เอดเวิร์ด รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๑ แห่งลิตตันเป็นอุปราชแห่งอินเดีย (Viceroy of India) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๕-๑๘๘๐ เขาได้รับมอบหมายจาก รัฐบาลอังกฤษให้จัดพิธีประกาศพระอิสริยยศจักรพรรดิ นีแห่งอินเดียของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* ให้ชาวอินเดียทั้งมวลทราบทั่วกัน ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนั้น ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียเกิดภาวะทุพภิกขภัยอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน และเกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับอัฟกานิสถานครั้งที่ ๒ ซึ่งลิตตันถูกโจมตีมากในฐานะผู้บริหารอาณานิคม แม้ว่าลิตตันจะมีประสบการณ์ในการทำงานส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ แต่ชาวอังกฤษทั่วไปกลับรู้จักเขาในฐานะผู้มีผลงานด้านกวีนิพนธ์มากกว่า
บุลเวอร์-ลิตตันเกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๑ ณ กรุงลอนดอน เขาเป็นบุตรชายคนเดียวของเอดเวิร์ด จอร์จ เอิร์ล บุลเวอร์-ลิตตัน บารอนลิตตันที่ ๑ แห่งเนบเวิร์ท (Edward George Earle Bulwer- Lytton, 1st Baron Lytton of Knebworth ค.ศ. ๑๘๐๓-๑๘๗๓)* นักประพันธ์และนักการเมืองเขาจบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) และระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยบอนน์ (Bonn) ในปรัสเซียจากนั้นยังได้ว่าจ้างครูพิเศษมาสอนเป็นการส่วนตัวอีก ในช่วงนี้เขาได้คบหากับจอห์น ฟอร์สเตอร์ (John Forster) นักแต่งชีวประวัติและนักวิจารณ์งานเขียนที่ทรงอิทธิพลซึ่งอาจจะมีส่วนชักนำให้ลิตตันคิดอ่านผลิตงานวรรณกรรมขึ้นนอกเหนือจากการเป็นเพียงบุตรชาย นักประพันธ์เท่านั้น
เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี บุลเวอร์-ลิตตันได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การทูตชั้นผู้น้อยโดยไม่ได้รับเงินเดือน และเป็นเลขานุการส่วนตัวให้เซอร์เฮนรี ลิตตัน บุลเวอร์ (Henry Lytton Bulwer ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๗๒) ผู้เป็นลุงแท้ ๆ ซึ่งเป็นอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงวอชิงตันดี.ซี. ต่อมา ลิตตันถูกส่งไปเป็นเจ้าหน้าที่การทูตที่นครฟลอเรนซ์ ( ค.ศ. ๑๘๕๒) กรุงปารีส ( ค.ศ. ๑๘๕๔) กรุงเฮก ( ค.ศ. ๑๘๕๖) กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและกรุงคอนสแตนติโนเปิล ( ค.ศ. ๑๘๕๘) กรุงเวียนนา ( ค.ศ. ๑๘๕๙) ซึ่งเป็นที่แรกที่ เขาเริ่มได้รับเงินเดือน นครเบลเกรด ( ค.ศ. ๑๘๖๐) กรุงคอนสแตนติโนเปิล ( ค.ศ. ๑๘๖๓) กรุงเอเธนส์ ( ค.ศ. ๑๘๖๔) กรุงลิสบอน ( ค.ศ. ๑๘๖๕) กรุงมาดริด ( ค.ศ. ๑๘๖๘) และกลับไปประจำกรุงเวียนนาและกรุงปารีสอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๘๖๙ และ ค.ศ. ๑๘๗๓ ตามลำดับ ในปีสุดท้ายนี้เอง เขาได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ขุนนางของบิดาโดยเป็นบารอนลิตตันที่ ๒ แห่งเนบเวิร์ท และปีต่อมาก็ได้รับตำแหน่งอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงลิสบอน
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๕ นายกรัฐมนตรี เบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๘๑)* ได้เลือกบารอนลิตตันวัย ๔๔ ปีเป็นอุปราชอังกฤษประจำอินเดีย อันที่จริงลิตตันอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้อยู่ในข่ายได้รับเลือกเป็นอันดับที่ ๔ แต่ตระกูลลิตตันเป็นเพื่อนบ้านกับลอร์ดซอลส์เบอรี (Lord Salisbury) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอินเดีย และดิสเรลีก็ชอบพอกับบิดาของลิตตันเพราะมีนิสัยรักการประพันธ์นวนิยาย เช่นกัน ภารกิจสำคัญที่ลิตตันได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอังกฤษ คือ การจัดงานพิธียิ่งใหญ่ระดับชาติที่เรียกว่า ดาร์บาร์ หรือดูร์บาร์ (darbar, durbar)๑ อันเป็นพิธีดั้งเดิมของอินเดียที่มหาราชาและราชาแคว้นต่าง ๆ ต้องเดินทางเข้ามาร่วมงานเพื่อแสดงความเคารพและยอมรับอำนาจของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล โดยการนำเครื่องบรรณาการมาถวายจักรพรรดิเพื่อแลกกับการได้สถาปนายศศักดิ์หรือตำแหน่งทางราชการต่าง ๆ ลิตตันจัดพิธีดาร์บาร์ขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๗ ได้ยิ่งใหญ่อลังการสมกับที่ดิสเรลีคาดหวัง ก่อนวันพิธีลิตตันและภริยาได้ซักซ้อมการนั่งบนหลังช้างที่เดินผ่านกลางกรุงเดลี (Delhi) ถึง ๓ ชั่วโมง ภาพถ่ายของลิตตันในฐานะอุปราชแห่งอินเดียที่ปรากฏแพร่หลายก็แสดงบุคลิกขุนนางสูงศักดิ์โดยเป็นท่านั่งอยู่บนเก้าอี้
และเอนกายไปทางขวา (แต่ก็มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นท่านั่งจากการที่เขาต้องทนทุกข์กับโรคริดสีดวงทวารเรื้อรังหรือจากการที่เขามีนิสัยชอบสูบฝิ่นเพื่อระงับความเจ็บปวดจากโรคดังกล่าว มิใช่เป็นการวางท่าแสดงอำนาจแบบ ผู้ปกครองทั่วไป)
ลิตตันเชื้อเชิญเจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ไปยังกรุงเดลีเพื่อเป็นการประกาศว่า ประมุขท้องถิ่นต่าง ๆ ยอมอ่อนน้อมต่ออังกฤษและยอมรับความเป็นประมุขของอังกฤษสืบต่อจากจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล เจ้าผู้ครองรัฐบางคนก็เดินทางมาด้วยขบวนม้าและช้างที่มีการตกแต่งประดับประดายาวเหยียด มีการแสดงสถานะหรือความภักดีของผู้เข้าร่วมงานด้วยการยิงปืนสลุต ๑๑ หรือ ๑๗ นัด เจ้าแห่งนครไฮเดอราบัด (Hyderabad) ได้รับการต้อนรับด้วยการยิงสลุต ๑๗ นัด และได้รับอนุญาตให้มีผู้ติดตามได้ ๕๐๐ คนส่วนเจ้าที่ ได้รับการยิงสลุต ๑๑ นัดได้รับอนุญาตให้มีขบวนผู้ติดตามได้ ๓๐๐ คน นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมากในอินเดียขณะนั้น มีผู้เข้าร่วมพิธีทั้งสิ้นประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ในพิธีนี้ลิตตันได้ประกาศว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นองค์จักรพรรดินีแห่งอินเดียทั้งมวล [Empress of all Indiaหรือ Kaiser-i-Hind ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งที่ จี. ดับเบิลยู. ไลต์เนอร์ (G.W. Leitner) ชาวฮังการีซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยปัญจาบ (Punjab University) ผู้เชื่อว่าภาษายุโรปและเอเชียต่างมาจากตระกูลอินโด-อารยันบัญญัติขึ้น] และอ่านพระราชสาสน์ของพระองค์ที่จะสนับสนุนความรุ่งโรจน์ของอินเดียที่จะทรงปกครองโดยยึดถือทั้งหลักแห่งเสรีภาพและความยุติธรรม นอกจากนี้ มีการบรรเลงเพลงชาติและยิงปืนสลุต ๑๐๑ นัดด้วย (จนช้างบางเชือกตื่นตกใจ ทำร้ายผู้เข้าร่วมพิธี)
ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งอินเดียนั้น ลิตตันให้ความสำคัญกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอัฟกานิสถานมากที่สุด เพราะช่วงนั้นรัสเซียกำลังขยายอิทธิพลเข้าไปในดินแดนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้ลิตตันเกรงว่าการแผ่อิทธิพลเข้ามาใกล้จะเป็นการคุกคามอินเดียของอังกฤษ เพราะมีพรมแดนติดต่อกัน ทหารคอสแซค (Cossack)* ของรัสเซียอาจจะบุกเข้าอินเดียทางช่องไคเบอร์ (Khyber Pass) ก็ได้ ลิตตันเริ่มต้นโดยการเจรจาหว่านล้อมให้เอมีร์ (Amir, Emir) ของอัฟกานิสถานขับไล่คณะผู้แทนรัสเซียออกไปโดยอังกฤษพร้อมจะช่วย เมื่อไม่สำเร็จเขาก็หันไปใช้กำลังกับอัฟกานิสถานซึ่งนำไปสู่สงครามอัฟกันครั้งที่ ๒ (Second Afghan War) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๘๐ อันทำให้ทหารอังกฤษเสียชีวิตจำนวนมากและสิ้นค่าใช้จ่ายมหาศาล เงินกองทุนที่ ลิตตันตั้งขึ้นมาเพื่อการบรรเทาทุกข์ยามเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในอินเดียก็ถูกนำไปใช้ด้วย เหตุนี้จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของดิสเรลีในอังกฤษอย่างรุนแรง โดยเห็นว่าลิตตันดำเนินการผิดพลาดและใช้นโยบายต่างประเทศแบบยั่วยุซึ่งไม่ใช่ลักษณะของนักรัฐศาสตร์ที่มีความสามารถ วิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๙๘)* สมาชิกพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* คนสำคัญซึ่งเป็นฝ่ายค้านขณะนั้นเดินทางหาเสียงด้วยการโจมตีนโยบายจักรวรรดินิยมของดิสเรลีอย่างดุเดือดทั้งในเรื่องการสนับสนุนพวกเติร์กปราบปรามการก่อกบฏของชาวบัลแกเรีย (Bulgaria) อย่างทารุณโหดเหี้ยม การซื้อหุ้นคลองสุเอซ และการแต่งตั้งคนติดฝิ่นอย่างลิตตันไปกุมชะตาชีวิตชาวอินเดีย
นอกจากจะถูกโจมตีจากการดำเนินนโยบายก้าวร้าวต่ออัฟกานิสถานแล้ว ลิตตันยังถูกตำหนิจากการไม่สามารถแก้ปัญหาทุพภิกขภัยที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของอินเดียระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๖-๑๘๗๘ โดยเฉพาะที่นครมัทราส (Madras) นครไฮเดอราบัด นครบอมเบย (Bombay) และนครไมซอร์ (Mysore) ซึ่งในระยะหลังได้ขยายเข้าไปยังเขตภาคกลางบางส่วนและรัฐปัญจาบ แม้ลิตตันจะพยายามช่วยชีวิตและบรรเทาทุกข์ผู้คน แต่การดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะผู้บริหารชาวอังกฤษและลิตตันยึดติดกับหลักการให้ประชาชนยืนบนลำแข้งของตนเองและการปล่อยให้กลไกตลาดดำเนินไปโดยรัฐไม่ต้องแทรกแซง ดังนั้น ข้อเสนอที่จะนำเข้าข้าวจากพม่าหรือจัดเก็บภาษีผู้มีเงินเพื่อไปตั้งกองทุนสงเคราะห์จึงตกไป ประชาชนจึงล้มตายเป็นจำนวนกว่า ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน และทำให้ผู้คนย้อนคิดถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (Great Famine)* ในไอร์แลนด์เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน กล่าวกันว่าก่อนหน้างานพิธีดาร์บาร์นั้น ริชาร์ด เกรนวิลล์ ดุ๊กแห่งบักกิงแฮมและแชนดอส (Richard Grenville, Duke of Buckingham and Chandos) ผู้ว่าราชการนครมัทราสซึ่งกระวนกระวายใจมากกับภาวะแห้งแล้งในเขตรับผิดชอบของตนอันเนื่องมาจากลมมรสุมไม่ได้พัดผ่านตามปรกติได้ขออนุญาตลิตตันที่จะไม่เดินทางไปร่วมงานพิธีแต่ถูกปฏิเสธ เพราะลิตตันอ้างว่าพิธีดาร์บาร์เป็นเรื่องสำคัญมาก ปรากฏว่าช่วงอาทิตย์ที่จัดงานนั้น มีผู้คนล้มตายประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คนในนครไมซอร์และนครมัทราสจากการเกิดทุพภิกขภัยและการเกิดอหิวาต์ระบาด อนึ่ง เรื่องการล้มตายเพราะการขาดแคลนอาหารในอินเดียได้เกิดมาเป็นระยะ ๆ ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ใน ค.ศ. ๑๘๖๐ มีผู้เสียชีวิต๒,๐๐๐,๐๐๐ คนในแคว้นปัญจาบ ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ มีผู้เสียชีวิต๘๐๐,๐๐๐ คนในแคว้นโอริสสา (Orissa) และ ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ ประชาชนเกือบ ๑ ใน ๔ ของแคว้นอัชเมียร์ (Ajmere) ก็ต้องล้มตายลง อย่างไรก็ดี ลิตตันได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการที่มีริชาร์ด สเตรชีย์ (Richard Strachey) เป็นประธานสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดทุพภิกขภัยและหามาตรการบรรเทาทุกข์ คณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานที่วางกฎระเบียบเกี่ยวกับการบรรเทาทุพภิกขภัยในอนาคตไว้
ในการบริหารอาณานิคมด้านอื่น ๆ นั้น ลิตตันได้ให้จอห์น สเตรชีย์ (John Strachey) กรรมาธิการด้านการเงินจัดระบบการเงินให้กระจายจากส่วนกลางมากขึ้น เริ่มการเก็บภาษีรายได้และปรับปรุงระบบศุลกากร ภายในของอินเดีย เช่น มีการเก็บภาษีเกลือให้เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ แต่การที่รัฐบาลอังกฤษยกเลิกการค้าเสรีกับอินเดียทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียมาก เพราะสินค้าที่ส่งจากอินเดียเข้าไปอังกฤษโดย เฉพาะผ้าฝ้ายซึ่งกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในอินเดียได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งนี้เพราะอังกฤษต้องการช่วยเหลือโรงงานทอผ้าในประเทศอังกฤษเองโดยเฉพาะโรงงานทอผ้าในมณฑลแลงคาเชียร์ (Lancashire)
นอกจากการปรับปรุงด้านการเงินแล้ว ในด้านการปกครอง ลิตตันได้ให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือน (Statutory Civil Service) ใน ค.ศ. ๑๘๗๙ โดยยกเลิกการสงวนตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในอินเดียจำนวน ๑ ใน ๖ ที่อังกฤษมีอำนาจในการเลือกสรรซึ่งปฏิบัติมานานเพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ชาวอินเดียอย่างไรก็ตาม ขณะที่มีการออกกฎหมายที่ เอื้อประโยชน์แก่ชาวพื้นเมืองเพิ่มขึ้นนั้น ก็มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสิ่งพิมพ์ภาษาท้องถิ่น (Vernacular Press Act) ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ ซึ่งให้อำนาจผู้พิพากษากำกับดูแลหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไม่ให้พิมพ์ข่าวสารใดที่ จะเป็นการปลุกเร้าความไม่พอใจต่อรัฐบาลหรือก่อความขุ่นเคืองใจระหว่างบุคคลต่างชนชั้นกันกฎหมายฉบับนี้ทำให้ลิตตันถูกวิจารณ์มาก อีก ๔ ปีต่อมา เมื่อจอร์จ เฟรเดอริก แซมวล รอบินสัน มาร์ควิสที่ ๑ แห่งริพอน (George Frederick Samuel Robinson, 1st Marquis of Ripon)๒ สืบต่อตำแหน่งอุปราชแห่งอินเดียต่อจากลิตตัน เขาก็ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ที่ ทำให้ชาวอินเดียไม่พอใจ
ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๘๐ บารอนลิตตันลาออกจากตำแหน่งอุปราชแห่งอินเดีย เพราะทางอังกฤษได้มีการเปลี่ยนรัฐบาล พรรคเสรีนิยมได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้แกลดสโตนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนดิสเรลี แต่ในปีนั้นลิตตันได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เอิร์ลที่ ๑ แห่งลิตตันและไวสเคานต์เนบเวิร์ทจากการดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งอินเดียลิตตันมีบทบาทสำคัญครั้งสุดท้าย คือ การเป็นอัครราชทูตอังกฤษประจำฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๗-๑๘๙๑ ซึ่งเขาก็ทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จจนเป็นที่นิยมรักใคร่ในหมู่ชาวฝรั่งเศส
อย่างไรก็ดี สำหรับชาวอังกฤษร่วมสมัยกับลิตตันนั้น ลิตตันเป็นที่รู้จักในฐานะนักประพันธ์มากกว่าการเป็นนักการทูตหรือผู้บริหารอาณานิคม ลิตตันได้มีโอกาสพบปะและคบหาอย่างสนิทสนมกับรอเบิร์ต และเอลิซาเบท บราวนิง (Robert & Elizabeth Browning) กวีคู่สามีภรรยาที่มีชื่อเสียงด้านการประพันธ์แนวจินตนิยม (Romanticism) ของอังกฤษ ณ เมืองฟลอเรนซ์ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ลิตตันคงได้แรงบันดาลใจในการแต่งผลงานจากบุคคลทั้งคู่บ้าง เขาได้เริ่มเขียนงานร้อยกรองตั้งแต่อายุ ๒๐ ปีเศษ โดยใช้นามแฝงว่า โอเวน เมเรดิท (Owen Meredith) ซึ่งเป็นนามปากกาที่เขาใช้จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๘๖๖ จึงยุติเพราะถูกทักท้วงและคัดค้านจากจอร์จ เมเรดิท (George Meredith) นักแต่งนวนิยายผลงานร้อยกรองรวมเล่มเล่มแรก ๆ ของลิตตันคือ Clytemnestra, The Earl’s Return, The Artist, and Other Poems ( ค.ศ. ๑๘๕๕) ซึ่งใช้แนวเขียนแบบของบราวนิง The Wanderer ( ค.ศ. ๑๘๕๘) ซึ่งมีเนื้อหาเชิงอัตชีวประวัติและ Lucile ( ค.ศ. ๑๘๘๐) ซึ่งมีลักษณะนิยายรักโรแมนติกที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้อ่าน นอกจากนั้น ยังมี Chronicles and Characters ( ค.ศ. ๑๘๖๗) Glenaveril หรือ The Metamorphoses ( ค.ศ. ๑๘๘๕) และ King Poppy ( ค.ศ. ๑๘๙๒) ซึ่งเป็นงานชิ้นดีที่สุดของเขา โดยแต่งเป็นกลอนเปล่าเนื้อหาเสียดสีสังคมที่อาศัยกลไกเครื่องจักรมากเกินไป อย่างไรก็ดี งานร้อยกรองของลิตตันซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียก็ทรงโปรดนั้นถูกวิจารณ์ว่าเสแสร้งและใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย บางคนจึงจัดว่าลิตตันเป็นเพียงกวีชั้นสอง ผลงานประพันธ์อยู่ต่างระดับชั้นจากงานของบิดา ซึ่งใน ค.ศ. ๑๘๘๓ ลิตตันก็ได้รวบรวมงานเขียนของเอดเวิร์ด จอร์จ เอิร์ล บุลเวอร์-ลิตตันผู้เป็นบิดาในหนังสือขนาด ๒ เล่มจบเรื่อง Life, Letters and Literary Remains ส่วนบทกลอนรุ่นหลัง ๆ ที่ลิตตันเขียนได้รวบรวมใน After Paradise หรือ Legends of Exile, with Other Poems ( ค.ศ. ๑๘๘๗) และ Marsh ( ค.ศ. ๑๘๙๒) นอกจากนี้ เมื่อเขาเสียชีวิตแล้ว เลดีเบตตี บัลโฟร์ (Betty Balfour) บุตรสาวยังได้บรรณาธิกรผลงานของเขาอีก ๒ ชิ้น คือ India Administration ( ค.ศ. ๑๘๙๙) และ Letters ( ค.ศ. ๑๙๐๖)
เอดเวิร์ด รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน เอิร์ลที่ ๑ แห่งลิตตันถึงแก่อนิจกรรมที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๑ ขณะอายุ ๖๐ ปี เลดีอีดิทลิตตัน (Lady Edith Lytton) ภรรยาของเขายังคงมีชีวิตต่อมาอีกหลายปีและได้เข้าร่วมในขบวนอัญเชิญพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียจากกรุงลอนดอนไปยังพระราชวังวินด์เซอร์ (Windsor Palace) ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ เอิร์ลที่ ๑ แห่งลิตตันยังมีบุตรชายและบุตรสาวอีก ๒ คนที่ มีประวัติน่าสนใจ บุตรชายคือวิกเตอร์ อะเล็กซานเดอร์ จอร์จ รอเบิร์ต บุลเวอร์-ลิตตัน (Victor Alexander George Robert Bulwer-Lytton ค.ศ. ๑๘๗๖-๑๙๔๗)* ซึ่งต่อมาได้เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำเบงกอล ส่วนเลดีเอมิ ลีลิตตัน (Emily Lytton) บุตรสาวได้สมรสกับเอดวิน ลัตเยนส์ (Edwin Lutyens) แต่ในที่สุดหย่าร้างกันเพราะเธอหันไปลุ่มหลงความเชื่อของกฤษณมูรติ (Krishnamurti) แต่อดีตสามีของเธอก็ได้เป็นสถาปนิกออกแบบกรุงนิวเดลี (New Delhi) ทั้งอาคารสถานที่ราชการต่าง ๆ ถนนหนทางที่กว้างใหญ่และเสาอาคารที่เรียงเป็นแถว บุตรสาวอีกคนคือ เลดี คอนสแตนซ์ ลิตตัน (Lady Constance Lytton) เธอเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่แข็งกร้าวและร่วมสร้างความปั่นป่วนให้ทางการอังกฤษในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙๓