ปี่ชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นปี่ ๒ ท่อน ถอดออกจากกันได้ (ดู ปี่ ประกอบ) ท่อนบนเรียวยาว ปลายผายออกเล็กน้อยเรียกว่า “เลาปี่” ท่อนล่างปลายบานเรียกว่า “ลำโพง” เมื่อนำมาสวมกันเข้าจะมีรูปร่างเรียวปลายบานคล้ายดอกลำโพง ทำด้วยไม้หรืองา ยาวประมาณ ๑๙ เซนติเมตร ตอนบนที่ใส่ลิ้นลักษณะเป็นรูเล็กประมาณ ๑ เซนติเมตรและตอนล่างรูกว้าง ท่อนลำโพงนั้นควั่นลูกแก้วตรงกลาง ๑ เปลาะ ลำโพงกว้างประมาณ ๗-๘ เซนติเมตร เลาปี่เจาะรูนิ้วเรียงกันตามความยาว ๗ รู และมีรูนิ้วค้ำข้างหลัง ๑ รู ในระดับระหว่างรูที่ ๑ กับรูที่ ๒ ข้างหน้า เหนือรูที่ ๑ กลึงไม้ควั่นเป็นลูกแก้ว ๑ เปลาะ ลิ้นปี่ไฉนทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้นตัดกลมผูกติดกับกำพวด ตอนที่สอดใส่ในเลาปี่เคียนด้วยเส้นด้าย และเหนือเส้นด้ายที่เคียนนั้นมี “กะบังลม” ลักษณะเป็นแผ่นกลมบางทำด้วยโลหะหรือกะลาสำหรับรองริมฝีปาก เพื่อเวลาเป่าจะได้ไม่เมื่อยปาก
ปี่ไฉนนี้ เข้าใจว่าไทยได้แบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีของอินเดีย เรียกว่า Shahnai, Surnai, Sanai หรือ Senai เป็นเครื่องเป่าทำด้วยไม้ ขนาดยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มีรู ๗ รู เป่าจากบนลงล่าง ในไตรภูมิพระร่วงมีกล่าวถึง “ปี่ไฉนแก้ว” ว่า “เป่าปี่ไฉนแก้วเลาหนึ่งชื่อว่า นันทไฉน” แสดงว่าไทยคงจะรู้จักและนำมาใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ก่อนคงจะนิยมปี่ชนิดนี้กันมาก จึงปรากฏนามบรรดาศักดิ์อยู่ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนครั้งกรุงศรีอยุธยา ตำแหน่งพนักงานปี่พาทย์ว่า “ขุนไฉนยไพเราะห์” ซึ่งคงจะหมายถึงว่า เป็นผู้เป่าปี่ชนิดนั้นได้ไพเราะ ในโคลงนิราศหริภุญชัยซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งในสมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป เรียกเครื่องเป่าชนิดนี้ว่า “สละไนย” ดังปรากฏในโคลงบทหนึ่งว่า
“นักคุนแคนคู่ค้อง | สละไนย |
ไพโอฐสลายสบับไส | ดอกสร้อย |
บางตูบาทบทไป | แพงร่ำ รักเอย |
เสลยเยอยลหน้าช้อย | ชอบด้วยโดยระบำ” |
“สรวญศรัพทคฤโฆษฆ้อง | กลองไชย |
ทุ่มพ่างแตรสังขชวา | ปี่ห้อ |
มฤทึงค์ทรไนทรอ | ทรุพราช |
ดังเดือดม้าฬ่อก้อ | โกรศกรยงฯ” |
ปี่ไฉนที่ไทยนำเอามาใช้ แต่เดิมจะใช้ในการอันใดบ้างไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในหนังสือเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงปี่ไฉนว่า ใช้ในการประโคมคู่กับแตรสังข์ เวลาพระมหากษัตริย์เสด็จออก เช่น ตอนท้าวสุริโยไทย เจ้าเมืองการเวก เสด็จออกรับ ทูตพระอภัยมณีว่า
“ประโคมทั้งสังข์แตรออกแซ่ซ้อง |
ท้าคู่กลองแขกเสนาะเพราะสำเนียง |
ปี่ไฉนได้ทำนองกลองชนะ |
เสียงเปิงปะเปิงครึ่มกระหึ่มเสียง |
อำมาตย์หมอบนอบน้อมอยู่พร้อมเพรียง |
บังคมเคียงคอยสดับรับโองการ” |