Papen, Franz Joseph Hermann Michael Maria von (1879-1969)

นายฟรันข์ โยเซฟ แฮร์มันน์ มิคาเอล มารีอา ฟอนพาเพิน (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๑๖)

ฟรันซ์ โยเซฟ แฮร์มันน์ มิคาเอล มารีอา ฟอนพาเพินเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* และเป็นรองนายกรัฐมนตรี


ในรัฐบาลที่มีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* เป็นผู้นำระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๓๔ ต่อมาพาเพินได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำออสเตรียและตุรกีตามลำดับเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ยุติลงพาเพินถูกจับและถูกสอบสวนในการพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trial)* แม้จะได้รับการปล่อยตัวแต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ศาลเยอรมันตะวันตกกลับพิพากษาลงโทษเขาในข้อหาร่วมมือกับพวกนาซี ต่อมาเขายื่นอุทธรณ์และได้รับการปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๔๙ เขาพยายามหวนคืนสู่เวที การเมืองแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

 พาเพินเกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๙ ที่เมืองแวร์ล (Werl) รัฐเวสต์ฟาเลีย (Westphalia) ครอบครัวของเขาสืบสายตระกูลขุนนางที่ร่ำรวย ซึ่งนิยมระบอบกษัตริย์และนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก พาเพินได้รับการศึกษาเพื่อเป็นนายทหาร ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ เขาสมรสกับมาร์ทา ฟอนบอค-กัลเฮา (Martha von Boch-Galhau) และเข้ารับราชการเป็นนายทหารองครักษ์อยู่ชั่วระยะหนึ่งก่อนที่จะเข้าร่วมในฝ่ายเสนาธิการของกองทัพเยอรมันในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ พาเพินได้รับแต่งตั้งเป็นทูตทหารประจำสถานทูตเยอรมันในสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนี้เขามียศเป็นร้อยเอกและเดินทางไป เม็กซิโกในต้น ค.ศ. ๑๙๑๔ เพื่อสังเกตการณ์การปฏิวัติในเม็กซิโกเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ พาเพินเดินทางกลับกรุงวอชิงตันดี.ซี. และในช่วงเวลาดังกล่าวเขาดำเนินการให้บริษัทในสหรัฐอเมริกาผลิตอาวุธให้เยอรมนี

 ต่อมา พาเพินและทูตทหารเรือชื่อ คาร์ล บอย-เอด (Karl Boy-Ed) ได้ร่วมมือกันจัดตั้งหน่วยจารกรรมและก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา จุดมุ่งหมายคือการทำลายความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป แต่เมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสืบทราบว่าเขามีส่วนพัวพันในแผนการก่อวินาศกรรมทางรถไฟของสหรัฐอเมริกา พาเพินจึงถูกประกาศว่าเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาและถูกขับออกจากประเทศ ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาขอให้รัฐบาลเยอรมันเรียกตัวพาเพินกลับเยอรมนีในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ในระหว่างเดินทางกระเป๋าของเขาถูกอายัดและมีการค้นพบต้นขั้วเช็คจำนวน๑๒๖ ใบ ซึ่งสั่งจ่ายแก่ผู้ร่วมก่อการ พาเพินเดินทางกลับถึงเยอรมนี และได้ถวายรายงานแด่ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* และเสนอรายงานต่อนายพลเอริช ฟอนฟัลเคนไฮน์ (Erich von Falkenhayn) ผู้บัญชาการกองทัพบกในเวลานั้น

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๖ สหรัฐอเมริกาได้ออกหมายฟ้องพาเพินในข้อหาวางแผนระเบิดคลองเวลแลนด์ (Welland Canal) ของแคนาดาซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลสาบออนแทริโอ (Ontario) กับทะเลสาบอิรี (Erie) ขณะที่พาเพินเดินทางกลับไปเยอรมนีแล้วอย่างไรก็ตาม เขาก็เป็นผู้ต้องหาของทางการสหรัฐอเมริกาจนเมื่อเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ซึงมีการระงับข้อกล่าวหาช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ พาเพินปฏิบัติหน้าที่ทำงแนวรบด้านตะวันตก เขาประสานงานระหว่างกองอาสาสมัครไอริช (Irish Volunteer) กับรัฐบาลเยอรมันในการจัดชื้อและส่งอาวุธเพื่อใช้ต่อสู้กับอังกฤษระหว่างการก่อความไม่สงบในวันอีสเตอร์ (Easter Rising) ใน ค.ศ. ๑๙ด๖ และประสานงานกับกลุ่มชาตินิยมอินเดียในแผนก่อการฮินดู-เยอรมัน (Hindu-German Conspiracy) ใน ค.ศ.๑๙๑๗ พาเพินย้ายไปประจำหน่วยเสนาธิการในตะวันออกกลางโดยได้รับยศพันตรีเมื่อสงครามยุติลง พาเพินซึ่งเลื่อนยศเป็นพันโทย้ายกลับมาเยอรมนีและตัดสินใจลาออกจากราชการ

 หลังสงครามพาเพินเข้าสู่วงการเมืองโดยเข้าร่วมในพรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* แม้พรรคนี่จะดำเนินนโยบายสายกลาง แต่พาเพินซึ่งนิยมระบอบกษัตริย์ก็เป็นพวกอนุรักษนิยมปีกขวาของพรรค เขาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาของรัฐปรัสเซียในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๓๒ ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๒๕ พาเพินสร้างความประหลาดใจให้แก่คนทั่วไป ด้วยการสนับสนุนผู้สมัครฝ่ายขวาคือ จอมพลเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* มากกว่า วิลเฮล์ม มากซ์ (Wilhelm Marx) ผู้สมัครจากพรรคเซนเตอร์

 ต่อมา ในวันที่ ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๒ พาเพินซึ่งไม่มีบทบาททางการเมืองและความสามารถที่โดดเด่นกลับได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกอนุรักษนิยม นายทุนอุตสาหกรรม และพวกที่มีฐานะ ทั้งเคยรับราชการทหารในหน่วยเดียวกับออสการ์ ฟอนฮินเดนบูร์ก (Oskar von Hindenburg) บุตรชายของประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก ฮินเดนบูร์กแต่งตั้งพาเพินแทนที่ไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Bruning)* นายกรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคเซนเตอร์ก่อนหน้าวันที่จะได้รับการแต่งตั้ง พาเพินสัญญากับลุดวิก คาส (Ludwig Kaas) หัวหน้าพรรคเชนเตอร์ว่าจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ แต่เมื่อเขาผิดคำมั่นสัญญาจึงถูกหัวหน้าพรรคประณามพาเพินซึ่งคาดว่าพรรคเซนเตอร์คงขับเขาออกจากสมาชิกภาพจึงชิงลาออกจากพรรคก่อนเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๒ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำเยอรมนีได้กล่าวถึงพาเพินว่าเป็นคนตื้นเขินดื้อรั้นไม่จริงใจ ทะเยอทะยานเย่อหยิ่ง มีเล่ห์เหลี่ยม และลับลมคมใน

 คณะรัฐมนตรีซึ่งพาเพินจัดตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือของนายพลคูรท์ ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* มีสมญาว่า “คณะรัฐมนตรีขุนนาง” (Cabinet of Barons) ชาวเยอรมันส่วนใหญ่มีทัศนคติในแง่ลบต่อคณะรัฐมนตรีชุดนี่ มีเพียงพรรคประชาชาติเยอรมัน (German National People’s Party) ที่มีนโยบายอนุรักษนิยมเท่านั้นที่หนุนหลังเขา การขาดเลียงสนับสนุนผนวกกับการต่อต้านจากฝ่ายซ้ายทำให้พาเพินต้องพึ่งพาอำนาจประธานาธิบดี ส่วนพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ตกลงที่จะสนับสนุนพาเพินเป็นการชั่วคราวด้วยเงื่อนไขว่า ให้ยกเลิกการสั่งห้ามกองกำลังเอสเอ (SA)* ไม่ให้เคลื่อนไหวต้องยุบสภาไรค์ชตากและจัดการเลือกตั้งใหม่ พาเพินซึ่งต่อด้านพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* เรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลผสมของฝ่ายขวาซึ่งรวมพรรคนาซีด้วย

 ในวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๒ พาเพินสั่งยุบสภาไรค์ชตากและกำหนดวันเลือกตั้งคือวันที่ ๓๑ กรกฎาคม เขายกเลิกคำสั่งห้ามกองกำลังเอสเอของพรรคนาซีเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายนพาเพินประกาศว่าเขาจะสร้าง “รัฐใหม่” ที่มีฐานันดรที่แท้จริงขึ้นใช้ระบอบคณาธิปไตยแทนที่ระบอบประชาธิปไตย ใช้คริสต์ศาสนาเป็นพลังต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์และศัตรูต่างชาติ ในขณะเดียวกันพาเพินเริ่มใช้นโยบายล้มล้างรัฐบาลปรัสเซีย ซึ่งมีออทโท เบราน์ (Otto Braun) จากพรรคเอสพีดีเป็นหัวหน้าเพื่อเสริมสร้างอำนาจของรัฐบาลกลางให้เข้มแข็ง และแต่งตั้งข้าหลวงแห่งจักรวรรดิไรค์ (Reich commissar) แทนที่รัฐบาลแห่งรัฐ พร้อมทั้งประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเบอร์ลินและรัฐปรัสเซียเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ แม้การกระทำของพาเพินจะเป็นการทำลายประชาธิปไตย แต่พรรคอื่นที่สนับสนุนระบอบสาธารณรัฐไม่สามารถต่อต้านได้ในขณะที่ขบวนการแรงงานก็ไม่กล้านัดหยุดงานประท้วงเพราะเกรงว่า จะมีผู้เข้าร่วมน้อยเกินไป

 ผลของการเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๓๒ พรรคนาซีได้เสียงถึง ๒๓๐ ที่นั่ง และเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากสูงสุด แม้ชัยชนะจะเป็นของพวกต่อต้านประชาธิปไตย แต่ก็ทำให้พาเพินและชไลเชอร์ตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะพรรคนาซีแข็งแกร่งเกินกว่าที่จะยอมรับคำสั่งจากพวกเจ้าของที่ดินอุตสาหกรรมและนายธนาคารที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล พาเพินจึงเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ฮิตเลอร์ ๒ ตำแหน่ง แต่ฮิตเลอร์แจ้งต่อประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กว่าเขาจะไม่รับตำแหน่งอื่นใดยกเว้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อไม่สามารถทำงานร่วมกับสภาใหม่ได้ พาเพินจึงประกาศยุบสภาหลังจากที่สภาลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเขาด้วยเสียง ๕๑๒ ต่อ ๔๒ เสียง ซึ่งเป็นคะแนนเสียงที่ตํ่าสุดยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีคนใด ๆ ในอดีตที่ผ่านมา แม้พาเพินจะต้องการดำเนินนโยบาย “รัฐใหม่” ของเขา แต่ประธานาธิบดีฮินเดนนูร์กซึ่งยึดมั่นในคำสาบานต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ยินยอมยกเลิกระบอบรัฐสภา ฮินเดนนูร์กจึงสั่งให้พาเพินเจรจากับพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่พรรคใหญ่ เช่นเอสพีดีและพรรคเซนเตอร์ปฏิเสธที่จะเจรจา พาเพินได้เสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กเพียงร้อยละ ๑๓.๔ ดังนั้นพาเพินจึงจำต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่ยังคงทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการด้วยความหวังว่าฮินเดนบูร์กจะเปลี่ยนใจมา สนับสนุนเขาอีกครั้ง

 ในระหว่างนั้นฮินเดนบูร์กได้เจรจากับพรรคต่าง ๆ รวมทั้งพรรคนาซีเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก แต่เมื่อไม่มีพรรคใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พาเพินก็เชื่อมั่นว่าฮินเดนนูร์กจะต้องแต่งตั้งเขาอีก จังหวะนี่เองชไลเชอร์ก็แจ้งรายงานการศึกษาของกองทัพบกว่าเยอรมนีกำลังจะเผชิญกับสงครามกลางเมืองซึ่งทั้งกองทัพบกและกำลังตำรวจไม่สามารถควบคุมได้ฮินเดนนูร์กซึ่งตื่นตระหนกจากรายงานฉบับนี้จึงตัดสินใจแต่งตั้งชไลเชอร์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนพาเพินอย่างไรก็ตาม ชไลเชอร์ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ พวกอุตสาหกรและนายธนาคารต่างหวาดระแวงว่าชไลเชอร์คือพวกสังคมนิยมในเครื่องแบบทหาร พวกเขาจึงสนับสนุนพาเพินซึ่งมีนโยบายลดอัตรา เงินเฟ้อ พาเพินเห็นว่าหากอิตเลอร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะทำให้รัฐบาลมีเสียงข้างมากที่มั่นคงในสภาไรค์ชตาก เขาจึงร่วมมือกับอัลเฟรด ฮูเกนแบร์ก (Alfred Hugenberg) หัวหน้าพรรคชาติเยอรมัน (German Nationalist Party) ซึ่งเป็นนายทุนอุตสาหกรรมใหญ่ทำข้อตกลงกับฮิตเลอร์ โดยเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ฮิตเลอร์ ส่วนพาเพินจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี พาเพินซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฮินเดนบูร์กประธานาธิบดีที่ไม่ชอบฮิตเลอร์คาดว่าเขาสามารถควบคุมฮิตเลอร์ได้และจะมีรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสภาไรค์ชตาก เมื่อชไลเชอร์ล้มเหลวที่จะได้เสียงสนับสนุนข้างมากจากสภาไรค์ชตาก เขาขอให้ประธานาธิบดีประกาศกฤษฎีกาฉุกเฉิน (Emergency Decree)* ฮินเดนนูร์กซึ่งไม่พอใจนโยบายของชไลเชอร์ซึ่งกระทบต่อชนชั้นเจ้าของที่ดินและอุตสาหกรรมใหญ่อยู่แล้วจึงปฏิเสธ ชไลเชอร์จำต้องลาออกเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓

 แม้ฮินเดนบูร์กต้องการให้พาเพินกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่เขาไม่รับเพราะตระหนักว่าทางเดียวที่จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคนาซีเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพพอที่จะหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์คือการยินยอมให้ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะต้องบีบฮิตเลอร์ให้แบ่งอำนาจกับผู้อื่นพาเพินจึงเจรจากับบรรดาผู้นำนาซีและผู้นำกลุ่มชาตินิยมอื่นๆ เพื่อการจัดสรรตำแหน่งและให้โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* เป็นคนกลางประสานการเจรจา เมื่อข้อตกลงบรรลุผลเมื่อ วันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ และได้รับการยอมรับจากประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก ฮิตเลอร์ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสม ส่วนพาเพินดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เขารู้สึกอิ่มเอมทั้งเชื่อว่าจะสามารถจำกัดบทบาทของฮิตเลอร์ได้การพูดโอ้อวดของพาเพินว่าเขาสามารถบีบฮิตเลอร์ให้อยู่ในอุ้งมือได้ แสดงว่าพาเพินผิดพลาดและรู้จักผู้นำนาซีน้อยมากเพราะชั่วเวลา ๒ เดือนเขากลับถูกฮิตเลอร์ควบคุม ดังจะเห็นจากการที่พาเพินและกลุ่มพันธมิตรอนุรักษนิยมไม่สามารถยับยั้งการประกาศใช้กฤษฎีกาฉุกเฉินในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๓ และกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Act)* ในเดือนมีนาคมปีเดียวกันกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับนี้ทำให้ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีสามารถกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ

 ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๓ พาเพินเดินทางไปสำนักวาติกันเพื่อเสนอร่างความตกลงระหว่างจักรวรรดิไรค์กับสันตะปาปา (Reichskonkordat) ในระหว่างที่พาเพินติดภารกิจที่กรุงโรม สภาของรัฐปรัสเซียได้เลือกแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* เป็นมุขมนตรีปรัสเซียแทนพาเพินเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนพาเพินซึ่งตระหนักถึงการถูกลดทอนอำนาจพยายามเจรจากับพวกอนุรักษนิยมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อร่วมกันกดดันฮินเดนบูร์กให้ปลดฮิตเลอร์ออกจากตำแหน่ง โดยเน้นเรื่องความขัดแย้งระหว่างกองทัพเยอรมันกับกองกำลัง เอสเอ ซึ่งมีแอนสท์ เริม (Ernst Rohm)* เป็นผู้นำ ข้อเรียกร้องของเริมที่จะให้กองกำลังเอสเอเป็นแกนกลางของกองทัพเยอรมันทำให้พวกอนุรักษนิยมรวมถึงประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กไม่พอใจ บรรดาผู้นำกองทัพเริ่มแสดงท่าทีกดดันฮิตเลอร์ ให้ควบคุมพวกเอสเอ พาเพินได้กล่าวคำปราศรัยที่มหาวิทยาลัยมาร์บูร์ก (Marburg) เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ซึ่งเขากล่าววิจารณ์วิธีการของพวกนาซีและเรียกร้องให้มีเสรีภาพและให้พวกเอสเอยุติการก่อเหตุรุนแรงตามท้องถนนคำปราศรัยของพาเพินร่างโดยเอดการ์ ยูลิอุสยุง (Edgar Julius Jung) ที่ปรึกษาทางการเมืองของเขา แฮร์แบร์ท ฟอนบอส (Herbert von Bose) เลขานุการ และเอริช เคลาเซเนอร์ (Erich Klausener) ผู้นำพวกคาทอลิก

 คำปราศรัยของพาเพินทำให้ฮิตเลอร์ขัดเคืองใจมากโยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Josef Paul Goebbels)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาและประชาสัมพันธ์จึงสั่งห้ามการพิมพ์เผยแพร่ พาเพินไม่พอใจกับการกระทำนี่จึงแถลงว่าเขาปราศรัยในนามของประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กและเขาจะลาออกพร้อมทั้งแจ้งต่อฮินเดนบูร์ก ฮิตเลอร์เกรงว่าหากยอมรับใบลาของพาเพินซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของประธานาธิบดีจะทำให้ฮินเดนบูร์กขัดเคืองใจ ฮิตเลอร์คาดการณ์ได้ถูกต้องเพราะไม่นานหลังจากนั้นประธานาธิบดีได้ยื่นคำขาดให้ฮิตเลอร์จัดการยุติภาวะความตึงเครียดในเยอรมนี มิฉะนั้นเขาจะถูกปลดออกจากตำแหน่งและจะมอบอำนาจการปกครองให้กองทัพ

 หลังการปราศรัยที่มาร์บูร์กเพียง ๒ สัปดาห์ ฮิตเลอร์ ก็ตอบสนองความต้องการของกองทัพด้วยการกวาดล้างพวกผู้นำกองกำลังเอสเอและศัตรูทางการเมืองของฮิตเลอร์ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า คืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ระหว่างวันที่ ๓๐ มิถุนายน- ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ แม้ฮิตเลอร์จะแค้นเคืองพาเพินแต่เขาก็ไม่กล้าดำเนินการรุนแรงกับพาเพินเพราะเกรงว่าฮินเดนบูร์กจะไม่พอใจ ถึงกระนั้นก็ตาม สำนักงานของพาเพินก็ถูกโจมตี ผู้ร่วมงานของเขาคือบอสและเคลาเซเนอร์ถูกพวกเอสเอส (SS)* ยิงเสียชีวิต คาโต้ะทำงานส่วนยุงผู้เขียนคำปราศรัยให้พาเพินถูกจับกุมและคุมขังที่ค่ายกักกัน (Concentration Camp)* แห่งหนึ่งก่อนที่จะถูกยิงเสียชีวิตไม่กี่วันต่อมา และคนอื่นๆ ที่เป็นคณะทำงานของพาเพินก็ถูกคุมขังที่ค่ายกักกันส่วนพาเพินถูกกักบริเวณที่คฤหาสน์ส่วนตัวและถูกตัดสายโทรศัพท์ห้ามติดต่อกับบุคคลภายนอก มีรายงานข่าวบางกระแสว่าเขาถูกคุมตัวแทนที่จะถูกสังหารเช่นคนอื่นๆ เป็นเพราะคำสั่งของเกอริงที่ตั้งใจจะใช้ประโยชน์จากพาเพินในวันข้างหน้าเมื่อฮิตเลอร์ควบคุมสถานการณ์ได้แล้วเขาจึงยอมรับการลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของพาเพินในวันต่อมา

 ในเวลาไม่ถึงเดือนหลังจากเหตุการณ์คืนแห่งมีดยาวพาเพินก็ยอมรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำออสเตรียซึ่งในช่วงเวลานั้นเพิ่งเกิดเหตุการณ์สังหารนายกรัฐมนตรีเองเงลแบร์ท ดอลล์ฟุสส์ (Engelbert Dollfuss)* พาเพินมีส่วนร่วมในแผนบ่อนทำลายอธิปไตยของออสเตรียด้วย แม้เขาจะพ้นจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำออสเตรีย เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์ก็สั่งให้เขาเป็นคนจัดการประชุมระหว่างฮิตเลอร์กับนายกรัฐมนตรีออสเตรีย คูร์ท ฟอน ชุชนิกก์ (Kurt von Schuschnigg)* ที่แบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) การยื่นคำขาดของฮิตเลอร์ต่อชุชนิกก์ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ ทำให้ออสเตรียยอมจำนนและนำไปสู่การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘

 ช่วง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๔ พาเพินดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำตุรกี เขารอดพันจากความพยายามลอบสังหารจากจารชนของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ เพราะระเบิดทำงานก่อนเวลาผู้ก่อการเองเสียชีวิต ในขณะที่พาเพินได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลฝ่ายสหภาพโซเวียตอ้างว่าความพยายามลอบสังหารพาเพินเป็นการกระทำของหน่วยปฏิบัติการลับของพวกนาซีเพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนี

 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ พาเพินได้พบกับฮิตเลอร์ เป็นครั้งสุดท้าย หลังเดินทางกลับจากตุรกี ฮิตเลอร์ตอบแทนพาเพินด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นกางเขนของกองทัพบก (Cross of the Military Merit Order) ในช่วงสุดท้ายของสงคราม พาเพินและฟรันซ์ พาเพินจูเนียร์ (Franz Papen, Jr.) บุตรชายถูกกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาจับกุมตัวใกล้บ้านพัก ในการพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก ศาลตัดสินปล่อยตัวพาเพินโดยให้เหตุผลว่า แม้เขาจะมีการกระทำที่ผิดศีลธรรมทางด้านการเมืองหลายประการ แต่พฤติกรรมเหล่านี้ไม่สามารถนำไปลงโทษในข้อหาการก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพอย่างไรก็ตาม พาเพินก็ถูกศาลเยอรมันตะวันตกพิพากษาลงโทษในข้อหาร่วมมือกับพวกนาซี เขาถูกตัดสินใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ให้ทำงานหนักเป็นเวลา ๘ ปี แต่พาเพินยื่นอุทธรณ์จนได้รับการปล่อยตัวอีก ๒ ปีต่อมา ในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ พาเพินพยายามหวนคืนสู่เวทีการเมืองอีกครั้ง แตไม่ประสบผลสำเร็จ

 ในบั้นปลายชีวิต พาเพินพำนักอยู่ที่ปราสาทเบนเซนโฮเฟน (Benzenhofen) ในอัพเพอร์ชวาเบีย (Upper Swabia) เขาพิมพ์หนังสือและบันทึกความทรงจำหลายเล่ม ซึ่งมีเนี่อหา ปกป้องนโยบายของเขาในช่วง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๓ และ เกี่ยวกับการเมืองช่วงเริ่มต้นสงครามเย็น (Cold War)* พาเพินชื่นชมโรแบร์ ชูมอง (Robert Schuman)* และยกย่องแผนชูมอง (Schuman Plan)* ทั้งเชื่อมั่นในการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการทหารของยุโรปตะวันตกในเวลาต่อมา พาเพินยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัศวินแห่งมอลตา (Knight of Malta) และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสันตะปาปา ฟรันช์ ฟอนพาเพินถึงแก่อสัญกรรมที่โอแบร์ซัสบัค (Obersasbach) ในเยอรมนีตะวันตกเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ รวมอายุได้ ๘๙ ปี.



คำตั้ง
Papen, Franz Joseph Hermann Michael Maria von
คำเทียบ
นายฟรันข์ โยเซฟ แฮร์มันน์ มิคาเอล มารีอา ฟอนพาเพิน
คำสำคัญ
- กฎหมายที่ให้อำนาจ
- การก่อความไม่สงบในวันอีสเตอร์
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- เกอริง, แฮร์มันน์
- ความตกลงระหว่างจักรวรรดิไรค์กับสันตะปาปา
- ค่ายกักกัน
- คาส, ลุดวิก
- คืนแห่งมีดยาว
- เคลาเซเนอร์, เอริช
- ชุชนิกก์, คูร์ท ฟอน
- ชูมอง, โรแบร์
- ดอลล์ฟุสส์, เองเงลแบร์ท
- บรือนิง, ไฮน์ริช
- บอย-เอด, คาร์ล
- เบราน์, ออทโท
- แผนก่อการฮินดู-เยอรมัน
- แผนชูมอง
- พรรคชาติเยอรมัน
- พรรคเชนเตอร์
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- มากซ์, วิลเฮล์ม
- เยอรมนีตะวันตก
- เริม, แอนสท์
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภาไรค์ชตาก
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮูเกนแบร์ก, อัลเฟรด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1879-1969
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๑๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-