ฆ้องมอญ

ฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้ง ๒ ข้าง ไม่วางวงราบไปกับพื้นเหมือนฆ้องวงของไทย (ดู ฆ้องวง ประกอบ) รางฆ้องมอญมักประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงาม เช่น แกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจก รางฆ้องมอญโบราณทางหัวโค้งด้านซ้ายของผู้ตีนิยมแกะเป็นรูปตัวกินนร เรียกว่า “หน้าพระ” ทางปลายโค้งด้านขวาทำเป็นพู่ปลายหางของกินนรตอนกลางโค้งแกะเป็นกระหนกใบเทศปิดทองประดับกระจก มีเท้า (ฐาน) รองตรงกลางโค้งอย่างเท้าระนาดเอก และแกะรูปกินนรตัวเล็กหน้าอัดไว้ตรงขาขวาของกินนรตัวใหญ่ทางซ้ายมือรูปหนึ่ง กับทางขวามืออีกรูปหนึ่ง ปัจจุบันแบบอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างฆ้องมอญวงหนึ่ง ๆ มีลูกฆ้อง ๑๕ ลูก ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ การเทียบเสียงนับ


จากเสียงต่ำสุด ลูกที่ ๑ (ลูกทวน) เสียง ฟา (F) ลูกที่ ๒ เสียง ซอล (G) (ข้าม ๑ เสียง) ลูกที่ ๓ เสียง ซี (B) ลูกที่ ๔ เสียง โด (C) ลูกที่ ๕ เสียง เร (D) (ข้าม ๑ เสียง) ลูกที่ ๖ เสียง ฟา (F) ลูกที่ ๗ เสียง ซอล (G) ลูกที่ ๘ เสียง ลา (A) ลูกที่ ๙ เสียง ซี (B) ลูกที่ ๑๐ เสียง โด (C) ลูกที่ ๑๑ เสียง เร (D) ลูกที่ ๑๒ เสียง มี (E) ลูกที่ ๑๓ เสียง ฟา (F) ลูกที่ ๑๔ เสียง ซอล (G) ลูกที่ ๑๕ (ลูกยอด) เสียงลา (A) เป็นเสียงสูงสุด ต่อมาเมื่อได้สร้างวงฆ้องไทยขึ้นเป็น ๒ ขนาด คือ ฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็กแล้ว จึงได้มีผู้คิดสร้างวงฆ้องมอญขึ้นเป็น ๒ ขนาดเหมือนกัน คือ มีทั้งวงใหญ่และวงเล็ก ฆ้องมอญวงเล็กมี ๑๕ ลูกเช่นกัน การเทียบเสียงเป็นแบบอย่างฆ้องวงของไทย คือ เทียบเสียงเรียงลำดับกันทุกลูก นับจากเสียงต่ำสุด ลูกทวนตรงกับเสียง มี (E) จนถึงเสียงสูงสุด ลูกยอดตรงกับเสียง มี (E) เช่นเดียวกัน แต่ต่างระดับเสียง ไม้ตีทั้งมือซ้ายและมือขวาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขนาดกว้างประมาณ ๔ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ปลายไม้ตี พันด้วยเชือก แล้วใช้ผ้าหุ้มเชือกไว้อีกชั้นหนึ่งยาวลงมาประมาณ ๑๒-๑๕ เซนติเมตร เพื่อให้เสียงนุ่ม