เพลงภาษา

เพลงที่มีสำเนียงของชาติอื่น หรือนำมาจากชาติอื่นเพียงบางตอน อาจกล่าวได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ

 ๑. เพลงออกสิบสองภาษา เป็นเพลงที่บรรเลงหลังจากที่จบเพลงแม่บทไปแล้ว มีลักษณะเหมือนเพลงหางเครื่อง (ดู เพลงหางเครื่อง ประกอบ) แต่แทนที่จะใช้เพลงเพียงภาษาใดภาษาหนึ่ง ก็จะนำเพลงภาษาต่าง ๆ มารวมกันเข้าเป็นชุดมีสิบสองภาษา เช่น บรรเลงเพลงเทพบรรทมจบก็ลงลูกหมด แล้วออกสิบสองภาษา เพลงสิบสองภาษานี้จะมีการเรียงลำดับเพลงที่บรรเลงไว้ เริ่มด้วยจีน เขมร ตะลุง และพม่า จากนั้นจะเลือกบรรเลงภาษาใดต่อก่อนก็ได้ คือ แขก ฝรั่ง ญี่ปุ่น มอญ ลาว ญวน ข่า เงี้ยว

   วิธีการบรรเลงที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้บรรเลงจะเปลี่ยนใช้กลองหรือเครื่องกำกับจังหวะต่าง ๆ ตามภาษานั้น ๆ เช่น ถ้าออกภาษาจีนก็ใช้กลองจีนหรือกลองต๊อก ถ้าออกภาษาเขมรก็ใช้กลองแขก ถ้าออกภาษาฝรั่งก็ใช้กลองมริกัน ถ้าออกภาษาพม่าก็ใช้กลองยาว ถ้าออกภาษาตะลุงก็ใช้โทนหรือทับกับกลองชาตรีการเปลี่ยนเครื่องกำกับจังหวะนี้นอกจากจะทำให้เพลงภาษาต่าง ๆ ที่บรรเลงนั้นฟังคล้ายกับของจริงแล้ว ยังทำให้สนุกสนานขึ้นอีกมากเพราะผู้ฟังได้เปลี่ยนรสแปลก ๆ จากทางดนตรีและเครื่องกำกับจังหวะไปด้วยในตัว

 ๒. เพลงออกภาษา เป็นเพลงที่ออกสำเนียงภาษาในเพลง เช่นเพลงพม่าห้าท่อน ท่อนที่ ๑ บางทางก็ออกภาษามอญ บางทางก็ออกภาษาพม่า หรือเพลงเต่ากินผักบุ้ง เที่ยวกลับอาจออกภาษาจีนหรือภาษาอื่น ซึ่งมีลักษณะคล้ายทางเปลี่ยน ก็เป็นการออกภาษาเช่นกัน

   เพลงออกภาษาอีกลักษณะหนึ่งคือ การบรรเลงต่อท้ายเพลงแม่บทเช่นเดียวกับเพลงออกสิบสองภาษา แต่บรรเลงไม่ครบสิบสองภาษา เช่น เพลงเทพบรรทมดังกล่าวข้างต้น ถ้าหากบรรเลงออกไม่ครบสิบสองภาษาก็เรียกว่า “เพลงออกภาษา”