Roberts, Frederick Sleigh (1832-1914)

จอมพล เฟรเดอริก สเล รอเบิตส์ (พ.ศ. ๒๓๗๕-๒๔๕๗)

 จอมพล เฟรเดอริก สเล รอเบิตส์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนสุดท้ายของกองทัพอังกฤษ เขาสร้างชื่อเสียงจากการนำกองทัพอังกฤษชนะสงครามครั้งสำคัญหลายครั้งรวมทั้งกบฏอินเดีย (Indian Mutiny) สงครามอัฟกันครั้งที่ ๒ (Second Afghan Wars ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๘๐) ในอัฟกานิสถานและสงครามบัวร์ (Boer War)* ครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๒) ในแอฟริกา ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria)* พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เขาเป็นเอิร์ลที่ ๑ แห่งกันดาฮาร์ พริทอเรีย และวอเตอร์ฟอร์ด (1ˢᵗ Earl of Kandahar, Pretoria and Waterford)

 รอเบิตส์เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๘๓๒ ที่เมืองกานปุระ (Kanpur) ในอินเดีย เขาเป็นบุตรชายคนที่ ๒ ของนายพลเซอร์เอบราแฮม รอเบิตส์ (Abraham Roberts) นายทหารชาวไอริชของบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ใน ค.ศ. ๑๘๔๕ ขณะอายุ ๑๓ ปี เขาถูกส่งตัวกลับอังกฤษเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนอีตัน (Eton) และใน ค.ศ. ๑๘๔๗ เรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ (Sandhurst) หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารแอดดิสคัมบ์ (Addiscombe Military Academy) ของบริษัทอินเดียตะวันออกเพื่อเตรียมตัวไปเป็นทหารให้กับบริษัทที่อินเดีย ในปลาย ค.ศ. ๑๘๕๑ รอเบิตส์เข้าเป็นทหารสังกัดกองทหารปืนใหญ่เบงกอลและในปีถัดมาโอนไปสังกัดกองร้อยปืนใหญ่เปศวาร์ (Peshawar) โดยทำหน้าที่เป็นนายทหารคนสนิทของบิดาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากองทหารประจำเมืองเปศวาร์

 เมื่อเกิดกบฏอินเดียหรือกบฏซีปอย (Sepoy Mutiny) ใน ค.ศ. ๑๘๕๗ รอเบิตส์ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองกำลังเคลื่อนที่ปราบปรามกบฏในแคว้นปัญจาบ (Punjab) ภายใต้การบังคับบัญชาของพันโท เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain) และพันโท จอห์น นิโคลสัน (John Nicholson) ตามลำดับ ต่อมาในปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๕๘ รอเบิตส์ร่วมกับทหารราบกรุงเดลี (Delhi) ปฏิบัติการยึดกรุงเดลีคืนและปลดปล่อยเมืองลัคเนา (Lucknow) รอเบิตส์ได้ช่วยชีวิตทหารอินเดียจากกลุ่มกบฏทำให้ได้รับเหรียญกล้าหาญวิกตอเรียครอส (Victoria Cross) ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลกล้าหาญสูงสุดของอังกฤษ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๕๙ รอเบิตส์แต่งงานกับนอรา เฮนเรียตตา บิวส์ (Nora Henrietta Bews) ที่เมืองวอเตอร์ฟอร์ดและมีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน ใน ค.ศ. ๑๘๖๐ เขาได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอกและอีก ๒ ปีต่อมาก็ย้ายจากบริษัทอินเดียตะวันออกไปสังกัดกองทัพบกอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เขาติดตามเซอร์รอเบิร์ต เนเพียร์ (Robert Napier) เดินทางไปอะบิสซิเนีย (Abyssinia) เพื่อขยายอิทธิพลและเพิ่มบทบาทของอังกฤษในแอฟริกากลางและขัดขวางไม่ให้รัสเซียขยายอิทธิพลครอบงำดินแดนแถบนี้่ เมื่อเดินทางกลับถึงอินเดีย รอเบิตส์เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้อังกฤษยึดครองอัฟกานิสถานเพื่อปิดกั้นรัสเซียไม่ให้เข้ามารุกรานอินเดียได้ ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังทหารตระเวนชายแดนแคว้นปัญจาบ (Punjab Frontier Force)

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ เกิดสงครามอัฟกันครั้งที่ ๒ ระหว่างอังกฤษกับอัฟกานิสถาน สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เชอร์ อาลี ข่าน (Sher Ali Khan) ผู้ปกครองอัฟกานิสถานต้อนรับคณะทูตรัสเซียเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ทั้ง ๆ ที่มีข้อตกลงกับอังกฤษก่อนหน้านี้ว่า เมื่อรับความช่วยเหลือด้านการเงินจากอังกฤษแล้ว อัฟกานิสถานจะต้องไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย ทั้งยังเรียกร้องให้อัฟกานิสถานต้อนรับคณะทูตของอังกฤษซึ่งนำโดยเนวิล เชมเบอร์เลนด้วย แต่เชอร์ อาลี ข่านปฏิเสธ ทำให้อังกฤษไม่พอใจมากและเรียกร้องให้เชอร์ อาลี ข่านขอโทษและยอมรับคณะทูตอังกฤษแต่เชอร์ อาลี ข่านไม่ปฏิบัติตาม อังกฤษจึงยกกองทัพบุกอัฟกานิสถาน รอเบิตส์นำทหารราบเคอร์ราม (Kurram) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารอินเดียเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณหุบเขาเคอร์รามและเตรียมการบุกกรุงคาบูล (Kabul) ต่อไปเชอร์ อาลี ข่านลี้ภัยไปยังเขตอิทธิพลของรัสเซียและเสียชีวิตในเวลาต่อมา อังกฤษจึงแต่งตั้งมุฮัมมัด ยาคุบ ข่าน (Muhammad Yakub Khan) เป็นผู้ปกครองอัฟกานิสถานคนใหม่ ยาคุบ ข่านลงนามในสนธิสัญญากันดามัก (Treaty of Gandamak) กับอังกฤษในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๙ ซึ่งมีสาระสำคัญคืออังกฤษจะปกป้องและให้เงินช่วยเหลืออัฟกานิสถาน ทั้งดูแลเรื่องกิจการต่างประเทศรวมทั้งได้รับช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Passes) เส้นทางมิชนี (Michni Passes) และเควตตา (Quetta) เมื่ออังกฤษได้รับผลประโยชน์ตามต้องการก็ถอนทหารออก

 หลังสงครามอัฟกันครั้งที่ ๒ ยุติลง อังกฤษพยายามจัดตั้งสถานทูตอังกฤษประจำกรุงคาบูล แต่ในวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๗๙ เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงคาบูลและเซอร์หลุยส์ คาวักนารี (Louis Cavagnari) ทูตอังกฤษในกรุงคาบูลถูกลอบสังหาร สงครามอัฟกันครั้งที่ ๒ จึงปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง รอเบิตส์ซึ่งได้เลื่อนยศเป็นพลตรีนำทหารจากเมืองเคอร์รามบุกอัฟกานิสถานตอนกลาง และภายในต้นเดือนตุลาคมก็สามารถยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ ยาคุบ ข่านซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นกับการลอบสังหารทูตอังกฤษต้องยอมสละตำแหน่ง ในชั้นต้นอังกฤษจะแต่งตั้งมุฮัมมัด อัยยุบ ข่าน (Muhammad Ayub Khan) น้องชายของยาคุบ ข่านเป็นผู้ปกครองอัฟกานิสถานคนใหม่ แต่ในที่สุดกลับแต่งตั้งอับดุล ราห์มาน ข่าน (Abdul Rahman Khan) หลานของเชอร์ อาลี ข่านเป็นผู้ปกครองแทน อัยยุบ ข่านไม่ยอมรับการแต่งตั้งของอังกฤษและรวบรวมกำลังชาวอัฟกันต่อต้านอังกฤษ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๐ กองกำลังของอัยยุบ ข่านสามารถเอาชนะกองทหารอังกฤษในยุทธการที่เมืองไมวันด์ (Battle of Maiwand) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) ๖๔ กิโลเมตร และสามารถปิดล้อมเมืองกันดาฮาร์ไว้ได้ รอเบิตส์ได้รับคำสั่งให้นำทหารจากกรุงคาบูลไปปราบปรามอัยยุบ ข่านที่เมืองกันดาฮาร์เขาสร้างชื่อเสียงจากการที่สามารถนำทหารเดินทางกว่า ๔๘๐ กิโลเมตรจากกรุงคาบูลไปเมืองกันดาฮาร์โดยใช้เวลาเพียง ๒๑ วัน (๙-๓๑ สิงหาคม) ทั้งที่เส้นทางเต็มไปด้วยอุปสรรค และต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน แต่หนาวจัดในเวลากลางคืน กองทัพอังกฤษเดินทางถึงเมืองกันดาฮาร์เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคมและวันรุ่งขึ้นก็บุกปราบปรามกองกำลังของอัยยุบ ข่านซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ บาบาวาลิโกตาล (Baba Wali Kotal) ได้สำเร็จ

 หลังชัยชนะครั้งนี้ อับดุล ราห์มาน ข่านต้องยอมรับข้อตกลงในสนธิสัญญากันดามัก ค.ศ. ๑๘๗๙ อย่างไรก็ตาม ดินแดนบางส่วนที่อังกฤษยึดครองเป็นพื้นที่ของชาวเขาเผ่าอัฟกันซึ่งทำให้เกิดสงครามระหว่างชนเผ่าอัฟกันกับทหารอังกฤษและทหารอินเดียเป็นระยะ ๆ ในช่วงเวลากว่า ๖๐ ปี ชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามอัฟกันครั้งที่ ๒ เพราะสูญเสียค่าใช้จ่ายและชีวิตทหารจำนวนมาก แต่ชาวอังกฤษอีกจำนวนหนึ่งก็เห็นว่าอังกฤษจำเป็นต้องทำสงครามครั้งนี้เพื่อปกป้องพรมแดนและเส้นทางคมนาคมของอินเดียด้านตะวันตกเฉียงเหนือให้รอดพ้นจากการคุกคามของรัสเซีย รอเบิตส์ สนับสนุนแนวคิดนี้และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีวิลเลียม อี. แกลดสโตน (William E. Gladstone)* ยึดครองอัฟกานิสถานเป็นการถาวรแต่ข้อเสนอของเขาไม่ประสบผลสำเร็จ อังกฤษล้มเลิกความคิดที่จะจัดตั้งสถานทูตและยอมถอนทหารออกจากกรุงคาบูลและเมืองกันดาฮาร์โดยมีเงื่อนไขว่า อัฟกานิสถานจะไม่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย ชัยชนะของอังกฤษในสงครามอัฟกันครั้งที่ ๒ ทำให้รอเบิตส์ได้รับการประกาศเกียรติคุณในรัฐสภาและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อัศวินแห่งบาท (Knight Grand Cross of the Order of the Bath-GCB) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิอินเดีย (Companion of the Order of the Indian Empire-CIE) ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ อีก ๒ ปีต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพมัทราส (Madras) และเลื่อนยศเป็นพลโท ทั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองนาตาล (Natal) และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของแอฟริกาใต้

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ รอเบิตส์โด้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอังกฤษในอินเดียและดำรงตำแหน่งนี้จนถึง ค.ศ. ๑๘๙๓ เขาดำเนินการปฏิรูปกองทัพหลายด้าน อาทิ ปรับปรุงระบบการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะเส้นทางระหว่างชายแดนกับศูนย์กลาง เพิ่มการฝึกปฏิบัติภาคสนามเพราะรอเบิตส์ยังคงเชื่อว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามผลประโยชน์ของอังกฤษโดยเฉพาะชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ รอเบิตส์ได้เลื่อนยศเป็นพลเอกและใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นบารอนรอเบิตส์แห่งกันดาฮาร์และวอเตอร์ฟอร์ด (Baron Roberts of Kandahar and Waterford) ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ รอเบิตส์เดินทางกลับอังกฤษเป็นการถาวรและระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๘๙๕ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนบันทึกความทรงจำซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Forty-one Years in India (ค.ศ. ๑๘๙๗) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ รอเบิตส์ได้เลื่อนยศเป็นจอมพลและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพไอริช เขาอยู่ในตำแหน่งนี้ ๔ ปีด้วยกัน ในพระราชพิธีพัชราภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria’s Diamond Jubilee) ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ รอเบิตส์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริก (Knight of the Order of st. Patrick-KP)

 เมื่อเกิดสงครามบัวร์ครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การจู่โจมของเจมสัน (Jameson Raid)* ทำให้กองกำลังของพวกบัวร์บุกเคปโคโลนี (Cape Colony) * และนาตาลซึ่งเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ ในระยะแรกอังกฤษเป็นฝ่ายเพลี่ยงพลํ้าในการรบหลายสมรภูมิ อีกทั้งเฟรเดอริก ฮิว เชอร์สตัน รอเบิตส์ (Frederick Hugh Sherston Roberts) บุตรชายคนโตของรอเบิตส์ก็เสียชีวิตในยุทธการที่เมืองโคเลนโซ (Battle of Colenso) ในเดือนธันวาคม และได้รับเหรียญกล้าหาญวิกตอเรียครอสเช่นเดียวกับบิดาในต้น ค.ศ. ๑๙๐๐ อังกฤษแต่งตั้งรอเบิตส์เป็นผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษ เขาเดินทางถึงแอฟริกาพร้อมกับพลตรีฮอเรชีโอ เฮอร์เบิร์ต (Horatio Herbert) เสนาธิการทหารและทหารจำนวนมาก เขาเริ่มปรับปรุงระบบการคมนาคมขนส่ง เพิ่มจำนวนทหารม้า และวางแผนที่จะบุกโจมตีใหญ่ทั้งสาธารณรัฐทรานสวาล (Transvaal) และเสรีรัฐออเรนจ์ (Orange Free state)* สองสาธารณรัฐของบัวร์พร้อม ๆ กัน ทั้งปฏิเสธแผนรบที่ให้แบ่งทหารอังกฤษเป็นหน่วยเล็ก ๆ เพื่อโจมตีทหารบัวร์ในแต่ละจุด อังกฤษเริ่มได้รับชัยชนะในการทำสงคราม และในกลางเดือนมีนาคมก็ยึดบลูมฟอนเทน (Bloemfontein) เมืองหลวงของเสรีรัฐออเรนจ์ได้ และในปลายเดือนพฤษภาคมสามารถยึดนครโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) ได้รวมทั้งยึดกรุงพริทอเรีย (Pretoria) เมืองหลวงของทรานสวาลได้เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ในเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีพอล ครูเกอร์ (Paul Kruger) ของสาธารณรัฐทรานสวาลต้องลี้ภัยไปยุโรป ชัยชนะของอังกฤษครั้งนี้ทำให้รอเบิตส์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้พลิกสถานการณ์สงครามให้อังกฤษได้รับชื่อเสียงและความนิยมมากขึ้น ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๑ ก่อนสงครามยุติ เขาถูกเรียกตัวกลับอังกฤษ ลอร์ดฮอเรชีโอ คิชเนอร์ (Horatio Kitchener)* รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทำสงครามต่อไป ส่วนรอเบิตส์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อัศวินแห่ง การ์เตอร์ (Knight of the Order of the Garter) เขายังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลรอเบิตส์แห่งกันดาฮาร์ พริทอเรีย และวอเตอร์ฟอร์ด และเป็นไวส์เคานต์เซนต์เปียร์ (Viscount St. Pierre)

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๐๐ พวกบัวร์หันมาใช้ยุทธวิธีสงครามแบบกองโจรโดยมุ่งทำลายคลังเก็บยุทธปัจจัยและสถานีโทรเลขของอังกฤษและซุ่มโจมตีกองกำลังของอังกฤษ ทำให้สงครามบัวร์ครั้งที่ ๒ ยืดเยื้อต่อไปอีกเกือบ ๒ ปี อังกฤษตอบโต้ด้วยการสร้างเครือข่ายค่ายทหารสกัดกั้นหน่วยจู่โจมของพวกบัวร์ตามเขตต่าง ๆ และยกทัพเข้าบุกล้อมโจมตีเป็นระยะจนพวกบัวร์ไม่สามารถต้านทานได้ สงครามจึงยุติลงเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ โดยพวกบัวร์ต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาเวเรนิกิง (Treaty of Vereeniging) ซึ่งระบุให้ทั้งทรานสวาลและเสรีรัฐออเรนจ์อยู่ใต้การยึดครองของอังกฤษ การที่สงครามบัวร์ครั้งที่ ๒ ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่ารอเบิตส์วางแผนยุทธวิธีผิดพลาด มุ่งที่จะยึดครองเมืองใหญ่มากกว่าที่จะทำลายกองกำลังที่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ของบัวร์ ความนิยมในตัวรอเบิตส์ลดน้อยลง ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ คณะกรรมาธิการนำโดยไวส์เคานต์เอชเชอร์ (Esher) ซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงกลาโหมได้เสนอแนะให้ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอังกฤษ รอเบิตส์จึงลาออกจากตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ขณะอายุ ๗๒ ปี นับเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนสุดท้ายของอังกฤษ

 แม้จะพ้นจากหน้าที่ทางทหารแล้ว รอเบิตส์ยังคงสนับสนุนการเกณฑ์ทหาร (Conscription)* เนื่องจากเห็นว่าอังกฤษจำเป็นต้องมีกำลังพลเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดสงครามครั้งใหญ่ในยุโรปอีก เขาสนับสนุนการก่อตั้งสมาคมยิงปืนเพื่อให้พลเรือนฝึกยิงปืนไรเฟิล เมื่ออังกฤษเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ รอเบิตส์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพอินเดียที่อังกฤษส่งไปสู้รบในฝรั่งเศสเขาเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อตรวจดูความพร้อมของทหารอินเดีย ขณะแวะพักที่เมืองแซง-โอแมร์ (Saint-Omer) ก่อนถึงแนวรบด้านตะวันตก เขาล้มป่วยด้วยโรคนิวมอเนียและถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ขณะอายุได้ ๘๒ ปี มีการจัดรัฐพิธีศพอย่างสมเกียรติในฐานะวีรบุรุษของประเทศ รอเบิตส์เป็นสามัญชน ๑ ใน ๒ คน ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ที่ศพฝังไว้ที่มหาวิหารเซนต์ปอลกรุงลอนดอน บรรดาศักดิ์เอิร์ลและไวส์เศานต์ยังคงสืบทอด ต่อมาโดยบุตรสาวคนโตของเขา ชื่อของรอเบิตส์ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสถาบันและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการทางการทหารหลายแห่งเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา เช่น บ้านพักของนักเรียนทหารชั้นปีสุดท้ายของโรงเรียนการทหารดุ๊กแห่งยอร์ก (Senior Boys House at the Duke of York’s Royal Military School) อาคารในศูนย์ยิงปืนแห่งชาติ (Lord Roberts Centre in National Shooting Centre) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อจัดแข่งขันกีฬาประเทศในเครือจักรภพประจำปี ๒๐๐๒ (2002 Commonwealth Games) และชื่อสำนักงานใหญ่ของสมาคมปืนไรเฟิลสมอลล์บอร์แห่งชาติ (Head Quarter of the National Smallbore Rifle Association) ซึ่งรอเบิตส์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง.



คำตั้ง
Roberts, Frederick Sleigh
คำเทียบ
จอมพล เฟรเดอริก สเล รอเบิตส์
คำสำคัญ
- กบฏซีปอย
- ครูเกอร์, พอล
- คิชเนอร์, ลอร์ดฮอเรชีโอ
- เคปโคโลนี
- เครือจักรภพ
- เชมเบอร์เลน, เนวิลล์
- เนเพียร์, เซอร์รอเบิร์ต
- บิวส์, นอรา เฮนเรียตตา
- ยุทธการที่เมืองโคเลนโซ
- ยุทธการที่เมืองไมวันด์
- รอเบิตส์, จอมพล เฟรเดอริก สเล
- รอเบิตส์, เซอร์เอบราแฮม
- รอเบิตส์, เฟรเดอริก ฮิว เชอร์สตัน
- สงครามบัวร์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญากันดามัก
- สนธิสัญญาเวเรนิกิง
- เส้นทางมิชนี
- อะบิสซิเนีย
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1832-1914
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๗๕-๒๔๕๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวคพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-