หลุยส์ เมานต์แบตเทน เอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่าที่ ๑ หรือที่ผู้คนเรียกขานกันทั่วไปว่า ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเทน เป็นจอมพลเรือแห่งราชนาวีอังกฤษที่มีภูมิหลังเกี่ยวดองกับราชวงศ์และตระกูลขุนนางชั้นสูงของยุโรปหลายตระกูล แต่ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์อังกฤษมากที่สุด เข้าทำงานในราชนาวีอังกฤษตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังฝ่ายพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Supreme Allied Commander South East Asia Theatre) หลังสงครามรัฐบาลอังกฤษแต่งตั้งให้เป็นอุปราชแห่งอินเดีย (Viceroy of India) คนสุดท้ายเพื่อจัดการถ่ายโอนอำนาจการปกครองของอังกฤษแก่อินเดียและปากีสถานซึ่งเป็นประเทศใหม่ที่แยกตัวออกจากอินเดียในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๗
หลุยส์ เมานต์แบตเทนเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๐ ที่ฟร็อกมอร์เฮาส์ (Frogmore House) เมืองวินด์เซอร์ (Windsor) มณฑลเบิร์กเชียร์ (Berkshire) ประเทศอังกฤษ มีชื่อเต็มว่า หลุยส์ฟรานซิส อัลเบิร์ต วิกเตอร์ นิโคลัส เจ้าชายแห่งบัทเทนแบร์ก (Louis Francis Albert Victor Nicholas, Prince of Battenberg) เป็นบุตรชายคนที่ ๒ และบุตรคนสุดท้องในจำนวน ๔ คนของเจ้าชายหลุยส์ อะเล็กซานเดอร์แห่งบัทเทนแบร์ก (Louis Alexander of Battenberg)๑ ซึ่งเป็นเจ้านายระดับไม่สูงนักกับเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์-ดาร์มชตัดท์ (Victoria of Hesse- Darmstadt) ซึ่งทำให้เมานต์แบตเทนเกี่ยวดองกับเจ้านายระดับสูงของยุโรปหลายราชวงศ์ กล่าวคือเจ้าชายหลุยส์แห่งบัทเทนแบร์กเป็นโอรสของเจ้าชาย อะเล็กซานเดอร์แห่งเฮสส์ (Alexander of Hesse) กับเจ้าหญิงยูลีอา ฟอน เฮาเก (Julia von Hauke) ชาวโปแลนด์ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหญิงแห่งบัทเทนแบร์กโดยแกรนด์ดุ๊กลุดวิกที่ ๓ (Ludwig III) แห่งเฮสส์พระเชษฐาของพระสวามี ส่วนเจ้าหญิงวิกตอเรียพระมารดาเป็นธิดาของแกรนด์ดุ๊กหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV) แห่งเฮสส์ (ต่อมาเป็นลุดวิกที่ ๔ แกรนด์ดุ๊กแห่งเฮสส์บายไรน์ (Grand Duke of Hesse by Rhine) และเจ้าหญิงอะลิซ (Alice) พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* แห่งอังกฤษ และเป็นพระขนิษฐาในซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* พระมเหสีของซาร์นิโลลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗) ซาร์องค์สุดท้ายของรัสเซีย ซึ่งซาร์เองก็ทรงเป็นพระญาติกับสมเด็จพระราชินีนาถทางสายเยอรมันด้วย หลุยส์ เมานต์แบตเทนจึงเป็นพระปนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเช่นเดียวกับพระเจ้า จอร์จที่ ๖ (George VI ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๕๒)* พระราชบิดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II ค.ศ. ๑๙๕๒-)* ประมุขแห่งอังกฤษปัจจุบันพี่สาวของเมานต์แบตเทน ได้แก่ เจ้าหญิงอะลิซ (Alice) พระมารดาของเจ้าชายฟิลิป ดุ๊กแห่งเอดินบะระ (Philip, Duke of Edinburgh) พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ และเจ้าหญิงหลุยส์ (Louise) ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน นอกจากนี้ เมานต์แบตเทนยังเกี่ยวดองเป็นพระญาติโดยตรงกับ
ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* แห่งราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* ซึ่งทรงเป็นประมุขของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* และเป็นพระราชนัดดาองค์โตในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๓ (Alfonso XIII ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๙๓๑) แห่งสเปน พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ (Ferdinand I) แห่งโรมาเนีย พระเจ้ากุสตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ (Gustav VI Adolf ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๗๓) แห่งสวีเดน พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ (Constantine I ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๗, ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๒)* แห่งกรีซและพระเจ้าฮากอนที่ ๗ (Haakon VII ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๕๗)* แห่งนอร์เวย์ด้วย
หลุยส์ เมานต์แบตเทนซึ่งญาติและเพื่อน ๆ เรียกว่า ดิกกี (Dickie) เดินตามรอยอาชีพทหารเรือของบิดาและพี่ชายโดยเข้าเป็นนักเรียนนายเรือที่วิทยาลัยราชนาวีแห่งออสบอร์น (Osborne) และต่อมาที่ดาร์ตมัท (Dartmouth) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๖ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ประจำการบนเรือหลวงไลออน (Lion) และเรือหลวงเอลิซาเบท (Elizabeth) ส่วนบิดาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษ (First Sea Lord) ซึ่งจำต้องลาออกจากราชการเมื่อสงครามดำเนินไปเพราะไม่อาจทนต่อแรงกดดันจากการที่ชาวอังกฤษทั่วไปรู้สึกต่อต้านเยอรมนีซึ่งเป็นคู่สงครามของอังกฤษ และใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ราชวงศ์อังกฤษเองก็ได้เปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากซักส์-โคบูร์ก-โกทา (Saxe-Coburg-Gotha) เป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ (Windsor) เพื่อแสดงความเป็นอังกฤษมากขึ้น บรรดาพระญาติในอังกฤษที่อยู่ในราชตระกูลเทร์ค (Terk) ชเลสวิก-ฮอลชไตน์ (Schleswig-Holstein) และไกลเชิน (Gleichen) ก็เปลี่ยนเช่นกัน เจ้าชายหลุยส์ บัตเทนแบร์กบิดาของเมานต์แบตเทนซึ่งโอนสัญชาติเป็นอังกฤษมานานแล้วก็เปลี่ยนชื่อราชตระกูลเป็นเมานต์แบตเทนด้วยเหตุผลดังกล่าว [โดยมีการเลือกระหว่างเมานต์แบตเทนกับแบตเทนฮิลล์ (Battenhill)] สมาชิกของราชตระกูลก็สละยศที่บ่งชี้ฐานะสูงศักดิ์ตามที่พระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๓๖)* ทรงขอร้อง ด้วยเหตุนี้หลุยส์เมานต์แบตเทนจึงเปลี่ยนพระยศนำหน้านามจาก His Serene Highness Prince Louis of Battenberg เป็น Mr. Louis Mountbatten แต่เมื่อบิดาได้รับการสถาปนาให้เป็นมาร์ควิสแห่งมิลฟอร์ดฮาเวน (Marquess of Milford Haven) ในปีนั้น เมานต์แบตเทนจึงได้เป็นลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเทน (บุตรชายของมาร์ควิส)
ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ หลังจากผ่านการทำงานในหน้าที่หลายแห่ง เขาได้รับแต่งตั้งเป็นราชองครักษ์ในเจ้าชายเอดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ [Edward, Prince of Wales ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (Edward VIII ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)*] ในปีต่อมาก็ได้ตามเสด็จในการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ในโอกาสนี้เมานต์แบตเทนได้ขอแต่งงานกับเอดวินา ซินเทีย แอนเน็ตต์ แอชลีย์ (Edwina Cynthia Annette Ashley) ธิดาของวิลฟอร์ด แอชลีย์ (Wilford Ashley) สมาชิกสภาสามัญจากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ซึ่งต่อมาได้เป็นบารอนเมาต์เทมเปิลที่ ๑ (1st Baron Mount Temple) หลังจากเธอเขียนจดหมายมารอเขาทุกท่าเรือตามเส้นทางเสด็จและต่อมาได้เดินทางมาสมทบกับเขาที่อินเดีย เอดวีนาเป็นหลานตาของเซอร์เออร์เนสต์ คัสเซล (Ernest Cassel) ที่ปรึกษาด้านการเงินของ พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)* ผู้มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งของยุโรปและทรงอิทธิพลมาก ซึ่งได้มอบมรดกจำนวนมหาศาลให้แก่เธอ ทั้งคู่สมรสกันอย่างโด่งดังในสังคมในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๒
ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) และได้ฉลองการสมรสด้วยการเยี่ยมเยือนราชสำนักต่าง ๆ ในยุโรปและเดินทางไปสหรัฐอเมริกาด้วย ทั้งสองไม่มีบุตรชาย มีแต่บุตรสาว ๒ คน คือแพตริเชีย (Patricia) และพาเมลา (Pamela) อย่างไรก็ดี ชีวิตสมรสไม่ราบรื่นนักและผู้คนโดยทั่วไปก็รับรู้ว่าสามีภริยาคู่นี้ต่างมีความสัมพันธ์นอกสมรสใน ค.ศ. ๑๙๖๐ เอดวินาขณะอายุ ๕๘ ปีเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอาการนอนหลับและไม่รู้สาเหตุแน่ชัดที่เมืองเจสเซลตัน [ (Jesselton) หรือเมืองโกตากีนาบาลู (Kota Kinabalu) ในปัจจุบัน] ในบอร์เนียวเหนือ (North Borneo) ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ (superintendent-in chief) ของหน่วยพยาบาลเซนต์จอห์น (St. John's Ambulance Brigade) เมานต์แบตเทนนำร่างของเธอฝังลงในทะเลตามที่เธอเคยแสดงความประสงค์ไว้ ในการนี้ ยวาหร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีอินเดียซึ่งสนิทสนมกับเธอมากที่สุดคนหนึ่งได้ส่งเรือพิฆาต ๒ ลำเข้าร่วมในพิธีด้วยในฐานะที่เธอเป็นภริยาอุปราชอินเดีย (Vicereina of India) คนสุดท้าย
ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เมานต์แบตเทนได้รับยศร้อยเอก และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นกัปตันเรือพิฆาตเคลลี (Kelly) และบัญชาการกองเรือพิฆาตที่ ๕ ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักในความกล้า ความเด็ดเดี่ยว และความมีโชคที่สามารถรอดชีวิตจากการถูกตอร์ปิโดโจมตีอย่างหนักในน่านน้ำนอร์เวย์จนกระทั่งต่อมาเรือเคลลีถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด (dive-bomber attack) ยิงจนจมลงนอกชายฝั่งเกาะครีต (Crete) ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียทหาร ๑๓๐ คน แต่เมานต์แบตเทนสามารถรอดจากการจมน้ำได้ปีต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเรือบรรทุกอากาศยานอิลลัสเทรียส (Illustrious) ซึ่งกำลังจอดซ่อมอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๒ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้แต่งตั้งเขาให้เป็นผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการผสมของอังกฤษ (Chief of British Combined Operations) โดยมียศเป็นพลโท พลเรือโท และพลอากาศโทและร่วมอยู่ในคณะเสนาธิการทหาร การแต่งตั้งครั้งนี้ทำให้นายทหารที่ อาวุโสกว่าหรือมีประสบการณ์มากกว่าไม่พอใจแต่เชอร์ชิลล์ก็คงยืนยันสนับสนุนเมานต์แบตเทนซึ่งจัดตั้งหน่วยคอมมานโดไว้ปฏิบัติการบุกจู่โจมดินแดนที่ถูกเยอรมนียึดครองอยู่ กล่าวคือ เขาเชื่อในประสิทธิภาพของหน่วยรบพิเศษขนาดเล็กที่สามารถปฏิบัติการหลังแนวข้าศึกหรือลอบก่อวินาศกรรมที่มั่นสำคัญ ๆ ของศัตรู ซึ่งการมีทัศนะเกี่ยวกับการปฏิบัติการแบบนี้ไม่สอดคล้องกับทัศนะของทหารส่วนใหญ่ในช่วงต้นสงครามหน่วยคอมมานโดของเมานต์แบตเทนบุกมาดากัสการ์สำเร็จ แต่ล้มเหลวอย่างย่อยยับในการบุกดีเอปป์ (Dieppe) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ซึ่งทำให้ ร้อยละ ๗๐ ของทหารจำนวน ๕,๐๐๐ คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแคนาดาเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือถูกจับกุม แต่ก็ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับการปฏิบัติงานของกอง กำลังผสมหลายหน่วยของฝ่ายพันธมิตรในการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มองดี (Normandy) หรือดี-เดย์ (D- Day)* ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เพราะทำให้ เรียนรู้เกี่ยวกับการทิ้งระเบิดสะกัดกั้น และการใช้ท่าเรือเคลื่อนที่
ความล้มเหลวที่ดีเอปป์น่าจะยุติชีวิตทหารของเมานต์แบตเทนซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นเพราะประสบการณ์ในการรบของเขายังน้อยเกินไป แต่เชอร์ชิลล์ก็ยังคงสนับสนุนเขาและแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังฝ่ายพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปลดปล่อยดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองซึ่งการนี้ก็ทำให้ประมุขของอังกฤษทรงถูกวิจารณ์ว่าสนับสนุนพระญาติ (nepotism) ด้วย เมานต์แบตเทนดำรงตำแหน่งดังกล่าวระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๓-๑๙๔๖ ในช่วงนี้ เขาก็ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ อย่างจริงจัง โดยตั้งศูนย์บัญชาการที่พระราชวังในเมืองแคนดี (Kandy) และเดินทางบำรุงขวัญทหารอังกฤษที่กำลังรู้สึกว่าอยู่ในสมรภูมิที่ถูกทอดทิ้ง นโยบายของเมานต์แบตเทนรวมอยู่ในคำ ๓ คำคือ morale (กำลังใจ) monsoon (ฤดูมรสุม) และ malaria (มาเลเรีย) เขาสั่งการให้ทหารยืนหยัดสู้ต่อไปแม้เผชิญกับฤดูมรสุมถึง ๕ เดือน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กองกำลังญี่ปุ่นฟื้นตัวหลังจากพ่ายแพ้ที่อาระกัน (Arakan) และ อิมผาล (Imphal) ชัยชนะครั้งนี้มีผลต่อจิตใจของทหารฝ่ายพันธมิตร เพราะเป็นการลบล้างความเชื่อที่ว่ากองทัพญี่ปุ่นนั้นยากแก่การเอาชนะ นอกจากนี้ เมานต์แบตเทนได้จัดตั้งหน่วยปรึกษาด้านการแพทย (Medical Advisory Division) ที่มีนักวิจัยทำงานกับแพทย์สนามเพื่อเอาชนะมาเลเรียและโรคเมืองร้อนต่าง ๆ การตั้งหน่วยงานนี้ทำให้สามารถลดอัตราการป่วยของทหารจาก ๑๒๓ คนต่อการรบในสมรภูมิ ๑ ครั้งใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เป็น ๑๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ในที่สุดอังกฤษก็สามารถยึดพม่าคืนมาจากญี่ปุ่นได้ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างเมานต์แบตเทนกับนายพลวิลเลีย, สลิม (William Slim) ผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการทหารอังกฤษและข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำออสเตรเลียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๖๐ อังกฤษยังมีชัยชนะในเมกติลา (Meiktila) และมัณฑะเลย์ (Mandalay) ด้วยฝ่ายพันธมิตรจึงยกพลขึ้นบกที่กรุงย่างกุ้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยไม่ประสบการต่อต้านแต่อย่างใด
เมื่อการรบในสมรภูมิเอเชียยุติลงและญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ต่อมาในวันที่ ๑๒ กันยายน เมานต์แบตเทนซึ่งดำรงยศพลเรือเอกทำหน้าที่ ผู้แทนฝ่ายประเทศพันธมิตรในพิธียอมรับความพ่ายแพ้ของกองทัพแห่งจักรพรรดิญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วย ทหาร ๖๘๐,๘๗๙ คนอย่างเป็นทางการ นายพลอิตะงะกิ เซชิโร (Itagaki Seichirō) ผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่นทำพิธีส่งมอบดาบให้แก่เมานต์แบตเทน ณ ห้องประชุมสภาของศาลาว่าการสิงคโปร์ (Council Chamber of Singapore Town Hall ปัจจุบันคือ City Hall) ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นเกียรติประวัติครั้งสำคัญของเมานต์ แบตเทน หลังจากนั้น เขาเป็นประธานดูแลการปรับเปลี่ยนการบริหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากเขตทหารเป็นเขตพลเรือน และสนับสนุนการให้สิทธิกำหนดตนเองตามแนวเชื้อชาติตามกฎบัตรแอตแลนติก (Atlantic Charter)* แก่พม่าและมลายู
ชื่อเสียงและผลงานของเมานต์แบตเทนในช่วงสงครามทำให้เขาได้รับบรรดาศักดิ์ไวส์เคานต์ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เคลเมนต์ แอตลี (Clement Atlee)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษหลังสงครามที่สืบตำแหน่งต่อจากเชอร์ชิลล์ได้เลือกเขาเป็นอุปราชแห่งอินเดีย (มีนาคม-สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๗) เพื่อดำเนินการให้เอกราชแก่อาณานิคมนี้ ซึ่งในที่สุดเขาจำต้องยอมรับให้มีการแบ่งอนุทวีปออกเป็นอินเดียและปากีสถานเมานต์แบตเทนทำงานที่ได้รับมอบหมายจนลุล่วงอย่างเร็วโดยอาศัยชั้นเชิงทางการทูตที่ชำนาญด้วย แต่เขาไม่สามารถป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมปะทุขึ้นอีกและมีการต่อสู้ปะทะกันจมล้มตายจำนวนมากตามมาจากการแบ่งอินเดีย โดยเฉพาะการแบ่งแคว้นปัญจาบ (Panjab) รวมทั้งการที่มหาตมาคานธี (Mahatma Gandhi) ผู้นำฝ่ายฮินดูถูกชาวฮินดูหัวรุนแรงสังหาร ความรุนแรงที่เกิดจากการสู้รบของทั้ง ๒ ฝ่ายทำให้มีเสียงวิจารณ์เมาต์แบทเทนว่ารีบเร่งกระบวนการให้เอกราชมากเกินไป การรวบรัดเพื่อไม่ให้อังกฤษถูกตำหนิหรือต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นมีผลให้ชนต่างศาสนาเผชิญหน้ากัน อีกทั้งการเตรียมการที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่การย้ายถิ่นของประชาชนต่างศาสนาให้สอดคล้องกับการแบ่งดินแดนก็ไม่มี จึงเกิดความสับสนวุ่นวายมาก อย่างไรก็ดี ภริยาของเมานต์แบตเทนได้รับการยกย่องมากที่พยายามช่วยประชาชนที่เผชิญกับความทุกข์ยากในช่วงนี้
หลังจากอินเดียเป็นเอกราชแล้ว เมานต์แบตเทนซึ่งสนิทสนมกับยาวหร์ลาล เนห์รูและมหาตมาคานธีก็รับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดีย (สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ -มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘) เขาโน้มน้าวให้เจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ ในอินเดียสละอธิปไตยรวมเข้ากับอินเดียหรือปากีสถาน ตำแหน่งใหม่ของเขานี้ถูกยุบไปเมื่ออินเดียมีประธานาธิบดีของตนเอง (ซึ่งไม่มีอำนาจบริหาร) เมานต์แบตเทนได้รับการสถาปนาเป็นเอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่าที่ ๑ และบารอนรอมซีย์ (Baron Romsey) ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ จากภารกิจในการมอบเอกราชให้แก่อินเดียและปากีสถาน หลังพ้นหน้าที่ในอินเดียเมานต์แบตเทนก็กลับไปทำงานในราชนาวีดังเดิม โดยเป็นผู้บัญชาการทหารเรืออันดับ ๔ (Fourth Sea Lord) ซึ่งรับผิดชอบด้านการจัดเสบียงยุทธภัณฑ์ และยาให้แก่ราชนาวี ต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๕๔ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ (First Sea Lord) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๕-๑๙๕๙ ซึ่งในช่วงนี้ที่ได้เลื่อนเป็นจอมพลเรือใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เขาดูแลการรวมกระทรวงสงคราม กระทรวงอากาศยาน และกระทรวงทหารเรือเข้าด้วยกันเป็นกระทรวงกลาโหมใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ด้วยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๙-๑๙๖๕ เป็นผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันของอังกฤษและประธานคณะเสนาธิการทหารในช่วงหลังนี้ เมานต์แบตเทนมีส่วนในการปกป้องมาเลเซียและสิงคโปร์ในเหตุการณ์ที่เกิดการเผชิญหน้ากับอินโดนีเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๒-๑๙๖๖ โดยจัดการปัญหาได้ผลด้วยกำลังอย่างเงียบ ๆ เมื่อออกจากราชการแล้ว เขาเป็นผู้ว่าราชการเกาะไวต์ (Isle of Wight) ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ และขึ้นเป็นข้าหลวงใหญ่เมื่อเกาะนี้มีฐานะเป็นเคาน์ตี (county) ใน ค.ศ. ๑๙๗๔
นอกจากนี้ ก่อนอสัญกรรมลอร์ดหลุยส์เมานต์แบตเทนซึ่งเป็น Honorary Grandfather ของชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (Charles, Prince of Wales) มกุฏราชกุมารอังกฤษยังเป็นองครักษ์ส่วนพระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ ด้วย เขามีความสนิทสนมกับเจ้าฟ้าชายชาลส์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และถวายคำแนะนำหลายเรื่องรวมทั้งการเลือกคู่อภิเษกสมรสด้วยพระราชวงศ์อังกฤษจึงมีความโทมนัสมากเมื่อจอมพลเรือ หลุยส์ เมานต์แบตเทน เอิร์ลเมานต์แบตเทนแห่งพม่าที่ ๑ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ ขณะพักผ่อนตกปลาบนเรือยอชแชโดว์ ๕ (Shadow V) ในอ่าวดอนิกอล (Donegal) มณฑลสไลโก (Sligo) ไอร์แลนด์ จากการที่กลุ่มโพวิชันแนล ไออาร์เอ (Provisional IRA) ลอบวางระเบิดไว้ในเรือที่ปรกติจอดเก็บโดยไม่มีคนเฝ้าดูแลในหมู่บ้านประมงมุลลาโมร์ (Mullaghmore) ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนไอร์แลนด์เหนือ ๑๘ กิโลเมตร และไม่ไกลจากเมืองบุนโดรัน (Bundoran) ที่สมาชิกกองกำลังสาธารณรัฐไอริชหรือไออาร์เอ (Irish Republican Army-IRA)* นิยมไปหลบภัยนัก [ลอร์ดเมานต์แบตเทนมีปราสาทคลาสซีบอว์น (Classiebawn Castle) ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการดูแลความปลอดภัยประมาณ ๑ เดือนในแต่ละปี] แรงระเบิดทำให้ร่างของผู้โดยสาร ๗ คนในเรือกระเด็นลงไปในน้ำ นอกจากเมานต์แบตเทนซึ่งขาเกือบขาด เมื่อชาวประมงนำขึ้นมาจากน้ำและเสียชีวิตไม่นานต่อมา ขณะอายุ ๗๙ ปี บารอนเนสบราบูร์น (Dowager Baroness Brabourne) วัย ๘๓ ปี มารดาของบุตรเขยของเขา นิโคลัส แนชบูลล์ (Honorable Nicholas Knatchbull) วัย ๑๔ ปี หลานตาของเมานต์แบตเทน และ พอล แมกซ์เวลล์ (Paul Maxwell) วัย ๑๕ ปี เด็กประจำเรือก็เสียชีวิตด้วย จากเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ที่กลุ่มโพรวิชันแนลไออาร์เอแสดงตนเปิดเผยว่าเป็นผู้กระทำเพื่อให้รัฐบาลอังกฤษรับรู้ถึงความไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลในไอร์แลนด์เหนือ มีการจับกุมทอมัส แมกมาฮอน (Thomas McMahon) ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๙ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต [เขาได้รับการปล่อยตัว ๒๐ ปีต่อมา ตามข้อตกลงกูดฟรายเดย์ (Good Friday Agreement) ที่รัฐบาลอังกฤษกระทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๘]
ร่างของเมานต์แบตเทนได้รับการนำไปทำพิธีที่มหาวิหารเซนต์แพทริก (St. Patrick’s Cathedral) ในกรุงดับลิน (Dublin) ก่อนได้รับการประกอบพิธีศพที่จัดขึ้นเป็นงานรัฐพิธี (state funeral) เทียบเท่ารัฐพิธีที่รัฐบาลเคยทำให้แก่ลอร์ดฮอเรชีโอ เนลสัน (Horatio Nelson)* และอาเทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington)* ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ มีการถ่ายทอดพิธีทางโทรทัศน์ก่อนนำไปฝังที่วิหารรอมซีย์ (Romsey Abbey) ในวาระสุดท้าย บรรดาศักดิ์ของเมานต์แบตเทนได้ตกทอดให้แก่แพตริเซีย ผู้เป็นบุตรสาวคนโตตามความประสงค์ของเขา โดยเธอได้เป็นเคาน์เตสเมานต์แบตเทนแห่งพม่าที่ ๒ (2nd Countess Mountbetten of Burma).