สงครามกลางเมืองรัสเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๐ เป็นการสู้รบระหว่างรัฐบาลพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ โดยกองทัพแดง (Red Army)* กับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบอลเชวิคที่เรียกกันว่าพวกรัสเซียขาว (White Russia) หรือไวต์การ์ด (White Guards) สงครามกลางเมืองรัสเซียเริ่มก่อตัวขึ้นหลังรัฐบาลบอลเชวิคหรือที่เรียกกันว่ารัฐบาลโซเวียตประกาศยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และถอนตัวจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ด้วยการลงนามกับเยอรมนีในสนธิสัญญาสันติภาพเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Peace Treaty of Brest-Litovsk)* เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ พรรคเมนเชวิค (Mensheviks)* และพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่คัดค้านการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญและต่อต้านสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์จึงสนับสนุนกองทัพอาสาสมัคร (Volunteer Army) ที่นายพลมีฮาอิล วาซีเลียวิช อะเล็คเซเยฟ (Mikhail Vasilyevich Alekseyev)* จัดตั้งขึ้นทำสงครามกับรัฐบาลฝ่ายบอลเชวิคและกองทัพแดงซึ่งเรียกกันว่าฝ่ายรัสเซียแดง (Red Russia) ในการสู้รบที่เกิดขึ้นมหาอำนาจสัมพันธมิตร (Allied Powers) สนับสนุนพวกรัสเซียขาวด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งส่งกองทัพสัมพันธมิตรเข้าหนุนช่วย สมรภูมิรบส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ ตะวันออก และตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซียฝ่ายโซเวียตควบคุมพื้นที่ใจกลางของประเทศได้ซึ่งรวมทั้งกรุงมอสโก และนครเปโตรกราด (Petrograd) ส่วนฝ่ายรัสเซียขาวสามารถควบคุมพื้นที่รอบนอกโดยมีศูนย์กลางที่ยูเครน (Ukraine) และเมืองออมสค์ (Omsk) ในไซบีเรีย ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๙ เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรถอนตัวจากการแทรกแซงฝ่ายโซเวียตก็เริ่มเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นฝ่ายรุกรบจนท้ายที่สุดกองทัพรัสเซียขาวต้องถอยร่นหนีไปแถบไครเมีย ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพรัสเซียขาวนำโดยนายพลปิออตร์ รันเกล (Pyotr Wrangel)* ก็พ่ายแพ้อย่างยับเยินจนต้องประกาศสลายกำลังทัพและหนีลี้ภัยไปตุรกี สงครามกลางเมืองในเขตยุโรปรัสเซียจึงสิ้นสุดลง
สงครามกลางเมืองรัสเซียเป็นผลสืบเนื่องจากการที่วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิคยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ และประกาศให้คณะรัฐบาลโซเวียตที่บอลเชวิคกุมอำนาจไว้ได้เป็นรัฐบาลใหม่ที่ชอบธรรมตามกฎหมาย ทั้งเปลี่ยนรูปการปกครองของรัสเซียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative Socialist Republics-RSFSR)* รัฐบาลโซเวียตยังประกาศยุติการสู้รบและถอนตัวออกจากสงครามโลกด้วยการเจรจาสันติภาพกับจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* และกลุ่มประเทศมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ยูลี มาร์ตอฟ (Yuli Martov)* ผู้นำพรรคเมนเชวิคและพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มกษัตริย์นิยมและกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาลตลอดจนนักธุรกิจนายทุนและเจ้าที่ดินจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของเลนิน เลนินตอบโต้ด้วยการสถาปนาอำนาจเผด็จการปกครองประเทศและใช้หน่วยตำรวจลับหรือคณะกรรมาธิการพิเศษแห่งรัสเซียเพื่อต่อสู้ป้องปรามการต่อต้านการปฏิวัติและการก่อวินาศกรรมหรือเชกา (All Russian Extraordinary Committee to Combat Counter-Revolution and Sabotage-CHEKA)* ที่จัดตั้งขึ้นในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เป็นเครื่องมือเสริมสร้างอำนาจให้มั่นคงและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามการต่อต้านรัฐบาลโซเวียตได้ขยายตัวกว้างมากขึ้นเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเบรสต์-ลิตอฟสค์ระหว่างรัสเซียกับเยอรมนีและฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ฝ่ายต่อต้านจึงสนับสนุนนายพลมีฮาอิล อะเล็คเซเยฟ ให้รวบรวมกำลังจัดตั้งเป็นกองทัพที่เข้มแข็งขึ้นที่ภูมิภาคดอน (Don) ทางรัสเซียใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อำนาจรัฐโซเวียตยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ กองทัพดังกล่าวซึ่งเรียกชื่อว่า กองทัพอาสาสมัคร สามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคดอนไว้ได้ เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* รัฐมนตรีกระทรวงสงครามจึงระดมกำลังกองทัพแดงมาปราบปรามและนำไปสู่สงครามกลางเมืองรัสเซีย ในการปะทะกันครั้งใหญ่ที่เมืองเอคาเตรีโนดาร์ (Ekaterinodar) ในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๘ นายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* ผู้บัญชาการกองทัพอาสาสมัครพ่ายแพ้และถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต นายพลอันตอน เดนีกิน (Anton Denikin)* ซึ่งควบคุมพวกคูบานคอสแซค (Kuban Cossack) ทางตอนใต้จึงทำหน้าที่บัญชาการกองทัพแทนและเขาสามารถเอาชนะกองทัพแดงได้ในเวลาต่อมา
ในช่วงต้นของสงครามกลางเมือง เฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช ดเซียร์จินสกี (Felix Edmundovich Dzerzhinsky)* หัวหน้าเชกาก็ใช้มาตรการรุนแรงทุกรูปแบบกวาดล้างและปราบปรามบุคคลทุกระดับชั้นของสังคมที่ถือเป็นศัตรูของการปฏิวัติและรัฐบาลโซเวียต นโยบายการใช้ความรุนแรงและการไต่สวนพิจารณาคดีที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งการประกาศกฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ต่าง ๆ มีผลให้ประชาชนที่บริสุทธิ์กว่า ๖๐,๐๐๐ คนถูกกล่าวโทษทรมาน และถูกสังหารอย่างทารุณและอีกกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คนเสียชีวิตในคุกและค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* การดำเนินงานของเชการะหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑ นับเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองของพรรคบอลเชวิคจากแนวทางเสรีประชาธิปไตยเป็นเผด็จการและเป็นการเริ่มต้นสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวของคอมมิวนิสต์ (Red Terror)
หลังการลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ เยอรมนีบีบบังคับให้รัฐบาลโซเวียตดำเนินการให้กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรถอนตัวออกจากเมืองมูร์มันสค์ (Murmansk) ทางตอนเหนือของรัสเซียซึ่งเป็นแหล่งเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรปฏิเสธและส่งกำลังมาสมทบมากขึ้นเพราะเห็นว่าหากเยอรมนียึดเมืองมูร์มันสค์ได้ก็จะใช้เป็นฐานปฏิบัติการขยายอำนาจเข้าครอบครองพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของรัสเซียได้จนถึงแถบยูรัล ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลโซเวียตประกาศไม่ยอมรับภาวะหนี้สินของรัสเซียในช่วงก่อนสงครามโลก และเริ่มดำเนินการยึดทรัพย์สินชาวต่างชาติในรัสเซีย นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจเข้าแทรกแซงภายในรัสเซียมากขึ้นโดยสนับสนุนกองทัพอาสาสมัครทั้งด้านกำลังคน อาวุธยุทโธปกรณ์ และการเงิน นอกจากนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรยังสนับสนุนกองพล เชโกสโลวัก (Czecho-Slovak Army Corps) ในไซบีเรียให้ก่อกบฏต่อรัฐบาลโซเวียต และไม่ขัดขวางการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นที่เมืองวลาดิวอสตอค (Vladivostok) ในภาคตะวันออกไกล อังกฤษส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในแถบคอเคซัส (Caucasus) และทรานส์คอเคเซีย (Transcaucasia) โดยมีฐานปฏิบัติการที่เมืองบาคุ (Baku) และเมืองตูร์เคเมีย (Turkemia) ตลอดจนส่งกองทัพเรือไปยังทะเลบอลติกเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทะเลของฝ่ายรัสเซียขาวในเอสโตเนีย (Estonia) ที่มีนายพลนีโคไล ยูเดนิช (Nikolai Yudenich)* เป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนฝรั่งเศสก็เคลื่อนกำลังเข้ายึดเมืองโอเดสซา (Odessa)
การแทรกแซงของฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้กองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวมีขวัญและกำลังใจดีมากขึ้น นายพลเดนีกินรวบรวมกำลังเปิดฉากทำสงครามใหญ่ในทุ่งสเตปป์คูบานทางตอนใต้และตีรุกขึ้นไปถึงบริเวณภูมิภาคดอน-คูบานตอนเหนือชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าของฝ่ายรัสเซียขาวทำให้มีกองกำลังฝ่ายอื่น ๆ เข้ามาสมทบมากขึ้นกองทัพอาสาสมัครที่มีทหารประจำการ ๘,๐๐๐ คน ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๘ มีกำลังเพิ่มเป็น ๓๕,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ คน ในสิ้นฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๑๙ กองทัพอาสาสมัครจึงเรียกชื่อใหม่ว่ากองทัพรัสเซียใต้ (Armed Forces of South Russia-AFSR) และนับเป็นกองทัพผสมที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดของฝ่ายรัสเซียขาววินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอังกฤษในขณะนั้นให้การสนับสนุนด้านอาวุธและการเงินอย่างไม่จำกัดทั้งเรียกกองทัพรัสเซียใต้ว่า “กองทัพของข้าพเจ้า” ในปลายฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๑๙ เดนีกินซึ่งยึดครองคอเคซัสตอนเหนือได้เกือบหมดกำหนดยุทธศาสตร์การรบด้วยการจะเคลื่อนกำลังจากทางใต้บุกเข้ายึดกรุงมอสโกนครหลวงแห่งการปฏิวัติ โดยจะประสานกำลังรบและการเคลื่อนไหวต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวอื่น ๆ เขาชูคำขวัญในการทำสงครามว่าเพื่อ “รัสเซียหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้” (Russia one and indivisible)
ในช่วงที่เดนีกินรวบรวมกองกำลังต่าง ๆ อยู่นั้นผู้แทนกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาซึ่งประกอบด้วยพรรคเมนเชวิค พรรคสังคมนิยมปฏิวัติรัสเซีย (Russian Socialist Revolutionary Party) และพรรคคาเดตส์ (Kadets) ก็จัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่เมืองซามารา (Samara) ในบริเวณภูมิภาควอลกาตอนกลางโดยเรียกชื่อว่าคณะกรรมาธิการแห่งสมาชิกของสภารัฐธรรมนูญ (Committee of Members of the Constituent Assembly) หรือโคมุช (KOMUCH) โคมุชประกาศตนเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมและมีอำนาจสูงสุดของประเทศโดยมีวัตถุประสงค์จะทำสงครามกับบอลเชวิคเพื่อคืนอำนาจให้แก่สภาร่างรัฐธรรมนูญและต่อสู้กับเยอรมนีเพื่อล้มเลิกสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ ต่อมา โคมุชได้ผลักดันให้มีการเปิดประชุมใหญ่ในนามสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นที่เมืองยูฟา (Ufa) โดยองค์การท้องถิ่นที่ต่อต้านโซเวียตและรัฐบาลภูมิภาคไซบีเรียให้ความร่วมมือและนำไปสู่การจัดตั้งองค์การบริหารกลางที่เรียกว่าคณะกรรมการอำนวยการ (Directorate) ๕ คนที่เมืองออมสค์ คณะกรรมการอำนวยการประกาศตนเป็นองค์การที่สืบทอดสิทธิอำนาจจากรัฐบาลรัสเซียเฉพาะกาลของอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexsander Kerensky)* ที่ถูกโค่นอำนาจในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ หน้าที่หลักของคณะกรรมการอำนวยการคือการประสานนโยบายและร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลโซเวียต อย่างไรก็ตาม ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ กลุ่มทหารฝ่ายอนุรักษนิยมไม่พอใจแนวนโยบายของคณะกรรมการอำนวยการก็ก่อกบฏล้มอำนาจคณะกรรมการอำนวยการและสนับสนุนให้พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* เป็นผู้นำ คอลชาคซึ่งประกาศตนเป็น “ผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซีย” (Supreme Ruler of Russia) ได้ติดต่อกับนายพลเดนีกินเพื่อประสานการรบร่วมกันด้วยการมุ่งบุกรัสเซียตอนกลางเพื่อเข้ายึดกรุงมอสโกโดยเดนีกินจะเคลื่อนกำลังจากทางตอนใต้ขึ้นมาสมทบขณะเดียวกัน กองทัพเหนือและตะวันตกซึ่งมีนายพลยูเดนิช เป็นผู้บังคับบัญชาและมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่เอสโตเนียก็จะบุกโจมตีนครเปโตรกราด เพื่อเบี่ยงเบนกองทัพแดงในการป้องกันกรุงมอสโกให้หันมาป้องกันเปโตรกราดยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้ทั้งฝ่ายรัสเซียขาวและประเทศสัมพันธมิตรเชื่อมั่นว่ารัฐบาลโซเวียตจะถูกกวาดล้างภายในสิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๙
กองกำลังของคอลชาคมีชัยชนะอย่างต่อเนื่องตลอดเส้นทางเดินทัพในพื้นที่แถบแม่นํ้าวอลกา (Volga) รัฐบาลโซเวียตซึ่งทุ่มกำลังสกัดกองทัพของเดนีกินทางตอนใต้จึงปรับแผนการรบด้วยการระดมกำลังมาสกัดทัพของคอลชาคไม่ให้รุกคืบหน้า ในกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ กองทัพแดง ซึ่งมีกำลังคนมากกว่าก็สามารถยันการรุกของฝ่ายคอลชาค ไว้ได้และเริ่มยึดครองพื้นที่ที่เคยสูญเสียกลับคืน ความพ่ายแพ้ของคอลชาคส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาใช้อำนาจเผด็จการในกองทัพจนทำให้ทหารใต้บังคับบัญชาโดยเฉพาะในปลายขบวนทัพก่อการจลาจลและสร้างความวุ่นวายไม่ขาดระยะ ขณะเดียวกันชาวนาและฝ่ายที่สนับสนุนบอลเชวิคก็คอยหาโอกาสก่อกวนและดักปล้นเสบียงรวมทั้งอาวุธตามเส้นทางเดินทัพ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ ฝ่ายคอลชาคจึงถูกตีแตกและถอยหนีออกจากภูมิภาควอลกา ในท้ายที่สุดคอลชาคจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งรัสเซียและแต่งตั้งให้นายพลเดนีกินเป็นผู้สืบทอดอำนาจแทนเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ในปลายเดือนมกราคมคอลชาคถูกจับกุมและสภาโซเวียตท้องถิ่นแห่งเมืองอีร์คุตสค์ (Irkutsk) ซึ่งรับคำสั่งจากมอสโกลงมติตัดสินประหารคอลชาคและพลพรรค ความพ่ายแพ้ของคอลชาคยังทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจถอนกำลังออกจากเมืองมูร์มันสค์และอาร์คันเกลสค์ (Arkhanqelsk) แต่อังกฤษก็ยังคงให้การสนับสนุนด้านการเงิน เสบียงอาหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และที่ปรึกษาทางทหารแก่ฝ่ายรัสเซียขาวโดยเฉพาะนายพลยูเดวิช
ในช่วงที่กองทัพบอลเชวิคเป็นฝ่ายได้เปรียบในการรบเดนีกินก็เคลื่อนกำลังจากทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงเหนือมุ่งบุกโจมตีกรุงมอสโก เขาได้รับการหนุนช่วยจากกองทัพของนายพลยูเดนิชและกองกำลังรัสเซียขาวกลุ่มอื่น ๆ ทัพของเดนีกินจึงมีชัยชนะอย่างต่อเนื่องและในกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ก็ยึดเมืองโวโรเนจ (Voronezh) และเมืองโอเรล (Orel) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง ๓๐๐ กิโลเมตร เท่านั้น ขณะเดียวกันกองทัพของนายพลยูเดนิชซึ่งมีกำลังประมาณ ๒๐,๐๐๐ คนก็เปิดแนวรบด้านที่ ๒ ด้วยการบุกโจมตีนครเปโตรกราดและเข้ายึดเมืองกาชีนา (Gachina) ซึ่งห่างจากเปโตรกราด ๔๔ กิโลเมตรไว้ได้ เลนินผู้นำบอลเชวิคมีคำสั่งให้สละนครเปโตรกราด แต่ตรอตสกีและโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* แกนนำพรรคคนสำคัญโน้มน้าวเลนินให้เปลี่ยนความคิดและให้ยืนหยัดปกป้องเปโตรกราดจนถึงที่สุด ตรอตสกีเดินทางมาบัญชาการรบเพื่อป้องกันเปโตรกราดด้วยตนเองและเขาคุมกองทัพแดงปะทะกับกองทัพของยูเดนิชที่ปุลโคโวไฮต์ (Pulkovo Heights) จนมีชัยชนะ ชัยชนะที่ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม่ทัพคนหนึ่งของยูเดนิชบุกเข้าโจมตีก่อนโดยไม่รอคำสั่งจากศูนย์บัญชาการซึ่งทำให้กองทัพแดงสามารถต้านการบุกไว้ได้และระดมกำลังตอบโต้ นอกจากนี้ ทหารเอสโตเนียซึ่งเป็นกำลังสำคัญได้ยุติการรบเพราะไม่พอใจที่ยูเดนิชประกาศว่าการสู้รบครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อรัสเซีย การถอนกำลังดังกล่าวทำให้ยูเดนิชมีกำลังไม่เพียงพอที่จะโหมบุก กองทัพแดงซึ่งได้กำลังสมทบจึงระดมกำลังโจมตีจนกองทัพยูเดนิชแตกพ่ายและล่าถอยกลับไปยังเอสโตเนีย
ชัยชนะของเดนีกินในการยึดครองจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ บนเส้นทางมุ่งสู่กรุงมอสโกทำให้เลนินเขียนสารถึงองค์การพรรคทุกระดับเรียกร้องให้ทุ่มกำลังทั้งหมดสู้รบกับเดนีกินด้วยการเคลื่อนกำลังพลบุกตีทัพเดนีกินตามเส้นทางคราคอฟ-โดเนทซ์-รอสตอฟ (Krakow-Donetz-Rostov) เพราะในเส้นทางดังกล่าวเป็นเขตที่มวลชนส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลโซเวียต ทั้งยังมีเส้นทางรถไฟหนาแน่น ซึ่งจะทำให้กองทัพแดงได้รับการหนุนช่วยด้านวัตถุปัจจัยที่จำเป็นในเวลาที่กำหนดด้วย การทุ่มกำลังรบดังกล่าวทำให้การรบระหว่างกองทัพแดงกับกองทัพเดนีกินดำเนินไปอย่างดุเดือดและผลัดกันแพ้และชนะหลายครั้งหลายหน ในการปะทะกันอย่างนองเลือดและแตกหักใกล้เมืองโอเรล กองทัพของเดนีกินพ่ายแพ้และเริ่มล่าถอยหนีลงทางใต้ ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะทหารจำนวนมากเริ่มหนีทัพและความไม่เป็นเอกภาพของการประสานงานระหว่างกองทหารหน่วยต่าง ๆ ทั้งหมู่ผู้นำกองทัพมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับแผนการรบ นอกจากนี้ กองลำเลียงเสบียงของฝ่ายรัสเซียขาวยังถูกกลุ่มกบฏชาวนาซึ่งมีเนสเตอร์ อีวาโนวิช มัคโน (Nestor Ivanovich Makhno)* นักชาตินิยมชาวยูเครนที่นิยมลัทธิอนาธิปไตยเป็นผู้นำคอยซุ่มโจมตีตลอดเส้นทางด้วย ท่ามกลางสถานการณ์รบที่ผันผวนนั้น เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ประกาศถอนตัวจากการสนับสนุนฝ่ายรัสเซียขาวเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน เพราะเห็นว่าเป้าหมายของสงครามไม่สอดคล้องกับนโยบายของอังกฤษ การประกาศดังกล่าวมีผลให้ทหารจำนวนมากขวัญเสียและหมดกำลังใจสู้รบและบ้างหนีทัพ
ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพที่ปราชัยของเดนีกินล่า ถอยมาถึงไครเมีย นายทหารฝ่ายรัสเซียขาวได้รวมตัวกันบีบบังคับให้เดนีกินลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเลือกนายพลปิออตร์ รันเกลให้ดำรงตำแหน่งแทนรันเกลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสสามารถจัดตั้งกองทัพที่เข้มแข็งขึ้นได้ และเขาพยายามเจรจากับมัคโนเพื่อให้ร่วมมือกันต่อต้านโซเวียตแต่ล้มเหลวเพราะกองทัพรันเกลมักปล้นสะดมและทำร้ายชาวนา อย่างไรก็ตาม รันเกลก็มีชัยชนะต่อกองทหารแดงซึ่งในขณะนั้นมีกำลังไม่เพียงพอเพราะติดพันในสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War)* ต่อมาในเดือนมีนาคมโปแลนด์และสหภาพโซเวียตสามารถตกลงกันได้ที่จะยุติสงครามและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญารีกา (Treaty of Riga)* ระหว่างทั้ง ๒ ประเทศ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ หลังการลงนามในสนธิสัญญารีกา รัฐบาลโซเวียตกำหนดแผนยุทธศาสตร์ขั้นแตกหักที่จะทำลายกองทัพรันเกลในไครเมียด้วยการระดมกำลังจากแนวรบด้านโปแลนด์หนุนช่วยกองทัพแดงต่อสู้กับรันเกลจำนวนทหารแดงและทหารฝ่ายรันเกลอยู่ในอัตราส่วน ๔ ต่อ ๑ คน และทหารม้า ๓ ต่อ ๑ คน ด้วยกำลังคนที่มากกว่ามีผลให้กองทัพรันเกลถูกตีถอยร่นไปจนถึงปลายคาบสมุทรไครเมีย ในกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพรันเกลก็แตกพ่ายอย่างยับเยิน รันเกลและทหารรวมทั้งพลเรือนราว ๑๕๐,๐๐๐ คนสามารถหนีขึ้นเรือของอังกฤษและฝรั่งเศสรวม ๑๒๗ ลำเดินทางไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ได้ ความพ่ายแพ้ของรันเกลจึงปิดฉากสงครามกลางเมืองรัสเซียในส่วนที่เป็นพื้นที่ยุโรปรัสเซียลงแต่ในพื้นที่ส่วนเอเชียกลางและไซบีเรีย สงครามยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งและสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อกองทัพแดงเข้ายึดครองเมืองวลาดิวอสตอคบนฝั่งทะเลแปซิฟิกได้เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒
หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง กองทัพแดงก็หันมาปราบปรามกบฏชาวนาและกองกำลังของมัคโนซึ่งมีฐานปฏิบัติการในรัสเซียตอนใต้ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ กองกำลังของมัคโนถูกโจมตีแตกกระจัดกระจาย มัคโนต้องลี้ภัยหนีไปยังโรมาเนีย โปแลนด์ และฝรั่งเศสตามลำดับ ต่อมาเขาเขียนบันทึกความทรงจำรวม ๓ เล่ม เกี่ยวกับกบฏชาวนาและการต่อสู้ที่มีสีสันของฝ่ายอนาธิปไตยในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย
สงครามกลางเมืองรัสเซียนำความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงมาสู่สังคม ประมาณว่าประชากรราว ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ คนเสียชีวิตระหว่างสงครามซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นทหารในกองทัพแดง ๑,๐๐๐,๐๐๐ คนและทหารฝ่ายรัสเซียที่เสียชีวิตในการรบกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่ถูกฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สังหารมีประมาณ ๕๐,๐๐๐ คนและพลเรือนอีกกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คนที่ถูกหน่วยตำรวจลับเข่นฆ่าส่วนประชากรที่เสียชีวิตทั้งในแนวหน้าและแนวหลังด้วยความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บรวมทั้งถูกทารุณกรรม จากฝ่ายรัสเซียขาวและทหารต่างชาติมีจำนวนประมาณ ๘,๐๐๐,๐๐๐-๑๐,๐๐๐,๐๐๐ คน ความบอบช้ำทางด้านจิตใจของผู้คนจึงมีมากจนไม่อาจประเมินค่าได้ ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นมูลค่ากว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านรูเบิลทองคำ ผลิตผลด้านอุตสาหกรรมตกตํ่าเหลือเพียงร้อยละ ๔-๒๐ ของระดับการผลิตก่อนการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ อุตสาหกรรมที่เสียหายอย่างหนักดืออุตสาหกรรมเชื้อเพลิง โลหะ การสร้างเครื่องจักร การคมนาคม ส่วนการผลิตด้านเกษตรก็ตกตํ่าถึงร้อยละ ๕๐ ระบบเศรษฐกิจของโซเวียตจึงอยู่ในภาวะเสื่อมทรุด
สงครามกลางเมืองทำให้รัฐบาลโซเวียตประกาศใช้ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* ด้วยการควบคุมเศรษฐกิจจากส่วนกลางและบีบบังคับชาวนาให้ส่งผลผลิตส่วนเกินทางเกษตรให้แก่รัฐ ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามส่งผลกระทบต่อการผลิตทั้งด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ปริมาณการผลิตตกตํ่าและลดลงอย่างมากทั้งเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ยิ่งเมื่อเกิดภาวะฝนแล้งและอากาศวิปริตในทางภาคตะวันออกและตะวันตกเฉียงใต้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๑ ซึ่งนำไปสู่ทุพภิกขภัยและความอดอยาก วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็เลวร้ายลงมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นปัญหาหนักที่รัฐบาลโซเวียตต้องหาทางแก้ไขเลนินในเวลาต่อมาจึงต้องยกเลิกการยึดผลผลิตส่วนเกินและการบังคับเกณฑ์แรงงานมาเป็นการเก็บภาษีในรูปผลผลิตและให้มีการค้าเสรี นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy-NEP)* ที่ประกาศใช้ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ จึงกลายเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐตลอด ช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐
ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองซึ่งฝ่ายรัสเซียขาวกำลังได้เปรียบและกองทัพรัสเซียขาวรุกคืบหน้าจนเกือบถึงเมืองเยคาเตรินบูร์ก (Yekaterinburg) ในไซบีเรียซึ่งซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* และพระราชวงศ์ถูกควบคุมเลนินสั่งการให้หน่วยตำรวจลับปลงพระชนม์พระราชวงศ์ทุกพระองค์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเก่า การปลงพระชนม์ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* รวมทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาตลอดจนข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดไม่เพียงทำให้กลุ่มกษัตริย์นิยมหมดโอกาสที่จะฟื้นคืนอำนาจแก่สถาบันกษัตริย์เท่านั้นแต่ยังทำให้ฝ่ายนักปฏิวัติและผู้สนับสนุนการปฏิวัติไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก นอกจากการต้องร่วมรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วยังต้องยืนหยัดต่อสู้ต่อไปจนถึงที่สุดด้วย พรรคบอลเชวิคซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียทั้งมวล (บอลเชวิค) [All Russian Communist Party (Bolsheviks)] หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย จึงใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศและมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในการสร้างประเทศบนเส้นทางสังคมนิยมตามอุดมการณ์ลัทธิมากซ์ทั้งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียเป็นต้นแบบของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์น (Comintern)* และต่างก็จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ตามแบบรัสเซียขึ้นในเวลาต่อมา.