Warsaw Uprising (1944)

การลุกฮือที่วอร์ซอ (พ.ศ. ๒๔๘๗)

การลุกฮือที่วอร์ซอเป็นการลุกฮือขึ้นสู้ด้วยอาวุธของขบวนการใต้ดินโปแลนด์ในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ระหว่างวันที่ ๑ สิงหาคม–๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ รวม ๖๓ วัน เพื่อปลดปล่อยกรุงวอร์ซอจากการยึดครองของเยอรมนีการลุกฮือเกิดขึ้นในช่วงที่กองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตเคลื่อนกำลังเข้ามาทางทิศตะวันออกใกล้กรุงวอร์ซอ กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ (Polish Home Army) ซึ่งคาดหวังว่ากองกำลังโซเวียตจะเข้าหนุนช่วย จึงตัดสินใจก่อการลุกฮือขึ้นเพื่อต่อต้านเยอรมนี กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์จำนวน ๓๘,๐๐๐ คน และกองกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์โปแลนด์และผู้รักชาติอีก ๒,๐๐๐ คน เข้าโจมตีกองทัพเยอรมันและสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงวอร์ซอทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำวิสตูลา (Vistula) ได้ภายในเวลาเพียง ๔ วัน อย่างไรก็ตาม กองทัพเยอรมันที่ได้รับกำลังสนับสนุนในเวลาต่อมาเริ่มบุกโจมตีด้วยปืนใหญ่และทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพแดงก็หยุดเคลื่อนทัพเข้ามากรุงวอร์ซอ และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายพันธมิตรเข้าช่วยเหลือโปแลนด์ที่ถูกปิดล้อมกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์จึงต้องยอมจำนนแก่เยอรมนีในต้นเดือนตุลาคมเมื่อเสบียงและอาวุธหมดลง

 หลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรเพื่อปลดปล่อยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสจากการยึดครองของเยอรมนีในวันดี-เดย์ (D-Day ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔)* ได้สำเร็จแล้ว กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตได้เคลื่อนกำลังบุกโจมตีเยอรมนีในเบโลรัสเซีย ยูเครน และภูมิภาคบอลติกตามลำดับ และ


ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ก็เคลื่อนกำลังข้ามพรมแดนเข้ามาในพื้นที่ที่เยอรมนียกให้สหภาพโซเวียตตามข้อตกลงลับกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งใกล้ถึงชานกรุงวอร์ซอ โปแลนด์ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีซึ่งเพิ่งรอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารในเหตุการณ์แผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม (July Bomb Plot)* สั่งการให้ป้องกันกรุงวอร์ซอเต็มกำลังข่าวการบุกของกองทหารแดงที่ใกล้จะถึงกรุงวอร์ซอและตั้งมั่นบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำวิสตูลา ทำให้ขบวนการใต้ดินโปแลนด์และนายพลทาเดอุส โบร์-โคโมรอฟสกี (Tadeusz Bór-Komorowski) ผู้นำกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์เห็นเป็นโอกาสที่จะก่อการลุกฮือด้วยอาวุธตามแผนปฏิบัติการที่ได้เตรียมกันมานานแล้ว ฝ่ายก่อการติดต่อขอความเห็นชอบจากรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนในปฏิบัติการที่จะมีขึ้น โดยคาดการณ์กันว่ากองทัพแดงจะตีฝ่าแนวป้องกันของเยอรมนีข้ามแม่น้ำวิสตูลาเพื่อปลดปล่อยกรุงวอร์ซอด้วย รัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นจึงเห็นชอบกับแผนการลุกฮือขึ้นสู้ และหวังว่าการลุกฮือจะประสบผลสำเร็จซึ่งจะทำให้กองกำลังที่สนับสนุนรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นได้เข้าควบคุมกรุงวอร์ซอและมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์เดิมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อต้านแห่งโปแลนด์ (Polish Resistance Movement)* ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ในช่วงที่กรุงวอร์ซอถูกปิดล้อมและใกล้จะถูกยึดครองโดยกองทัพนาซี นายพลมีคัล การาเซวีตซ์-โตการ์เซฟสกี (Michał Karaszewicz-Tokarzewski) ผู้บัญชาการกองทัพโปลิชวิกทอรีเซอร์วิซ (Polish Victory Service) จึงนำพลพรรคจัดตั้งเป็นองค์การลับเพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยอาวุธในการปลดปล่อยโปแลนด์โดยใช้ชื่อว่าสหภาพแห่งการต่อสู้ด้วยอาวุธ (Union of Armed Struggle) มีการแบ่งกองกำลังเคลื่อนไหวต่อสู้นายพลทาเดอุส โบร์-โคโมรอฟสกีผู้นำกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์เป็น ๒ ส่วน คือ ในดินแดนที่อยู่ใต้การปกครองของเยอรมนี มีกรุงวอร์ซอเป็นศูนย์บัญชาการ และในดินแดนที่สหภาพโซเวียตยึดครอง มีศูนย์บัญชาการที่เมืองลวอฟ (Lwów) สหภาพแห่งการต่อสู้ด้วยอาวุธจะขึ้นต่อรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนและอ้างเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใต้ดินโปแลนด์ (Polish Underground State) ที่ถือว่าโปแลนด์ยังไม่พ่ายแพ้ต่อศัตรูเพราะมีรัฐบาลพลัดถิ่นจัดตั้งขึ้นนอกประเทศ ในประเทศก็มีกองกำลังต่อสู้เคลื่อนไหวในนามของรัฐใต้ดินโปแลนด์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการคงอำนาจอธิปไตยในประเทศ ในเวลาอันรวดเร็ว สหภาพแห่งการต่อสู้ด้วยอาวุธก็มีขบวนการใต้ดินต่อต้านนาซีอื่น ๆ มาเข้าร่วมด้วยจนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นขบวนการต่อต้านติดอาวุธ (Armed Resistance Movement) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กองทัพปิตุภูมิ” (Home Army) หรือ “กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์” มีกำลังคนทั้งหมดประมาณ ๒๐๐,๐๐๐–๔๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒–๑๙๔๔ กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ดำเนินงานต่อต้านเยอรมนีหลายรูปแบบนับจากการเน้นการปกป้องตนเองด้วยการก่อวินาศกรรมเส้นทางรถไฟและเส้นทางคมนาคมขนส่งเพื่อไม่ให้กองทัพเยอรมันใช้ประโยชน์ได้ มีการช่วยเหลือนักโทษและตัวประกันและการลอบสังหารพวกเกสตาโป (Gestapo)* และเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอส (SS)* รวมทั้งผู้ที่ให้ความร่วมมือกับเยอรมนี การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือชาวยิวให้หลบหนีออกนอกประเทศ และการส่งข่าวคราวให้โลกภายนอกได้รับรู้ถึงชะตากรรมของชาวยิวในดินแดนที่เยอรมนียึดครองการจัดตั้งหน่วยข่าวกรองเพื่อสืบความเคลื่อนไหวของเยอรมนีและแจ้งให้ฝ่ายพันธมิตรรับทราบ ซึ่งหน่วยข่าวกรองมีประสิทธิภาพมากเพราะสามารถแจ้งให้ฝ่ายพันธมิตรรับรู้การเตรียมบุกสหภาพโซเวียตของเยอรมนีในปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation of Barbarossa)* และการพัฒนาจรวดวี ๒ ที่เพเนอมุนเดอ (Peenemunde) จนทำให้อังกฤษสามารถส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดถล่มศูนย์วิจัยเพเนอมุนเดอได้ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ การฝึกอบรมทางทหารแก่นักศึกษา การจัดทำเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ กว่า ๑,๑๐๐ ฉบับ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการทางทหารที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงมากที่สุดของกองทัพปิตุภูมิภูมิโปแลนด์คือการลุกฮือขึ้นสู้ด้วยอาวุธทั่วประเทศเพื่อเข้าควบคุมเมืองและพื้นที่ที่กองทหารเยอรมันเตรียมตั้งรับการบุกของกองทัพโซเวียตให้ได้ก่อนที่กองกำลังทัพโซเวียตจะมาถึง ซึ่งจะทำให้ขบวนการใต้ดินโปแลนด์มีอำนาจดูแลประเทศโดยชอบธรรม กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์จึงเตรียมการลุกฮือขึ้นตามแผนที่เรียกว่า ปฏิบัติการเทมเพสต์ (Operation Tempest) หรือปฏิบัติการพายุ ใน ค.ศ. ๑๙๔๔

 การลุกฮือที่วอร์ซอเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเทมเพสต์ที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศเมื่อกองทัพโซเวียตเคลื่อนกำลังเข้าใกล้กรุงวอร์ซอ วัตถุประสงค์หลักของปฏิบัติการเทมเพสต์คือการขับไล่กองทัพเยอรมันออกจากเมืองและพื้นที่ที่เยอรมนียึดครองและหนุนช่วยฝ่ายพันธมิตรในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ วัตถุประสงค์รองคือการปลดปล่อยกรุงวอร์ซอให้ได้ก่อนที่กองทัพแดงจะเข้ามาปลดปล่อยเพื่อเปิดทางให้รัฐโปแลนด์ใต้ดินได้อำนาจการปกครองซึ่งจะทำให้สถานะของรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายพันธมิตรมากกว่าคณะกรรมาธิการปลดปล่อยชาติแห่งโปแลนด์ (Polish Committee of National Liberation) ที่สหภาพโซเวียตสนับสนุน เมื่อข่าวกองทัพโซเวียตเคลื่อนกำลังข้ามแม่น้ำวิสตูลาใกล้จะถึงกรุงวอร์ซอและสถานีวิทยุกระจายเสียงโซเวียตก็ออกอากาศเรียกร้องให้ชาวโปลลุกขึ้นสู้เพื่อขับไล่เยอรมนี กอปรกับข้าหลวงเขตวอร์ซอบังคับเกณฑ์ชาวโปลทั้งหญิงและชายอายุระหว่าง ๑๗–๖๕ ปี จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คน จากค่ายกักกัน (Concentration Camp)* รวมทั้งผู้ที่อาศัยในกรุงวอร์ซอให้มาสร้างแนวป้องกันรอบกรุงวอร์ซอ กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์จึงวิตกว่าเยอรมนีจะใช้วิธีการรุนแรงเพื่อกวาดต้อนแรงงานชาวโปลซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการระดมพลของกองทัพโบร์-โคโมรอฟสกีผู้บัญชาการกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์และนายทหารระดับสูงคนอื่น ๆ จึงตัดสินใจระดมกำลังพลในเขตวอร์ซอทั้งหมดรวมทั้งขบวนการต่อต้านต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อลุกฮือขึ้นสู้ในเวลา ๑๗.๐๐ น. ของเย็นวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ โดยใช้รหัสการปฏิบัติการว่า “ชั่วโมง-ดับเบิลยู” (W-hour) ซึ่งดับเบิลยูในภาษาโปล หมายถึง “อิสรภาพ” หรือ “การต่อสู้” กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ได้แบ่งพื้นที่การลุกฮือเป็น ๘ เขตใหญ่เพื่อเข้ายึดครอง แต่ในเวลาขณะนั้น กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ยังไม่รู้ว่ากองทัพโซเวียตหลังปะทะกับกองทหารเยอรมันได้หยุดเคลื่อนกำลังพลแล้ว

 ในช่วง ๔ วันแรกของการต่อสู้ กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์เป็นฝ่ายได้เปรียบและสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงวอร์ซอไว้ได้ยกเว้นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น สนามบิน สถานีตำรวจ สถานีรถไฟใจกลางเมืองที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับพื้นที่ทางตอนเหนือในวันที่ ๕ สิงหาคม ฝ่ายก่อการเริ่มตั้งรับและอาวุธยุทธภัณฑ์รวมทั้งเสบียงเริ่มขาดแคลน ส่วนเยอรมนีไม่ได้อ่อนกำลังลงทั้งยังได้รับกำลังเสริมสมทบมากขึ้นรวมทั้งกำลังทางอากาศ ผู้นำฝ่ายก่อการพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนให้ส่งเสบียงทางอากาศและติดต่อรัฐบาลอังกฤษให้โน้มน้าวกองทัพโซเวียตเคลื่อนกำลังมาช่วยเหลือ ทั้งสั่งให้หยุดปฏิบัติการโจมตีเพื่อสงวนกระสุนและอาวุธไว้แม้อังกฤษจะให้ความช่วยเหลือด้วยการขนส่งทางอากาศแต่นักบินก็ต้องบินจากสนามบินที่อิตาลีมายังกรุงวอร์ซอเพราะสหภาพโซเวียตไม่อนุญาตให้ใช้สนามบินของตน การช่วยเหลือทางอากาศจึงไม่ได้ผลมากนักเพราะเส้นทางบินไปกลับยาวไกลและการทิ้งสิ่งของส่วนใหญ่มักตกลงในพื้นที่ของเยอรมนี การขนส่งทางอากาศในท้ายที่สุดต้องยกเลิกตั้งแต่วันที่ ๕ สิงหาคม เป็นต้นมา เยอรมนีโหมบุกโต้กลับและเริ่มยึดพื้นที่บางส่วนกลับคืนได้ ในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ซึ่งรับรู้ว่ากำลังทัพโซเวียตจะไม่เข้ามาช่วยเหลือและปลดปล่อยกรุงวอร์ซอต้องปรับแผนการตั้งรับการโจมตีโดยกระจายกำลังกันออกไปและหลีกเลี่ยงการปะทะกับกำลังทัพขนาดใหญ่ของเยอรมัน ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* ผู้บัญชาการทหารกองทัพสำรองเอสเอส (Commander in Chief of the Army Reserve SS) สั่งให้ทหารบุกตรวจค้นบ้านเรือนทุกหลัง และให้สังหารทุกคนที่พบโดยไม่คำนึงเรื่องเพศและอายุทั้งให้เผาศพทิ้ง ปฏิบัติการเหี้ยมโหดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะทำลายขวัญการต่อสู้ของชาวโปล และให้ยอมแพ้แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก

 แม้กองทัพเยอรมันจะสามารถยึดเขตโวลา (Wola) ซึ่งเป็นพื้นที่ป้องกันแข็งแกร่งของฝ่ายก่อการซึ่งเชื่อมต่อใจกลางเมืองและเขตเมืองเก่าไว้ได้ แต่ฝ่ายโปลสามารถยึดเขตเกตโตวอร์ซอและค่ายกักกันแรงงานแก็งชิอุดฟ์คา (Gesiódwka) ทั้งปลดปล่อยเชลยยิวได้กว่า ๓๐๐ คน ก่อนล่าถอยและบางส่วนไปสมทบกับกองกำลังป้องกันเขตเมืองเก่า ระหว่างวันที่ ๙–๑๘ กันยายนมีการปะทะกันอย่างดุเดือดและต่อเนื่องบริเวณเขตเมืองเก่าและพื้นที่ใกล้เคียง เยอรมนีใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มและใช้เชลยศึกเป็นโล่กำบังอยู่หน้ารถถังทั้งทิ้งระเบิดทางอากาศฝ่ายโปลซึ่งขาดอาวุธและเสบียงสามารถยืนหยัดต่อสู้ได้โดยได้รับความสนับสนุนจากชาวเมืองจนถึงปลายเดือนกันยายนและเริ่มล่าถอยจากเขตเมืองเก่าในคืนวันที่ ๒ กันยายน โดยใช้ท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ เป็นเส้นทางหนี ส่วนคนที่หนีไม่ได้จะถูกสังหารหรือถูกส่งไปยังค่ายกักกันแรงงาน

 ในเดือนกันยายน กองทัพโซเวียตซึ่งมีนายพลคอนสตันติน คอนสตันติโนวิช โรคอสซอฟสกี (Konstantin Konstantinovich Rokossovsky)* เป็นผู้บังคับบัญชาปะทะกับกองทัพเยอรมันทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวิสตูลาและสามารถขับไล่กองทัพเยอรมันให้ล่าถอยออกจากเขตพื้นที่ปรากา (Praga) ทางฝั่งขวาของแม่น้ำวิสตูลาได้สำเร็จ แต่กองทัพโซเวียตก็ไม่เคลื่อนกำลังเข้ามาช่วยฝ่ายก่อการ อย่างไรก็ตาม กองกำลังโปแลนด์ที่สังกัดกับกองทัพโซเวียตได้เคลื่อนกำลังข้ามแม่น้ำวิสตูลามาสมทบกรุงวอร์ซอกับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ แต่ก็ไม่สามารถต้านกำลังป้องกันของเยอรมนีได้ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษเรียกร้องโจเซฟสตาลิน และประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ให้ความช่วยเหลือแก่โปแลนด์ อังกฤษได้ส่งเสบียงทางอากาศแก่พวกโปลโดยใช้สนามบินที่อังกฤษและอิตาลี เนื่องจากสหภาพโซเวียตปฏิเสธที่จะให้ใช้สนามบิน


เพราะสตาลินเห็นว่าขบวนการต่อต้านโปแลนด์เป็นเสมือนอาชญากรและการลุกฮือได้แรงบันดาลใจจากศัตรูของสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือในขอบเขตที่จำกัดเพราะโรสเวลต์ไม่ต้องการให้สตาลินขุ่นเคืองก่อนการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference)* จะเริ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสหภาพโซเวียตก็ยอมให้ฝ่ายพันธมิตรใช้สนามบินทั้งเข้าร่วมในการช่วยเหลือทางอากาศด้วย แต่สถานการณ์การต่อสู้ก็พลิกผันเพราะฝ่ายโปลอ่อนล้าและกำลังพลเหลือน้อยลง

 เมื่อกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่สิ้นหวังเนื่องจากขาดอาวุธกระสุนและเวชภัณฑ์รวมทั้งอดอยาก ผู้นำกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์จึงตัดสินใจยอมแพ้และยุติการต่อสู้ในเย็นวันที่ ๒ ตุลาคม เยอรมนีให้สัญญาว่าจะปฏิบัติต่อทหารของกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ตามความตกลงเจนีวาและปฏิบัติต่อพลเรือนอย่างมีมนุษยธรรม ในวันรุ่งขึ้นเยอรมนีก็ปลดอาวุธกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์และต่อมาได้ส่งทหารที่ความเสียหายของเขตเมืองเก่าวอร์ซอเป็นเชลยสงคราม ๑๕,๐๐๐ คน ไปยังค่ายเชลยต่าง ๆ ในเยอรมนี มีทหารประมาณ ๕,๐๐๐–๖,๐๐๐ นายที่ไม่ยอมถูกจับและปลอมตัวเป็นพลเรือนเพื่อหวังจะได้มีโอกาสต่อสู้อีกครั้งในวันข้างหน้า พลเรือนชาวโปลประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คนถูกขับไล่ออกจากเมืองและถูกส่งไปยังค่ายพักนักโทษ ในจำนวนพลเรือน ๓๕๐,๐๐๐–๕๐๐,๐๐๐ คนที่ส่งมาค่ายพักนักโทษ ๙๐,๐๐๐ คนถูกส่งไปค่ายกักกันแรงงานในเยอรมนีและ ๖๐,๐๐๐ คนถูกส่งไปสังหารที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) ราเวนส์บรึค (Ravensbrück) และอื่น ๆ ส่วนพลเรือนที่เหลือถูกส่งไปยังพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)*

 ความพ่ายแพ้ของการลุกฮือที่วอร์ซอมีสาเหตุหลัก ๓ ประการคือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่สืบเนื่องจากสหภาพโซเวียตตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่น ในต้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๔๓ สหภาพโซเวียตไม่พอใจที่รัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นเรียกร้องให้องค์การกาชาดสากลเข้าไปไต่สวนเรื่องการสังหารหมู่ที่คะทิน (Katyn Massacre)* และตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับเชลยชาวโปลที่โซเวียตเคยจับคุมขังรวม ๑๕,๐๐๐ คน ที่สูญหายอย่างไร้ร่องรอย สหภาพโซเวียตจึงต่อต้านรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นรวมทั้งผู้แทนของรัฐใต้ดินโปแลนด์ ปัญหาการขาดการสนับสนุนจากกองทัพพันธมิตร กองทัพรัสเซียซึ่งเคลื่อนกำลังมาใกล้จะถึงเขตพื้นที่ปรากาไม่ยอมเคลื่อนกำลังต่อเข้ามายังกรุงวอร์ซอ และสหภาพโซเวียตซึ่งควบคุมพื้นที่สนามบินกว่า ๑๐๐ แห่ง ในรัศมีที่จะโจมตีทางอากาศเพื่อปกป้องวอร์ซอได้กลับไม่มีเครื่องบินรบโซเวียตออกปฏิบัติการแม้แต่ลำเดียว สหภาพโซเวียตยังไม่อนุญาตให้เครื่องบินฝ่ายพันธมิตรใช้สนามบินด้วย เหตุผลประการสุดท้ายคือกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดเพราะเชื่อว่าเป้าหมายของกองทัพโซเวียตคือการเข้าปลดปล่อยกรุงวอร์ซอ และไม่ตระหนักว่าวัตถุประสงค์สำคัญของสหภาพโซเวียตคือการจะกำจัดฝ่ายตรงข้ามของคณะกรรมาธิการปลดปล่อยชาติแห่งโปแลนด์ทั้งหมดที่เป็นขวากหนามของการก้าวขึ้นมีอำนาจของรัฐบาลโปแลนด์ที่มีคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำในวันข้างหน้า

 หลังการปลดอาวุธกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์และกวาดต้อนชาวโปลออกจากกรุงวอร์ซอแล้ว กองทัพเยอรมันเริ่มวางระเบิดและทำลายกรุงวอร์ซอ กลุ่มวิศวกรเยอรมันกลุ่มพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติการนี้โดยเฉพาะเริ่มสำรวจพื้นที่และติดตั้งระเบิดตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ เพื่อทำลายให้พังพินาศ โดยให้เหลือเป็นเสมือนสถานีพักทางทหารหรือเป็นทะเลสาบจำลองเท่านั้น ฮิตเลอร์ต้องการให้กรุงวอร์ซอเป็นเพียงหัวเมืองทางตะวันออกของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ความปราชัยของการลุกฮือที่วอร์ซอได้เปิดโอกาสให้ฮิตเลอร์ได้ทำตามความปรารถนา กองทัพเยอรมันได้รับคำสั่งให้เผาทำลายบ้านทุกหลัง โดยเฉพาะอนุสรณ์สถานประวัติศาสตร์หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ ประมาณว่าร้อยละ ๘๕ ของอาคารสถานที่ถูกทำลายสิ้นซาก ซึ่งรวมทั้งตึกอาคารทางประวัติศาสตร์ ๙๒๓ แห่ง โบสถ์ ๒๕ แห่ง ห้องสมุดซึ่งรวมทั้งหอสมุดแห่งชาติ ๑๔ แห่ง โรงเรียนมัธยมต้น ๘๑ แห่ง โรงเรียนมัธยมปลาย ๖๔ แห่ง มหาวิทยาลัยวอร์ซอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีวอร์ซอ รวมทั้งส่วนใหญ่ของอนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ทรัพย์สินเอกชนและสาธารณะอีกจำนวนมาก รวมทั้งชิ้นงานศิลปะ อนุสาวรีย์ทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม พินาศและสูญหายอย่างไร้ร่องรอยเป็นจำนวนมาก ในปลายทศวรรษ ๑๙๔๐ มีการศึกษาประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างไรก็ตาม ในต้นทศวรรษ ๒๐๐๔ มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการทางประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาและประเมินมูลค่าความเสียหายทางวัตถุที่เยอรมนีกระทำต่อกรุงวอร์ซอซึ่งสรุปได้ว่าเป็นวงเงิน ๔๕,๐๐๐ ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ แต่ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ประเมินใหม่เป็น ๕๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 ในการลุกฮือที่วอร์ซอซึ่งกินเวลา ๒ เดือน ๑ วันจำนวนพลเรือนและทหารของทั้ง ๒ ฝ่ายที่สูญเสียไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ประมาณว่าพลเรือนชาวโปลเสียชีวิต ๑๕๐,๐๐๐–๒๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสังหารหมู่โดยเฉพาะชาวโปลเชื้อสายยิว พลเรือนชาวเยอรมันที่เสียชีวิตไม่ทราบชัด แต่ทหารเยอรมันที่เสียชีวิตและสูญหายมีกว่า ๘,๐๐๐ นาย และบาดเจ็บ ๙,๐๐๐ นาย ทหารเยอรมันถูกจับเป็นเชลยระหว่างการลุกฮือประมาณ ๒,๐๐๐ นาย และหลังการลุกฮือสิ้นสุดรอดชีวิตราว ๑,๐๐๐ นาย ส่วนทหารโปลถูกสังหารและสูญหายรวม ๑๕,๒๐๐ นาย บาดเจ็บ ๕,๐๐๐ นาย กรุงวอร์ซอเสียหายอย่างย่อยยับ ร้อยละ ๘๕ ของอาคารสถานที่และที่พักอาศัยบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำวิสตูลาถูกทำลายในระหว่างสงครามร้อยละ ๒๕ ของอาคารสถานที่ถูกทำลายระหว่างการลุกฮือขึ้นสู้ และหลังการลุกฮือที่วอร์ซอสิ้นสุดลงเยอรมนีถล่มทำลายอาคารสถานที่อีกร้อยละ ๓๕ กรุงวอร์ซอจึงพังพินาศย่อยยับจนเกือบเหลือแต่ซากอย่างไรก็ตามหลังสงครามโลกครั้งที่๒มีความพยายามจะบูรณะฟื้นฟูกรุงวอร์ซอขึ้นใหม่ให้คงสภาพเดิมก่อนถูกทำลายและใช้เวลาบูรณะสร้างขึ้นใหม่นานหลายสิบปีจนเสร็จสมบูรณ์ในปลายทศวรรษ ๑๙๗๐

 หลัง ค.ศ. ๑๙๔๕ สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ซึ่งเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าความล้มเหลวของการลุกฮือที่วอร์ซอเป็นความผิดพลาดของการดำเนินงานของกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ที่อ่อนแอ และความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนไม่ใช่เพราะยุทธศาสตร์ทางทหารของสหภาพโซเวียต มีการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพแดงในปฏิบัติการทางทหารใน ค.ศ. ๑๙๔๔ และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการลุกฮือที่วอร์ซอจะเป็นเรื่องต้องห้าม อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษ ๑๙๕๐ วลาดิสลัฟ โกมุลกา (Wladyslav Gomulka)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ชาตินิยมและไม่เห็นด้วยกับแนวทางการสร้างระบอบสังคมนิยมตามแบบสหภาพโซเวียตได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ใหม่ว่า ทหารของกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์มีความกล้าหาญในช่วงการลุกฮือที่วอร์ซอแต่เพราะผู้บังคับบัญชากองทัพขาดความสามารถและเป็นพวกปฏิกิริยาทั้งทรยศ การลุกฮือขึ้นสู้จึงพ่ายแพ้ในประเทศตะวันตกเรื่องราวของการลุกฮือที่วอร์ซอกลับถูกนำเสนอเป็นตำนานการต่อสู้ที่อาจหาญต่อศัตรูที่โหดเหี้ยม และชี้แนะเป็นนัยว่าสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ในการไม่เข้าช่วยกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ เพราะต้องการให้เยอรมนีบดขยี้ฝ่ายต่อต้านให้สิ้นซากเพื่อเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองโปแลนด์ได้ง่ายขึ้นในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ชาวโปลส่วนใหญ่เห็นว่าความพ่ายแพ้ของการลุกฮือที่วอร์ซอเป็นเพราะสหภาพโซเวียตหน่วงเหนี่ยวเวลาที่จะเข้าช่วยและนำไปสู่กระแสการต่อต้านสหภาพโซเวียต เรื่องราวการลุกฮือที่วอร์ซอ ค.ศ. ๑๙๔๔ ในเวลาต่อมายังเป็นแรงบันดาลใจให้ขบวนการสหภาพแรงงานเสรีหรือโซลิดาริตี (Solidarity)* ก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างสันติวิธีและใช้วิธีการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ในทศวรรษ ๑๙๘๐

 หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย และกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็น (Cold War)* พังทลายลง การยกเลิกการตรวจตราสิ่งพิมพ์และการเปิดกว้างให้เข้าถึงข้อมูลที่เคยปกปิดของรัฐและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีส่วนทำให้เรื่องราวการลุกฮือที่วอร์ซอเป็นที่รับรู้และสนใจกัน การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการลุกฮือที่วอร์ซอเริ่มมีมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ รัฐบาลโปแลนด์ซึ่งมีประธานาธิบดีอะเล็กซานเดอร์ คฟาชเนียฟสกี (Aleksander Kwasniewski) เป็นผู้นำจึงผลักดันโครงการการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์การลุกฮือที่วอร์ซอ(Warsaw Uprising Museum) ที่ริเริ่มกันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๓ ให้บรรลุผลมีการเปิดพิพิธภัณฑ์ในวาระครบรอบ ๖๐ ปี ของการลุกฮือเมื่อวันที่๓๑กรกฎาคมค.ศ. ๒๐๐๔โดยรวบรวมและจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการลุกฮือรวมทั้งนำเสนอภาพและเรื่องราวของบุคคลที่เกี่ยวข้องพิพิธภัณฑ์ยังให้ทุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การลุกฮือและที่เกี่ยวข้องกับรัฐใต้ดินโปแลนด์ นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดให้วันที่ ๑ กันยายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกของการลุกฮือขึ้นสู้ที่วอร์ซอด้วย.



คำตั้ง
Warsaw Uprising
คำเทียบ
การลุกฮือที่วอร์ซอ
คำสำคัญ
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กองทัพแดง
- กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- การประชุมที่ยัลตา
- การลุกฮือที่วอร์ซอ
- การสังหารหมู่ที่คะทิน
- กำแพงเบอร์ลิน
- เกสตาโป
- โกมุลกา, วลาดิสลัฟ
- ขบวนการต่อต้านแห่งโปแลนด์
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- โซลิดาริตี
- นาซี
- ปฏิบัติการเทมเพสต์
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- แผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม
- ยูเครน
- โรคอสซอฟสกี, คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช
- วันดี-เดย์
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- สหภาพแรงงานเสรีหรือโซลิดาริตี
- สัญญานาซี-โซเวียต
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1944
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-