พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียเป็นพรรคปฏิวัติลัทธิมากซ์ (Marxism)* ที่เกิดขึ้นก่อนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (Communist Party of the Soviet Union) จัดตั้งขึ้นที่เมืองมินสก์ (Minsk) สาธารณรัฐเบลารุส (Belarus) ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ โดยมีวัตถุประสงค์จะผนึกรวมองค์การปฏิวัติต่าง ๆ ที่ยอมรับแนวทางการปฏิวัติของลัทธิมากซ์เข้าเป็นพรรคการเมืองเดียวโดยถือเป็นพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพแต่การจัดตั้งพรรคไม่ประสบความสำเร็จเพราะระหว่างการประชุม ตำรวจบุกเข้าปราบปรามและจับกุมสมาชิกส่วนใหญ่ได้ ในต้นทศวรรษ ๑๙๐๐ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำกลุ่มลัทธิมากซ์นอกประเทศได้พยายามผลักดันเรื่องการจัดตั้งพรรคขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ Iskra วารสารใต้ดินซึ่งจัดทำนอกประเทศเป็นสื่อเชื่อมโยงความคิดระหว่างนักปฏิวัติและเครือข่ายองค์กรลัทธิมากซ์ในประเทศกับองค์การปฏิวัตินอกประเทศ ความสำเร็จของการดำเนินงานของผู้แทน Iskra ในประเทศได้นำไปสู่การประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่กรุงบรัสเซลส์ และกรุงลอนดอนตามลำดับและสามารถจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในระหว่างการประชุมเกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกพรรคและกองบรรณาธิการวารสาร Iskra ทำให้สมาชิกแตกแยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่สนับสนุนแนวทางของเลนินซึ่งเป็นเสียงข้างมากได้ชื่อว่าบอลเชวิค (Bolsheviks)* ส่วนกลุ่มตรงข้ามกับเลนินที่สนับสนุนยูลี โอซิโปวิช มาร์ตอฟ (Yuly Osipovich Martov)* ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยได้ชื่อว่าเมนเชวิค (Mensheviks)* พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียจึงแบ่งเป็น ๒ พรรคอย่างไม่เป็นทางการจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๒
การจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียเป็นผลสืบเนื่องจากสมาชิกจำนวนหนึ่งของกลุ่มที่ดินและเสรีภาพ (Land and Liberty) ที่มีเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* เป็นผู้นำแยกตัวออกมาจัดตั้งองค์การลัทธิมากซ์ขึ้นนอกประเทศซึ่งเรียกว่ากลุ่มปลดปล่อยแรงงาน (Emancipation of Labour) เปลฮานอฟตระหนักว่าแนวทางการใช้ความรุนแรงและการก่อการร้ายของกลุ่มที่ดินและเสรีภาพในการเคลื่อนไหวปฏิวัติ และการเน้นความสำคัญของชาวนาเป็นพลังหลักของการปฏิวัติไม่สอดคล้องกับสังคมรัสเซียซึ่งกำลังเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมเปลฮานอฟจึงหันมายอมรับแนวความคิดลัทธิมากซ์ซึ่งกำลังมีอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการสังคมยุโรปในขณะนั้นและเริ่มเคลื่อนไหวเผยแพร่ทฤษฎีลัทธิมากซ์ในรัสเซียจนแนวความคิดลัทธิมากซ์เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นในขบวนการปฏิวัติแนวทางการปฏิวัติของพวกนารอดนิค (Narodnik)* หรือรัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populism)* ที่รับอิทธิพลทางความคิดมาจากอะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)* จึงค่อยหมดบทบาทความสำคัญลง
ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ เลนินซึ่งหลบหนีจากไซบีเรียเดินทาง มาร่วมงานกับเปลฮานอฟที่นครเจนีวาและจัดตั้งองค์การลัทธิมากซ์ที่เรียกชื่อว่าสันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน (League of the struggle for the Liberation of the Working Class) ขึ้นได้สำเร็จสันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงานได้ขยายเครือข่ายการดำเนินงานเข้ามาในรัสเซียและมีบทบาทสำคัญในการประยุกต์ลัทธิสังคมนิยมเข้ากับขบวนการกรรมกรและเผยแพร่แนวความคิดลัทธิมากซ์ให้แก่ปัญญาชนและกรรมกรกลุ่มศึกษาลัทธิมากซ์จึงก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ และมีอิทธิพลทางความคิดมากขึ้นในหมู่กรรมกร อย่างไรก็ตาม ปัญญาชนรัสเซียที่สนใจในลัทธิมากซ์จำนวนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีปฏิวัติของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ที่เขียนไว้ในแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* พวกเขาสนับสนุนทัศนะของเอดูอาร์ค แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)* นักสังคมนิยมเยอรมันเชื้อสายยิวที่สนับสนุนให้กรรมกรเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีตามกระบวนการระบอบประชาธิปไตย ปัญญาชนกลุ่มนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นพวกลัทธิมากซ์ที่ถูกกฎหมาย (Legal Marxists) แต่เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดไม่มากเท่ากลุ่มลัทธิมากซ์ใต้ดินของเลนิน
ในต้น ค.ศ. ๑๘๙๘ ผู้แทนองค์การปฏิวัติแนวทางลัทธิมากซ์กลุ่มต่าง ๆ รวม ๙ กลุ่ม ที่กระจัดกระจายทั่วประเทศได้ร่วมมือกับสหภาพแห่งสังคมประชาธิปไตยของชาวยิว (Union of Social Democratic of Jews) เพื่อรวมตัวจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมีการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งแรกขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๘ ที่เมืองมินสก์ ที่ประชุมมีมติให้ใช้ชื่อพรรคอย่างเป็นทางการว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย และเห็นชอบให้จัดทำหนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศขึ้นเพื่อเป็นสื่อเชื่อมโยงทางความคิดของนักปฏิวัติและเผยแพร่แนวความคิดลัทธิสังคมนิยมแก่กรรมกรและประชาชน แต่ระหว่างที่กำลังหารือเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลางพรรค ตำรวจก็บุกเข้าปราบปรามและจับกุมแกนนำ ๙ คน และสมาชิกส่วนใหญ่ได้ การประชุมครั้งนี้จึงถือว่ายังจัดตั้งพรรคขึ้นไม่ได้เพราะยังไม่ได้มีการกำหนดหลักนโยบายและระเบียบการพรรคไว้ทั้งไม่สามารถสร้างองค์การนำที่รวมศูนย์ขึ้นด้วย แม้การประชุมครั้งนี้จะล้มเหลวแต่ก็มีความสำคัญต่อขบวนการปฏิวัติเพราะทำให้สมาชิกที่หลบหนีได้ต้องสรุปบทเรียนและเร่งจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่ให้สำเร็จทั้งกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๐๓ เลนินผู้นำกลุ่มลัทธิมากซ์นอกประเทศได้พยายามผลักดันเรื่องการจัดตั้งพรรคขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เขาวางเครือข่ายและแผนการดำเนินงานสร้างองค์การปฏิวัติขึ้นโดยใช้วารสาร Iskra เป็นสื่อชี้นำนโยบายและถ่ายทอดความคิดระหว่างกลุ่มผู้นำนอกประเทศกับนักปฏิวัติและผู้ปฏิบัติงานภายในประเทศกองบรรณาธิการของวารสารฉบับนี้ ประกอบด้วยเลนินมาร์ตอฟ อะเล็กซานเดอร์ โปเตรซอฟ (Alexander Potresov)* เปลฮานอพ์ ปาเวล อัคเซลรอด (Pavel Akselrod)* และเวรา ซาซูลิช (Vera Zasulich)* ส่วนเลขานุการกองบรรณาธิการและขององค์การนำนอกประเทศคือ นาเดจดา ครุปสกายา (Nadezhda Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนิน วัตถุประสงค์สำคัญของ วารสาร Iskra คือการวางพื้นฐานความคิดลัทธิมากซ์ในขบวนการปฏิวัติและสร้างเครือข่ายงานการเมืองเพื่อสร้างพรรคปฏิวัติ ตลอดจนชี้นำแนวทางการเคลื่อนไหวและเชื่อมร้อยทางความคิดระหว่างนักปฏิวัติและผู้ปฏิบัติงานในประเทศกับองค์การนำนอกประเทศ ครุปสกายาบันทึกไว้ว่าเลนินคือหัวใจและวิญญาณของ Iskra เพราะเขากำหนดทิศทางและนโยบายทั้งหมดของ Iskra ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ เลนินยังเขียนงานนิพนธ์เรื่องสำคัญคือ What is to Be Done เพื่อเป็นคู่มือของนักปฏิวัติในการสร้างพรรคปฏิวัติและการสร้างนักปฏิวัติมืออาชีพ นิพนธ์เรื่องนี้ซึ่งใช้ชื่อเดียวกันกับนวนิยายการเมืองของนีโคไล เชียร์นีเชฟสกี (Nikolai Chernyshevsky)* นักคิดนารอดนิคและเป็นหนังสือเล่มโปรดของเลนินได้ทำให้แผนการดำเนินงานของเลนินบรรลุผล ผู้ปฏิบัติงานที่รับนโยบายของ Iskra จะเดินทางไปตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศเพื่อประสานกับองค์การท้องถิ่นและจัดตั้งองค์การมวลชนขึ้นทั้งโน้มน้าวองค์การท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ยอมรับแนวทางของ Iskra
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๒ ผู้แทนองค์การลัทธิมากซ์กลุ่มต่าง ๆ ได้เตรียมเปิดประชุมกันที่เมืองเบโลสตอค (Belostok) บริเวณพรมแดนรัสเซียกับโปแลนด์เพื่อหารือเรื่องการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ ขึ้น แต่ประสบความล้มเหลวเพราะตำรวจสืบเบาะแสได้และเข้ากวาดล้าง อีก ๕ เดือนต่อมา มีการประชุมหารือเรื่องการเปิดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ อีกครั้งที่เมืองปสคอฟ (Pskov) และที่ประชุมเห็นชอบกับแนวทางของผู้แทน Iskra ในการจัดตั้งพรรคปฏิวัติที่มีลักษณะเป็นองค์การปฏิวัติที่รวมศูนย์ โดยใช้ชื่อเดิมว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย และการมีนักปฏิวัติมืออาชีพที่จะผลักดันการปฏิวัติให้บรรลุผล มีการกำหนดการประชุมขึ้นในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมเนื่องจากเป็นประเทศที่มีนโยบายเป็นกลางและให้สิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
การประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ มีขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดมี ๔๖ คน ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์การปฏิวัติ ๒๖ แห่ง ขณะที่เริ่มการประชุมไดิไม่นานนัก ตำรวจก็ได้ระดมกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ การประชุมจึงยุติลงโดยไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนและผู้แทนเห็นชอบให้ย้ายสถานที่ประชุมไปที่กรุงลอนดอนในเดือนพฤศจิกายนโดยใช้โบสถ์แถบชานเมืองเป็นสถานที่ประชุม ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้จัดตั้งพรรคปฏิวัติขึ้นโดยใช้ชื่อว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียและกำหนดหลักนโยบายพรรคเป็น ๒ ส่วน นโยบายสูงสุดคือการดำเนินการเคลื่อนไหวปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อสถาปนาอำนาจเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น ส่วนนโยบายเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการคือการโค่นล้มระบอบซาร์และสร้างระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยขึ้น การยกเลิกระบบทาสติดที่ดินและปฏิรูปสังคมที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของกรรมกรและชาวนาการจัดระบบการทำงานของกรรมกรเป็นวันละ ๘ ชั่วโมง ตลอดจนการปฏิรูปที่ดินเพื่อชาวนา
อย่างไรก็ตาม ความเป็นเอกภาพของที่ประชุมเริ่มแตกแยกเมื่อมีการพิจารณามาตราที่ ๑ เรื่องคุณสมบัติของสมาชิกพรรค เลนินเสนอว่าพรรคต้องเข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าเป็นสมาชิกโดยสมาชิกพรรคต้องยอมรับหลักนโยบายแห่งพรรคและสังกัดเป็นสมาชิกองค์การพรรคองค์การใดองค์การหนึ่งมาก่อน ทั้งต้องผ่านการทดสอบปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่มาร์ตอฟโต้แย้งว่าสมาชิกพรรคเพียงยอมรับหลักนโยบายพรรคและร่วมในกิจกรรมพรรคโดยไม่จำเป็นต้องสังกัดในองค์การพรรคก็ได้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของมาร์ตอฟแต่เมื่อมีการพิจารณาเรื่องการลดจำนวนกองบรรณาธิการ Iskra จากเดิม ๖ คน ให้เหลือเพียง ๓ คน ความแตกแยกก็รุนแรงมากขึ้น เลนินถูกวิพากษ์โจมตีอย่างรุนแรงว่าต้องการสร้างอิทธิพลและกุมอำนาจในพรรคด้วยการปลดนักปฏิวัติอาวุโส ๓ คนที่ร่วมก่อตั้ง Iskra ออกและพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกที่ทรยศต่อสหายร่วมอุดมการณ์ ในการลงมติเรื่องดังกล่าวที่ประชุมส่วนใหญ่ที่สนับสนุนเลนินซึ่งเป็นเสียงข้างมากได้ชื่อว่าบอลเชวิค ส่วนผู้ที่สนับสนุนมาร์ตอฟซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยเรียกว่าเมนเชวิค การประชุมใหญ่เพื่อก่อตั้งพรรคเพียงพรรคเดียวจึงนำไปสู่การเกิดพรรค ๒ พรรคอย่างไม่เป็นทางการขึ้นในที่สุด ต่อมา สมาชิกส่วนหนึ่งที่สนับสนุนมาร์ตอฟได้แยกตัวออกมาจัดตั้งกลุ่มการเมืองอิสระชื่อว่า เมจรายอนกา (Mezhrayonka) โดยมีเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* นักปฏิวัติเชื้อสายยิวเป็นผู้นำ
ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese Wars ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๔)* และการนัดหยุดงานในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่นำไปสู่เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ทำให้พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียยุติความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรคลงชั่วคราวเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๕ มีการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียที่กรุงลอนดอนในการประชุมครั้งนี้มีการอภิปรายปัญหายุทธวิธีในการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นและบทบาทของพรรคที่จะเข้าร่วมในรัฐบาลเฉพาะกาลด้วยหรือไม่ ทั้งบอลเชวิคและเมนเชวิคมีความเห็นตรงกันว่ารัสเซียสุกงอมพอสำหรับการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน แต่ชนชั้นกรรมาชีพยังไม่เข้มแข็งพอที่จะผลักดันการปฏิวัติครั้งที่ ๒ เพื่อโค่นอำนาจรัฐของชนชั้นนายทุน พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียจึงต้องเคลื่อนไหวจัดตั้งกรรมการทางการเมืองและสร้างพันธมิตรกับชาวนาเพื่อให้สนับสนุนกรรมกรในการก่อการปฏิวัติทั้งโดดเดี่ยวชนชั้นนายทุน หลังการประชุมครั้งนี้ได้ ๒ เดือน เลนินได้เขียนงานนิพนธ์ทางการเมือง เรื่อง Two Tactics of Social Democracy in Democratic Revolution เสนอแนวความคิดว่าด้วยยุทธวิธีของชนชั้นกรรมาชีพในการผลักดันการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนให้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่งเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ
เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สมาชิกบอลเชวิคมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวสนับสนุนกรรมกรให้จัดตั้งสภาโซเวียต (Soviet) หรือโซเวียตผู้แทนกรรมกร (Soviet of Workers’ Deputies) ขึ้นทั้งในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เพื่อเป็นองค์การปกครองตนเองของกรรมกรและเป็นผู้แทนของขบวนการกรรมกรในการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองร่วมกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพแห่งสหภาพทั้งมวล (Union of Unions) ที่มีปาเวล มิลยูคอฟ (Pavel Milyukov)* นักประวัติศาสตร์เสรีนิยมเป็นผู้นำ การเคลื่อนไหวของกรรมกรและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* จำต้องประกาศ “แถลงการณ์เดือนตุลาคม” (October Manifesto) เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุม ให้จัดตั้งสภาดูมา (Duma)* หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นเพื่อพิจารณาออกกฎหมายต่าง ๆ และปฏิรูปการเมืองและอื่น ๆ แถลงการณ์เดือนตุลาคมไม่เพียงทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้เท่านั้นแต่ยังทำให้รัสเซียก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ รัฐบาลก็ยุบสภาโซเวียตและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้ทั้งหมด ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๔ สภาดูมามีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยรัสเซียและทำให้ขบวนการปฏิวัติตกตํ่าและหมดอิทธิพลลงทั้งต้องปรับยุทธวิธีการต่อสู้ลงสู่ใต้ดินและกบดานเพื่อรอคอยโอกาสครั้งใหม่
ในปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๕ ขึ้นที่กรุงลอนดอน การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๔ ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) สวีเดน เกี่ยวกับการกำหนดท่าทีของพรรคต่อสภาดูมาและการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่เพื่อกำหนดนโยบายการดำเนินงาน ในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนของพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) จากประเทศยุโรปอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย ที่ประชุมมีมติให้เคลื่อนไหวเปิดโปงแนวนโยบายจอมปลอมของพรรคการเมืองฝ่ายขวาในสภาดูมาโดยเฉพาะพรรคตุลาคม (Octobrist Party) ที่มักสนับสนุนนายทุน และให้ต่อต้านนโยบายทางการเมืองของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party) ที่มีวิคตอร์ มีไฮโลวิช เชียร์นอฟ (Viktor Mikhailovich Chernov)* เป็นผู้นำ มีความพยายามจะประสานความขัดแย้งระหว่างบอลเชวิคกับเมนเชวิคอีกครั้งแต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่นำมาพิจารณาในการประชุมครั้งนี้คือเรื่องการปล้นสถาบันการเงินและธนาคารเพื่อนำเงินมาสนับสนุนกิจกรรมพรรค ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นในแถบคอเคซัส (Caucasus) ซึ่งโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* แกนนำพรรคมีส่วนรับผิดชอบ สตาลินซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขา ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกแนวทางปฏิบัติดังกล่าวและให้ยุบหน่วยต่อสู้และกลุ่มปฏิบัติการพิเศษขององค์กรพรรคที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการดังกล่าวด้วย
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๒ บอลเชวิคผลักดันให้มีการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงปราก (Prague) เชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* เพื่อหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน มีผู้แทนจากองค์การพรรคกว่า ๒๕ แห่ง เข้าร่วมประชุมและฝ่ายบอลเชวิคมีผู้แทนรวม ๑๘ คน ที่ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่และเห็นว่าการเคลื่อนไหวของกรรมกรระหว่างปลาย ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๑ ที่มีขึ้นอย่างประปรายส่งสัญญาณให้เห็นว่าขบวนการปฏิวัติกำลังจะฟื้นตัว ที่ประชุมจึงมีมติให้ดำเนินการเคลื่อนไหวโดยประสานงานลับเข้ากับงานที่ถูกกฎหมายในองค์การกรรมกรต่าง ๆ และให้จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันสำหรับกรรมกรโดยใช้ชื่อ Pravda เพื่อเป็นสื่อชี้นำนโยบายและกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางสังคมและการเมือง มีการสรุปปัญหาความขัดแย้งระหว่างบอลเชวิคกับเมนเชวิคที่ไม่สามารถร่วมงานกันได้ และที่ประชุมมีมติให้ขับเมนเชวิคออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียเพื่อยุติการแตกแยกภายในพรรค มติดังกล่าวจึงเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการในความเป็นอิสระของบอลเชวิคและการมีอิทธิพลสำคัญในพรรคบอลเชวิคมีชื่อใหม่ว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค) [Russian Social Democratic Workers’ Party (Bolsheviks)] ที่ประชุมยังกำหนดหลักนโยบายเฉพาะหน้าคือการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตย การผลักดันระบบทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง และยึดที่ดินทั้งหมดมาปฏิรูปที่ดินตลอดจนให้เตรียมการที่จะส่งผู้แทนพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้งในการประชุมสภาดูมาสมัยที่ ๔ อย่างไรก็ตามเมนเชวิคไม่ยอมรับว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค) เป็นพรรคที่ชอบธรรมของผู้แทนรัสเซียทั้งหมด และเรียกร้องให้มีการจัดประชุมขึ้นใหม่ที่กรุงเวียนนาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ แต่บอลเชวิคปฏิเสธที่จะเข้าประชุมด้วย
ในการประชุมสภาดูมาสมัยที่ ๔ (๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๒ - ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗) แม้บอลเชวิคและเมนเชวิคจะมีผู้แทนที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาเพียง ๖ และ ๗ คน ตามลำดับ แต่ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็มักร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ในการคัดด้านนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์แก่นายทุนและเจ้าที่ดิน ฝ่ายซ้ายยังพยายามใช้เวทีสภาให้เป็นประโยชน์ในการปลุกระดมโจมตีระบบซาร์และพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่อรัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สมาชิกสภาดูมาส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลในการทำสงครามแต่สมาชิกสภาฝ่ายซ้ายต่อต้านในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ บอลเชวิคได้ส่งมัคซิม มัคซีโมวิช ลิวีนอฟ (Maksim Maksimovich Litvinov)* แกนนำพรรคเป็นผู้แทนเข้าร่วมในการประชุมผู้แทนชาวพรรคสังคมนิยมที่กรุงลอนดอนเพื่อประกาศหลักการของบอลเชวิคในการต่อต้านสงครามและเพื่อเรียกร้องให้ชาวพรรคสังคมนิยมยุโรปยุติการสนับสนุนร่วมมือกับรัฐบาลของตนในการทำสงคราม
ต่อมาในเดือนกันยายน มีการจัดประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งที่ ๑ (First Socialist International Conference) ขึ้นที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zim-merwald) หมู่บ้านเล็ก ๆ บริเวณเทือกเขาที่ไม่ห่างจากกรุงเบิร์น (Bern) สวิตเซอร์แลนด์ มีผู้แทน ๓๘ คน จาก ๑๑ ประเทศเข้าร่วมประชุม เลนินและกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* เป็นผู้แทนบอลเชวิค และมาร์ตอฟกับอัคเซลรอดเป็นผู้แทนของเมนเชวิค เลนินเรียกร้องให้นักสังคมนิยมผนึกกำลังประสานการดำเนินงานในการต่อต้านสงครามและสนับสนุนให้นักปฏิวัติเคลื่อนไหวเปลี่ยนสงครามจักรพรรดินิยมให้เป็นสงครามกลางเมืองตลอดจนให้จัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ขึ้นแทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ซึ่งแตกสลายลงเพราะสนับสนุนสงคราม หลังการประชุมครั้งนี้มีการประกาศ แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Manifesto) เผยแพร่ทั่วยุโรป เนื้อหาสำคัญของแถลงการณ์คือการวิพากษ์โจมตีพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงครามและเรียกร้องให้กรรมกรเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของขบวนการสังคมนิยมยุโรปเพราะเป็นการประชุมต่อต้านสงครามในระดับสากลและทำให้กรรมกรในประเทศต่าง ๆ รับทราบการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติและส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ ซิมเมอร์วัลด์โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ยึดแนวทาง “การกำหนดการปกครองตนเองของประชาชน” (self-determination of people) ในการยุติสงครามที่ปราศจากการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงคราม
เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ขึ้นที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) ทั้งเมนเชวิคและบอลเชวิคเคลื่อนไหวสนับสนุนมวลชนและกรรมกรให้จับอาวุธขึ้นสู้ต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นรวมทั้งผลักดันการจัดตั้งสภาโซเวียตเปโตรกราดแห่งผู้แทนกรรมกรและทหาร (Petrograd Soviet of Worker’s and Soldier’s Deputies) ขึ้น ขณะเดียวกันอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* สมาชิกสภาดูมาและผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติก็ร่วมกับสมาชิกสภากลุ่มก้าวหน้า (Progressive Block) เรียกร้องให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงสละพระราชอำนาจ ผู้แทนสภาดูมา ที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์และนายพลมีฮาอิล อะเล็คเซเยฟ (Mikhail Alekseyev)* จึงเดินทางไปกราบทูลซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งบัญชาการรบอยู่ในแนวหน้าและกำลังตัดสินพระทัยเสด็จกลับกรุงเปโตรกราดให้ทรงทราบถึงสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ดำรงอยู่ทั้งทูลแนะให้สละราชย์เพื่อยุติการจลาจลไม่ให้ขยายตัว
ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงยอมสละราชบัลลังก์ตามคำกราบทูลและทรงประกาศมอบราชบัลลังก์ให้แก่ซาเรวิชอะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช (Alexei Nikolayevich)* พระราชโอรสเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม แต่เมื่อทรงทราบว่ารัฐบาลจะไม่อนุญาตให้พระองค์ดูแลพระราชโอรสต่อไปและในกรณีที่พระราชวงศ์เสด็จไปประทับต่างประเทศซาเรวิชต้องประทับอยู่ในรัสเซีย พระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระทัยในเย็นวันเดียวกันนั้นและแก้ไขคำสั่งใหม่มอบราชบัลลังก์ให้แก่พระอนุชาแกรนด์ดุ๊กไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช (Michael Alexandrovich) แต่แกรนด์ดุ๊กไมเคิลทรงปฏิเสธและมอบอำนาจการปกครองให้แก่เจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* แทนซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกาล การปฏิเสธที่จะสืบบัลลังก์ของแกรนด์ดุ๊กไมเคิลได้ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ซึ่งปกครองจักรวรรดิรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปี ถึงกาลอวสาน ในวันที่ ๓ มีนาคม รัฐบาลเฉพาะกาลก็ประกาศให้นานาประเทศในยุโรปรับทราบถึงชัยชนะของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์และการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์โรมานอฟ
หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ เยอรมนีซึ่งต้องการยุติการรบกับรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออกได้ส่งกลุ่มนักปฏิวัติรัสเซียที่ลี้ภัยนอกประเทศจำนวน ๓๒ คน เดินทางโดยขบวนรถไฟตู้ปิด (sealed train) กลับเข้ารัสเซียเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเฉพาะกาล ในจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดที่ร่วมเดินทางเป็นกลุ่มบอลเชวิค ๑๙ คน ซึ่งรวมทั้งเลนิน ครุปสกายา อีเนสซา อาร์มัน (Inessa Armand)* และคาร์ล ราเดค (Karl Radek)* ด้วย เมื่อกลับเข้ารัสเซียในต้นเดือนเมษายน เลนินเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านรัฐบาลเฉพาะกาลและชูคำขวัญ “อำนาจรัฐทั้งหมดให้สภาโซเวียต” (All Powers to the Soviet) ทั้งเสนอแนวทางการเคลื่อนไหวของบอลเชวิคในงานนิพนธ์อันเลื่องชื่อเรื่อง April Theses เกี่ยวกับนโยบายพรรคต่อปัญหาสงครามและการปฏิวัติและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการก้าวจากการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนสู่การปฏิวัติสังคมนิยม ในเดือนพฤษภาคมตรอตสกีก็กลับเข้าประเทศและเป็นผู้นำกลุ่มเมจรายอนกาซึ่งเป็นพวกสากลนิยม (Internationalists) สายกลางที่เรียกร้องให้เมนเชวิคและฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาล อีก ๒ เดือนต่อมากลุ่มเมจรายอนกาก็เข้ารวมกับบอลเชวิค และตรอตสกีได้รับเลือกเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการกลางบอลเชวิคร่วมกับเลนิน ซีโนเรียฟ เลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev)* และคนอื่น ๆ
ในต้นเดือนกันยายน พลเอก ลาฟร์ เกออร์เกียวิช คอร์นีลอฟ (Lavr Georgyevich Kornilov)* กอกบฏเพื่อล้มอำนาจของรัฐบาลเฉพาะกาลโดยได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังของนายพลอันตอน อีวาโนวิช เดนีกิน (Anton Ivanovich Denikin)* และนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า กรณีคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* รัฐบาลเฉพาะกาลขอความช่วยเหลือจากสภาโซเวียตแห่งเปโตรกราดในการต่อต้านคอร์นีลอฟจนมีชัยชนะฝ่ายกบฏ ซึ่งถูกนักปลุกระดมบอลเชวิคเกลี้ยกล่อมยอมจำนนโดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ หลังกรณีคอร์นืลอฟ บอลเชวิคมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นในสภาโซเวียตและผู้แทนของบอลเชวิคได้รับเลือกเป็นประธานสภาโซเวียตเปโตรกราดและสภาโซเวียตมอสโก แทนกลุ่มเมนเชวิคและกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติ สภาโซเวียตจึงเตรียมการยึดอำนาจทางการเมืองและนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ จนประสบความสำเร็จ
หลังชัยชนะของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งในเวลาต่อมามีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “การปฏิวัติสังคมนิยมเดือนตุลาคมอันยิ่งใหญ่” (Great October Socialist Revolution) รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้สำเร็จด้วยการทำสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ และเปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นระบอบสังคมนิยม ในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๗ ต้นเดือนมีนาคมซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรกหลังจากยึดอำนาจได้ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค) มีมติให้สัตยาบันการลงนามในสนธิสัญญากับเยอรมนีและเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค) [The Russian Communist Party (Bolshevik)] เพื่อให้แตกต่างจากพรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมอื่น ๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับอุดมการณ์พรรคคือการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งให้เรียกชื่อพลเมืองรัสเซียว่าโซเวียตเพื่อชี้ให้เห็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ใหม่ของรัฐโซเวียตสังคมนิยม
หลังการประชุมใหญ่ครั้งนี้พรรคคอมมิวนิสต์ใช้นโยบายเผด็จการในการปกครองประเทศเพื่อรักษาอำนาจให้มั่นคงและได้จัดตั้งเชกา (Cheka)* หรือหน่วยตำรวจลับขึ้นเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างอำนาจทางการเมืองและเพื่อปราบปรามกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งสอดส่องควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน การดำเนินงานของเชกาซึ่งมีเฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช ดเซียร์จินสกี (Felix Edmundovich Dzerzhinsky)* เป็นหัวหน้าและความเข้มแข็งของกองทัพแดง (Red Army)* ใต้การบังคับบัญชาของเลออน ตรอตสกีในการทำสงครามกับฝ่ายรัสเซียขาวในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* จึงทำให้พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค) เป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเข้มแข็งในการบริหารปกครองประเทศ ต่อมาเมื่อเลนินถูกลอบสังหารในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ แต่รอดชีวิต พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค) จึงเห็นเป็นโอกาสใช้สถานการณ์ดังกล่าวกวาดล้างและกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดจนเหลือพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียเพียงพรรคเดียว หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค) ซึ่งประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจตามนโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy-NEP)* จึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียทั้งมวล (บอลเชวิค) [All Russian Communist Party (Bolsheviks)]
ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๔ รัฐบาลโซเวียตได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งยังคงยึดกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๑๘ ไว้ และเปลี่ยนชื่อประเทศจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (The Russian Soviet Federative Socialist Republic) เป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตหรือสหภาพโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics-USSR)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ มีการเปลี่ยนชื่อพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียทั้งมวล (บอลเชวิค) เป็นพรรคสหภาพคอมมิวนิสต์ทั้งมวล (บอลเชวิค) [All Union Communist Party (Bolsheviks)] เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและเหมาะสมกับรูปแบบการปกครองของประเทศที่ประกอบด้วยสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตต่าง ๆ รวม ๑๒ สาธารณรัฐ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ก็มีสาธารณรัฐใหม่เข้าร่วมในเครือสหภาพอีก ๓ สาธารณรัฐรวมเป็น ๑๕ สาธารณรัฐ ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ จึงมีการเปลี่ยนชื่อพรรคอีกครั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (Communist Party of the Soviet Union) และใช้ชื่อดังกล่าวจนถึงช่วงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๙๑.