Milyukov, Pavel Nikolayevich (1859-1943)

นายปาเวล นีโคลาเยวิช มิลยูคอฟ (พ.ศ.๒๔๐๒-๒๔๘๖)

     ปาเวล นีโคลาเยวิช มิลยูคอฟ เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซียและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Democratic Party) หรือที่มีชื่อรู้จักกันทั่วไปว่าพรรคคาเดตส์ (Kadets) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๗-๑๙๑๗ เขาเป็นผู้นำพรรคคาเดตส์และมีบทบาทสำคัญในสภาดูมา (Duma)* ในการเคลื่อนไหวสนับสนุนนโยบายสงครามของรัฐบาล ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* มิลยูคอฟร่วมกับมีฮาอิลรอดเซียนโค (Mikhail Rodzianko) ประธานสภาดูมารวบรวมสมาชิกสภาแนวคิดเสรีนิยมที่รักชาติจัดตั้งเป็นกลุ่มก้าวหน้า (Progressive Bloc) ขึ้นเพื่อโน้มน้าวซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* ให้แต่งตั้งคณะรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนขึ้นบริหารประเทศแต่ประสบความล้มเหลว หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ มิลยูคอฟเข้าร่วมในรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกออร์กี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ (Georgy Yevgenyevich Lvov ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๙๒๕)* เป็นผู้นำโดยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ก็ถูกบีบบังคับให้ลาออกเพราะดำเนินนโยบายผิดพลาด เมื่อพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ยึดอำนาจทางการเมืองได้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ มิลยูคอฟเคลื่อนไหวสนับสนุนกองทัพรัสเซียใต้ ซึ่งมีนายพลอันตอน อีวาโนวิช เดนีกิน (Anton Ivanovich Denikin ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๙๔๗)* เป็นผู้นำ
     มิลยูคอฟเกิดในครอบครัวที่มีฐานะเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๙ ที่กรุงมอสโก บิดาเป็นสถาปนิกผังเมืองที่มีชื่อเสียง และมารดามาจากครอบครัวชนชั้นสูง มิลยูคอฟเป็นเด็กเรียนเก่งและชอบอ่านหนังสือด้านประวัติศาสตร์และงานวรรณกรรม เพื่อน ๆ จึงให้สมญาเขาว่า "สารานุกรมเคลื่อนที่ " เพราะเขาสามารถให้ข้อมูลและตอบเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างดี ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ เขาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมอสโกโดยเลือกประวัติศาสตร์เป็นวิชาหลัก หลังสำเร็จการศึกษาเขาทำงานเป็นผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยมอสโก และขณะเดียวกันก็ศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตโดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองรัสเซียในสมัยซาร์ปีเตอร์มหาราช โดยมีวาซีลี คลูย์เชฟสกี (Vasili Klyuchevsky) ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ดีเยี่ยมของเขาทำให้มิลยูคอฟได้บรรจุเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมอสโกใน ค.ศ. ๑๘๙๒ และในเวลาอันสั้นเขาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ เขาสมรสกับอันนา เซียร์เกเยฟนา (Anna Sergeyevna) นักไวโอลินใน ค.ศ. ๑๘๘๗ และเธอเป็นคู่ชีวิตที่อยู่เคียงข้างเขาจนเธอสิ้นชีวิตในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๘๙๗ กรรมกรตามเมืองต่าง ๆ เคลื่อนไหวนัดหยุดงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้ลดเวลาการทำงานและเพิ่มค่าแรงตลอดจนปรับปรุงด้านสวัสดิการและอื่นๆ นักศึกษาหัวก้าวหน้าตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกรรมกรด้วย มิลยูคอฟสนับสนุนการชุมนุมเคลื่อนไหวของนักศึกษาด้วยการเขียนบทความโจมตีระบบสังคมและการเมือง เขาจึงถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัยและถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองเรียซาน (Ryazan) ในช่วงการเนรเทศ เขาเขียนหนังสือชุดประวัติศาสตร์รวม ๓ เล่มซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่เขามาก หนังสือชุดดังกล่าวต่อมาถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า Outlines of Russian Culture ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ มิลยูคอฟได้รับข้อเสนอจากทางการให้รับโทษเนรเทศไปอยู่ที่อูฟา (Ufa) หัวเมืองทุรกันดารหรือจะไปอยู่นอกประเทศ เขาเลือกข้อเสนอที่ ๒ โดยเดินทางไปสอนหนังสือที่ มหาวิทยาลัยโซเฟีย (University of Sofia) ในบัลแกเรีย ในช่วงสอนที่มหาวิทยาลัยโซเฟีย เขาค้นคว้าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับรัฐสลาฟในคาบสมุทรบอลข่านงานค้นคว้าเรื่องนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้นในวงการประวัติศาสตร์
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ มิลยูคอฟกลับเข้าประเทศและเริ่มเคลื่อนไหวทางความคิดในกลุ่มปัญญาชนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง เขาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมและการเมืองอย่างเปิดเผยจนถูกจับคุมขังใน ค.ศ. ๑๙๐๑ หลังจากได้รับอิสรภาพ เขาเดินทางไปอยู่ที่เยอรมนี และร่วมงานกับกลุ่มปัญญาชนรัสเซียลี้ภัยจัดทำวารสารการเมืองชื่อ Liberation ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะเผยแพร่แนวความคิดการปกครองในระบอบรัฐสภาและปลุกระดมปัญญาชนรัสเซียให้รวมตัวเป็นขบวนการเพื่อเคลื่อนไหวปฏิรูปสังคม Liberation ถูกลักลอบส่งเข้ามาเผยแพร่ในรัสเซีย และมีอิทธิพลทางความคิดต่อกลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมจนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มสหภาพแห่งการปลดปล่อย (Union of Liberation) ขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๓-๑๙๐๔ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มิลยูคอฟได้รับเชิญให้ไปสอนวิชาประวัติศาสตร์รัสเซียที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา เขาจึงเห็นเป็นโอกาสโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องการก่อตัวของกลุ่มเสรีนิยมในรัสเซีย
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๐๕ เมื่อเกิดการจลาจลขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* มิลยูคอฟจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ เมื่อมาถึงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนพฤษภาคม กระแสการต่อต้านรัฐบาลและการเรียกร้องการปฏิรูปกำลังขยายตัวในวงกว้าง ขณะเดียวกัน กรรมกรตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ก็นัดหยุดงาน ซึ่งเปิดโอกาสให้องค์การปฏิวัติเข้าแทรกแซงด้วยการปลุกระดมและผลักดันให้มีการจัดตั้งโซเวียต ผู้แทนกรรมกรหรือสภาโซเวียต (Soviets) ขึ้น มิลยูคอฟเข้าร่วมกับกลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลให้ปฏิรูปทางการเมือง และได้รับเลือกเป็นผู้นำของสหภาพแห่งสหภาพทั้งมวล (Union of Unions) ที่ฝ่ายเสรีนิยมกับสังคมนิยมรวมกันจัดตั้งขึ้น รัฐบาลพยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้กำลังกวาดล้างและปราบปรามอย่างรุนแรง แต่การปราบปรามกลับทำให้ความนิยมของประชาชนต่อซาร์เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และการต่อต้านของประชาชนก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนขยายตัวเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Nineteen-Five Revolution)* ในเดือนตุลาคม ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงได้รับการกราบทูลแนะให้สลายพลังของการปฏิวัติด้วยการประกาศ "คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม" (October Manifesto) เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกทางความ คิดเห็นและการชุมนุม ให้จัดตั้งสภาดูมาเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและอื่น ๆ คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคมจึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ และการเตรียมการเลือกตั้งสภาดูมาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในจักรวรรดิรัสเซีย มิลยูคอฟเป็นแกนนำคนสำคัญในการผนึกกำลังปัญญาชนเสรีนิยมกับคหบดีชนบทและสมาชิกสภาท้องถิ่น (Zemstvos) จัดตั้งพรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญหรือพรรคคาเดตส์ขึ้นนอกจากนี้ เขายังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันของพรรคชื่อ Speech ด้วย
     ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๖ มิลยูคอฟมีบทบาทสำคัญในการเตรียมการเลือกตั้งและเขียนร่างนโยบายของพรรคที่เน้นระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และการจัดการการศึกษาแบบให้เปล่า รวมทั้งส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคทางสังคมของประชาชน สมาชิกพรรคคาเดตส์ได้รับเลือกเข้าสู่สภาเป็นจำนวนมาก และนับเป็นพรรคการเมืองเสรีนิยมพรรคใหญ่ที่สุดในสภาดูมาแม้มิลยูคอฟจะขาดคุณสมบัติในการสมัครเป็นผู้แทนสภาดูมาเพราะเขาอยู่ในประเทศน้อยกว่าเวลาที่กำหนดไว้ แต่เขาก็มีบทบาทควบคุมและสั่งการสมาชิกพรรคจากนอกสภาดูมา มิลยูคอฟยังติดต่อประสานงานอย่างลับ ๆ กับเคานต์เซียร์เกย์ อิตเต (Sergei Witte)* อัครมหาเสนาบดี รวมทั้งเสนาบดีคนอื่น ๆ ในคณะรัฐบาล ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสมาชิกสภากับคณะรัฐบาลและการที่รัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้องในการปฏิรูปต่าง ๆ ก็ทำให้สภาดูมาสมัยแรกบริหารงานได้เพียง ๒ เดือน (๑๐ พฤษภาคม ถึง ๒๑ กรกฎาคม) เท่านั้น ซาร์นิโคลัสที่ ๒ จึงทรงประกาศยุบสภาด้วยข้ออ้างว่าสภาดูมาใช้อำนาจไม่ถูกต้องเพราะขัดแย้งกับหน้าที่และความรับผิดชอบของพระองค์
     สมาชิกสภาดูมาสังกัดพรรคคาเดตส์จำนวน ๒๐๐ คนหนีข้ามพรมแดนไปเมืองวีบอร์ก (Vyborg) ประเทศฟินแลนด์ และออกแถลงการณ์วีบอร์ก (Vyborg Manifesto) ซึ่งมิลยูคอฟเป็นผู้เขียนประณามการยุบสภาของซาร์ และเรียกร้องให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลด้วยการไม่เสียภาษี และไม่เข้ารับราชการทหารจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาดูมาใหม่ รัฐบาลตอบโต้ด้วยการสั่งจับกุมสมาชิกสภาที่ลงนามในแถลงการณ์วีบอร์กทั้งหมดคุมขังเป็นเวลา ๓ เดือน และตัดสิทธิไม่ให้ลงรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนสภาอีก ส่วนมิลยูคอฟซึ่งไม่ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์วีบอร์กจึงรอดพ้นจากการถูกลงโทษและเขาพยายามรวบรวมสมาชิกที่ยังคงเหลืออยู่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป
     ในสภาดูมาสมัยที่ ๓ (๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๗ -๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๒) และสภาดูมาสมัยที่ ๔ (๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๒ -๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗) มิลยูคอฟซึ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคาเดตส์ได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาทั้ง ๒ สมัย เขาพยายามดำเนินนโยบายสายกลางประสานความขัดแย้งระหว่างสมาชิกปีกขวากับสมาชิกปีกซ้ายของพรรค และร่วมมือกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนนโยบายปฏิรูปที่ดินของปีเตอร์ สโตลีปิน (Peter Stolypin)* อัครมหาเสนาบดี มิลยูคอฟยังสร้างชื่อเสียงให้ตนเองในสภาด้วยการวิพากษ์โจมตีการบริหารงานของรัฐบาลในการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง และต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเสมอภาคให้แก่ชนชาติรัสเซียส่วนน้อยภายในจักรวรรดิ แต่นโยบายประนีประนอมของมิลยูคอฟทำให้สมาชิกสภาฝ่ายซ้ายกล่าวหาเขาเป็นฝ่ายปรปักษ์ที่มักสนับสนุนซาร์ ต่อมา เมื่อรัสเซียเข้าสู่สงครามกับเยอรมนีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ มิลยูคอฟเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งในสภาที่เคลื่อนไหวให้สภาดูมาสนับสนุนรัฐบาลในการทำสงครามและจัดสรรงบประมาณพิเศษเพื่อทำสงคราม เขายังเรียกร้องให้รัสเซียเข้าควบคุมช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและรณรงค์ประชาชนให้สนับสนุนนโยบายสงครามของรัฐบาล
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ รัสเซียเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในสงครามจนซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงตัดสินพระทัยปลดแกรนด์ดุ๊กนิโคลัส นีโคลาเยวิช (Nicholas Nikolayevich) พระปิตุลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพและเสด็จไปบัญชาการรบด้วยพระองค์เองในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ มิลยูคอฟพยายามทูลคัดค้านซาร์เพราะเกรงว่าหากรัสเซียปราชัยในสงครามอีก พระองค์จะทรงเป็นเป้าของการถูกโจมตีโดยตรง บทบาทดังกล่าวทำให้เขาถูกต่อต้านอย่างมากจากสมาชิกสภาปีกซ้าย นอกจากนี้ เขายังจัดตั้งสมาชิกสภากลุ่มก้าวหน้ารวม ๑๒ คน ช่วยดูแลควบคุมงบประมาณสงครามของรัฐบาล และเรียกร้องให้ซาร์ทรงเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่ประชาชนจะให้การสนับสนุน แต่ก็ประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๖ เขาหันมาต่อต้านรัฐบาลและซาร์โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ทั้งโจมตีความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายสงคราม การเปลี่ยนแปลงท่าทีของเขามีส่วนทำให้กระแส ความไม่พอใจซาร์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเกิดข่าวลือว่าซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๙๑๘)* ทรงเป็นชู้รักกับนักบวชเกรกอรี รัสปูติน (Gregory Rusputin)* ขณะเดียวกัน กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายก็หันมายอมรับความเป็นผู้นำของเขา
     เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) ซึ่งเปลี่ยนชื่อจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่มีสำเนียงเป็นเยอรมันในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงสั่งให้ใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างเด็ดขาดและมีคำสั่งให้ ปิดสมัยประชุมสภาดูมาไปจนถึงเดือนเมษายน แต่มิลยูคอฟและสมาชิกสภาในกลุ่มก้าวหน้าประกาศเพิกเฉยคำสั่งของซาร์และให้ดำเนินการประชุมต่อไปในฐานะ "คณะกรรมาธิการเฉพาะกาลของสภาดูมา" (Duma Provisional Committee) อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๗๐)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party) และสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มก้าวหน้าได้เรียกร้องให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงสละอำนาจ ขณะเดียวกันพรรคเมนเชวิค (Mensheviks)* ซึ่งมียูลี โอซีโปวิช มาร์ตอฟ (Yuly Osipovich Martov ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๙๒๓)* เป็นผู้นำก็ผลักดันให้มีการจัดตั้งสภาโซเวียตเปโตรกราดแห่งผู้แทนกรรมกรและทหาร (Petrograd Soviet of Worker’s and Soldiers’ Deputies) ขึ้น คณะกรรมาธิการเฉพาะกาลของสภาดูมาและสภาโซเวียตเปโตรกราดจึงกลายเป็นรัฐบาลของรัสเซียโดยพฤตินัย
     เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงตัดสินพระทัยสละราชย์ตามคำทูลแนะนำของนายพลมีฮาอิล วาซีเลียวิช อะเล็กเซเยฟ (Mikhail Vasilyevich Alekseyev ค.ศ. ๑๘๕๗-๑๙๑๘)* ซึ่งพระองค์ทรงไว้วางพระทัย พระองค์ทรงประกาศมอบราชบัลลังก์ให้แก่ซาเรวิชอะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช (Tsarevich Alexei Nikolayevich ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๑๘)* พระราชโอรส แต่ต่อมาทรงเปลี่ยนพระทัยมอบราชบัลลังก์ให้แก่พระอนุชาแกรนด์ดุ๊กไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช (Michael Alexandrovich)* แทน ในชั้นต้นมิลยูคอฟพยายามโน้มน้าวไม่ให้แกรนด์ดุ๊กทรงยอมรับตำแหน่งจนกว่าจะมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น แต่เคเรนสกีและรอดเซียนโคสามารถชักจูงเขาให้เปลี่ยนความคิดสนับสนุนแกรนด์ดุ๊กได้สำเร็จ การปฏิเสธที่จะขึ้นครองราชย์ของแกรนด์ดุ๊กไมเคิลจึงทำให้ ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ซึ่งปกครองจักรวรรดิ รัสเซียมากว่า ๓๐๐ ปีสิ้นสุดอำนาจลง อย่างไรก็ตามมิลยูคอฟก็คาดหวังว่าเมื่อมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และในการเลือกตั้งครั้งใหม่ สถาบันกษัตริย์จะเป็นรูปแบบการปกครองที่ ประชาชนเลือกอีกครั้งหนึ่ง มิลยูคอฟได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐบาลเฉพาะกาลชุดแรกที่จัดตั้งขึ้น
     ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ มิลยูคอฟมีบันทึกถึงสภาโซเวียตเปโตรกราดแจ้งเรื่องการประกาศยกเลิกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับฝ่ายสัมพันธมิตรเกี่ยวกับดินแดนของออสเตรียและตุรกีที่รัสเซียจะได้รับในการเข้าร่วมทำสงคราม แต่ยังคงยืนยันว่ารัสเซียจะร่วมทำสงครามต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ วิคตอร์ มีไฮโลวิช เชียร์นอฟ (Viktor Mikhailovich Chernov ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๙๕๒)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเรียกร้องให้รัฐบาลเฉพาะกาลส่งบันทึกว่าด้วยการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร แต่มิลยูคอฟปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามเพราะเกรงว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะเข้าใจผิดประเด็นการยกเลิกข้อตกลง โดยอาจตีความว่ารัสเซียต้องการถอนตัวออกจากสงคราม อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา มิลยูคอฟก็ยอมส่งประกาศการยกเลิกข้อตกลง และมีบันทึกแนบยืนยันการดำเนินสงครามต่อไปตามพันธกรณีในสนธิสัญญาค.ศ. ๑๙๑๕ จนกว่าจะมีชัยชนะและจะไม่มีการผนวกดินแดน บันทึกของมิลยูคอฟถูกนำไปเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ และทำให้กลุ่มสังคมนิยมไม่พอใจ ฝ่ายสังคมนิยมจึงเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจนกลายเป็นการจลาจลเดือนเมษายน รัฐบาลเฉพาะกาลพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปลดมิลยูคอฟและอะเล็กซานเดอร์ กุชคอฟ (Alexander Guchkov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามออกจากตำแหน่งรวมทั้งปรับคณะรัฐบาลใหม่ในต้นเดือน พฤษภาคม ความวุ่นวายทางการเมืองจึงยุติลง
     เมื่อนายพลลาฟร์ เกออร์เกียวิช คอร์นีลอฟ (Lavr Georgyevich Kornilov ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๑๘)* พยายามโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่าเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ มิลยูคอฟสนับสนุนคอร์นีลอฟอยู่เบื้องหลังและเขาถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายปฏิกิริยา อย่างไรก็ตาม เคเรนสกีผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลไม่ได้จับกุมและลงโทษเขาเพราะหลังเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟยุติลง ฝ่ายบอลเชวิคมีบทบาทมากขึ้นในสภาโซเวียตและเป็นที่นิยมของประชาชน เคเรนสกีจึงหวังจะใช้มิลยูคอฟให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อไปเพื่อคานอำนาจของบอลเชวิค ต่อมา เมื่อพรรคบอลเชวิคยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ โดยมีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔)* แลเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๔๐)* เป็นผู้นำ มิลยูคอฟหนีภัยทางการเมืองไปยังรัสเซียตอนใต้และร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งกองทัพเข้าแทรกแซงเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลบอลเชวิค
     มิลยูคอฟติดต่อขอความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรเรื่องเงินทุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองกำลังอาสาสมัครฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งมีนายพลอะเลคเซเยฟเป็นผู้บังคับบัญชา เขาจึงเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองคนสำคัญของกองทัพรัสเซียใต้ แต่ต่อมาเมื่อกองทัพรัสเซียใต้ของนายพลอันตอน เดนีกินถูกกองทัพแดง (Red Army)* ตีแตกยับเยินในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ จน เดนีกินต้องถอยหนีไปทางแถบไครเมีย และลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิลยูคอฟซึ่งติดตามกองทัพรัสเซียใต้จึงลี้ภัยไปฝรั่งเศสโดยใช้เส้นทางผ่านเมืองเคียฟ (Kiev) และเมืองยาซี (Jassy) และเคลื่อนไหวจัดตั้งกลุ่มชาวรัสเซียนอกประเทศให้ต่อต้านรัฐบาลบอลเชวิค ขณะเดียวกันเขาก็ติดต่อกับเยอรมนีเพื่อขอความร่วมมือสนับสนุนกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวด้วย แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่พอใจและถอนการสนับสนุนเขาด้านการเงิน
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งมีนายพลปีเตอร์ นีโคลาเยวิช รันเกล (Peter Nikolayevich Wrangel)* เป็นผู้บังคับบัญชาถูกตีแตกที่ไครเมียมิลยูคอฟพยายามประสานงานกับกลุ่มการเมืองนอกประเทศกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อหาทางหนุนช่วยรันเกล แต่ประสบความล้มเหลว เขาจึงเปลี่ยนยุทธวิธีต่อสู้ใหม่โดยร่วมมือกับพรรคคาเดตส์ปีกซ้ายและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจัดตั้งกลุ่มต่อต้านบอลเชวิคขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๑ แต่การดำเนินงานของกลุ่มก็ล้มเหลวเพราะฝ่ายที่จะสนับสนุนไม่วางใจมิลยูคอฟเนื่องจากเขาเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไปมาจนความนิยมที่มีต่อเขาลดลง อย่างไรก็ตาม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๔๐ เขา ทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Latest News ของชุมชนชาวรัสเซียนอกประเทศ หนังสือฉบับนี้ซึ่งเป็นที่นิยมอ่านกันมากและแพร่หลายในวงกว้างจึงมีส่วนช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของมิลยูคอฟในฐานะผู้นำความคิดเสรีนิยมที่ต้องการสร้างและสงวนรักษาความเป็นรัสเซียไว้ในต่างแดนในขณะที่ความป่าเถื่อนของบอลเชวิคกำลังจะเปลี่ยนสหภาพโซเวียตไปสู่แผ่นดินที่ไร้ค่าทางวัฒนธรรมในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ อันนาภรรยาคนแรกของมิลยูคอฟเสียชีวิตและเขาแต่งงานใหม่ทันทีกับนักเปียโนสาวที่อายุอ่อนกว่าเกือบ ๒๐ ปี ซึ่งกลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทาในแวดวงผู้ลี้ภัย
     เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมนีในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France) ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนีได้ทาบทามมิลยูคอฟให้ร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลรัสเซียขึ้นแบบรัฐบาลวิชี (Vichy Government)* ของฝรั่งเศสในกรณีที่เยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตและสหภาพโซเวียตยอม จำนนในสงครามแต่เขาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ในช่วงระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ดำเนินอยู่ มิลยูคอฟมีบทบาททางการเมืองไม่มากนักเขาใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนบันทึกความทรงจำรวม ๒ เล่มซึ่งต่อมาพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษที่สหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ ในชื่อ Reminiscences งานเขียนวิชาการเล่มสำคัญเรื่องอื่น ๆ ของเขาคือ History of the Second Russian Revolution (๒ เล่ม ค.ศ. ๑๙๒๑) Russia’s Great Change (๒ เล่ม, ค.ศ. ๑๙๒๗) และ Outlines of Russian Culture (๓ เล่ม ค.ศ. ๑๙๔๒)
     ปาเวล นิโคลาเยวิชมิล ยูคอฟถึงแก่กรรมที่เมืองเอกซ์-เล-แบง (Aix-les-Bains) ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ รวมอายุ ๘๔ ปี.



คำตั้ง
Milyukov, Pavel Nikolayevich
คำเทียบ
นายปาเวล นีโคลาเยวิช มิลยูคอฟ
คำสำคัญ
- เลนิน, วลาดีมีร์
- เหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ
- ยาซี, เมือง
- รันเกล, ปีเตอร์ นีโคลาเยวิช
- ตรอตสกี, เลออน
- เคียฟ, เมือง
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์ เกออร์เกียวิช
- กุชคอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- คลูย์เชฟสกี, วาซีลี
- เซียร์เกเยฟนา, อันนา
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- เดนีกิน, อันตอน อีวาโนวิช
- พรรคคาเดตส์
- พรรคบอลเชวิค
- มิลยูคอฟ, ปาเวล นีโคลาเยวิช
- ลวอฟ, เกออร์กี เยฟเกเนียวิช, เจ้าชาย
- รอดเซียนโค, มีฮาอิล
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- กลุ่มสหภาพแห่งการปลดปล่อย
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- สภาดูมา
- คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม
- เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, กรุง
- วันอาทิตย์นองเลือด
- เรียซาน, เมือง
- สหภาพแห่งสหภาพทั้งมวล
- อูฟา, เมือง
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
- แถลงการณ์วีบอร์ก
- วีบอร์ก, เมือง
- นิโคลัส นีโคลาเยวิช, แกรนด์ดุ๊ก
- สโตลีปิน, ปีเตอร์
- อิตเต, เคานต์เซียร์เกย์ ยูเลียวิช
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- เชียร์นอฟ, วิคตอร์ มีไฮโลวิช
- เปโตรกราด, กรุง
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- รัฐบาลวิชี
- พรรคเมนเชวิค
- มาร์ตอฟ, ยูลี โอซีโปวิช
- ไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช, แกรนด์ดุ๊ก
- รัสปูติน, เกรกอรี เอฟีโมวิช
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- อะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา, ซารีนา
- อะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช, ซาเรวิช
- อะเล็คเซเยฟ, มีฮาอิล วาซีเลียวิช
- เอกซ์-เล-แบง, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1859-1943
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ.๒๔๐๒-๒๔๘๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf