) องค์รัชทายาทของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* ที่ทรงมีสายพระโลหิตครึ่งหนึ่งของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก แต่เมทเทอร์นิชก็ยังคงไม่ไว้วางใจฝรั่งเศสที่จะก่อสงครามขึ้นอีกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของออสเตรีย โดยเฉพาะสงครามกับรัสเซียดังนั้น เขาจึงพยายามดำเนินนโยบายทางการทูตที่เป็นมิตรทั้งกับฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายรัสเซีย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๒ เมทเทอร์นิชสามารถโน้มน้าวให้ฝรั่งเศสอนุญาตให้ออสเตรียจัดตั้งกองกำลังทหารช่วยรบของออสเตรีย (Austrian Auxiliary Corps) จำนวน ๓๐,๐๐๐ คน เพื่อร่วมสนับสนุนกองทัพฝรั่งเศสในกรณีที่ต้องทำสงครามกับรัสเซีย ขณะเดียวกัน เขาก็ได้ทำสัญญาลับกับปรัสเซียที่จะผนึกกำลังร่วมกันเพื่อต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และกองทัพฝรั่งเศสเมื่อโอกาสมาถึง
ใน ค.ศ. ๑๘๑๒ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงก่อสงครามกับรัสเซียนั้น เมทเทอร์นิชได้ส่งกองทัพออสเตรียเข้าร่วมกับกองทัพฝรั่งเศสด้วย แต่หลังจากกองทัพฝรั่งเศสถูกโจมตีแบบจรยุทธ์จากกองกำลังรัสเซียขณะเดินทัพกลับ จนทหารฝรั่งเศสจำนวนมากเสียชีวิตหรือถูกจับกุม ซึ่งทำให้กองทัพฝรั่งเศสอ่อนแอลง เมทเทอร์นิชจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะเอาใจออกห่างจากฝรั่งเศสและดำเนินนโยบายเป็นกลาง ขณะเดียวกันออสเตรียก็เริ่มติดอาวุธกองทัพอย่างลับ ๆ เพื่อเข้าสู่สงครามและทำลายอำนาจของฝรั่งเศส การแปรพักตร์ของเมทเทอร์นิชต่อฝรั่งเศสเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเขาเดินทางไปเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เป็นการส่วนตัว ณ พระราชวังมาร์โคลีนี (Marcolini) ในเมืองเดรสเดิน (Dresden) เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๓ และ พยายามเจรจาโน้มน้าวเป็นเวลากว่า ๑๐ ชั่วโมงให้พระองค์ยุติสงคราม อีกทั้งยังประกาศว่าออสเตรียมี "อิสระจากข้อผูกมัดทั้งปวง" ในวันต่อมา หลังจากที่ผิดหวังที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ไม่สนใจในแผนสันติภาพของเขาที่ต้องการดำรงจักรวรรดิฝรั่งเศสต่อไปเพื่อสร้าง ดุลอำนาจกับจักรวรรดิรัสเซีย เมทเทอร์นิชก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาไรเชนบัค (Treaty of Reichenback) กับรัสเซียและปรัสเซีย เพื่อค้ำประกันว่าออสเตรียจะส่งกองกำลังจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ คน เข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายพันธมิตรในกรณีที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ยังคงดำเนินสงครามต่อไป บทบาทของเมทเทอร์นิชในฐานะผู้นำประเทศทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร รวมทั้งนักการทูตได้โดดเด่นมากยิ่งขึ้นเมื่อออสเตรียได้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ เขามีส่วนสำคัญในการวางแผนการรบในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (The Fourth Coalition) จนสามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสได้ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ หรือ ๓ วันหลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงปราชัยอย่างย่อยยับในยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก (Battle of Leipzig) เมทเทอร์นิชก็ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งจักรวรรดิออสเตรียตามฐานันดรศักดิ์และสิทธิของผู้สืบสายโลหิตของบิดาที่ได้รับอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งราชรัฐวินเนบูร์ก (Principality of Winneburg) ในสวาเบีย (Swabia) ใน ค.ศ. ๑๘๐๓ เพื่อแลกกับการสูญเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๑๔ เมื่อฝรั่งเศสปราชัยในสงครามนโปเลียนและจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ต้องยอมลงพระนามสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตรในสนธิสัญญาฟงแตนโบล (Treaty of Fontainebleau) เมทเทอร์นิชได้เป็นแกนนำในการจัดการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาขึ้นตามข้อตกลงในสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๑ (First Treaty of Paris) ที่ประเทศมหาอำนาจได้ร่วมกันทำสนธิสัญญาสันติภาพกับฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ เมทเทอร์นิชซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของการประชุมได้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากในการวางกรอบความคิดให้กับที่ ประชุม เขาเป็นผู้นำกลุ่มปฏิกิริยาที่ต่อต้านแนวคิดหรือลัทธิทางการเมืองที่กำลังแพร่หลายในขณะนั้น ได้แก่ ลัทธิชาตินิยมและลัทธิเสรีนิยมรวมทั้งการก่อกบฏและการปฏิวัติต่าง ๆ นอกจากนี้ เขายังเป็นพวกที่สนับสนุนแนวความคิดของเอดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke)* นักคิดและนักการเมืองชาวอังกฤษในการต่อต้านการปฏิวัติและอุดมการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ เมทเทอร์นิชจึงเน้นการหาแนวทางสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศต่าง ๆ ของยุโรปและวิธีการที่จะสกัดกั้นและต่อต้านการปฏิวัติ ที่ประชุมจึงเห็นชอบกับหลักการ ๔ ข้อของเมทเทอร์นิช อันได้แก่ หลักแห่งความชอบธรรม (Principle of Legitimacy) หลักการสร้างดุลอำนาจ (Principle of Balance of Power) หลักการปิดล้อม (Principle of Containment) ที่ทำให้ ประเทศที่รายล้อมฝรั่งเศสเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เข้มแข็ง และหลักการชดเชยค่าเสียหาย (Principle of Compensation) เพื่อใช้เป็นกรอบกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสร้างเสถียรภาพและสันติภาพให้แก่ยุโรป
ด้วยหลักการดังกล่าวข้างต้น เมทเทอร์นิชสามารถทำให้ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนามีมติฟื้นฟูราชวงศ์เดิมหรือกษัตริย์/ประมุขที่มีสิทธิอันชอบธรรมให้กลับมาครองราชย์หรือปกครองดังเดิม สำหรับเมทเทอร์นิชนั้น รูปแบบของรัฐบาลที่ดีคือการมีสถาบันกษัตริย์ทำหน้าที่บริหารปกครองประเทศ โดยมีคณะที่ปรึกษาร่วมเสนอความคิดเห็นและให้การปรึกษาชี้แนะที่ดี นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ที่ประชุมมีมติห้ามราชวงศ์โบนาปาร์ตกลับมาครองราชย์ในฝรั่งเศสหรือดินแดนอื่น ๆ ในยุโรปอย่างเด็ดขาดราชวงศ์เดิมหรือผู้ปกครองเดิมที่ต้องสูญเสียอำนาจไป เนื่องจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในสมัยนโปเลียนก็ให้กลับไปปกครองประเทศหรือนครรัฐดังเดิม เช่น ราชอาณาจักรฝรั่งเศส สเปน ปีดมอนต์ (Piedmont) และรัฐสันตะปาปา (Papal States) ส่วนออสเตรียซึ่งสูญเสียเบลเยียมหรือเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียให้แก่ฮอลแลนด์ก็ได้รับทิโรล (Tyrol) มณฑลอิลลิเรีย (Illyria) ดัลเมเชีย (Dalmatia) ลอมบาร์ดี (Lombardy) วินีเชีย (Venetia) และซาลซ์บูรก์ (Salzburg) เป็นการตอบแทนนอกจากนี้ ออสเตรียยังครองความเป็นใหญ่ในอิตาลีมากยิ่งขึ้นเพราะได้รับแกรนด์ดัชชีทัสกานี (Grand Duchy of Tuscany) รวมทั้งมีอิทธิพลในดัชชีปาร์มา (Duchy of Parma) และโมเดนา (Modena) ที่อยู่ในปกครองโดยตรงของอดีตจักรพรรดินีมาเรีย หลุยส์ซึ่งเป็นสมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูรก์ของออสเตรียอีกด้วยและนับว่าข้อตกลงของที่ประชุมใหญ่เป็นการสวนกระแสที่ประชาชนในดินแดนต่าง ๆ ในขณะนั้นพากันเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการปกครองหรือกรณีของดินแดนอิตาลีที่ชาวอิตาลีต้องการขจัดอิทธิพลของต่างชาติและรวมชาติอิตาลีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นอกจากนี้ เมทเทอร์นิชสามารถทำให้ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนามีมติยุบสมาพันธรัฐแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์และสถาปนาสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)* ขึ้นแทน ซึ่งประกอบด้วยรัฐเยอรมันและเสรีนครรวม ๓๙ แห่ง (รวมออสเตรียด้วย) แม้จะเป็นการรวมตัวทางการเมืองอย่างหลวม ๆ แต่เมทเทอร์นิชก็ใช้ชั้นเชิงทางการทูตทำให้ออสเตรียมีฐานะเป็นผู้นำสูงสุดของสมาพันธรัฐเยอรมันด้วย จึงเท่ากับทำให้บทบาทของออสเตรียและประมุขของราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่เคยมีในสมัยที่ยังเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แต่ต้องสลายตัวไปหลังการจัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ยังคงมีความสำคัญในดินแดนเยอรมันต่อไป ทั้งพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ (Frederick William III ค.ศ. ๑๗๙๗-๑๘๔๐)* แห่งราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* ของปรัสเซียยังทรงร่วมมือและดำเนินนโยบายอนุรักษนิยมตามแนวทางของเมทเทอร์นิชอีกด้วย ทรงละทิ้งนโยบายการแข่งขันกับออสเตรียของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๒ มหาราช (Frederick II the Great ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๘๖) พระอัยกา ในทางตรงกันข้าม พระองค์ทรงยอมรับบทบาทของออสเตรียในเยอรมันหลัง ค.ศ. ๑๘๑๕ พระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๓ จึงทรงพอพระทัยที่จะจำกัดบทบาทของปรัสเซียในฐานะรัฐผู้นำอันดับ ๒ ดินแดนในเยอรมันและร่วมมือกับเมทเทอร์นิชในการปราบปรามขบวนการเสรีนิยมและชาตินิยมในดินแดนต่าง ๆ ทั้งยุโรปในทศวรรษ ๑๘๒๐ และทศวรรษ ๑๘๓๐ นอกจากนี้ยังทรงทำให้ปรัสเซียเป็นศูนย์กลางของฝ่ายปฏิกิริยาขวาจัดเช่นเดียวกับออสเตรียอีกด้วยพระเกียรติยศของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นเป็นรองราชวงศ์ฮับส์บูร์กมากยิ่งขึ้นในสมัยพระเจ้าเฟรเดอริกวิลเลียมที่ ๔ (Frederick William IV ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๖๑)* โดยพระองค์ทรงยอมรับโดยดุษณีในอำนาจสูงสุดของราชวงศ์ฮับส์บูร์กตั้งแต่ยังทรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ทรงมีทัศนะว่ากษัตริย์ปรัสเซียควรมี บทบาทในด้านการทหารในฐานะจอมทัพ (Archgeneral) แห่งจักรวรรดิออสเตรียเท่านั้น นับว่าการดำเนินนโยบายของเมทเทอร์นิชในการสร้างระบบเมทเทอร์นิช (Metternich System)ที่ เป็นการปกครองในระบบเก่า (Ancient Regime) ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง
เมทเทอร์นิชยังมีบทบาทสำคัญร่วมกับอังกฤษในการทำสนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคี (Quadruple Alliance) กับรัสเซียและปรัสเซียขึ้นในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มหาอำนาจยุโรปร่วมกันทำสนธิสัญญาปารีสฉบับที่ ๒ (Second Treaty of Paris) หลังจากเหตุการณ์ในสมัยร้อยวัน (Hundred Days ๒๐ มีนาคม-๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕)* ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จหนีออกจากเกาะเอลบา (Elba) และก่อให้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับนานามหาอำนาจยุโรปอีก สนธิสัญญาพันธไมตรีจตุรภาคีดังกล่าวได้นำไปสู่ความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* หรือเรียกกันว่า ระบบการประชุมใหญ่ (Congress System) ในเวลาต่อมาโดยมีฝรั่งเศสเข้าร่วมด้วยซึ่งมีหลักการให้ประเทศภาคีสนธิสัญญามาประชุมแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อรักษาดุลอำนาจทางการเมืองและดำรงสันติภาพในยุโรปและเมทเทอร์นิชก็มีบทบาทเด่นในการประชุมใหญ่ดังกล่าว ซึ่งได้แก่ การประชุมใหญ่ที่แอกซ์-ลา-ชาแปล (Aix-la-Chapelle ค.ศ. ๑๘๑๘)๑ เพื่อพิจารณาตกลงเรื่องสถานภาพของฝรั่งเศสและตกลงให้ฝรั่งเศสเข้าเป็นสมาชิกได้ เกิดเป็นสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี (Quintuple Alliance) ที่ทรอพเพา (Troppau ค.ศ. ๑๘๒๐) เพื่อพิจารณาปัญหาการปฏิวัติในสเปน โปรตุเกส ปีดมอนต์และเนเปิลส์ โดยรัสเซีย ออสเตรีย และปรัสเซียต่างยืนยันไม่ยอมรับสิทธิของประชาชนที่จะจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์และจะร่วมมือกันทำสงครามต่อต้านการปฏิวัติทุกแห่งเพื่อรักษาประโยชน์ของกษัตริย์ที่ ไลบัค (Laibach ค.ศ. ๑๘๒๑) ที่ประชุมยืนยันในนโยบายการปราบปรามการปฏิวัติและให้ประเทศสมาชิกช่วยปราบปรามการปฏิวัติในปีดมอนต์และเนเปิลส์ทั้งยังกระตุ้นให้ประเทศมหาอำนาจที่เป็นสมาชิกเห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันเพื่อนำรัฐเหล่านั้นกลับมาปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ว่าจะโดยใช้กำลังหรือสันติวิธี ที่ประชุมยังมีมติให้ออสเตรียส่งกองทัพไปปราบปรามกบฏที่เนเปิลส์ได้ ที่เวโรนา (Verona ค.ศ. ๑๘๒๒) เพื่อพิจารณาปัญหาการพยายามแยกตัวของกรีซออกจากจักรวรรดิออตโตมันหรือตุรกีและปัญหาของพวกเสรีนิยมในสเปน และครั้งสุดท้ายที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg ค.ศ. ๑๘๒๔) เพื่อพิจารณาเรื่องกบฏของชาวกรีกต่อ แต่เมทเทอร์นิชไม่เห็นด้วยที่รัสเซียจะส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลือกรีซเพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้รัสเซียขยาย อำนาจเข้าไปในคาบสมุทรบอลข่าน ความขัดแย้งดังกล่าวและอื่น ๆ ทำให้ประเทศมหาอำนาจไม่ได้จัดการประชุมขึ้นอีก นอกจากนี้ ในเวลาต่อมาแม้ความร่วมมือแห่งยุโรปสิ้นสุดลงโดยปริยายใน ค.ศ. ๑๘๒๕ เพราะอังกฤษไม่พอใจที่เห็นประเทศภาคีสมาชิกเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ และถอนตัวออก แต่เมทเทอร์นิชก็สามารถใช้ประโยชน์ของที่ประชุมใหญ่เป็นเครื่องมือในการปราบปรามการปฏิวัติต่าง ๆ เพื่อยับยั้งการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมและลัทธิเสรีนิยม ขณะเดียวกันก็ยังสามารถคงความร่วมมือระหว่างออสเตรียกับปรัสเซียและรัสเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านไว้ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองของเขาเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ประเทศและชนชั้นผู้นำที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมและปฏิกิริยา และทำให้ช่วงระยะเวลาการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ค.ศ. ๑๘๑๕ ถึงการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ที่เขามีบทบาททางการทูตและดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรียอย่างต่อเนื่องถูกขนานนามว่า "สมัยเมทเทอร์นิช" อีกด้วย
นอกจากการใช้ระบบการประชุมใหญ่เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ แล้วในสหพันธรัฐเยอรมัน เมทเทอร์นิชก็เป็นผู้นำในการรณรงค์เพื่อควบคุมกิจกรรมด้านการเมืองของพวกชาตินิยมและเสรีนิยม ใน ค.ศ. ๑๘๑๗ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๓๐๐ ปีของการประกาศข้อโต้แย้ง ๙๕ ประการ (95 Theses) ของมาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) ที่นำไปสู่การปฏิรูปศาสนา (Reformation) และการจัดตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ ในเวลาต่อมา เมื่อเหตุการณ์ขยายผลเป็นความรุนแรงโดยคาร์ล ลุดวิก ซันด์ (Karl Ludwig Sand) นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเยนา (Jena) ลอบสังหารเอากุสท์ ฟอน คอทเซบู (August von Kotzebue) นักเขียนบทละครที่เขียนหนังสือต่อต้านลัทธิเสรีนิยมเมทเทอร์นิชจึงเห็นเป็นโอกาสผลักดันให้มีการประชุมลับที่เมืองคาร์ลสบัด (Carlsbad) ขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๙ โดยมีเสนาบดีจากรัฐใหญ่ ๑๑ รัฐของสมาพันธรัฐเยอรมันเข้าร่วมประชุม อันเป็นที่มาของกฤษฎีกาคาร์ลสบัด (Carlsbad Decrees)* ซึ่งวางมาตรการเข้มงวดในการควบคุมสิ่งตีพิมพ์และการสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วทั้งสมาพันธรัฐเยอรมัน การประกาศใช้กฤษฎีกาคาร์ลสบัดมีผลทำให้อาจารย์จำนวนมากถูกปลดออกจากตำแหน่งในข้อหาโฆษณาเผยแพร่ความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐองค์กรนักศึกษาเยอรมันในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือบูร์เชนชาฟท์ (Burschenschaft)* ก็ถูกสั่งยุบ และพวกที่มีแนวคิดเสรีนิยมถูกจับคุมขัง ดังนั้น การประกาศใช้กฤษฎีกาคาร์ลสบัดที่มีเมทเทอร์นิชเป็นผู้ชักใยจึงทำให้รัฐเยอรมันต่าง ๆ ต้องตกอยู่ใต้การครอบงำของออสเตรีย โดยเมทเทอร์นิชสามารถใช้สภาไดเอต (Federal Diet) เป็นเครื่องมือในการควบคุมบรรดารัฐในสมาพันธรัฐเยอรมันและกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ตลอดช่วงระยะเวลาที่เขามีอำนาจในออสเตรีย นอกจากนี้ เมทเทอร์นิชยังใช้ระบบสายลับ และโดยเฉพาะตำรวจลับในการติดตามข่าวสาร พฤติกรรมของพวกเสรีนิยมทั้งในดินแดนเยอรมันและดินแดนที่อยู่ในการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย มีการตรวจสอบเอกสารทุกประเภทไม่เว้นแม้แต่จดหมายของประชาชน มีการเซ็นเซอร์บทละคร กวีนิพนธ์ นวนิยาย หนังสือพิมพ์รวมทั้งภาพเขียนและบทเพลงด้วย ซึ่งสร้างความหวั่นไหวให้แก่ทุกคนจนออสเตรียได้ชื่อว่าเป็น "รัฐตำรวจ" (Police State)
ใน ค.ศ. ๑๘๒๑ เมทเทอร์นิชได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดี (chancellor) แห่งจักรวรรดิออสเตรียอีกตำแหน่งหนึ่งควบคู่กับการดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาเป็นบุคคลแรกที่ได้รับตำแหน่งอัครเสนาบดีนับแต่ตำแหน่งได้ว่างลงใน ค.ศ. ๑๘๙๔ เมื่ออัครเสนาบดีเคานต์เคาท์นิซ ปู่ของภริยา (คนแรก) ของเขาได้ถึงแก่อสัญกรรม อย่างไรก็ดี บทบาททางด้านการเมืองภายในออสเตรียของเมทเทอร์นิชได้ลดลงหลังจากฟรันซ์ อันทอน กราฟ คอลอวรัท (Franz Anton, Graf Kolowrat) ได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยและประธานที่ประชุมคณะเสนาบดีใน ค.ศ. ๑๘๒๖ เมทเทอร์นิชกับคอลอวรัทต่างเป็นคู่แข่งขันกันและมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ขณะที่เมทเทอร์นิชเป็นคนเจ้าระเบียบและเคารพในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดคอลอวรัทกลับเป็นคนยืดหยุ่นและไม่เห็นความสำคัญของกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ แต่เขาก็สามารถที่จะโน้มน้าวจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ ให้เห็นคล้อยตามเขาได้แทบทุกเรื่อง ดังนั้นเมื่อไม่สามารถจะประสานงานกับคอลอวรัทได้ นับแต่ปลายทศวรรษ ๑๘๒๐ เป็นต้นไปเมทเทอร์นิชก็มุ่งความสนใจไปในด้านการต่างประเทศ มากกว่าและมีบทบาทในการปราบปรามลัทธิเสรีนิยมและลัทธิชาตินิยมที่เฟื่องฟูในขณะนั้น รวมทั้งการรักษาความสงบและระงับการเคลื่อนไหวของชนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในปกครองของจักรวรรดิออสเตรียโดยเฉพาะฮังการีซึ่งเป็นรัฐใหญ่ในปกครองของออสเตรีย ลายอช คอชุท (Laijos Kosuth)* นักชาตินิยมฮังการีและนักหนังสือพิมพ์ได้ตั้งตัวเป็นผู้นำและเรียกร้องให้มี "การปลดปล่อยทางการเมือง" จากออสเตรีย เมทเทอร์นิชพยายามควบคุมคอชุทโดยการเสนอให้เขาทำงานให้แก่รัฐบาลแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และคอชุทก็ได้กลายเป็น "หอกข้างแคร่" ของเมทเทอร์นิช ท้ายที่สุดได้กลายเป็นสาเหตุของการก่อการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ของฮังการีและ ปัญญาชนออสเตรียต่อ "ระบบเมทเทอร์นิช" ที่เขาใช้เป็นนโยบายในการปกครองและการต่างประเทศเป็นเวลาเกือบ ๔ ทศวรรษ
การยึดมั่นในหลักการและเคร่งครัดกฎระเบียบทำให้เมทเทอร์นิชให้การสนับสนุนหลักการแห่งความชอบธรรมในการค้ำประกันสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของอาร์ชดุ๊กเฟอร์ดินานด์ (Archduke Ferdinand) พระราชโอรสองค์โตของจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ อย่างไร้เหตุผลโดยไม่พิจารณาว่าอาร์ชดุ๊กทรงมีพระสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปรกติอย่างมากและขาดคุณสมบัติพื้นฐานทั้งปวงในการปกครอง การขึ้นครองราชย์ของอาร์ชดุ๊กเฟอร์ดินานด์และเฉลิมพระอิสริยยศจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ (Ferdinand I ค.ศ. ๑๘๓๕-๑๘๔๘) ใน ค.ศ. ๑๘๓๕ ในภาวะที่ การเมืองทั้งภายในและภายนอกยังมีความตึงเครียด จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่ซึ่งประกอบด้วยชนเชื้อชาติต่าง ๆ จำนวนมาก สำหรับเมทเทอร์นิชเองแม้ว่าเขาจะได้รับแต่งตั้งเป็น ๑ ใน ๓ ของคณะผู้สำเร็จราชการ แต่บทบาทอำนาจและอิทธิพลของเขาก็ถูกลิดรอน โดยคอลอวรัทสามารถโน้มน้าวให้ผู้สำเร็จราชการอีก ๒ คนเข้าเป็นฝ่ายเขาและสนับสนุนแนวคิดและนโยบายต่าง ๆ ของเขา เมทเทอร์นิชจึงจำเป็นต้องจำกัดบทบาทของตนให้อยู่ในด้านการต่างประเทศต่อไป นอกจากนี้ ในฐานะอัครเสนาบดีเมทเทอร์นิชยังต้องรับผิดชอบต่อการประกาศใช้กฤษฎีกาฉบับต่าง ๆ ที่เสนอโดยคอลอวรัทและคณะเสนาบดีซึ่งเขาอาจมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งด้วย ดังนั้น ในปลายสมัยที่เขาเป็นอัครเสนาบดีของออสเตรีย เมทเทอร์นิชจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ข่มเหงและการปกครองแบบปฏิกริยาที่ทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังของชนใต้ปกครองโดยทั่วไป
เมื่อการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ปะทุขึ้นในฝรั่งเศสและขยายตัวไปยังฮังการี คอชุทเห็นเป็นโอกาสที่จะนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นประเด็นทางการเมืองและเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ในวันที่ ๓ มีนาคม คอชุทได้อภิปรายอย่างเฉียบแหลมในรัฐสภาฮังการีเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญให้แก่ฮังการี ยกเลิกระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปฏิรูปการคลังโดยให้ฮังการีมี ระบบการเงินที่เป็นอิสระจากออสเตรีย ให้ขุนนางเสียภาษี ยกเลิกธรรมเนียมและการตอบแทนด้วยแรงงานของชาวนา หรือการให้บริการของพวกทาสติดที่ดินตลอดจนเรียกร้องสิทธิทางการเมืองแก่ชนชั้นกลางและชาวนาที่อาศัยในเขตเมืองและอื่น ๆ ทั้งเสนอให้มีการกำจัด "ระบบที่ เน่าเฟะ" ของกรุงเวียนนาออกจากการควบคุมของฮังการี ได้มีการแปลข้อเรียกร้องดังกล่าวของ คอชุทจากภาษาแมกยาร์เป็นภาษาเยอรมันโดยทันทีและจัดพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วภาคตะวันตกของจักรวรรดิออสเตรีย ซึ่งประชาชนทั่วไปกำลังไม่พอใจรัฐบาลเป็นอันมาก ดังนั้นจึงก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน การปกครอง และระบบเศรษฐกิจ ยกเลิกการตรวจควบคุมหนังสือพิมพ์และสิ่งตีพิมพ์และให้มีการประชุมรัฐสภา ในที่สุด พวกปัญญาชนและนักศึกษาที่ไม่ พอใจระบบเมทเทอร์นิชและมีแนวคิดเสรีนิยมและชาตินิยมจึงได้รวมตัวกันก่อการจลาจลเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปต่าง ๆ เมื่อสถานการณ์บานปลายเป็นความรุนแรงและไม่อาจควบคุมได้ เมทเทอร์นิชจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งอัครเสนาบดีและเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งในตำแหน่งหลังนั้นเขาได้รับตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๐๙ นับเป็นการสิ้นสุดสมัยของเมทเทอร์นิชและระบบเมทเทอร์นิชที่แนวคิดในการปราบปรามลัทธิชาตินิยม ลัทธิเสรีนิยม และการปฏิวัติครอบงำนานาประเทศยุโรปเป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปี
เมทเทอร์นิชได้เดินทางไปลี้ภัยในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ หลังจากเหตุการณ์ในบ้านเมืองสงบลงเขาได้เดินทางกลับกรุงเวียนนาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๕๑ และใช้ชีวิตอย่างสงบโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรงอีก นอกจากการถวายคำปรึกษาแก่จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖)* จักรพรรดิพระองค์ใหม่เมื่อทรงมีพระราชประสงค์เท่านั้น ขณะเดียวกัน เขาก็ยังคงได้รับเกียรติจากสังคมชั้นสูงและมักมีอาคันตุกะจากต่างประเทศที่เป็นผู้มีตำแหน่งสูงในทางการเมืองและการปกครอง เช่น ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* แห่งปรัสเซีย กษัตริย์เบลเยียม รัสเซีย และพระราชวงศ์อังกฤษต่างมาเยี่ยมเยียนและสนทนากับเขา เมทเทอร์นิชถึงแก่อสัญกรรม ณ คฤหาสน์ในกรุงเวียนนา เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๕๙ ขณะที่ ออสเตรียกำลังติดพันในสงครามในคาบสมุทรอิตาลี รวมอายุ ๘๖ ปี
หลังจากเอลินอร์ แกรฟิน เคานิทซ์ ภริยาคนแรกซึ่งมีบุตรธิดาร่วมกัน ๗ คน เสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๒๕ เมทเทอร์นิชได้สมรสกับมารีอา อันโทนีอา บารอนเนส ฟอน ไลคัม (Maria Antonia Baroness von Leykam เสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๒๙) ใน ค.ศ. ๑๘๒๗ มีบุตรด้วยกัน ๑ คน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๑ กับเมลานี แกรฟิน ซีชือ-แฟร์ราริส (Melanie Gräfin Zichy-Ferraris) มีบุตร ธิดา ๓ คน โดยภริยาคนที่ ๓ ก็เสียชีวิตก่อนเขาใน ค.ศ. ๑๘๕๔ ริชาร์ด (Richard) บุตรชายที่ เกิดจากภริยาคนที่ ๒ ซึ่งสืบทอดฐานันดรศักดิ์เจ้าชายแห่งเมทเทอร์นิชได้เดินตามรอยบิดาและเป็นนักการทูตคนสำคัญของยุโรป เขาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๙-๑๘๗๐ และได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ และจดหมายส่วนตัวของ เมทเทอร์นิชและเขียนหนังสือชีวประวัติของเมทเทอร์นิชจำนวน ๘ เล่มและเผยแพร่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๐-๑๘๘