Lipton, Sir Thomas John-stone (1850-1931)

เซอร์ทอมัส จอห์นสโตน ลิปตัน (๒๓๙๓-๒๔๗๔)

     เซอร์ทอมัส จอห์นสโตน ลิปตัน เป็นพ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสกอตที่ ต่อสู้ชีวิตมาจากการเป็นแรงงานรับจ้างจนมีฐานะมั่งคั่งและสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจจำหน่ายใบชาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นอกจากได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางแล้ว นามสกุลของเขาได้กลายเป็นยี่ห้อของชาที่รู้จักกันทั่วโลก นอกจากนี้ เขายังมีชื่อเสียงจากการเป็นนักแข่งเรือใบเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
     ลิปตันเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๕๐ ในเขตกอร์บัลส์ (Gorbals) ซึ่งเป็นเขตชุมชนแออัดในนครกลาสโกว์ (Glasgow) เมืองใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์บิดามารดาเป็นชาวไอริชที่หนีความยากจนมาแสวงหาอนาคตเช่นเดียวกับชาวไอริชอื่น ๆ จำนวนนับล้านคนที่อพยพออกจากไอร์แลนด์หลังการเกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (Great Famine)* ไปยังที่ ต่าง ๆ (แหล่งสำคัญคือสหรัฐอเมริกา) ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทั้งสอง ดำรงชีพด้วยการเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ บนถนนคราวน์ (Crown)

ในย่านคนจนของนครกลาสโกว์ซึ่งเป็นที่เกิดของบุตรชาย ลิปตันจึงคุ้นเคยกับการค้าขายสินค้าเล็กๆ น้อย ๆ มาตั้งแต่วัยเด็ก ใน ค.ศ. ๑๘๖๐ ลิปตันเลิกเรียนหนังสือขณะอายุ ๑๐ ปีเพื่อมาช่วยครอบครัวหารายได้ (กฎหมายที่ บังคับให้รัฐจัดการศึกษาขั้นต้นให้แก่พลเมืองออกใน ค.ศ. ๑๘๗๕) เขารับจ้างเป็นเด็กส่งเอกสารของร้านหนังสือและร้านผลิตเสื้อผ้า และต่อมาก็ทำงานเป็นเด็กรับใช้ในเรือ เพราะกลาสโกว์เป็นเมืองท่าใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์ มีอุตสาหกรรมต่อเรือและมีเรือเข้าออกจำนวนมาก มีการขยายแม่น้ำไคลด์ (Clyde) จนเรือเดินสมุทรสามารถแล่นเข้ามาถึงใจกลางเมืองได้ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๘๖๐ สินค้าที่ส่งออกจากเมืองท่านี้ ได้แก่ เครื่องจักรกลหนัก เรือ สิ่งทอ และเหล้าวิสกี้ และนำเข้ายาสูบจากสหรัฐอเมริกา
     เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ลิปตันได้หลบซ่อนตัวไปในเรือขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่แล่นไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนั้นสงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๕) กำลังจะสิ้นสุดลง เขาต้อง ดิ้นรนหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพ เช่น เป็นแรงงานรับจ้างในไร่ยาสูบและไร่ข้าวสาลีที่รัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) และรัฐเซาท์แคโรไลนา (South Carolina) และสุดท้ายไปเป็นลูกจ้างในแผนกขายเครื่องอุปโภคบริโภคที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก ซึ่งทำให้ลิปตันได้เรียนรู้ประสบการณ์การขายสินค้าที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องซื้อหา ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ เขาตัดสินใจเดินทางกลับไปยังถิ่นเกิดเพราะคิดถึงบ้าน และ ๔ ปีต่อมาก็เปิดร้านของชำเล็ก ๆ ของเขาเองบนถนนคราวน์ที่เขาเติบโตขึ้นมา ร้านลิปตันมีลักษณะที่โดดเด่นกว่าร้านอื่น ๆ ในประเภทเดียวกันในแง่การจัดร้านและการจัดวางสินค้าให้ดึงดูดสายตาลูกค้าและมีการใช้คำโฆษณาชักชวนลูกค้าให้ซื้อของอย่างน่าสนใจ ร้านของลิปตันจึงประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการก่อตั้งสาขาขึ้น ลิปตันถึงกับตั้งปณิธานว่าจะมีร้านลิปตันในทุกเมืองของสกอตแลนด์และนอกเขตออกไป เมื่ออายุเพียง ๓๐ ปี ลิปตันก็สามารถขยายกิจการของเขาจนมีสาขาจำนวนมากและทำให้เขามีฐานะเป็นมหาเศรษฐีอีก ๑๐ ปีต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ลิปตันโยกย้ายศูนย์กลางธุรกิจของเขาไปอยู่ที่กรุงลอนดอน และขยายธุรกิจร้านของชำเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งมีผู้ประสงค์จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทของเขาจำนวนมาก
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ เมื่อลิปตันเห็นว่าธุรกิจร้านค้าเครื่องอุปโภคบริโภคของเขาซึ่งมีสาขาหลายแห่งมั่นคงพอควรแล้ว เขาจึงเดินทางไปพักผ่อนที่ ออสเตรเลียระหว่างการเดินทางนั้นเขาได้หยุดแวะพักที่เกาะซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษเช่นกัน ลิปตันเกิดความคิดที่จะจำหน่ายใบชาซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ชาวอังกฤษนิยมในร้านค้าของเขา แต่ไม่ต้องการจะซื้อใบชาผ่านพ่อค้าคนกลาง เขาจึงสำรวจลู่ทางการปลูกชาที่ เกาะซีลอนและขนส่งไปอังกฤษเพื่อนำไปจำหน่ายในร้านค้าของเขาที่มีสาขาหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้ลิปตันจึงซื้อไร่กาแฟเก่า ๔ แห่งเพื่อปลูกชา กาแฟ และโกโก้ การเป็นเจ้าของไร่เองทำให้ลิปตันสามารถควบคุมคุณภาพของใบชาได้ อย่างไรก็ดี ความเชี่ยวชาญในธุรกิจของเขาไม่ได้มาจากการที่เขาเป็นเจ้าของไร่ชามากนัก แต่มาจากทักษะด้านการตลาดและการวาง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเขา อีกทั้งการเลือกสรรใช้วลีโฆษณาต่าง ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค นอกจากนี้ สินค้าชาของเขาสามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลายระดับชั้น ก่อน ค.ศ. ๑๘๙๐ นั้น ชาที่มีรสชาติดียังมีราคาแพงสำหรับชาวอังกฤษโดยทั่วไป จึงเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับผู้สามารถใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่เมื่อลิปตันหันมาทำธุรกิจผลิตใบชา เขาก็สามารถผลิตชาที่ คนแทบทุกระดับชั้นและอาชีพสามารถเลือกซื้อหาได้โดยเขารับประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วย นอกจากจะมีไร่ชา กาแฟ และโกโก้นอกประเทศแล้ว เขายังมีไร่ผลไม้ โรงงานผลิตแยม ร้านขนมอบ โรงงานผลิตเนื้อหมูรมควันในอังกฤษ รวมทั้งโรงงานบรรจุเนื้อหมูที่ นครชิคาโกสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ลิปตันได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายชาลิปตันของเขาในสหรัฐอเมริกาด้วย
     ลิปตันได้พัฒนาอุตสาหกรรมการขายชาของเขาต่อไปเรื่อย ๆ เดิมนั้นการขายใบชาต้องขนส่งทางเรือและขายปริมาณมากแล้วนำมาแบ่งขายในร้านค้าปลีกลิปตันเป็นคนแรกที่คิดบรรจุชาในกระป๋องโลหะเล็ก ๆ ที่สวยงามสะดวกแก่การเก็บรักษากลิ่นหอมและความสดใหม่ของใบชา ตรงตามคำโฆษณาที่เขาตั้งขึ้นว่า "ชาลิปตันส่งตรงจากไร่สู่กาน้ำชา" (Lipton tea, straight from the tea gardens to the tea pot) ทำให้ลูกค้าสามารถมั่นใจว่าได้ปริมาณใบชาตามที่สั่งซื้อด้วย นอกจากการจูงใจลูกค้าด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ชวนจับต้องและคำโฆษณาแล้ว เขายังมีการปรุงแต่งรสและกลิ่นใบชาซึ่งส่งออกไปจำหน่ายในดินแดนต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายเหมาะสมกับคุณสมบัติของน้ำในท้องถิ่นนั้น ๆ หลังจากที่ลิปตันเสียชีวิตไปแล้วบริษัททอมัส เจ. ลิปตันก็ยังพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของชาต่อไปอีก ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ได้มีการบรรจุชาในถุงเล็ก ๆ ที่น้ำร้อนสามารถซึมสู่ใบชาหรือผงชาได้รอบด้าน ทำให้ผู้บริโภคสามารถดื่มได้รสชาติและกลิ่นหอมของชาลิปตันอย่างรวดเร็วและสะดวก การคิดค้นขายชาในรูปถุงชา (tea bag) เล็ก ๆ นี้เกิดขึ้นเมื่อทอมัส ซัลลิแวน (Thomas Sullivan) พ่อค้าขายชาและกาแฟในนครนิวยอร์กได้นำใบชาใส่ถุงผ้าไหมบาง ๆ เล็ก ๆ ที่เย็บด้วยมือ เพื่อแจกเป็นตัวอย่างใบชาให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นวิธีการโฆษณาที่ไม่แพงและสะดวก แต่ลูกค้าของเขากลับนำชาในผ้าไหมไปต้มทั้งถุงแทนที่จะแกะใบชาออกจากถุงไหมเล็ก ๆ นั้น
     ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันแพร่หลายมากทั้งในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา เมื่อเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ลิปตันก็มีร้านสาขากว่า ๓๐๐ แห่งในสหราชอาณาจักร แต่ก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างพอเพียง เพราะใบชาของลิปตันราคาไม่สูง ด้วยเหตุนี้เขาจึงวางผลิตภัณฑ์ของเขาในร้านอื่น ๆ เพื่อขยายช่องทางการตลาดอีกด้วย ความสำเร็จจากการประกอบธุรกิจค้าใบชาและการเป็นผู้ช่วยเหลือในงานกุศลต่าง ๆ ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินให้แก่ลิปตันใน ค.ศ. ๑๘๙๘ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ในสมัยพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)* เขาก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นบารอนเนตลิปตันที่ ๑ (1st Baronet) นอกจากช่วยในกิจการงานกุศล ต่าง ๆ แล้ว ลิปตันยังบริจาคเงินช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐอเมริกา (Spanish- American War) ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ และสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ด้วย นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ลิปตันบริจาคเงิน ๑๐,๐๐๐ ปอนด์ให้แก่ผู้บริหารนครกลาสโกว์เพื่อช่วยเหลือมารดาและบุตรที่ยากจน ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงมารดาของเขา
     ลิปตันไม่ได้เป็นที่รู้จักเฉพาะในวงการธุรกิจใบชาและการกุศลเท่านั้น เขายังเป็นนักเล่นเรือใบที่สามารถ ลิปตันเป็นผู้แทนสโมสรเรือใบหลวงแห่งอัลสเตอร์ (Royal Ulster Yacht Club) ลงแข่งขันเพื่อชิงถ้วยรางวัลของสหรัฐอเมริกาถึง ๕ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. ๑๘๙๙, ๑๙๐๑, ๑๙๐๓, ๑๙๒๐ และครั้งสุดท้ายขณะอายุ ๘๐ ปีใน ค.ศ. ๑๙๓๐ โดยใช้เรือใบที่ต่อในอังกฤษซึ่งเขาตั้งชื่อเรือว่า แชมร็อก ๑ (Shamrock I) ทุกครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ทุกครั้งด้วย จนครั้งสุดท้ายชาวอเมริกันที่ชื่นชมความเป็นนักกีฬาของเขามากโดยยกย่องว่าเขาเป็นผู้แพ้ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก (the world’s best loser) และร่วมกันออกเงิน ๑๖,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐจัดทำถ้วยทอง มอบให้แก่ลิปตัน
     เซอร์ทอมัส จอห์นสโตน ลิปตันถึงแก่กรรม ณ ที่พำนักในเขตโอซิดจ์ (Osidge) ใกล้กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ขณะอายุ ๘๑ ปี เขาไม่เคยสมรสและไม่มีญาติที่จะรับมรดก เขามอบทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่องค์กรการกุศลต่าง ๆ ของนครกลาสโกว์เพื่อช่วยเหลือคนยากจนและสร้างโรงพยาบาล นอกจากนี้ ภาพถ่าย (มีรูปถ่ายกว่า ๒,๐๐๐ รูปในอัลบัม ๔๘ เล่ม) และข่าวตัดจากสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๗ ที่เขาสะสมซึ่งเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังที่สนใจศึกษาสังคมอังกฤษในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ก็ได้มอบให้แก่ทางการกลาสโกว์เช่นกัน ปัจจุบันนี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดมิตเชลล์ (Mitchell Library) ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดของนครนี้
     กิจการของเซอร์ทอมัส ลิปตัน ผู้มีปรัชญาในการทำงานและการดำเนินชีวิตว่า "ทำงานหนัก ซื่อตรงรู้จักลงทุน มีวิจารณญาณที่รอบคอบ โฆษณาให้เต็มที่แต่อยู่ในกรอบแห่งความพอเหมาะ" (Work hard, deal honestly, be enterprising, exercise careful judgement, advertise freely but judiciously) ยังคงมีการดำเนินงานสืบต่อในสหรัฐอเมริกาโดยบริษัทยูนิลีเวอร (Unilever) ทำให้ชื่อ "ลิปตัน" ยังคงเป็นยี่ห้อของสินค้าประเภทชาที่ แพร่หลายไปกว่า ๑๒๐ ประเทศทั่วโลก.



คำตั้ง
Lipton, Sir Thomas John-stone
คำเทียบ
เซอร์ทอมัส จอห์นสโตน ลิปตัน
คำสำคัญ
- เอดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้า
- กอร์บัลส์, เขต
- กลาสโกว์, นคร
- ไคลด์, แม่น้ำ
- ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่
- ลิปตัน, เซอร์ทอมัส จอห์นสโตน
- ซัลลิแวน, ทอมัส
- สงครามกลางเมืองอเมริกัน
- เนตลิปตันที่ ๑, บารอน
- โอซิดจ์, เขต
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- วิกตอเรีย, สมเด็จพระราชินีนาถ
- สงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐอเมริกา
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1850-1931
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๙๓-๒๔๗๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf