ฆ้องราง

ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง (ดู ฆ้อง ประกอบ) ชุดหนึ่งมี ๗-๘ ลูก เสียงลูกที่ ๑ กับลูกที่ ๘ เป็นเสียงเดียวกัน แต่ต่างระดับเสียง ขนาดใหญ่เล็กลดหลั่นกันไปตามลำดับ และ เทียบเสียงต่ำสูงเรียงกันขึ้นไป ๗ เสียง บรรเลงเป็นเพลงได้ เข้าใจว่าคงจะประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นจากฆ้องคู่ และเดิมอาจจะผูกแขวนเรียงกันในรางไม้ขุดคล้ายรางระนาดอย่างฆ้องรางโบราณของมอญ (ดู ฆ้องมอญ ประกอบ) จึงเรียกว่า ฆ้องราง ต่อมาได้แก้ไขที่ผูกทำเป็นร้านโปร่ง มีลูกมะหวดเรียงกันเป็นแถว แต่ก็ไม่เรียกว่า ฆ้องร้าน คงเรียกว่า ฆ้องราง ตามเดิม ฆ้องรางนี้เข้าใจว่าเป็นต้นแบบที่พัฒนามาเป็นฆ้องวง (ดู ฆ้องวง ประกอบ) ปัจจุบันจึงไม่มีฆ้องรางใช้ในวงดนตรีไทย