Louis XVIII (1755-1824)

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (๒๒๙๘-๒๓๖๗)

​​​​

     พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสพระองค์แรกที่ได้ครองราชบัลลังก์หลังจากสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* สิ้นสุดลงและมีการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ขึ้นปกครองฝรั่งเศสอีกครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๓-๑๘๑๔ ทรงใช้ชีวิตลี้ภัยในต่างแดนแต่ก็มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำในการต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อได้ครองราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๑๔ แล้วก็ทรงพยายามดำเนินสายกลางในการปกครองแต่ต่อมาก็ไม่อาจทัดทานอำนาจของกลุ่มอัลตราหรือพวกกษัตริย์นิยมหัวรุนแรง (ultra royalists) ที่มีพระอนุชาเป็นผู้นำ
     พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๔ ในมกุฎราชกุมาร เจ้าชายหลุยส์ [พระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (Louis XV ค.ศ. ๑๗๑๕-๑๗๗๔)] กับเจ้าหญิงมารี โชเซฟาแห่งแซกโซนี (Marie Josepha of Saxony) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๕๕ ณ พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ทรงมีพระนามเดิมว่า หลุยส์ สตานิลัส ซาเวียร์ (Louis Stanilas Xavier) และทรงดำรงพระยศเคานต์แห่งโปรวองซ์ (Count of Provence) แต่โดยทั่วไปทั้งข้าราชสำนักและประชาชนต่างเรียกขานพระองค์ว่า "เมอซีเออร์" (Monsieur) และกลายเป็นพระนามที่นิยมเรียกกันตลอดพระชนมชีพแม้ภายหลังที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ใน ค.ศ. ๑๗๗๑ ขณะมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา เคานต์แห่งโปรวองซ์ ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงหลุยส์ มารี โชเซฟีน แห่งซาวอย (Louise Marie Joséphine of Savoy) แต่มิได้มีพระโอรสและพระธิดาร่วมกัน
     ในวัยหนุ่ม เคานต์แห่งโปรวองซ์ทรงสนพระทัยในเรื่องการเมืองและอุดมการณ์ของนักปรัชญาเมธีแห่งยุคภูมิธรรม (The Age of Enlightenment) มาก และนับว่าพระองค์ทรงมีแนวคิดทางการเมืองที่เป็นเสรีนิยมมากกว่าเจ้าชายหลุยส์ โอกุสต์ [Louis August ต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๗๙๒)*] พระเชษฐาองค์ที่ ๓ (พระเชษฐา ๒ พระองค์แรกต่างสิ้นพระชนม์ขณะทรงพระเยาว์) และเจ้าชายชาร์ล ฟิลิป เคานต์แห่งอาร์ตัว [Charles Phillippe, Count of Artois ต่อมาคือพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐)*] พระอนุชาองค์เล็ก ซึ่งทั้ง ๓ พระองค์ทรงเติบใหญ่ร่วมกัน ใน ค.ศ. ๑๗๗๔ เมื่อเจ้าชายหลุยส์ออกัสต์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระอัยกา (พระบิดาก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านี้ด้วย) ฐานะของเคานต์แห่งโปรวองซ์ก็ทวีความสำคัญมากขึ้นในตำแหน่งองค์รัชทายาทอันดับหนึ่ง เพราะในขณะนั้นพระเชษฐาซึ่งได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie Antoinette)* มาเป็นเวลาหลายปีมีความผิดปรกติทางพระสรีระและไม่สามารถมีองค์รัชทายาทได้อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาเมื่อสมเด็จพระราชินีทรงให้กำเนิดพระราชโอรสคือเจ้าชายหลุยส์ โชแซฟ (Louis Joseph ค.ศ. ๑๗๘๑-๑๗๘๙) และเจ้าชายหลุยส์ ชาร์ล (Louis Charles ค.ศ. ๑๗๘๕-๑๗๙๕) ก็ทำให้โอกาสของเคานต์แห่งโปรวองซ์ที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติลดน้อยลง
     ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามจะแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศอยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย โดยให้เปิดการประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติ (Estates General) ขึ้นหลังจากที่ไม่มีการเรียกประชุมเป็นเวลาถึง ๑๗๕ ปีนั้น เคานต์แห่งโปรวองซ์ก็เป็นบุคคลหนึ่งในบรรดาพระราชวงศ์และชนชั้นสูงที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของฐานันดรที่ ๓ ให้เพิ่มจำนวนผู้แทนของตนขึ้นอีกเท่าตัวคือจาก ๓๐๐ คน เป็น ๖๐๐ คน เพื่อให้ได้จำนวนเท่ากับฐานันดรที่ ๑ และที่ ๒ รวมกัน ต่อมา เมื่อเกิดเหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์ (Fall of Bastille)* ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นก่อการจลาจลและต่อต้านระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เคานต์แห่งโปรวองซ์ก็ยังคงประทับต่อในฝรั่งเศสอย่างสงบ และไม่ทรงคิดเสด็จหนีลี้ภัยออกนอกประเทศดังเช่นเคานต์แห่งอาร์ตัว พระอนุชา ในทางตรงกันข้าม พระองค์กลับมีพระทัยโน้มเอียงเข้ากับผู้ก่อการปฏิวัติ โดยทรงคาดว่าสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าวไม่น่าจะลุกลามรุนแรงและอาจจะเปิดโอกาสให้พระองค์เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการเมืองของฝรั่งเศสได้ อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพการณ์เลวร้ายลงและเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น เคานต์แห่งโปรวองซ์จึงเสด็จหนีออกจากกรุงปารีสพร้อมพระชายาในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๑ โดยทรงวางแผนเสด็จไปยังเมืองโคเบลนซ (Koblenz) ในดินแดนเยอรมัน และพระองค์สามารถข้ามพรมแดนฝรั่งเศสได้อย่างปลอดภัย ในวันเดียวกันนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ พร้อมพระมเหสี และพระราชโอรสและพระราชธิดาก็เสด็จหนีออกจากกรุงปารีสเช่นกัน แต่เสด็จไปคนละทางกันและทรงถูกจับได้ที่เมืองวาเรน (Varennes) ใกล้พรมแดนออสเตรีย และทรงถูกนำพระองค์กลับมายังกรุงปารีส
     นับแต่นั้นเป็นต้นมา เคานต์แห่งโปรวองซ์ก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อรวบรวมกำลังของฝ่ายที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์บูร์บง อีกทั้งทรงสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชสำนักในยุโรปหลายประเทศโดยเฉพาะกับจักรวรรดิรัสเซียในรัชสมัยซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช (Catherine II the Great ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖)* เพื่อให้ผนึกกำลังกันต่อต้านฝ่ายปฏิวัติ เมืองโคเบลนซ์ได้กลายเป็นเสมือนกรุงปารีสของขุนนางชาวฝรั่งเศสที่ลี้ภัยหรือพวกเอมิเกร (émigré) ที่มารวมตัวกันเพื่อดำเนินการทางการเมือง ต่อมาในต้น ค.ศ. ๑๗๙๓ หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงถูกสมาชิกส่วนใหญ่ของสภากงวองซิยงแห่งชาติ (National Convention) ตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยตีน พวกเอมิเกรและผู้ที่สนับสนุนราชวงศ์บูร์บงก็ประกาศให้เคานต์แห่งโปรวองซ์เป็นผู้สำเร็จราชการในมกุฎราชกุมาร เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลพระโอรสองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ซึ่งขณะนั้นทรงถูกคุมขังอยู่และพวกเอมิเกรถวายพระราชอิสริยยศให้เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๗ ทั้ง ๆ ที่สภากงวองซิยงประกาศล้มเลิกระบอบกษัตริย์ไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๕ เมื่อเจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลหรือ "พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๗" สิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง เคานต์แห่งโปรวองซ์ในฐานะรัชทายาทอันดับต่อไปก็ทรงสถาปนาพระองค์เป็น "พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘" และทรงเป็นที่ยอมรับของพวกที่สนับสนุนสิทธิอันชอบธรรมของราชวงศ์บูร์บงในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสใน
     ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ เป็นต้นไป เคานต์แห่งโปรวองซ์ หรือ "พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘" ก็ทรงพยายามแสดงบทบาททางการเมืองของพระองค์มากยิ่งขึ้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๕ ได้เสด็จไปยังภาคเหนือของอิตาลี และทรง ออกแถลงการณ์เวโรนา (Declaration of Verona) ที่จะนำฝรั่งเศสกลับไปสู่ระบอบเก่าและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ นอกจากนี้ ก็ยังทรงเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อทำข้อตกลงและคบคิดวางแผนการที่จะโค่นล้มอำนาจของรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้น แต่เมื่อสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* ขยายตัวมากยิ่งขึ้น พระองค์ก็มักถูกขอร้องจากรัฐบาลหรือประมุขของรัฐที่ทรงพำนักให้เสด็จลี้ภัยไปยังดินแดนอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐของตนเกิดปัญหาความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่สงครามกับฝรั่งเศสได้ใน ค.ศ. ๑๗๙๗ ซาร์ปอล (Paul ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๘๐๑)* ซึ่งทรงต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสก็พระราชทานอนุญาตให้เคานต์แห่งโปรวองซ์เสด็จไปพำนัก ณ เมืองมิตตาอู (Mittau) ในมณฑลคูร์ลันด์ (Courland) ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของรัสเซียในคาบสมุทรบอลติก อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ เมื่อซาร์ปอลทรงมีความชื่นชมในความสามารถทางการทหารของนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* เป็นการส่วนพระองค์ และปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศจากการสนับสนุนอังกฤษไปเป็นฝรั่งเศส เคานต์แห่งโปรวองซ์จึงต้องเสด็จออกจากมณฑลคูร์ลันด์ไปพำนัก ณ เมืองวอร์ซอ (Warsaw) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๐๔ แต่ต่อมาก็ทรงได้รับพระราชทานอนุญาตให้กลับไปพำนักในมณฑลคูร์ลันด์ได้อีกในรัชสมัยของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* และประทับอยู่จนถึง ค.ศ. ๑๘๐๗ เมื่อรัสเซียพ่ายแพ้ในสงครามกับฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียนและถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาทิลซิต (Treaty of Tilsit) หลังจากนั้นเคานต์แห่งโปรวองซ์ได้เสด็จลี้ภัยไปอังกฤษและประทับจนฝ่ายพันธมิตรมีชัยชนะต่อฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๑๔ ระหว่างนั้นเจ้าหญิงหลุยส์ มารี โชเซฟีน พระชายาคู่ทุกข์คู่ยากสิ้นพระชนม์ ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ และพระองค์ก็ทรงรักษาความเป็นหม้ายไปตลอดพระชนมชีพ
     ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ เมื่อกองทัพฝ่ายพันธมิตรยาตราเข้ายังกรุงปารีส เจ้าชายชาร์ล โมรีซ เดอ ตาเลรอง (Charles Maurice de Talleyrand)* อดีตขุนนางในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ที่กลายเป็นเสนาบดีคนสนิทของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ สามารถเจรจาและทำความตกลงกับฝ่ายพันธมิตรให้ฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงและอัญเชิญพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ต่อมาในวันที่ ๓ พฤษภาคมหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ทรงออกคำประกาศแห่งแซงกอง (Declaration of St.Quen) ได้ ๑ วันซึ่งทรงสัญญาจะพระราชทานรัฐธรรมนูญที่จำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ จัดตั้งรัฐสภาในระบบ ๒ สภา (bicameral parliament) ให้ความเสมอภาคในการนับถือศาสนาและเคารพในสิทธิของพลเมือง พระองค์ก็เสด็จนิวัติกรุงปารีส และนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๒๐ ปีที่ทรงมีโอกาสย่างพระบาทเข้ายังดินแดนปิตุภูมิหลังจากต้องเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศใน ค.ศ. ๑๗๙๓ ต่อมา ในวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๔ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ก็พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ "กฎบัตร" (Charter) ตามที่ทรงสัญญาไว้
     ขณะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติอย่างเป็นทางการนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ทรงมีพระชนมายุร่วม ๖๐ พรรษา ทั้งประชวรพระโรคไขข้ออักเสบและโรคอ้วน แต่พระองค์ก็ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูฝรั่งเศสและสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศมหาอำนาจอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงมีความรู้สึกอ่อนไหวและเห็นใจพวกพระราชวงศ์และ ขุนนางที่ต้องเสียประโยชน์ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสดังนั้นเมื่อเหล่าพระญาติ ขุนนาง และพวกเอมิเกรเรียกร้องให้มีการชดเชยสิทธิและผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่พวกตนเคยสูญเสียกลับคืนมา พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ก็ทรง ตอบสนองข้อเรียกร้องต่าง ๆ และยังสนับสนุนการคุกคามและลงโทษกลุ่มบุคคลที่เคยสนับสนุนการปฏิวัติฝรั่งเศสและจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ นโยบายดังกล่าวจึงทำให้ชาวฝรั่งเศสระแวงว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ จะนำ ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาใช้อีก และทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมรัฐบาล ขณะเดียวกัน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งถูกบังคับให้ไปปกครองเกาะเอลบา (Elba) ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาฟงแตนโบล (Treaty of Fontainbleau) ก็ถือโอกาสขณะที่ประชาชนรวมทั้งทหารที่ถูกปลดประจำการและไม่พอใจรัฐบาลฝรั่งเศสหาทางหลบหนีออกจากเกาะเอลบาเพื่อยึดอำนาจคืน อันก่อให้เกิดสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* ระหว่างวันที่ ๒๐ มีนาคมถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ที่ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ สามารถกลับมาปกครองฝรั่งเศสและพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับที่เมืองเกนต์ (Ghent) ในเบลเยียม
     เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงพ่ายแพ้แก่กองทัพของฝ่ายพันธมิตรในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* และถูกสมาชิกสภาผู้แทนบีบบังคับให้พระองค์สละราชสมบัติอีกครั้งในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ก็เสด็จนิวัติกรุงปารีสในวันที่ ๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๑๕ พร้อมกับกองทัพของฝ่ายพันธมิตรและทรงได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นจากประชาชนทั่วไปที่เบื่อหน่ายสงครามและต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีฐานะและความมั่นคงในพระราชบัลลังก์มากยิ่งขึ้น
     เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ได้เสด็จกลับมาปกครองฝรั่งเศสอีกครั้งในสมัยการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ครั้งที่ ๒ (The Second Restoration) นี้ พระองค์ต้องเผชิญกับเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของพวกอัลตราที่เรียกว่า "ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว" (White Terror) ที่เริ่มตั้งแต่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงเป็นฝ่ายปราชัยในสงคราม โดยพวกอัลตรามีเป้าหมายที่จะแก้แค้นพวกปฏิวัติที่ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิวัติ ผู้ที่เข้าครองที่ดินของวัดหรือการเข้าไปมีตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะรัฐบาลและอื่น ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้มีการฆ่าฟันกันและพวกที่เคยมีบทบาทในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสจำนวนมากต้องอพยพออกนอกประเทศ ซึ่งรวมทั้งดุ๊กแห่งออร์เลออง [Duke of Orléans ต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)*] ผู้นำของกลุ่มนิยมออร์เลออง (Orleanist) ด้วย อย่างไรก็ดี ความน่าสพรึงกลัวสีขาวก็มีผลทางอ้อมที่ทำให้ฐานะของราชวงศ์บูร์บงมั่นคง ผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของราชวงศ์จำนวนมากได้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น ตุลาการ และหน่วยงานปกครองอื่น ๆ
     ในการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๕ พวกอัลตราเป็นจำนวนมากได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร เพราะฝ่ายตรงข้ามไม่กล้าเสี่ยงที่ จะลงสมัครรับเลือกตั้ง และทำให้สภาผู้แทนของฝรั่งเศสมีสภาพเป็นสภาของฝ่ายปฏิกิริยา (reactionary parliament) ภายในเวลาเพียง ๑ ปีที่พวกอัลตราเข้ามามีอำนาจนั้นปรากฏว่าชาวฝรั่งเศสจำนวน ๙,๐๐๐ คน ได้ถูกพิพากษาลงโทษด้วยข้อหาทางการเมือง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ที่ทรงปรารถนาจะใช้นโยบายสายกลางในการปกครองประเทศ ในที่สุดพระองค์ก็ทรงประสบความสำเร็จเมื่อได้อาร์มอง เอมานูเอล เดอ เปลซี ดุ๊กแห่งรีเชอลีเยอ (Armand Emmanuel de Plessis, Duke of Richelieu) และ เอลีเดอกาซ (Élie Decazes) มาช่วยบริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งอัครเสนาบดีและเสนาบดีว่าการตำรวจตามลำดับ กอปรกับพระองค์ทรงได้รับแรงสนับสนุนจากซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ แห่งรัสเซียที่ เกรงว่าการใช้มาตรการรุนแรงของพวกอัลตราจะทำให้ชาวฝรั่งเศสลุกฮือก่อการจลาจลและมีผลกระทบต่อการเมืองและสังคมยุโรปอีกโดยเฉพาะต่อรัสเซีย ดังนั้นในเวลาอันสั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ และดุ๊กแห่งรีเชอลีเยอก็ร่วมกันประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๖
     ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในเวลาต่อมานั้นพวกอัลตราซึ่งถูกโจมตีอย่างรุนแรงในระหว่างการหาเสียงได้สูญเสียที่นั่งเป็นจำนวนมาก และเปิดโอกาสให้พวกเสรีนิยมเข้ามามีบทบาททางการเมืองแทนระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๖-๑๘๒๐ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนคณะรัฐบาลที่มีดุ๊กแห่งรีเชอลีเยอเป็นอัครเสนาบดีระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๖-๑๘๑๘ และเดอกาซระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๙-๑๘๒๐ ให้ดำเนินนโยบายสายกลางในการบริหารประเทศ โดยได้รับความสนับสนุนจากพวกเสรีนิยมในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๖-๑๘๒๐ รัฐบาลก็สามารถปฏิรูปการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพและเป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการคลังที่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่วงการธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนระบบการทหารที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกชนชั้น มีการยุติการเกณฑ์ทหารในภาวะปรกติและให้ชายฉกรรจ์สมัครเป็นทหารด้วยความสมัครใจ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อฝรั่งเศสในอนาคตเป็นอันมาก
     ในด้านการต่างประเทศ รัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ยังประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูสถานะเดิมของฝรั่งเศสในฐานะมหาอำนาจของยุโรปได้ โดยในการประชุมใหญ่แห่งเอกซ์-ลา-ชาแปล (Congress of Aix-la-Chaplle กันยายน ค.ศ. ๑๘๑๘)* เพื่อพิจารณาเรื่องของฝรั่งเศส ตาเลรองผู้แทนของฝรั่งเศสสามารถโน้มน้าวให้มหาอำนาจอื่น ๆ ยินยอมลงมติถอนกองกำลังพันธมิตรออกจากภาคเหนือของฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสได้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามข้อผูกพันแล้วและอนุญาตให้ฝรั่งเศสลงนามในสนธิสัญญาร่วมมือกันระหว่างมหาอำนาจยุโรปในการจะช่วยกันจรรโลงสันติภาพ การลงนามดังกล่าวจึงก่อให้เกิดสนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี (Quintuple Alliance) ขึ้น และเท่ากับเป็นการยกฐานะของฝรั่งเศสให้เป็นมหาอำนาจเท่าเทียมกับมหาอำนาจอื่น ๆ ของยุโรปในขณะนั้น จึงนับว่าเป็นความสำเร็จทางการทูตของฝรั่งเศสอย่างมากที่สามารถฟื้นฟูสถานภาพเดิมได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี
     อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของรัฐบาลสายกลางและการปฏิรูปการเมืองและสังคมของฝรั่งเศสต้องสิ้นสุดลงเมื่อดุ๊กแห่งแบร์รี (Duke of Berry) พระโอรสของเคานต์แห่งอาร์ตัว ซึ่งเป็นผู้นำของพวกอัลตรา และเป็นพระภาติยะ (หลานลุง) ในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ และเป็นรัชทายาทอันดับสองในการสืบราชบัลลังก์ได้ถูกลอบ ปลงพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ การสิ้นพระชนม์ของพระราชวงศ์ชั้นสูงดังกล่าวทำให้พวกอัลตราถือโอกาสโจมตีเดอกาซและการดำเนินนโยบายสายกลางของรัฐบาลอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้การปฏิวัติหวนกลับมาฝรั่งเศสอีกครั้ง ในที่สุดในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๒๐ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ซึ่งทรงถูกแรงกดดันจากเคานต์แห่งอาร์ตัวและพวกอัลตราจึงจำเป็นต้องสั่งให้เดอกาซซึ่งเป็นอัครเสนาบดีที่ทรงโปรดปรานลาออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดโอกาสให้พวกอัลตราเข้ามาบริหารประเทศแทน นับเป็นการสิ้นสุดสมัยของการปฏิรูปทางการเมืองของฝรั่งเศส เพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ได้ทรงหันมายึดนโยบายปฏิกิริยา เช่น ทรงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดโอกาสให้พวกอัลตราเข้ามานั่งในสภามากขึ้น และการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หนังสือพิมพ์ และอื่น ๆ เป็นต้น
     นอกจากนี้ ในปลายรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ซึ่งทรงพระชราและมีพระอาการประชวรมากขึ้นก็ทรงปล่อยให้เคานต์แห่งอาร์ตัวพระอนุชาซึ่งเป็นองค์รัชทายาทอันดับหนึ่งของราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ชอง บัปติสต์ เคานต์แห่งวีแลล (Jean Baptiste, Count of Villèle) อัครเสนาบดี และพวกอัลตราบริหารประเทศตามใจชอบ ทั้งพระองค์เองก็ทรงละความสนพระทัยในเรื่อง กิจการบ้านเมืองอย่างสิ้นเชิงด้วย จึงนับว่าเป็นชัยชนะของพวกอัลตราในการฟื้นฟูระบบการปกครองระบอบเก่า (old regime) ของฝรั่งเศส
     พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ค.ศ. ๑๘๒๔ ณ พระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) ในกรุงปารีส สิริพระชนมายุ ๖๙ พรรษา



คำตั้ง
Louis XVIII
คำเทียบ
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘
คำสำคัญ
- สมัยการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ครั้งที่ ๒
- ชอง บัปติสต์ เคานต์แห่งวีแลล
- สมัยร้อยวัน
- สนธิสัญญาฟงแตนโบล
- รัฐธรรมนูญฉบับ “กฎบัตร”
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- เกนต์, เมือง
- ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว
- คำประกาศแห่งแซงกอง
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑, ซาร์
- เอมีเกร, พวก
- สภากงวองซิยงแห่งชาติ
- สนธิสัญญาทิลซิท
- วาแรน, เมือง
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- ปอล, ซาร์
- แถลงการณ์เวโรนา
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- มิตตาอู, เมือง
- ชาร์ล โมรีซ เดอ ตาเลรอง, เจ้าชาย
- คูร์ลันด์, มณฑล
- แคเทอรีนที่ ๒ มหาราช, ซารีนา
- เหลุยส์ โอกูสต์, จ้าชาย
- หลุยส์ มารี โชเซฟีน แห่งซาวอย, เจ้าหญิง
- หลุยส์ โชแซฟ, เจ้าชาย
- สภาฐานันดรแห่งชาติ
- หลุยส์ ชาร์ล, เจ้าชาย
- แวร์ซาย, พระราชวัง
- มารี อองตัวแนต, สมเด็จพระราชินี
- ยุคภูมิธรรม
- มารี โชเซฟาแห่งแซกโซนี, เจ้าหญิง
- ซาเวียร์, หลุยส์ สตานิลัส
- โปรวองซ์, เคานต์แห่ง
- ชาร์ลที่ ๑๐, พระเจ้า
- ชาร์ล ฟิลิป เคานต์แห่งอาร์ตัว, เจ้าชาย
- โคเบลนซ์, เมือง
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- การทลายคุกบาสตีย์
- หลุยส์ที่ ๑๖, พระเจ้า
- หลุยส์ที่ ๑๕, พระเจ้า
- สงครามนโปเลียน
- พวกกษัตริย์นิยมหัวรุนแรง
- บูร์บง, ราชวงศ์
- ตุยเลอรี, พระราชวัง
- กลุ่มอัลตรา
- หลุยส์ พิลิป, พระเจ้า
- เอลบา, เกาะ
- ออร์เลออง, ดุ๊กแห่ง
- การประชุมใหญ่แห่งเอกซ์-ลา-ชาแปล
- กลุ่มนิยมออร์เลออง
- แบร์รี, ดุ๊กแห่ง
- เดอกาซ, เอลี
- เปลซี, อาร์มอง เอมานูเอล เดอ, ดุ๊กแห่งรีเชอลีเยอ
- สนธิสัญญาพันธไมตรีเบญจภาคี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1755-1824
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๒๙๘-๒๓๖๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf