Louis Philippe (1773-1848)

พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (๒๓๑๖-๒๓๙๑)

​​     ​​​พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงเป็น "กษัตริย์ของชาวฝรั่งเศส" (King of the French) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘ หลังจากเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution)* ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ เพื่อโค่นล้มอำนาจราชาธิปไตยของพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐)*  ระหว่างที่ครองราชสมบัติเป็นเวลา ๑๘ ปีนั้น พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงดำเนินนโยบายเอาใจประชาชนชั้นกลาง โดยไม่สนพระทัยในสภาพความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงานที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในขณะนั้น อีกทั้งยังมีพระจริยวัตรเป็นชนชั้นกลางจนได้รับการถวายพระนามว่า "กษัตริย์พลเมือง" (Citizen King) แต่การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่ลดเกียรติภูมิของฝรั่งเศสทำให้ไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะพวกสาธารณรัฐนิยม ในต้น ค.ศ. ๑๘๔๘ ประชาชนจึงก่อการปฏิวัติจนต้องเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans)
     พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปประสูติเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๗๓ ณ วังปาเลรัวยาล (Palais Royal) ในกรุงปารีส ทรงเป็นพระโอรสในหลุยส์ ฟิลิป โชแซฟ ดุ๊กแห่งออร์เลออง (Louise Philippe Joseph, Duke of Orléans ค.ศ. ๑๗๔๗-๑๗๙๓) ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศดุ๊กแห่งชาตร์ (Duke of Chartres) ราชสกุลออร์เลออง สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ทั้งนี้โดยฟิลิปที่ ๑ ดุ๊กแห่งออร์เลออง (Philip I, Duke of Orléans) ต้นราชสกุลเป็นพระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) อย่างไรก็ดี สมาชิกของราชวงศบูร์บงและราชสกุลออร์เลอองซึ่งเป็นสายทหารต่างไม่ลงรอยกันและมักขัดแย้งกันโดยตลอด แต่ในทางการเมืองนับเป็นประโยชน์ต่อราชสกุลออร์เลอองเพราะทำให้ ประมุขของราชสกุลสามารถมีบทบาทในฐานะผู้นำของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและองค์ประมุขของฝรั่งเศส บทบาทดังกล่าวโดดเด่นมากขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๗๙๒)* เมื่อรัฐบาลประสบ ความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤติการณ์ทางด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม วังปาเลรัวยาลซึ่งเป็นที่ประทับของดุ๊กแห่งออร์เลอองจึงกลายเป็นที่ พบปะชุมนุมกันของพวกนิยมออร์เลออง (Orleanist) และผู้ที่เป็นอริกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ฟิลิปขณะทรงพระเยาว์ซึมซับความคิดทางการเมืองที่ต่อต้านการใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์บูร์บงด้วย
     พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปเมื่อแรกประสูติทรงมีพระยศดุ๊กแห่งวาลัว (Duke of Valois) ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นดุ๊กแห่งชาตร์จนถึง ค.ศ. ๑๗๙๓ จึงได้สืบทอดพระยศดุ๊กแห่งออร์เลอองเมื่อพระบิดาทรงถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน ขณะทรงพระเยาว์ทรงได้รับการอภิบาลและถวายพระอักษรจากมาดาม เดอ ชองลี (Madame de Genlis) ซึ่งมีความรอบรู้และ เฉลียวฉลาด จึงทำให้พระองค์เป็นผู้หนึ่งที่ ได้รับการอบรมศึกษาที่ ดีที่สุดในขณะนั้น
     เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution 1789)* ดุ๊กแห่งออร์เลอองพระบิดาซึ่งเป็นพระราชวงศ์ที่เคยเข้าร่วมเป็นฝ่ายฐานันดรที่ ๓ ในการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายปฏิวัติอย่างเข้มแข็งต่อมาก็ได้ทรงละฐานันดรศักดิ์และใช้ชื่อพลเมืองฟิลิปเอกาลีเต (Citizen Philippe Égalité) ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ พระองค์ทรงได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสภากงวองซิยงแห่งชาติ (National Convention) และทรงเป็นสมาชิกผู้หนึ่งที่ร่วมกับกลุ่มภูเขา (Mountain) หรือกลุ่มมงตาญาร์ (Montagnard) ออกเสียงให้สำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ส่วนพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปหรือดุ๊กแห่งชาตร์ในขณะนั้นก็ทรงเข้าร่วมกับกลุ่มสมาชิกสโมสรชาโกแบง (Jacobin)* ซึ่งเป็นพวกหัวรุนแรงเช่นกันที่ต่อต้านระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ ใน ค.ศ. ๑๗๙๒ ขณะมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นพันเอกในกองทัพปฏิวัติในการรบกับกองทัพปรัสเซียในยุทธการที่วาลมี (Battle of Valmy) และกับกองทัพออสเตรียในยุทธการที่เชอมาป (Battle of Jemappes) อย่างไรก็ดี การสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ด้วยเครื่องกิโยตินในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ กอปรกับการพ่ายแพ้ของกองทัพฝรั่งเศสแก่กองทัพในยุทธการที่เนอร์วินเดน (Battle of Neerwinden) ใน เนเธอร์แลนด์ ทำให้ดุ๊กแห่งชาตร์เริ่มเอาใจออกห่างพวกสาธารณรัฐนิยมและให้การสนับสนุนนายพลชาร์ล ฟรองซัว ดูมูรีเย (Charles Francois Dumouriez ค.ศ. ๑๗๓๙-๑๘๒๓) แม่ทัพฝรั่งเศสที่หันไปฝักใฝ่ออสเตรียและต่อต้านพวกสาธารณรัฐนิยม ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๓ พระองค์ก็ทรงหนีทัพและเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ นับแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลา ๒๑ ปี จนถึง ค.ศ.๑๘๑๔ ดุ๊กแห่งซาตร์ก็ทรงใช้ชีวิตในต่างแดนและไม่ได้เสด็จกลับฝรั่งเศสเลยจนสิ้นสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)*
     ขณะเดียวกัน การยอมจำนนต่อกองทัพออสเตรียและการหนีทัพของดุ๊กแห่งชาตร์ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นผู้ต่อต้านระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐนิยมมีผลให้ฟิลิป เอกาลีเต พระบิดาเป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาลและถูกจับกุมในที่สุดก็ถูกประหารชีวิตในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๓ ในสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror)* หลังจากที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ลงแล้ว ดุ๊กแห่งชาตร์ก็ทรงสืบทอดพระยศดุ๊กแห่งออร์เลออง และเป็นผู้นำของกลุ่มนิยมออร์เลอองทั้งในและนอกประเทศที่ต้องการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสและสนับสนุนให้พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ อย่างไรก็ดี ประมุขพระองค์ใหม่ของราชสกุลออร์เลอองก็ทรงพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของฝรั่งเศสและใช้ชีวิตอย่างสงบ โดยใน ค.ศ. ๑๘๐๐ ทรงมีนิวาสถานในเมืองทวิกเกนแฮม (Twickenham) ในอังกฤษ ขณะเดียวกันในช่วงของการลี้ภัยดังกล่าวนี้ก็โปรดที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ประเทศในแถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวียและสหรัฐอเมริกาซึ่งทรงประทับที่เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) เป็นเวลา ๔ ปี นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จไปยังเกาะซิซิลีในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๔ (Ferdinand IV) แห่งราชอาณาจักรเนเปิลส์และซิซิลี (Kingdom of Naples and Sicily) ซึ่งเป็นประมุขของราชวงศ์บูร์บง-ปาร์มา (Bourbon-Parma) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๙ ดุ๊กแห่งออร์เลอองก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมารี อะเมเลีย (Marie Amelia ค.ศ. ๑๗๘๒-๑๘๖๖) พระราชธิดาในพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๔ ทรงมีพระโอรส ๖ พระองค์และพระธิดา ๔ พระองค์ ซึ่งทั้งหมดประสูติก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่คือ เจ้าหญิงมารี-หลุยส์แห่งออร์เลออง (Marie-Louise of Orléans ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๕๐) ได้อภิเษกสมรสใน ค.ศ. ๑๘๓๒ กับพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๖๕)* กษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรเบลเยียมที่ได้สถาปนาขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๐
     ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ทรงพ่ายแพ้แก่กองทัพของฝ่ายสหพันธมิตรและมีการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ขึ้นในฝรั่งเศสตามข้อตกลงของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๒๔)* จึงทรงยินดีต้อนรับดุ๊กแห่งออร์เลอองในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูงและคืนพระราชทรัพย์ของราชสกุลซึ่งทำให้ดุ๊กแห่งออร์เลอองกลับมามีฐานะมั่งคั่งที่สุดผู้หนึ่งของ ฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เมื่อกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติที่เรียกว่า "ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว" (White Terror) ได้ฟื้นตัว ดุ๊กแห่งออร์เลอองซึ่งเคยมีบทบาทในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสระยะแรกและเป็นโอรสของฟิลิปเอกาลีเต ที่มีส่วนร่วมในการตัดสินสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จึงต้องลี้ภัยออกนอกฝรั่งเศสอีกครั้งเป็นระยะเวลากว่า ๒ ปี


     แม้ดุ๊กแห่งออร์เลอองจะจำกัดบทบาททางการเมืองของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงเป็นจุดสนใจของพวกที่ต่อต้านอำนาจของราชวงศ์บูร์บงอันได้แก่ พวกชนชั้นกลาง พวกนิยมออร์เลอองและพวกสาธารณรัฐนิยมที่ เข้าใจดีว่าการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐอีกครั้งในฝรั่งเศสคงจะสร้างความไม่พอใจให้แก่นานามหาอำนาจในยุโรปและคิดว่าดุ๊กแห่งออร์เลอองคงจะปกครองฝรั่งเศสตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้ การต่อต้านราชวงศ์บูร์บงได้ขยายตัวรุนแรงขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ซึ่งทรงยึดถือนโยบายที่นำฝรั่งเศสกลับไปสู่สภาพก่อนการปฏิวัติ เพราะโปรดให้มีการฟื้นฟูพระราชอำนาจกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การให้อภิสิทธิ์แก่ชนชั้นขุนนางและการให้อำนาจแก่คริสต์ศาสนจักรโรมันคาทอลิก อันแตกต่างจากรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ที่ทรงพยายามดำเนินนโยบายสายกลาง จนในที่สุดประชาชนในกรุงปารีสได้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐ [French Revolution (1830)*] หรือเรียกอีกชื่อว่า การปฏิวัติเดือนกรกฎาคมขึ้นในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ โดยดุ๊กแห่งออร์เลอองทรงได้รับแต่งตั้งเป็นพลโทแห่งกองทัพปฏิวัติ อีก ๓ วันต่อมา พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ก็ทรงสละราชสมบัติและเสด็จหนีออกนอกประเทศ นับเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์บูร์บงสายตรงที่ ปกครองฝรั่งเศสติดต่อกันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๘๙ (ยกเว้นระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๑๔) ต่อมาในวันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ ดุ๊กแห่งออร์เลอองก็ได้รับอัญเชิญจากสภาผู้แทน (Chamber of Deputies) ให้ขึ้นครองราชสมบัติ เฉลิมพระนามพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป โดยมีมาร์กี เดอ ลาฟาแยต (Marquis de Lafayette ค.ศ. ๑๗๕๗-๑๘๓๔)* ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันภัยแห่งชาติ (National Guard) ให้การสนับสนุน ทั้งที่โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ชื่นชมดุ๊กแห่งออร์เลอองเท่าใดนัก
     พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในฐานะ "กษัตริย์ของชาวฝรั่งเศส" ตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์กับประชาชนมากกว่ากับรัฐ และเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ที่เรียกว่า "ระบอบราชาธิปไตยแห่งเดือนกรกฎาคม" (The July Monarchy) โดยทั้งพระเจ้าหลุยส์ฟิลิป และสมเด็จพระราชินีมารี อะเมเลียต่างดำเนินพระจริยวัตรเช่นชนชั้นกลางระดับสูงโดยทั่วไป ไม่มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและการจัดเลี้ยงฉลองอย่างเอิกเกริก หรือการฉลองและการสร้างพระมหามงกุฎประจำพระองค์หรือประจำรัชกาล ทั้งยังมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ให้ความเป็นกันเองแก่บุคคลทั่วไป และโปรดที่ จะทรงพระดำเนินโดยปราศจากกองเกียรติยศ การวางพระองค์ดังกล่าวจึงทำให้พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปเป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นกลางและได้รับพระสมัญญาว่า "กษัตริย์พลเมือง" และ "กษัตริย์ชนชั้นกลาง" (Bourgeois King)
     ส่วนในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ นั้น พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปก็ทรงเอาใจพวกชนชั้นกลาง รวมทั้งพวกสาธารณรัฐนิยมเพราะถือว่ามีส่วนช่วยให้พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ มีการนำธงสามสีกลับมาใช้เป็นธงชาติอีกครั้ง ทั้งยังมีการฟื้นฟูกองกำลังป้องกันภัยแห่งชาติที่ให้ผู้สมัครจัดหาเครื่องแบบอาวุธยุทโธปกรณ์และสิ่งจำเป็นเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการให้โอกาสแก่ชนชั้นกลางเท่านั้น นอกจากนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงการเป็นสมาชิกของชนชั้นขุนนางใหม่ โดยกำหนดให้มีการแต่งตั้งแทนการสืบทอดตำแหน่ง ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้น ก็ทรงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการค้าเสรี (laissez faire) ที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางสามารถสร้างฐานะให้มั่งคั่งได้ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ที่เริ่มขยายตัวเข้าสู่ฝรั่งเศสก็ทำให้อุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว จำนวนชนชั้นแรงงานก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ ๒๕ หรือประมาณ ๙ ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๓๖ ล้าน คน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องและสวัสดิการต่าง ๆ ของชนชั้นแรงงานจึงทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจและทางสังคมระหว่างชนชั้นขยายตัวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามชนชั้นแรงงานที่รวมตัวกันต่อต้านและก่อการจลาจล ในที่สุด ชนชั้นแรงงานก็สิ้นศรัทธาในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปและรวมพลังกันต่อต้านนโยบายเอาใจชนชั้นกลางของพระองค์จนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองและสังคมในเวลาต่อมา และกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกสาธารณรัฐนิยมเลิกสนับสนุนพระองค์เพราะเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นผู้แย่งชิงชัยชนะและความสำเร็จของประชาชนและพวกตน และทำให้สังคมฝรั่งเศสกลับไปสู่สภาพเดิม
     นอกจากนี้ พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปยังได้รับการต่อต้านจากพวกที่สนับสนุนพวกลิจิติมิสต์ (Legitimist พวกที่สนับสนุนผู้มีสิทธิอันชอบธรรม) หรือพวกที่นิยมราชวงศ์บูร์บง และกลุ่มสาธารณรัฐนิยมหรือพวกที่นิยมราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonapartist) ที่มีจำนวนมากกว่าการมีพระจริยวัตรอย่างชนชั้นกลางได้กลายเป็นเรื่องขบขันและถูกนำไปวาดเป็นภาพล้อเลียนในหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสูญเสียพระเกียรติยศ ส่วนการดำเนินนโยบายต่างประเทศทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียประโยชน์ ซึ่งผิดกับในรัชสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ที่ฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจยุโรปที่ทุกประเทศต้องหวั่นเกรง ดังนั้นพวกที่นิยมราชวงศ์โบนาปาร์ตและพวกชาตินิยมจึงเอือมระอาและหมดความภาคภูมิใจในองค์ประมุข นักเขียนและกวีคนสำคัญ ๆ เช่น ปีแยร์ ชอง เดอ เบรองเช (Pierre Jean de Béranger) วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) รวมทั้งอาดอลฟ์ ตีเย (Adolphe Thiers)* ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปด้วย ต่างเขียนหนังสือและบทกวีสรรเสริญจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และพระอัจฉริยภาพทางการปกครองและการทหารของพระองค์นอกจากนี้ กระแสความนิยมราชวงศ์โบนาปาร์ตยังทำให้เจ้าชายหลุยส์โบนาปาร์ต [Louis Bonaparte ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส ครั้งที่ ๒ (Second Empire of France)*] พระภาติยะ (หลานลุง) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ พยายามก่อการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอำนาจปกครองของพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปใน ค.ศ. ๑๘๓๖ และ ค.ศ. ๑๘๔๐ ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ การที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสให้ความนิยมจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ยังทำให้พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปต้องอัญเชิญพระศพจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จากเกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena) มายังกรุงปารีสและประดิษฐานไว้ที่โอแตลเดแซงวาลีด (Hôtel des Invalides) ในฐานะจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่และวีรบุรุษของชาติ ทั้งยังเพื่อเป็นการลดกระแสต่อต้านของพวกที่นิยมราชวงศ์โบนาปาร์ตอีกด้วย
     ในต้นทศวรรษ ๑๘๔๐ แม้ว่าฐานะของรัฐบาลฝรั่งเศสจะมั่นคงมากขึ้นเพราะพวกที่ต่อต้านได้อ่อนกำลังลง ผู้นำส่วนใหญ่รวมทั้งเจ้าชายหลุยส์ โบนาปาร์ตถูกจำคุกหรือไม่ก็ถูกเนรเทศ แต่ประชาชนชาวฝรั่งเศสโดยทั่วไปยังคงไม่ให้การสนับสนุนรัฐบาลมากนัก อีกทั้งพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปและรัฐบาลเองก็ยังคงดำเนินนโยบายบริหารที่เน้นการส่งเสริมและการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นกลางระดับสูง โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ในด้านการต่างประเทศฟรองซัว-ปีแยร์-กีโยม กีโซ (François-Pierre- Guillaume Guizot ค.ศ. ๑๗๘๗-๑๘๗๔)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปโปรดปรานมากที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในคณะรัฐบาลก็ดำเนินนโยบายแสวงหาความร่วมมือกับอังกฤษด้วยการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับอังกฤษที่ ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียผลประโยชน์และลดเกียรติภูมิในวงการทูต อีกทั้งยังสนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยมของเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klement von Metternich ค.ศ. ๑๗๗๓-๑๘๕๙)* ในการต้านลัทธิเสรีนิยมและชาตินิยมในดินแดนเยอรมันและดินแดนในปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* นโยบายต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ซึ่งสะท้อนแนวคิดทางการเมืองที่แท้จริงของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป จึงทำให้ชาวฝรั่งเศสเสื่อมความนิยมในรัฐบาลและโดยเฉพาะองค์ประมุขมากขึ้นระหว่างที่พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป ทรงครองราชสมบัติอยู่ ได้มีผู้ต่อต้านพระองค์พยายามลอบปลงพระชนม์ถึง ๑๑ ครั้ง เป็นการลอบปลงพระชนม์ที่มีจำนวนครั้งมากกว่า รัชกาลใด ๆ ในประวัติศาสตร์
     ความไม่พอใจในคณะรัฐบาลและพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางการเกษตรที่ยืดเยื้อและรุนแรงใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เนื่องจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย จึงทำให้เกิดการขาดแคลน อาหารเป็นเวลา ๖ เดือน และสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ก็มีราคาแพงขึ้นมาก ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมก็ตกต่ำ ทำให้เกิดภาวะคนว่างงานเป็นจำนวนมาก มีการจลาจลเกิดขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ไม่ขาดระยะ แต่รัฐบาลก็ไม่ตระหนักว่าสถานการณ์ในขณะนั้นมีความรุนแรงเพียงใดและไม่หามาตรการใด ๆ มาป้องกันและให้ความช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนนอกจากนี้ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๗-๑๘๔๘ เจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงหลายคนก็มีส่วนพัวพันกับการทุจริตและเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ เช่น การซื้อขายตำแหน่งในราชการและการให้ความช่วยเหลือการประกอบธุรกิจการค้าโดยมิชอบ
     ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มสาธารณรัฐนิยมซึ่งมีติเยเป็นผู้นำได้จัดการประชุมในรูปแบบของงานเลี้ยง (Banquets) เพื่อถกเถียงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบของการชุมนุมทางการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามไม่ให้มีการชุมนุมกันในที่สาธารณะ งานเลี้ยงบังหน้าดังกล่าวจัดเป็นครั้งแรกในกรุงปารีสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ โดยมีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ คน นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งและทำให้ฝ่ายปฏิรูปและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกำหนดให้จัดงานเลี้ยงครั้งใหญ่ในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ โดยหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมาก
     ดังนั้นกีโซซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล นีโกลา-ชอง เดอ ดีเยอ ซูลต์ (Nicolas- Jean de Dieu Soult) ที่ลาออกจากตำแหน่งในปลาย ค.ศ. ๑๘๔๗ จึงสั่งห้ามไม่ให้จัดงานเลี้ยงและการชุมนุมตลอดจนการเดินขบวนของพวกต่อต้านรัฐบาล ประชาชนปารีสจึงตอบโต้ด้วยการชักชวนกันไปชุมนุมกันในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ ที่บริเวณปลาซเดอลามัดแลน (Place de la Madeleine) ซึ่งเป็นสถานที่เดิมที่กำหนดไว้สำหรับการจัดงานเลี้ยง และต่างพากันเดินขบวนพร้อมกับเรียกร้องให้กีโซลาออก ในวันรุ่งขึ้นก็มีการตั้งเครื่องกีดขวางตามถนนต่าง ๆ ในกรุงปารีสพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปลดกีโซออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น การประท้วงและต่อต้านรัฐบาลก็ขยายตัวเป็นการปฏิวัติ ฝ่ายปฏิวัติสามารถบุกเข้ายึดศาลาว่าการกรุงปารีส (Hôtel de Ville) และพระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) ได้ในเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปจึงประกาศสละราชสมบัติให้แก่เคานต์แห่งปารีส (Count of Paris) พระราชนัดดาที่กำพร้าพระบิดาพระชันษา ๑๐ ปี พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีมารี อะเมเลียซึ่งเกรงว่าความรุนแรงของการปฏิวัติอาจทำให้พระองค์ทรงพบจุดจบเช่นเดียวกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie Antoinette ค.ศ. ๑๗๕๕-๑๗๙๓)* จึงปลอมพระองค์เป็นสามัญชน โดยใช้ชื่อนายและนางสมิท (Mr.&Mrs. Smith) และสามารถลอบหลบหนีออกจากฝรั่งเศสโดยรถม้าโดยสารธรรมดา และเสด็จลี้ภัยไปประทับยังอังกฤษ อย่างไรก็ดี การปฏิเสธของรัฐบาลอังกฤษที่จะรับรองเคานต์แห่งปารีสเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ และการที่ชาวปารีสปฏิเสธที่จะยอมรับเรื่องการมอบราชบัลลังก์และเรียกร้องให้ฝรั่งเศสปกครองในระบอบสาธารณรัฐ คณะรัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ จึงจัดตั้งขึ้นในเย็นวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ และนับเป็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์ออร์เลอองที่ ปกครองฝรั่งเศสได้เพียง ๑๘ ปีเท่านั้น รัฐบาลชั่วคราวจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกของราชวงศ์โบนาปาร์ตกลับมามีอำนาจในฝรั่งเศสอีกครั้ง โดยเจ้าชายหลุยส์โบนาปาร์ตได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นนอกจากนี้ การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ยังเป็นแรงบันดาลใจทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในดินแดนต่าง ๆ ทั่วยุโรป จนกลายเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
     พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงประทับลี้ภัยในอังกฤษจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๕๐ ณ เมืองแคลร์มอนต์ (Claremont) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) สิริพระชนมายุ ๗๗ พรรษา ได้มีการประกอบพิธีบรรจุพระศพ ณ ชาแปลรัวยาล (Chapelle Royale) ในเมืองเดรอ (Dreux) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทรงสร้างไว้ ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ เพื่อเป็นสุสานสถานของพระราชวงศ์เมื่อสมเด็จพระราชินีมารี อะเมเลียสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ก็ได้นำพระศพมาบรรจุเคียงข้างกับพระราชสวามีด้วย.


“กลุ่มความน่าสะพรึงกลัวสีขาว” แต่เดิมมีบทบาทในการต่อต้านพวกปฏิวัติหัวรุนแรงและผู้มีส่วนในสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๔-๑๗๙๗ แม้ว่า “สีขาว”ที่ ใช้จะเป็นสีของสัญลักษณ์ของราชวงศ์บูร์บง แต่กลุ่มดังกล่าวนี้ก็มิใช่พวกนิยมกษัตริย์หรือราชวงศ์บูร์บง ทั้งหมดและมิได้มีเป้าหมายจะฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบเก่า กลุ่มความน่าสะพรึงกลัวสีขาวมีเป้าหมายที่ จะแก้แค้นพวกปฏิวัติที่ ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิวัติเช่นการเข้าครอบครองที่ ดินของวัดหรือการเข้าไปมีตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐบาล รวมทั้งพวกชาโกแบงและ ซองกูลอต (Sansculottes)ที่ เป็นพวกหัวรุนแรง การต่อต้านของพวกกลุ่มความน่าสะพรึงกลัวสีขาวเป็นภัยต่อบุคคลแต่มิใช่ระบอบสาธารณรัฐเพราะไม่มีการจัดตั้งกองกำลังรบอย่างเป็นรูปธรรมและการใช้กำลังก็มิได้ขยายตัวไปทั่วประเทศ หลังจากประสบความสำเร็จในการสังหาร หมู่พวกปฏิวัติใน ค.ศ. ๑๗๙๗ กลุ่มดังกล่าวก็สลายกำลังอย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ กลุ่มความน่าสะพรึงกลัวสีขาวมีบทบาททาง การเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยเคลื่อนไหวสนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และต่อต้านกลุ่มบุคคลที่ สนับสนุนอุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๔ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนเปิลส์และซิซิลีใน ค.ศ. ๑๘๐๖ ทรงถูกจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ขับออก จากราชบัลลังก์แต่เสด็จไปลี้ภัยที่ ซิซิลีที่ กองกำลังของอังกฤษสามารถป้องกันมิให้ถูกยึดครองได้หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ สิ้นอำนาจที่ ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ได้ฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระองค์และให้ปกครองดินแดนเนเปิลส์และซิซิ ลีโดยเปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง (Kingdom of the Two Sicilies) และพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๔ ทรงเฉลิมพระนามใหม่ว่า พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ แห่งราช อาณาจักรซิซิลีทั้งสอง เสด็จสวรรคตเมื่อ ค.ศ. ๑๘๒๕

คำตั้ง
Louis Philippe
คำเทียบ
พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป
คำสำคัญ
- มารี อองตัวแนต, สมเด็จพระราชินี
- เซอร์เรย์, มณฑล
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- ลาฟาแยต, มาร์กี เดอ
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- เซนต์เฮเลนา, เกาะ
- ตีเย, อาดอลฟ์
- ระบอบราชาธิปไตยแห่งเดือนกรกฎาคม
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐
- เลโอโปลด์ที่ ๑, พระเจ้า
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- เฟอร์ดินานด์ที่ ๔, พระเจ้า
- มารี-หลุยส์แห่งออร์เลออง, เจ้าหญิง
- มารี อะเมเลีย, เจ้าหญิง
- บูร์บง-ปาร์มา, ราชวงศ์
- ซิซีลีทั้งสอง, ราชอาณาจักร
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- ทวิกเกนแฮม, เมือง
- ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว
- ซองกูลอต, พวก
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- หลุยส์ที่ ๑๖, พระเจ้า
- สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว
- สงครามนโปเลียน
- สภากงวองซิยงแห่งชาติ
- วาลัว, ดุ๊กแห่ง
- ยุทธการที่วาลมี
- ยุทธการที่เชอมาป
- พวกนิยมออร์เลออง
- ยุทธการที่เนอร์วินเดน
- ชาโกแบง
- ดูมูรีเย, ชาร์ล ฟรองซัว
- ชองลี, มาดาม เดอ
- กลุ่มมงตาญญาร์
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- กลุ่มภูเขา
- ออร์เลออง, ราชวงศ์
- หลุยส์ที่ ๑๔, พระเจ้า
- หลุยส์ พิลิป, พระเจ้า
- หลุยส์ ฟิลิป โชแซฟ ดุ๊กแห่งออร์เลออง
- บูร์บง, ราชวงศ์
- ฟิลิปที่ ๑ ดุ๊กแห่งออร์เลออง
- ตุยเลอรี, พระราชวัง
- ชาร์ลที่ ๑๐, พระเจ้า
- การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
- นโยบายการค้าเสรี
- ชาตร์, ดุ๊กแห่ง
- โบนาปาร์ต, ราชวงศ์
- ลิจิติมิสต์, พวก
- เบรองเช, ปีแยร์ ชอง เดอ
- อูโก, วิกตอร์
- กีโซ, ฟรองซัว-ปีแยร์-กีโยม
- ดีเยอ ซูลต์, นีโกลา-ชอง เดอ
- ปลาซเดอลามัดแลน, บริเวณ
- ปารีส, เคานต์แห่ง
- เมทเทอร์นิช, เคลเมนส์ ฟอน
- ศาลาว่าการกรุงปารีส
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- แคลร์มอนต์, เมือง
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1773-1848
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๑๖-๒๓๙๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf