วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ในวงจะประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ใช้สายเป็นต้นกำเนิดของเสียงดนตรี เช่น ซอด้วง ซออู้ จะเข้ แม้ว่าเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงนั้นจะมีวิธีบรรเลงแตกต่างกัน เช่น สี ดีด หรือตี ก็ตาม จึงเรียกวงดนตรีประเภทนี้ว่า “วงเครื่องสาย”
วงเครื่องสายอาจมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย หรือเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง กลอง บรรเลงด้วยก็ถือว่าอยู่ในวงเครื่องสายเช่นกันเพราะมีเป็นจำนวนน้อย ที่นำเข้ามาร่วมบรรเลงด้วยเพื่อช่วยเพิ่มรสในการบรรเลงให้น่าฟังมากยิ่งขึ้น
วงเครื่องสายเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา ซึ่งมีเครื่องสี คือ ซอ เครื่องดีด คือ จะเข้และกระจับปี่ ผสมในวง ปัจจุบันวงเครื่องสายมี ๔ แบบ คือ
๑. วงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว เป็นวงเครื่องสายที่มีเครื่องดนตรีผสมเพียงอย่างละ ๑ ชิ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วงเครื่องสายไทยวงเล็ก เครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยวนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ และถือเป็นหลักของวงเครื่องสายไทยที่จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสียมิได้ เพราะแต่ละสิ่งล้วนดำเนินทำนองและมีหน้าที่ต่าง ๆ กันเมื่อผสมเป็นวงขึ้นแล้ว เสียงและหน้าที่ของเครื่องดนตรีแต่ละอย่างก็จะประสมประสานกันเป็นอันดี เครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยวซึ่งถือเป็นหลัก คือ
๑. ซอด้วง เป็นเครื่องสีที่มีระดับเสียงสูงและกระแสเสียงดัง มีหน้าที่ดำเนินทำนองเพลง เป็นผู้นำวง และเป็นหลักในการดำเนินทำนอง
๒. ซออู้ เป็นเครื่องสีที่มีระดับเสียงทุ้ม มีหน้าที่ดำเนินทำนองหยอกล้อยั่วเย้า กระตุ้นให้เกิดความครึกครื้นสนุกสนานในจำพวกดำเนินทำนองเพลง
๓. จะเข้ เป็นเครื่องดีดดำเนินทำนองเพลงเช่นเดียวกับซอด้วง แต่มีวิธีการบรรเลงแตกต่างออกไป
๔. ขลุ่ยเพียงออซึ่งเป็นขลุ่ยขนาดกลาง เป็นเครื่องเป่าดำเนินทำนองโดยสอดแทรกด้วยเสียงโหยหวนบ้าง เก็บบ้าง ตามโอกาส
๕. โทนและรำมะนา เป็นเครื่องตีที่ขึงหนังหน้าเดียว และทั้ง ๒ อย่างจะต้องตีให้สอดสลับรับกันสนิทสนมผสมกลมกลืนเป็นทำนองเดียวกัน มีหน้าที่ควบคุมจังหวะหน้าทับ บอกรสและสำเนียงเพลงในภาษาต่าง ๆ และกระตุ้นเร่งเร้าให้เกิดความสนุกสนาน
๖. ฉิ่ง เป็นเครื่องตี มีหน้าที่ควบคุมจังหวะย่อยให้การบรรเลงดำเนินจังหวะไปโดยสม่ำเสมอ หรือช้าเร็วตามความเหมาะสม
เครื่องดนตรีในวงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยวอาจเพิ่มเครื่องที่จะทำให้เกิดความไพเราะเหมาะสมได้อีก เช่น กรับ ฉาบเล็ก สำหรับตีหยอกล้อยั่วเย้าในจำพวกกำกับจังหวะ โหม่งสำหรับตีเพื่อช่วยควบคุมจังหวะห่าง ๆ
๒. วงเครื่องสายไทยเครื่องคู่ คำว่า เครื่องคู่ ย่อมมีความหมายชัดเจนแล้วว่าเป็นอย่างละ ๒ ชิ้น แต่สำหรับการผสมวงดนตรีจะต้องพิจารณาใคร่ครวญถึงเสียงของเครื่องดนตรีที่จะผสมกันนั้น ว่าจะบังเกิดความไพเราะหรือไม่อีกด้วย เพราะฉะนั้นวง เครื่องสายไทยเครื่องคู่จึงเพิ่มเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยวขึ้นเป็น ๒ ชิ้นแต่เพียงบางชนิด คือ
๑. ซอด้วง ๒ คัน แต่ทำหน้าที่ผู้นำวงเพียงคันเดียว อีกคันหนึ่งเป็นเพียงผู้ช่วย
๒. ซออู้ ๒ คัน ถ้าสีเหมือนกันได้ก็ให้ดำเนินทำนองอย่างเดียวกัน แต่ถ้าสีเหมือนกันไม่ได้ก็ให้คันหนึ่งหยอกล้อห่าง ๆ อีกคันหนึ่งหยอกล้อยั่วเย้าอย่างถี่ หรือจะผลัดกันเป็นบางวรรคบางตอนก็ได้
๓. จะเข้ ๒ ตัว ดำเนินทำนองแบบเดียวกัน
๔. ขลุ่ย ๒ เลา เลาหนึ่งเป็นขลุ่ยเพียงอออย่างในวงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว ส่วนเลาที่เพิ่มขึ้นเป็นขลุ่ยหลีบ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าขลุ่ยเพียงออ และมีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออ ๓ เสียง มีหน้าที่ดำเนินทำนองหลบหลีกปลีกทางออกไป ซึ่งเป็นการยั่วเย้าไปในกระบวนเสียงสูง
สำหรับโทน รำมะนา และฉิ่ง ไม่เพิ่มจำนวน ส่วนฉาบเล็กและโหม่ง ถ้าจะใช้ก็คงมีจำนวนอย่างละ ๑ ชิ้นเท่าเดิม
ตั้งแต่โบราณมา วงเครื่องสายไทยมีอย่างมากก็เพียงเครื่องคู่ดังกล่าวแล้วเท่านั้น ในสมัยหลังได้มีผู้คิดผสมวงเป็น วงเครื่องสายไทยวงใหญ่ ขึ้น โดยเพิ่มเครื่องบรรเลงจำพวกดำเนินทำนอง เช่น ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย ขึ้นเป็นอย่างละ ๓ ชิ้นบ้าง ๔ ชิ้นบ้าง การจะผสมเครื่องดนตรีชนิดใดเข้ามาในวงนั้นย่อมกระทำได้ ถ้าหากเครื่องดนตรีนั้นมีเสียงเหมาะสมกลมกลืนกับเครื่องอื่น ๆ แต่จะเพิ่มเติมในส่วนเครื่องกำกับจังหวะ เช่น โทน รำมะนา ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ไม่ได้ ได้แต่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป เช่น ใช้กลองแขกแทนโทน รำมะนา
๓. วงเครื่องสายผสม เป็นวงเครื่องสายที่นำเอาเครื่องดนตรีต่างชาติเข้ามาร่วมบรรเลงกับเครื่องสายไทย การเรียกชื่อวงเครื่องสายผสมนั้นนิยมเรียกตามชื่อของเครื่องดนตรีต่างชาติที่นำมาเข้ามาร่วมบรรเลงในวง เช่น นำเอาขิมมาร่วมบรรเลงกับซอด้วงซออู้ ขลุ่ย และเครื่องกำกับจังหวะต่าง ๆ แทนจะเข้ ก็เรียกว่า “วงเครื่องสายผสมขิม” หรือนำเอาออร์แกนหรือไวโอลินมาร่วมบรรเลงด้วยก็เรียกว่า “วงเครื่องสายผสมออร์แกน” หรือ “วงเครื่องสายผสมไวโอลิน” เครื่องดนตรีต่างชาติที่นิยมนำมาบรรเลงเป็นวงเครื่องสายผสมนั้นมีมากมายหลายชนิด เช่น ขิม ไวโอลิน ออร์แกน เปียโน หีบเพลงชัก แอกคอร์เดียน เจ้ง
๔. วงเครื่องสายปี่ชวา คือ วงเครื่องสายไทยทั้งวงบรรเลงประสมกับวงกลองแขก (ดู วงกลองแขก ประกอบ) โดยไม่ใช้โทนและรำมะนา และใช้ขลุ่ยหลีบแทนขลุ่ยเพียงออ เพื่อให้เสียงเข้ากับปี่ชวาได้ดี เดิมเรียกว่า วงกลองแขกเครื่องใหญ่วงเครื่องสายปี่ชวานี้เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การบรรเลงเครื่องสายปี่ชวานั้น นักดนตรีจะต้องมีไหวพริบและความเชี่ยวชาญในการบรรเลงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะฉิ่งกำกับจังหวะจะต้องเป็นคนที่มีสมาธิดีที่สุดจึงจะบรรเลงได้อย่างไพเราะ เพลงที่วงเครื่องสายปี่ชวานิยมใช้บรรเลงเป็นเพลงโหมโรง ได้แก่ เพลงเรื่องชมสมุทร เพลงโฉลก เพลงเกาะ เพลงระกำ เพลงสะระหม่า แล้วออกเพลงแปลง เพลงออกภาษา แล้วกลับมาออกเพลงแปลงอีกครั้งหนึ่ง