คำที่แผลงเรียกคำบอกหน้าพาทย์ธรรมดาให้ฟังเข้าใจยากขึ้น เป็นกลวิธีอย่างหนึ่งที่เมื่อได้ฟังคำแผลงหน้าพาทย์แล้ว จะต้องคิดก่อนจึงจะทราบว่าหมายถึงเพลงหน้าพาทย์ใด เพราะชื่อเพลงหน้าพาทย์กับคำบอกหน้าพาทย์แผลงจะมีความหมายคล้ายคลึงกัน (ดู เพลงหน้าพาทย์ ประกอบ)
สมัยโบราณนิยมใช้คำบอกหน้าพาทย์แผลงในการแสดงหนังใหญ่ แต่ถ้าเป็นการพากย์โขนมักนิยมบอกชื่อเพลงหน้าพาทย์นั้นโดยตรง นอกจากบางกรณีที่ผู้พากย์ และเจรจาคุ้นเคยกับนักดนตรีก็จะใช้คำบอกหน้าพาทย์แผลง เช่น
ชวย หรือ ทวย | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงเชิด |
นางพญาดำเนิน | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงช้า |
บาทสกุณี | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงเสมอตีนนก |
ผัวตาย | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงช้าด้วยเพลงแม่ม่ายคร่ำครวญ |
แม่ลูกอ่อนไปตลาด | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงเร็ว |
ไม่ได้ไม่เสีย | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงเสมอ |
ลูกกระสุน | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงกลม |
สาดทราย | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงกราวนอกหรือกราวในแล้วแต่กรณี |
สี่ศอก | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงวา |
แสวงหา | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงช้า |
เหลืองอ่อน | หมายถึง | ให้บรรเลงเพลงสีนวล |