เพลงหางเครื่อง

เพลงที่ใช้บรรเลงต่อท้ายการบรรเลงเพลงใหญ่ (คือ เพลง ๓ ชั้น หรือเพลงเถา) เพลงใดเพลงหนึ่งที่จบลงไปแล้ว แต่ยังมีเวลาเหลือพอที่จะเล่นต่อไปอีก

 เพลงหางเครื่องส่วนมากมักจะเป็นเพลง ๒ ชั้น หรือชั้นเดียว บางครั้งใช้เป็นการแสดงฝีมือ หรือแสดงทางเพลงแปลก ๆ ที่คิดค้นขึ้นใหม่ ผู้บรรเลงมักจะเร่งจังหวะสนุกสนาน ดำเนินทำนองกระชับ รวดเร็ว มีความคึกคัก นิยมเล่นกันมากเพราะสนุกทั้งคนฟังและคนเล่น เช่น เมื่อบรรเลงเพลงแขกมอญบางขุนพรหมจบลงแล้วมีเวลาเหลือ อาจจะออกหางเครื่องเพลงมอญมอบเรือ ๒ ชั้น ต่อกันไป เพลงมอญมอบเรือนี้จึงเรียกว่า “เพลงหางเครื่อง”

 โดยทั่วไปเพลงหางเครื่องมักจัดไว้เป็นชุด ๆ ตามภาษาสำเนียงของเพลง เช่น ชุดแขก มอญ พม่า เงี้ยว ตะลุง ลาว ญวน การที่จะใช้หางเครื่องชุดภาษาใดบรรเลงนั้นย่อมแล้วแต่เพลงใหญ่ที่บรรเลงนำมาก่อนเป็นสำคัญ ถ้าเพลงใหญ่ที่บรรเลงนำมานั้นเป็นเพลงสำเนียงมอญ เช่น เพลงรามัญรันทดหรือเพลงหวนคำนึง ก็ต้องออกเพลงหางเครื่องให้เป็นชุดมอญตามไปด้วย ในทำนองเดียวกัน ถ้าเพลงใหญ่เป็นเพลงสำเนียงพม่า ลาว ญวน ฯลฯ ก็จะต้องออกชุดหางเครื่องให้เป็นสำเนียงพม่า ลาว ญวน ด้วยตามลำดับ นอกจากนั้นจะต้องคำนึงถึงอารมณ์ของเพลงด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องออกหางเครื่องเสมอไป ถ้าเพลงใหญ่นั้นยาวแล้วและมีลูกเล่นต่าง ๆ อยู่ในตัว เช่น เพลงแสนคำนึง เถา (ดู เพลงภาษา ประกอบ), เพลงท้ายเครื่อง ก็เรียก