ฆ้องวง

ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง (ดู ฆ้อง ประกอบ) เจาะรูที่ฉัตร ๔ รู สำหรับร้อยหนังตีเกลียวผูกโยง เช่นเดียวกับฆ้องคู่และฆ้องราง (ดู ฆ้อง; ฆ้องราง ประกอบ) หากแต่ผูกกับวงซึ่งทำด้วยต้นหวายโป่ง ดัดเป็นวงพอที่ผู้ตีจะนั่งขัดสมาธิภายในวงได้สบายเกือบรอบตัวผู้ตี ขนาดของวงวัดจากขอบวงในด้านซ้ายถึงด้านขวากว้างประมาณ ๘๒ เซนติเมตร จากด้านหน้าไปด้านหลังกว้างประมาณ ๖๕ เซนติเมตร ด้านหลังเปิดไว้เป็นทางเข้าออกกว้างประมาณ ๓๕ เซนติเมตร เรียกว่า “ประตูฆ้อง” วงฆ้องนี้ทำเป็นร้าน เรียกว่า “ร้านฆ้อง” สูงประมาณ ๒๐-๒๔ เซนติเมตร หวายเส้นในกับเส้นนอกห่างกันตามขนาดของลูกฆ้อง โดยห่างจากลูกฆ้องข้างละประมาณ ๑ เซนติเมตร ลูกทางเสียงต่ำมีขนาดโตกว่าลูกทางเสียงสูง มีลูกมะหวดค้ำหวายเส้นล่างกับเส้นบนเรียงกันเป็นระยะ ๆ ทั้งด้านนอกและด้านใน ฆ้องทุก ๆ ลูกเทียบเสียงต่ำสูงเรียงกันเป็นลำดับ โดยผูกให้ฆ้องที่มีเสียงต่ำอยู่ทางซ้าย เสียงสูงอยู่ทางขวาของผู้ตีซึ่งนั่งในวง ฆ้องวงนี้มีชื่อเรียกตามขนาดและการใช้ ดังนี้

 ๑. ฆ้องวงใหญ่ มีลูกฆ้อง ๑๖ ลูก ลูกเสียงต่ำสุดซึ่งเรียกว่า ลูกทวน มีขนาดกว้างประมาณ ๑๗ เซนติเมตร เทียบเสียงโดยอนุโลมตรงเสียง เร (D) แล้วค่อยสูงขึ้นไปตามลำดับลูกละ ๑ เสียง ลูกเสียงสูงสุดซึ่งเรียกว่า ลูกยอด มีขนาดกว้างประมาณ ๑๒ เซนติเมตร มีเสียงเทียบได้กับเสียง มี (E) ในสมัยโบราณมีแต่ฆ้องวงขนาดนี้อย่างเดียว เรียกว่า “ฆ้องวง” จวบจนมีผู้สร้างฆ้องวงขนาดเล็กขึ้นมา ฆ้องวงขนาดนี้จึงเรียกว่า “ฆ้องวงใหญ่” ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงอยู่ในวงปี่พาทย์เวลาบรรเลงรวมวงมีหน้าที่ดำเนินเนื้อฆ้องหรือเนื้อเพลงเพื่อให้เป็นหลักของวง แต่ในเวลาบรรเลงเดี่ยวจะตีโลดโผนตามวิธีการของฆ้องวง ซึ่งมีทั้งกรอ กวาด ไขว้ ประคบมือ ฯลฯ ตามความเหมาะสมของเพลงนั้น ๆ ไม้ที่ใช้ตีมี ๒ อัน ผู้ตีนั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ (สุดแต่กาลเทศะ) ในวงฆ้อง ถือไม้ตีมือละอัน

 ๒. ฆ้องวงเล็ก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยคณาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ได้คิดสร้างฆ้องวงขึ้นอีกขนาดหนึ่งให้ย่อมกว่าเล็กน้อยวัดจากขอบวงในด้านซ้ายถึงด้านขวากว้างประมาณ ๘๐ เซนติเมตร จากด้านหน้าไปด้านหลังกว้าง ๖๐ เซนติเมตร ร้านฆ้องสูง ๒๐ เซนติเมตร วงหนึ่งมีลูกฆ้อง ๑๘ ลูก ลูกทวนมีขนาดกว้างประมาณ ๑๓ เซนติเมตร ลูกยอดขนาดกว้างประมาณ ๙.๕ เซนติเมตร การเทียบเสียงลูกยอดตรงกับเสียง มี (E) สูงกว่าฆ้องวงใหญ่ขึ้นไป ๗ เสียง โดยเป็นคู่ ๘ จากลูกยอดของฆ้องวงใหญ่ ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่ เก็บสอด แทรก ฯลฯ ตั้งแต่นั้นมาปี่พาทย์วงหนึ่ง ๆ จะใช้ฆ้อง ๒ วงก็ได้ เรียกฆ้องวงขนาดใหญ่แต่เดิมว่า “ฆ้องวงใหญ่” และเรียกฆ้องวงขนาดเล็กที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า “ฆ้องวงเล็ก”