Lunacharsky, Anatoly Vasilyevich (1875-1933)

นายอะนาโตลี วาซีเลียวิช ลูนาชาร์สกี (๒๔๑๘-๒๔๗๖)

​​     อะนาโตลี วาซีเลียวิช ลูนาชาร์สกี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (Commissar for Education and Enlightenment) คนแรกของสหภาพโซเวียต ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๗-๑๙๒๙ และร่วมอยู่ในคณะมนตรี ประชาชนแห่งสภาโซเวียต (Soviet Council of People’s Commissars - Sovnarkom) ชุดแรกของรัฐบาลโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาเป็นนักวาทศิลป์ นักเขียนบทละคร นักปรัชญา และปัญญาชนปฏิวัติที่อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิวัติจนวลาดีมีร์ อิลยิช เลนิน (Vladimir Illyich Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ให้สมญาเขาว่า "นักสู้หัวแข็ง" (staunch fighter) เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมลูนาชาร์สกีมีบทบาทสำคัญร่วมกับนาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา ครุปสกายา (Nadezhda Konstantinovna Krupskaya ค.ศ. ๑๘๖๙-๑๙๓๙)* คู่ชีวิตของเลนินในการปฏิรูปการศึกษาและดำเนินนโยบายขจัดความไม่รู้หนังสือจนประสบความสำเร็จ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๒ ลูนาชาร์สกีและ มัคซิม มัคซีโมวิช ลิวีนอฟ (Maksim Maksimovich Litvinov ค.ศ. ๑๘๗๖-๑๙๕๑)*

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนของสหภาพโซเวียตในองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๓ ลูนาชาร์สกีได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตโซเวียตประจำกรุงมาดริด (Madrid) แต่เขาเสียชีวิตก่อนด้วยโรคหัวใจขณะเดินทางไปรับตำแหน่ง
     ลูนาชาร์สกีเกิดในครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เมืองโปลตาวา (Poltava) ในยูเครน (Ukraine) เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๕ บิดาเขาเสียชีวิตและมารดาแต่งงานใหม่กับอะเล็กซานเดอร์ อันโตนอฟ (Alexander Antonov) ชนชั้นกลางที่มั่งคั่ง มารดาตั้งชื่อเขาตามชื่อบิดา บิดาเลี้ยงเป็นผู้ฝักใฝ่การปฏิวัติและคบ หาสมาคมกับเหล่าสหายที่ เชื่อมั่นทั้งในแนวทางปฏิวัตินารอดนิค (Narodnik)* และลัทธิมากซ์ (Marxism)* ลูนาชาร์สกีจึงคุ้นเคยกับบรรยากาศทางการเมืองที่บ้าน ตั้งแต่เยาว์วัยและสนใจแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ระหว่างศึกษาชั้นมัธยมที่เมืองเคียฟ (Kiev) เขาเข้าร่วมกลุ่มศึกษาลัทธิมากซ์ซึ่งมีนักเคลื่อนไหวชาวโปลเป็นผู้ชี้นำและประกาศตนเป็นนักลัทธิมากซ์ขณะอายุเพียง ๑๕ ปี ใน ค.ศ. ๑๘๙๒ เขาเป็นผู้นำกลุ่มนักศึกษาแนวความคิดลัทธิมากซ์และมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเผยแพร่ลัทธิมากซ์ในหมู่กรรมกรรถไฟ หลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมเขาปฏิเสธที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยภายในประเทศโดยอ้างว่าขาดเสรีภาพทางวิชาการ อันโตนอฟบิดาเลี้ยงจึงส่งเขาไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซูริก สวิตเซอร์แลนด์ โดยศึกษาด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ เขามีโอกาสรู้จักและเป็นเพื่อนกับโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* และเลโอ โยกิชส์ (Leo Jogiches) นักลัทธิมากซ์ชาวเยอรมันซึ่งในเวลาต่อมามีบทบาทสำคัญในขบวนการปฏิวัติเยอรมันที่ซูริกลูนาชาร์สกียังสร้างชื่อให้ตนเองในชุมชนชาว รัสเซียต่างแดนในฐานะนักวาทศิลป์หนุ่มและปัญญาชนหัวก้าวหน้า ขณะเดียวกันเขาก็เข้าร่วมกลุ่มปลดปล่อยแรงงาน (Liberation of Labour Group) ซึ่งเป็นองค์การปฏิวัติลัทธิมากซ์ที่จัดตั้งขึ้นโดยเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgy Plekhanov)* กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ลัทธิมากซ์ในขบวนการปฏิวัติรัสเซียและวางรากฐานการก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* ในเวลาต่อมา ลูนาชาร์สกีได้รับการชี้แนะ ด้านทฤษฎีการเมืองและงานนิพนธ์ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ทั้งจากเปลฮานอฟและปาเวล โบรีโซวิช อัคเซลรอด (Pavel Borisovich Akselrod ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๙๒๘)* ผู้นำของกลุ่มปลดปล่อยแรงงาน เขาจึงดื่มด่ำและเชื่อมั่นในแนวทางปฏิวัติลัทธิมากซ์อย่างมาก
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๖ เขาเดินทางกลับประเทศและทำงานเป็นนักเขียนอิสระตลอดจนเข้าร่วมองค์การปฏิวัติลัทธิมากซ์ ลูนาชาร์สกีสามารถโน้มน้าวให้ปลาตอน (Platon) พี่ชายคนโตและพี่สะใภ้เข้าเป็นสมาชิกองค์การปฏิวัติ และในเวลาต่อมาทั้งสองคนมีบทบาทสำคัญในขบวนการกรรมกร ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ เขาไปอยู่ที่กรุงมอสโกและเข้าร่วมกลุ่มลัทธิมากซ์ที่พี่สาวคนโตของเลนินเป็นแกนนำ หน้าที่หลักของเขาคือการโฆษณาปลุกระดมในหมู่กรรมกรและเขียนใบปลิวรวมทั้งช่วยผลักดันการชุมนุมประท้วง ในกลาง ค.ศ. ๑๘๙๙ เขาถูกจับเป็นครั้งแรกแต่ก็ได้รับการปล่อยตัวภายในเวลาอันสั้นเนื่องจากบิดาวิ่งเต้นประกันตัวได้สำเร็จทั้งหลักฐานที่จับกุมเขาก็ขาดน้ำหนัก ลูนาชาร์สกีกลับไปอยู่ที่เมืองเคียฟ แต่ในปลายปีเดียวกันก็ถูกจับอีกครั้งหนึ่งและถูกส่งไปจำคุกที่หัวเมืองคาลูกา (Kaluga) ระยะหนึ่งก่อนถูกเนรเทศไปที่จังหวัดโวลอกดา (Vologda) ที่ไซบีเรียเป็นเวลา ๓ ปี ในระหว่างที่ถูกจำคุกลูนาชาร์สกีมีโอกาสพบและสนิทกับนักปฏิวัติลัทธิมากซ์หลายคนซึ่งกำลังรอการเนรเทศด้วยเขาชื่นชมและใกล้ชิดกับอะเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ (Alexander Bogdanov)* ซึ่งเป็นสหายสนิทของเลนินบอกดานอฟเป็นนักปรัชญาและนักวิจารณ์ศิลปะที่มีชื่อเสียงในกลุ่มปัญญาชนฝ่ายซ้ายและเคารพนับถือริชาร์ดอะเวนารีอุส (Richard Avenarius) ศาสตราจารย์ทางปรัชญาที่เคยสอนลูนาชาร์สกี ความชื่นชมในนักวิชาการคนเดียวกันทำให้คนทั้งสองสนิทสนมกันอย่างรวดเร็วและบอกดานอฟสอนให้ลูนาชาร์สกีมีความรู้ทางปรัชญาที่ลุ่มลึกมากขึ้น ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ลูนาชาร์สกีแต่งงานกับอันนา มาลีนอฟสกายา (Anna Malinovskaya) น้องสาวของบอกดานอฟซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับบอกดานอฟแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในช่วงที่ถูกเนรเทศลูนาชาร์สกีเขียนบทความเกี่ยวกับปรัชญาให้แก่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นซึ่งในเวลาต่อมาได้รวมพิมพ์เป็นเล่มในชื่อ Critical and Polemical Studies หนังสือปรัชญาเล่มสำคัญเรื่องแรกของเขาคือ The Experience of Positive Aesthetics
     ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๓ มีการจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ของผู้แทนองค์การปฏิวัติและองค์การลัทธิมากซ์ต่าง ๆ ขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมเพื่อก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย แต่ตำรวจเบลเยียมมักรังควานผู้เข้าร่วมประชุมและติดตามการเคลื่อนไหวทำให้ต้องย้ายไปประชุมต่อที่กรุงลอนดอนผลสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยที่ก่อตั้งขึ้นได้สำเร็จแบ่งแยกเป็น ๒ กลุ่มคือกลุ่มบอลเชวิคของเลนินซึ่งเป็นเสียงข้างมาก กับกลุ่มเมนเชวิค (Mensheviks)* ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยและสนับสนุนยูลี โอซิโปวิช มาร์ตอฟ (Yuli Osipovich Martov ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๙๒๓)* ลูนาชาร์สกีสนับสนุนบอลเชวิค และต่อมาเลนินชวนเชิญเขามาที่นครเจนีวาสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อช่วยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของบอลเชวิค ๒ ฉบับคือ Vperyod และ Proletary เขามีบทบาทสำคัญในการเขียนบทความโจมตีแนวนโยบาย ของเมนเชวิคและเดินทางไปบรรยายตามชุมชนชาวรัสเซียลี้ภัยในประเทศยุโรปอื่น ๆ เพื่ออธิบายถึงมูลเหตุความแตกแยกระหว่างบอลเชวิคกับเมนเชวิค ขณะเดียวกันเขาก็เขียนบทความและบรรยายเกี่ยวกับปรัชญาด้วย ใน ปลาย ค.ศ. ๑๙๐๔ ลูนาชาร์สกีย้ายไปอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) อิตาลีเพื่อรักษาสุขภาพ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งขยายตัวกลายเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Nineteen-Five Revolution)* องค์การพรรคในกรุงมอสโกเรียกตัวเขากลับเข้าประเทศเพื่อร่วมเคลื่อนไหวปฏิวัติในหมู่กรรมกรและประชาชน
     เมื่อกลับเข้าประเทศในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ลูนาชาร์สกีเป็นผู้แทนของบอลเชวิคในสภาโซเวียตแห่งมอสโกและเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของบอลเชวิคชื่อ Novaya Zhizn (New Life) ร่วมกับเลนินและมักซิม กอร์กี (Maxim Gorky) นักเขียนเรืองนามขณะเดียวกันเขาก็เคลื่อนไหวปลุกจิตสำนึกทางการเมืองในหมู่กรรมกรและปัญญาชน ทั้งมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้กรรมกรเคลื่อนไหวนัดหยุดงานทั่วไป รวมทั้งลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาลในการส่งกองทัพมาปราบปรามสภาโซเวียตมอสโกในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ รัฐบาลได้ระดมกำลังทหารหลายกรมจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและทางชายแดนภาคตะวันตก มาสมทบกับกองทัพที่มอสโกเพื่อปราบปรามการลุกขึ้นสู้ที่เกิดขึ้นจนมีชัยชนะ ลูนาชาร์สกีสามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ มีการเปิดประชุมผู้แทนพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยครั้งที่ ๔ ขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน เพื่อพิจารณาปัญหาความเป็นไปได้ของการหาทางยุติความขัดแย้งระหว่างเมนเชวิคกับบอลเชวิค และวางนโยบายเกี่ยวกับการจะเข้าร่วมในการเลือกตั้งสภาดูมา (Duma)* สมัยแรกในเดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ ลูนาชาร์สกีสนับสนุนการประนีประนอมกับเมนเชวิค แต่เลนินไม่เห็นด้วย เขายังขัดแย้งกับเลนินในเรื่องการส่งผู้แทนบอลเชวิคเข้าร่วมการเลือกตั้งในสภาดูมา เลนินต้องการให้มีผู้แทนในสภาดูมาเพื่อเคลื่อนไหวงานลับเข้ากับงานเปิดเผยในสภา แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยและมีมติไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมรับการเลือกตั้งหลังการประชุมครั้งนี้ลูนาชาร์สกีเดินทางกลับเข้ารัสเซียอีกครั้งหนึ่งและถูกจับในระหว่างประชุมร่วมกับกลุ่มกรรมกร เขาถูกกักขังที่คุกเครสตี (Kresty) ในนครมอสโกเป็นเวลาเดือนเศษก่อนจะถูกตัดสินโทษให้เนรเทศไปไซบีเรีย อย่างไรก็ตาม ลูนาชาร์สกีก็สามารถหลบหนีได้โดยใช้เส้นทางผ่านฟินแลนด์ไปสวิตเซอร์แลนด์
     ลูนาชาร์สกีทำงานร่วมกับบอกดานอฟจัดตั้งกลุ่มที่เรียกชื่อว่ากลุ่มวปีโรด (Vperyod) ขึ้นที่นครเจนีวาและเคลื่อนไหวต่อต้านการดำเนินงานของบอลเชวิคในสภาดูมา พวกเขาต้องการให้เคลื่อนไหวปฏิวัติในลักษณะปิดลับและเน้นการจัดตั้งมวลชนอย่างค่อยเป็นค่อยไปขณะเดียวกันคนทั้งสองก็พยายามประยุกต์ปรัชญาทฤษฎีวิพากษ์เชิงประจักษ์ (empirical criticism) เข้ากับลัทธิมากซ์จนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำกลุ่มที่เรียกว่า ผู้สร้างพระเป็นเจ้า (God-Building) กลุ่มดังกล่าวถือว่าลัทธิมากซ์เป็นศาสนาใหม่ที่ไม่มีพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าไม่มีตัวตนจริง แต่บุคคลสามารถเป็นอมตะได้เมื่อความคิดและความเป็นตัวตนของเขายังคงอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นต่อ ๆ ไปชั่วนิจนิรันดร์ ลัทธิมากซ์จึงไม่ใช่ความจริงสูงสุดแต่เป็นสมมุติฐานที่สามารถจูงใจบุคคลอื่น ๆ ได้ เพราะมันทำให้ศรัทธาความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติอันงมงายจบสิ้นลง และแทนที่ด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ที่ จะใช้พลังสร้างสรรค์ของตนเปลี่ยนแปลงโลกในสภาพแวดล้อมร่วม (collective environment) กล่าวอีกนัยหนึ่งกลุ่มผู้สร้างพระเจ้าพยายาม ผสมผสานศรัทธาความเชื่อในศาสนาของกรรมกร เข้ากับหลักเหตุผลนิยมที่ เป็นวิทยาศาสตร์ของลัทธิมากซ์เลนินต่อต้านแนวความคิดดังกล่าวอย่างมาก และใน ค.ศ. ๑๙๐๘ เขาเขียนหนังสือ Materialism and Empiriocriticism วิพากษ์โจมตีความคิดของลูนาชาร์สกีและบอกดานอฟอย่างรุนแรงโดยชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เพ้อเจ้อไร้สาระ บอกดานอฟถูกขับออกจากพรรค แต่ลูนาชาร์สกียังคงเป็นสมาชิกและทำงานร่วมกับเลนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนทั้งสองทำให้ลูนาชาร์สกีในเวลาต่อมาหันไปสนับสนุนกลุ่มเมนเชวิคแทน
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๙-๑๙๑๑ ลูนาชาร์สกีและ กลุ่มของเขาจัดตั้งโรงเรียนการเมืองขึ้นที่เมืองโบโลญา (Bologna) และเมืองคาปรี (Capri) ประเทศอิตาลีเพื่ออบรมความคิดทางการเมืองแก่คนงานและชี้นำการทำงานให้แก่พวกเขาเพื่อสามารถทำงานปฏิวัติแทนปัญญาชนในหมู่ประชาชนได้ในช่วงเวลาดังกล่าวเขายังจัดพิมพ์หนังสือชุด ๒ เล่มจบเรื่อง Religion and Socialism เผยแพร่ ชึ่งถูกวิพากษ์โจมตีอย่างมากจากกลุ่มบอลเชวิค นอกจากนี้ เลนินก็ตอบโต้ด้วยการจัดตั้งศูนย์อบรมทางการเมืองให้แก่ผู้ปฏิบัติงานพรรคบอลเชวิคที่เมืองลงชูโม (Longjumeau) ใกล้กรุงปารีสด้วยโดยมีอีเนสซา เฟโอโดรอฟนา อาร์มันด์ (Inessa Feodorovna Armand ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๙๒๐)* นักเคลื่อนไหวที่ใกล้ชิดกับเขาเป็นผู้ช่วยอบรม ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ลูนาชาร์สกีย้ายกลับไปพักอยู่ที่กรุงปารีส และต่อมาไปอยู่ที่เมืองแซงแลเช (Saint-Lèger) สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเขามีโอกาสรู้จักและสนิทสนมกับโรแมงโรลอง (RomainRolland) และ คา. ชปิทเทเลอร์ (K. Spitteler) นักประพันธ์และกวีที่มีชื่อเสียงชาวสวิส เขาแปลผลงานบางส่วนของคนทั้งสองเผยแพร่เป็นภาษารัสเซียด้วย
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ลูนาชาร์สกีสนับสนุนความคิดของเลนินในการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและให้ใช้วิกฤตการณ์สงครามดำเนินการช่วงชิงอำนาจการเป็นผู้นำ จากรัฐบาล รวมทั้งการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* ขึ้นแทนที่ องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ขณะเดียวกันเขาก็ร่วมทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน Nashe Slovo กับตรอตสกีและวลาดีมีร์ อันโตนอฟ-ออฟเซเยนโก (Vladimir Antonov-Ovseenko)* ซึ่งจัดทำที่กรุงปารีส หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวมีนโยบายต่อต้านสงครามและเป็นที่นิยมอ่านกันในกลุ่มสังคมนิยมยุโรป ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๗ เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ขึ้นในรัสเซียที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กใน ค.ศ. ๑๙๑๔ กลุ่มสังคมนิยมเคลื่อนไหวผลักดันให้จัดตั้งสภาโซเวียตเปโตรกราดแห่งผู้แทนกรรมกรและทหารขึ้น และอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเป็นสมาชิกสภาดูมาในกลุ่มก้าวหน้า (Progressive Block) ได้เรียกร้องให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* ทรงสละราชย์ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งไม่ทรงสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้จึงทรงประกาศมอบราชบัลลังก์ให้แก่ซาเรวิชอะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช (Tsarevich Alexei Nikolayevich ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๑๘)* พระราชโอรส แต่ต่อมาทรงเปลี่ยนพระทัยมอบให้แก่พระอนุชาแกรนด์ดุ๊กไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช (Grandduke Michael Alexandrovich) อย่างไรก็ตาม แกรนด์ดุ๊กไมเคิลทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า เป็นการมอบอำนาจที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ และทรงมอบอำนาจการปกครองให้แก่เจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* การปฏิเสธที่จะสืบราชบัลลังก์ดังกล่าวทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ซึ่งปกครองจักรวรรดิรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปีถึงกาลอวสาน ข่าวการสละราชย์และชัยชนะของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ทำให้ลูนาชาร์สกีและนักปฏิวัติชาวรัสเซียนอกประเทศตัดสินใจเดินทางกลับเข้าประเทศลูนาชาร์สกีมาถึงกรุงเปโตรกราดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ และในเวลาอันสั้นก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาโซเวียตเปโตรกราด
     ลูนาชาร์สกียังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มเมจรายอนคา (Mezhrayonka) ซึ่งมีตรอตสกีเป็นผู้นำกลุ่มดังกล่าวเป็นฝ่ายสายกลางในพรรคแรงงานประชาธิปไตยสังคมรัสเซียที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๓ และใน ช่วงที่กรุงเปโตรกราดกำลังคุกรุ่นด้วยบรรยากาศอันร้อนแรงทางการเมือง กลุ่มเมจรายอนคากำลังอยู่บนทางเลือกว่าจะสนับสนุนแนวทางก่อการปฏิวัติของบอลเชวิคหรือแนวทางรัฐสภาของเมนเชวิค ลูนาชาร์สกีซึ่งร่วมอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Novaia Zhizn ของบอลเชวิคมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวสมาชิกให้สนับสนุนบอลเชวิค และยังช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างตรอตสกีกับเลนินที่แตกแยกกันมาก่อนให้ดีขึ้น ต่อมาเมื่อมีการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๖ ของพรรคบอลเชวิคในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ สมาชิกเมจรายอนคาส่วนใหญ่ซึ่งรวมทั้งลูนาชาร์สกีด้วยก็เข้าร่วมกับบอลเชวิค ตรอตสกีซึ่งถูกจำคุกอยู่ก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการกลางพรรคบอลเชวิคร่วมกับเลนิน เลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev)* กรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigory Zinoviev)* และคนอื่น ๆ ด้วย
     เมื่อเกิดการลุกฮือขึ้นในกรุงเปโตรกราดเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ลูนาชาร์สกีและแกนนำพรรคบอลเชวิคคนสำคัญถูกจับกุมด้วยข้อหาวางแผนก่อจลาจลด้วยกำลังอาวุธแต่เมื่อเกิดกรณีเรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* อันสืบเนื่องจากนายพลลาฟร์ เกออร์เกียวิช คอร์นีลอฟ (Lavr Georgyevich Kornilov)* พยายามก่อกบฏเพื่อล้มอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ เคเรนสกีได้ขอความช่วยเหลือจากสภา โซเวียตแห่งเปโตรกราดเพื่อต่อต้านคอร์นีลอฟจนมีชัยชนะโดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อ ในช่วงเวลาดังกล่าวลูนาชาร์สกีได้รับการปล่อยตัวและเขามีส่วนร่วมเคลื่อนไหวปลุกระดมทหารฝ่ายกบฏและชาวเมืองเปโตรกราดต่อต้านฝ่ายกบฏ หลังเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟสิ้นสุดลง ลูนาชาร์สกีก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนบอลเชวิคในสภาโซเวียตอีกครั้งหนึ่งและดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่ากรุงเปโตรกราดด้วยโดยทำงานด้านวัฒนธรรม
     เมื่อบอลเชวิคเตรียมการยึดอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ลูนาชาร์สกีมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวปลุกระดมความคิดแก่มวลชน กรรมกรและทหารทั่วกรุงเปโตรกราดเพื่อให้สนับสนุนสภาโซเวียต ในการยึดอำนาจ เขายังประสานงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับตรอตสกีและองค์การพรรคท้องถิ่นเพื่อยึดอำนาจในนามของสภาโซเวียต การเตรียมการของฝ่ายปฏิวัติอย่างรอบคอบดังกล่าวมีผลให้ การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ระหว่างวันที่ ๒๔๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ประสบชัยชนะ ที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ (Second All-Russian Congress of Soviets) จึงประกาศจัดตั้งคณะรัฐบาล โซเวียตหรือคณะมนตรีประชาชนแห่งสภาโซเวียตชุดแรกขึ้นปกครองประเทศโดยมีเลนินเป็นผู้นำและลูนาชาร์สกีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
     แม้ลูนาชาร์สกีจะไม่ใช่นักบริหารที่สามารถแต่เขาก็เป็นคนใจกว้าง ประนีประนอม และมีวิสัยทัศน์ แนวนโยบายบริหารของเขาคือการลดช่องว่างทางความคิดและวัฒนธรรมระหว่างปัญญาชนปฏิวัติกับประชาชนและใช้งานศิลปวรรณกรรมเป็นเครื่องมือของการปฏิวัติในการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องสังคมนิยมและการยอมรับอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลโซเวียตลูนาชาร์สกีใช้ทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่เพื่อสงวนรักษาศิลปวัตถุที่สำคัญในสมัยซาร์ไม่ให้ถูกทำลายและสนับสนุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มโปรเลตคุลต์ (Proletkult) กลุ่มดังกล่าวรณรงค์การสร้างงานศิลปะที่เป็นอิสระจากการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์และการอบรมสอนคนหนุ่มสาวที่เป็นกรรมกรและชาวนาเพื่อให้เป็นปัญญาชนโซเวียตรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างงานศิลปวรรณกรรมเพื่อชนชั้นกรรมาชีพ ลูนาชาร์สกียังพยายามโน้มน้าวปัญญาชนให้สนับสนุนร่วมงานกับรัฐบาลโซเวียตและขณะเดียวกันก็หาทางช่วยเหลือปัญญาชน ศิลปินและนักเขียนในช่วงสงครามกลางเมืองให้ดำรงชีพอยู่ได้เท่าที่โอกาสและเงื่อนไขทางสังคมจะเอื้ออำนวยให้ได้ นอกจากนี้ เขายังสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อเป็นอนุสาวรีย์แห่งการปฏิวัติและรูปปั้นนักคิดนักปฏิวัติในขบวนการสังคมนิยมติดตั้งตามเมืองต่าง ๆ ตลอดจนสร้างพิพิธภัณฑสถานเพื่อใช้เป็นสถาบันทางศิลปวัฒนธรรมเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนรวมถึงกำหนดวันสำคัญให้เป็นวันหยุดแห่งชาติเพื่อเฉลิมฉลองวาระเหตุการณ์สำคัญของการปฏิวัติด้วย เช่น วันแห่งการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ วันปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ และวันกองทัพแดง ช่วงสมัยการบริหารงานของลูนาชาร์สกีจึงได้ชื่อว่าเป็นสมัยทองแห่งศิลปวัฒนธรรมโซเวียต
     ในการปฏิรูปการศึกษา ลูนาชาร์สกีรณรงค์การขจัดความไม่รู้หนังสือให้หมดไปในเวลาอันสั้น เขาและครุปสกายารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันกำหนดการศึกษาภาคบังคับและวางนโยบายการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา รวมทั้งขยายโรงเรียนและอบรมครูตลอดจนสร้างห้องสมุดขึ้นทั่วประเทศและจัดทำตำราหนังสือเรียนใหม่ที่มีเนื้อหา ทางการเมือง มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่เรียกว่า "วิทยาลัยกรรมกร" (Worker’s Faculties - Rabfaks) ขึ้นซึ่งมีหลักสูตร ๒ ปี สอนนักศึกษาที่มาจากชนชั้นกรรมกรและชาวนาให้มีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ขณะเดียวกันมีการสร้างโรงเรียนการศึกษาแบบพอลีเทคนิคที่ผสมผสานการใช้แรงงานกับวิชาการเข้าด้วยกันและนักเรียนนักศึกษาต้องสามารถประยุกต์ความรู้ของการศึกษาทั่วไปเข้ากับการปฏิบัติและฝึกอบรมที่เป็นวิชาชีพ ลูนาชาร์สกีประสบความสำเร็จอย่างมากในนโยบายการขจัดความไม่รู้หนังสือใน ค.ศ. ๑๙๑๗ พลเมืองโซเวียตกว่าร้อยละ ๖๕ อ่านและเขียนไม่ได้ แต่เมื่อลูนาชาร์สกีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการใน ค.ศ. ๑๙๒๙ อัตราการไม่รู้หนังสือได้หมดไป
     เมื่อโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๕๓)* ผู้นำสหภาพโซเวียตสืบต่อจากเลนินดำเนินนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๓๑ โดยบีบบังคับปัญญาชนและศิลปินนักเขียนให้สร้างงานศิลปวัฒนธรรมตามที่พรรคสั่งการ ลูนาชาร์สกีไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าว เขาจึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและถูกส่งไปทำงานนอกประเทศ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๒ เขาเป็นที่ปรึกษาของมักซิม ลิวีนอฟ และเป็นผู้แทนสหภาพโซเวียตในองค์การสันนิบาตชาติในการประชุมลดอาวุธที่นครเจนีวา ค.ศ. ๑๙๓๒ ลูนาชาร์สกีสนับสนุนความคิดเรื่องการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ในการป้องกันหรือหยุดยั้งสงครามและสร้าง ระเบียบระหว่างประเทศ แต่ประเทศตะวันตกซึ่งกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ไม่ได้สนใจแนวความคิดดังกล่าวมากนัก หลังการประชุมลดอาวุธที่นครเจนีวา ลูนาชาร์สกีได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตโซเวียตประจำกรุงมาดริดสาธารณรัฐสเปนใน ค.ศ. ๑๙๓๓ แต่ระหว่างการเดินทางผ่านประเทศฝรั่งเศส เขาถึงแก่อสัญกรรมที่ เมืองมองตอง (Menton) ด้วยโรคหัวใจ รวมอายุได้ ๕๘ ปี.



คำตั้ง
Lunacharsky, Anatoly Vasilyevich
คำเทียบ
นายอะนาโตลี วาซีเลียวิช ลูนาชาร์สกี
คำสำคัญ
- สตาลิน, โจเซฟ
- อันโตนอฟ-ออฟเซเยนโก, วลาดีมีร์
- การประกันความมั่นคงร่วมกัน
- อะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช, ซาเรวิช
- กลุ่มโปรเลตคุลต์
- ลวอฟ, เกออร์กี, เจ้าชาย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- ไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช, แกรนด์ดุ๊ก
- ครุปสกายา, นาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา
- พรรคบอลเชวิค
- ลิวีนอฟ, มัคซิม มัคซิโมวิช
- ลูนาชาร์สกี, อะนาโตลี วาซีเลียวิช
- กลุ่มปลดปล่อยแรงงาน
- เลนิน, วลาดีมีร์ อิลยิช
- แนวทางปฏิวัตินารอดนิค
- เคียฟ, เมือง
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- โปลตาวา, เมือง
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- โยกิชส์, เลโอ
- มากซ์, คาร์ล
- สันนิบาตชาติ
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- กอร์กี, มักซิม
- อัคเซลรอด, ปาเวล โบรีโซวิช
- อันโตนอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- กลุ่มเมนเชวิค
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- คาลูกา, เมือง
- ลัทธิมากซ์
- มาร์ตอฟ, ยูลี โอซีโปวิช
- บอกดานอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- ฟลอเรนซ์, เมือง
- กลุ่มวปีโรด
- เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด
- โวลอกดา, จังหวัด
- มาลีนอฟสกายา, อันนา
- แซงแลเช, เมือง
- อะเวนารีอุส, ริชาร์ด
- สภาดูมา
- โรลอง, โรแมง
- โบโลญญา, เมือง
- สตอกโฮล์ม, กรุง
- เครสตี, คุก
- คาปรี, เมือง
- กลุ่มเมจรายอนคา
- ลงชูโม, เมือง
- กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ
- อาร์มันด์, อีเนสซา เฟโอโดรอฟนา
- คาเมเนฟ, เลฟ
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์ เกออร์เกียวิช
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- คาชปิทเทเลอร์
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- โคมินเทิร์น
- มองตอง, เมือง
- เปโตรกราด, กรุง
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1875-1933
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๘-๒๔๗๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf