Marie-Antoinette (1755-1793)

สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (๒๒๙๘-๒๓๓๖)

​​​​​​

     สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต ในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๗๙๒)* เป็นสมเด็จพระราชินีของฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ทรงตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความฟุ่มเฟือยของราชสำนักในขณะที่ประเทศประสบภาวะวิกฤติทางการเงินและประชาชนจำนวนมากดำรงชีพอย่างฝืดเคืองเมื่อฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรีย ก็ทรงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เปิดเผยแผนการทางทหารของฝรั่งเศสให้แก่อีกฝ่ายเพราะทรงเป็นพระขนิษฐาในจักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๒ (Leopold II ค.ศ. ๑๗๙๐-๑๗๙๒) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)*และประมุขของออสเตรีย ในบั้นปลายทรงถูกศาลปฏิวัติฝรั่งเศสตัดสินให้ประหารด้วยเครื่องกิโยตีน (guillotine) เช่นเดียวกับพระราชสวามีซึ่งทำให้ประมุขของประเทศยุโรปอื่น ๆ หวาดหวั่นต่อความรุนแรงของการปฏิวัติที่มีการปลงพระชนม์กษัตริย์ด้วยข้อหาทรยศต่อประเทศ
     สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตประสูติเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๕๕ ที่กรุงเวียนนา เฉลิมพระนามในพิธีรับศีลล้างบาป (baptism) เป็นภาษาเยอรมันว่า มารีอา อันโทเนีย โยเซฟา โยอันนา ฟอน เอิสแทไรช์-โลทรินเกิน (Maria Antonie Josepha Joanna von Österreich-Lothringen) โดยมีพระยศอาร์ชดัชเชส ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๔ และเป็นองค์ที่ ๑๕ ในจำนวนพระราชโอรสพระราชธิดา ๑๖ พระองค์ ในจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๗๔๕-๑๗๖๕) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa ค.ศ. ๑๗๑๗-๑๗๘๐) องค์ประมุขของอาร์ชดัชชีออสเตรีย (Archduchy of Austria) ซึ่งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระราชินีแห่งฮังการีและโบฮีเมียด้วย แม้ว่าพระราชบิดาและพระราชชนนีตั้งพระทัยและใช้เวลานานพอควรในการเจรจาปูทางให้อาร์ชดัชเชสมารีอาอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฝรั่งเศสเพื่อผูกสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* กับราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ให้แน่นแฟ้นแต่ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ได้ทรงเตรียมความพร้อมให้อาร์ชดัชเชสมารีอา ทั้งที่คาดไว้ว่าวันหนึ่งจะทรงขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีของฝรั่งเศส อาร์ชดัชเชสมารีอาจึงไม่ได้ทรงรับการศึกษาอย่างจริงจังและทรงพระสำราญกับการเล่นมากกว่าการเรียน สนพระทัยกับการเต้นรำและเล่นดนตรี ทรงเล่นพิณได้พอควรและเคยทรงดนตรีที่พระราชวังเชินบรุนน์ (Schönbrunn) คู่กับวอลฟ์กังอามาเดอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๙๑) ซึ่งต่อมาเป็นนักเปียโนและนักประพันธเพลงชื่อดัง อาร์ชดัชเชสมารีอาทรงสนิทสนมกับพระราชบิดาที่พระทัยดี ขณะที่ทรงเกรงพระราชมารดา จึงทรงเสียพระทัยมากเมื่อจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ สวรรคตด้วยพระหทัยวายใน ค.ศ. ๑๗๖๕ ขณะมีพระชนมายุเพียง ๕๖ พรรษา
     อีก ๕ ปีต่อมา ขณะพระชันษาย่าง ๑๕ ปี อาร์ชดัชเชสมารีอาก็เสด็จจากออสเตรียในวันที่ ๒๑ เมษายน ค.ศ. ๑๗๗๐ มุ่งสู่พระราชวังแวร์ซายในฝรั่งเศสเพื่ออภิเษกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์ โอกูสต์ (Louise Auguste) มกุฎราชกุมารฝรั่งเศสตามที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (Louis XV ค.ศ. ๑๗๑๕-๑๗๗๔) และจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ ทรงตกลงกันไว้ นับแต่นั้น อาร์ชดัชเชสมารีอาทรงใช้พระนามเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า มารีอองตัวแนต โชแซฟ ชานโดตริช ลอร์แรน (Marie Antoinette Josephe Jeanne d’Autriche Lorraine) รถม้าพระที่นั่งแล่นไปตามเส้นทางขนานกับลำน้ำดานูบผ่านเมืองมิวนิกและเมืองเอาก์สบูร์ก (Augsburg) และทรงหยุดพักที่เมืองกึนซ์บูร์ก (Günzburg) อุล์ม (Ulm) และไฟรบูร์ก (Freiburg) ซึ่งยังคงอยู่ในเขตของออสเตรียจนกระทั่งวันที่ ๗ พฤษภาคมจึงทรงเข้าสู่เขตแดนของฝรั่งเศสและประทับที่เมืองชตราสบูร์ก [Strassburg ปัจจุบันเขียนเป็น สตราสบูร์ก (Strasbourg)] ทรงได้รับการต้อนรับโดยหลุยส์ เรอเน เอดูอาร์ เจ้าชายแห่งโรออง-เกเมเน (Louis René Edouard, Prince de Rohan Guéménée ค.ศ. ๑๗๕๔-๑๘๐๓) ซึ่งต่อมาเป็นทั้งคาร์ดินัลและบิชอปแห่งชตราสบูร์ก และมีส่วนทำให้สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "กรณีสร้อยพระศอเพชร" (Diamond Necklace Affair)
     ขณะนั้นมกุฎราชกุมารฝรั่งเศสซึ่งมีพระชันษา ๑๕ ปีมีพระวรกายอ้วน เฉื่อยชา และขี้อาย ไม่ทรงมีความกระตือรือร้นหรือสนพระทัยในเรื่องใด ๆ นอกจากการล่าสัตว์และทำกุญแจ ทรงมีข้อบกพร่องทางด้านพระสรีระทำให้ในระยะแรกทรงไม่สามารถมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดากับพระชายาแม้จนกระทั่งขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ใน ค.ศ. ๑๗๗๔ แล้วก็ตาม แต่ชาวฝรั่งเศสและบรรดาผู้คนในราชสำนักที่พระราชวังแวร์ซายซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งการนินทาว่าร้ายป้ายสีไม่รู้ความจริงจึงโทษว่าเป็นความผิดของ "ผู้หญิงออสเตรีย" หรือสมเด็จพระราชินี ทรงตกเป็นเป้าของการกล่าวโทษเพราะความที่ มีผู้ไม่พอใจในพระจริยาวัตรของพระนางที่เอาแต่ทรงพระสำราญในหมู่พระสหายสนิทวงเล็ก ๆ ด้วยการเล่นไพ่ เต้นรำ เล่นละคร การตกแต่งฉลองพระองค์ และทรงเครื่องประดับไม่เอาพระทัยใส่ในพระราชสวามี และทรงรำคาญกับระเบียบพิธีรีตรองของราชสำนักแวร์ซาย ทรงมักจะดื้อดึงกับการปฏิบัติตามระเบียบของราชสำนัก แต่ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงได้รับการผ่าตัดแก้ไขข้อบกพร่องสำเร็จจึงทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงเริ่มชีวิตสมรสที่สมบูรณ์ภายหลังการอภิเษกสมรสมาได้ ๗ ปี
     สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงให้กำเนิดพระราชโอรสและพระราชธิดาแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทั้งหมด ๔ พระองค์คือ ๑. เจ้าหญิงมารี เตแรส ชาร์ลอต (Marie-Thérèse-Charlotte ค.ศ. ๑๗๗๘-๑๘๕๑) ๒. เจ้าชายหลุยส์ โชแซฟ ซาวีแยร์ ฟรองซัว (Louis-Joseph- Xavier-François ค.ศ. ๑๗๘๑-๑๗๘๙) ๓. เจ้าชาย หลุยส์ชาร์ล (Louis-Charles ค.ศ. ๑๗๘๕-๑๗๙๕) และ ๔. เจ้าหญิงโซฟี เบียตริซ (Sophie-Beatrix ค.ศ. ๑๗๘๖-๑๗๘๗) เมื่อสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาแล้ว ก็ทรงละทิ้งการใช้เวลาผ่านไปอย่างสนุกสนานอย่างแต่ก่อนซึ่งมีทั้งการแต่งพระองค์เป็นหญิงเลี้ยงแกะ การประทับที่พระตำหนักเลอเปอติตรีอานง (Le Petit Trianon) ที่โปรดให้ดัดแปลงเป็นเหมือนบ้านชาวนาในชนบท และทรงสมมติพระองค์เป็นชาวบ้านธรรมดาเมื่อประทับอยู่ ณ ที่นั้นอย่างไรก็ดี ฝ่ายปฏิปักษ์ของพระองค์ในราชสำนักก็ยังคงหาเหตุครหาพระองค์อยู่เนือง ๆ มีการเผยแพร่เอกสารโจมตีพระองค์ในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านความประพฤติที่ เสื่อมเสียศีลธรรม เช่นการกล่าวหาว่าพระองค์มีความสัมพันธ์นอกสมรสกับบุคคลบางคนทั้งชายและหญิงเช่นกงต์ดาร์ตัว [Comte d’ Artois ต่อมาคือ พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐)*] พระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ มาดามโยลองด์ เดอ โปลีญัก (Yolande de Polignac) และเจ้าหญิงมารี เตแรส เดอลองบาล (Marie Thérèse de Lamballe) ความที่สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตเคยเป็นเจ้าหญิงออสเตรีย จึงทำให้ขุนนางสูงศักดิ์บางคนไม่วางใจ และมักจะโจษจันกันว่าความยุ่งยากทั้งหลายเกิดจากการมีราชินีเชื้อสายออสเตรียซึ่งเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับฝรั่งเศสมานานนับศตวรรษ
     ในทศวรรษ ๑๗๘๐ ความรู้สึกของคนทั่วไปที่มีต่อสมเด็จพระราชินีก็ยังไม่ดีขึ้น ขณะที่ พระองค์ก็ทรงขัดขวางนโยบายปฏิรูปการเงินของเสนาบดีกระทรวงการคลังที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงแต่งตั้งคนแล้วคนเล่าแวดวงขุนนางที่พระองค์ทรงคบหาสนิทอยู่นั้นนอกจากไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของพระองค์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ทรงถูกหาเหตุใส่ร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะทรงต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศมากเมื่อเกิดกรณีสร้อยพระศอเพชรขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๕-๑๗๘๖ อันเนื่องมาจากสตรีที่ฉวยโอกาสผู้หนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า ชาน เดอ วาลัว กงแตส เดอลามอต (Jeanne de Valois, Comtesse de la Motte) ซึ่งอ้างตนว่าสนิทสนมกับสมเด็จพระราชินี ได้ติดต่อกับคาร์ดินัล เดอโรอองซึ่งต้องการกลับเข้าไปมี บทบาทในราชสำนักเหมือนแต่ก่อน กงแตสเดอลามอตอ้างว่าสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงมีพระประสงค์จะซื้อสร้อยพระศอเพชรจึงขอให้คาร์ดินัลเดอโรอองไปจัดหาซื้อในนามของพระนาง กงแตสเดอลามอตได้จัดฉากเหตุการณ์ขึ้นเหมือนกับว่าสมเด็จพระราชินีได้โปรดให้คาร์ดินัลเดอโรอองได้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ครั้งหนึ่ง ซึ่งคาร์ดินัลเดอโรอองก็เชื่อสนิทว่าสตรีที่ให้เขาเข้าพบในสวนยามดึกในเขตพระราชวังแวร์ซายและมอบ กุหลาบให้เขา ๑ ดอกนั้นคือสมเด็จพระราชินีมารีอองตัวแนต
     เมื่อคาร์ดินัลเดอโรอองนำสร้อยคอซึ่งประกอบด้วยเพชร ๖๔๗ เม็ด น้ำหนักรวม ๒,๘๐๐ กะรัต มูลค่า ๑๕ ล้านปอนด์ (livres) มอบให้กงแตสเดอลามอตเพื่อนำไปถวาย กงแตสก็นำสร้อยเส้นนั้นไปให้สามีลักลอบไปขายที่ประเทศอังกฤษ ในที่สุด เจ้าของร้านสร้อยเพชรจึงได้เข้าไปทวงถามการจ่ายเงินจากสมเด็จพระราชินีเมื่อเห็นว่าจะไม่ได้รับการชำระเงินอย่างแน่นอน เรื่องจึงเป็นที่รับรู้กันขึ้น สมเด็จพระราชินีทรงให้ดำเนินคดีกับคาร์ดินัลเดอโรอองและกงแตสเดอลามอต คาร์ดินัลเดอโรอองถูกตัดสินจำขังแต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เพราะศาลสูงแห่งปารีส (Parlement de Paris) ซึ่งประกอบด้วยขุนนางและบาทหลวงสูงศักดิ์ที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์สั่งให้ปล่อยตัว ส่วนกงแตสเดอลามอตถูกจับและถูกโบยต่อหน้าสาธารณชนก่อนถูกคุมขัง แต่ไม่นานก็สามารถหลบหนีไปประเทศอังกฤษและยิ่งไปกระพือข่าวลือในทางเสื่อมเสียแก่สมเด็จพระราชินีมากยิ่งขึ้น คดีนี้คน ทั่วไปโจษจันกันไปต่าง ๆ นานา บ้างสงสัยในสัมพันธ์ลับระหว่างคาร์ดินัลเดอโรอองกับสมเด็จพระราชินี และบ้างถึงกับกล่าวว่าสมเด็จพระราชินีคงมีสัมพันธ์พิเศษกับมาดามเดอลามอต อีกทั้งเชื่อกันว่าสมเด็จพระราชินีต้องทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อสร้อยคอประดับเพชรอย่างแน่นอน คดีอื้อฉาวนี้กระทบกระเทือนสถาบันกษัตริย์มากพอควรและเป็นเหตุสนับสนุนให้ขุนนางซึ่งเป็นฐานันดรที่ ๒ ยืนกรานที่จะต่อต้านมาตรการปฏิรูปด้านการเงินของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และเสนาบดีว่าการกระทรวงการคลังของพระองค์
     เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤติ สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตก็ทรงแสดงให้เห็นพระทัยที่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวกว่าพระราชสวามี นับตั้งแต่เกิดปฏิวัติกลาง ค.ศ. ๑๗๘๙ พระองค์ทรงโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ต่อต้านความพยายามของสภานิติบัญญัติที่ จะลดทอนการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่การนี้ก็ทำให้ทรงเป็นเป้าของการโจมตีจากพวกหัวรุนแรงทางการเมือง มีการโจษจันกันต่อ ๆ ไปว่า สมเด็จพระราชินีทรงไม่ไยดี กับความเดือดร้อนและความหิวโหยของประชาชนเมื่อผู้คนไปร้องเรียนว่าไม่มีขนมปังบริโภค แต่กลับทรงบอกให้ประชาชนหันไปบริโภคขนมเค้กแทน แม้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าทรงมีรับสั่งเช่นนั้น แต่ข่าวลือเรื่องนี้ได้ส่งต่อกันอย่างจริงจังจนเหมือนกับว่าเป็นเรื่องจริงและยิ่งทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในสถาบันกษัตริย์มากขึ้น
     ในวันที่ ๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ฝูงชนชาวปารีสที่นำโดยกรรมกรหญิงและบ้างก็เป็นชายที่แต่งตัวเป็นหญิงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทหารวังยิง ได้รวมตัวกันที่ศาลาว่าการกรุงปารีสและเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซาย เพื่อบังคับให้พระเจ้าหลยุส์ที่ ๑๖ สมเด็จพระ ราชินีพร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาเข้าไปประทับในกรุงปารีส โดยตะโกนเรียกหา "คนทำขนมปังเมียคนทำขนมปัง และลูกชายคนทำขนมปัง" สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงเผชิญหน้ากับฝูงชนอย่างไม่หวั่นหวาดโดยปรากฏพระองค์บนเฉลียงหน้าพระราชวังทรงให้เหตุผลว่าสมเด็จพระราชชนนีทรงอบรมพระองค์ไม่ให้เกรงกลัวความตาย สมเด็จพระราชินีมารีอองตัวแนตทรงสามารถทำให้อารมณ์ของฝูงชนสงบระงับได้ชั่วระยะหนึ่ง แต่ในวันรุ่งขึ้นทุกพระองค์ก็ต้องเสด็จเข้าไปประทับที่พระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) ในกรุงปารีสตามที่ฝูงชนบีบบังคับ โดยอ้างว่ากษัตริย์จะได้อยู่ในสายตาของประชาชนและจะวางใจได้ว่ากษัตริย์จะไม่ทรงส่งทหารไปปราบปรามประชาชน
     สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงติดต่อกับมาร์กี เดอ ลาฟาแยต (Marquis de Lafayette)* และ กงต์ เดอ มีราโบ (Comte de Mirabeau) ซึ่งเป็นขุนนางหัวเสรีนิยมสายกลางและเป็นสมาชิกของสภาแห่งชาติด้วย แต่สมเด็จพระราชินีไม่ทรงไว้วางพระทัยบุคคลทั้งสองนี้อย่างเต็มที่ทำให้ทรงปฏิเสธที่จะให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงทำตามคำแนะนำของพวกเขา เมื่อมีราโบเสียชีวิตในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๑ ก็เท่ากับว่าสถาบันกษัตริย์ขาดผู้สนับสนุนคนสำคัญไป ต่อมา สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงหันไปขอความช่วยเหลือจากขุนนางที่เคยหลบภัยจากการปฏิวัติไปพำนักยังต่างประเทศซึ่งได้วางแผนให้พระราชวงศ์หลบหนีจากกรุงปารีสในคืนวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๑ โดยมีเคานต์ฮันส์ อักเซล เฟอร์เซน (Hans Axel Fersen ค.ศ. ๑๗๕๕-๑๘๑๐) เป็นผู้ขับรถม้าพระที่นั่งจากชานกรุงปารีสมุ่งไปยังพรมแดนฝรั่งเศสที่ติดกับออสเตรีย แต่การหลบหนีก็ถูกขัดขวางเมื่อเจ้าหน้าที่ชายแดนที่เมืองวาแรน (Varennes) เห็นว่าพระพักตร์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เหมือนกับใบหน้าที่ปรากฏอยู่บนเงินเหรียญถึงแม้พระราชวงศ์ทั้งหมดจะอยู่ในฉลองพระองค์แบบสามัญชนก็ตาม
     หลังจากนั้น สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงพยายามกู้สถานการณ์ด้วยการเจรจากับอองตวน บาร์นาฟ (Antoine Barnave) ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มนิยมระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญในสภาแห่งชาติ บาร์นาฟ ชักชวนให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงให้ความเห็นชอบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๑ แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผันเมื่อสมเด็จพระราชินีทรงขอร้องให้จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๒ ซึ่งเป็นพระเชษฐาทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสเพื่อทำลายการปฏิวัติ จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๒ ทรงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในของฝรั่งเศส แต่ต่อมาเมื่อจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ (Francis II ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๖) เสด็จขึ้นครองราชย์และไม่ดำเนินนโยบายตามจักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๒ ฝรั่งเศสซึ่งไม่พอใจจึงประกาศสงครามกับออสเตรียในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๒ สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงพอพระทัย เพราะทรงเชื่อว่ากองทัพต่างชาติจะเอาชนะกองทัพของฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศสได้ และจะได้นำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนสู่ฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น จึงทรงเปิดเผยแผนการทางทหารของฝรั่งเศสให้ออสเตรียล่วงรู้โดยตลอดชาวฝรั่งเศสทั่วไปก็ไม่พอใจเมื่อทราบว่ามีการติดต่อกันระหว่างออสเตรียกับสมเด็จพระราชินี ความเกลียดชังพระองค์มีส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการลุกฮือของฝูงชนจนนำไปสู่การประกาศล้มสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ และการจำขังพระราชวงศ์เพราะฝ่ายผู้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศสเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์พัวพันกับการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอยู่
     ในระยะแรกพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตพร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงถูกคุมขังที่เรือนจำตองเปลอ (Temple) ซึ่งเคยเป็นปราสาทของขุนนางกลุ่มตองปลาร์ (Knights of the Templar Order) หลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงถูกพิจารณาคดีในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ และทรงถูกประหารในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตก็ยังทรงมีโอกาสประทับร่วมกับพระ ราชโอรสและพระราชธิดาอยู่ชั่วระยะหนึ่งจนกระทั่งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ทรงถูกนำไปจองจำเดี่ยวที่คุกลากองซีแยร์เชอรี (La Conciergerie) ซึ่งมืดและสกปรก และถูกเรียกขานว่า "แม่ม่ายกาเป" (Widow Capet) ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ทรงถูกนำขึ้นศาลปฏิวัติและถูกไต่สวนเป็นเวลา ๒ วัน ๒ คืน ในช่วงเวลานี้สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงแสดงให้เห็นพระทัยที่เข้มแข็งและความทรนงต่อวิกฤติของชีวิตแม้ว่าพระเกษาจะขาวโพลนหมดแล้ว ทรงยืนยันอย่างแน่วแน่ว่าพระองค์ไม่ได้ทำผิดใด ๆ จึงไม่อาจยอมรับตามคำคาดคั้นให้ยอมรับผิดครั้งแล้วครั้งเล่าได้
     ๔ นาฬิกา ๓๐ นาทีของเช้าวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงมีพระอักษรถึงเจ้าหญิงเอลีซาเบต ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ที่ยังคงถูกขังในเรือนจำตองเปลอเพื่อทรงกล่าวลาและเล่าว่าพระองค์ทรงกำลังเดินทางสู่ ความตายเพื่อจะได้พบกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ หาใช่เพราะมีโทษ เพราะโทษจะบังเกิดแต่กับอาชญากรเท่านั้น (อย่างไรก็ดี เจ้าหญิงเอลีซาเบตไม่ได้รับลายพระอักษรและในปีต่อมาก็ถูกส่งไปประหารด้วยเครื่องกิโยตีนเช่นกัน) ในเวลา ๑๑.๐๐ น. สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงถูกจัดให้ประทับในเกวียนที่แล่นออกจากคุกลากองซีแยร์เชอรีไปตามถนน พระหัตถ์ถูกผูกไว้เบื้องหลัง ฝูงชนตามทางเสด็จตะโกนร้องว่า "สาธารณรัฐจงเจริญทรราชจงล่มสลาย" ในเวลา ๑๒.๑๕ น. ทรงถูกนำขึ้นสู่เครื่องกิโยตีนในข้อหาวางแผนและกระทำการตกลงลับกับมหาอำนาจต่างชาติ ประโยคสุดท้ายที่ทรงเอ่ยคือ การกล่าวขอโทษเพชฌฆาตเมื่อทรงเหยียบเท้าของเขาโดยบังเอิญ ทรงรับสั่งว่าพระองค์ไม่ได้มีเจตนา
     มารี อองตัวแนต อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรียและสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ขณะมีพระชนมายุ ๓๘ พรรษาส่วนพระราชโอรสนั้น เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงถูกประหาร พระอนุชาของพระองค์ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๒๔)* ได้ประกาศว่าเจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลคือกษัตริย์องค์ใหม่ของฝรั่งเศส แต่เจ้าชายองค์นี้ก็ทรงถูกจองจำในคุกตองเปลอต่อไปจนสิ้นพระชนม์ด้วยวัณโรคใน ค.ศ. ๑๗๙๕ หลังจากนั้นมีชายหลายคนอ้างว่าเป็นเจ้าชายองค์นี้จนกระทั่งเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๐๐ มีการตรวจรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอจากหัวใจที่มีผู้อ้างว่าเป็นพระหทัยของเจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลที่มีการเก็บไว้หลังจากสิ้นพระชนม์ในคุกและก็พบว่าเป็นพระหทัยของเจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลจริง ส่วนเจ้าหญิงมารี เตแรส ชาร์ลอต นั้นต่อมาได้เป็นดัชเชสดองกูแลม (Duchesse d’ Angouleme) และเป็นผู้มีอิทธิพลมากในรัชสมัยของสมเด็จพระปิตุลา ๒ พระองค์คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ และ พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐.


เคานต์ฮันส์อักเซล เฟอร์เซน เป็นบุตรชายของเคานต์เฟรดริก อักเซล เฟอร์เซน (Fredrik Axel Fersen) เขาเข้ารับราชการในกองทัพ ฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๗๗๙ โดยเป็นองครักษ์ของกงต์ เดอ โรชองโบ (Comte de Rochambeau) ในการปฏิวัติของชาวอเมริกันต่อมาได้เป็นคนโปรดของสมเด็จพระราชินีมารีออง ตัวแนต ใน ค.ศ. ๑๗๘๔ เฟอร์เซนกลับไปสวีเดนและกลับมาฝรั่งเศสอีกครั้งก่อนเกิดปฏิวัติไม่นาน ใน ค.ศ. ๑๗๙๑ เขาช่วยมาร์กี เดอ บุยเย (Marquis de Bouille) วางแผนการหลบหนีให้พระราชวงศ์เฟอร์เซนเป็นผู้ขับรถม้าพระที่ นั่งเมื่อออกนอกเขตเมือง และเป็นผู้เสนอว่าพระราชโอรสและพระราชธิดาควรจะประทับในรถม้าอีกคันเพื่อให้สามารถใช้รถม้าพระที่ นั่งที่ ขนาด เล็กและวิ่งได้เร็ว สมเด็จพระราชินีไม่ทรงเห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ทรงต้องการให้ทุกองค์ประทับในรถม้าคันเดียวกันภายหลังจากเหตุการณ์ที่ เมืองวาแรน เฟอร์เซนไปประจำการที่ กรุงเวียนนาและกรุงบรัสเซลส์ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ พระเจ้ากุสตาวุสที่ ๔ (Gustavus IV) ทรงแต่งตั้งเขาเป็นนายพลของสวีเดนจากการที่ เขาตามเสด็จไปรบในสงครามนโปเลียน ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ เกิดการปฏิวัติในสวีเดนจนพระเจ้ากุสตาวุสที่ ๔ ต้องสละราชสมบัติเฟอร์เซนถูกฝูงชนเข้ารุมสังหารเพราะถูกกล่าวหาว่าต่อต้านการปฏิวัติ
กาเป (Capet) เป็นชื่อราชวงศ์เก่าของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๖ เมื่อทรงถูกจับทรงถูกเรียกว่า พลเมือง กาเป

คำตั้ง
Marie-Antoinette
คำเทียบ
สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต
คำสำคัญ
- ขุนนางกลุ่มตองปลาร์
- เฟอร์เซน, เคานต์ฮันส์ อักเซล
- บาร์นาฟ, อองตวน
- โรชองโบ, กงต์ เดอ
- ตองเปลอ, เรือนจำ
- เฟอร์เซน, เคานต์เฟรดริก อักเซล
- บุยเย, มาร์กี เดอ
- ฟรานซิสที่ ๒, จักรพรรดิ
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- มารี อองตัวแนต, สมเด็จพระราชินี
- มารีอา อันโทเนีย โยเซฟา โยอันนา ฟอน เอิสแทไรช์-โลทริงเงิน, อาร์ชดัชเชส
- เชินบรุนน์, พระราชวัง
- กึนซ์บูร์ก, เมือง
- ชตราสบูร์ก, เมือง
- ลาฟาแยต, มาร์กี เดอ
- หลุยส์ที่ ๑๖, พระเจ้า
- กรณีสร้อยพระศอเพชร
- เลโอโปลด์ที่ ๒, จักรพรรดิ
- กุสตาวุสที่ ๔, พระเจ้า
- บูร์บง, ราชวงศ์
- มารี อองตัวแนต โชแซฟ ชานโดตริช ลอร์แรน
- ฟรานซิสที่ ๑, จักรพรรดิ
- หลุยส์ เรอเน เอดูอาร์ เจ้าชายแห่งโรออง-เกเมเน
- สตราสบูร์ก
- โมซาร์ท, วอลฟ์กัง อามาเดอุส
- เอาก์สบูร์ก, เมือง
- ดาร์ตัว, กงต์
- โซฟี เบียตริซ, เจ้าหญิง
- มารี เตแรส เดอลองบาล, เจ้าหญิง
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- เหลุยส์ โอกูสต์, จ้าชาย
- อุล์ม, เมือง
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- ไฟรบูร์ก
- มาเรีย เทเรซา, จักรพรรดินี
- หลุยส์ที่ ๑๕, พระเจ้า
- โปลีญัก, มาดามโยลองด์ เดอ
- ชาร์ลที่ ๑๐, พระเจ้า
- ดองกูแลม, ดัชเชส
- ลามอต, ชาน เดอ วาลัว กงแตสเดอ
- มารี เตแรส ชาร์ลอต, เจ้าหญิง
- หลุยส์ ชาร์ล, เจ้าชาย
- ตุยเลอรี, พระราชวัง
- หลุยส์ โชแซฟ ซาวีแยร์ ฟรองซัว,เจ้าชาย
- ลากองซีแยร์เชอรี, คุก
- เลอเปอติตรีอานง, พระตำหนัก
- มีราโบ, กงต์ เดอ
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- วาแรน, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1755-1793
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๒๙๘-๒๓๓๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf