มัคซิม มัคซิโมวิช ลิวีนอฟ เป็นนักปฏิวัติรัสเซียเชื้อสายยิว นักการทูต และเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำกรุงลอนดอนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๗-๑๙๑๘ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๙ และเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำสหรัฐอเมริการะหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๓ ลิวีนอฟมีบทบาทสำคัญในการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศประชาธิปไตยตะวันตกในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* กับสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ตลอดจนสนับสนุนกติกาสัญญาบรียอง-เคลลอกก (Briand-Kellogg Pact) ซึ่งประณามการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อสหภาพโซเวียตทำความตกลงกับเยอรมนีในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Non-agression Pact)*
เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๕๓)* ผู้นำสหภาพโซเวียตปลดเขาออก จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากอดอลฟ์ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* เกลียดชังยิว ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอันยาว นานกับสตาลินทำให้ลิวีนอฟซึ่งเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค (Bolshevik)* รุ่นบุกเบิกเชื้อสายยิวรอดพ้นจากการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges) และสามารถดำรงตำแหน่งในระดับสูงของรัฐบาลสหภาพโซเวียตไว้ได้ตราบจนสิ้นชีวิต
ลิวีนอฟมีชื่อจริงว่า เมเยอร์ วัลลัช (Mejer Wallach) เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางชาวยิวที่พอมีอันจะกินเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๕ ที่ เมืองเบียวิสตอก (Bialystok) โปแลนด์ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย บิดามีอาชีพค้าขาย ส่วนมารดาเป็นครู หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย เขาสมัครเข้าเป็นทหารประจำกองทัพและในช่วง รับราชการทหารเขามีโอกาสพบและสนิทสนมกับเพื่อนทหารที่สนใจการเมืองแนวความคิดลัทธิมากซ์ (Marxism)* ลิวีนอฟจึงถูกชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Workers' Party - RSDLP)* สาขาเมืองเคียฟ (Kiev) ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ภายหลังปลดประจำการ เขาเป็นผู้ปฏิบัติงานพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียที่จังหวัดเชียร์นีกอฟ (Chernigov) และเคียฟโดยเคลื่อนไหวโน้มน้าวมวลชนปฏิวัติและสมาชิกองค์การปฏิวัติท้องถิ่นให้หันมาสนับสนุนแนวนโยบายการสร้าง พรรคของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔)* ซึ่งเป็นแกนนำองค์การพรรคนอกประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ เขาถูกจับด้วยข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐและถูกตัดสินเนรเทศไปไซบีเรียเป็นเวลา ๕ ปี แต่ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๒ ลิวีนอฟก็สามารถหลบหนีออกนอกประเทศไปสวิตเซอร์แลนด์ได้ และต่อมาได้มีโอกาสพบกับเลนินที่ กรุงลอนดอน ทั้งยังร่วมงานกับเลนินในคณะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใต้ดิน Iskra ด้วย
ในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ มีการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ ขึ้นที่กรุงลอนดอนเพื่อจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยขึ้นอย่างเป็นทางการ ในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนองค์การพรรคมีความ คิดเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับปัญหาคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคและการปรับจำนวนกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Iskra ที่ประชุมจึงแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนแนวนโยบายของเลนินเรียกชื่อว่าบอลเชวิค ซึ่งหมายถึงเสียงข้างมาก กับกลุ่มที่สนับสนุนแนวนโยบายของยูลี มาร์ตอฟ (Yuly Martov)* ซึ่งเรียกชื่อว่าเมนเชวิค (Mensheviks)* ที่หมายถึงเสียงข้างน้อยลิวีนอฟสนับสนุนกลุ่มบอลเชวิคและต่อมาเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ดูแลด้านงานบริหารและธุรกิจของกลุ่มบอลเชวิคนอกประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานระหว่างองค์การปฏิวัติภายในกับภายนอกประเทศ
เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๐๕ รวมทั้งความปราชัยของรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* ลิวีนอฟจึงกลับเข้าประเทศเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองและร่วมกับอะนาโตลี ลูนาชาร์สกี (Anatoli Lunacharsky)* เลโอนิด คราซิน (Leonid Krasin) และ แมกซิม กอร์กี (Maxim Gorgy)* จัดทำ Novaya Zhizn (New Life) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของ กลุ่มบอลเชวิคแข่งกับ Nachalo (The Beginning) ซึ่งเป็นกระบอกเสียงทางการเมืองของเมนเชวิคที่มี เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เป็นบรรณาธิการ แม้ หนังสือพิมพ์การเมืองทั้ง ๒ ฉบับจะเป็นคู่แข่งขันกัน แต่ก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางความคิดซึ่งกันและกันในการชี้นำกรรมกรและโจมตีฝ่ายปฏิกิริยา
อย่างไรก็ตาม เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* ทรงประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาดูมา (Duma)* ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้ รัฐบาลจึงเห็นเป็นโอกาสกวาดล้างนักปฏิวัติและยุบสภาโซเวียตซึ่งเป็นองค์การปกครองตนเองของคนงานที่จัดตั้งขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ลิวีนอฟจึงหนีออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง เขาใช้ชีวิตที่กรุงปารีสระยะหนึ่งแต่ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ก็ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสเนรเทศด้วยข้อหาคบคิดก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเขาจึงย้ายไปอยู่ที่อังกฤษโดยทำงานเป็นทั้งเซลส์แมนและเสมียนของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันเขาก็เป็นเลขานุการของกลุ่มบอลเชวิคที่ กรุงลอนดอนรัฐบาลอังกฤษยอมให้เขาซึ่งชื่อถูกขึ้นบัญชีดำที่ยุโรปตั้งรกรากได้โดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาแต่งงานกับไอวี โลว์ (Ivy Low) บุตรสาวของเซอร์ซิดนีย์ โลว์ (Sidney Low) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เธอปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสัญชาติตามสามี การแต่งงานดังกล่าวทำให้ลิวีนอฟมีสถานภาพทางสังคมเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและเขาก็ใช้เงื่อนไขดังกล่าวเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างลับ ๆ กับชุมชนชาวรัสเซียลี้ภัยในประเทศต่าง ๆ โดยชักชวนให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ปฏิวัติและสนับสนุนบอลเชวิค ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในสภาวะตกต่ำทางการเมือง
หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัฐบาลสหภาพโซเวียตแต่งตั้งให้ลิวีนอฟเป็นผู้แทนทางการทูตคนแรกของสหภาพโซเวียตประจำกรุงลอนดอน แม้ว่าในขณะนั้นอังกฤษ ปฏิเสธที่จะรับรองสถานภาพของรัฐบาลสหภาพโซเวียตในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ อังกฤษจับกุมเขาด้วยข้อหาละเมิดข้อตกลงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนบอลเชวิคและใช้เขาเป็นตัวประกันแลกเปลี่ยนตัวกับเซอร์รอเบิร์ต แฮมิลตัน บรูซ ลอกฮาร์ด (Sir Robert Hamilton Bruce Lockhard)๑ นักการทูตอังกฤษที่ถูกรัฐบาลสหภาพโซเวียตจับด้วยข้อหาเป็น "จารชนอังกฤษ" ในกรุงมอสโก และเชลยชาวอังกฤษอีกจำนวนหนึ่ง รัฐบาลสหภาพโซเวียตยอมแลกเปลี่ยนตัวประกันทางการเมือง ลิวีนอฟจึงถูกปล่อยตัวในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาเดินทางกลับรัสเซียและทำงานใน กระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีเกออร์กี วาซีเลวิช ชีเชริน (Georgi Vasilevich Chicherin)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (People’s Commissar for Foreign Affair) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ลิวีนอฟได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาดำรง ตำแหน่งดังกล่าวจนถึง ค.ศ. ๑๙๓๐
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๒๙ ลิวีนอฟเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพโซเวียตร่วมประชุมหารือหลายครั้งกับคณะกรรมาธิการเตรียมการขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* เพื่อเตรียมการจัดประชุมลดอาวุธโลก (World Disarmament Conference) ที่นครเจนีวาใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เขาสร้างชื่อเสียงให้ตนเองและสหภาพโซเวียตด้วยการเสนอแผนการลดอาวุธในระดับต่าง ๆ และรณรงค์สนับสนุนแนวความคิดเรื่องการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ในการพยายามป้องกันหรือหยุดยั้งสงครามรวมทั้งการรักษาระเบียบระหว่างประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เขาร่วมลงนามสนับสนุนกติกาสัญญาบรียอง-เคลลอกก์ ซึ่งอาริสตีด บรียอง (Aristide Briand)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสผลักดันในการประณามการใช้สงครามเป็นเครื่องมือตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ลิวีนอฟยังเจรจาทำความตกลงกับรัฐบอลติก (Baltic States)* อังกฤษและประเทศยุโรปตะวันตกอีกหลายประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนและส่งตัวนักโทษการเมืองและเชลยสงครามกลับสู่มาตุภูมิรวมทั้งเจรจาสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศตะวันตกอื่นๆ
ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ลิวีนอฟได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนชิเชรินซึ่งลาออกเพราะปัญหาสุขภาพและมีความคิดเห็นขัดแย้งกับองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International) ในเรื่องการต่างประเทศ ลิวีนอฟซึ่งเป็นบอลเชวิคเก่าสนับสนุนการดำเนินงานของโคมินเทิร์น แต่ไม่ไว้วางใจประเทศทุนนิยมตะวันตกมากนัก เขาเห็นว่าความสัมพันธ์กับประเทศทุนนิยมเป็นเพียงการร่วมมือกันชั่วคราวในเงื่อนไขระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาประสบความสำเร็จในการดำเนินงานทางการทูตอย่างมากเพราะได้รับการยอมรับให้เป็นผู้แทนของโซเวียตในองค์การสันนิบาตชาติและประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาก็ยอมลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติใน ค.ศ. ๑๙๓๔ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๓๕ สหภาพโซเวียตก็ร่วมลงนามในกติกาสัญญาป้องกันร่วมกัน (Mutual Defence Pact) กับฝรั่งเศสและ เชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* นอกจากนี้ ลิวีนอฟยังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพโซเวียตในการเข้าร่วมประชุมเศรษฐกิจโลกที่กรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ด้วย ความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ทำให้สหภาพโซเวียตมีบทบาทเป็นที่ยอมรับมากขึ้นของประเทศต่าง ๆ มีส่วนทำให้ลิวีนอฟได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมทบคณะกรรมาธิการกลางพรรคใน ค.ศ. ๑๙๓๔ และต่อมาเป็นสมาชิกสมบูรณ์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เขายังได้รับอิสริยาภรณ์เลนิน (Order of Lenin) ซึ่งเป็นอิสริยาภรณ์สูงสุดของสหภาพโซเวียตด้วย
ในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ เมื่อลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และลัทธินาซีเริ่มขยายบทบาทและอิทธิพลเข้าไปในดินแดนยุโรปตอนกลางและตอนใต้ ลิวีนอฟมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้ประเทศยุโรปตะวันตก อื่น ๆ ใช้แนวความคิดเรื่องการประกันความมั่นคงร่วมกันคานอำนาจของลัทธิฟาสซิสต์และนาซี แต่ก็ประสบกับความล้มเหลวเพราะประเทศตะวันตกไม่ได้ให้ความสนใจต่อภัยการคุกคามของอิตาลีและเยอรมนีซึ่งยังไม่ได้แสดงท่าทีออกอย่างชัดเจน ทั้งหวาดระแวงต่อสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม เมื่อฮิตเลอร์สนับสนุนชาวเยอรมันในแคว้นซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ซึ่งเป็นดินแดนทางตอนเหนือของเชโกสโลวะเกียให้ก่อการเคลื่อนไหวเพื่อรวมเข้ากับเยอรมนี ประเทศมหาอำนาจตะวันตก พยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่จะนำไปสู่การเกิดสงครามด้วยการทำความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* บีบบังคับให้เชโกสโลวะเกียยกแคว้นซูเดเทนลันด์แก่เยอรมนีโดยมีเงื่อนไขว่าเยอรมนีต้องไม่รุกรานดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกีย ลิวีนอฟประกาศว่าสหภาพโซเวียตก็พร้อมที่จะปกป้องเชโกสโลวะเกียในกรณีที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาคีกติกาสัญญาป้องกันร่วมกันจะร่วมดำเนินการด้วย แต่ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตเปลี่ยนนโยบายด้วยการลงนามทำความตกลงกับเยอรมนีในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซีโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ โจเซฟสตาลินผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งต้องการเอาใจฮิตเลอร์จึงปลดลิวีนอฟออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะเห็นว่าเขาได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวเป็นศัตรูกับเยอรมนี ทั้งยังมีเชื้อสายยิวด้วย เวียเชสลัฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* สมาชิกพรรคอาวุโสซึ่งใกล้ชิดกับสตาลินได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทนในต้น ค.ศ. ๑๙๔๑ ลิวีนอฟก็ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีเปิดแนวรบด้านตะวันออกด้วยการบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ลิวีนอฟกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๑ และดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ เนื่องจากถูกเรียกตัวกลับประเทศเพราะสหภาพโซเวียตต้องการแสดงท่าทีให้ประเทศ พันธมิตรทราบว่าไม่พอใจที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวนโยบายสงคราม ลิวีนอฟได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขามีความคิดเห็นขัดแย้งกับโมโลตอฟซึ่งต้องการให้สหภาพโซเวียตใช้นโยบายโดดเดี่ยว (isolation) ส่วนลิวีนอฟเรียกร้องการสร้างความร่วมมือกับมหาอำนาจตะวันตกให้มากขึ้น แม้เขาจะไม่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศ แต่เขาก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงทางการทูตของสหภาพโซเวียตในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศประชาธิปไตยตะวันตก
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ลิวีนอฟ ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เพราะปัญหาสุขภาพ ในช่วง ๒-๓ ปีสุดท้ายของชีวิต เขาเลิกยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองและเก็บตัวเงียบจากสาธารณชน เขาถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัยชราที่บ้านพักในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ ขณะอายุ ๗๕ ปี.