วงกลองแขก

วงดนตรีไทยแบบหนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชวา แต่เดิมมีเครื่องดนตรี ๓ ชนิด คือ กลองแขก ๑ คู่ ปี่ชวา ๑ เลา ฆ้องโหม่ง ๑ ใบ ไทยเปลี่ยนฆ้องโหม่งเป็นฉิ่ง การบรรเลงไม่ว่าจะเป็นงานใด ก็ใช้เครื่องผสมวงเพียงเท่านี้ เดิมใช้ในการฟ้อนรำ เช่น รำกริช กระบี่กระบอง ต่อมาใช้นำกระบวนเสด็จและเป็นเครื่องประโคมในงานพระราชพิธีต่าง ๆ คู่กับวงปี่พาทย์มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

 ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้นำเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายทั้งวงบรรเลงประสมกับวงกลองแขกโดยไม่ใช้โทน รำมะนา และใช้ขลุ่ยหลีบแทนขลุ่ยเพียงออ เพื่อให้เสียงเข้ากับปี่ชวาได้ดี เรียกวงดนตรีนี้ว่า “วงกลองแขกเครื่องใหญ่” แต่ในสมัยปัจจุบันนี้เรียกว่า “วงเครื่องสายปี่ชวา”

 ในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เลิกการประโคมวงกลองแขกพร้อมกับวงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี สาเหตุคงเนื่องจากในการบรรเลงปี่พาทย์พร้อม ๆ กับวงกลองแขกนั้น ปี่พาทย์ก็บรรเลงไปเพลงหนึ่ง วงกลองแขกก็บรรเลงไปอีกเพลงหนึ่ง ฟังแล้วไม่กลมกลืนกัน แต่ในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินถ้าเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งมีเรือจัดเป็นริ้วกระบวนยังคงใช้วงกลองแขกอยู่ ในกระบวนเรือนี้จะมีเรืออยู่ ๒ ลำ ลำหนึ่งเรียกว่า “เรือกลองใน” อีกลำหนึ่งเรียกว่า “เรือกลองนอก” คำว่า “เรือกลอง” คือ เรือที่มีกลองแขกปี่ชวา และฉิ่ง บรรเลงอยู่ในเรือนั้น เมื่อเวลากระบวนพยุหยาตราเคลื่อนไปตามลำน้ำวงกลองแขก ทั้งเรือกลองนอกและเรือกลองใน ก็จะบรรเลงเพลงสะระหม่าไปตลอดทาง เมื่อถึงท่าที่เรือพระที่นั่งจะเข้าเทียบท่า วงกลองแขกในเรือกลองในจึงเปลี่ยนเป็นเพลงแปลง จนเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าสนิทจึงหยุดบรรเลง และเมื่อเสด็จขึ้นวัดแล้วก็เป็นหน้าที่ของวงปี่พาทย์ต่อไป