Saxe-Coburg-Gotha, House of (-)

ราชวงศ์ชักช์-โคบูร์ก-โกทา (-)

 ราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาเป็นราชวงศ์เชื้อสายซักซัน (Saxon) ที่ปกครองราชรัฐซักซ์-โคบูร์ก (Duchy of Saxe-Coburg) และราชรัฐซักซ์-โกทา (Duchy of Saxe-Gotha) ซึ่งเป็นราชรัฐเล็ก ๆ ในดินแดนเยอรมัน มีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันว่า Haus Sachsen-Coburg und Gotha ชื่อของราชวงศ์มาจากการรวมชื่อของราชรัฐทั้งสองเข้าด้วยกันใน ค.ศ. ๑๘๒๖ โดยมีแอร์เนสท์ที่ ๑ ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Ernest I, Duke of Saxe-Coburg-Gotha) เป็นต้นราชวงศ์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สมาชิกของราชวงศ์ได้เสกสมรสและอภิเษกสมรสกับสมาชิกราชวงศ์สำคัญ ๆ ของยุโรป ทั้งยังได้รับการอัญเชิญให้เป็นกษัตริย์ของราชอาณาจักรเบลเยียมที่จัดตั้งขึ้นใหม่ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ก่อให้เกิดการประดิษฐานราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาในเบลเยียม การอภิเษกสมรสยังทำให้สมาชิกของราชวงศ์ในเวลาต่อมาได้เป็นกษัตริย์ของโปรตุเกสและของอังกฤษ สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ทำให้อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่เป็นคู่สงครามกับเยอรมนีและเบลเยียมที่ถูกกองทัพเยอรมันเข้ายํ่ายีอธิปไตยต่อต้านเยอรมนีอย่างรุนแรง พระประมุขของทั้ง ๒ ประเทศจำต้องเปลี่ยนพระนามของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาที่บ่งบอกถึงความเป็นเยอรมันเป็นชื่อที่แสดงอัตลักษณ์ของประเทศแทน สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังนำความสิ้นสุดมาสู่ราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา ราชรัฐซักซ์-โคบูร์ก และราชรัฐซักซ์-โกทาในเยอรมนีด้วยส่วนในโปรตุเกสเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก่อนสงครามซึ่งทำให้ระบอบกษัตริย์สิ้นสุดใน ค.ศ. ๑๙๑๐

 ราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาสืบเชื้อสายมาจากพวกซักซันแห่งราชวงศ์เวททิน (Wettin) เมื่อดุ๊กซักซ์-โกทา-อัลเทนบูร์ก (Saxe-Gotha-Altenburg) องค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๒๖ โดยปราศจากรัชทายาทดินแดนต่าง ๆ ของพระองค์ถูกแบ่งให้แก่บรรดาพระญาติสิทธิในการครอบครองราชรัฐซักซ์-โกทาและตำแหน่งดุ๊กแห่งซักซ์-โกทา (Duke of Saxe-Gotha) ตกเป็นของแอร์เนสท์ที่ ๓ ดุ๊กที่ ๖ แห่งซักซ์-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ (Ernest III, 6ᵗʰ Duke of Saxe-Coburg-Saalfeld) พระญาติในสายราชวงศ์เวททิน หลังจากได้ครอบครองราชรัฐซักซ์-โกทาแล้ว ดุ๊กแอร์เนสท์ที่ ๓ ก็ทรงรวบตำแหน่งดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์กกับดุ๊กแห่งซักซ์-โกทาเข้าด้วยกัน (แต่ดินแดนที่ปกครองยังคงแยกเป็น ๒ ราชรัฐ) และมีพระนามในตำแหน่งใหม่ว่าแอร์เนสท์ที่ ๑ ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา และถือเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาด้วย

 แม้ราชวงศ์ซ์กซ์-โคบูร์ก-โกทาจะเป็นราชวงศ์เล็ก ๆ ในดินแดนเยอรมันซึ่งปกครองราชรัฐซักซ์-โคบูร์กและราชรัฐซักซ์-โกทาที่มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดไม่ถึง ๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สมาชิกของราชวงศ์ที่เป็นมหาสาขาก็ได้รับเลือกเป็นคู่เสกสมรสของสมาชิกในราชวงศ์สำคัญ ๆ ในยุโรป ก่อนแอร์เนสท์ที่ ๑ จะสถาปนาราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา เจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) พระอนุชาองค์เล็กก็ได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (Charlotte) รัชทายาทสมมติซึ่งเป็นพระธิดาพระองค์เดียวในเจ้าชายจอร์จผู้สำเร็จราชการแห่งอังกฤษ [Prince Regent ต่อมาคือ พระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๓๐)*] แต่เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงหมดโอกาสที่จะเคียงคู่บัลลังก์กับสมเด็จพระราชินีนาถในอนาคตเพราะเจ้าหญิงชาร์ลอตต์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๑๗ จากการมีพระประสูติกาล อย่างไรก็ดี เจ้าชายเลโอโปลต์ก็ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งที่สำคัญมากกว่า ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ เมื่อเบลเยียมประสบความสำเร็จในช่วงการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ (Revolutions of 1830)* เป็นอิสระจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และได้รับจัดตั้งเป็นประเทศอธิปไตย ก็ได้มีการอัญเชิญพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม (King of the Belgians) เฉลิมพระนามพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๖๕)* ขณะเดียวกัน ก็เป็นการยกฐานะและประดิษฐานราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาขึ้นเป็นราชวงศ์ที่ปกครองดินแดนที่มีสถานภาพเป็นราชอาณาจักรด้วย เบลเยียมมีกษัตริย์ที่เป็นสมาชิกราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาปกครองจำนวน ๓ พระองค์จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้แก่ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๖๕) พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ (Leopold II ค.ศ. ๑๘๖๕-๑๙๐๙)* และพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ (Albert I ค.ศ. ๑๙๐๙-๑๙๓๔)* ตามลำดับ

 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ เบลเยียมได้ถูกกองทัพเยอรมันละเมิดความเป็นกลางและเข้ายึดโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเขตเกษตรกรรมเกือบตลอดระยะเวลาของสงคราม ทั้งมีการเกณฑ์แรงงานชาวเบลเยียมเพื่อใช้ประโยชน์ในกองทัพและในประเทศเยอรมนีอีกด้วย ชาวเบลเยียมที่ปฏิเสธการทำงานให้แก่ฝ่ายเยอรมันจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง ทั้งยังมีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศไปใช้ประโยชน์ในเยอรมนี ส่วนเครื่องจักรกลใดที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้หรือไม่มีประโยชน์ต่อกองทัพหรือประเทศเยอรมนีก็จะถูกทำลายจนหมดสิ้น การครอบครองเบลเยียมของกองทัพเยอรมันจึงสร้างความหายนะทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล และทำให้ชาวเบลเยียมเกลียดชังเยอรมนีเป็นอันมาก ดังนั้น เมื่อสงครามสิ้นสุดลงและเยอรมนีเป็นฝ่ายปราชัย จึงมีการเปลี่ยนนามของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาซึ่งเป็นชื่อเยอรมันเป็น “ราชวงศ์แห่งเบลเยียม” ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ มีชื่อเรียกในภาษาต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาษาราชการของเบลเยียมคือ ฟาน เบลจี (van Belgie) ในภาษาดัตช์ เดอ เบลชีก (de Belgique) ในภาษาฝรั่งเศส และฟอน เบลฟีน (von Belfien) ในภาษาเยอรมันและทายาทองค์ต่อ ๆ มา ก็ยังคงปกครองเบลเยียมในฐานะพระประมุขจนถึงปัจจุบัน

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงหลุยส์-มาเรีย เทเรซา ชาร์ลอต อิซาแบล (Louis-Marie Thérésa Charlotte Isabelle) พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)* ของชาวฝรั่งเศส กษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ พระราชธิดาพระองค์เล็กและพระองค์เดียวคือจักรพรรดินีมาเรีย-ชาร์ลอต (Maria-Charlotte) หรือจักรพรรดินีการ์ลอตตา (Carlotta) พระมเหสีในจักรพรรดิแมกซิมีเลียน (Maximilian ค.ศ. ๑๘๖๔-๑๘๖๘)* สมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ที่สูงส่งด้วยพระเกียรติยศ พระอนุชาในจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ที่เสด็จไปครองราชบัลลังก์เม็กซิโก

 นอกจากนี้ สมาชิกของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา องค์สำคัญอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ได้แก่ เจ้าหญิงมาเรีย ลุยซา วิกตอเรีย (Maria Louisa Victoria) พระธิดาของแอร์เนสท์ที่ ๑ ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา ซึ่งได้เสกสมรสกับเจ้าชายเอดเวิร์ด ออกัสตัส ดุ๊กแห่งเคนต์และสแตรทเทิร์น (Edward Augustus, Duke of Kent and strathearn) พระราชโอรสองค์ที่ ๔ ในพระเจ้าจอร์จที่ ๓ (George III ค.ศ. ๑๗๖๐-๑๘๒๐)* แห่งราชวงศ์แฮโนเวอร์ (Hanover)* ของอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๘๑๙ ทรงให้กำเนิดเจ้าหญิงอะเล็กซานดรีนา วิกตอเรีย (Alexandria Victoria) ในรัชกาลพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ (William IV ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๗)* เมื่อรัชทายาททั้งหลายที่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์อังกฤษในลำดับต้น ๆ ต่างสิ้นพระชนม์กันหมด เจ้าหญิงอะเล็กซานดรีนา วิกตอเรียซึ่งมีสายพระโลหิตครึ่งหนึ่งของราชวงศ์ซักช์-โคบูร์ก-โกทาจึงได้เลื่อนลำดับเป็นรัชทายาทอันดับ ๑ และขึ้นครองราชบัลลังก์ ใน ค.ศ. ๑๘๓๗ ขณะมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา เฉลิมพระนามสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* รัชสมัยที่ยาวนานร่วม ๖๔ ปีได้นำความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ให้แก่อังกฤษ เป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดที่อังกฤษก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจที่มีดินแดนในปกครองไปทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ออสเตรเลีย เอเชีย และแอฟริกา

 ยิ่งไปกว่านั้น ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียยังได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Albert of Saxe-Coburg-Gotha)* [พระนามเต็มคือ ฟรานซิส อัลเบิร์ต ออกัสตัส ชาลส์ เอมมานูเอล (Francis Albert Augustus Charles Emmanuel)] ซึ่งเป็นพระญาติสนิทชั้นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่ ๑ (first cousin) โอรสของเจ้าชายแอร์เนสท์ [ต่อมาคือ แอร์เนสท์ที่ ๒ ดุ๊กที่ ๒ แห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Ernest II, 2ᶰᵈ Duke of Saxe-Coburg-Gotha ค.ศ. ๑๘๔๔-๑๘๙๓)] พระเชษฐาของดัสเชสแห่งเคนต์พระราชมารดา ทั้ง ๒ พระองค์ มีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยกัน ๙ พระองค์ ทำให้สมาชิกของราชวงศ์อังกฤษมีสายพระโลหิตของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาที่เข้มข้นขึ้น ทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาและทายาทได้อภิเษกสมรสและเสกสมรสกับบรรดาสมาชิกของราชวงศ์สำคัญ ๆ ในยุโรป ก่อให้เกิดพระประยูรญาติร่วมสายพระโลหิตของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา เช่น ในพระราชวงศ์ฮับส์บูร์กในจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ในจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire)* ราชวงศ์แบร์นาดอตต์ (Bernadotte)* ในราชอาณาจักรสวีเดนและราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ในราชอาณาจักรสเปน

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ เจ้าชายอัลเบิร์ต เอดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ (Albert Edward, Prince of Wales) พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ตพระราชสวามี (Prince Consort) ได้สืบราชบัลลังก์อังกฤษ เฉลิมพระนามพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)* แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (United Kingdom of Great Britain and Ireland) และจักรพรรดิแห่งอินเดีย การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ก่อให้เกิดการประดิษฐานราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาขึ้นในอังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลกในขณะนั้น นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาซึ่งปกครองเพียงราชรัฐเล็ก ๆ ในดินแดนเยอรมันที่สามารถทำให้พระเกียรติยศของราชวงศ์แผ่ไพศาลไปทั่วโลก

 อย่างไรก็ดี ในรัชกาลพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)* พระราชโอรสในพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ อังกฤษต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักจากกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ดังนั้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวอังกฤษมากขึ้นในการต่อสู้กับเยอรมนีพระเจ้าจอร์จที่ ๕ จึงทรงตัดความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่ใกล้ชิดระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับราชวงศ์เยอรมันซึ่งพระองค์และไกเซอร์วิสเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* พระประมุขของเยอรมนีต่างมีสายพระโลหิตชองราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาร่วมกัน ซึ่งสืบทอดมาจากเจ้าชายอัลเบิร์ต พระอัยกา (เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเป็นปู่ของพระเจ้าจอร์จที่ ๕ และเป็นตาของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒) โดยออกพระราชกฤษฏีกาใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ยกเลิกการใช้พระนามราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา ซึ่งเป็นคำเยอรมัน และนำคำ “วินด์เซอร์” ซึ่งเป็นชื่อปราสาทที่เก่าแก่ในอังกฤษและเป็นคำอังกฤษมาใช้แทน ดังนั้น ในทางการจึงถือว่าพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวที่ปกครอง อังกฤษในนามของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา

 ส่วนในราชรัฐชักชี-โคบูร์ก-โกทา หลังจากแอร์เนสท์ที่ ๒ ดุ๊กที่ ๒ แห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทาสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ โดยปราศจากรัชทายาทชาย บัลลังก์ของซักซ์-โคบูร์ก-โกทาก็ตกเป็นของเจ้าชายอัลเฟรด เออร์เนสด์ อัลเบิร์ต ดุ๊กแห่งเอดินบะระ (Alfred Ernest Albert, Duke of Edinburg) พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของราชรัฐซักซ์-โคบูร์กและราชรัฐซักซ์-โกทาที่ให้ตัดสิทธิ์ชองรัชทายาทอันดับ ๑ ของราชบัลลังก์อังกฤษจากการสืบทอดราชสมบัติของราชรัฐทั้งสองในกรณีที่มีรัชทายาทชายองค์รอง ๆ อีก (ในกรณีนี่คือการตัดสิทธิ์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต เอดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์โต) ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ เมื่อเจ้าชายอัลเฟรด เออร์เนสด์ อัลเบิร์ต ดุ๊กแห่งเอดินบะระซึ่งได้ดำรงตำแหน่งดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทาสิ้นพระชนม์ โดยพระโอรสและทายาทสายตรงทรงสละสิทธิ์ในการสืบบัลลังก์ของราชรัฐทั้งสอง สิทธิในการครอบครองราชรัฐซักซ์-โคบูร์ก-โกทาจึงตกเป็นของเจ้าชายเลโอโปลด์ ชาลส์ เอดเวิร์ด จอร์จ อัลเบิร์ต ดุ๊กแห่งอัลบานี (Leopold Charles Edward George Albert, Duke of Albany) หลานลุง พระชันษา ๑๖ ปี โอรสในเจ้าชายเลโอโปลด์ จอร์จ ดันแคน ดุ๊กแห่งอัลบานี (Leopold George Duncan, Duke of Albany) พระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคโลหิตไม่แข็งตัว (hemophilia) ใน ค.ศ. ๑๘๘๔

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๕ ดุ๊กแห่งอัลบานีหรือเฉลิมพระนามใหม่ว่า คาร์ล เอดูอาร์ด (Carl Eduard) หรือชาลส์ เอดเวิร์ด ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Charles Edward, Duke of Saxe-Coburg-Gotha) ทรงปกครองราชรัฐซักซ์-โคบูร์ก-โกทาโดยมีเจ้าชายแห่งโฮเฮนโลเคอลังเงินบูร์ก (Hohenloke-Langenburg) เป็นผู้สำเร็จราชการ และทรงขึ้นปกครองเองเมื่อพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ดุ๊กแห่งอัลบานีทรงอยู่ข้างเยอรมนี ดังนั้น เมื่อสงครามยุติลง พระองค์ทรงถูกอังกฤษถอดพระยศดุ๊กแห่งอัลบานี

 ส่วนในฐานะดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทานั้นดุ๊ก แห่งอัลบานีทรงปกครองราชรัฐซักซ์-โคบูร์ก-โกทาจนเกิดการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ โดยทรงถูกสภาแรงงานและทหารแห่งซักซ์-โกทา (Worker’s and Soldier’s Council of Saxe-Gotha) ลงมติขับออกจากบัลลังก์ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ทำให้ราชรัฐซักซ์-โคบูร์กและราชรัฐซักซ์-โกทาปราศจากประมุขร่วมกันหลังจากที่เคยมีประมุขร่วมกันเป็นเวลา ๙๐ ปี (ค.ศ. ๑๘๒๖-๑๙๑๖) ต่อมาราชรัฐทั้งสองก็ต้องสลายตัวลงจากการยุบเลิกจักรวรรดิเยอรมันโดยราชรัฐซักซ์-โคบูร์กกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาวาเรีย (Bavaria) ส่วนราชรัฐซักซ์-โกทาเข้าร่วมกับรัฐเล็กอื่น ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ และจัดตั้งเป็นรัฐทูรินเจีย (Thuringia) ในสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ที่จัดตั้งขึ้นแทนจักรวรรดิเยอรมัน อย่างไรก็ดี เจ้าชายชาลส์ เอดเวิร์ดก็ยังคงมีฐานันดรศักดิ์ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทาต่อไปจนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๙๕๔

 นอกจากนี้ สมาชิกของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาสายจุลสาขา (cadet branch) ที่ใกล้ชิดกับดุ๊กแอร์เนสท์ที่ ๑ ยังได้เสกสมรสกับสมาชิกราชวงศ์อื่น ๆ อีก ที่สำคัญได้แก่เจ้าชายเฟอร์ดินันด์แห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา (Ferdinand of Saxe-Coburg-Gotha) พระภาติยะในดุ๊กแอร์เนสท์ที่ ๑ ได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ ๒ (Maria II ค.ศ. ๑๘๒๖-๑๘๒๘, ค.ศ. ๑๘๓๔-๑๘๕๓)* แห่งราชวงศ์บรากันซา (Braganza) ของโปรตุเกสและอัลการ์ฟ (Portugal and the Algarves) ใน ค.ศ. ๑๘๓๖ และทรงได้รับอิสริยยศกษัตริย์คู่บัลลังก์ (King Consort) ในพระนามพระเจ้าเฟร์นันโดที่ ๒ (Fernando II ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๘๕๓)* และเป็นผู้สำเร็จราชการในพระเจ้าเปโตรที่ ๕ (Petro V ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๖๑)* พระราชโอรส ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๕ ก่อให้เกิดสายพระโลหิตของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา ในราชวงศ์โปรตุเกส หรือเรียกว่า ราชวงศ์บรากันซา-ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา ผู้สืบสายพระโลหิตประกอบด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑ (Louis I ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๘๙)* พระเจ้าการ์โลสที่ ๑ [ (Carlos I ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๐๘)* สวรรคตจากการถูกลอบปลงพระชนม์] และพระเจ้ามานูเอลที่ ๒ (Manuel II ค.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๑๐)* ซึ่งครองราชบัลลังก์โปรตุเกสจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๐ เมื่อผลการเลือกตั้งทั่วไปชี้ให้เห็นว่าพวกสาธารณรัฐนิยมได้เสียงสนับสนุนอย่างมาก ทั้งทหารก็ก่อการปฏิวัติล้มล้างระบอบราชาธิปไตยและสถาปนาระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น พระเจ้ามานูเอลที่ ๒ จึงต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับในอังกฤษและสวรรคตใน ค.ศ. ๑๙๓๒ โดยปราศจากพระราชโอรสและพระราชธิดา นับเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์บรากันซา-ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาด้วย

 แม้ราชรัฐซักซ์-โคบูร์ก-โกทาจะสลายตัวไปแล้วเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปี แต่ทายาทผู้สืบสายโลหิตของแอร์เนสท์ที่ ๑ ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทายังคงได้รับการยกย่องให้มีฐานันดรศักดิ์ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทา ปัจจุบันอันเดรอัส มิคาเอล ฟรีดริช ฮันส์ อาร์มิน ซิกฟรีด ฮูแบร์ทุส (Andreas Michael Friedrich Hans Armin Siegfried Hubertus ค.ศ. ๑๙๔๓-) พระนัดดา (หลานปู่) ในเจ้าชายชาลส์ เอดเวิร์ด ผู้ครองราชรัฐซักซ์-โคบูร์ก-โกทาองค์สุดท้ายได้สืบทอดฐานันดรศักดิ์ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทาใน ค.ศ. ๑๙๙๘ ต่อจากฟรีดริช โยซีอัส (Friedrich Josias) พระบิดาซึ่งมีฐานันดรศักดิ์ดุ๊กแห่งซักซ์-โคบูร์ก-โกทาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๙๘ โดยยังได้รับยกย่องให้ใช้สรรพนามเรียกพระองค์ว่า “Your Highness”.



คำตั้ง
Saxe-Coburg-Gotha, House of
คำเทียบ
ราชวงศ์ชักช์-โคบูร์ก-โกทา
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาแรงงานและทหารแห่งซักซ์-โกทา
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-