Louis XVI (1754-1793)

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (๒๒๙๗-๒๓๓๕)

​​​​​

     พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ (King of France and Navarre ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๗๙๒) และกษัตริย์แห่งชาวฝรั่งเศส (King of the French ค.ศ. ๑๗๙๓) ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution, 1789)* ขึ้นซึ่งต่อมามีความรุนแรงจนมีการประกาศล้มเลิกระบอบกษัตริย์และทำให้การปกครองของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ซึ่งดำเนินสืบต่อกันมาหลายร้อยปีต้องยุติลงไปชั่วขณะหนึ่ง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงตั้งพระทัยที่จะเป็นประมุขที่ดีและนำประโยชน์สุขมาสู่ชาวฝรั่งเศส แต่ปัญหาของประเทศฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระองค์ซับซ้อน ยุ่งยาก และหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่กษัตริย์ที่มีเพียงเจตจำนงที่ดีเฉกเช่นพระองค์จะสามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ การมีพระอุปนิสัยที่ลังเล พระทัยอ่อนแอและมักถูกครอบงำโดยบุคคลใกล้ชิดทำให้การดำเนินการในหลาย ๆ เรื่องขัดแย้งกับกลุ่มผู้ก่อการปฏิวัติ การวางพระองค์ผิดพลาดในช่วงเวลาวิกฤติของฝรั่งเศสและการที่แกนนำของกลุ่มผู้ก่อการต้องการโต้ตอบและสื่อเจตจำนงของตนไปยังประเทศโดยรอบอย่างแข็งกร้าวทำให้ทรงถูกศาลปฏิวัติตัดสินให้ปลงพระชนม์ด้วยเครื่อง กิโยตีน (guillotine) ใน ค.ศ. ๑๗๙๓
     พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๕๔ ณ พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ชานกรุงปารีส มีพระนามว่า หลุยส์ โอกุสต์ ดุ๊กแห่งเบร์รี (Louis Auguste, Duc de Berry) ทรงเป็นโอรสองค์ที่ ๓ ของมกุฎราชกุมารหลุยส์ (Louis) พระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (Louis XV ค.ศ. ๑๗๑๕-๑๗๗๔) กับเจ้าหญิงมารี เลชชินสกา (Marie Leszczynska) พระธิดาในพระเจ้าสตานีสลาฟ (Stanislaw) แห่งโปแลนด์ที่ ถูกโค่นบัลลังก์ และเจ้าหญิงมารีอา โยเซฟา (Maria Josepha) แห่งราชอาณาจักรแซกโซนี (Saxony) พระบิดาและพระมารดาทรงปล่อยให้ดุ๊กแห่งเบร์รีอยู่ในความดูแลของอองตวน เดอ เกลอง เดอ โกซาด ดุ๊กแห่งลาโวกูยง (Antoine de Quélen de Causade, Duc de la Vauguyon) ในการจัดการศึกษาอบรม ซึ่งดุ๊กแห่งลาโวกูยงก็ไม่ได้เอาใจใส่ในงานที่ได้รับมอบหมายแม้ว่าจะมีความสำคัญเพื่อเตรียมดุ๊กแห่งเบร์รีให้พร้อมที่จะรับภาระหน้าที่ปกครองประเทศในวันข้างหน้า แต่ดุ๊กแห่งเบร์รีทรงเป็นผู้มีความจำดีจึงทำให้พระองค์มีความรู้อย่างดีในภาษาอังกฤษ ภาษาละติน วิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์
     ใน ค.ศ. ๑๗๗๐ นโยบายทางการทูตที่จะกระชับความสัมพันธ์กันระหว่างราชวงศ์บูร์บงกับราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ของออสเตรียได้นำไปสู่การอภิเษกสมรสระหว่างดุ๊กแห่งเบร์รีซึ่งได้กลายเป็นมกุฎราชกุมาร (dauphin) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๖๕ เมื่อสมเด็จพระบิดาและพระเชษฐาทั้ง ๒ พระองค์สิ้นพระชนม์หมดแล้ว กับอาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทเนีย โยเซฟา โยอันนา ฟอน เอิสแทไรช์-โลทริงเงิน [Maria Antonia Josepha Joanna von Österreich-Lothringen ต่อมาคือสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie Antoinette ค.ศ. ๑๗๗๕-๑๗๙๖)*] พระราชธิดาในจักรพรรดินีมาเรียเทเรซา (Maria Theresa ค.ศ. ๑๗๑๗-๑๗๘๐) ประมุขแห่งออสเตรียและจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๗๔๕-๑๗๖๕) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* คู่อภิเษกสมรสนี้มีพระอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ดุ๊กแห่งเบร์รีซึ่งมีพระวรกายอ้วนอันเนื่องมาจากทรงพระสำราญกับการเสวย ทรงพระดำเนินอย่างเชื่องช้า ทรงเฉื่อยชาไม่ใส่พระทัยหรือตื่นเต้นกับสิ่งต่าง ๆ รอบพระองค์นัก ไม่ทรงโปรดความหรูหราของราชสำนักแบบในสมัยพระอัยกา แต่โปรดความเรียบง่ายและการมีศรัทธาในศาสนาอย่างเคร่งครัด ทรงพอพระทัยที่จะดำรงพระชนม์ชีพอย่างเงียบ ๆ โปรดกีฬาล่าสัตว์และการประทับในโรงช่างส่วนพระองค์เพื่อทำและซ่อมกุญแจหรืองานก่อสร้าง ส่วนอาร์ชดัชเชสมารีอา พระชันษา ๑๔ ปีนั้น โปรดความสนุกสนานของชีวิตราชสำนัก ทรงร่าเริงและสนพระทัยในสิ่งสวยงาม และไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างจริงจังเพื่อให้พร้อมและเหมาะสมที่จะรับภารกิจของการเป็นสมเด็จพระราชินีของฝรั่งเศส
     เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๗๗๔ ดุ๊กแห่งเบร์รีได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๗๔ และทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๕ แม้จะทรงมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา แต่ก็ยังไม่ทรงมีความเป็นผู้ใหญ่นัก ทรงขาดความมั่นพระทัยในพระองค์ และพระอุปนิสัยหลังการอภิเษกสมรสก็ไม่แตกต่างจากก่อนหน้านั้น ในระยะแรกของชีวิตอภิเษกสมรสจึงดำเนินไปอย่างจืดชืด ทั้ง ๒ พระองค์ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกันอยู่หลายปีจนชาวฝรั่งเศสซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับการกระชับสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียด้วยวิธีอภิเษกสมรสนี้มาตั้งแต่ต้นกล่าวโทษว่าเป็นความบกพร่องของสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต ซึ่งพวกเขาเรียกว่า "นางหญิงออสเตรีย" จนกระทั่งต่อมาจึงพบว่าเป็นเพราะพระสรีระที่ไม่ปกติของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จึงได้มีการถวายการผ่าตัดเปิดหนังหุ้มปลาย หลังจากนั้นทั้ง ๒ พระองค์ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยกันดังนี้ ๑. เจ้าหญิงมารี เตแรส ชาร์ลอต (Marie-Thérèse-Charlotte ค.ศ. ๑๗๗๘-๑๘๕๑) ๒. เจ้าชายหลุยส์ โชแซฟ ซาวีแยร์ ฟรองซัว (LouisJoseph- Xavier-François ค.ศ. ๑๗๘๑-๑๗๘๙) ๓. เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ล (Louis-Charles ค.ศ. ๑๗๘๕๑๗๙๕) และ ๔. เจ้าหญิงโซฟี เบียตริซ (Sophie-Beatrix ค.ศ. ๑๗๘๖-๑๗๘๗) ตลอดพระชนม์ชีพของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่มั่นคงอยู่กับพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว ซึ่งต่างกับบรรพบุรุษของพระองค์ส่วนใหญ่ที่มีความนิยมชมชอบกับการมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับสตรีหลายคน
     แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จะทรงไม่ใช่กษัตริย์ที่เฉลียวฉลาด และไม่ได้คาดหวังที่จะปกครองประเทศมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็มีพระราชประสงค์ที่จะเป็นกษัตริย์ที่ดีที่ชาวฝรั่งเศสรักใคร่ เพราะทรงเชื่อว่าเป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าที่ให้พระองค์ขึ้นบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี ทรงไม่สามารถลบล้างพระบุคลิกที่อ่อนแอและการมีพระทัยที่ลังเลจนบุคคลรอบข้างสามารถโน้มน้าวให้คล้อยตามได้บ่อยครั้ง จึงทำให้ทรงไม่สามารถรับมือกับปัญหาของประเทศในขณะนั้นซึ่งหนักหน่วงเป็นพิเศษกว่าช่วงเวลาอื่น เรื่องราวความเป็นอยู่ของพลเมืองในประเทศพระองค์ก็ไม่ทรงเคยได้รับรู้นัก มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ทรงเคยเดินทางออกนอกเขตกรุงปารีสและเมืองแวร์ซาย นั่นคือการไปตรวจเมืองท่าแชร์บูร์ (Cherbourg) จากการที่ฝรั่งเศสได้เข้าไปพัวพันกับสงครามต่าง ๆ หลายครั้งตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) ทำให้ต้นรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ รัฐบาลมีหนี้สินถึง ๔,๐๐๐ ล้านปอนด์ ใน ค.ศ. ๑๗๘๘ อัตราคนว่างงานสูงถึงร้อยละ ๕๐ ผลผลิตทางด้านการเกษตรก็ตกต่ำราคาอาหารโดยเฉพาะขนมปังสูงมาก พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงเข้าใจถึงภาวะฝืดเคืองของประชาชน และทรงเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและการเมืองมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ดังเห็นได้จากการมอบหมายให้บารอนอาน โรแบร์ ชาก ตูร์โก (Anne-Robert- Jacques Turgot ค.ศ. ๑๗๒๗-๑๗๘๑) เสนาบดีว่าการกระทรวงการคลัง และเกรเตียง กีโยม เดอ ลามัวญง เดอ มาลแอร์บ (Chrétien Guillaume de Lamoignon de Malesherbes ค.ศ. ๑๗๒๑-๑๗๙๔) เสนอแผนปฏิรูปประเทศด้านการคลั' ทั้ง ๒ คนเห็นว่าการปฏิรูประบบการเก็บภาษีของประเทศเป็นเรื่องจำเป็นและการเรียกเก็บภาษีจากอภิสิทธิ์ชนที่เคยได้รับการยกเว้นมาโดยตลอดตามจารีตที่เป็นมานั้นจะเป็นหนทางสำคัญในการแก้ไขปัญหา
     พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงไม่คัดค้านแนวทางการปฏิรูปของตูร์โกซึ่งเป็นปรัชญาเมธีด้านเศรษฐกิจหรือฟิซิโอแครต (physiocrat) ในยุคภูมิธรรม (Enligthenment) แต่สมเด็จพระราชินีและขุนนางในราชสำนักไม่พอใจเพราะการเก็บภาษีจากอภิสิทธิ์ชนจะกระทบกระเทือนตน จึงทูลหว่านล้อมจนในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงจำต้องปลดตูร์โกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๗๖ และแต่งตั้งชาก เนแกร์ (Jacques Necker ค.ศ. ๑๗๓๒-๑๘๐๔) นักการธนาคารจากนครเจนีวาซึ่งรอบรู้เรื่องตลาดเงินตราระหว่างประเทศเข้าดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการคลังแทนในเดือนตุลาคมสถานการณ์การคลังของประเทศดีขึ้นระยะหนึ่ง แต่การที่ใน ค.ศ. ๑๗๗๘ ฝรั่งเศสมีนโยบายช่วยเหลือทั้งด้านกองทัพและอาวุธแก่อาณานิคมอเมริกาในการต่อสู้กับอังกฤษเพื่อทำสงครามการปฏิวัติของชาวอเมริกัน (American Revolution) ฝรั่งเศสสิ้นจึงเปลืองมากสถานะการคลังจึงทรุดลงอีก เนแกร์พยายามหาแหล่งเงินกู้และต้องการได้อำนาจในการแก้ไขปัญหาด้วยการหาเสียงสนับสนุนจากประชาชน เมื่อเขาเสนอให้เก็บภาษีชนชั้นที่ได้รับอภิสิทธิ์เหมือนกับที่ตูร์โกเคยเสนอเขาก็ถูกกลุ่มต่าง ๆ ในราชสำนักคัดค้านจนเนแกร์ประท้วงด้วยการลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๑ เสนาบดีคลังคนต่อ ๆ มาได้แก่ ชาร์ล อาแล็กซองดร์ เดอ กาลอน (Charles Alexandre de Calonne) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๓-๑๗๘๔ และเอเตียน ชาร์ล โลเมนี เดอ เบรียน (Etienne Charles Loménie de Brienne) อาร์ชปิชอปแห่งตูลูส (Toulouse) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๗-๑๗๘๘ ซึ่งล้วนแต่อยู่ในชนชั้นขุนนางระดับสูงก็เห็นว่าฝรั่งเศสกำลังจะล้มละลาย การเก็บภาษีชนชั้นที่เคยได้รับอภิสิทธิ์ยกเว้นนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ในที่สุดทั้ง ๒ คนก็ถูกปลดออกเช่นกันเบรียนทูลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ แต่งตั้งเนแกร์ซึ่งประชาชนชื่นชอบกลับมาดำรงตำแหน่งแทนตนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่รัฐบาลมากขึ้นและเนแกร์ก็ใช้บารมีหาแหล่งเงินกู้มาหล่อเลี้ยงกลไกของรัฐต่อไปได้สำเร็จ
     อุปสรรคสำคัญของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ไม่ได้มีแต่เพียงกลุ่มขุนนางต่าง ๆ ในราชสำนัก แต่ขุนนางใหญ่ตระกูลเก่าแก่ที่นั่งอยู่ในศาลสูงที่ เรียกว่า ปาร์เลอมอง (Parlement) ๑๓ แห่งก็ทำตัวเป็นปฏิปักษ์สำคัญต่อนโยบายปฏิรูปต่าง ๆ อันที่จริงศาลสูงถูกลิดรอนอำนาจแล้วเมื่อ ค.ศ. ๑๗๗๑ ในรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงต้องการไมตรีทั้งจากประชาชนและขุนนางจึงทรงคืนอำนาจด้านการศาลให้แก่ศาลสูงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๗๔ กฎหมายใด ๆ ที่รัฐออกจะมีผลใช้บังคับในดินแดนต่าง ๆ ได้ก็ต่อเมื่อศาลสูงของเขตนั้น ๆ ยินยอม ดังนั้น กฎหมายปฏิรูปต่าง ๆ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จึงถูกขัดขวางไม่ให้มีผลใช้บังคับก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ขุนนางเป็นสถาบันที่แสดงปฏิกิริยากล้าแข็งต่อนโยบายรัฐมากขึ้นทุกทีโดยเฉพาะศาลสูงแห่งกรุงปารีสจนใน ค.ศ. ๑๗๘๗ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงตัดสินพระทัยเรียกประชุมสภาขุนนาง (Assembly of Notables) เพื่อจะทรงชี้ให้เห็นว่ามาตรการด้านภาษีนั้นเป็นความจำเป็น แต่ขุนนางยังคงยึดมั่นกับการไม่เห็นด้วยจึงทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ให้ทรงเรียกประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติ (Estates-General) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของฐานันดรทั้งสาม ทั้งนี้เพราะพวกขุนนางรู้ดีว่าฐานันดรที่ ๑ ซึ่งได้แก่นักบวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และฐานันดรที่ ๒ ซึ่งได้แก่ขุนนางหรือผู้มีชาติกำเนิดสูงจะออกเสียง (ฐานันดรละ ๑ เสียง) ไปในทิศทางเดียวกันคือไม่เห็นด้วยที่จะให้เก็บภาษีฐานันดรที่ ๑ และที่ ๒ ดังนั้น เสียงเห็นชอบของฐานันดรที่ ๓ ก็จะไม่ก่อผลใด ๆ ได้มีการกำหนดว่าจะ เปิดประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ การลงมติเรียกประชุมนี้มีผู้มองว่ากงล้อของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๗๘๙ ได้เริ่มเคลื่อนแล้ว และนับเป็นเวลาถึง ๑๗๕ ปีที่การประชุมนี้เว้นว่างมานับตั้งแต่การเรียกประชุมครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. ๑๖๑๔
     ฐานันดรที่ ๓ ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศและครอบคลุมทั้งชนชั้นกลาง ผู้ใช้แรงงาน และชาวนาซึ่งมีตั้งแต่ร่ำรวยมากจนยากจนข้นแค้น ให้ความสำคัญและคาดหวังการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและการเมืองจากการประชุมสภาฐานันดรครั้งนี้มาก ผู้แทนของฐานันดรนี้ได้จัดเตรียมข้อร้องทุกข์ (cahiers de doléances) ที่รวบรวมจากประชาชนไว้จำนวนมากเพื่อจะเสนอให้ที่ประชุมหาทางแก้ไข ดังนั้น เมื่อการประชุมเริ่มขึ้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ และผู้แทนฐานันดร ๒ ชั้นแรกได้ดำเนินการกีดกันผู้แทนฐานันดรที่ ๓ ด้วยข้อกำหนดต่าง ๆ โดยเฉพาะการแยกประชุมตามฐานันดร และการไม่นับคะแนนเสียงตามจำนวนผู้แทนที่เข้าประชุม แต่ให้นับแบบดั้งเดิมคือแต่ละฐานันดรมี ๑ เสียงเท่านั้น ผู้แทนฐานันดรที่ ๓ จำนวน ๖๑๐ คนจึงยกขบวนไปประชุมที่สนามเทนนิสในเขตพระราชวังแวร์ซายและประกาศตนเป็นสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ที่ประชุมใหม่ได้กล่าวปฏิญาณที่เรียกว่า คำปฏิญาณสนามเทนนิส (Tennis Court Oath) ว่าจะประชุมต่อจนกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น พระเจ้า

หลุยส์ที่ ๑๖ ทรงลังเลที่จะสนับสนุนสมัชชาแห่งชาติ และในที่สุดทรงคล้อยตามกลุ่มขุนนางในราชสำนักโดยเฉพาะกลุ่มของชาร์ล กงต์แห่งอาร์ตัว [Charles, Comte d’Artois ต่อมาคือพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐)*] พระอนุชาองค์เล็กที่ต่อต้านผู้แทนฐานันดรที่ ๓ จึงเกิดข่าวลือว่าทรงเรียกกำลังทหารมาประจำการรอบกรุงปารีสและพระราชวังแวร์ซายเพื่อปราบปรามสมัชชาแห่งชาติ ต้นเดือนกรกฎาคม ทหารที่ เข้าประจำการเพิ่มจำนวนขึ้นมากจาก ๔,๐๐๐ คนเป็น ๓๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีทหารจ้างชาวสวิสและชาวเยอรมันรวมอยู่ด้วย ชาวเมืองปารีสก็ไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่พระราชวังแวร์ซายจึงต้องการมีอาวุธไว้ป้องกันตนยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะอึมครึม ความต้องการอาวุธนำไปสู่เหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์ (Fall of the Bastille)* ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ (ต่อมากลายเป็นวันที่ถือกันว่าเป็นวันเริ่มต้นการปฏิวัติและเป็นวันชาติฝรั่งเศส) นอกจากนี้ ตามเขตชนบทก็เกิดข่าวลือว่ายามดึกมีโจรที่ขุนนางว่าจ้างคอยปล้นผู้คนและทำลายพืชผลและไร่นาของประชาชนซึ่งที่จริงส่วนใหญ่คือผู้ตกงานที่สัญจรเร่ร่อนไปตามเมืองต่าง ๆ เกิดอาการหวาดผวากันไปทั่วจนเรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความกลัวครั้งยิ่งใหญ่ (Great Fear) ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่างวันที่ ๒๐ กรกฎาคม - ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ในที่สุด เพื่อควบคุมสถานการณ์ในชนบทไม่ให้ลุกลามจนผู้แทนฐานันดรที่ ๓ ที่นำการปฏิวัติและอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญอาจยับยั้งไว้ไม่ได้ จึงมีการออกพระราชกฤษฎีกาเดือนสิงหาคม (August Decrees) ยกเลิกสิทธิตามระบอบฟิวดัลที่ปฏิบัติสืบมานานในปีเดียวกัน
     พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ซึ่งเคยเชื่อตามกลุ่มขุนนางว่าในที่สุดการปฏิวัติก็จะสลายไปเอง ทรงจำต้องฝืนพระทัยยอมรับการประกาศสิทธิแห่งมนุษย์และแห่งพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) ที่ ประกาศในเดือนสิงหาคมเช่นกันและการล้มเลิกระบอบฟิวดัล เมื่อเกิดการจลาจลในวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ เพราะฝูงชนชาวปารีสระดับล่าง ประมาณ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้หญิงจำนวนไม่น้อยแต่ก็มีหลักฐานว่าชายหลายคนแต่งกายเป็นหญิงเพื่อป้องกันการถูกทหารวังที่รักษาการณ์ทำร้าย ได้เดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายตะโกนร้องขอขนมปังและเพื่อนำพระราชวงศ์มากักบริเวณโดยการให้ประทับที่พระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) ในกรุงปารีส การเคลื่อนไหวใด ๆ ของกษัตริย์และบริวารของพระองค์จะได้อยู่ในสายตาของกลุ่มผู้ก่อปฏิวัติ
     ในปีต่อมา สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ (Civil Constitution of the Clergy)* ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๐ เพื่อให้คริสตจักรฝรั่งเศสพ้นจากการควบคุมดูแล ของสำนักสันตะปาปาที่กรุงโรม และให้วงการศาสนาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยการยกเลิกภาษีศาสนา (tithes) ริบที่ธรณีสงฆ์มาขายทอดตลาด ให้รัฐเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ของวัดและเป็นผู้จ่ายเงินเดือนพระเพื่อให้ควบคุมพระได้ สันตะปาปาไม่มีสิทธิพิจารณาแต่งตั้งพระตำแหน่งต่าง ๆ ประชาชนเลือกตั้งผู้บริหารคณะสงฆ์ทุกตำแหน่ง ยกเว้นตำแหน่งบิชอปที่ ให้กษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง อีกทั้งให้สิทธิพลเมืองแก่ผู้นับถือนิกาย โปรเตสแตนต์ และต่อมาก็ขยายสิทธิให้แก่ชาวยิวด้วยนักบวชในฝรั่งเศสถูกบังคับให้ปฏิญาณว่าจะรับรองธรรมนูญสงฆ์ฉบับนี้ ครั้นเมื่อมีการประกาศของสันตะปาปาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๑ ประณามพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ นักบวชฝรั่งเศสหลายรูปก็ถอนคำปฏิญาณ จึงเกิดมีนักบวชขึ้น ๒ กลุ่มในประเทศคือกลุ่มที่รับรองธรรมนูญสงฆ์ซึ่งถูกประณามจากสำนักสันตะปาปาว่าเป็นพวกนอกรีต และกลุ่มที่ไม่ยอมปฏิญาณซึ่งเรียกว่านักบวชกลุ่มปฏิกิริยา (refractory) แต่สันตะปาปาทรงรับรองและยกย่องว่าเป็นผู้กล้าท้าทายการปฏิวัติ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงเป็นบุคคลที่ยึดมั่นในศาสนาและไม่มีพระประสงค์จะทำการใด ๆ ที่เป็นการดูหมิ่นสำนักสันตะปาปา จึงไม่สบายพระทัยมากที่จะต้องยอมรับพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ ต่อมาทรงยอมโอนอ่อนทำตามคำแนะนำของบุคคลใกล้ชิดของสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตที่วางแผนให้เสด็จหนีไปทางพรมแดนด้านตะวันออก โดยจะไปประทับที่เมืองมงเมดี (Montmédy) ในมณฑลลอแรน (Lorraine)* เพื่ออยู่ในอารักขาของผู้บัญชาการทหารเขตนั้น จากนั้นจะทรงเจรจากับสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเรื่องกฎหมายดังกล่าวใหม่ แต่ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๑ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตพร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงถูกจับได้ทั้ง ๆ ที่ทุกพระองค์ทรงอยู่ในฉลองพระองค์แบบสามัญชนที่เมืองวาแรน (Varennes) ซึ่งยังอยู่ห่างจากจุดหมายปลายทางถึง ๔๘ กิโลเมตร และถูกนำเสด็จกลับกรุงปารีส การเสด็จหนีจากกรุงปารีสครั้งนี้ทำให้ทรงสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะประมุขของประเทศ ความนิยมกษัตริย์ในหมู่ประชาชนแทบหมดสิ้นลง เพราะเป็นการสะท้อนว่าอันที่จริงแล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงไม่ได้มี พระทัยให้แก่การเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศสอย่างที่ทรงแสดงออก ป้ายชื่ออาคารและถนนสายต่าง ๆ ในกรุงปารีสที่สื่อความหมายเกี่ยวกับกษัตริย์ถูกปลดออกหมด
     ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๑ การร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นลง แม้รัฐธรรมนูญนี้ตัดทอนพระราชอำนาจลงมากแต่ยังคงให้สิทธิกษัตริย์ในการแต่งตั้งเสนาบดีและผู้บัญชาการทหาร และยังให้สิทธิยับยั้งการออกกฎหมายซึ่งสภาเป็นผู้เสนอแต่จะต้องไม่ใช่กฎหมายด้านการเงินและรัฐธรรมนูญ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงรับรองรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้อย่างไม่เต็มพระทัย และเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่รับหน้าที่ต่อจากสภาร่าง รัฐธรรมนูญแห่งชาติซึ่งสลายตัวไปแล้วได้ออกกฎหมายสำคัญ ๒ ฉบับในเดือนพฤศจิกายนต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ก็ทรงใช้อำนาจยับยั้งกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ ฉบับแรกระบุว่าพระที่ไม่ยอมปฏิญาณรับรองการปฏิวัติจะถือว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของประเทศ ฉบับที่ ๒ ระบุว่าผู้อพยพออกนอกประเทศที่ไม่เดินทางกลับฝรั่งเศสก่อนวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๒ จักถูกริบทรัพย์สินเพราะถือว่าเป็นผู้ทรยศต่อประเทศ [หลังจากการจับกุมที่เมืองวาแรนและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีขุนนางอพยพออกนอกประเทศ (émigré) มากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนพระในระบอบเก่าจำนวนมากด้วย] เมื่อทรงใช้สิทธิยับยั้งกฎหมาย ๒ ฉบับนี้ ฝ่ายปฏิวัติก็เป็นปฏิปักษ์ ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ มากยิ่งขึ้น
     ภายหลังการจับกุมที่เมืองวาแรน ออสเตรียและปรัสเซียได้ออกคำประกาศแห่งพิลล์นิทซ์ (Declaration of Pillnitz) ว่า ทั้งสองจะร่วมมือกับประเทศในยุโรปอื่น ๆ ในการกู้สถานะของกษัตริย์ฝรั่งเศสให้คืนมาคำประกาศนี้มุ่งหวังเพียงเพื่อปรามคณะปฏิวัติฝรั่งเศสเท่านั้น แต่นักปฏิวัติบางคนเชื่อว่าเป็นความจริงที่สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างชาติโดยเฉพาะออสเตรีย โดยกล่าวหาว่าพระนาง ลอบส่งคนไปที่เมืองโคเบลนซ์ (Koblenz) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการชุมนุมของพวกขุนนางอพยพและกรุงเวียนนาเพื่อวางแผนต่อต้านการปฏิวัติ นักปฏิวัติกลุ่มชีรงแด็ง (Girondin) ซึ่งคุมเสียงในสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนั้นเห็นว่าฝรั่งเศสควรเข้าสู่สงครามกับชาติยุโรปรอบบ้าน เพราะสงครามจะทำให้การปฏิวัติเข้มแข็งขึ้นและจะเป็นการช่วยพิสูจน์ว่าใครสนับสนุนหรือใครต่อต้านการปฏิวัติ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ก็ทรงสนับสนุนกลุ่มชีรงแด็งที่เรียกร้องให้ทำสงครามกับออสเตรียซึ่งประมุขขณะนั้นก็ทรงพร้อมที่จะนำประเทศเข้าสู่สงครามอันเป็นการเปลี่ยนจากนโยบายไม่แทรกแซงที่ออสเตรียใช้ตอนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสใหม่ ๆ เพราะทรงเชื่อว่าฝรั่งเศสจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ การปฏิวัติก็จะสิ้นสลายไปและพระองค์ก็จะทรงกลับคืนสู่การมีพระราชอำนาจดังเดิม
     ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายประกาศสงครามกับออสเตรียก่อนในวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ. ๑๗๙๒ ในเดือนต่อมาปรัสเซียก็ประกาศสงครามต่อฝรั่งเศส นับเป็นการเริ่มต้นสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๗๙๙)* ในวันที่ ๑ สิงหาคม ปีเดียวกัน คาร์ล วิลเฮล์ม เฟอร์ดินานด์ ดุ๊กแห่งบรันสวิก-ลูเนบูร์ก (Karl Wilhelm Ferdinand, Duke of Brunswick-Luneburg) ผู้บัญชาการกองทัพผสมออสเตรีย-ปรัสเซีย ได้ออกแถลงการณ์ที่ต่อมาเรียกว่าแถลงการณ์บรันสวิก (Brunswick Manifesto) ซึ่งขู่ชาวปารีสว่าถ้าพระราชวงศ์ฝรั่งเศสถูกทำร้าย ปรัสเซียจะลงโทษอย่างสาสม ทั้งยังขู่ไม่ให้ชาวฝรั่งเศสต่อต้านกองทัพของปรัสเซียในการกู้ระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศสคืนมาแถลงการณ์นี้ได้กลายเป็นหลักฐานที่ พิสูจน์ว่ามีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างกษัตริย์ฝรั่งเศสกับมหาอำนาจภายนอกในการวางแผนกระทำการซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศฝรั่งเศสเอง
     เมื่อกองทัพฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในการรบฝ่ายปฏิวัติก็อ้างว่าเป็นเพราะฝรั่งเศสมีไส้ศึก สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนตทรงถูกสงสัยว่าเป็นผู้เปิดเผยแผนการรบของฝรั่งเศสให้ออสเตรียและปรัสเซียล่วงรู้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงคิดจะหาผู้รับผิดชอบต่อการเพลี่ยงพล้ำของกองทัพเพื่อคงไว้ซึ่งความสำเร็จของการปฏิวัติ แถลงการณ์บรันสวิกยิ่งโหมไฟให้กลุ่มปฏิวัติเคืองแค้นมากขึ้น มักซีมีเลียง ฟรองซัว มารี-อีซีดอร์ โรแบสปีแยร์ (Maximilien Francois Marie-Isidore Robespierre)* สมาชิกสภาคนสำคัญเรียกร้องให้โค่นล้มระบอบกษัตริย์ที่เป็นอยู่และเสนอให้ตั้งสภากงวองซิยงแห่งชาติ (National Convention) เหมือนดังที่อาณานิคมอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือเคยจัดตั้งทำหน้าที่ แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกวาดล้างพวกที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์ซึ่งกำลังบั่นทอนความสำเร็จของการปฏิวัติ
     ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ ฝูงชนจำนวนหนึ่งและกองกำลังป้องกันชาติแห่งกรุงปารีสได้พากันไปที่พระราชวังตุยเลอรี มีการยิงโต้ตอบกับทหารรักษาการณ์ที่พระราชวังซึ่งมีประมาณ ๓,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้เป็นทหารจ้างชาวสวิส ๑,๐๐๐ คน พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ต้องเสด็จเข้าไปหลบภัยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งต่อมาฝูงชนก็ตามไปจับพระองค์และพระราชวงศ์และนำไปกักบริเวณที่เรือนจำตองเปลอ (Temple) สภานิติบัญญัติแห่งชาติจำต้องรับคำว่าจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับ ค.ศ. ๑๗๙๑ และจะเลือกตั้งสมาชิกสภากงวองซิยงขึ้น อนึ่ง ระหว่างนั้น สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ดำเนินไปโดยฝรั่งเศส เป็นฝ่ายตั้งรับ ช่วงกลางเดือนสิงหาคม มาร์กี เดอ ลาฟาแยต (Marquis de Lafayette)* ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาการกรุงปารีสก็หันไปฝักใฝ่กับออสเตรีย อีกทั้งทัพของปรัสเซียก็รุกเข้าไปจนเกือบถึงเมืองแวร์เดิง (Verdun) ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญก่อนเข้าสู่กรุงปารีส คณะปฏิวัติยิ่งต้องปลุกใจชาวฝรั่งเศสให้ขับไล่ศัตรูออกไป
     สภากงวองซิยงเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ และในวันรุ่งขึ้นก็ประกาศล้มเลิกระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศสจึงเข้าสู่สมัยสาธารณรัฐที่ ๑ (First Republic of France)* ในเดือน พฤศจิกายน มีการพบหลักฐานว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงเคยติดต่อกับโอโนเร กาบรีเอล รีเกอตี กงต์แห่งมีราโบ (Honoré Gabriel Riqueti, Comte de Mirabeau ค.ศ. ๑๗๔๙-๑๗๙๑) นักปฏิวัติสายกลางที่เคยเป็นผู้แทนฐานันดรที่ ๓ และเป็นผู้สนับสนุนระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และเคยมีการติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างชาติเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ ในเดือนธันวาคมต่อมาจึงมีการพิจารณาไต่สวนความผิดของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ด้วยข้อหากบฏต่อประเทศ โดยเรียกพระองค์ว่าหลุยส์ กาเป (Louis Capet คำว่า กาเป เป็นชื่อบรรพบุรุษของราชวงศ์กาเปและราชวงศ์บูร์บง) อันเนื่อง มาจากแรงกดดันของพวกซองกูลอต (sans-culottes) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่างในเมืองหัวรุนแรงที่ร่วมมือกับกลุ่มชาโกแบ็ง (Jacobin) ซึ่งมีโรแบสปีแยร์เป็นผู้นำพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงต้องปรากฏพระองค์ต่อหน้าสภากงวองซิยง ๒ ครั้ง คือ ในวันที่ ๑๑ และ ๒๓ ธันวาคม กลุ่มชีรงแด็งพยายามหาทางช่วยพระองค์ ไม่ให้ต้องทรงรับโทษหนัก แต่ไม่สำเร็จ วันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ สมาชิกสภา ๗๒๑ คน ลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ว่าพระองค์มีความผิด เมื่อมีการพิจารณาบทลงโทษ ๓๖๑ เสียง ให้ประหาร ๒๘๘ เสียง ให้คุมขัง และอีก ๗๒ เสียง งดออกเสียง
     เช้าวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ.๑๗๙๓ ซึ่งอากาศหนาวยะเยือกและเปียกชื้น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงตื่นบรรทมเวลา ๐๕.๐๐ น. มีทหารม้าจำนวน ๑,๒๐๐ คน มารอรับนำเสด็จด้วยรถม้าไปยังลานประหารที่เรียกว่าลานแห่งการปฏิวัติ (Place de la Révolution) หรือลานพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (Place de Louis XV) ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงเชิญเฮนรี เอสเซกซ์ เอดจ์เวิร์ท เดอ ฟีร์มอนต์ (Henry Essex Edgeworth de Firmont) นักบวชชาว

อังกฤษที่พำนักในฝรั่งเศสตามเสด็จไปในรถม้าด้วย เขาได้จดบันทึกเหตุการณ์ประหารในวันนั้นอย่างละเอียด (เป็นเวลานานพอสมควรก่อนหน้านี้แล้วที่ทรงถูกปฏิเสธไม่ให้พระนิกายโรมันคาทอลิกมาประกอบพิธีต่าง ๆ ถวาย) สองข้างทางมีฝูงชนยืนเรียงราย บ้างถืออาวุธประเภทปืนและหลาว ที่ลานประหารมีปืนใหญ่ตั้งเรียงรายล้อมรอบ เมื่อเสด็จถึง ทหาร ๓ นายสาวเท้าเข้าไปหาพระองค์เพื่อจัดฉลองพระองค์ให้พร้อมสำหรับการประหารด้วยเครื่องกิโยติน พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงรับสั่งด้วยพระทัยสงบนิ่งว่าจะทรงจัดการเอง ทรงปลดผ้าผูกพระศอ และจัดพระภูษาให้พร้อม
     ก่อนทรงพระดำเนินขึ้นสู่แท่นประหาร ทรงมีรับสั่งว่า "ข้าพเจ้าตายอย่างผู้บริสุทธิ์ต่ออาชญากรรมทั้งปวงที่กล่าวหาว่าข้าพเจ้ากระทำ ข้าพเจ้าอภัยให้แก่ผู้ที่ทำให้ชีวิตข้าพเจ้าจบสิ้นลง และขอต่อพระผู้เป็นเจ้าว่าเลือดที่ พวกท่านกำลังจะทำให้หลั่งออกมา [จากร่างของข้าพเจ้า] จะไม่ตกลงบนผืนแผ่นดินฝรั่งเศสอีก" พระเศียรหลุดจากพระศอภายในพริบตาในเวลา ๑๐.๑๕ น. ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง ‘สาธารณรัฐจงเจริญ’ (Vive la République!)’ ของฝูงชนที่มาดู และมีการโยนหมวกขึ้นสู่อากาศอย่างยินดีปรีดา
     พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ที่ ทรงถูกขนานพระนามอย่างดูถูกโดยพวกปฏิวัติว่า หลุยส์ กาเปต์ หรือบ้างก็เรียกพระองค์ว่า หลุยส์คนสุดท้าย (Louis le Dernier หรือ Louis the Last) สวรรคตขณะพระชนมายุ ๓๘ ปี พระศพได้ถูกส่งไปฝังที่สุสานของโบสถ์มาเดอแลน (Church of the Madeleine)ที่เก่าแก่ กงต์แห่งโปรวองซ์ (Comte de Provence) พระอนุชาซึ่งต่อมาคือพระเจ้า หลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๗๕๕-๑๘๒๔)* ซึ่งขณะนั้นต้องประทับอยู่นอกประเทศที่เมืองฮามม์ (Hamm) ใกล้เมืองดุสเซลดอร์ฟ (Dusseldorf) ในแคว้นเวสต์ฟาเลีย (Westphalia) ภายใต้การปกครองของ อาร์ชบิชอปแห่งโคโลญ ( Archbishop of Cologne) ทรงประกาศว่า เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ล องค์มกุฏราชกุมารที่ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำตองเปลอ เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๗ แห่งฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ความที่ต้องทรงตรากตรำ กับชีวิตนักโทษที่ถูกใช้งานอย่างโขกสับ ในที่สุด เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรควัณโรคในเรือนจำขณะพระชันษา ๑๐ ปี.


เครื่องกิโยตีน เป็นเครื่องมือที่ ใช้ในการประหารชีวิตประดิษฐ์โดยนายแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อโชแซฟ-อีญาซ กีโยแตง (Joseph-Ignace Guillotin ค.ศ. ๑๗๓๘-๑๘๑๔) เขาเคยเป็นผู้แทนฐานันดรที่ ๓ ในการประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ และเป็นผู้เสนอสภาร่าง รัฐธรรมนูญให้ใช้เครื่องประหารแบบตัดศีรษะนักโทษ เพราะจะได้ผลอย่างรวดเร็วและเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมด้วย เครื่องกิโยตีนจึงมีชื่อเรียกโดยนำมาจากชื่อสกุลของนายแพทย์กีโยแตง แม้จะมีการใช้อุปกรณ์ที่ คล้ายคลึงกับแบบที่ นายแพทย์กีโยแตงเสนอมาก่อนใน สกอตแลนด์รัฐเยอรมันและคาบสมุทรอิตาลีก็ตาม

คำตั้ง
Louis XVI
คำเทียบ
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖
คำสำคัญ
- พระราชกฤษฎีกาเดือนสิงหาคม
- โปรวองซ์, กงต์แห่ง
- ตุยเลอรี, พระราชวัง
- ดึสเซลดอร์ฟ, เมือง
- การทลายคุกบาสตีย์
- ลานแห่งการปฏิวัติ
- พระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์
- เบรียน, เอเตียน ชาร์ล โลเมนี เดอ
- กลุ่มชาโกแบง
- สภาฐานันดรแห่งชาติ
- อาร์ชปิชอปแห่งตูลูส
- ปาร์เลอมอง
- ความกลัวครั้งยิ่งใหญ่
- ชาร์ลที่ ๑๐, พระเจ้า
- ซองกูลอต, พวก
- สภากงวองซิยงแห่งชาติ
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- ลาฟาแยต, มาร์กี เดอ
- สมัยสาธารณรัฐที่ ๑
- ฟีร์มอนต์, เฮนรี เอสเซกซ์ เอดจ์เวิร์ท เดอ
- โอโนเร กาบรีเอล รีเกอตี กงต์แห่งมีราโบ
- กีโยแตง, โชแซฟ-อีญาซ
- หลุยส์ที่ ๑๖, พระเจ้า
- แวร์เดิง, เมือง
- มารี อองตัวแนต, พระราชินี
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- ฟรานซิสที่ ๑, จักรพรรดิ
- มารี เลชชินสกา, เจ้าหญิง
- มาเรีย เทเรซา, จักรพรรดินี
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- มารีอา โยเซฟา, เจ้าหญิง
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- บูร์บง, ราชวงศ์
- หลุยส์ที่ ๑๕, พระเจ้า
- แวร์ซาย, พระราชวัง
- มารีอา อันโทเนีย โยเซฟา โยอันนา ฟอน เอิสแทไรช์-โลทริงเงิน, อาร์ชดัชเชส
- แชร์บูร์, เมืองท่า
- เนแกร์, ชาก
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- หลุยส์ โอกุสต์ ดุ๊กแห่งเบร์รี
- สตานีสลาฟ, พระเจ้า
- ตูร์โก, อาน โรแบร์ ชาก, บารอน
- หลุยส์ โชแซฟ ซาวีแยร์ ฟรองซัว,เจ้าชาย
- โซฟี เบียตริซ, เจ้าหญิง
- หลุยส์ ชาร์ล, เจ้าชาย
- เกรเตียง กีโยม เดอ ลามัวญง เดอ มาลแอร์บ
- หลุยส์ที่ ๑๔, พระเจ้า
- นักบวชกลุ่มปฏิกิริยา
- มารี เตแรส ชาร์ลอต, เจ้าหญิง
- คำปฏิญาณสนามเทนนิส
- หลุยส์ กาเป
- กาลอน, ชาร์ล อาแล็กซองดร์ เดอ
- สภาขุนนาง
- ยุคภูมิธรรม
- อองตวน เดอ เกลอง เดอ โกซาด ดุ๊กแห่งลาโวกูยง
- ลอแรน, มณฑล
- โคเบลนซ์, เมือง
- นักปฏิวัติกลุ่มชีรงแด็ง
- โรแบสปีแยร์, มักซีมีเลียง ฟรองซัว มารี-อีซีดอร์
- คำประกาศแห่งพิลล์นิทซ์
- มงเมดี, เมือง
- อาร์ตัว, ชาร์ล กงต์แห่ง
- แถลงการณ์บรันสวิก
- วาแรน, เมือง
- บรันสวิก-ลูเนบูร์ก, คาร์ล วิลเฮล์ม เฟอร์ดินานด์ ดุ๊กแห่ง
- ตองเปลอ, เรือนจำ
- เวสต์ฟาเลีย, แคว้น
- อาร์ชบิชอปแห่งโคโลญ
- ฮามม์, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1754-1793
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๒๙๗-๒๓๓๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf