เคานต์เซียร์เกย์ ยูเลียวิช วิตเตเป็นรัฐบุรุษชาวรัสเซียและอัครมหาเสนาบดีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕–๑๙๐๖ ในรัชสมัยซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ในขณะเป็นเสนาบดีคลัง (ค.ศ. ๑๘๙๒–๑๙๐๓) วิตเตมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและสนับสนุนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย (Trans-Siberia Railway) รวมทั้งวางโครงการทำให้จักรวรรดิรัสเซียทันสมัยและเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อรัสเซียเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เป็นผลสืบเนื่องจากความปราชัยในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕)* รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้และซาร์นิโคลัสที่ ๒ มีพระประสงค์จะใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาดวิตเตเป็นคนหนึ่งที่กราบทูลแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลังซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ทั้งยังโน้มน้าวพระองค์ให้ปฏิรูปการเมืองด้วยการจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* และประกาศคำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม (October Manifesto) ที่เขาเป็นคนร่างเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕แถลงการณ์ฉบับนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในรัสเซีย เพราะนำไปสู่การเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยในรัสเซีย วิตเตได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีคนแรกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
วิตเตเกิดในตระกูลขุนนางหัวเมืองที่เมืองทิฟลีส [Tiflis ปัจจุบันคือกรุงทบิลิซี (Tbilisi) เมืองหลวงของสาธารณรัฐจอร์เจีย (Republic of Georgia)] เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๙ ยูลีอุส (Julius) บิดาสืบสายตระกูลขุนนางเยอรมันเชื้อสายบอลติกซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายลูเทอแรน (Lutheran) เมื่อเขาแต่งงานกับเยคาเตรีนา ฟาเดเยวา (Yekaterina Fadeyeva) ธิดาสาวของข้าหลวงแห่งซาราตอฟ (Saratov) ตระกูลดอลโกรูกี (Dolgoruki) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพวกกษัตริย์นิยม ยูลีอุสเปลี่ยนมานับถือนิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์ตามภริยา วิตเตจึงมักกล่าวอ้างตลอดเวลาว่าเขาจงรักภักดีต่อซาร์ทั้งกายและวิญญาณเพราะครอบครัวเกี่ยวดองกับตระกูลดอลโกรูกีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่สมัยซาร์ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great ค.ศ. ๑๖๘๒–๑๗๒๕) ในวัยเยาว์บิดามารดาให้วิตเตอยู่ในการดูแลเลี้ยงดูของปู่และย่า เขาเข้าศึกษาที่โรงเรียนท้องถิ่นเมืองทิฟลีสและไม่สนใจการเรียนเท่าใดนัก เพราะหมกมุ่นกับการเล่นและหนีเรียน จึงมักสอบตกเกือบทุกวิชา ปู่และย่าได้ย้ายเขาไปเข้าโรงเรียนใหม่ที่เมืองคีชีเนา (Chişinău) โดยคาดหวังว่าเขาจะกลับเนื้อกลับตัวแต่ก็ไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม วิตเตก็สำเร็จการศึกษาได้ด้วยคะแนนต่ำ ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ขณะอายุ ๑๗ ปี วิตเตเข้าศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอเดสซา (Odessa) ในช่วงที่เขาศึกษาอยู่นั้นวิตเตเรียนดีขึ้นและชอบอ่านหนังสือมากขึ้นแต่เขาไม่สนใจกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาและปัญหาทางการเมืองและสังคมเขามีเพื่อนไม่มากนักเป็นคนสันโดษและใช้ชีวิตตามสบายจนสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๗๐
หลังสำเร็จการศึกษา บิดาสนับสนุนวิตเตให้เข้ารับราชการโดยทำงานเป็นเลขานุการข้าหลวงเมืองซาราตอฟอยู่ ๒ ปี แต่เขาไม่ชอบงานที่ทำอยู่จึงลาออกไปทำงานบริษัทรถไฟเอกชน วิตเตเริ่มทำงานด้วยการเป็นพนักงานขายตั๋วและสั่งสมประสบการณ์และเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานขึ้นไปตามลำดับ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานพนักงาน ผู้ช่วยช่างเครื่อง ผู้ช่วยนายสถานี และนายสถานีในที่สุด เขาทำหน้าที่ได้ดีและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปยกเว้นใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางไม่ห่างจากเมืองโอเดสซามากนักอุบัติเหตุครั้งนี้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง วิตเตซึ่งควบคุมดูแลเรื่องเส้นทางเดินรถถูกวิจารณ์โจมตีมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ตุรกี (Russo-TurkishWar ค.ศ. ๑๘๗๗–๑๘๗๘) ซึ่งสืบเนื่องจากชนกลุ่มน้อยในจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ก่อการเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นเอกราช รัสเซียจึงเห็นเป็นโอกาสเข้าแทรกแซงด้วยข้ออ้างเพื่อปกป้องชนชาติสลาฟ ในสงครามครั้งนี้วิตเตซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรถไฟสายโอเดสซามีบทบาทสำคัญในการใช้รถไฟลำเลียงกำลังคนไปยังแนวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนทำให้รัสเซียได้ชัยชนะ แกรนด์ดุ๊กนีโคไล นีโคลาเยวิช (Nikolai Nikolayevich) พระอนุชาของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II)* ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียทรงชื่นชมวิตเตมาก และทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันทั่วไปมากขึ้น
หน้าที่การงานและความสามารถในด้านการบริหารจัดการธุรกิจรถไฟที่เชี่ยวชาญไม่เพียงทำให้วิตเตมีชื่อเสียงโดดเด่นในวงการธุรกิจรถไฟเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาเป็นที่หมายตาของภาครัฐที่ต้องการให้มาร่วมทำงานด้วยใน ค.ศ. ๑๘๘๐วิตเตจึงเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการของระบบเส้นทางรถไฟสายตะวันตกเฉียงใต้ (Operations Department of the South Western Railway System) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ในปีเดียวกันนั้นวิตเตแต่งงานกับมาทิลดา สปีรีโดนอฟ (Matilda Spiridonov) บุตรสาวคนสวยของขุนนางหัวเมือง จังหวัดเชียร์นีคอฟ (Chernigov) ซึ่งแต่งงานแล้ว แต่วิตเตจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่สามีเพื่อหย่าขาดจากเธอ ทั้ง ๒ คนมีชีวิตคู่ที่มีความสุขอย่างไรก็ตาม มาทิลดาไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมชั้นสูงเท่าใดนัก ต่อมาวิตเตได้เป็นผู้อำนวยการระบบรถไฟสายตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อควบรวมเส้นทางสายตะวันตกเฉียงเหนือที่ขาดทุนเข้าด้วยกันซึ่งเขาประสบความสำเร็จในการสร้างระบบเส้นทางรถไฟที่อำนาจบริหารอยู่ที่ส่วนกลาง ความสำเร็จในงานอาชีพทำให้วิตเตมีฐานะร่ำรวยขึ้นและมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐,๐๐๐ รูเบิลต่อปี ซึ่งมากกว่าค่าตอบแทนที่เสนาบดีคนใดได้รับในขณะนั้น แม้วิตเตจะไม่สนใจเรื่องการเมือง แต่เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ซึ่งเป็นฝีมือของโซเฟีย เปรอฟสกายา (Sophia Perovskaya)* แกนนำผู้ปฏิบัติงานใต้ดินของกลุ่มเจตจำนงประชาชน (Peoples’ Will)* ก็ส่งผลกระทบต่อความคิดของวิตเต เขาโกรธแค้นมากและเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการตอบโต้อย่างรุนแรงแบบตาต่อตาและฟันต่อฟัน วิตเตเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรโฮลีดรืยกีนา (Holy Drygina) ซึ่งเป็นองค์กรลับที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับพวกก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม องค์กรลับนี้สลายตัวลงในเวลาต่อมาและไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการดำเนินงาน
ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ ได้เกิดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III)* ด้วยการลอบวางระเบิดเส้นทางรถไฟใกล้กับหมู่บ้านบอร์กี (Borki) เพื่อให้รถไฟพระที่นั่งตกรางขณะกำลังแล่นเข้าสู่สถานีบอร์กี มีผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกือบ ๖๐ คน ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย วิตเตและเสนาบดีว่าการกระทรวงคมนาคมขัดแย้งกันเกี่ยวกับปัญหาความเร็วของขบวนรถพระที่นั่งซึ่งวิตเตต้องการให้ลดความเร็วลงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ ทรงทราบเรื่องดังกล่าวด้วยและต่อมาทรงมีความเห็นว่าความเร็วของขบวนรถก็เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ ในช่วงเกิดอุบัติเหตุรถไฟพระที่นั่งตกราง ซาร์และพระราชวงศ์ประทับอยู่ที่ตู้เสบียง แรงระเบิดและการกระแทกอย่างรุนแรงทำให้หลังคาตู้เสบียงยุบตัวลง ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ ใช้ฝ่าพระหัตถ์และพระพาหาพยุงหลังคาไว้เพื่อให้พระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดาเสด็จหนีออกจากตู้รถไฟได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประชาชนเชื่อกันว่าราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* มีบุญบารมีและจะแคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ซาร์โปรดให้วิตเตรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการกิจการรถไฟ (Director of Railway Affairs) ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นและอยู่ใต้การกำกับของเสนาบดีคลังเพื่อพัฒนาด้านกิจการรถไฟให้ก้าวหน้า เขาทำงานได้เพียง ๖ เดือนก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีคลังใน ค.ศ. ๑๘๙๓ และดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึง ค.ศ. ๑๙๐๓
ในช่วงเป็นเสนาบดีคลังวิตเตดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาเงินเฟ้อ และสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและขยายอุตสาหกรรมหนัก เขาเน้นการสร้างเสถียรภาพของเงินตราระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๔–๑๘๙๕ ด้วยการจัดทำงบประมาณสมดุลและปฏิรูปค่าเงินรูเบิลด้วยการผูกเข้ากับมาตรฐานทองคำซึ่งทำให้เงินรูเบิลมีค่าสูงขึ้นทั้งทำให้การลงทุนด้วยเงินรูเบิลเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศสูงเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศตลอดจนเก็บภาษีสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการยังชีพสูง เช่น ภาษีสุรา ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๔–๑๙๑๓ การลงทุนของชาติยุโรปในรัสเซียคิดเป็นอัตราร้อยละ ๕๐ วิตเตยังสามารถเจรจากู้เงินจากต่างประเทศมาสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมโลหะ น้ำมัน และการคมนาคมขนส่งนอกจากนี้วิตเตยังเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจากประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศสเยอรมนี มาให้คำปรึกษาแนะนำด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ทันสมัยและก้าวหน้า เขาประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะการเติบโตทางอุตสาหกรรมระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๐–๑๘๙๙ ขยายตัวร้อยละ ๘ ต่อปีซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ ๆของโลก
ด้วยความรู้และประสบการณ์ด้านการรถไฟวิตเตสนับสนุนนโยบายการพัฒนาการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะการขยายเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงเมืองอุตสาหกรรมต่างๆทั่วจักรวรรดิและเพื่อใช้ขนส่งสินค้าและสร้างความเจริญในเขตหัวเมือง เขายังผลักดันการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย และเส้นทางรถไฟสายตะวันออกของจีน (Chinese Eastern Railway) วิตเตยังทูลแนะซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ ให้ทรงแต่งตั้งซาเรวิชนิโคลัสให้เป็นประธานการสร้างทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย เพื่อให้พระองค์มีบทบาทในการบริหาร ซาร์อะเล็กซานเดอร์ก็ทรงเห็นชอบและตำแหน่งดังกล่าวมีส่วนทำให้ซาเรวิชนิโคลัสสนพระทัยในดินแดนตะวันออก อย่างไรก็ตาม การที่ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ ไว้วางพระทัยวิตเตและให้เขามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ ทำให้ซาเรวิชนิโคลัสไม่โปรดวิตเตเท่าใดนัก พระองค์ยังไม่พอพระทัยความตรงไปตรงมาของวิตเต และการที่เขาขาดคุณสมบัติของชนชั้นสูง มีกิริยามารยาทไม่เหมาะสมทั้งมีสำเนียงเหน่อและพูดภาษาฝรั่งเศสผิด ๆ ถูก ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างซาเรวิชนิโคลัสกับวิตเตจึงไม่ราบรื่น อีกทั้งวิตเตก็ไม่ให้ความสำคัญกับซาเรวิชเท่าใดนัก ต่อมาเมื่อซาเรวิชนิโคลัสเสด็จขึ้นครองบัลลังก์ใน ค.ศ. ๑๘๙๖ เฉลิมพระนามเป็นซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงพยายามควบคุมวิตเต แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๐ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงพระประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดและบางช่วงมีอาการทรุดหนัก วิตเตซึ่งเป็นประธานสภาเสนาบดี (Council of Ministers) จึงจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับเหล่าเสนาบดีเพื่อเตรียมการว่าในกรณีที่สวรรคต บุคคลใดจะขึ้นครองบัลลังก์สืบแทนเนื่องจากในเวลานั้น ซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* ยังไม่มีพระราชโอรสวิตเตเสนอให้แกรนด์ดุ๊กไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช (Michael Alexandrovich) พระอนุชาเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ซารีนาทรงทราบเรื่องและไม่พอพระทัยเขาอย่างมาก และทูลให้พระสวามีทรงทราบเมื่อหายประชวร ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๓ วิตเตมีปัญหาขัดแย้งกับวลาเชสลัฟ คอนสตันติโนวิช เปลเว (Vlacheslav Konstantinovich Plehve) เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับงบประมาณการป้องกันประเทศ โดยเปลเวต้องการปราบปรามขบวนการปฏิวัติที่เขาเห็นว่ามีพวกยิวสนับสนุนเบื้องหลัง เปลเวกราบทูลซาร์ว่าวิตเตต่อต้านราชสำนักด้วยการห้ามเผยแพร่หนังสือพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน (Protocol ofthe Learned Elder of Zions)* ที่หน่วยงานราชสำนักสนับสนุนการเผยแพร่ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงสนับสนุนเปลเวและเห็นเป็นโอกาสใช้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นปลดวิตเตจากตำแหน่งเสนาบดีคลังและแต่งตั้งเขาเป็นประธานคณะกรรมาธิการเสนาบดี (Chairman of the Committee of Ministers) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไร้อำนาจและบทบาท วิตเตพยายามกอบกู้ชื่อเสียงและใช้วิธีการทุกวิถีทางที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์และแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญของจักรวรรดิรัสเซีย
เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นที่เป็นผลสืบเนื่องจากการขยายอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียในตะวันออกไกล รัสเซียพ่ายแพ้ญี่ปุ่นอย่างยับเยินในยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ (Battle of Tsushima)* ค.ศ. ๑๙๐๕ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงยังคงพยายามดำเนินสงครามต่อไป แต่กระแสการต่อต้านสงครามและการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศที่ขยายตัวมากขึ้นทำให้พระองค์ซึ่งถูกกดดันจากฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรให้หาทางเจรจาสันติภาพ จึงทรงจำยอมเปิดการเจรจาเพื่อยุติสงคราม ประธานาธิบดีทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับการติดต่ออย่างลับๆจากญี่ปุ่นให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจึงประสานเรื่องการเจรจาสันติภาพระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียและนำไปสู่การพบปะหารือของคณะผู้แทนทั้ง๒ฝ่ายที่เมืองพอร์ตสมัท (Portsmouth) รัฐนิวแฮมป์เชียร์ (New Hampshire) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ วิตเตเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของรัสเซียที่มีอำนาจเต็มในนามของซาร์แห่งรัสเซีย เขาแสดงความสามารถทางการทูตเจรจาต่อรองให้รัสเซียซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องสูญเสียน้อยที่สุด ในสนธิสัญญาพอร์ตสมัท (Treaty of Portsmouth) ที่ทั้ง ๒ ประเทศลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๐๕ รัสเซียยอมรับว่าเกาหลีเป็นเขตอิทธิพลของญี่ปุ่นและถอนสิทธิการเช่าเมืองท่าปอร์ตอาร์เทอร์ (Port Arthur) ที่คาบสมุทรเหลียวตง (Liaodong) และทางใต้ของเกาะซาคาลิน (Sakhalin) ตลอดจนยอมถอนกำลังออกจากแมนจูเรียญี่ปุ่นได้เกาะซาคาลินทั้งหมด ความสำเร็จในการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ทำให้วิตเตกลับมามีบทบาทสำคัญในการเมืองรัสเซียอีกครั้งหนึ่งและซาร์นิโคลัสที่ ๒ตอบแทนโดยพระราชทานบรรดาศักดิ์เคานต์แก่เขา
เคานต์วิตเตเดินทางกลับถึงรัสเซียในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๐๕ เขาพบว่าประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ การชุมนุมประท้วงปรากฏให้เห็นทั่วไปและในต้นเดือนตุลาคม กรรมกรรถไฟนัดหยุดงานทั่วไปและตามด้วยกรรมกรโรงงานอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ข้อเรียกร้องหลักของการนัดหยุดงานทั่วไปครั้งนี้คือ การปฏิรูปการเมือง และการจัดตั้งสภาคนงานหรือสภาโซเวียตผู้แทนกรรมกร (Soviet of Worker’s Deputies) ขณะเดียวกันชาวนาก็ก่อการจลาจลและรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหภาพชาวนารัสเซียทั้งมวล (All Russian People’s Union) ตลอดจนกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ก็เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงประสงค์จะใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาดแต่วิตเตและกลุ่มผู้ใกล้ชิดพระราชวงศ์ทูลเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลังเพราะจะทำให้ความแตกแยกทางสังคมขยายตัวกว้างขึ้นทั้งอาจนำไปสู่การต่อต้านซาร์และเกิดสงครามกลางเมืองได้ วิตเตเสนอแนะให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ พระราชทานรัฐธรรมนูญและยกเลิกระบบการเซ็นเซอร์ทั้งให้เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและอื่น ๆ ซารีนาอะเล็กซานดราพยายามทัดทานพระราชสวามีไม่ให้อ่อนข้อต่อการกดดันของประชาชนและให้คงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย อย่างไรก็ตามซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงโปรดให้วิตเตจัดทำร่างแถลงการณ์ปฏิรูปการเมืองเพื่อพิจารณา วิตเตนำเนื้อหาสาระของการประชุมสภาท้องถิ่นที่มีขึ้นเมื่อเดือนกันยายนมาเป็นกรอบในการจัดทำและนำไปสู่ร่างแถลงการณ์ที่เรียกกันว่าคำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม โดยซาร์นิโคลัสทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศให้สาธารณชนทราบเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕
คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคมมีชื่อเป็นทางการว่า “แถลงการณ์การปรับปรุงข้อบังคับแห่งรัฐ”(Manifesto on the Improvement of the State Order) ค.ศ. ๑๙๐๕ มีเพียง ๓ มาตราเท่านั้น มาตราที่ ๑ ให้สิทธิพลเมืองบนพื้นฐานของการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือสมาคม เสรีภาพแก่สื่อสิ่งพิมพ์และการมีขันติธรรมทางศาสนา มาตราที่ ๒ ให้จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสภาดูมาและให้มีการเลือกตั้งทั่วไป มาตราสุดท้ายให้สภาดูมามีหน้าที่พิจารณาออกกฎหมายต่าง ๆ และปฏิรูปการเมืองคำแถลงนโยบายเดือนตุลาคมซึ่งพวกปัญญาชนและกลุ่มการเมืองเสรีนิยมเรียกว่าเป็นแถลงการณ์แห่งเสรีภาพ (Manifesto of Freedom) ทำให้พวกเขายุติการเคลื่อนไหวเพราะเห็นว่าซาร์ทรงยอมสละพระราชอำนาจและประชาชนเป็นฝ่ายชนะ แต่สภาโซเวียตเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งมีเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เป็นผู้นำและพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เช่น พรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* และเมนเชวิค (Mensheviks)* ยังคงเรียกร้องให้มวลชนโดยเฉพาะกรรมกรเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไป โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลเพียงใช้นโยบายหลอกลวงเพื่อตบตาประชาชนเหมือนที่เคยปฏิบัติการเคลื่อนไหวของสภาโซเวียตก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะฝ่ายเสรีนิยมและกลุ่มปฏิรูปต่าง ๆ สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นว่ารัสเซียกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยเคานต์วิตเตซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๕ จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และในเวลาต่อมาได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามกวาดล้างขบวนการกรรมกรรวมทั้งยุบสภาโซเวียตตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม เคานต์วิตเตก็มีปัญหาขัดแย้งด้านนโยบายบริหารกับซาร์และกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมเขาจึงถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ ก่อนเปิดประชุมสภาดูมาเพียงเล็กน้อย ส่วนสภาดูมาสมัยที่ ๑ (๑๐ พฤษภาคม–๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๖) ก็บริหารปกครองได้เพียงช่วงสั้น ๆ เพราะสมาชิกสภาขัดแย้งกันในเรื่องแนวนโยบายและพยายามกดดันซาร์ให้เห็นชอบกับข้อเรียกร้องของสภาดูมา ซาร์นิโคลัสที่ ๒ จึงทรงประกาศยุบสภาดูมาเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ ด้วยเหตุผลว่าสภาดูมาใช้อำนาจขัดแย้งกับฝ่ายบริหารและทรงแต่งตั้งปิออตร์ สโตลีปิน (Pyotr Stolypin)* เป็นอัครมหาเสนาบดีคนใหม่
แม้เคานต์วิตเตจะหมดบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองแต่เขายังคงเป็นสมาชิกสภาสูง (State Council)ที่ซาร์ทรงแต่งตั้งและมักให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเพื่อทำให้รัสเซียทันสมัยเมื่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* ประกาศสงครามกับเซอร์เบียในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ จากเหตุการณ์การลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* และพระชายา รัสเซียซึ่งอ้างตนเป็นผู้พิทักษ์ชนเผ่าสลาฟก็ระดมพลเพื่อสนับสนุนเซอร์เบียโดยเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของเยอรมนีที่ให้หยุดระดมพล เยอรมนีจึงประกาศสงครามต่อรัสเซียในวันที่ ๑ สิงหาคม วิตเตซึ่งอยู่ต่างประเทศในช่วงรัสเซียกำลังระดมพลคัดค้านการเข้าสู่สงครามอย่างมากเพราะตระหนักว่ารัสเซียต้องใช้จ่ายอย่างมหาศาลและอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเติบโตจะหยุดชะงัก เขารีบเดินทางกลับรัสเซียและพยายามประสานงานกับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำรัสเซียเพื่อเรียกร้องให้รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามทันที วิตเตมีความคิดเห็นสอดคล้องกับเกรกอรี เอฟี-โมวิช รัสปูติน (Gregory Efimovich Rasputin)* นักบวชคนสนิทที่ปรึกษาของซารีนาที่ว่าสงครามคือความพินาศทางเศรษฐกิจการปั่นป่วนทางสังคมรวมทั้งการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนโดยเฉพาะชาวนา วิตเตเห็นว่าการเข้าสู่สงครามไม่ทำให้รัสเซียได้ประโยชน์ใด ๆ มีแต่จะทำให้รัสเซียพินาศและถึงจุดจบได้ เขาเสนอตัวที่จะทำหน้าที่เป็นทูตสันติภาพเพื่อเจรจากับเยอรมนี แต่ความคิดเห็นของวิตเตก็สวนกระแสความรู้สึกรักชาติของประชาชนและพระประมุขอย่างสิ้นเชิง
เมื่อการรบเริ่มขึ้น รัสเซียก็เพลี่ยงพล้ำในสงครามตั้งแต่แรกและพ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการที่ทันเนนแบร์ก (Battle of Tannenberg ๒๖–๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔)* จนต้องล่าถอยออกจากแนวรบด้านตะวันออกในช่วงที่รัสเซียกำลังบอบช้ำและเริ่มระดมพลใหม่เพื่อตอบโต้ วิตเตล้มป่วยและอาการทรุดลงทุกขณะ เคานต์เซียร์เกย์ ยูเลียวิช วิตเตถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบที่คฤหาสน์ ณ กรุงเปโตรกราด (Petrograd) เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๕ ขณะอายุได้ ๖๔ ปี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๑ มีการนำบันทึกและเอกสารส่วนตัวของวิตเตไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในโลกตะวันตกทำให้เรื่องราวและบทบาทของเขาเป็นที่รู้จักและรับรู้กันมากขึ้นต้นฉบับของหลักฐานเอกสารดังกล่าวทั้งหมดเก็บไว้ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในหอจดหมายเหตุบัคเมเตฟฟ์แห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมรัสเซียและยุโรปตะวันออก (Bakhmeteff Archive of Russian and Eastern European History and Culture).