Leopold I (1790-1865)

พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (๒๓๓๓-๒๔๐๘)

​​     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงเป็น "กษัตริย์ของชาวเบลเยียม" (King of the Belgians) พระองค์แรกและเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Saxe-Coburg-Gotha) แห่งราชอาณาจักรเบลเยียมที่จัดตั้งขึ้นในปลาย ค.ศ. ๑๘๓๐ ทรงสร้างชื่อเสียงในฐานะนายทหารที่มีความกล้าหาญในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* จนได้รับยกย่องในหมู่พระราชวงศ์ต่าง ๆ เมื่อเบลเยียมแยกตัวออกจากเนเธอร์แลนด์ ชาวเบลเยียมก็เลือกพระองค์เป็นกษัตริย์ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเบลเยียม (Belgian Question) จนเนเธอร์แลนด์ยินยอมยุติปัญหาการแยกตัวของเบลเยียมและยอมรับรองเอกราชของเบลเยียมอย่างเป็นทางการนอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้วางรากฐานเศรษฐกิจให้แก่เบลเยียมจนประสบความสำเร็จเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙


     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงเป็นโอรสของฟรานซิส เฟรเดอริก, ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา-ซาลเฟลด์ (Francis Frederick, Duke of Saxe Coburg-Gotha- Saalfeld ค.ศ. ๑๗๕๐-๑๘๐๖) และออกุสทารอสส์-เอแบร์ชดอร์ฟ (Augusta Reuss-Ebersdorf ค.ศ. ๑๗๕๗-๑๘๓๑) ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๗ ในบรรดาพระโอรสและพระธิดา ๘ พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๐ ณ ปราสาทเอเรนบูร์ก (Ehrenburg Castle) เมืองโกทา รัฐบาวาเรีย (Bavaria) ดินแดนเยอรมัน มีพระนามและพระยศเมื่อแรกประสูติว่า เจ้าชายจอร์จ เครเตียง เฟรเดอริก (Georges Chretien Fréderic) ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ ขณะมีพระชันษา ๕ ปี เจ้าชายจอร์จ หรือเลโอโปลด์ทรงได้รับพระราชทานยศจากซารีนาแคเทอรีนมหาราช (Catherine the Great ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖) อดีตเจ้าหญิงเยอรมันซึ่งมีความสนิทสนมกับราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา ให้เป็นพันเอกประจำกรมทหารอิซไมลอฟสกีแห่งจักรวรรดิ (Izmailovski Imperial Regiment) เมื่อเกิดสงครามนโปเลียนที่มหาอำนาจยุโรปได้รวมตัวกันทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศส เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* แต่งตั้งให้เป็นนายพลประจำกองทหารม้ารัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๐๖ เมื่อดัชชีหรือราชรัฐซักซ์-โคบูร์ก (Duchy of Saxe-Coburg) ถูกกองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดครองและเจ้าชายเลโอโปลด์ต้องเสด็จตามกองทัพฝรั่งเศสไปยังกรุงปารีสนั้น จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ทรงให้เจ้าชายเลโอโปลด์ละทิ้งตำแหน่งนายทหารในกองทัพรัสเซียและให้ดำรงตำแหน่งนายทหารคนสนิท (adjutant) ของพระองค์ แต่เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงปฏิเสธและใช้ชีวิตในช่วงของสงครามนโปเลียนเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาเดียวกันก็ทรงสืบทอดตำแหน่งประมุขของราชรัฐซักซ์-โคบูร์กจากพระเชษฐา
     ใน ค.ศ. ๑๘๑๒ เมื่อฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพลาดพลั้งในการทำสงครามกับรัสเซีย จนต้องถอยทัพจากนครมอสโกและสูญเสียทหารไปกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ฝ่ายสหพันธมิตรอันประกอบด้วยออสเตรีย อังกฤษ ปรัสเซีย สวีเดน และรัสเซีย จึงได้รวมตัวกันก่อสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (The Fourth Coalition ค.ศ. ๑๘๑๓-๑๘๑๔) หรือสงครามปลดปล่อย (War of Liberation)* ขึ้น เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงเข้าร่วมกับฝ่ายกองทัพสัมพันธมิตรรบกับฝรั่งเศสและสามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เมืองลืทเซิน (Lutzen) และเมืองเบาท์เซิน (Bautzen) ซึ่งกองทัพฝรั่งเศสเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยิน ต่อมา ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ พระองค์ก็ทรงเดินทัพร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าสู่กรุงปารีส ซึ่งมีผลให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงยอมรับการปราชัยโดยปราศจากเงื่อนไข ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เจ้าชายเลโอโปลด์ก็ทรงได้รับเลื่อนยศเป็นจอมพลแห่งกองทัพรัสเซีย
     ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ เจ้าชายเลโอโปลด์ซึ่งทรงมีความสง่างามทั้งยังมีชื่อเสียงจากสงครามจนเป็นที่กล่าวขวัญกันโดยทั่วไปได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชาร์ลอตต (Charlotte) พระธิดาพระองค์เดียวในเจ้าชายจอร์จ ออกัสตัส เฟรเดอริก [ (George Augustus Frederick) ต่อมาเฉลิมพระนามพระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๓๐)*] เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษกับเจ้าหญิงแคโรลีน (Caroline) การอภิเษกสมรสดังกล่าวนี้นับว่ามีความสำคัญมากเพราะเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงมีฐานะเป็นองค์รัชทายาทอันดับ ๒ (presumtive heiress) ของ ราชบัลลังก์อังกฤษ ดังนั้น เจ้าชายเลโอโปลด์ในฐานะพระสวามีของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ซึ่งทรงอยู่ในฐานะที่จะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษในอนาคตจึงทรงได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองอังกฤษและได้รับสถาปนาพระยศ "ดุ๊กแห่งเคนดัล" (Duke of Kendal) อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะมีบทบาทในการร่วมปกครองอังกฤษของเจ้าชายเลโอโปลด์ก็สิ้นสุดเมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์สิ้นพระชนม์พร้อมพระโอรสขณะมีพระประสูติการในปลาย ค.ศ. ๑๘๑๗ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ เจ้าชายเลโอโปลด์ซึ่งยังคงประทับอยู่ในอังกฤษตลอดมาก็ได้อภิเษกสมรสอย่างลับ ๆ โดยไม่มีทั้งงานพิธีทางศาสนา และพิธีฉลองใด ๆ กับแคโรลีน เบาเออร์ (Caroline Bauer) นักแสดงหญิงซึ่งได้รับพระราชทาน บรรดาศักดิ์เคาน์เตสส์มอนต์กอเมอรี (Countess Montgomory) และเป็นลูกพี่ลูกน้องของบารอนคริสเตียนฟรีดิช ไฟร์แฮร์ ฟอน ชตอคมัน (Baron Christian Friedrich Freiher von Stockman) ที่ปรึกษาคนสนิทของพระองค์แต่ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ความสัมพันธ์ของพระองค์กับเคาน์เตสส์มอนต์กอเมอรีก็สิ้นสุดลง
     ในต้น ค.ศ. ๑๘๓๐ เมื่ออังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซียสามารถเอาชนะกองทัพจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ในสงครามอิสรภาพกรีก (Greek War of Independence)* และร่วมกันทำพิธีสารลอนดอน (London Protocol) เพื่อค้ำประกันการจัดตั้งและเอกราชของราชอาณาจักรกรีซ เจ้าชายเลโอโปลด์ในฐานะสมาชิกของราชวงศ์อังกฤษและทรงสนิทสนมกับราชวงศ์รัสเซียจึงได้รับทาบทามให้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรกรีซ แต่ทรงปฏิเสธ
     อย่างไรก็ดี โอกาสของเจ้าชายเลโอโปลด์ที่จะได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์ก็เกิดขึ้นอีกหลังจากชาวเบลเยียมลุกฮือขึ้นก่อการปฏิวัติต่อรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ เพื่อเรียกร้องจะแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ เพราะที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ได้มีมติให้รวมเบลเยียมหรือมีชื่อเรียกก่อนหน้านี้ว่า "เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย" (Austrian Netherlands) เข้ากับเนเธอร์แลนด์เป็นหน่วยปกครองเดียวกัน และให้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) เบลเยียมประสบความสำเร็จเมื่อสามารถขับกองกำลังของเนเธอร์แลนด์ออกจากนคร บรัสเซลส์ (Brussels) ได้เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ ดังนั้นเบลเยียมจึงจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวและประกาศเอกราช ต่อมาในที่ประชุมที่กรุงลอนดอน (Conference of London) ในเดือนพฤศจิกายน ออสเตรีย ปรัสเซีย รัสเซียและอังกฤษก็ยอมรับการสถาปนาเบลเยียมเป็นราชอาณาจักร ในตอนแรก ชาวเบลเยียมต้องการเลือกดุ๊กแห่งเนอมูร์ (Duke of Nemours) พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระเจ้าหลุยส์ พิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)* แห่งฝรั่งเศสเป็นกษัตริย์ แต่ถูกมหาอำนาจคัดค้านเพราะเกรงว่าราชวงศ์ออร์เลออง (Orléan) จะมีบทบาทมากเกินไปและอาจทำให้เบลเยียมซึ่งมีพรมแดนร่วมกันกับฝรั่งเศสตกเป็นของฝรั่งเศสในอนาคต ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ชาวเบลเยียมก็ได้เลือกเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา-ซาลเฟลด์ เป็น "กษัตริย์ของชาวเบลเยียม" (โดยนัยนี้ จึงเป็นการจำกัดบทบาทของกษัตริย์ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนมากกว่าการมีบทบาทเป็นผู้นำหรือผู้ปกครองของรัฐ) เฉลิมพระนามพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรเบลเยียม และกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็ทรงมีพระอิสริยยศเป็น "กษัตริย์ของชาวเบลเยียม" จนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จัดขึ้นในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ( ค.ศ. ๑๘๓๑) นั้นก็ถูกกำหนดให้เป็นวันชาติของเบลเยียมด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงเอาใจผู้สนับสนุนราชวงศ์ออร์เลอองและการสร้างสัมพันธ์อันแนบแน่นกับฝรั่งเศส ด้วยการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงหลุยส์-มาเรีย เทเรซา ชาร์ลอตต์ อิซาเบล (Princess Louis-Maria Thérésa Charlotte Isabelle) พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ฟิลิป ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ ซึ่งรวมทั้งจักรพรรดินีมาเรีย-ชาร์ลอตต์ (Maria-Charlotte) พระราชธิดาองค์เล็ก พระมเหสีในจักรพรรดิแมกซีมีเลียน (Maximillian ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๘๖๗)* สมาชิกของราชวงศ์ฮับสบูร์ก (Habsburg)* พระอนุชาในจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๙๑๖)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ที่เสด็จไปครองราชสมบัติเม็กซิโก และถูกพวกสาธารณรัฐนิยมที่ต่อต้านระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สำเร็จโทษ

     อย่างไรก็ดี ในระยะแรกของรัชกาล พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ก็ทรงประสบกับวิกฤตการณ์สงครามระหว่างเบลเยียมกับเนเธอร์แลนด์ หลังจากที่พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้เพียง ๒ สัปดาห์ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๗๗๒-๑๘๔๓)* แห่งเนเธอร์แลนด์ซึ่งไม่ทรงยอมรับมติของที่ ประชุมแห่งลอนดอนที่รับรองให้เบลเยียมเป็นเอกราชก็ได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีเบลเยียม สงครามได้สร้างความเสียหายให้แก่เบลเยียมเป็นอันมาก สงครามระหว่างเบลเยียมกับเนเธอร์แลนด์ได้ดำเนินติดต่อกันอย่างยืดเยื้อเป็นเวลา ๘ ปี ในระยะเวลาดังกล่าวกองทัพ ฝรั่งเศสและอังกฤษก็ให้ความร่วมมือกับเบลเยียมเป็นอย่างดี โดยการปิดกั้นน่านน้ำมิให้กองเรือดัตช์โจมตีเบลเยียมได้ ในที่สุด เนเธอร์แลนด์และเบลเยียมก็ยินยอมยุติปัญหาต่อกัน โดยทำสนธิสัญญาสงบศึกในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๙ เบลเยียมได้รับดินแดนครึ่งหนึ่งทางทิศตะวันตกของแกรนด์ดัชชีลักเซมเบิร์ก (Grand Duchy of Luxembourg) ที่ เป็นรัฐในปกครองโดยตรงของกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ แต่ต้องยกเมืองลิมเบิร์ก (Limburg) และมาสตริกต์ (Maastricht) ให้แก่เนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ มหาอำนาจยุโรปยังได้ยืนยันความเป็นเอกราช รวมทั้งย้ำการค้ำประกัน "ความเป็นกลางอย่างถาวร" (permanent neutrality) ของเบลเยียม เพื่อป้องกันมิให้เบลเยียมรวมตัวกับฝรั่งเศสใน อนาคตอีกด้วย ซึ่งเท่ากับทำให้สถานภาพทางการเมืองระหว่างประเทศมั่นคงยิ่งขึ้น
     อย่างไรก็ดี ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่นั้นพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงประสบความสำเร็จในการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่เบลเยียมสมตามพระราชปณิธาน ใน ค.ศ. ๑๘๓๕ เบลเยียมสามารถเปิดทางรถไฟสายบรัสเซลส์-เมเชเลิน (Brussels- Mechelen) นับเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกในดินแดนภาคพื้นทวีปยุโรป หลังจากนั้น อุตสาหกรรมของเบลเยียมก็ขยายตัวมาก เมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) เป็นเมืองท่าที่พลุกพล่านมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป ใน ค.ศ. ๑๘๔๑ เบลเยียมสามารถผลิตถ่านหินได้มากกว่าฝรั่งเศสและดินแดนเยอรมัน นอกจากนี้ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ยังผลักดันให้มีการลงนามความร่วมมือทางการค้าระหว่างเบลเยียมกับปรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๔๔ และกับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๔๖ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๔๙ เมื่ออุตสาหกรรมภายในประเทศเข้มแข็งขึ้นและสามารถแข่งขันกับสินค้าภายนอกได้ เบลเยียมก็ยกเลิกนโยบาย การตั้งกำแพงภาษีและหันมาดำเนินนโยบายการค้าเสรีมีการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๕๐ ตลอดจนปรับปรุงระบบการเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ด้วย
     ในด้านการบริหารภายในนั้น พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงส่งเสริมให้เมืองใหญ่ต่าง ๆ และเขตชนบทมีอำนาจบริหารที่เป็นอิสระจากส่วนกลาง ขยายการศึกษาไปทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งทรงพยายามสร้างความสมานฉันท์ระหว่างพวกคาทอลิกกับพวกโปรเตสแตนต์ที่มีความคิดแตกแยกทางการเมือง แต่ต่างก็เป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ โดยทรงดำเนินนโยบายไม่ให้มีรัฐบาลพรรคการเมืองเดียว และกีดกันมิให้คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อสภา แม้ว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็สามารถรักษาเอกภาพของประเทศไว้ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution) ขึ้นในฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๔๘ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ก็ทรงปล่อยให้ชาร์ล โรจีเย (Charles Rogier) นายกรัฐมนตรีที่มีแนวคิดเสรีนิยม ดำเนินนโยบายการปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ทำให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (electorate) เพิ่มจำนวนขึ้นจาก ๔๖,๐๐๐ คน เป็น ๗๙,๐๐๐ คน ซึ่งสร้างความพอใจให้แก่ชนชั้นกลางของเบลเยียมเป็นอันมาก และทำให้เบลเยียมเป็นดินแดนเพียงไม่กี่แห่งในภาคพื้นทวีปยุโรปที่รอดพ้นจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศจากเหตุการณ์การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรป
     ขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายการป้องกันประเทศ แม้เบลเยียมจะได้รับการค้ำประกันความเป็นกลางอย่างถาวร แต่เมื่อพวกเสรีนิยมชาวฝรั่งเศสอพยพลี้ภัยเข้ามาอาศัยในเบลเยียมมากขึ้นในช่วงจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* และใช้เบลเยียมเป็นเวทีประท้วงและต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III คศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* ที่ก่อการรัฐประหารขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของฝรั่งเศสจากระบอบสาธารณรัฐเป็นจักรวรรดินั้นเบลเยียมก็ตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่อการรุกรานของฝรั่งเศส พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ จึงทรงโน้มน้าวให้รัฐสภาเบลเยียมอนุมัติเงินงบประมาณในการสร้างป้อม ปราการรอบเมืองแอนต์เวิร์ปเพื่อป้องกันการรุกรานของศัตรูซึ่งเท่ากับทำให้พรมแดนทางทะเลของเบลเยียมมีความมั่นคงและปลอดภัยขึ้น
     ในบั้นปลายพระชนมชีพ นับว่าพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระเกียรติยศสูงพระองค์หนึ่งในบรรดาประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นอกจากจะทรงมีพระชันษาสูงกว่าพระประมุของค์อื่น ๆ แล้วพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ยังทรงมีความเกี่ยวดองทางเครือญาติกับราชวงศ์ต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* แห่งอังกฤษซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับ ๑ ของโลกในขณะนั้นพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงเป็นพระมาตุลา (น้า) ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ขณะเดียวกันก็ทรงเป็นพระปิตุลา (อา) ของเจ้าชายอัลเบิร์ต (Albert) พระราชสวามี (Prince Consort) ด้วย นอกจากนี้ ยังทรงสนับสนุนให้ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกัน ดังนั้นพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ จึงทรงเป็นพระญาติผู้ใหญ่ที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียซึ่งทรงคุ้นเคยตั้งแต่ทรงพระเยาว์มักจะขอพระราชทานคำแนะนำในเรื่องส่วนพระองค์และเรื่องราชการต่าง ๆ ด้วย นับว่าพระองค์เป็นบุคคลอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทและความสำคัญต่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
     พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๖๕ ณ เมืองลาเก็น (Laeken) ขณะมีพระชนมายุ ๗๕ พรรษา และครองสิริราชสมบัติ ๓๔ ปี พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ (Leopold II ค.ศ. ๑๘๖๕-๑๙๐๙)* พระราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชสมบัติและสืบต่อนโยบายการสร้างอาณานิคมและการขยายอำนาจของเบลเยียมในทวีปแอฟริกาซึ่งพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงสนพระทัยเป็นการส่วนพระองค์และได้ทรงกรุยทางไว้ จนในที่สุดเบลเยียมก็สามารถเข้าไปยึดครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลในทวีปแอฟริกาและจัดตั้งเป็นรัฐอิสระคองโก (Congo Free State) ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ โดยอยู่ใต้พระราชอำนาจโดยตรงของกษัตริย์เบลเยียม.



คำตั้ง
Leopold I
คำเทียบ
พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑
คำสำคัญ
- เลโอโปลด์ที่ ๒, พระเจ้า
- ลาเก็น, เมือง
- ฝรั่งเศสที่ ๒, จักรวรรดิ
- รัฐอิสระคองโก
- แอนต์เวิร์ป, เมือง
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- นโปเลียนที่ ๓, จักรพรรดิ
- ลิมเบิร์ก, เมือง
- วิลเลียมที่ ๑, พระเจ้า
- โรจีเย, ชาร์ล
- มาสตริกต์, เมือง
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- แคเทอรีนมหาราช, ซารีนา
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา, ราชวงศ์
- จอร์จ เครเตียง เฟรเดอริก, เจ้าชาย
- ปัญหาเบลเยียม
- บาวาเรีย, รัฐ
- ฟรานซิส เฟรเดอริก, ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา-ซาลเฟลด์
- รอสส์-เอแบร์ชดอร์ฟ, ออกุสทา
- เลโอโปลด์ที่ ๑, พระเจ้า
- สงครามนโปเลียน
- เคนดัล, ดุ๊กแห่ง
- แคโรลีน, เจ้าหญิง
- จอร์จ ออกัสตัส เฟรเดอริก, เจ้าชาย
- จอร์จที่ ๔, พระเจ้า
- ชตอคมัน, คริสเตียน ฟรีดิช ไฟร์แฮร์ ฟอน,บารอน
- ซักซ์โคบูร์ก, ราชรัฐ
- ชาร์ลอตต์, เจ้าหญิง
- เบาท์เซิน, เมือง
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- เบาเออร์, แคโรลีน
- พิธีสารลอนดอน
- ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก
- ลืทเซิน , เมือง
- สงครามปลดปล่อย
- สงครามอิสรภาพกรีก
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑, ซาร์
- ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา-ซาลเฟลด์, ราชวงศ์
- ที่ประชุมที่กรุงลอนดอน
- ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร
- เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย
- เนอมูร์, ดุ๊กแห่ง
- บรัสเซลส์, นคร
- ฟรานซิส โจเซฟ, จักรพรรดิ
- มาเรีย-ชาร์ลอตต์, จักรพรรดินี
- หลุยส์-มาเรีย เทเรซา ชาร์ลอตต์ อิซาเบล,เจ้าหญิง
- แมกซีมีเลียน, จักรพรรดิ
- หลุยส์ พิลิป, พระเจ้า
- ออร์เลออง, ราชวงศ์
- วิกตอเรีย, สมเด็จพระราชินีนาถ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1790-1865
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๓๓-๒๔๐๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf